Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

เทศกาลในญี่ปุ่น

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

เทศกาลในฤดูหนาว (ธ.ค.-ก.พ.) 14 ธ.ค. เทศกาลงิชิไซ (Gishi Sai)
เพื่อรำลึกถึงโรนิง ผู้มีชื่อเสียง 47 คน โดยศพของโรนิงทั้งหมดนี้ฝังอยู่ที่วัดเซ็งงะคุจิ(Sen-gakuji) จึงมีพิธีจัดขึ้นที่วัดนี้เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมในวันเดียวกันนี้เมื่อปี 1702 ที่พวกเขาได้แก้แค้นให้อาจารย์ที่เสียชีวิตและได้ฆ่าตัวเองตายในเวลาต่อมา
15-18 ธ.ค. เทศกาลอองมัตสึริ ของศาลเจ้าคะซูกะ ในเมืองนารา
17-19 ธ.ค. เทศกาลโทริ โนะ อิจิ วัดอะซะคุซะคันนอน ในโตเกียว
31 ธ.ค. เทศกาลส่งท้ายปีเก่า ในเที่ยงคืนของวันที่ 31 วัดทุกแห่งในญี่ปุ่นจะพากันตีระฆัง 108 ครั้ง และอนุญาตให้ประชาชนไปตีระฆังตามวัดได้ด้วย เพื่อเป็นการส่งท้ายปีเก่าที่กำลังจะผ่านไป
1-3 ม.ค. เทศกาลปีใหม่ เป็นการต้อนรับสิ่งใหม่ๆที่กำลังจะเข้ามาเริ่มตั้งแต่วันที่ 1-7 มกราคม หลายที่จะจัดงานเฉลิมฉลองมีการจุดพลุอย่างสวยงาม รอนับเวลาเพื่อย่างเข้าสู่ปีใหม่ร่วมกัน ช่วงนี้จะเป็นเทศกาลที่มีการหยุดงานทุกอย่างติดต่อกันหลายวันทั้งราชการ เอกชนและโรงเรียนต่างหยุดทำการ เพื่อให้ได้พักผ่อนกันอย่างเต็มที่ การต้อนรับเทศกาลปีใหม่จะเริ่มตั้งแต่ปลายปีโดยแต่ละครอบครัวจะทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่ทั้งภายในภายนอก และเตรียมทำอาหารที่ใช้ทานในช่วงเทศกาล คือโมจิ(mochi)และอาหารปีใหม่ที่เรียกว่า โอะเสะจิ(osechi) เพื่อที่พอถึงเทศกาลจะไม่มีการจุดเตาในครัวอีกแม่บ้านก็จะได้หยุดพักกันหลังจากต้องเหน็ดเหนื่อยในการดูแลบ้านและปรนนิบัติสามี เรียกได้ว่าพักผ่อนกันเต็มที่จริงๆ ในคืนส่งท้ายปีเก่าจะมีธรรมเนียมรับประทานเส้นโซบะ(soba) ซึ่งมีความหมายให้มีชีวิตที่ยืนยาวเหมือนเส้นโซบะ เมื่อถึงเวลาเที่ยงคืนย่างเข้าสู่วันที่ 1 ผู้คนจะพากันไปวัดหรือศาลเจ้าด้วยชุดกิโมโน เพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และขอพร เพื่อความเป็นมงคลให้แก่ตนเองและครอบครัว ชาวญี่ปุ่นจะมีความผูกพันกับวัดเป็นอย่างมากจะเห็นว่าหลายเทศกาลจะมีพิธีการเกี่ยวข้องกับวัด วัดจึงยังคงเป็นศูนย์รวมทางวัฒนธรรมจนถึงปัจจุบัน รวมไปถึงการไปเยี่ยมเยียนสวัสดีปีใหม่ยังบ้านญาติผู้ใหญ่และผู้มีอุปการะคุณ หรือจะเลือกส่งเป็นบัตรอวยพรปีใหม่แทนการไปอวยพรด้วยตัวเองก็เป็นที่นิยมเช่นกัน
กลาง ม.ค. เทศกาลแข่งขันซูโม่ ครั้งที่ 1 ในโตเกียว เป็นฤดูกาลแรกของการแข่งขันกีฬาซูโม่ ซี่งจัดว่าเป็นกีฬาประจำชาติและเป็นกีฬายอดนิยมมันแสดงถึงจิตวิญญาณประจำชาติและพละกำลังอันมหาศาล กีฬาซูโม่จัดขึ้นปีละ 6 ครั้งโดยแต่ละครั้งใช้เวลาในการแข่งนานสองสัปดาห์ ส่วนสถานที่จัดแข่งจะแบ่งเป็น 2 ที่ คือ จัดที่โคคุงิคัง(Kokugikan)อยู่ที่โตเกียว 3 ครั้ง และจัดที่เรียวโงะคุ(Ryogoku)ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของโตเกียวอีก 3 ครั้ง การแข่งขันในโคกุงิคัง (Kokugikan) จัดขึ้นในเดือนมกราคม,พฤษภาคม และกันยายน นักปล้ำทุกคนต้องลงแข่งทุกวันเป็นเวลาสองอาทิตย์ ผู้ชนะจะได้รับพระราชทานถ้วยรางวัลจากองค์จักรพรรดิ เงินรางวัลและอาหารอย่างมโหราฬ เรียกได้ว่าอยู่ได้อย่างสบายไปอีกนาน
ต้น ก.พ. เทศกาลหิมะ ที่เมืองซัปโปโรบนเกาะฮ็อกไกโดที่มีชื่อที่สุดในญี่ปุ่น มีรูปแกะสลักหิมะและน้ำแข็งอันมหึมาต่างๆมากมาย
ต้น-กลาง ก.พ. เทศกาลหิมะ ที่อะซะฮิคะวะ อะบะชิริและเมืองอื่นๆในฮ็อกไกโด
3-4 ก.พ. เทศกาลเซ็ตสึบุน (Setsubun Matsuri) มีการซัดถั่วแดงอะซุกิ(Azuki) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดี เพื่อขับไล่สิ่งอัปมงคลออกจากบ้าน ในขณะทำพิธีซัดถั่วออกมาจากในบ้านจะตะโกนว่า “โอนิ วะโซโตะ” แปลว่า สิ่งอัปมงคลทั้งหลายจงออกไป และจะซัดถั่วจากข้างนอกเข้าไปในบ้าน และตะโกนว่า “ฟุกุ สะ อุจิ” แปลว่า ความเป็นสิริมงคลจงเข้ามา ซึ่งมีการจัดพิธีนี้ตามวัดและศาลเจ้าด้วย
3-4 ก.พ. เทศกาลแห่โคม ของศาลเจ้าคะซุกะ ในเมืองนารา
15-16 ก.พ. เทศกาลกระท่อมหิมะ (Kamakura Matsuri) ของเมืองโยโคเทะ ในอะคิตะ
เสาร์ที่ 3 ของ ก.พ. เทศกาลเปลือย (Hadaka Matsuri) ที่วัดไซไดหยิ ในเมืองโอคะยะมะ


เทศกาลในฤดูใบไม้ผลิ (มี.ค.-พ.ค.) 3 มี.ค. เทศกาลฮินะ มัตสุริ (Hina Matsuri) แปลว่า วันเด็กผู้หญิง
เป็นเทศกาลสำหรับเด็กหญิงเล็กๆที่จะนำตุ๊กตาฮินะ(Hina) ซึ่งเป็นตุ๊กตาชาววัง โดยทั่วไปในหนึ่งเซ็ทจะมีตุ๊กตาอย่างน้อย 15 ตัวเป็นตัวแทนขององค์จักรพรรดิและจักรพรรดินี และผู้คอยรับใช้ จัดวางเรียงเป็นขั้นตามลำดับบนชั้นประดับตุ๊กตา เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของตุ๊กตาก็จะตกแต่งอย่างปราณีตด้วยผ้าไหม บ่งบอกถึงความสมบูรณ์พูลสุขเป็นการอวยพรให้เด็กหญิงเล็กๆมีแต่ความสุขในชีวิต คุณพ่อคุณแม่จะนำตุ๊กตาเหล่านี้มาวางประดับในบ้านฉลองด้วยเหล้าขาวและขนมที่มีสีแดง-ขาวและจะรีบเก็บตุ๊กตาทันทีเมื่อผ่านพ้นวันนี้ไปแล้วเนื่องจากมีความเชื่อกันว่าหากประดับไว้นานๆจะทำให้ลูกสาวมีคู่ครองล่าช้า วันนี้ถือเป็นวันของเด็กผู้หญิงจริงๆผู้ปกครองจะเปิดโอกาสให้มีการสังสรรค์กันในกลุ่มเพื่อน โดยชวนกันมาจัดปาร์ตี้เล่นกันกลางแจ้งและทำอาหารทานกันที่บ้านใดบ้านหนึ่ง สร้างรอยยิ้มและความสุขให้กับเด็กหญิงที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีต่อไป
13 มี.ค. เทศกาลคะซูกะ ของศาลเจ้าคะซูกะในเมืองนารา จัดให้มีการฟ้อนรำคลาสสิคที่เก่าแก่กว่า 1,000 ปี บนเวที
กลางมี.ค. เทศการแข่งขันซูโม่ ครั้งที่ 2 ในโอซาก้า เป็นเวลา 15 วัน
1-30 เม.ย. ระบำมิยะโก หรือระบำซากุระที่แสดงโดยนักแสดงญี่ปุ่น "ไมโกะ" ในเกียวโต
8 เม.ย. เทศกาลฮานะมัตสึริ (Hana Matsuri) หมายถึง วันประสูติของพระพุทธเจ้า หรือถ้าแปลตรงตัว จะแปลว่า เทศกาลดอกไม้(Hana แปลว่าดอกไม้) ตรงกับวันที่ 8 ของเดือน เป็นพิธีกรรมตั้งแต่สมัยโบราณที่มีการขอพรให้สุขภาพแข็งแรง มีชีวิตที่ดี และมีอาหารอุดมสมบูรณ์รวมไปถึงความสุขในชีวิตหลังความตาย เทศกาลนี้ตรงกับฤดูที่ดอกไม้กำลังบานสวยงามมีการจัดพิธีรำลึกถึงวันสำคัญนี้มีการเต้นรำกันข้ามวันข้ามคืนมีตัวเอกที่สำคัญเรียกว่า โอนิ(oni) ซึ่งเชื่อว่าเป็นตัวแทนของพระเจ้าที่มาปรากฎกายในรูปของมารเพื่อให้พรที่ขอเป็นจริง และไฮไลท์ที่สำคัญของงานคือจะมีการต้มน้ำร้อนหม้อยักษ์กลางแจ้ง แล้วจุ่มซาคากิ(กิ่งของต้นโฮลี่)เพื่อประพรมน้ำศักดิ์สิทธิ์ให้ผู้มาร่วมงาน เพื่อความเป็นสิริมงคลและมีสุขภาพแข็งแรงตลอดปี
1-15 เม.ย. เทศกาลโอะฮานามิ (Ohanami) เป็นเทศกาลชมดอกซากุระ จัดขึ้นตั้งแต่ต้นเดือน-กลางเดือนเมษายน เป็นงานที่สำคัญงานหนึ่งในฤดูใบไม้ผลิ ชาวญี่ปุ่นจะพากันออกมาชมความงามของดอกซากุระ ซึ่งพร้อมใจกันบานสะพรั่งรับฤดูใบไม้ผลิเป็นสีชมพูตลอดทาง ก็แหม!!มีให้ดูกันแค่ปีละครั้งและที่สำคัญจะบานอยู่แค่อาทิตย์เดียว เมื่อถึงเวลากลีบของดอกซากุระก็จะร่วงโรยปลิวลงมาเหมือนกับหิมะช่างเป็นภาพที่งดงามชวนโรแมนติกยิ่งนัก(ว่ามะ?) ตามสถานที่ต่างๆที่เป็นจุดชมดอกซากุระบานก็จะมีร้านค้ามาตั้งขายของ ผู้คนหลั่งไหลกันมาเสียงจ๊อกแจ๊กจอแจแต่ก็ไม่มีใครย่อท้อที่จะมาชมความงามกัน บางคณะมากันเป็นครอบครัวก็จะนำอาหารมาปูเสื่อนั่งทานกันนับว่าเป็นกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวไปอีกอย่างนึง คนญี่ปุ่นเวลามาชมดอกซากุระก็จะแสดงความรู้สึกออกมาอย่างเต็มที่พูดชมไม่ได้ขาดปากถึงความสวยงามที่ธรรมชาติสร้างมาให้
14-15 เม.ย. เทศกาลทะคะยะมะ (Takayama Matsuri) ของศาลเจ้าฮิเอะในเมืองทะคะยะมะ พร้อมขบวนรถแห่ศาลเจ้าอันตระการตา
16-17 เม.ย. เทศกาลยะโยอิ (yayoi Matsuri) ที่ศาลเจ้าฟุตะระซัน ในเมืองนิกโก้ มีขบวนแห่ตกแต่งสวยงาม
3-4 พ.ค. เทศกาลฮะคะตะ โดนทะคุ (Hakata Dontaku) ในเมืองฟุคุโอกะ มีขบวนแห่บนหลังม้าของเทพเจ้าในตำนานญี่ปุ่น
3-5 พ.ค. เทศกาลเล่นว่าว ที่เมืองฮะมะมัตสึ เป็นสนามว่าวที่มีผู้เข้าแข่งขันว่าวขนาดใหญ่แข่งขันกันอย่างสนุกสนาน พยายามจะตัดเชือกของฝ่ายคู่แข่ง
5 พ.ค. เทศกาลฉลองเด็กชาย เมื่อผ่านพ้นเทศกาลเด็กผู้หญิง(Hana)ไปแล้วเมื่อเดือนมีนาคม คราวนี้ก็ถึงตาหนุ่มๆกันบ้าง เทศกาลนี้เป็นการฉลองให้กับเด็กผู้ชายตรงกับวันที่ 5 พฤษภาคม วันนี้ยังถือเป็นวันเด็กซึ่งเป็นวันหยุดราชการวันหนึ่งด้วย ครอบครัวไหนที่มีลูกผู้ชายก็จะประดับตุ๊กตานักรบ ซึ่งประกอบด้วยเสื้อเกราะ หมวกเกราะ และอื่นๆ ส่วนหน้าบ้านก็จะชักธงปลาคร๊าฟ(koi-nobori) และใช้ดอกโชบุและคะชิวะ โมะจิในการอธิษฐานขอพรให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จต่อไปในอนาคต สาเหตุที่ใช้ปลาคร๊าฟเป็นสัญลักษณ์เนื่องจากปลาชนิดนี้จะว่ายทวนน้ำและกระโดดสวนน้ำตก เพื่อไปให้ถึงแหล่งวางไข่เปรียบเหมือนตัวแทนแห่งความพากเพียรและความพยายามอย่างกล้าหาญ
11 พ.ค. เทศกาลจับปลาโดยนกกาน้ำ บนแม่น้ำนะงะระในกิฟุ มีไปจนถึง 15 ต.ค.
15 พ.ค. เทศกาลอะโออิ (Aoi Matsuri) ที่เกียวโตมีขบวนแห่ซามูไรโบราณ
กลาง พ.ค. เทศการแข่งขันซูโม่ ครั้งที่ 3 ในโตเกียวจัดที่โคคุงิคัง (Kokugikan) ระยะเวลา 15 วัน
17-18 พ.ค. เทศกาลศาลเจ้าโทโซงู ในเมืองนิกโก้ มีขบวนแห่นักรบกว่า 1,000 คน
อาทิตย์ที่ 3 ของพ.ค. เทศกาลชมเรือ (Mifune Matsuri) บนแม่น้ำโออิ ในเกียวโตมีขบวนแห่เรือโบราณ
อาทิตย์ที่ 3 ของพ.ค. เทศกาลแห่ศาลเจ้า (Sanja Matsuri) ตรงกับศุกร์ เสาร์และอาทิตย์ที่สามของเดือน รวม 3 วัน เป็นเทศกาลในสมัยเอโดะ เพื่อระลึกถึงชายหาปลาที่พบรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมในแม่น้ำงานจัดขึ้นที่ศาลเจ้าอะซากุสะ โดยงานจะจัดอย่างยิ่งใหญ่ มีการร่ายรำ เล่นดนตรี และขบวนแห่ศาลเจ้าเล็กๆที่เรียกว่า “มิโคฉิ” แห่ไปรอบเมือง

เทศกาลในฤดร้อน (มิ.ย.-ส.ค.)
เสาร์ที่ 2 ของ มิ.ย. เทศกาลม้า (Chagu-Chagu Umakko Horse Festival) ในเมืองโมริโอกะ ซึ่งมีแห่ขบวนม้าประดับอย่างมีสีสรร
อาทิตย์ที่ 2ของ มิ.ย. เทศกาลโทริโงเอะจินจะไทไซ (Torigoe Jinja Taisai) จัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่สองตอนกลางคืน มีขบวนแห่ศาลเจ้าที่ใหญ่ที่สุดในโตเกียวเดินแห่ไปตามถนนที่สว่างไสวไปด้วยโคมไฟ จัดขึ้นที่ศาลเจ้าโทริโงเอะ
10-16 มิ.ย. เทศกาลซันโนไซ (Sanno Sai) เป็นเทศกาลใหญ่ในสมัยเอโดะ มีการเดินพาเหรดของผู้คนที่แต่งกายสมัยโบราณในวันเสาร์ที่ศาลฮิเอะ
6-8 ก.ค. เทศกาลอาซางาโอะอิจิ (Asagao Ichi) เป็นเทศกาลตลาดนัดดอกมอร์นิ่งกลอรี่ พ่อค้าแม่ค้าหลายร้อยคนจะมาตั้งแผงขายดอกมอร์นิ่งกลอรี่ ที่อิริยะคิชิโบจิน (Iriya Kishibojin)
7 ก.ค. เทศกาลดวงดาว (Tanabata Matsuri) ซึ่งตามตำนานเชื่อกันว่า เป็นวันที่ดาวเจ้าหญิงทอผ้าโคจรข้ามทางช้างเผือกมาพบกับดาวคนเลี้ยงวัวที่เป็นชายคนรัก ในวันนี้ผู้คนจะพากันเขียนคำอธิษฐานลงบนแถบกระดาษ 5 สี แล้วแขวนบนกิ่งไผ่ พอวันรุ่งขึ้นก็จะนำไปลอยน้ำ พร้อมกับพับนกกระเรียนกระดาษประดับในสวน เพื่ออธิษฐานขอพรให้เขียนหนังสือและทำการฝีมือเก่งๆ เทศกาลนี้จะจัดอย่างใหญ่โต โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานทะนะบะตะของเมืองเซนได(Sendai) ในจังหวัดมิยะงิ(Miyagi) และฮิระทสึขะ(Hiratsuka) ในจังหวัดคะนะงะวะ(Kanagawa) ที่มีชื่อเสียงไปทั่วประเทศมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลไปชมงานกันมากมายจนกลายเป็นจุดส่งเสริมการท่องเที่ยว
9-10 ก.ค. เทศกาลโฮซูกิอิจิ (Hozuki Ichi) จะมีตลาดนัดต้นซากุระที่วัดเซ็นโซจิ มีตั้งแต่ช่วงเช้าถึงเที่ยง
กลาง ก.ค. เทศการแข่งขันซูโม่ ครั้งที่ 4 ที่นาโงย่า ระยะเวลา 15 วัน
14 ก.ค. เทศกาลไฟ (Fire Festival) ที่ศาลเจ้านาจิคะจึระ มีการแบก 12 คบเพลิงใหญ่ โดยนักบวชในชุดขาว
1-15 ก.ค. เทศกาลฮะคะตะ กิออน ยะมะงะซะ (Hakata Gion Yamagasa) ในฟุคุโอกะ มีการแห่ขบวนรถใหญ่ในวันที่ 15
16-17 ก.ค. เทศกาลกิอน (Gion) ซึ่งเป็นงานใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุดของเกียวโต ย้อนยุคไปในสมัยศตวรรษที่ 9 โดยจะมีขบวนแห่ตกแต่งแบบจีนและดัตซ์สมัยโบราณแห่ไปรอบเมืองตามถนนสายหลัก ไปทางไหนก็จะได้ยินเสียงเครื่องดนตรีที่เรียกว่า "โช" กังวาลมาจากรถขบวน(Hoko)ตลอด
เสาร์สุดท้ายของ ก.ค. เทศกาลซูมิดะงาวะฮานาบิไทไค (Sumidagawa Hanabi Taikai) จัดขึ้นในวันเสาร์สุดท้ายของเดือน เป็นเทศกาลดอกไม้ไฟเหนือแม่น้ำซูมิดะ ซึ่งเป็นงานดอกไม้ไฟที่ตระการตาที่สุดในโตเกียว และบริเวณที่จะสามารถชมความงามได้สวยที่สุดอยู่ช่วงสะพานโคโตะโตอิ (Kototoi), ชิราฮิเงะ (Shirahige) และโคมางาตะ (Komagata)
24-25 ก.ค. เทศกาลเทนยิน (Tenjin Matsuri) ของศาลเจ้าเทนมันงู ในโอซาก้า มีขบวนแห่ศาลเจ้าบนเรือเหนือลำน้ำโดจิมะ
1-7 ส.ค. เทศกาลเนบุตะ (Nebuta Matsuri) ในเมืองอะโอโมริ (2-7 ส.ค.) ในเมืองฮิโรซากิ (1-7 ส.ค.) มีขบวนแห่โครงหุ่นประดับไฟ
3-6 ส.ค. เทศกาลโคมไฟ (Kanto Matsuri) ที่เมืองอะคิตะ มีขบวนแห่แผงโคมไฟแขวนบนไม้ไผ่
5-7 ส.ค. เทศกาลฮะนะงะซะ ในเมืองยะมะงะตะ มีขบวนฟ้อนรำของชาวเมืองเป็นหมื่นคน ในชุดหมวกฟางติดดอกไม้เทียม
13-16 ส.ค. เทศกาลโอบง (Obon) ผู้คนจะกลับบ้านเกิดเพื่อทำความสะอาดหลุมฝังศพและเซ่นไหว้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นช่วงเวลาที่ดวงวิญญาณคนตายจะกลับลงมาเยี่ยมโลกมนุษย์ ตามบ้านเรือนจึงพากันจุดตะเกียงหรือคบเพลิงให้ไฟส่องนำทางดวงวิญญาณญาติพี่น้องให้กลับบ้านถูก ช่วงนี้จะพบเห็นการร่ายรำพื้นบ้านโบราณบงโอโดริ (Bon Odori) อยู่ทั่วทุกหนทุกแห่ง
12-15 ส.ค. เทศกาลระบำอะว่า (Awa Odori Folkdance Festival) ที่เมืองโตคุชิมะ มีการร้องรำทั้งกลางวันและกลางคืน
16 ส.ค. เทศกาลไดมอนหยิ (Daimonji Bonfire) เป็นเทศกาลเพื่อส่งดวงวิญญาณผู้ล่วงลับ ซึ่งจัดบนเนินเขามองเห็นได้จากตัวเมืองเกียวโต

เทศกาลในฤดใบไม้ร่วง (ก.ย.-พ.ย.) 16 ก.ย. เทศกาลขี่ม้ายิงธนู (Yabusame)
ที่ศาลเจ้าทซึรุหงะโอกะ ฮะจิมังงู ในเมืองคะมะคุระ
กลาง ก.ย. เทศกาลแข่งซูโม่ ครั้งที่ 5 ในโตเกียว
7-9 ต.ค. เทศกาลคุนจิ (Kunchi Festival) ของศาลเจ้าซูวะในเมืองนางาซะกิ มีระบำมังกรจีนดั้งเดิม
9-10 ต.ค. เทศกาลทะคะยะมะ แห่งศาลเจ้าฮาจิมังงุ ซึ่งมีขบวนรถสีสรรต่างๆ
กลาง ต.ค. เทศกาลนาโงย่า มีขบวนพาเหรดซามูไรตามถนนในเมือง
กลาง ต.ค.- พ.ย. เทศกาลชมดอกเบญจมาศ ที่ศาลเจ้าเมหยิ และวัดอะซะคุซะในโตเกียว
17 ต.ค. เทศกาลฤดูใบไม้ร่วง ของศาลเจ้าโทโซหงุ ในเมืองนิกโก้ มีขบวนพาเหรดนักรบโบราณใส่ชุดเสื้อเกราะ
22 ต.ค. เทศกาลจิไดมัตสึริ (Jidai matsuri) เป็นเทศกาลของศาลเจ้าเฮอันในเกียวโต ซึ่งเป็นสุดยอดเทศกาลแฟนซี คนที่มาร่วมงานนับพันคนจะแต่งกายเลียนแบบคนในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น เดินขบวนพาเหรดไปทั่วเมืองเกียวโต
2-4 พ.ย. เทศกาลโอคุนจิ ของศาลเจ้าคะระทจึในซะหงะ ซึ่งมีขบวนพาเหรดที่มีสีสรรตระการตา
3 พ.ย. ขบวนแห่ซามูไร (Daimyo Gyoretsu) ในเมืองฮะโกเน่
กลาง พ.ย. เทศกาลแข่งขันซูโม่ ครั้งที่ 6 ในเมืองฟุคุโอกะ
15 พ.ย. เทศกาลชิจิโงซัง (Shichi-Go-San) เป็นเทศกาลฉลองให้กับเด็กชายวัย 3 และ 5 ขวบ เด็กหญิงวัย 3 และ 7 ขวบ ซึ่งผู้ปกครองจะพาเด็กๆที่แต่งกายด้วยชุดกิโมโนหรือชุดที่สวยงามที่สุดไปไหว้พระที่ศาลเจ้าชินโต ประเพณีนี้แพร่หลายมาจากสังคมของชาวซามูไรในสมัยเอะโดะ ซึ่งในสมัยนั้นลูกชายหญิงของครอบครัวซามูไรจะเริ่มไว้ผมยาวตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ซึ่งจะทำพิธีที่เรียกว่า"พิธีไว้ผม" จากนั้นเมื่อเด็กชายอายุ 5 ขวบ ก็จะทำพิธีสวมกางเกงฮะคะมะ(hakama) สำหรับชุดกิโมโน ส่วนเด็กผู้หญิงเมื่ออายุครบ 7 ขวบจะเริ่มคาดผ้าคาดอกที่เป็นทางการครั้งแรก จึงมีพิธีถอดผ้าคาดอกซึ่งเป็นผ้าคาดอกที่ใช้แต่เดิมออก

 


PS.  "ใครทำให้เธอต้องมีน้ำตาฉันคนนี่แหละจะไปจัดการเอง...!!"

แสดงความคิดเห็น

>

3 ความคิดเห็น