Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

เทคน้อง...วัฒนธรรมการสิ้นเปลืองของเด็กมหาลัย

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
เทคน้อง...วัฒนธรรมการสิ้นเปลืองของเด็กมหาลัย        
จันทร์, 04 กันยายน 2006  
             เป็นประเพณีไทยที่ผู้มาเยือนจะได้รับการต้อนรับจากเจ้าถิ่น และในการต้อนรับประการแรกที่ผู้มาเยือนจะได้รับคือ การเลี้ยงดูด้วยข้าวปลาอาหาร รวมไปถึงเครื่องดื่มทั้งที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์และไม่ผสมแอลกอฮอล์ แต่ที่มักจะขาดเสียมิได้ คือ กิจกรรมสันทนาการระหว่างผู้มาเยือนกับเจ้าถิ่น


            โดยปกติการต้อนรับผู้มาเยือนจะถูกจัดขึ้นให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้มาเยือน และการที่ต้องจัดการต้อนรับในทำนองนี้ขึ้น ก็ด้วยมุ่งเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้นระหว่างผู้มาเยือน กับเจ้าถิ่นนั่นเอง


             ในรั้วอุดมศึกษาทุกวันนี้ ยังคงมีสีสันอย่างหนึ่งที่เป็นประเพณีสืบทอดต่อ ๆ กันมาอย่างยาวนานในหลายสถาบัน และถือปฏิบัติกันมาในเกือบทุกสถาบันการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย กระทำกันทุก ๆ ปีการศึกษา จนกลายเป็น “วัฒนธรรม” ซึ่งมหาวิทยาลัยบูรพาก็เช่นกัน โดยช่วงเวลาจะอยู่ระหว่างเดือนมิถุนายนจนถึงปลายเดือนกรกฎาคม

             การ “เทคน้องใหม่” จึงเป็นเหมือนสะพานเชื่อม ระหว่างกลุ่มคนใหม่ไปสู่กลุ่มคนเก่า ให้ได้มีปฏิสัมพันธ์ รู้จักมักคุ้นอันดี เพื่อความแนบแน่นทางจิตใจต่อกัน

             เป็นเรื่องของความปรารถนาอันแรงกล้า บวกกับความกระหายอยากที่จะแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตจากรั้วมหาวิทยาลัยของรุ่นพี่ สู่รุ่นน้อง ถือเป็นลักษณะที่แสดงออกของสัญชาตญาณ ซึ่งรุ่นพี่ได้รับถ่ายทอดและถูกกระทำมาสารพัด วิธีการอาจเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามยุคสมัย

            วัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรม ก็เพื่อสร้างสายใยความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง รุ่นพี่ - รุ่นน้อง สร้างขวัญและกำลังใจในการเข้ามาอยู่ร่วมกันด้วยไมตรีจิตและมิตรภาพ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องยึดรุ่นน้องเป็นศูนย์กลาง

             “ระบบสายเทค” ที่มีน้องเทค พี่เทค พี่โถ พี่เถา พี่ปิ่นโตก็เปรียบได้กับปิ่นโตแต่ละเถา ซึ่งต้องมีส่วนประกอบหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นขาปิ่นโต ชั้นใส่กับข้าวในแต่ละชั้น ตลอดจนฝาปิ่นโต ที่ทำให้เกิดเป็นปิ่นโตแต่ละเถาขึ้นมา ดังนั้นแต่ละรุ่นจึงมีรุ่นพี่ รุ่นน้อง ร่วมรหัสเทคเดียวกันสืบเนื่องกันไปทุกรุ่น ชนิดที่เรียกว่าเป็น ‘สายเทค’ เดียวกัน ใส่ใจและดูแลกันเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน

             ระยะที่ผ่านมานี้  หลาย ๆ คณะมีการจัดเปิดเทคกันขึ้น  ซึ่งการจับเทค คือ การจับฉลากว่าน้องจะมีพี่รหัสเป็นใคร อยู่สายรหัสใด ซึ่งจะเรียกกันว่า พี่เทค พี่โถ และพี่เถา ตามลำดับอาวุโส โดยน้องจะเป็นคนจับฉลาก พี่ ๆ มีหน้าที่ลุ้น และเก็บสีหน้าท่าทางเอาไว้ไม่ให้น้องรู้ว่าเราเป็นใคร เพราะเป็นความลับที่น้องต้องพยายามตามสืบสายของตัวเองให้ได้

             ในช่วงนี้ จะเห็นรุ่นพี่พยายามสรรหาของขวัญ  หรือขนมให้น้อง ๆ  เป็นจำนวนมาก  จนทำให้เงินในกระเป๋าพี่ ๆ  แฟบไปตาม ๆ กัน  โดยเฉพาะพี่เถา ที่ต้องให้ของเทคน้องตั้งแต่ปี 3 ไปจนถึง 1 (พี่ปิ่นโต คือ พี่ปี 5, พี่เถา คือ พี่ปี 4, พี่โถ คือ พี่ปี 3, พี่เทค คือ พี่ปี 2) ทำเอาหลายคนบ่นกันเป็นแถวว่าไม่มีเงิน เพราะซื้อของเทคน้องหมด

             โดยเฉลี่ยแล้วการเปิดเทคจะเสียค่าใช้จ่ายราว  900 – 1,000  บาท  และยังไม่รวมเทคใหญ่ที่แต่ละครั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายไปอีกครั้งละประมาณ  500  บาท  หากมีการเทคน้องทุกวัน ค่าใช้จ่ายจะเฉลี่ยตกเดือนละ  500  บาท  สรุปโดยรวมตั้งแต่จับรหัสเทค  เทคใหญ่  และเปิดเทคจะเสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นไม่ต่ำ  1,000  บาทต่อคน

             มันคุ้มหรือไม่กับการเสียเงินไปเป็นพัน  เพื่อที่จะแสดงความรัก  ความห่วงใยให้น้องใหม่ขนาดนี้!!

            จริงอยู่ที่ว่าการแสดงความรัก  ความห่วงใยกับรุ่นน้องเป็นสิ่งที่ดี การดูแลที่ดีจากพี่ที่น้องแต่ละคนได้รับ ทำให้ความรักความผูกพันกันถักทอขึ้นจากจุดเล็ก ๆ การเริ่มต้นด้วยการหาซื้อขนมมาให้ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่มักใช้กัน

             แต่ถ้ามากเกินไปก็จะทำให้ลำบากได้  นิสิตเกือบทั้งหมดยังต้องแบมือขอเงินจากพ่อแม่  การที่จะเสียค่าใช้จ่ายเพื่อแลกกับสายเทคมันไม่มากไปหน่อยหรือ???  ยังมีวิธีอื่นอีกหรือไม่ที่จะแสดงความรัก  ความห่วงใยจากพี่สู่น้องให้ประจักษ์กัน???

             จุดประสงค์ของการมีสายเทค  คือการสร้างสายสัมพันธ์อันดีต่อกันระหว่างรุ่นพี่  และรุ่นน้อง การเขียนจดหมายถึงกันเพื่อพูดคุยปรึกษาหารือในเรื่องต่าง ๆ  ที่จะช่วยให้น้องใหม่เข้าใจชีวิตในมหาวิทยาลัยมากขึ้น  ไม่ว่าจะเป็น  เรื่องหอพัก  การเรียน  การรับน้อง ถือเป็นการสร้างสัมพันธ์ที่ดีได้แล้ว การเทคน้อง เป็นกิจกรรมที่ช่วยสานต่อความสัมพันธ์ให้มากขึ้นเท่านั้น  

              สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่จำนวนของที่ให้ หรือราคาของสิ่งนั้น ๆ  แต่อยู่ที่ความตั้งใจจริงของผู้ให้ต่างหาก

             ถ้าเช่นนั้นการส่งของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ แนบไปกับจดหมาย  หรือการประดิษฐ์ของขวัญให้ ดูจะทำให้ผู้รับดีใจมากกว่าการซื้อ  หากน้องอยากได้น้องก็สามารถซื้อเอง แต่ของที่ประดิษฐ์ขึ้นเองนั้น  เป็นของที่มีชิ้นเดียวในโลก  เป็นของที่ทำมาจากใจผู้ให้  มันย่อมมีคุณค่าทางจิตใจมากกว่าของที่แลกมาด้วยเงิน

             เมื่อรุ่นพี่มีการเทคขึ้นมา  รุ่นต่อไปก็จะทำตามไปเรื่อย ๆ ทำให้ทุกปี  ต้องหอบหิ้วขนม  ขนของขวัญมาให้กับน้อง ๆ  ส่งผลให้รุ่นต่อไปต้องปฏิบัติตาม  และสืบต่อกันไป  จนกลายเป็น “วัฒนธรรมการเทค” ไปแล้ว ไม่เพียงแต่รุ่นพี่ต้องเสียเงินเสียทองมาซื้อของเทคให้กับน้องเท่านั้น รุ่นน้องยังต้องรับภาระการเทคนี้ต่อไป แล้วยังส่งต่อไปยังรุ่นต่อ ๆ ไปอีก อาจกล่าวได้ว่า เป็นสายเทคที่พ่วงภาระแถมไปด้วย

            ใช่ว่าจะปฏิเสธน้ำใจของผู้ให้ทั้งหมด ไม่ผิดหากมีใจจริงที่ต้องการมอบความรักกับสายเทค แต่ควรดูความเหมาะสมและความจำเป็นในการนำไปใช้มากกว่า

            ต่อจากนี้ เอาแค่ว่า เมื่อไรที่เราให้แล้วเราไม่ทุรนทุราย ผู้รับเองก็ไม่ลำบากใจที่จะรับ เมื่อนั้น จะถือได้ว่าเราได้ให้ในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว

แสดงความคิดเห็น

>

6 ความคิดเห็น

METEOR 20 มิ.ย. 51 เวลา 16:47 น. 1

เห็นด้วยกับพี่จขกทเลยค่ะ 

การเทคน้องเป็นอะไรที่ต้องใช้ตังค์เยอะอยู่

ยิ่งเพื่อนบางคนนี่ต้องซื้อของแพงๆให้น้อง

แบบไม่อยากให้น้อยหน้าเพื่อน หรือบางคนบอก

ว่าเทคน้องทั้งทีจะซื้อถูกๆให้ได้ไง ฟีงแล้วละเ่ยใจ

ทำไมต้องตีค่าของสิ่งที่พี่ให้เป็นเงินด้วยล่ะ

อะไรที่พี่ให้ก็ดีทั้งนั้นแหละแค่เขาคิดจะให้เราก็ดีใจ

บางทีแค่โพสต์อิทหรือจดหมายเล็กๆที่พี่เขียนข้อความให้มันก็ซึ้งแล้ว

0
มมส. 20 มิ.ย. 51 เวลา 17:49 น. 4

มันก็แล้วแต่คนนะค่ะ
ไม่จำเป็นต้องเทคด้วยของแพงๆ
แต่เป็นการคอยติดตามดูแลมากกว่า

0
เทคๆ 20 มิ.ย. 51 เวลา 19:29 น. 5

ม.เรามีเทคเหมือนกันนะ
แต่ไม่เห็นจะเป็นแบบนี้เลย
นอกจากวัฒนธรรมการเทคแล้ว
วัฒนธรรมมหาลัยและวัฒนธรรมส่วนตัวก็มีผลน๊ะ

0
ปังย่า 17 ม.ค. 58 เวลา 14:45 น. 6

เทคเหมือนกันนะ แต่เทคหนังสือ ติวให้ บอกแนวข้อสอบมากกว่า คืดได้พูดคุยกันมากกว่าจะพาไปกินข้าว น้องทำไม่ได้ก็โทรมาถาม โทรมาขอหนังสือ นัดกันติวให้น้อง จะเลี้ยงบ้างก็ขนมนมเนย ครั้งนึงก็ 90-150 บางครั้งน้องๆก็เป็นคนซื้อมาให้เรานะ เอาของฝากจากบ้านมาให้

0