Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความ ไม่เที่ยง อยู่เป็นประจำ

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
อนิจจานุปัสสี อัสสะสิสสามีติ สิกขะติ
ภิกษุนั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็น
ผู้ตามเห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ จักหายใจออก

อนิจจานุปัสสี ปัสสะสิสสามีติ สิกขะติฯ
ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็น
ซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ จักหายใจเข้า ดังนี้

   ในสมัยพุทธกาล พระเถระองค์หนึ่งได้เรียนกรรมฐานในสำนักพระศาสดาแล้วเข้าไปสู่ป่า พากเพียรพยายาม "ทำสมณธรรม"  แต่ก็ไม่อาจบรรลุอรหัตตผลได้ จึงกลับไปหวังจะทูลขอกรรมฐานพิเศษจากพระพุทธองค์ ระหว่างทางเห็นไอแดด เกิดขึ้นแล้วเสื่อมไป เห็นฟองน้ำกระทบกันแล้วแตกไป จึงถือเอาเป็นอารมณ์กรรมฐาน น้อมเข้ามาพิจารณาว่า แม้อัตภาพร่างกายเรานี้ก็เหมือนกัน เกิดขึ้นแล้วก็แตกไปเป็นธรรมดา เป็นไปชั่วกาล เป็นไปชั่วขณะ ไม่ตั้งอยู่นาน

  
พระบรมศาสดาทอดพระเนตรเห็นพระเถระเช่นนั้น ก็ทรงตรัสว่า "อย่างนั้นนั่นแหละภิกษุ อัตภาพนี้มีรูปอย่างนั้นแล มีอันเกิดขึ้นและแตกไปเป็นสภาพแน่แท้ เหมือนฟองน้ำและไอแดด"

   เมื่อจบพระคาถาของพระบรมศาสดา พระเถระบรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย



ชีวิตก็เหมือนเทียน


ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเราก็เป็นอนิจจัง

  
มีนิทานของชาวจีนเรื่องหนึ่งเล่าว่า สามีภรรยาคู่หนึ่ง อาศัยอยู่ในชนบทกับท่านผู้เฒ่าท่านหนึ่ง และมีม้าฉลาดแสนรู้อีกตัวหนึ่ง ทั้งสองสามีภรรยารักม้าตัวนี้มาก วันหนึ่งม้าหนีไป ทั้งสามีและภรรยาเสียใจมาก ท่านผู้เฒ่าก็ได้ปลอบใจว่า อย่าเสียใจเลย เพราะชีวิตนี้ไม่แน่

   เวลาผ่านไปหลายวัน ม้าตัวนั้นก็กลับมาที่บ้าน แต่คราวนี้ได้พาแฟนมาด้วยเป็นม้าป่าอีกตัวหนึ่ง สามีภรรยาต่างก็ดีใจมาก แต่ท่านผู้เฒ่าก็บอกว่า อย่าเพิ่งดีใจ เพราะชีวิตนี้ไม่แน่

   ต่อมาวันหนึ่ง สามีพาม้าตัวใหม่มาหัดขี่เล่นไปรอบๆบ้าน แต่ม้ายังไม่เชื่องดี จึงยังไม่สามารถบังคับได้ดังใจ ม้าได้วิ่งลอดเข้าไปใต้ถุนบ้าน ทำให้ตัวเขาชนกระแทกเข้ากับตัวบ้านอย่างแรงจนตกลงมา แขนขาหัก ทั้งสามีและภรรยาต่างก็เสียใจเป็นอย่างมาก ท่านผู้เฒ่าก็ปลอบว่า อย่าเสียใจเลยเพราะชีวิตนี้ไม่แน่ 

   ต่อมาเกิดสงครามขึ้น ชายฉกรรจ์ในหมู่บ้านถูกทางราชการเกณฑ์ไปเป็นทหารทุกคน แต่สามีได้รับการยกเว้นเนื่องจากเป็นคนพิการ การสู้รบเป็นไปอย่างรุนแรงทำให้ทหารตายเกือบหมด สามีภรรยาก็ดีใจที่ตัวเองไม่ต้องไปเสียชีวิตในสงครามครั้งนี้

   นิทานเรื่องนี้นอกจากจะสอนเราว่าเหตุการณ์ต่างๆที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเรานั้นไม่เที่ยงแล้ว ก็ยังสอนเราอีกว่า ความรู้สึกของเรานั้นก็ไม่เที่ยงเช่นกัน



ความรู้สึกไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
 
   ครั้งพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงอนัตตลักขณสูตรต่อพระปัญจวัคคีย์ทั้ง5แล้ว ก็ได้ตรัสถามพระปัญจวัคคีย์ว่า "สิ่งใดไม่เที่ยง ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นเป็นเรา เป็นของเรา" พระปัญจวัคคีย์ทูลว่า "ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า"

พระภิกษุในปากเสือ

  
วันหนึ่งพระภิกษุหลายรูป เดินในป่าเป็นแถว เสือตัวหนึ่งวิ่งมาจากด้านหลัง วิ่งผ่านข้างๆ พระไปถึงพระองค์ที่เดินนำหน้ารูปแรกนั้นแหละ แล้วก็เข้าไปกัดกินพระรูปแรก พระภิกษุทนทุกขเวทนาสาหัสไม่ได้ ก็ร้องขอความช่วยเหลือ พระทั้งหลายก็วิ่งไปดู เห็นเสือ กำลังกินเท้าพระอยู่ พระเหล่านั้นจึงตะโกนบอกว่า
"พวกเราช่วยอะไรท่านไม่ได้แล้ว
ธรรมะของพระศาสดาเท่านั้นที่จะช่วยท่านได้"
   พระภิกษุรูปนั้นก็ได้สติ ทำจิตนิ่ง โอปนยิโก เพ่งเข้าไปดูที่ำลังกิน แล้วพิจารณาได้ว่า เวทนาไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันเป็นอนัตตา

   เมื่อเสือ กินท่านถึงข้อเท้า ท่านได้บรรลุ โสดาบัน
   เมื่อเสือ กินท่านถึงหัวเข่า ท่านได้บรรลุ สกิทาคามีผล
   เมื่อเสือ กินท่านถึงเอว ท่านได้บรรลุ อนาคามีผล
   เมื่อเสือ กินท่านถึงหัวใจ   ท่านได้บรรลุ อรหัตผล
   และขาดใจตาย...   นิพพาน
 
ยังกิญจิสมุทะยะธัมมัง สัพพันตังนิโรธะธัมมัง
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งเหล่านั้นทั้งหมดย่อมมีความดับไปเป็นธรรมดา

สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ
สิ่งทั้งหลายไม่ควรยึดมั่นถือมั่น












บทความจากหนังสือ "อานาปานสติ : วิถีแห่งความสุข" และ "ปีกระต่ายขอจงสวัสดี"
ของพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก



แก้ไขครั้งที่ 1 เมื่อ 10 ธันวาคม 2554 / 21:29
แก้ไขครั้งที่ 2 เมื่อ 10 ธันวาคม 2554 / 21:30
แก้ไขครั้งที่ 3 เมื่อ 11 ธันวาคม 2554 / 10:47
แก้ไขครั้งที่ 4 เมื่อ 11 ธันวาคม 2554 / 15:16

แสดงความคิดเห็น

>

4 ความคิดเห็น

hua hom 10 ธ.ค. 54 เวลา 21:15 น. 1

นิพพานเท่านั้นที่เที่ยง ไม่เปลี่ยนแปลง

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "นิพพานัง ปรมัง สุขัง"
                            นิพพานเป็นบรมสุข


สำหรับผู้ที่สนใจ อยากจะมีดวงตาเห็นธรรม เห็นพระนิพพาน ก็สามารถศึกษาได้จากหนังสือ"อานาปานสติ : วิถีแห่งความสุข" ของพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก


แก้ไขครั้งที่ 1 เมื่อ 10 ธันวาคม 2554 / 21:15
แก้ไขครั้งที่ 2 เมื่อ 10 ธันวาคม 2554 / 21:36
0