Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

นิติกรรม Part 1

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
 -  เกือบทุกมาตรา จะยกตัวอย่างประกอบ เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจนะครับ

-  ที่ทำตัวหนาคือส่วนที่เป็นสาระสำคัญนะครับ

ส่วนที่อาจสังเกตได้ว่าเขียนวกไปวนมาก็เพราะต้องการทวนอีกรอบครับ (ข้อแก้ตัวชัดๆ T^T)

-  มีไม่ครบทุกมาตรานะครับ เอาเฉพาะที่ผู้เขียนคิดว่าสำคัญ ที่เหลือก็ต้องไปอ่านมาด้วยนะครับ เดี๋ยวจะเหมือน สิทธิขั้นพื้นฐานข้อที่ 1 (พูดแล้วเศร้า T^T)

- บางมาตราผู้เขียนรวมเอาหลายๆ วรรคไว้ด้วยกันตามความเหมาะสม เช่นมาตรา 157 หรือ 159 เพื่อง่ายต่อการทำความเข้าใจ  ซึ่งบางส่วนก็เป็นองค์ประกอบที่ไม่ปรากฏในตัวบทแต่ก็เป็นสาระสำคัญ เช่นคำว่า "เจตนาทุจริต" ที่ผู้เขียนใส่ไว้ในมาตรา 159 หรือ "เพื่อลวงบุคลภายนอกให้เชื่อว่ามีการทำนิติกรรมเกิดขึ้น" ในมาตรา 155
หรือบางมาตราก็ตัดบางส่วนออกไป เพราะส่วนใหญ่เน้นวางหลักที่เป็นสาระสำคัญ

นิติกรรม สรุปหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 149 มีสาระสำคัญว่า นิติกรรมหมายความว่า การใดอันกระทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัครมุ่งตรงต่อการเกิดนิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เพื่อที่จะก่อ โอน เปลี่ยนแปลง สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ

หลักอิสระทางแพ่ง , เสรีภาพในการแสดงเจตนา มาตรา 151

มาตรานี้น่าจะใช้ในกรณีเจอข้อสอบบรรยายแล้วถามความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนิติกรรม

องค์ประกอบของนิติกรรม

วัตถุประสงค์ มาตรา 150 มีสาระสำคัญว่า การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการอันต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมาย

เป็นการพ้นวิสัย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนการนั้นเป็นโมฆะ

แบบ มาตรา 152 มีสาระสำคัญว่า การใดไม่ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับการนั้นเป็นโมฆะ

ความสามารถ มาตรา 153 มีสาระสำคัญว่า การใดไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยความสามารถ   

ของบุคคล การนั้นเป็นโมฆียะ

การแสดงเจตนา มาตรา 154 - 171

การแสดงเจตนา

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ลำดับขั้นตอนของการแสดงเจตนานั้นเป็นอย่างไร

1.  ขั้นมูลเหตุจูงใจ เช่น ได้กลิ่นหอม เห็นว่าสวยงาม ได้ข่าวว่าจะได้เรียนต่อ เป็นต้น
2.  ขั้นก่อเจตนาภายใน เป็นผลสืบเนื่องมาจากขั้นมูลเหตุจูงใจ เช่น ได้กลิ่นซาลาเปาแล้วรู้สึกว่าหอมดีท่าทางจะอร่อย(มูลเหตุจูงใจ) ดังนั้น จึงตัดสินใจว่าจะซื้อ ซึ่งการตัดสินใจว่าจะซื้อนั้นเป็นการก่อเจตนาภายใน            
3.  ขั้นการแสดงเจตนา
เป็นขั้นที่ก่อให้เกิดผลทางกฎหมาย เช่น ซื้อซาลาเปาจากร้านซาลาเปา เป็นต้น        
                    จากที่กล่าวมาในข้างต้น จะทำให้เข้าใจความแตกต่างของ มาตรา 156 กับ มาตรา 157

มาตรา 154 มีสาระสำคัญว่า การแสดงเจตนาที่ผู้แสดงเจตนาไม่ประสงค์ผูกพันตามเจตนาที่แสดงออก การนั้นไม่เป็นโมฆะ เว้นแต่ คู่กรณีรู้ถึงเจตนาอันซ่อนเร้นของผู้แสดงเจตนา

เป็นกรณีที่ เจตนาภายใน ไม่ตรงกับที่แสดงออก ซึ่งสาระสำคัญคือ ผู้แสดงเจตนาไม่ประสงค์จะผูกพันตามที่แสดงออก เช่น นาย ก ต้องการยืมสร้อยนาย ข แต่บอกว่าขอซื้อ ซึ่งเจตนาภายในคือ ต้องการยืม แต่แสดงออกเป็นขอซื้อ ผลคือหากนาย ข ไม่รู้ว่านาย ก ต้องการยืม นิติกรรมก็ไม่ตกเป็นโมฆะ

มาตรา 155 มีสาระสำคัญว่า การแสดงเจตนาลวง โดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่าย เพื่อลวงบุคลภายนอกให้เชื่อว่ามีการทำนิติกรรมเกิดขึ้น เป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากเจตนาลวงมิได้ > วรรค2 หากเจตนาลวงทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่น ให้นำหลักกฎหมายที่เกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ

                เป็นกรณีที่ เจตนาภายใน ไม่ตรงกับที่แสดงออก ซึ่งสาระสำคัญคือ ผู้แสดงเจตนาไม่ประสงค์จะผูกพันตามที่แสดงออก และ สมรู้กับคู่กรณี เช่น นาย ค ตามจีบ นางสาว ข แต่นางสาว ข ไม่เล่นด้วย นางสาว ข จึงไปบอกนาย ก ให้หลอกนาย ค ว่าเป็นแฟนกับนาย ก นาย ก จึงซื้อแหวนให้นางสาว ข โดยที่ทั้งคู่สมรู้กัน ไม่ประสงค์จะผูกพันตามเจตนาที่แสดงออก การดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ

                อย่างไรก็ตามจะยกเป็นข้อต่อสู้กับบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต(ไม่รู้ว่ามีการทำเจตนาลวง)ไม่ได้ เช่น หากนาย ง มาขอซื้อแหวนต่อจากนางสาว ข โดยไม่รู้ว่าเป็นการแสดงเจตนาลวง  และได้ชำระราคาเรียบร้อยแล้ว  ดังนั้น นาย ก จะเรียกร้องให้ นาย ง คืนแหวนแก่ตนไม่ได้ เพราะนาย ง เป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากเจตนาลวง ตามมาตรา 155 วรรค 1

                ส่วน กรณีตามวรรค 2 คือกรณีที่เจตนาลวงทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่น เช่น นายสมชายต้องการให้แหวนแก่นางสมหญิง แต่กลัวพ่อแม่ของตนรู้เข้าแล้วจะโดนดุเอา จึงทำสัญญาซื้อขายกับนางสมหญิงเพื่อลวงให้พ่อแม่ของตนเชื่อว่ามีการสัญญาซื้อขายเกิดขึ้นจริง จากประเด็นดังกล่าว การที่นายสมชายกับนางสมหญิงทำสัญญาซื้อขายกันนั้นเป็นการแสดงเจตนาลวง โดยสมรู้กัน จึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 155 วรรค 1 แต่อย่างไรก็ตาม เจตนาที่ลวงที่ได้แสดงเจตนาออกมานั้น ทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่น ก็คือ นิติกรรมให้โดยเสน่หา จึงนำบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ  ซึ่งการให้โดยเสน่หาย่อมสมบูรณ์แต่เมื่อได้มีการส่งมอบทรัพย์ซึ่งจากข้อเท็จจริงปรากฏว่า  นายสมชายได้ส่งมอบแหวนให้แก่นางสมหญิงแล้ว นิติกรรมดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์

 

มาตรา 156 มีสาระสำคัญว่า การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญของนิติกรรมเป็นโมฆะ

                สาระสำคัญของนิติกรรม ได้แก่

ลักษณะของนิติกรรม เช่น ต้องการทำสัญญาเช่าแต่เข้าใจผิดไปตกลงทำสัญญาซื้อขาย เป็นต้น

ทรัพย์ซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม เช่น ต้องการซื้อปืนแต่ไปซื้อปากกา เป็นต้น

บุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม เช่น ต้องการจ้างนาย ก แต่ไปจ้าง นาย ข เป็นต้น

                ความสำคัญผิด(เข้าใจผิด นั่นเอง)ในสาระสำคัญตามมาตรา 156  คือการเกิดความบกพร่องในขั้นของการแสดงเจตนา เช่น ต้องการซื้อคอมพิวเตอร์(เจตนาภายใน) แต่ไปซื้อโทรศัพท์(เกิดความบกพร่องในขั้นของการแสดงเจตนา)

มาตรา 157 มีสาระสำคัญว่า การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์หรือบุคคล ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ปรกติถือเป็นสาระสำคัญของนิติกรรม หากมิได้สำคัญผิด นิติกรรมก็จะมิได้กระทำขึ้น เป็นโมฆียะ

                คุณสมบัติที่เป็นสาระสำคัญก็คือ หากมิได้สำคัญผิดนิติกรรมก็จะมิได้กระทำขึ้น เช่น หากรู้ว่านาย ข ขับรถไม่ได้ ก็คงจะไม่จ้างมาขับรถเป็นต้น

                แต่ถ้าเป็นคุณสมบัติที่ไม่ใช่สาระสำคัญ เช่น ต้องการรับนักกฎหมายมาทำงาน แต่ นาย ก จบนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัย เอกชนแห่งหนึ่ง จะอ้างสำคัญผิดเพราะต้องการคนที่จบจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมาสตร์ ไม่ได้ เพราะโดยสภาพแล้ว คุณสมบัติซึ่งเป็นสาระสำคัญคือ จบนิติศาสตร์บัณฑิต ส่วนมหาวิทยาลัยใดนั้นไม่ใช่สาระสำคัญ ถึงแม้จะสำคัญผิดในคุณสมบัติ(ที่ไม่ใช่สาระสำคัญ)ก็ยังคงจะทำนิติกรรม เป็นต้น

แล้วมันต่างกับ มาตรา 156 ยังไง ??

                มาตรา 157 คือการแสดงเจตนาโดยบกพร่องในขั้นของการแสดงเจตนาภายใน กล่าวคือ เข้าใจผิดมาตั้งแต่แรกแล้ว (เจตนาที่แสดงออก ต้องตรงกับเจตนาภายใน แต่เกิดความวิปริตในขั้นของการแสดงเจตนา)

แต่กรณีตามมาตรา 156 นั้นเกิดความบกพร่องในขั้นของการแสดงเจตนา !!!   O[]O"

เช่น นาย ก ต้องการจ้างนาย ข มาขับรถ เพราะคิดว่านาย ข ขับรถได้ (เจตนาภายใน) และก็ได้ทำสัญญาจ้างนาย ข มาขับรถ (เจตนาที่แสดงออก) เห็นได้ว่าเจตนาภายใน = เจตนาที่แสดงออก แต่เกิดความบกพร่องในขั้นของการก่อเจตนาภายใน กล่าวคือ นาย ก เข้าใจผิดในคุณสมบัติซึ่งปรกติถือเป็นสาระสำคัญของนาย ข มาตั้งแต่แรกแล้ว (คิดว่านาย ข ขับรถได้ แต่ความจริงขับรถไม่ได้ ) หากไม่สำคัญผิดในคุณสมบัติดังกล่าว ก็คือรู้ว่านาย ข ขับรถไม่เป็นมาตั้งแต่แรก ก็คงจะไม่ทำนิติกรรมจ้างนาย ข มาเป็นคนขับรถ จึงตกเป็นโมฆียะตามมาตร 157 เป็นต้น

 

มาตรา 158 มีสาระสำคัญว่า ความสำคัญผิดตามมาตรา 156 หรือ 157 โดยเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้แสดงเจตนา จะถือเอาความสำคัญผิดเพื่อประโยชนแก่ตนมิได้

                ประเด็นคือ  อย่างไหนละที่เรียกว่าประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ??

                คำตอบ : หากใช้ความระมัดระวังแม้เพียงเล็กน้อยความสำคัญผิดก็จะไม่เกิดขึ้น

มาดูตัวอย่างกันดีกว่า.. . นาย ข ต้องการซื้อบ้านของนาย ค เพราะคิดว่าบ้านหลังนั้นติดถนนซึ่งความจริงไม่ได้ติดถนน แต่ก็ไม่ไปสำรวจดูสถานที่ก่อนทำสัญญา  ถึงแม้จะเป็นการสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ปรกติถือเป็นสาระสำคัญของนิติกรรม จึงตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 157 แต่เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของ นาย ข เนื่องจาก นาย ข ไม่ไปตรวจสอบบ้านหลังนั้นให้ดีก่อนทำสัญญา อันเป็นการไม่ใช้ความระมัด ระวังแม้เพียงเล็กน้อย หากใช้ความระมัดระวังแม้เพียงเล็กน้อย ความสำคัญก็จะไม่เกิดขึ้น นาย ข จึงไม่มีสิทธิถือเอาความสำคัญผิดนั้นเพื่อประโยชน์แก่ตน กล่าวคือ นาย ข ไม่มีสิทธิบอกล้างสัญญาโมฆียกรรมนั่นเอง ตามมาตรา 158

มาตรา 159 มีสาระสำคัญว่า การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉล ซึ่งเป็นกลฉ้อฉลที่ร้ายแรงถึงขนาดหากมิได้มีกลฉ้อฉลเกิดขึ้น นิติกรรมก็คงจะมิได้กระทำขึ้น การนั้นเป็นโมฆียะ    (อย่าลืมว่าเมื่อเข้า 159  ต้องบวก 157 เสมอนะครับ)                                          
                                                    ถ้าบุคคลภายนอกเป็นผู้ทำกลฉ้อฉล การนั้นจะตกเป็นโมฆียะต่อเมื่อคู่กรณีรู้หรือควรจะได้รู้ถึงกลฉ้อฉลในขณะที่ทำนิติกรรม ขณะทำนิติกรรม

                กลฉ้อฉลคืออะไร ?? คือการที่แสดงข้อความที่ไม่ตรงกับความจริง + มีเจตนาทุจริต(รู้ว่ามันไม่ใช่ความจริง) เช่น นายแดงหลอกขายแหวนเพชรปลอมนายเขียว โดยบอกว่าเป็นของแท้ กรณีดังกล่าว นายแดงได้แสดงข้อความที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง คือบอกว่าเป็นแหวนเพชรแท้ ทั่งที่ความจริงแล้วเป็นแหวนเพชรปลอม โดยที่นายแดงมีเจตนาทุจริต เพราะนายแดงรู้มาแต่แรกว่าแหวนวงนั้นเป็นแหวนเพชรปลอม จึงเป็นการทำกลฉ้อฉล

                ร้ายแรงถึงขนาด ขนาดไหนล่ะ ?? ก็ขนาดว่า ผู้ถูกกลฉ้อฉลเชื่อและทำนิติกรรม หากมิได้มีกลฉ้อฉล นิติกรรมก็จะมิได้กระทำขึ้น นั่นเอง

                กรณีบุคคลภายนอกทำกลฉ้อฉล ปัญหาคือ ในเวลาที่ทำนิติกรรมคู่กรณีรู้ถึงกลฉ้อฉลหรือไม่ เช่น
นายเต้ยต้องการจ้างคนขับรถ นายปิงปิงจึงได้หลอกนายเต้ยว่า นางสาวอาโออิ ขับรถยนต์เป็นแต่ความจริงขับรถไม่เป็น นายเต้ยจึงจ้างอาโออิมาขับรถ นิติกรรมดังกล่าวคู่กรณีคือ นายเต้ย และ นางสาวอาโออิ นายปิงปิงเป็นมือที่สาม เอ๊ย เป็นบุคคลภายนอกผู้ทำกลฉ้อฉล ประเด็นคือ
!! ขณะทำนิติกรรม นางสาวอาโออิรู้หรือไม่ว่านายปิงปิงทำกลฉ้อฉล เช่น ก่อนหน้าที่จะทำนิติกรรมกัน นายปิงปิงได้ไปบอกกล่าว นางสาวอาโออิ ว่าตนได้หลอกนายเต้ยผู้น่าสงสาร จึงถือได้ว่า นางสาวอาโออิรู้ถึงกลฉ้อฉลก่อนที่จะทำนิติกรรม การดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆียะ ตามมาตรา 159 แต่หากทำนิติกรรมไปแล้ว อาโออิเพิ่งรู้ถึงกลฉ้อฉลของปิงปิงภายหลัง นิติกรรมก็มีผลสมบูรณ์
               

มาตรา 161 มีสาระสำคัญว่า ถ้ากลฉ้อฉลเป็นเพียงเพื่อเหตุจูงใจให้คู่กรณีอีกฝ่ายยอมรับข้อกำหนดอันหนักกว่าปรกติจะยอมรับ คู่กรณีฝ่ายนั้นจะบอกล้างนิติกรรมไม่ได้ แต่ชอบที่เรียกค่าสินไหมเพื่อความเสียหายอันเกิดจากกลฉ้อฉล

                พูดง่ายๆก็คือ หากไม่มีกลฉ้อฉลนิติกรรมก็ยังเกิดขึ้นเหมือนเดิม เพียงแต่มีกลฉ้อฉลเพื่อโก่งราคา ทำให้ต้องเสียตังเยอะกว่าเดิมเท่านั้น เช่น นายตั๋ง ต้องการซื้อรถยนต์มือสองของนายน้อยหนึ่ง ซึ่งนายน้อยหนึ่งหลอกว่ารถคันนี้วิ่งยังไม่ถึง หมื่นกิโล แต่ความจริงอีกนิดเดียวก็วิ่งเกือบหนึ่งแสนกิโลแล้ว เพื่อให้นายตั๋งจ่ายค่ารถยนต์ 50,000 บาท ซึ่งหากนายตั๋งรู้ว่าความจริงว่า รถคนดังกล่าววิ่ง เก้าหมื่นเก้าพันเก้าร้อยเก้าสิบเก้ากิโล แล้วคงจะจ่ายแค่ 40,000 บาท จึงเป็นกลฉ้อฉลเพื่อเหตุ นายตั๋งไม่มีสิทธิบอกล้างนิติกรรม แต่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายจากน้อยหนึ่งได้ ตามมาตรา 161 กล่าวคือเรียกเงินคืนได้ 10,000 บาทนะจ๊ะ

มาตรา 162 มีสาระสำคัญว่า ในนิติกรรมสองฝ่าย คู่กรณีฝ่ายหนึ่งจงใจนิ่งเสียไม่แสดงข้อความหรือคุณสมบัติที่คู่กรณีอีกฝ่ายมิได้รู้ การนั้นจะเป็นกลฉ้อฉล หากพิสูจน์ได้ว่าหากมิได้จงใจนิ่งเสียเสีย นิติกรรมก็จะมิได้กระทำขึ้น (สังเกตว่ามาตรานี้บอกแค่เป็นกลฉ้อฉล จึงต้องอ้าง ม.159 เพื่อบอกผลว่ากลฉ้อฉลเป็นโมฆียะ)

.. การนิ่งแล้วเป็นกลฉ้อฉลเพื่อเหตุตามมาตรา 161 ไม่มีเด้อ !!

                ประเด็นคือ แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าคู่กรณีต้องบอกกล่าว… . .? ก็คือต้องดูว่าที่นิ่งๆ ไปนั่นมันเป็นสาระสำคัญไหม เช่นหากว่ามีคนจ้างเราไปขับรถ เราก็ต้องบอกว่าเราขับรถเป็น หรือไม่เป็น แต่ถ้ากรณีที่เราไม่มีหน้าที่ต้องบอก เช่น เราจะไปซื้อที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งเรารู้ว่าจะมีถนนตัดผ่าน หากเจ้าของที่ดินรู้ราคาคงจะสูงขึ้น เราก็เลยนิ่งๆ ไว้ ก็ไม่ถือเป็นกลฉ้อฉลโดยการนิ่ง เพราะเราไม่มีหน้าที่ต้องบอกกล่าว  จบ!

มาตรา 164 มีสาระสำคัญว่า การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่ว่าจะให้ภัยอันใกล้จะมาถึง ซึ่งการข่มขู่นั้นร้ายแรงถึงขนาดทำให้ผู้ถูกข่มขู่กลัว หากมิได้มีการข่มขู่นิติกรรมก็จะมิได้กระทำขึ้น การนั้นเป็นโมฆียะ

                ต้องครบทุกองค์ประกอบ ถึงจะเข้ามาตรานี้ เช่น นายท็อปขู่นายโดนัทว่าถ้าไม่ส่งมอบไอติมให้จะหยิกแก้มทีนึง .. . เป็นประเด็นที่ปัญญาอ่อนมากกก ก ! แต่เราจะมาวินิจฉัยแบบมีสาระกัน

                การที่นายท็อปขู่นายโดนัทว่าจะหยิกแก้มทีนึงนั้น เป็นการขู่ว่าจะให้ภัยอันใกล้จะมาถึงเนื่องจากยังไม่ไม่มีการกระทำตามที่นายทอปขู่เกิดขึ้น เพียงแต่บอกว่าจะกระทำ ซึ่งเป็นภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่อย่างไรก็ตามการขู่ดังกล่าวก็มิได้เป็นการขู่ที่ร้ายแรงถึงขนาดทำให้นายโดนัทกลัว(กลัวก็บ้าแล้ว) แล้วทำนิติกรรมตามที่นายท็อปขู่ การดังกล่าวจึงไม่ใช่การข่มขู่ตามมาตรา 164  //  หรือประเด็นอื่นๆ ที่ไม่เข้ามาตรา 164 เช่น ขู่ว่าอีก 360 วันจะไปเผาบ้านนะครับ (ไม่ใช่ภัยอันใกล้จะมาถึง) เป็นต้น

                การข่มขู่ต้องขู่ว่าจะให้ภัยอันใกล้จะมาถึง และร้ายแรงถึงขนาดผู้ถูกข่มขู่กลัวจนยอมทำนิติกรรม  เช่น นายป้อมเอา M16 จ่อหัวนายเบนซ์แล้วบอกว่าจะนับ 1 ถึง 3 (ภัยอันใกล้จะมาถึง)หากไม่ทำสัญญาโอนที่ดินให้จะยิงหัว 36 นัด (แค่นัดเดียวก็ตายแล้ว - -" ร้ายแรงแน่นอน)  จนนายเบนซ์กลัวแล้วทำนิติกรรม นิติกรรมดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 164

มีต่อนะครับ กำลังทยอยๆ อัพ ดูแล้วเม้นให้ด้วยละ ขอบคุณครับ ^^

ให้แก้ไขเพิ่มเติมอะไรบอกด้วยนะครับ 



แก้ไขครั้งที่ 1 เมื่อ 11 มีนาคม 2554 / 23:52
แก้ไขครั้งที่ 2 เมื่อ 11 มีนาคม 2554 / 23:54
แก้ไขครั้งที่ 3 เมื่อ 11 มีนาคม 2554 / 23:55
แก้ไขครั้งที่ 4 เมื่อ 12 มีนาคม 2554 / 00:02
แก้ไขครั้งที่ 5 เมื่อ 12 มีนาคม 2554 / 11:07

แสดงความคิดเห็น

>

8 ความคิดเห็น

sintexpid 14 พ.ค. 57 เวลา 12:19 น. 4

ขอบคุณมากๆ คุณพี่อัพตอนผมอยู่ ม.6 ไม่คิดไม่ฝัน ว่าผมจะต้องมาใช้มัน และตัดสินใจเรียน นิติศาสตร์ จนตอนนี้ กำลังจะขึ้นปี 4 ติด เอฟ และกำลังจะสอบซ่อมในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้ รายวิชานิติกรรม สุดยอดจิงๆ อ่านไปขำไป ถ้าเจอกระทู้นี้ตั้งแต่ปี1 คงไม่ติด เอฟแล้วเรา ขอบคุณมาก รักมากเลยเจ้าของกระทู้ เยี่ยม

0