Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ธุดงค์ญี่ปุ่น : ตอนที่6

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
เกียวโต

  
หลังลงจากภูเขาฮิเอ ในวันเดียวกันอาจารย์กับญาณะซังก็เข้าตัวเมืองเกียวโต เมืองนี้เป็นเมืองหลวงเก่า มีประวัติศาสตร์เก่าแก่มาตั้งแต่สมัยโบราณ เจริญรุ่งเรืองในทางศาสนามาก จึงมีวัดตั้งอยู่มากมาย ได้รับการยกย่องจากUNESCO ให้เป็นเมืองมรดกโลก ตามเส้นทางที่เดินลงจากเขาฮิเอก็ผ่านวัดมีชื่อเสียงหลายแห่ง อาจารย์กับญาณะซังก็แวะไปสักการะ เช่นวัดเรียวอันจิที่มีสวยหินสวยงามและวัดคินกะกุจิที่มีศาลาทองคำ ญาณะซังเคยเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกียวโตจึงรู้จักเมืองนี้ดี ญาณะซังเลยเป็นคนนำทางพาชมสถานที่ และเล่าประสบการณ์สมัยเรียนให้ฟัง คืนแรกในเกียวโตเราแอบเข้าไปพักในวัดแห่งหนึ่งซึ่งเมื่อสมัยญาณะซังเรียนอยู่ชอบเข้ามาที่วัดนี้เกือบทุกวัน


สวนหินวัดเรียวอันจิ


ศาลาทองคำวัดคินกะกุจิ

   คืนที่สองในเกียวโตก็มีโยมชาวญี่ปุ่นติดต่อให้อาจารย์ไปพักที่วัดนินนาจิซึ่งเป็นวัดท่องเที่ยวมีชื่อเสียงโด่งดัง จัดสวนสวยงาม ทางวัดจัดที่พักพร้อมให้การปฎิสันถารเป็นอย่างดี ที่วัดนี้ก็มีศิลปะอาหารเจที่โด่งดัง อาจารย์ได้เทศน์อบรมพระนวกะของวัดนี้ เราจัดประชุมตอนเย็น ก็อธิบายชีวิตวัดป่าของไทย ปฏิปทา การรักษาศีล เลี้ยงชีวิตด้วยอาศัยบิณฑบาต ชีวิตประจำวันทำอะไรบ้าง ปฏิบัติกรรมฐานอย่างไร ซึ่งเป็นปฏิปทาดั้งเดิมตั้งแต่สมัยพุทธกาล เขาก็สนใจฟังมาก อาจารย์กับญาณะซังก็พักที่นั่นสองคืน

ระลึกถึงการกลับมาเกียวโตในฐานะพระภิกษุ

   ระหว่างที่พักอยู่ที่วัดนินนาจินี้ อาจารย์ก็นึกย้อนไปถึงเหตุการณ์เมื่อสามปีก่อน ตอนที่ได้กลับมาญี่ปุ่นครั้งแรก พออาจารย์กลับไปอยู่ที่บ้านเกิดได้สองสัปดาห์ก็กลับโตเกียว ตั้งใจว่าจะอยู่ญี่ปุ่นสักสามเดือนแล้วค่อยกลับประเทศไทย หลังจากกลับมาอยู่โตเกียวได้อีกเดือนหนึ่ง อาจารย์ก็เดินทางมาเกียวโต

   ตอนนั้นอาจารย์ก็รักษาพระวินัยไม่รับเงิน แต่โชคดีที่มีโยมซื้อตั๋วรถไฟชินกังเซ็นถวายจึงไม่ต้องเดินมา พอมาถึงสถานีเกียวโตประมาณทุ่มสองทุ่ม พอออกมาเห็นตัวอาคารที่เป็นกระจกสวยๆ ซึ่งอาจารย์เคยเห็นแต่ในโทรทัศน์ ก็รู้สึกประทับใจ เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่อาจารย์ได้มาเกียวโตขณะเป็นพระ

   อาจารย์ไม่รู้จักใครในเกียวโตเลย จะไปไหนก็ไม่รู้ มีแค่เบอร์โทรศัพท์ของฮิดากะซังเท่านั้น ฮิดากะซังรู้จักกับอาจารย์ที่อินเดียตอนไปสังเวชนียสถาน8 เมื่อปีพ.ศ.2524 ฮิดากะรู้สึกศรัทธาพระไทยตั้งแต่วันแรกที่พบกัน เพราะเห็นอาจารย์รักษาพระวินัยไม่รับเงิน เราธุดงค์อยู่ในอินเดียด้วยกันเป็นเดือน เมื่อฮิดากะกลับไปประเทศญี่ปุ่นก็ยังคงสนใจในพระพุทธศาสนา จึงเรียนปริญญาโทด้านพระพุทธศาสนาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต

   อาจารย์มีบัตรโทรศัพท์ที่โยมถวายไว้อยู่ใบหนึ่ง แต่ไม่เคยใช้บัตรโทรศัพท์แบบนี้มาก่อนเลย พอโทรไปหาฮิดากะซังตามเบอร์ที่ให้ไว้ก็มีเสียงตอบกลับมาว่า "เบอร์โทรศัพท์นี้ไม่สามารถใช้ได้" ติดต่อไม่ได้ รู้สึกผิดหวังเล็กน้อยเลยเดินออกมา แล้วก็ลืมบัตรโทรศัพท์ไว้ในเครื่อง พอออกมาข้างนอกสถานีรถไฟก็สองทุ่มแล้ว ถนนด้านนอกแยกออกไปได้สี่ทิศ ดูแผนที่ก็แล้วแต่ก็ไม่รู้จะไปทางไหนดี ได้แต่ยืนนึกอยู่อย่างนั้น เห็นถนนข้างหน้ามีไฟสว่างและผู้คนเดินอยู่เยอะ จึงอาศัยสัญชาตญาณตัดสินใจเดินสุ่มไปทางนั้น ระหว่างเดินก็ได้สัมผัสกับวัฒนธรรมของเกียวโต ได้เห็นมิโกะซังซึ่งเป็นผู้ดูแลหญิงของศาลเจ้าชินโต สวมเสื้อกิโมโนกับกางเกงฮากามะสีแดงเดินผ่าน อาจารย์ก็เดินชมบรรยากาศต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีจุดหมาย

   สองข้างทางมีร้านขายของเปิดไฟสว่างอยู่ตลอด แต่พอประมาณสามทุ่มอาจารย์เห็นที่ถนนฝั่งตรงข้ามมืดผิดสังเกต ไม่มีไฟ อาจารย์ก็กำลังหาที่นอนสำหรับคืนนี้อยู่เลยข้ามไปดู เข้าไปข้างในก็เห็นเป็นสวนป่า มีต้นสนต้นใหญ่ สะอาด มีห้องน้ำสาธารณะ รอบบริเวณเงียบสนิทไม่มีผู้คน เลยเดินเข้าไปข้างในตัดสินใจว่าคืนนี้จะนอนที่นี่

   พอหาที่เหมาะสมได้ก็กางกลดนอน มุ้งกลดที่ใช้เมื่อตอนนั้นเป็นสีขาว พอกางกลดแล้วก็นั่งสมาธิอยู่พักหนึ่ง ราวห้าทุ่มกว่าๆ ก็มีผู้ชายสี่คนเข้ามาถามว่าทำอะไรอยู่ ก็อธิบายไปว่าเป็นพระธุดงค์จากเมืองไทย ไม่ใช้ปัจจัย ตั้งใจจะพักที่นี่ ผู้ชายสี่คนนั้นก็ขอดูพาสปอร์ตแล้วเดินกลับไป พอตกดึกอาจารย์ก็นอนพักผ่อน นานๆทีพอมองไปหน้าประตูก็เห็นรถตำรวจวิ่งผ่านไป ประมาณตีสามก็มีตำรวจมาเรียกแล้วถามว่ามาทำอะไร ก็อธิบายไปตามเดิม เอาพาสปอร์ตให้ดู แล้วตำรวจก็ถามว่ามีใครเข้ามาหาไหม ก็บอกว่ามีมาสี่คนมาสอบถามแล้วก็ไป ตำรวจเขาเลยบอกว่าที่นี่เป็นพระราชวังเกียวโต มาพักอย่างนี้ไม่ได้ ตอนนั้นตีสี่กว่าๆฟ้าก็เริ่มสว่างแล้ว อาจารย์เลยขอโทษแล้วเก็บบริขารออกเดินทางต่อ

   ระหว่างเดินออกไปก็เห็นตำรวจอยู่ตามอาคารต่างๆเต็มไปหมด รอบนอกก็เป็นสวนสาธารณะ มีคนมาวิ่งออกกำลังกายกัน อาจารย์ก็โชคดีเข้าประตูแล้วก็ตรงเข้ามาตรงนี้เลย เพราะถ้าเลี้ยวไปอีกทางคงเจอตำรวจแน่นอน พอออกมาด้านนอกอาจารย์ก็เดินต่อไปเรื่อยๆ มองไปทางขวามือเห็นแม่น้ำคาโมะ ริมฝั่งแม่น้ำในญี่ปุ่นจะมีการปรับให้เป็นลานสวนสาธารณะ ตอนนั้นก็ยังเพลียอยู่เลยไปนอนพักผ่อนที่ม้านั่งริมแม่น้ำ พอเริ่มเช้าอาจารย์ก็ตื่นมานั่งสมาธิกลางบรรยากาศเงียบสงบ ดูชาวบ้านมาวิ่งออกกำลังกาย ประมาณสิบโมงเช้าก็ยังไม่รู้จะไปไหนต่อจึงออกบิณฑบาตเสียก่อน

   อาจารย์ก็เดินไประยะหนึ่งแล้วเลี้ยวเข้าตลาดย่านชุมชน มีโยมใส่บาตรเป็นขนมปังชิ้นหนึ่ง อาจารย์ก็เดินต่อไปเรื่อยๆ จนเจอแม่น้ำอีกแห่งหนึ่ง อีกฟากแม่น้ำมีผู้ชายที่ร้านขายของยืนมองอาจารย์อย่างสนอกสนใจ อาจารย์เลยเดินไปข้ามสะพาน แล้วย้อนกลับไปหาผู้ชายคนนั้น เขาบอกว่าจะใส่บาตรแล้วเอาเงินหนึ่งพันเยนให้ คิดเป็นเงินไทยปัจจุบันก็ประมาณสามร้อยบาท อาจารย์ก็บอกไปว่าไม่รับปัจจัย บิณฑบาตแต่อาหาร เขาก็รีบเข้าไปในร้านแล้วเอาฟักทองดิบชิ้นใหญ่มาให้ชิ้นหนึ่ง ก็ต้องอธิบายต่อไปอีกว่ารับแต่อาหารที่สามารถทานได้เลย โยมถึงได้เข้าใจ แล้วไปเปิดตู้เอาขนมปังแถวยาวไส้เนื้อแช่เย็นชิ้นใหญ่ๆราคาน่าจะสักหนึ่งพันเยน โยมก็เอามาใส่บาตรให้ทั้งชิ้นเลย เป็นอันว่าวันนี้ก็บิณฑบาตได้พอฉันอิ่มแล้ว
   
   โยมคนนั้นก็เล่าให้ฟังว่าปีนี้ได้มาเที่ยวที่กรุงเทพอยู่สัปดาห์หนึ่งเลยรู้จักพระไทย พอเห็นอาจารย์เลยสนใจ โยมบอกว่าอาหารไทยอร่อย ทางโรงแรมที่พักจัดอาหารชาววังมาให้ เป็นแกงที่ใส่มาในสับปะรดผ่าครึ่ง ประทับใจมาก เสร็จแล้วอาจารย์ก็เดินต่อมาหาที่นั่งสบายๆ แล้วนั่งเอามีดตัดขนมปังฉัน อิ่มมาก

   พอฉันเสร็จแล้วก็ยังไม่รู้จะไปไหนต่อดี เปิดแผนที่ที่หยิบมาจากสถานีรถไฟดูแล้วก็ต้องประหลาดใจ เพราะที่อยู่ของฮิดากะซังที่อาจารย์จดไว้อยู่ในย่านนี้เอง เดินไปไม่ถึงชั่วโมงก็ถึง อาจารย์เลยเคาะประตูแล้วฮิดากะซังก็เปิดประตูมารับด้วยความประหลาดใจ อาจารย์เองก็ประหลาดใจอยู่เหมือนกัน เพราะเดินสุ่มมาแท้ๆ ไม่ได้ตั้งใจจะตามหาที่พักของฮิดากะซังเลย...

พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก

หมายเหตุ : 1.ตอนที่7จะนำมาลงวันเสาร์หน้านะครับ(เสาร์ที่8 ต.ค. 54)
                      2.ขอขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือ "ธุดงค์ญี่ปุ่น" ของพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก 
                         3.ลิงค์ตอนที่1 http://www.dek-d.com/board/view.php?id=2249170
                            4.ลิงค์ตอนที่2 http://www.dek-d.com/board/view.php?id=2254185
                                 5.ลิงค์ตอนที่3 http://www.dek-d.com/board/view.php?id=2259084
                                      6.ลิงค์ตอนที่4 http://www.dek-d.com/board/view.php?id=2262940
                                          7.ลิงค์ตอนที่ 5 http://www.dek-d.com/board/view.php?id=2268369

แสดงความคิดเห็น

>

2 ความคิดเห็น