Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

การเสด็จประพาสต้นของรัชกาลที่5

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
เสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒

วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๕ ออกจากสวนดุสิต ๒ ทุ่มไปในวังแล้วไปบ้านบุรฉัตร พอสวดมนต์จบเลี้ยงแล้ว ตัดสินโต๊ะเฉพาะชิ้นปักกิ่ง ๔ ทุ่มครึ่ง รดน้ำแล้วกลับเข้ามาในวัง ทูลลาแล้วลงเรือถึงตำหนักแพวังหน้า ๕ ทุ่ม ถึงวัดเขมา ๕ ทุ่มครึ่ง... ผ่านเส้นทาง วัดปากอ่าว วัดเทียนถวาย บางหลวง เชียงราก ดงตาล วัดท้ายเกาะใหญ่ วัดเวียงงาม วัดพนัญเชิง (อยุธยา) วัดท่างาม (ท่าหลวง) วัดสมุหประดิษฐ์ ป่าโมกข์ อ่างทอง ไชโย อำเภอเมืองอินทร์ ชัยนาท ที่ว่าการอำเภอเมืองมโนรมย์...

วันที่ ๑๑ มาถึงวัดพระปรางค์เหลืองเที่ยง พระครูพยุหานุสาสน์ (เงิน) เจ้าคณะเมืองพยุหะคีรีลงมาคอยอยู่ที่แพ ขึ้นบกทำกับข้าวแล้วดูเหยียบฉ่า กรมหลวงประจักษ์เหยียบ ถ่ายรูป พบเจ้าพระยาเทเวศร์ ซึ่งมารักษาตัวอยู่ที่นี้ดูเดินคล่องขึ้น ถามพระหมอแรกบอกว่าเป็นอำมะพาตแต่เป็นมาเสียนานถึง ๓๕ ปี ครั้นเถียงว่าอำมะพาตทำไมถึงช้าเพียงนั้น ก็รับว่าอ้ายนั้นว่าที่เป็นใหม่นี้หายแล้ว ยังจะรักษาที่เป็นเก่าต่อไปอีก เดินดูกุฏิและโบสถ์ที่ทำใหม่ไม่มีสารอะไร กลับลงมาร้อนอาบน้ำเลย ให้พระครูรดน้ำมนต์อยู่ข้างเหวสบายมาก (พระครูพยุหานุสาสน์ (เงิน) มีเกียรติคุณในทางวิปัสสนา พวกชาวเมืองนับถือว่ารดน้ำมนต์ดีนัก) มาชั่วโมงเศษถึงอำเภอพยุหะคีรีมีพายุฝนตกประปราย ต่อฝนหายจึงได้ขึ้นจะไปพระบาทที่เขาสร้างขึ้นไว้ใหม่บนเขาเมื่อ ๒๐ ปีนี้ กลัวจะมืดจึงเดินไปแต่ที่ต้นทาง ทางที่ไปเขานี้เป็นทางไปขึ้นรถไฟตำบลเนินมะกอก ๑๒๐ เส้น มีคนขึ้นลงเสมอแต่ไม่มีสินค้านอกจากพวกหมากพลูวันนี้รับหนังสือบางกอก

วันที่ ๑๒ เวลาเที่ยง ถึงวัดบ้านเกาะหยุดสำหรับกินข้าว ได้ทำมาตามทางแล้ว ขึ้นบกพบสมภารอายุ ๘๗ ปี เคี้ยวจัดเหมือนสมเด็จพุฒาจารย์ (เขียว วัดราชาธิวาส) ตาบอดข้างหนึ่ง แต่รูปร่างเปล่งปลั่งดี วัดใหญ่รักษาสะอาด มีตึกอย่างเก่า ๒ หลัง ในโบสถ์จารึกว่าสร้างเมื่อศักราช ๑๑๕๕ มีของประหลาดแต่พระกระจายยืนรูปร่างดี ได้ขอพระแล้วให้เงินไว้ให้สร้างเปลี่ยนใหม่ ต่อมาอีกชั่วโมงเศษถึงนครสวรรค์ จอดแพที่หน้าว่าการพบพระยาสุรสีห์ลงมาแต่เชียงใหม่ พระยาศรี (พระยาศรีเทพ ปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย ต่อมาเป็นพระยามหาอำมาตย์) ขึ้นมาแต่กรุงเทพ ฯ นึกจะไปดูเรือแม่ปะแต่เรียกเรือไม่ได้เลยขึ้นบนบกถ่ายรูปที่ว่าการไปบ้านเทศาดูคุกและศาล วันนี้นอนบนแพร้อนจัดเพราะมืดฝนแต่ยังไม่ตก น้ำลด ๒ ศอก เพราะฝนขาด

วันที่ ๑๓ ไปตลาดปากน้ำโพ ขึ้นริมห้างจีนสมบุญ (จีนสมบุญ เป็นพ่อค้าใหญ่อยู่ที่ปากน้ำโพ ต่อมาเป็น ขุนพัฒนาวาณิช) ถ่ายรูปและซื้อของไปจนถึงบ้านยายจูซึ่งเป็นที่สุดของตลาด เมื่อมาคราวที่แล้วมานี้เวลาไม่พอขึ้นแห่งนี้ไปลงท่าหน้าวัดโพธิ์เพราะฉะนั้นได้เห็นครึ่งตลาดเท่านั้น คราวนี้ ได้เห็นตลอดของขายเป็นของกรุงเทพฯ ของที่เงี้ยวเอามาขายถ้าเป็นผ้าก็แมนเชสเตอร์ทั้งนั้นไม่ใคร่จะมีอะไรที่จะซื้อได้ ยายจู มาเชิญเสด็จถึงกลางตลาด ด้วยความประสงค์จะให้ดูเห็ดซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเวลากำหนดว่าเป็นมงคล ข้างจีนเขานับถือกันว่าเป็นมงคล ที่จริงไม่เคยเห็นโตอย่างนี้ พอเต็มอ่างเขียวขนาดใหญ่กลับมาเที่ยง บ่าย ๕ โมงไปดูโรงทหารตั้งอยู่ต่อค่ายพม่าเก่า ปีนี้เป็นปีที่ ๔ คนสำรับแรกได้ออกบ้างแล้ว จึงเป็นการสงบเรียบร้อย ไม่มีการตื่นเต้นอันใด การปลูกสร้างก็ร่วมเข้ามาก แต่ยังไม่พอคนอยู่ คนประจำมณฑล ๑๒,๐๐๐ เต็มอัตรา ปลูกต้นสัก แล้วตรวจโรงเลี้ยงน้ำชาที่ ๆ ว่าการแล้วกลับดูเรือแม่ปะที่จะเป็นเรือพระที่นั่งเป็นเรือของลูกโตได้มาจากพระยาสุรสีห์ (เรือลำนี้ถวายสมเด็จพระโอรสครั้งเสด็จเชียงใหม่) ทำเก่งเดินได้ตลอดลำอย่างโก้ เจ้าของขอให้ตั้งชื่อว่า สุวรรณวิจิก มีเรือเก๋ง ๓ ลำ ของกรมดำรงลำ ๑ พระยาสุจริต (พระยาสุจริตรักษาเชื้อ กัลยาณมิตร ผู้ว่าราชการเมืองตาก) วิเชียร (วิเชียรปราการ ฉายอัมพเศวต ผู้ช่วยราชการเมืองกำแพงเพชร ต่อมาได้เป็นพระยาชัยนฤนาท ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท) ลำ ๑ เป็นเรือข้างใน แต่เรือที่นั่งจุดประทุนไว้ด้วยลำ ๑ เวลาค่ำฝนตกไม่สู้มากมีลมจัด

วันที่ ๑๔ เมื่อคืนนี้ฝนตกพรำต่อไปอีกยังรุ่ง พวกทหารเขาถือว่าเป็นฤกษ์ปลูกต้นสักที่โรงทหารเพราะเมื่อเวลาปลูกนั้นยอดพับ ครั้นถูกฝนคืนนี้ตลอดยอดคลับตั้ง เวลาเข้าไป (ดู) เขาบวชนาคหน้าแล้งแปลกกว่าหน้าน้ำมาก ใช่แต่สะพานไม่ถึงน้ำยังมีหาดขึ้นขวางหน้าร่องน้ำต้องไปเข้าข้างเหนือแต่มิใช่เรืออะไรเข้าไปดูต้องเข็นและลุยให้แต่ ผู้หญิงขึ้นถ่ายรูปอยู่ตามสะพานและศาลา พบกองพรานที่เขาเกณฑ์มาจะให้ตามขึ้นไป มีช้าง ๕ เชือก เขากระโจมปืน และตั้งยามล้อมกันอยู่ได้ถ่ายรูป พวกหัวหน้าขออย่าให้ต้องตามไป อนุญาตให้ปล่อย แจกเงินให้คนตะกึ่งตำลึง แล้วกลับมาจัดเรือเวลาบ่ายลงเรือไปเที่ยวตลาดแพในแควใหญ่ มีแพห้างจีนของฝรั่งแพ ๑ เหมือนกับร้านแควน้อย เขาช่างเลือกของซึ่งจำเพาะจะใช้เดินทาง เจ้าของร้านดูเป็นคนฉลาด ว่ามีรถไฟแล้วนำของขึ้นมาได้ง่าย มีกำไรดีขึ้นกว่าแต่ก่อน

วันที่ ๑๕ สองโมงเช้าติดแผ่นเงินชื่อเรือสุวรรณวิจิกแล้วออกเรือ ๆ ไฟลากขึ้นมาพ้นตลาดแล้วจึงได้ถ่อ อันเป็นลักษณะถ่อนี้ฟังเล่าไม่เข้าใจชัด จนเวลาได้เห็นเอง
เรือลำนี้ใช้คนถ่อ ๕ นายร้อยถือท้าย ๑ ที่แท้ได้ถ่อคราวละ ๔ ถ่อ ผลัดกันลงนั่งเสียคน ๑ ถ้าร่องน้ำไปขวา ถ่อซ้าย ถ้าร่องน้ำไปซ้าย ถ่อขวา ถ่อที่ขึ้นพ้นน้ำยกลอยข้ามศรีษะคนที่กำลังถ่อ เมื่อยังไม่เคยมาในเรือเช่นนี้นึกว่านายร้อยที่ถือท้ายจะเกะกะกีดอยู่ข้างท้ายมาก แต่ที่จริงดีกว่ากลาสีถือท้ายกรรเชียงซึ่งขึ้นมานั่งข่มอยู่ข้างหลังเรามาก ที่ยืนอยู่ต่างหากนอกเก๋งไม่เกี่ยวข้องอันใดเลย เรือลำนี้เดินเร็วมาก ลงเรือชล่า (เรือชล่าลำนี้เป็นเรือเก่งเรียกว่า เรือประพาส) ไปขึ้นถ่ายรูปที่หาดทรายงาม ซึ่งอยู่เหนือนครสวรรค์ไม่ถึง ๒ เลี้ยว แล้วเปลี่ยนไปขึ้นเรือแม่ปะประทุน เอากรมดำรง กับพระยาโบราณ ซึ่งไปพบกันที่หาดทรายนั้นลงเรือไปด้วย ลงมือทำกับข้าวไปพลาง ไปอีกหน่อยหนึ่งทันเรือชายยุคลเอาตัวลงมาด้วย พวกที่ไปจากเรือ ๓ คน คือ ชายอุรุพงศ์ พระยาบุรุษ หลวงศักดิ์ หลวงศักดิ์นายเวร อ้น นรพัลลภ(ต่อมาเป็นประยานิพัทราชกิจ) มหาดเล็กประจำเรือ ๔ คน ตั้งใจจะให้หลงลำ แต่ไม่สำเร็จจนถึงที่พักร้อนเพราะเหตุที่เทศาพาเรือประพาสมาตาม ประเดี๋ยวผู้ใหญ่บ้านถ่อเรือชล่าตาม ต้องไล่เทศาไปลงเรือสุวรรณวิจิก ให้จอดคอยกระบวนหลังซึ่งยังล้าอยู่มากและถอดเสื้อกางเกงคนถ่อลงนุ่งกางเกงขาก๊วยผ่านเรือพวกบางกอกขึ้นมาเสียอีกหลายลำมารู้ว่าสำเร็จได้เมื่อผ่านเรือนายทหารมณฑลนครสวรรค์ซึ่งขึ้นมาตามเสด็จไม่รู้จักจึงลงมือเสาะหาที่หยุดได้ข้างฝั่งขวา เป็นบ้านนายพันอำแดงอิ่ม มีลูกหลานว่านเครือมากเป็นเจ้าของนาโท เพราะแกเล่าว่าแกเสียค่านา ๓ สลึง เป็นเจ้าของที่ไร่ยาสูบ ซึ่งเป็นที่ดี (สมมุติให้) พระยาโบราณเป็นเจ้าตัวผู้ใหญ่ในการเที่ยวครั้งนี้ ในหน้าที่เทศากรุงเก่า ทำท่าทางและพูดจาไต่ถามดีมาก เราเป็นช่างถ่ายรูปของเจ้าคุณ จนกระทั่งเชิญขึ้นเรือนและนั่งสนทนาเป็นที่สนิทสนมดีมาก ข้อความที่สนทนาว่าโดยย่อแปลกใจที่นาทำไมขึ้นไปกว่าแต่ก่อน ยอมรับว่าหาเงินเดี๋ยวนี้ได้ง่ายแต่ใช้ก็มากเหมือนกันเมื่อก่อนข้าวขายเกวียนละ ๔ ตำลึงเท่านั้น ปล้นตีชิงไม่มีแต่ถ้าเจ้าของไม่ระวังรักษา เช่น ควายเป็นต้นถูกขะโมย ถ้าระวังอยู่แล้วขะโมยไม่กล้า เคยลงไปเฝ้าในหลวงที่ปากน้ำโพ ได้เฝ้าใกล้จำได้หลานได้เสมามา ๒ คน เสมานั้นเป็นเครื่องคุ้มกันอันตรายดีอย่างยิ่งเพราะเวลาท่านประทานท่านให้พรหลานได้มาครั้งนั้น ๒ คน เดี๋ยวนี้ต้องแบ่งไปให้หลานบ้านอื่นเสียอัน ๑ เพราะขี้โรค ที่อยู่ที่บ้าน เดี๋ยวนี้ต้องปลัดกันผูกใครขี้โรคคนนั้นได้ผูก ท่านแจกก็มากจะหาซื้อสักอันหนึ่งไม่ได้เลยไม่มีใครเขาขายอยากเฝ้าในหลวง พระยาโบราณรับจะพาเฝ้านัดหมายกันมั่นคงว่าจะให้ความจงรักภักดีต่อเจ้าแผ่นดินเป็นอันมาก เพราะได้อยู่เย็นเป็นสุขเพราะท่าน เป็นใจความเช่นนี้ กินข้าวที่ใต้ต้นไม้ริมตลิ่ง ไม่รับเชิญขึ้นไปกินบนเรือน เมื่อกินแล้วชาวบ้านลงมาหาสนทนากันต่อไป (นางอิ่มคนนี้ต่อมาลงมาเฝ้าเป็นคนโปรดอีกคน) ได้ออกเรือจวนบ่าย ๒ โมง มาถึงที่ประทับแรมยางเอนยังไม่ทันจะบ่าย ๓ โมง เดินขึ้นบกมีพวกชาวบ้านมาคอยอยู่บนฝั่งมาก มีร้านขายของกิน นักเรียนพวกหนึ่งเดินขึ้นมาจากวัด เหนือตำบลพังม่วง ที่บ้านยายอิ่มอยู่หน่อยหนึ่งเพื่อจะมาร้องสรรเสริญบารมีอันจำจะต้องร้องผิดทุกแห่ง แต่วันนี้ผิดมากสุ้งเสียงกวัดแกว่งเหลือเกิน ได้ถามดูบอกว่าเหนื่อยมาก แจกเงินคนละสองสลึงชาวบ้านมามากแจกเสมา ถ่ายรูปเรือและลำน้ำ แล้วกลับลงมาที่จอดเรือ ซึ่งทำพื้นแตะฝาใบพลู ๕ ห้อง เฉลียงด้านเดียวลงมือทำกับข้าวแต่เย็น ได้กินพอพลบ

วันที่ ๑๖ สองโมงเช้า ออกเรือมาถึงวัดบ้านเกาะลงเรือประพาสไปขึ้นวัด หมายจะถ่ายรูปกระบวนแต่เวลาอยู่ข้างกระชั้น คนเฝ้าคอยมากนักตั้งกล้องไม่ใคร่จะได้เกะกะไปหมดเลยไม่ได้รูปด ีวัดนั้นก็เป็นแต่ลานใหญ่ ๆ มีอะไรตามเคยของวัดแต่ต้นเต็มที่เวลาจะกลับแจกเสมา แย่งกันลงมาเกือบสะพานหัก ครั้นถ่อขึ้นมาได้หน่อยหนึ่ง ได้ยินเสียงร้องตะโกน กินกิน รู้ว่าเป็นบริษัทดุ๊ก (ดุ๊กคือกรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ) แวะเข้าไปเจอกรมดำรงรพี ชายยุคล พระยาโบราณร้องกันอยู่บนเรือดุ๊ก เป็นผู้ที่ถูกเรียกกินมาแล้วเขาจะเรียกให้เป็นยุติธรรม ไม่เลือกว่าใคร ๆ เว้นแต่เรือเจ้าสาย (คือพระวิมาดาเธอฯ กรมพระสุทธาสินีนาฏ) ถ้าเรียกกลัวจะเอาสำรับไปให้ด้วยหมายจะกิน เมื่อกินและแจกกันแล้วเสร็จ พากันลงเรือประพาสนั้นขึ้นมาจนถึงที่พักร้อนพากันขึ้นเรือเหลืองออกต่อไป ทำครัวมากลางทาง พอสำเร็จถึงบ้านเก้าเลี้ยว แวะช้ากินข้าว ดุ๊กได้รับหน้าที่เป็นพระราชาแต่ทำท่าไม่สนิทเพราะแกกลัวอัปปลิช (เป็นภาษาของนายคะนังเงาะ หมายความว่า อัปรีย์ แต่พูดไม่ชัด) ทักทายปราศรัยก็ต้องสอนกันมาก ข้อที่เกิดความนั้นเห็นจะเป็นด้วยเมียตากำนัน เป็นผู้รับฉันทานุมัติของพวกจีนแคะ เจ้าของไร่อ้อยหลายเถ้าแก่ด้วยกันมาเชิญเสด็จไปที่เรือนเขาทำไว้ถวาย ตกลงยอมไป เรากลับเป็นพระราชาตามเดิม มีผู้คนมาก มีพิณพาทย์ไทย พิณพาทย์จีนและม้า ฬ่อเป็นอันมาก มีธูปเทียนมาเชิญให้ขึ้นบก ได้ขึ้นไปบนเรือนตั้งโต๊ะ เครื่องบูชา มีโต๊ะเก้าอี้หุ้มแพร เตียงนอน มุ้งแพรอย่างจีนทั้งนั้น อุทิศถวายไว้ให้เป็นที่สำหรับพักข้าหลวงไปมาต่อไป จีนเม่งกุ่ยเป็นหัวหน้า เมื่อได้อนุโมธนาเสร็จแล้วลงเรือโมเดอร์แล่นต่อมาอีก มาเกยตื้น ๒-๓ คราว เลยทรายเข้าอุดท่อน้ำ ต้องมาหยุดแก้อยู่ช้า นานจนกระบวนมาถึงจึงต้องลงเรือเหลืองมาขึ้นที่บ้านท่าวัว ถ่ายรูปกระบวนเรือแล้วเดินต่อมาทางบกมาเจอพวกเดินบกด้วยกันหลายคน เลยเป็นกองโตเดินแจกเสมาระมา ที่นี้เป็นหมู่บ้านใหญ่ผู้คนแน่นหนามาก จนถึงวัดซึ่งสำหรับจะจอดแรม เขาเรียกในระยะทางว่าบ้านหัวดงมีคนมาประชุมอยู่แน่นในลานวัด ต้องไปยืนให้กราบตีนตามความต้องการเป็นอันมาก แถบนี้แตงไทยอร่อยกินทั้งวานและวันนี้

วันที่ ๑๗ ออกเรือเวลาเช้า ๒ โมง จนใกล้บ้านหูกวางเวลา ๔ โมงเช้า ลงเรือชล่าประพาสจะไปขึ้นบ้านหูกวาง พระยาอมรินทรบอกว่าบ้านกำนันใยเป็นที่ใกล้บึงที่สุด แต่ที่แท้แกเข้าใจผิด เป็นในท้องที่กำนันใยลงไป ไม่ใช่บ้านกำนันใย ที่ซึ่งใกล้ที่สุดอยู่ใต้บ้านกำนันใยลงไปอีก สังเกตดูตามคำบอกเล่าบึงนั้นเห็นจะเป็นลำแม่น้ำเก่ายาวเหลือเกิน ในลำบึงเป็นพงขึ้นว่ามีคันดินกว้างประมาณ ๓ วา ยื่นลงไปในบึงนั้นแต่ไม่ข้ามตลอด พอตกลึกก็จมเห็นจะเป็นที่ซึ่งล้อมช้างแผ่นดินพระพุทธเจ้าเสือแน่ แต่ป่ายางกองทองไม่ได้ความเพราะเหล่านี้แกไม่ข้ามบึง เมื่อมาตามทางพบกรมหลวงประจักษ์แต่ไม่ได้จับตัว เพราะกลัวจะไม่พบดุ๊ก ครั้นขึ้นมาอีกหน่อยหนึ่งพบเรือรพีก็รู้ว่าดุ๊กอยู่ ได้ตัวทั้งกรมดำรงและพระยาโบราณด้วย ให้เอาเรือโมเดอร์ลงไปรับกรมหลวงประจักษ์พากันไปขึ้นบ้านกำนันใย ได้ความว่าเดิมเป็นขุนกำแหงล้อมวัง แต่ให้พระยาโบราณขึ้นไป หรือว่าพระยาศักดามาเสียก่อนแล้วจึงกลับไม่ได้ต้องให้ขุนกำแหงอยู่ในบังคับพระยาศักดา ตาอ้นเป็นพระยาศักดา ถูกนุ่งผ้าคนเดียว ทำท่าทางอุ้ยอ้ายดีมาก กินข้าวในร่มไม้ที่บ้านกำนันใยสบายดีแต่ตากำนันใยเองอยู่ข้างจะพะวักพะวนมาก ดูเหมือนจะได้รับคำสั่งให้เตรียมตัวเพื่อจะเสด็จขึ้นทอดพระเนตรบึง สางสัยพวกเราที่ไปก็สงสัยประเดี๋ยวเรือกระบวนไป พากันวิ่งตึงตังไปริมแม่น้ำแบกจอบไปคอยฟันดินอยู่ครู่หนึ่งหน้าเล่อล่ากลับขึ้นมาว่า เจ้าคุณเทศาไล่ให้กลับขึ้นมาว่าไม่เสด็จ แวะทำกับข้าววันนี้อร่อยมากแต่เวลาที่ทำนั้นน้อย ยังต้องไปรออยู่ที่หน้าบ้านกำนันใยหน่อยหนึ่งจึงได้ แล้วถ่ายรูปพงศาวดารเวลาเจ้าฟ้าเพชร เจ้าฟ้าพรสั่งให้นายผลไปเชิญเสด็จเข้าแม่ผู้เฒ่า (เรื่องพงศาวดารตอนพระเจ้าเสือ ๒ พระองค์ ทำสะพานข้ามบึงหูกวางไม่สำเร็จทันพระทัย ให้ลงพระอาญาที่ทรงถ่ายรูป ทรงสมมุติให้กรมประจักษ์ฯ เป็นเจ้าฟ้าเพชร กรมหลวงสรรพศาสตร์เป็นเจ้าฟ้าพร พระยาโบราณเป็นนายผล) แล้วลงเรือต่อมา คิดกันว่าจะข้ามระยะหยุดเอาวันไปใช้ที่กำแพงเพชรอีกสักวันหนึ่ง จึงสั่งหลวงอนุชิต (หลวงอนุชิตพิทักษ์ชายสุนทราชุนเดี๋ยวนี้เป็นพระยาลฤษดิพจนกร) ไว้ให้บอกกระบวนใหญ่เลยข้ามอำเภอบรรพต ขึ้นมาที่อำเภอบรรพตนี้มีคนแน่นหนา มีวัดหลังคาซ้อน ๓ ชั้น ช่อฟ้าปิดทองทำใหม่ ๆ ซวดทรงก็ทีจะดีแต่ช่อฟ้านั้น ชวนฟ้าชำเลืองอยู่บ้าง (คำว่า ช่อฟ้าชวนฟ้าชำเลือง นี้อยู่ในฉันท์ของกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ เรื่อง ๑ ทรงยกมาติดโบสถ์ที่ทำช่อฟ้ายาวเกินขนาด) ไม่ได้แวะ ถัดขึ้นมาอีกหน่อยหนึ่งมีวัดรูปพรรณอย่างเดียวกันแต่หลังคา ๒ ชั้น ด้วยเห็นพระพุทธรูปเก่าตั้งอยู่ที่หัวสะพาน จึงได้แวะขึ้นดูเป็นพระเก่าจริง แต่ชำรุดมากไม่สู้งาม โบสถ์ที่หรูอยู่นั้นเป็นโบสถ์ทำใหม่ไม่มีฝา หน้าบรรณเป็นอามมีมงกุฏและราชสีห์, คชสีห์โซด ทำใหม่ทีเดียว แต่พระเก่ามีหลายองค์ไม่สู้งามทั้งนั้น แจกเสมาทั้งที่บ้านกำนันใยและที่วัด ดูเป็นลือล่วงหน้ากันมาเสียมากเรื่องเสมา ถึงที่ไหนแวะแห่งไรมีแต่อุ้มเด็กเต็มไปทั้งนั้น จะไม่ให้สงสารเพราะต้องการจริง ๆ ที่วัดนี้มีเด็กน่าเอ็นดูหลายคน แต่ชื่อวัดยืดยาวจนพระหนุ่มๆ ในวัดก็จำไม่ได้ตลอดคือ ช่องลมวารินศรัทธาราม เป็นเช่นนี้ไปทั้งนั้น ออกจากวัดขึ้นมาจนตาคนถ่อเหนื่อยจึงหยุดที่น้ำหักให้กินข้าวและถ่ายรูปอีกครั้งหนึ่งเย็นแล้วก็ไม่ถึง เห็นกระบวนใหญ่แล้วกลับหายจนออกเคลือบแคลงต้องสั่งซาวข้าวถึง ๒ ครั้ง แต่ดีที่ตานายร้อย ยืนยันว่าคงจะถึงในเวลาพลบเกือบจะถวายชีวิตได้ ก็เป็นความจริงของแก มาถึงที่พักบ้านแดนอีก ๓ นิมิตจะย่ำค่ำ บ้านคนแต่ฝั่งตะวันตกลุ่ม ทำนาดีมีไร่กล้วย ไร่อ้อย เป็นพื้นไร่เหล่านี้นายร้อยเรือก็ว่าพึ่งตั้งได้สัก ๘ ปีนี้ แต่ก่อนมาเรือเป็ดค้าขายขึ้นมาเพียงบรรพต แต่มาวันนี้เห็นเรือเป็ดจอดที่บ้านแดนนี้มากหลายลำ ผู้เดินทางแถบนี้ไล่เลียงถึงข้างบกไม่ใคร่ได้ความเป็นแต่ถ่อขึ้นล่องลง

วันที่ ๑๘ เวลาเช้าโมง ๑ ขึ้นไปถ่ายรูปที่วัดอรุณราชศรัทธารามหลังที่จอดเรือ แล้วเดินขึ้นไปเขานอระยะ ๘๗ เส้น ตอนนอกเป็นป่าไผ่แล้วมีสะพานข้ามบึงตื้น ๆ ไปขึ้นชายป่าแล้วกลับลงที่ลุ่มเมื่อเวลาน้ำมาครึ่งก่อนท่วม แต่เวลานี้เฉพาะถูกคราวน้ำลด หนทางยังเป็นโคลนเดินยากจนถึงชานเขาจึงดอน ตามคำเล่ากันว่าเป็นเขาซึ่งนางพันธุรัตน์ตามพบพระสังข์ มีมนต์มหาจินดาเขียนอยูที่แผ่นศิลาแต่พอไปเห็นฐานพระเจดีย์อยู่บนยอดมีคนยืนชี้อยู่บนนั้นก็สิ้นหวัง เหตุว่าคำจารึกกับพระเจดีย์ไม่ใช่เวลาเดียวกัน ถ้าสร้างพระเจดีย์แล้วเป็นชั้นใหม่ ได้ความว่าถึงที่พระเจดีย์ไม่มีจารึกอะไร หน้าเขามีลานกว้างเพราะมีสัปรุษมาไหว้ประจำปี มีทางเกวียนเดินผ่านทางนั้นเข้าไปบ้านดอน ซึ่งเป็นนาดีข้าวตกมากขึ้นไป แต่ลานหน้าเขาทางไม่ชัน ๒ ทบก็ถึงถ้ำพระนอน ในตรงหว่างทางที่ทบมีรูปปั้นเห็นจะเป็นปูนและละม้ายศิลาเป็นรูปโพธิสัตว์ซึ่งเขาสมมติกันว่า เป็นรูประสังข์ ถ้ำพระนอนก็เป็นเพิงผาตื้น คล้านหน้าเทวดาเกาะสี่เกาะห้า (เป็นเกาะรังนกอยู่ในทะเลสาปแขวงเมืองสงขลา) พระนอนก็ไม่ใหญ่ไม่อัศจรรย์อะไร มีพระเล็ก ๆ ตั้งอยู่มาก มีทางอ้อมขึ้นไปข้างหลังถ้ำมีถ้ำประทุนอีกถ้ำหนึ่ง ถ้ำยายชีอีกถ้ำหนึ่งก็ไม่อัศจรรย์อะไรเหมือนกัน ชั่วแต่ถ่ายรูปเล่น กลับยังไม่ทัน ๔ โมงมาเก้าอี้ เพราะแดดร้อน อาบน้ำแล้วลงเรือประทุนเหลือง ได้ออกเรือ ๕ โมงทำกับข้าวไปตามทาง พวกที่เคยทำครัวกระจัดพลัดพรายกันไปหมด ไปคุมกันติดจวนถึงเวลากิน ขึ้นกินใต้ริมไม้ฝั่งบ้านบางแก้ว วันนี้ได้หน่อไม้แทงใหม่จากที่เขาอร่อยมาก แต่ที่ ๆ ขึ้นนั้นจืดไม่สนุก เป็นบ้านเจ๊ก มียายแก่เป็นป้าของเจ๊ก ชาติภูมิเมืองนี้เดิมอยู่ใกล้หาดส้มเสี้ยวซึ่งเป็นเมืองบรรพต แล้วว่าคับแคบไปจีงขยายออกมาอยู่ที่นี้ เป็นเจ้าของที่ดินมาก เหตุด้วยได้หักร้างไว้แต่แผ่นดินยังไม่มีราคา ใครถางได้เพียงใดก็เป็นเจ้าของอยู่เพียงนั้น มาบัดนี้ต้องซื้อมีราคาทั้งนั้น แจ้งว่าตอนข้างหลังฝ่ายตะวันตกมีที่ลุ่มเวลาหน้าน้ำจนถึงควายต้องว่ายน้ำลุ่มไปจนจอดป่าข้างฝั่งตะวันออกที่แลเห็นเป็นเฟือยอยู่ริมตลิ่งเป็นที่มีเจ้าของทั้งนั้น เขาทิ้งหญ้าไว้ให้กันพัง เมื่อเข้าไปพ้นเฟือยหญ้านั้นเป็นที่เตียนตลอดเว้นไว้แต่ที่ป่ายาง ๆ นั้นมักตกถึงชายตลิ่งแต่ก็มีเจ้าของทุกต้น ได้ความจากพระศรีสิทธิกรรม์ นายอำเภอบรรพต ว่าตั้งแต่เลิกบ่อนพวกที่หากินในการบ่อนสาดขึ้นมาตามลำน้ำที่เมืองบรรพตมีมาก ที่หาดส้มเสี้ยวพวกค้าขายมากขึ้น จนต้องถึงทำโรงตลาดเพิ่มเติมหลายสิบห้อง ที่จับการเพาะปลูกแล้วก็มี นี้เป็นข่าวที่ได้ยินใหม่ในผลของการที่เลิกบ่อนเบี้ย ออกจากบ้านบางแก้วหน่อยหนึ่งก็ทันกระบวนได้แวะขึ้นเรือสุวรรณจิกเพราะออกจะเหนื่อย ๆ หมายขึ้นไปเอน แต่มารู้สึกว่าเรือเก๋งกระดานร้อนกว่าเรือประทุนเป็นอันมากเอนไม่ใคร่จะลง เวลาบ่าย ๔ โมง แวะจอดรูปที่หาดแล้วเลยลงเรือชล่าประพาสเที่ยวต่อไป แวะบ้านข้างฝั่งตะวันออกถูกบ้านตาแสนปม เป็นปมไปทั้งตัวแต่ไม่มีอะไร แดดเผาจึงได้ลงเรือต่อมาจนเวลาจวนย่ำค่ำขึ้นที่หาดบ้านแสนตอ เดินข้ามไปวัดสว่างอารมณ์ตำบลที่เรียกว่าแสนตอ จนเป็นชื่อเมืองขาณุนี้มีตอมากจริง เรือได้โดนครั้งหนึ่ง เพราะเหตุที่เป็นที่ตลิ่งพักมาก เดินตามถนนฝั่งตะวันตกแวะเก็บอะไรต่ออะไรบ้าง มาจนถึงวัดซึ่งเป็นวัดใหม่เรียกว่า วัดหัวเมือง ต่อแต่วัดนั้นมาถึงที่ว่าการเมือง ซึ่งยังเป็นเรือหลังคามุงแฝกอยู่ทั้งนั้น จอดเรืออยู่เหนือที่ว่าการนิดหนึ่ง

แสดงความคิดเห็น

>

6 ความคิดเห็น

watcharin 21 ม.ค. 53 เวลา 20:11 น. 1

ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดีๆ การเสด็จประพาสต้นเมืองนครสวรรค์ของรัชกาลที่ 5 เมื่อปีพุทธศักราช 2449 ที่นำมาเผยแพร่ครับ

0
pare 29 พ.ค. 53 เวลา 18:43 น. 2

มีความรู้มากเลยคะ
อยากให้เอามาแบ่งปัน
ความรู้กันให้
หลายหลายเด้ออออออออออออออออออออออออออออออ
อออออออออออออออ

0
YAMSANG!! 12 มิ.ย. 55 เวลา 17:11 น. 4

ขอบคุณถึงเนื้อหาการปรพาสของร.5 มากนะค่ะ
เป็นประโยชน์จริงๆค่ะ


PS.  ทุกสิ่งlริ่มที่ตัวlรา.. llม้llต่ความรัก... ก้olช่นกัน everything begins that ourselves , even the love , as a result , also .
0