Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

[ เด็ก ADMISSIONS CLICK เลย! ] รวมสิ่งที่ควรรู้ ข้อสงสัย และเทคนิคในการคัดเลือก ADMISSIONS 2554 อ่านแล้วสมหวังถ้วนหน้า

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

 

 

สวัสดี น้องๆ ว่าที่นิสิตนักศึกษาใหม่ทุกคนครับ


ก่อนอื่น พี่ก็ขอเป็นกำลังใจสำหรับน้องๆ ที่กำลังต่อสู้ในสนามแอดมิชชั่นส์ ซึ่งคงเป็นสนามสุดท้ายแล้วของน้องๆ ม.6 ที่เปี่ยมไปด้วยความหวังและความฝัน น้องๆ หลายคนอาจจะเพิ่งเสียใจกับสนามสอบรับตรงที่มันไม่ใช่วันของเรา แต่ไม่เป็นไรนะครับ พี่เชื่อว่าสนามแอดมิชชั่นส์นี้ต้องมีน้องเป็นหนึ่งในจำนวนแสนกว่าคนแน่นอน สู้ต่อไปนะครับ



  

 


I. สิ่งที่ควรรู้

1.
คะแนน GAT & PAT มีอายุ 2 ปี สำหรับระบบแอดมิชชั่นส์ 2554 จะใช้เลือกคะแนน GAT & PAT ได้ตั้งแต่รอบกรกฎาคม 2552 จนถึงรอบมีนาคม 2554 รวม 6 ครั้ง โดยระบบจะเลือกรอบที่คะแนนดีที่สุดในแต่ละวิชา (แยกพิจารณารายวิชาได้นะครับ เช่น GAT สูงสุดในรอบมีนาคม 2554 PAT5 สูงสุดในรอบกรกฎาคม 2552 เป็นต้น)

2.
คะแนนโอเน็ตใช้ 30% รหัส 01-05 วิชาละ 5% ส่วนรหัส 06-08 ต้องนำมาบวกกันแล้วหาร 3 เป็นอีก 5%

3. บางคณะมีการกำหนดคะแนนขั้นต่ำ ถ้าเป็นโอเน็ตให้ดูเป็นรายวิชา ไม่ใช่คะแนนเฉลี่ยทุกวิชา โดยน้องมีสิทธิ์ได้ แต่ระบบประมวลผลให้เฉพาะผู้ที่มีคะแนนผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดไว้ ดังนั้นถ้าน้องจะยื่นคณะที่กำหนดคะแนนขั้นต่ำ แต่น้องมีบางวิชาที่คะแนนไม่ถึงขั้นต่ำ ก็ถือว่า
เลือกเสียอันดับฟรีๆ โดยคะแนนขั้นต่ำจะกำนหนดเป็น % ดังนั้นถ้าเป็นคะแนน GAT & PAT เปลี่ยนจาก % เป็น 300 คะแนนเต็มต้องคูณ 3

4. น้องต้องมีองค์ประกอบทุกส่วนของคณะหรือสาขาวิชาที่น้องจะเลือก หากขาดวิชาใดวิชาหนึ่ง แม้ว่าคะแนนรวม 30
,000 คะแนนน้องจะถึงคะแนนต่ำสุดเมื่อประมวลผลมาแล้ว ก็ไม่ถูกตัดชื่อออกจากรหัสคณะนั้น เนื่องจากองค์ประกอบไม่ครบ ก็ถือว่าเลือกเสียอันดับฟรีๆ

5. อันดับคณะให้เลือกได้สูงสุด 4 อันดับ จะเลือก 1 อันดับก็ได้ 2 หรือ 3 อันดับก็ได้

6. หาก
อันดับสุดท้ายมีคนคะแนนเท่ากันหลายคน ถ้าเป็นคณะทางวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงคณะที่เน้นการปฏิบัติการจะไม่รับหมด เพราะมีข้อจำกัดด้านอุปกรณ์ทางการศึกษาที่อาจไม่เพียงพอ แต่ทางเป็นคณะทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์จะรับมาทั้งหมด

7.
แอดมิชชั่นส์จะประมวลผลคณะที่น้องเลือกแค่เพียง 1 คณะเท่านั้น ไม่ได้ระบุว่าคะแนนน้องผ่านคณะไหนบ้างแล้วให้เลือก โดยคณะอันดับ 1 ที่น้องเลือกจะถูกประมวลผลก่อน และมีสิทธิ์ได้รับคัดเลือกก่อน อันดับที่ 2 3 และ 4 ก็รองลงมา ดังนั้นการเลือกอันดับคณะควรเรียงจากคณะที่อยากเรียนมากที่สุดไว้เป็นอันดับ 1 แล้วรองๆ ลงมาถึงอันดับ 4 แต่ 4 อันดับคณะนั้นเราต้องชอบและถนัดหมดนะ

เพิ่มเติม

8. การเลือกคณะที่มีแบ่งเป็นพื้นฐานวิทย์ พื้นฐานศิลป์ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้เลือกที่ถนัดด้านวิทย์ กับด้านศิลป์ ได้คัดเลือกเข้ามาเท่าเทียมกันมากขึ้น ซึ่งไม่ได้ห้ามนะครับว่าจะต้องเลือกตามแผนการเรียนที่น้องเรียนมา น้องสายศิลป์เลือกสอบพื้นฐานวิทย์ได้ ถ้ามีคะแนน PAT ตามที่กำหนด น้องสายวิทย์ก็เลือกสอบพื้นฐานศิลป์ได้ ถ้ามีคะแนน PAT ตามที่กำหนดเช่นกัน

9. การสมัครคัดเลือกระบบแอดมิชชั่นส์ จะสมัครกี่รอบก็ได้ แต่ระบบจะยึดเอาการสมัครที่ชำระเงินครั้งล่าสุดไปใช้ประมวลผลครับ แสดงว่า น้องสมัครไปแล้ว ถึงแม้ว่าจะชำระเงินหรือไม่ก็ตาม อยากจะแก้ไขเปลี่ยนแปลง ก็สมัครใหม่ แล้วชำระเงิน ใครแก้บ่อยก็สมัครบ่อย จ่ายหลายรอบนะครับ แต่ระบบจะยึดเอาการชำระเงินครั้งล่าสุด

10. การสอบสัมภาษณ์เป็นเพียงการสอบถามข้อมูลเบื้องต้นที่จำเป็นต่อการศึกษาต่อ และวัดทัศนคติเบื้องต้น จะไม่มีการให้คะแนน เพื่อคัดออกแล้ว นอกจากที่จะแสดงกิริยาก้าวร้าว ไม่น่ารักมากๆ ส่วนแฟ้มสะสมงานไม่บังคับว่าต้องมีทุกคน เพราะไม่มีผลต่อการพิจารณาครับ ถ้ามีก็ดีตรงที่ถ้าอาจารย์กรรมการเปิดอ่านก็จะหาเรื่องคุยจากแฟ้มสะสมงานของเราได้ แต่ถ้าไม่มีเวลาเตรียมก็ไม่เสียหายอะไรครับ



II. วิธีการคำนวณคะแนนแอดมิชชั่นส์

ง่ายที่สุด น้องดาวน์โหลดโปรแกรมคำนวณคะแนนของสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทยจะสมบูรณที่สุดครับ กด
Downlaod เลย http://www.cuas.or.th/document/ADM54SUMSCORE_RAR.rar หากน้องได้หนังสือระเบียบการสมัครมาแล้วก็ใช้ประกอบกัน สำหรับดูรหัสคณะ



III. การเตรียมตัวก่อนเลือกอันดับแอดมิชชั่นส์

การที่เราจะได้ศึกษาต่อในคณะที่ใช่ สาขาวิชาที่ชอบ แล้วมีอนาคตที่สดใสนั้น ขึ้นอยู่กับ 3 ข้อนี้ครับ

1.
สำรวจตัวเอง ก่อนเลยว่า เราชอบเรียนทางด้านไหนมากที่สุด ถนัดอะไร ม.6 แล้วหนูต้องหาให้ได้นะ อย่าคิดเพียงว่า เรียนได้อยู่ละ หรือคิดเพียงว่าให้ติดจุฬาฯ เรื่องเรียนค่อยไปเริ่มต้นใหม่ เพราะการเรียนในมหาวิทยาลัยถ้าเราชอบเรียน มีความมุ่งมั่น มีความฝัน แน่นอนหนักยังไงก็ทำได้ ทำอะไรในสิ่งที่ชอบมันย่อมสำเร็จเสมอ และอย่าลืมว่าสิ่งที่จะตัดสินใจเรียนไปอย่างน้อย 4 ปีเนี่ย มันเป็นอนาคตทั้งชีวิตของเราได้เลย  หากเลือกเรียนในสิ่งที่ไม่ได้ชอบจริงๆ มันอึดอัดนะ เช่น การเรียนครุศาสตร์ น้องต้องชอบในด้านการศึกษาและการสอน เนื่องจากเป็นคณะที่ภาระงานมาก และต้องมีความรับผิดชอบ หากน้องไม่ได้ชอบจริงๆ เมื่อมาเรียนก็จะรู้สึกอึดอัด เหนื่อย การเป็นครูไม่ใช่ว่าใครจะเป็นได้ครับ ต้องมีใจรักในวิชาชีพถึงจะเรียนและมีอนาคตที่มีความสุข ดังนั้นอยากให้น้องหาตัวเองให้เจอจริงๆ ก่อนตัดสินใจนะครับ

2.
ศึกษาข้อมูล น้องๆ ลองค้นหาข้อมูลการศึกษาในคณะหรือสาขาวิชาที่น้องสนใจดู ง่ายที่สุดคือ เว็บไซต์สถาบันครับ หรือจะสอบถามในบอร์ดการศึกษาของเว็บเด็กดีก็ได้ เพื่อให้รู้แนวทางการศึกษาของคณะหรือสาขาวิชานั้นว่า เรียนอย่างไร มีหลักสูตรเป็นอย่างไร ดูรายวิชาที่เรียนว่าเป็นแบบที่เราสนใจหรือถนัดหรือไม่ บรรยากาศการเรียนดีหรือไม่ ขอบเขตการศึกษาเหมาะกับตัวเรามากน้อยเพียงใด เพื่อจะช่วยประกอบการตัดสินใจเลือกคณะนะครับ

 

 

IV. หลักการเลือกอันดับแอดมิชชั่นส์

มาถึงเรื่องที่น่าปวดหัวที่สุดก่อนที่จะตัดสินใจสมัครคัดเลือกแล้ว นั่นคือการเลือกคณะทั้ง
4 อันดับ พี่มีคำแนะนำดังนี้นะครับ

 

1. คณะอันดับ 1 ให้จริงใจกับตนเองไว้ว่าใจเราสนใจเรียนทางด้านไหน คณะไหน สาขาวิชาไหน  เป็นความใฝ่ฝันจริงๆ เลือกไว้อันดับ 1 เลยครับ อย่าได้แคร์คะแนน คนอื่นจะคะแนนสูง รับจะน้อยเพียงใด ขอแค่เราเลือกเพื่อโอกาสอันมีค่าแม้จะน้อยนิดก็ตาม อันดับ 1 เค้าให้เลือกตามความฝันของเราครับ อย่าทำตัวเป็นแม่หมอ หมอเดา ชอบดูถูกตัวเองว่าคะแนนน้อยอ่ะ ไม่ติดหรอก ไม่เลือกดีกว่า ถ้าคนคิดแบบนี้ 1,000 คน คะแนนจะที่คิดว่าสูงมันก็ตกลงได้นะ อะไรก็คาดเดาไม่ได้หรอก ปาฏิหาริย์มีเสมอในแอดมิชชั่นส์ "รู้ว่าเสียงแต่คงต้องขอลอง" ถ้าไม่เลือกเสี่ยงแล้วประกาศผลมา คะแนนเรากลับเข้าคณะนี้ได้ นอกจากเสียใจแล้วจะเสียดายนะ


2.
คณะอันดับ 2 ควรเป็นคณะหรือสาขาวิชาที่สนใจหรือชอบในระดับหนึ่งรองลงมาจากคณะอันดับ 1 ของมหาวิทยาลัยที่ตัวเองสนใจ แนะนำว่าให้นำคะแนนของตนไปเทียบกับคะแนนต่ำสุดของแอดมิชชั่นส์ปี 2553 แค่ปีเดียว เพราะย้อนไปปี 2552 มันคนละองค์ประกอบ จำนวนรับก็แตกต่างจากระบบใหม่ อันดับ 2 ควรเกิน 100-1,000 คะแนน

 

3. คณะอันดับ 3 ควรเป็นคณะหรือสาขาวิชาที่พอจะเรียนได้ ของมหาวิทยาลัยที่อาจจะคะแนนรองลงมาจากคณะอันดับ 2 ก็ได้ โดยเป็นคณะหรือสาขาวิชาที่คะแนนไม่สูงมาก อย่าเลือกที่สูงเกินไปในอันดับนี้เพราะจะเกิดความเสี่ยงมากขึ้น อันดับ 3 ควรเกิน 1,000-2,500 คะแนน

4.
คณะอันดับ 4 ควรเป็นคณะหรือสาขาวิชาที่เราพอจะเรียนได้ ของมหาวิทยาลัยที่มีคะแนนไม่สูงแล้วเราสะดวกที่จะไปเรียน ควรเป็นคณะที่เรียนได้ มีความสนใจอยู่นะ ไม่ใช่เลือกไว้ให้อันดับมันเต็มนะ เลือกอะไรที่เรียนได้ แล้วคะแนนของเรามีความเป็นไปได้ว่าน่าจะติดชัวร์ๆ อันดับ 4 เกิน 2,500 คะแนนขึ้นไปยิ่งดี จะได้ปลอดภัยมากขึ้น และอย่าลืมว่าหากอันดับ 1 และ 2 หลุดเราต้องเรียนคณะที่เลือกอันดับนี้นะ ต้องคิดให้ดีนะครับ และอย่าหวังสูงมากเกินไปนะ เลือกให้เราติดชัวร์ หากเลือกสูงเกิน แล้วพลาดหลุด 4 อันดับ มันเศร้ายิ่งกว่าไม่จบ ม.6 อีกนะ แนะนำให้น้องพิจารณาดีๆ

 

คำถามต้องห้าม

1. หนูจะติดมั้ยคะ = คิดซะว่าเราต้องติดสิ คำถามนี้ไม่มีใครตอบได้หรอกครับ แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ที่ดูแลการคัดเลือกเอง เค้าจะรู้ก็ต่อเมื่อประมวลผลแล้ว

2. คะแนนหนูได้เท่านี้มีความหวังมั้ยคะ = เอ๋า ถ้าเราตัดสินใจเสี่ยงเราต้องหวังเป็นธรรมดาครับ เรามีความสุขได้เพราะเราสมหวัง แต่กว่าจะสมหวังได้เราก็ต้องผ่านความทุกข์เพราะความหวัง จุดเริ่มต้นของความสมหวังอยู่ที่ว่าเรากล้าที่จะ เสี่ยง หรือไม่

3. คิดว่าแนวโน้มปีนี้คะแนนจะสูงขึ้นหรือต่ำลง = มันตอบยากนะครับ เพราะมีปัจจัยหลายอย่างมากที่จะทำให้คะแนนต่ำสุดเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญที่สุด คือ การเลือกของน้องๆ ที่ไม่มีใครทราบก่อนการประมวลผลว่า คนเลือกมากน้อยเพียงใด ได้คะแนนเท่าไหร่บ้าง

 

V. ปัจจัยที่ทำให้คะแนนต่ำสุดเปลี่ยนแปลง

1.
คะแนนเฉลี่ยโอเน็ต และ GAT & PAT ที่อาจจะเฟ้อขึ้น โดยเฉพาะ GAT รอบล่าสุดมีคะแนนเฉลี่ยสูงถึง 172 คะแนน แต่ถ้าย้อนไปดูเด็กแอดมิชชั่นส์ 2553 รอบที่คะแนนเฉลี่ยสูงสุด เป็นรอบมีนาคม 2553 แค่ 131 คะแนน ต่างกันเยอะมาก

2.
กระแสนิยมในปีนั้นๆ มีผลมากเหมือนกันว่าคนจะไปเลือกอะไร เช่น ระยะนี้คณะครุศาสตร์ - ศึกษาศาสตร์ บูมขึ้น ก็อาจจะส่งผลให้คะแนนต่ำสุดสูงขึ้น

3.
คะแนนต่ำสุดของปีก่อนหน้านั้น อันนี้มีผลทางจิตวิทยามากเลยล่ะ โดยเฉพาะคณะที่คะแนนต่ำสุดเวอร์ๆ ของสถาบันชื่อดัง เช่น คณะนิติศาสตร์ เลือกสอบภาษาฝรั่งเศส คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เป็นต้น คณะที่คะแนนต่ำสุดน้อยๆ แบบนี้ คนที่อยากเรียนจุฬาฯ มักจะแห่ไปเลือก ระวังให้มากเลย

4.
จำนวนรับที่เปลี่ยนแปลง น้องๆ ไม่ใช่แค่เอาคะแนนต่ำสุดไปเทียบอย่างเดียวนะ น้องต้องตรวจสอบดูว่าจำนวนรับเปลี่ยนแปลงไปมากหรือไม่ เช่น คณะครุศาสตร์ รูปแบบรับรวม จุฬาฯ ปีที่แล้วรับ 360 คน ปีนี้ลดเหลือ 245 คน ก็อาจจะส่งผลให้คะแนนต่ำสุดสูงขึ้นได้

5.
เกณฑ์คะแนนขั้นต่ำที่เปลี่ยน บางคณะมีการกำหนดคะแนนขั้นต่ำขึ้นมาในปีนี้ หรืออาจจะยกเลิกไปในปีนี้ ให้น้องตรวจสอบดูก่อน เพราะอาจมีผลต่อคะแนนต่ำสุดด้วย




VI. คณะที่ใช่กับมหาวิทยาลัยที่ชอบ

คนที่ 1

อันดับ 1 รัฐศาสตร์
IR จุฬาฯ
อันดับ 2 อักษรศาสตร์ จุฬาฯ
อันดับ 3 นิติศาสตร์ จุฬาฯ
อันดับ 4 จิตวิทยา จุฬาฯ

คนที่ 2
อันดับ 1 นิติศาสตร์ จุฬาฯ
อันดับ 2 นิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
อันดับ 3 สังคมศาสตร์ (นิติศาสตร์) ม.เกษตร
 
อันดับ 4 นิติศาสตร์ มช.

น้องคิดว่าคนไหนจะเรียนในระดับอุดมศึกษาได้อย่างมีความสุข ได้ทำงานในสิ่งที่ตัวเองชอบในอนาคต อย่างคนที่ 1 ตกลงเค้าสนใจด้านไหน อยากเรียนด้านไหนเหรอ หรือขอให้ได้เป็นนิสิตจุฬาฯ พี่อยากจะบอกว่า อย่าได้เลือกเพราะอยากอยู่สถาบันดังๆ เพราะน้องจะดีใจ ภูมิใจในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ที่ติดเท่านั้น แต่พอเรียนไปๆ น้องจะเกิดคำถามกับตัวเองว่า ทำไมมันยาก ทำไมคนอื่นเค้าเรียนแล้วมีความสุข คนอื่นเรียนแล้วเรียนดีกว่าเรา ก็เพราะเค้าได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบและเป็นความถนัดของเค้าครับ น้องจะได้แต่ดูคนอื่นเค้าเรียนอย่างมีความสุข แต่น้องก็ทุกข์ไปวันๆ คิดไม่ต้องว่าเรียนในสิ่งที่ไม่ถนัด จบไปก็ได้ทำงานที่ไม่ได้ชอบจริงๆ

อนาคตที่ดีและมีความสุขไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถาบันครับ แต่ขึ้นอยู่กับใจว่าเราได้หาในสิ่งที่ชอบให้กับตัวเองหรือไม่ อย่างถ้าน้องคนที่ 1 เค้าได้อันดับ 3 จบไปทำงานสายนิติศาสตร์ กับคนที่ 2 เค้าได้อันดับที่ 4 จบไปทำงานสายนิติศาสตร์เหมือนกัน คนที่ 2 จะมีความสุขกับหน้าที่การงานมากกว่า ทำงานอย่างมีความสุข ผลงานออกมาดี มีความก้าวหน้ามากกว่า คนที่ 1 ก็ทำงานด้วยความจำทน เพราะจบมาแล้ว ก็ต้องทำในสายที่จบมา หรือไม่ก็ฉีกแนวไปเลย

เด็กจุฬาฯ ไม่ว่าจะคณะไหน คณะดังๆ ก็มีเด็กซิ่วไม่น้อย ก็เพราะเค้าเป็นคนที่ 1 ที่เลือกเข้าจุฬาฯ มาเพราะใช้สถาบันตอบสนองคุณค่าทางจิตใจ แต่ 1 ปีที่ผ่านไปตัวเองกลับรู้สึกสุขไม่จริง เรียนไปวันๆ ก็ไร้ทิศทางและแรงบันดาลใจ เพราะไม่ได้ชอบด้านนี้จริงๆ หลังๆ เริ่มเรียนไม่เต็มที่เพราะเตรียมตัวซิ่วไปด้วย ซิ่วได้ก็เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ซิ่วไม่ได้ตามที่หวังก็ต้องกลับมารับความจริงที่อยู่ข้างหลังอีกครั้ง ดังนั้นโอกาสแรกของเราครั้งนี้ คิดให้ดีดีกว่านะครับ

สรุปจะเห็นว่า การจะมีความสุขหรือประสบความสำเร็จในอนาคต สถาบันไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญเท่าใจเรา คนไม่จบปริญญาตรีจุฬาฯ ก็ประสบความสำเร็จและพัฒนาตนเองได้ไม่ต่างกัน อยากจะเตือนน้องๆ ที่กำลังเหมือนคนที่ 1 ว่า น้องคิดดีหรือยังที่จะให้ความสำคัญกับสถาบันโดยไม่ได้คิดถึงความชอบที่มากที่สุดของตัวเอง เพราะน้องจะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยได้ไม่มีความสุขอย่างแท้จริง จุฬาฯ อยู่แล้วจะไม่มีความสุขถ้าไม่ได้เรียนในคณะที่ถนัดจริงๆ แต่สถาบันอื่นๆ แม้ว่าชื่อเสียงไม่ดัง แต่ก็มีเอกลักษณ์ มีความน่าอยู่ในแบบฉบับของสถาบันนั้นๆ ถ้าเราได้เรียนในสิ่งที่ชอบ เราจะปรับตัวแล้วใช้ชีวิตในสถาบันอย่างมีความสุขได้เองครับ

ลองไปคิดดีๆ นะครับ



VII. วิธีการประมวลผลคะแนนแอดมิชชั่นส์

น้องๆ หลายคนอาจจะสงสัยว่า 4 อันดับที่เลือกไปแล้วเค้าประมวลผลอย่างไร ทำไมคะแนนติดกันแต่เราเลือกอันดับ 1 ไม่ติด คนเลือกอันดับ 2 ติดซะงั้น วิธีเป็นเช่นนี้ครับ

1. ระบบจะจัดเรียงคะแนนผู้สมัครที่เลือกอันดับ 1 ของทุกรหัสคณะเป็น
list ให้ครบตามจำนวนรับของรหัสคณะนั้นเป็นขั้นตอนแรก เช่น รหัส 0036 รับ 245 คน ก็เรียงอันดับ 245 คนแรกที่เลือกรหัสนี้เป็นคณะอันดับ 1 ดังนั้นก็จะมีคนที่เลือกอันดับ 1 แล้วคะแนนไม่อยู่ในอันดับตามจำนวนรับ

ที่นี้ล่ะครับ มันจะเกิดเหตุการณ์แทรกอันดับ แล้วดันคนตกอันดับลงมาเรื่อยๆ

2. ระบบจะนำคนที่เลือกอันดับ 1 แล้วคะแนนไม่อยู่ในอับดับตามจำนวนรับของทุกรหัสคณะ มาพิจารณาอันดับ 2 ก็จะดูว่าคะแนนคณะอันดับ 2 มากกว่าต่ำสุดของคะแนนในขั้นตอนที่ 1 ของรหัสคณะนั้นหรือไม่ ถ้าเกินก็จะเอารายชื่อไปแทรก
list ดังนั้นมีคนตกอันดับ 1 แล้วยิ่งมาแทรกมาก คนที่เลือกอันดับ 1 แล้วมีอันดับอยู่ท้าย list ในขั้นตอนที่ 1 ก็ถูกคนกลุ่มอันดับ 2 ที่ไม่ติดอันดับ 1 มาแทรกอันดับบนใน list จนตก list ไปในที่สุด ระบบจะพิจารณาเรื่อยๆ จนคณะประมวลคณะอันดับที่ 2 ของคนที่ไม่อยู่ใน list ขั้นตอนที่ 1 และคนที่ถูกแทรกในขั้นตอนที่ 2 เบียดตกลงมาพิจารณาคณะอันดับที่ 2 ใหม่อีก

3. ระบบจะพิจารณาคณะอันดับ 3 ของคนที่ถูกเบียดตก
list ขั้นตอนที่ 2 หรือไม่เคยอยู่ใน list ทั้ง 2 ขั้นตอน โดยจับแทรกอันดับใน list อีก ก็จะมีคนที่ตก list มาอีก

4. ระบบจะพิจารณาคณะอันดับ 4 ครั้งสุดท้ายครับ อันดับ 4 ถ้าถูกเบียดตก หรือไม่ได้รับการพิจารณาก็พลาดการคัดเลือกในที่สุด

ดังนั้นถ้าชื่อน้องอยู่ใน
list ขั้นตอนที่ 1 คือเลือกคณะอันดับ 1 แล้วอยู่อันดับบนๆ คะแนนสูงมาก เช่น นิติศาสตร์ ได้ 25,000 ต่อให้ผ่าน 4 ขั้นตอน จะถูกคนอื่นแทรกยังไงก็ไม่ตก list แน่นอน กลายเป็นเทวดา นางฟ้า บน list อยู่วันยังค่ำ

แต่ถ้าเราอยู่ท้ายๆ
list ตั้งแต่ขั้นตอนที่ 1 ก็จงภาวนาว่าอย่าให้คนอื่นมาเบียดจนตก list ไป

สรุป คือ
คะแนนสำคัญกว่าอันดับคณะ แม้ว่าเราจะเลือกคณะนี้อันดับ 1 ถ้าคะแนนเราน้อยกว่าอีกคนที่เลือกคณะนี้เป็นอันดับ 2 ถ้าเค้าไม่ถูกจัดใน list ขั้นตอนแรก คือ คณะอันดับ 1 ที่เค้าเลือกคะแนนไม่ถึง เค้าจะมีมาแทรกอันดับบนใน list ที่เราอยู่ อันดับเราก็ตกลงมา และมีโอกาสติดสูงกว่าเรานะ 



VIII. วันประกาศผล

ประกาศก่อนทุกปีครับ ก่อนวันประกาศผลทางการที่แจ้งวัน 4-5 วันเลย วันประกาศผลยอดฮิต คือ 4-7 พฤษภาคม ต้นเดือนพฤษภาคมเมื่อไหร่ น้องๆ เกาะติดหน้าจอคอมพิวเตอร์รอฟังข่าวได้เลย แต่ก็อย่าลืมพักผ่อน ไม่กดดันตัวเอง อย่าไปกังวลมาก คนจะติดอันดับ 1 อะไรก็ฉุกไม่อยู่นะ



IX. เทคนิคการสัมภาษณ์


"
มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์" เป็นคำที่น้องๆ ทุกคนอยากเห็นเมื่อประกาศผลมากที่สุด เมื่อวันสอบสัมภาษณ์มาถึงเราควรเตรียมตัวดังต่อไปนี้นะครับ

1. แต่งกายด้วยชุดนักเรียนที่ดูเรียบร้อย น่ารัก เหมาะสมกับการเป็นนักเรียน
2. ดูแลความสะอาดของร่างกาย โดยเฉพาะผม เล็บ อย่ามาแบบเหงื่อโชกนะครับ
3. เดินทางมาที่สถานที่สอบสัมภาษณ์ก่อนเวลาสัก 15-30 นาที
 เพื่อทำภารกิจส่วนตัวให้เรียบร้อย และสำรวจสถานที่ต่างๆ 
4. เตรียมเอกสารให้ครบ อย่าลืมรับรองสำเนาถูกต้องนะครับ
5. สิ่งแรกที่เจออาจารย์กรรมการ อย่าลืมมารยาทอันดีงาม "การไหว้"
6. ทำตัวเป็นนางงามเข้าไว้นะครับ "ยิ้ม พูดเพราะ แอ๊บน่ารักไว้แต่พองาม"
7. ตอบคำถามที่เป็นตัวเอง ซื่อสัตย์ ไม่สร้างภาพ และสำรวม
8. ก่อนกลับก็อย่าลืมลาด้วย "สวัสดีครับ/ค่ะ" หากน้องมีอะไรสงสัยประการใดถามอาจารย์กรรมการได้เลยนะครับ แต่อย่ายาวนะ สั้นๆ พอ

คำถามที่มักจะพบเจอในการสอบสัมภาษณ์
- แนะนำตัวเอง
- ข้อมูลการศึกษา
 
- สิ่งที่สนใจ
- สภาพครอบครัว รายได้ ความจำเป็นต่างๆ
- แสดงเหตุผลที่ต้องการศึกษาต่อในคณะนี้
- ทำไมถึงอยากเรียนคณะนี้
- ทำไมถึงต้องเรียนที่นี่
- หากไม่ได้เลือกคณะนี้เป็นอันดับ 1 ก็จะถามว่าทำไมถึงอยากเรียนในคณะอันดับ 1 แล้วจะเรียนคณะที่ติดได้ไหม
- หากอยู่ต่างจังหวัดก็อาจจะถูกถามว่า ทำไมไม่เรียนสถาบันใกล้บ้าน
- ตั้งโจทย์ตุ๊กตาถามทรรศนะตามบริบทของแต่ละสาขาวิชา เช่น ภาษาฝรั่งเศสก็อาจจะให้แสดงความคิดเห็นเป็นภาษาฝรั่งเศส หรือสังคมศึกษาก็ให้แสดงความคิดเห็นในสถานการณ์ปัจจุบัน
- คำถามท้าทาย กดดัน หรือกวนประสาท ยั่วโมโห
 เช่น มันหนักนะ ต้องเจอสิ่งนี้นะ จะไหวเหรอ
- การปรับตัวเข้าสู่ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย เช่น ที่อยู่อาศัย การเดินทาง
ทั้งนี้ การสอบสัมภาษณ์ในระบบแอดมิชชั่นส์จะไม่มีการคัดออก ตอบได้เป็นพอ ไม่ต้องเครียดว่าให้ดีเลิศ ตราตรึงใจอาจารย์กรรมการ พยายามทำเหมือนว่าเค้าชวนเราคุย เราก็คุยด้วยอาการปกติ ยิ้มแย้มแจ่มใส ใช้ภาษากึ่งสนทนา เหมือนเราคุยกับผู้ใหญ่




ท้ายที่สุด 
พี่เป็นกำลังใจให้น้องๆ ม.6 ทุกคนนะครับ อยากจะบอกว่า
จงเชื่อมั่นในสิ่งที่เรามุ่งหวัง และให้โอกาสตนเองด้วยกำลังใจที่เต็มเปี่ยม 
กำลังใจจากตัวเองยิ่งมีมาก ความฝันของเราก็จะเป็นจริงมากเท่านั้น
 
และถ้าหากผิดหวังเราก็จะลุ้นขึ้นสู้ใหม่ได้อย่างเข้มแข็ง

สู้สู้ครับน้องๆ พี่ๆจะรอรับน้องๆ ที่รั้วมหาวิทยาลัยที่น้องใฝ่ฝัน
น้องคนไหนอยากเรียนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
See you @ CU ครับ


หากมีปัญหา ข้อสงสัย หรือต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม พี่ยินดีช่วยเหลือเต็มที่ โพสต์ได้เลยครับน้อง


รวมสิ่งที่ควรรู้ ข้อสงสัย และเทคนิคในการคัดเลือก ADMISSIONS 2554 เฉพาะคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ CLICK!


แก้ไขครั้งที่ 1 เมื่อ 9 เมษายน 2554 / 18:58
แก้ไขครั้งที่ 2 เมื่อ 9 เมษายน 2554 / 19:06
แก้ไขครั้งที่ 3 เมื่อ 9 เมษายน 2554 / 19:20
แก้ไขครั้งที่ 4 เมื่อ 10 เมษายน 2554 / 20:17
แก้ไขครั้งที่ 5 เมื่อ 10 เมษายน 2554 / 20:33

PS.  ข้อมูลแนะแนวและปรึกษาการศึกษาต่อคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ 1. Writer เปิดรั้วโรงเรียนครู : http://writer.dek-d.com/dek-d/writer/view.php?id=567449 2. Page Facebook : http://www.facebook.com/EduChulalongkorn

แสดงความคิดเห็น

>

371 ความคิดเห็น

EduCU♥ 9 เม.ย. 54 เวลา 19:07 น. 2

สุดยอดด นับถือพี่กอล์ฟจริงๆค่ะ ได้คำแนะนำดีๆ จากพี่ตอนรับตรงครุจุฬาแล้ว

สมกับเป็นครูจริงๆค่ะ&nbsp 


ขอคารวะ ขอขอบพระคุณ และขอขอบพระคุณแทนเพื่อนๆที่แอดด้วยค่ะ

คนดีๆ อย่างพี่กอล์ฟจะมีแต่ความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต

0
kikkak--AD 54 9 เม.ย. 54 เวลา 19:11 น. 3

กระทู้รวมมิตร

มีประโยชน์กับรุ่นน้องมากมาย ถึงแม้หนูจะไม่ได้แอด ฬ

แต่ก็ขอบคุณมากๆ เลยค่ะ

See u @ University


PS.  มีเพื่อนเป็นแสน มีแฟนเป็นศูนย์
0
I hope 9 เม.ย. 54 เวลา 19:21 น. 6

 ขอบคุณนะคะ สงสัยอยู่พอดีเลยว่าการประมวลผลคะแนนแอดมิชชั่นเป็นยังไง ^^
ได้ประโยชน์มากมาย 

0
jinxman 9 เม.ย. 54 เวลา 19:29 น. 9
ขอบคุณนะคะ อ่านแล้วเราค่อยมีกำลังใจหน่อย
ถึงมันจะบวกมาแค่นิดหน่อยก็เถอะ เราก็จะพยายามต่อไป!!!

PS.  .:Pray for JAPAN:.|| Don't give up || we'll pray for you !!!
0
ผึ้ง 9 เม.ย. 54 เวลา 19:41 น. 11

อ่านการคัดเลือก แล้วเครียดกว่าเดิมอีกมั้งนิ TT กลัวตกlistอ่าค่ะ

แต่ก้ขอบคุณมากๆนะคะ

0
เครียด 9 เม.ย. 54 เวลา 19:47 น. 12

พี่ฮะ เด็กที่อยู่ ม.6 ปีนี้ใช่คะแนนที่สอบตอนอยู่ ม.5 รอบ กรกฎา 52 ได้ด้วยหรอครับ

รอบนั้น pat1 เป็นแบบ 4 ตัวเลือกหมดเลย แต่รอบต่อๆมาที่ผมพึ่งเข้าสอบที่เจอแบบครึ่งๆก็เสีย

เปรียบมากกกเลยสิครับ อย่างเพื่อนผมที่คะแนนโอเน๊ตเลขได้ 17 แต่ pat1 รอบ 2/52 ได้ตั้ง

ร้อยกว่าๆ ก็โชคดีฟรีๆไปเลยหรอฮะ ขอบคุณมากครับ ไม่ได้ยุติธรรมเล๊ยย~

0
koppersquib 9 เม.ย. 54 เวลา 19:48 น. 13
เป็นกำลังใจให้น้องๆ ทุกคนครับ กำลังใจที่สำคัญ คือ ความมุ่งมั่นในใจของเราเอง ทุกคนย่อมมีความหวังครับ ต้องเชื่อมั่นในการตัดสินใจของเรา ความหวังและความมุ่งมั่นจะทำให้เรามีความสุขเล็กๆ ในยามทุกข์ใจ อย่าเพิ่งท้อหรือสิ้นหวังกันนะครับ สู้สู้
PS.  ข้อมูลแนะแนวและปรึกษาการศึกษาต่อคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ 1. Writer เปิดรั้วโรงเรียนครู : http://writer.dek-d.com/dek-d/writer/view.php?id=567449 2. Page Facebook : http://www.facebook.com/EduChulalongkorn
0
koppersquib 9 เม.ย. 54 เวลา 19:53 น. 14
ตอบน้อง เครียด ความคิดเห็นที่ 12
ตามระเบียบ GAT & PAT มีอายุ 2 ปี ไม่ว่าระบบใด ของสถาบันใดหรือแอดมิชชั่นส์ ถ้าไม่เจาะจงว่าให้ใช้ GAT & PAT รอบไหนบ้าง ก็จะเป็นอันเข้าใจเองว่ามันมีอายุ 2 ปี เลือกใช้ย้อนหลังได้ 2 ปีนับจากวันที่สมัครคัดเลือก ดังนั้นเราสมัครเดือนเมษายน 2554 ก็ย้อนได้ถึงรอบกรกฎาคม 2554

ข้อสอบครั้งแรกๆ ก็ทั้งวิชาที่คะแนนเฟ้อและคะแนนน้อย เช่น GAT รอบแรกๆ คะแนนต่ำมาก แต่มารอบหลังสุด Mean สูงเกินครึ่ง ใครไม่สอบก็เสียดายแทน แต่อยาก PAT5 รอบ ก.ค. 2552 เฟ้อมาก แต่หลังๆ กดคะแนนสุดๆ มันก็อยู่ที่ดวงด้วยครับ ยังไงการสอบมันก็ผ่านไปแล้ว อย่าไปเครียดกับอดีต เลือกทำในปัจจุบันให้ดีที่สุดดีกว่าครับ สู้สู้
PS.  ข้อมูลแนะแนวและปรึกษาการศึกษาต่อคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ 1. Writer เปิดรั้วโรงเรียนครู : http://writer.dek-d.com/dek-d/writer/view.php?id=567449 2. Page Facebook : http://www.facebook.com/EduChulalongkorn
0
CU ปี4 9 เม.ย. 54 เวลา 20:14 น. 17

ขอชื่นชม จขกท นะคะ สำหรับกระทู้ยอดเยี่ยมชิ้นนี้ เขียนอธิบายครอบคลุมไว้ละเอียดทุกมุม นับว่าเป็นประโยชน์แก่น้องๆแอดฯรุ่น54นี้เป็นที่สุดค่ะ

0
NAM0NN 9 เม.ย. 54 เวลา 20:18 น. 18

ขอบคุณมากค่ะพี่กอล์ฟ  :)
หวังอย่างยิ่งว่าหนูจะได้เข้าไปเป็นรุ่นน้องคณะพี่ค่ะ  ฮ่าๆ  :D

ปล.อ่านตรงวิธีการประมวลผลแอดแล้วได้อารณ์มาก  เสียวตัวเองตก list สุดๆ ฮ่าๆ

0