Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

นิติกรรม Part 4

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
 การเกิดสัญญา

ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่า สัญญาย่อมเกิดแต่เมื่อ คำเสนอ และ คำสนองต้องตรงกันทุกประการ
คำเสนอ
จะต้องชัดเจนแน่นอน เช่น ต้องการซื้ออะไร ของใคร ราคาเท่าไหร่ หากไม่ครบก็เป็นแค่คำเชื้อเชิญ ส่วนคำสนองนั้นต้องตรงกับคำเสนอทุกประการ และทำต่อผู้ทำคำเสนอเท่านั้น

มาตรา 354 มีสาระสำคัญว่า คำเสนอที่บ่งระยะให้ทำคำสนอง ไม่อาจบอกถอนคำเสนอได้ภายในระยะเวลาที่บ่งไว้ 

เช่น นายต้อง ตกลงกับ นายน่าน เพื่อนรัก ว่าจะขายกางเกงใน สีแดง ตัวโปรดที่นายต้องใส่เป็นประจำ ในราคา 20 บาท เป็นการทำคำเสนอเนื่องจากมีข้อความที่ชัดเจนแน่นอน หากแต่เพียงนายน่านตกลงสัญญาก็จะเกิดขึ้นทันที ซึ่งยังตกลงกันอีกว่า หากนายน่านต้องการซื้อให้ ตอบตกลงภายใน 10 วัน  ดังนั้น  จึงเป็นการทำคำเสนอที่บ่งระยะให้ทำคำสนอง นายต้องจึงไม่อาจบอกถอนคำเสนอได้ภายใน 10 วัน  นับแต่ทำคำเสนอ ตามมาตรา  354

มาตรา 355 มีสาระสำคัญว่า คำเสนอระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างโดยระยะมิได้บ่งระยะให้ทำคำสนอง ไม่อาจบอกถอนคำเสนอได้ภายในระยะเวลาที่ควรคาดหมายได้ว่าจะได้รับคำสนอง

                หลักเดียวกับมาตรา 169 ครับ อยู่ห่างโดยระยะทางไม่ใช่ เชียงใหม่ – อุบล แต่เป็นไม่อาจโต้ตอบกันได้โดยทันที  ซึ่งส่วนใหญ่โจทย์มันจะชัดเจนครับว่ามากนานเกินควรแล้วยังเช่น 1 เดือนแล้วยังไม่ทำคำสนองอีก ผู้ทำคำเสนอจึงมีสิทธิบอกถอนคำเสนอเป็นต้น  หรือส่งจดหมายทำคำเสนอไปไม่กี่วันก็บอกถอนคำเสนอแล้ว ซึ่งโดยสภาพแล้วต้องใช้เวลาอันควรก่อน เพื่อให้คู่กรณีทำคำสนอง จึงไม่อาจบอกถอนได้ภายในระยะเวลาที่ควรคาดหมายได้ว่าจะได้รับคำเสนอ ตามมาตรา 355 

มาตรา 356 มีสาระสำคัญว่า คำเสนอระหว่างบุคคลซึ่งอยู่เฉพาะหน้า ย่อมสนองได้ ณ ที่นั้น เวลานั้น ความข้อนี้ให้ใช้ถึงการแสดงเจตนาทางโทรศัพท์ หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นๆ อันสามารถสื่อสารกันได้ในทำนองเดียวกัน

                เฉพาะหน้าก็คือ สามารถโต้ตอบกันได้ทันที ซึ่งต้องสนอง ณ ที่นั้น เวลานั้น เช่น ทีวีไดเรก โทรศัพท์มาเสนอขายเครื่องกรองน้ำ นายป้อม  ซึ่งนายป้อมยังไม่มั่นใจ จึงวางสายไป แล้วต่อมาโทรไปบอกว่าตกลงจะซื้อ การดังกล่าวไม่ใช่การทำคำสนอง เพราะ ตามมาตรา 356 วางหลักว่า การทำคำเสนอต่อบุคคลซึ่งอยู่เฉพาะหน้าต้องสนอง ณ ที่นั้น เวลานั้นเท่านั้น

มาตรา 357 มีสาระสำคัญว่า  คำเสนอที่ถูกบอกปัด หรือคำสนองมาถึงล่วงเวลา ให้ถือว่าคำเสนอเป็นอันสิ้นผล

มาตรา 359 มีสาระสำคัญว่า  คำสนองมาถึงล่วงเวลา หรือ มีข้อความแก้ไขเพิ่มเติม ให้ถือว่า

คำสนองนั้นเป็นการบอกปัดคำเสนอทั้งยังเป็นคำเสนอใหม่

                สองมาตราที่กล่าวมาข้างต้น  เห็นได้ว่ามีความเหมือนหรือความแตกต่างกัน ก็คือมาตรา 357 เป็นประเด็นที่คำเสนอเก่าจะสิ้นผลไปเมื่อ ถูกบอกปัด หรือ คำสนองมาถึงล่วงเวลา ส่วนมาตรา 359 เป็นประเด็นที่คำสนองจะมีผลอย่างไรก็ต้องไปดูด้วยว่า มีข้อความชัดเจนแน่นอนที่จะสามารถเป็นคำเสนอได้หรือไม่ด้วย

                ยกตัวอย่าง นายไตร ส่งจดหมายไปบอก นายกรีน ว่าจะขาย  รถสามล้อที่ตนใช้เป็นประจำ ในราคา 4,000 บาท ซึ่งเป็นการแสดงเจตนาต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะ เนื่องจากไม่สามารถโต้ตอบกันได้ทันที การแสดงเจตนาจึงมีผลต่อเมื่อ จดหมายไปถึงยังนายกรีน ตามมาตรา 169 ทั้งนี้ยังเป็นการแสดงเจตนาทำคำเสนอเนื่องจากมีข้อความที่แน่นอนชัดเจน  ต่อมานายกรีนได้ส่งจดหมายไปบอกนายไตรว่าตกลงจะซื้อ แต่ลดให้หน่อยได้ไหม 20 บาทเพราะจะเอาเงินไปซื้ออมยิ้ม ซึ่งเป็นการแสดงเจตนาต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะ เนื่องจากไม่สามารถโต้ตอบกันได้ทันที การแสดงเจตนาจึงมีผลต่อเมื่อ จดหมายไปถึงยังนายไตร ตามมาตรา 169   (มาตรา 169 ไม่ต้องอ้างก็ได้นะครับ ถ้าไม่มีประเด็น)  ซึ่งเป็นการแสดงเจตนาทำคำสนองต่อนายไตรผู้ทำคำเสนอ แต่คำสนองดังกล่าวมีข้อความแก้ไขเพิ่มเติม เนื่องจากบอกว่าขอกให้ลดราคา 20 บาท ดังนั้นคำเสนอของนายไตรจึงเป็นอันสิ้นผลไปตามมาตรา 357 ประกอบ มาตรา 359 และคำสนองที่มีข้อความแก้ไขเพิ่มเติมของนาย
กรีนนั้น จึงกลายเป็นการทำคำเสนอใหม่ ตาม มาตรา
359

 

มาตรา 360 มีสาระสำคัญว่า  บทบัญญัติ ตามมาตรา 169 วรรค 2 มิให้ใช้บังคับ เมื่อเป็นการอันขัดต่อเจตนาอันผู้เสนอได้แสดง หรือก่อนมีการสนองรับนั้นคู่กรณีอีกฝ่ายรู้ว่าผู้ทำคำเสนอตายหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ

                มาตรานี้เป็นข้อยกเว้นของ มาตรา 169 วรรค 2 ที่วางหลักว่า การแสดงเจตนาที่ส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อมเสีย แม้ภายหลังจะตายหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ซึ่งหากเป็นการขัดต่อเจตนาอันผู้เสนอได้แสดง เช่น นาย ก ส่งจดหมายไปบอกนาย ข ว่าจะเช่าห้องพัก 1 เดือน ราคา 5000 บาท ซึ่งเป็นการแสดงเจตนาทำคำเสนอ แต่ปรากฏว่าก่อนที่จดหมายของนาย ก จะมาถึงนาย ข นั้น นาย ก ถึงแก่ความตาย ซึ่งพอนาย ก ตายไปแล้วก็ไม่ต้องการห้องพักอีก(ไม่มีใครจะเอาห้องแล้ว) การทำคำเสนอนั้นจึงสิ้นผล

            หรืออีกกรณีคือ ก่อนมีการสนองรับนั้นคู่กรณีอีกฝ่ายรู้ว่าผู้ทำคำเสนอตายหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ เช่น นาย ข รู้ว่านาย ก ตาย จากการดูข่าวทางโทรทัศน์ ก่อนที่จะมีการสนองรับคำเสนอ คำเสนอของนาย ก จึงเป็นอันสิ้นผล เป็นต้น

***  มาตรา 361 มีสาระสำคัญว่า  สัญญาระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทาง ย่อมมีผลแต่เมื่อ  คำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้ทำคำเสนอ
                                              ถ้าเป็นการกระทำตามเจตนาผู้เสนอได้แสดง หรือโดยปกติประเพณีไม่ต้องบอกกล่าว หรือพฤติการณ์อย่างอื่นอันพึงสันนิษฐานได้ว่าเป็นการทำคำสนอง ให้ถือว่าสัญญาเกิดขึ้น ***

            นี่คือสิ่งสำคัญ ที่หลายคนสงสัยว่า สัญญาเกิดขึ้นนั้นจะอ้างมาตราอะไร ?? คำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้ทำคำเสนอ ตามมาตรา 361 นั่นเอง เช่น นายนิว ทำหนังสือเสนอขายหนังสือโป๊ กับ นายอ๊อฟ โดยไม่ได้กำหนดราคา เป็นคำเชื้อเชิญเพราะไม่ได้กำหนดราคาชัดเจนแน่นอน  ต่อมานายอ๊อฟส่งจดหมายมาบอกว่าตกลง  ขอซื้อหนังสือโป๊  20 เล่ม ขอแบบญี่ปุ่น 15 เล่ม เกาหลี 5 เล่ม และจะจ่ายให้ 1000 บาท เป็นการทำคำเสนอเพราะมีเนื้อหาชัดเจนเพียงพอนายนิวก็ส่ง E-mail ไปตอบตกลงข้อเสนอของนายอ๊อฟ สัญญาจึงเกิดขึ้นแต่เมื่อคำบอกกล่าวสนองของนายนิว ไปถึงนายอ๊อฟผู้ทำคำเสนอ ตามมาตรา 361

 

 

 

 

 

 

 

คำมั่น

คำมั่นมี 2 ประเภทคือ   

1>  คำมั่นว่าจะให้รางวัลเมื่อบุคคลใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งสำเร็จ

ตามมาตรา 362 มีสาระสำคัญคือ บุคคลใดโฆษณาให้คำมั่นว่าจะให้รางวัลแก่ผู้ซึ่งกระทำการอย่างใด ต้องให้รางวัลแก่บุคคลที่กระทำการนั้น  ถึงแม้จะไม่เจตนาทำไปเพราะเห็นแก่รางวัล เช่น ศ.ดร.เต้ย (ผู้น่ารัก) อาจารย์สอนนักบินอวกาศ มหาวิทยาลัยฮาแตก ประเทศหลังเขา ภาควิชาเหยียบดวงจัทนร์ เอกวิชาตัวเบา ประกาศผ่าน Facebook ว่าหากใครออกนอกโลกคนแรก จะให้รางวัลเป็น รูปถ่ายพร้อมลายเซ็นของตน ซึ่งเป็นของหายากเพราะมีแต่คนแย่งกันจะเอา(ไปเผา) ปรากฏว่า ยูริกาการิน ออกไปนอกโลกคนแรก ทั้งที่ไม่รู้ถึงการให้คำมั่นของ ศ.ดร.เต้ย ๆ ก็ต้องให้รางวัลแก่ ยูริกาการิน เป็นต้น                ซึ่งมาตรา 363 วางหลักว่า  “ ผู้ให้คำมั่นจะถอนคำมั่นก็ได้โดยวิธีการเดียวกัน หากยังไม่มีใครกระทำการที่ระบุไว้ในคำมั่นสำเร็จ แต่ถ้าไม่อาจบอกถอนได้โดนวิธีการเดียวกัน ก็สามารถบอกถอนวิธีการอื่นได้ แต่มีผลเฉพาะผู้ที่รู้ ” จากตัวอย่างเดิม สมมุติยังไม่มีใครออกนอกโลก หาก ศ.ดร.เต้ย จะถอนคำมั่นก็ต้อง ประกาศใน Facebook แต่จะประกาศวิธีการอื่นก็ได้ เช่น ลง หนังสือพิมพ์ แต่ก็มีผลเฉพาะผู้ที่อ่านหนังสือพิมพ์เท่านั้น เช่น หากศ.ดร.เต้ย ประกาศบอกถอนคำมั่นทางหนังสือพิมพ์ แล้วยูริกาการิน ไม่ได้อ่าน ศ.ดร.เต้ย ก็ต้องให้รางวัลแก่ ยูริกาการิน เป็นต้น

                โดยที่มาตรา 364 วางหลักว่า  หากบุคคลทำการอันระบุไว้ในคำมั่นสำเร็จมีหลายคน ให้คนแรกได้รับรางวัล หากสำเร็จพร้อมกันให้แบ่งส่วนเท่าๆ กัน แต่ถ้าแบ่งส่วนไม่ได้ให้ใช้วิธีจับฉลาก เว้นแต่ได้แสดงเจตนาให้คำมั่นไว้เป็นอย่างอื่น

                เช่นจากข้อเท็จจริงเดิม ปรากฏว่า มีคนหลายคนออกไปนอกโลก ยูริกาการิน ออกไปนอกโลกคนแรกก็ได้รับรางวัลไป แต่หากออกไปพร้อมกัน เช่น นิลเอ อาร์มสตรอง ก็ออกไปพร้อมกับ ยูริ ก็ให้แบ่งส่วนเท่าๆ กัน แต่ปรากฏว่ารูปภาพเต้ยไม่อาจแบ่งแยกได้ เพราะจะทำให้ทรัพย์นั้นเสื่อมประโยชน์ไป จึงต้องแบ่งกันโดยวิธีจับฉลาก ใครดวงดีก็ได้ไป เว้นแต่ในโฆษณาได้กำหนดไว้ว่าไม่ให้จับฉลาก แต่ให้เป่ายิ้งฉุบ ก็ให้เป็นไปตาม เจตนานั้น

2>  คำมั่นว่าจะให้รางวัลเป็นการประกวดชิงรางวัล

มาตรา 365 วางหลักว่า  คำมั่นว่าจะให้รางวัลเป็นการประกวดชิงรางวัล ย่อมมีผลสมบูรณ์แต่เมื่อได้กำหนดระยะ ว.2> โดยให้ผู้ชี้ขาดที่ระบุไว้ในโฆษณาเป็นผู้ตัดสิน แต่ถ้าไม่ระบุไว้ในโฆษณาให้ผู้ให้คำมั่นผู้ตัดสิน ว.3> หากคะแนนดีเท่ากันให้แบ่งรางวัลเท่าๆ กัน แต่ถ้าแบ่งไม่ได้ให้จับฉลาก
.4> การโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์ในทรัพย์ที่ทำขึ้นเพื่อเป็นรางวัลแก่ผู้ให้คำมั่น ย่อมทำได้แต่เมื่อได้ระบุว่าพึงกระทำได้ในโฆษณา

                มาตรานี้เป็นคำอธิบายในตัวอยู่แล้ว อ่านเฉยๆ ก็อาจเข้าใจได้  ก็คือการจัดแข่งขัน ประกวดชิงรางวัลต่างๆ นั่นเอง จะต้องระบุเวลาให้แน่นอนชัดเจนด้วย ให้คนที่กำหนดไว้ในโฆษณาเป็นกรรมการตัดสิน แต่ถ้าไม่ได้ระบุไว้ก็ให้ผู้ให้คำมั่นเป็นผู้ตัดสิน หากคะแนนดีเท่ากันให้แบ่งรางวัลเท่าๆ กัน แต่ถ้าแบ่งไม่ได้ เช่น รางวัลเป็นกบหายากตัวเดียวในโลก ก็ให้จับฉลากว่าใครจะโชคดีได้ไป เป็นต้น

 

สัญญาที่มีข้อตกลงหลายข้อ

มาตรา 366 มีสาระสำคัญว่า สัญญาใดมีข้อตกลงหลายข้อ แล้วยังไม่ได้ตกลงกันในข้อที่เป็นสาระสำคัญแห่งสัญญาหมดทุกข้อ สัญญายังไม่เกิดขึ้น
                                                         ถ้าตกลงกันว่าสัญญาจะต้องทำหนังสือ หากยังไม่ทำหนังสือสัญญายังไม่เกิดขึ้น

                เช่น สัญญาซื้อขายอาหาร มีข้อตกลงหลายข้อ คือ ชนิด ประเภท ของอาหาร และ ราคาอาหาร ซึ่งหากยังไม่ได้ตกลงกันในเรื่องของ ชนิดประเภทของอาหาร ซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งสัญญา สัญญาก็ยังไม่เกิดขึ้น

มาตรา 367 มีสาระสำคัญว่า สัญญาใดมีข้อตกลงหลายข้อ แล้วยังไม่ได้ตกลงกันในข้อที่เป็นไม่ใช่สาระสำคัญแห่งสัญญาหมดทุกข้อ สัญญายังเกิดขึ้น ข้อที่ตกลงกันแล้วย่อมสมบูรณ์

                เช่น สัญญาซื้อขายอาหาร มีข้อตกลงหลายข้อ คือ ชนิด ประเภท ของอาหาร และ ราคาอาหาร ถึงแม้ยังไม่ได้ตกลงกันในเรื่องของ ราคาอาหาร ซึ่งไม่ใช่สาระสำคัญแห่งสัญญา สัญญาก็เกิดขึ้น ในส่วนข้อสัญญาที่ตกลงกันได้แล้ว เช่น จะสั่งอะไร กี่จาน ก็ย่อมสมบูรณ์  ส่วนเรื่องราคาที่ยังไม่ได้ตกลงกันไว้แต่แรก ก็อาจตกลงกันภายหลังได้ เป็นต้น

 

การตีความสัญญา

มาตรา 368 มีสาระสำคัญว่า สัญญานั้นท่านให้ตีความตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปรกติประเพณีด้วย

                เช่น  ปรกติเวลาซื้อของที่ BigC ย่อมมีการใส่ถุงให้เป็นปรกติ ประเพณี หากพนักงานไม่ใส่ถุงให้  ก็มีสิทธิเรียกร้องให้พนักงานปฏิบัติตามปรกติประเพณี กล่าวคือ มีสิทธิเรียกร้องให้พนักงานใส่ถุงให้ เป็นต้น

แสดงความคิดเห็น

>

6 ความคิดเห็น

AeMeY 13 มี.ค. 54 เวลา 23:04 น. 1

ตัวอย่างมาตรา 360
 
  ที่ว่า นาย ก ส่งจดหมายไปบอกนาย ข ว่าจะเช่าห้องพัก เดือน ราคา 5000 บาท ซึ่งเป็นการแสดงเจตนาทำคำเสนอ แต่ปรากฏว่าก่อนที่จดหมายของนาย ก จะมาถึงนาย ข นั้น นาย ก ถึงแก่ความตาย ซึ่งพอนาย ก ตายไปแล้วก็ไม่ต้องการห้องพักอีก(ไม่มีใครจะเอาห้องแล้ว) การทำคำเสนอนั้นจึงสิ้นผล

อย่างนี้ทายาทของนาย ก ต้องมารับผิดชอบต่อคำเสนอที่นาย ก ได้ทำไว้หรือไม่
หรือเป็นการที่นาย ก ทำเองเฉพาะตัว ทายาทเลยไม่ต้องมารับผิด..

  

ขอบคุนสำหรับคำตอบล่วงหน้า ^^



แก้ไขครั้งที่ 1 เมื่อ 13 มีนาคม 2554 / 23:21

0
AnanLP 13 มี.ค. 54 เวลา 23:54 น. 2

ก็คือมันขัดเจตนาผู้ทำคำเสนอไปแล้วครับ การแสดงเจตนาย่อมสิ้นผลไปเลย ผลคือไม่ก่อให้เกิดเกิดสิทธิและหน้าที่ใดๆ ต่อกัน ทายาทก็ไม่ได้รับสิทธิจากผู้ตายครับ
&nbsp &nbsp &nbsp &nbsp &nbsp แต่สมมุติถ้าเป็นการส่งจดหมายขาย ทีวี ให้ซึ่งหากคนส่งจดหมายตายเนี๊ยะ การแสดงเจตนาย่อมไม่สิ้นผล ถ้าไม่เข้าองค์ประกอบตามมาตรา 360 ที่เป็นผลให้ การแสดงเจตนาเสื่อมไป ทายาทก็มีสิทธิที่จะได้รับ ทีวี มาใช้ดูเล่น หากแสดงเจตนาทำคำสนองออกไปครับ
&nbsp &nbsp &nbsp &nbsp  ถ้าเป็นการอันเฉพาะตัวเช่น นาย ก ทำสัญญากับบริษัท อาเอส เป็นนักร้อง พอตายปุ๊บ ถามว่านาย ข ลูกชายจะได้เป็นรักร้องเหมือนพ่อรึเปล่า คำตอบก็คือไม่ครับ เพราะเป้นการเฉพาะตัวผู้ตาย

0
AnanLP 14 มี.ค. 54 เวลา 22:00 น. 4

357 คือมีการบอกปัด เช่น ผมไม่ซื้อ หรือไม่มีการสนองภายในเวลาที่กำหนด เช่น ตกลงให้ทำคำสนองภายใน 10 วัน แต่สนองมาวันที่ 12
&nbsp &nbsp &nbsp &nbsp &nbsp &nbsp &nbsp ผลคือ คำเสนอ เป็นอันสิ้นความผูกพันครับ

0
pompam 4 ส.ค. 56 เวลา 07:01 น. 5

แล้วกรณีที่ว่า หากผู้เสนอเสียชีวิตหลังจากส่งจดหมายสองวันล่ะคะกรณีนี้มีผลอย่างไรตั้งใจ

0
Law kku 2 พ.ค. 59 เวลา 02:44 น. 6

มาตรา 360 อย่าลืมแก้เป็น *ผู้ไร้ความสามารถ นะคะ ไม่ใช่คนไร้ความสามารถเฉยๆ
ผู้ไร้ความสามารถ หมายความรวมทั้ง คนไร้ความสามารถ และ คนเสมือนไร้ความสารมารถ
แต่ที่กล่าวไว้นั้น หมายความแค่ คนไร้ความสามารถอย่างเดียว แก้ด้วยน๊า เผื่อลืม

ปล ชอบกระทู้นี้มากค่ะ อ่านเข้าใจง่ายทั้งเนื้อหา และ ตัวอย่าง
ขอบคุณนะคะ ^^
รักเลย

0