Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

อัครภูมิปัญญาของแผ่นดิน พระมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระเมตตาต่อพสกนิกรชาวนาไทย ทรงทุ่มเทพระวรกาย บำเพ็ญพระราชกรณีกิจด้านการพัฒนาข้าวไทยและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนา พระองค์

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
อัครภูมิปัญญาของแผ่นดิน พระมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระเมตตาต่อพสกนิกรชาวนาไทย
ทรงทุ่มเทพระวรกาย บำเพ็ญพระราชกรณีกิจด้านการพัฒนาข้าวไทยและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนา พระองค์ท่านจึงทำให้แผ่นดินไทยกลายเป็น "แผ่นดินทอง"
ความทุกข์ยากลำบากแปรเปลี่ยนเป็นความสุขสบายอยู่แบบพอเพียง ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ
เกี่ยวกับข้าวและชาวนามากมาย

ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เพื่อรักษาพระราชประเพณีให้คงไว้
และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่พืชพันธุ์ธัญญาหาร เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม การที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงมีส่วนร่วมในกิจกรรมด้านการเกษตร
ถือเป็นการบำรุงขวัญและเป็นกำลังใจแก่เกษตรกรให้มีความมั่นใจในการประกอบอาชีพการเกษตรและยังมีการเสี่ยงทายทำนายถึงความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร
รวมทั้งแสดงให้ชาวต่างชาติเห็นถึงวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของไทย และทรงโปรดให้วันพระราชพิธีพืชมงคลของทุกปีเป็น "วันเกษตรกร"

โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถพึ่งตนเองได้
ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ดำเนินการทางด้านการเกษตรต่างๆ เพื่อเป็นตัวอย่างและ เป็นแหล่งความรู้ ทรงทุ่มเทเพื่อการศึกษาวิจัย เพื่อการพัฒนา
โดยเฉพาะการทดลองเกี่ยวกับการผลิตข้าวอย่างครบวงจร ภายในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน


    นาข้าวทดลอง ในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมการข้าว ดำเนินการจัดทำแปลงนาใน บริเวณสวนจิตรลดา และนำพันธุ์ข้าวต่าง ๆ
    มาปลูกทดลอง เพื่อทำการศึกษา โดยในครั้งแรกทรงขับรถไถนาเตรียมแปลง หว่านข้าว และทรงเกี่ยวข้าวด้วยพระองค์เอง ปัจจุบันแปลงนาข้าวทดลอง
    เป็นที่ปลูกข้าวพันธุ์ดี ซึ่งส่งเสริมให้ชาวนาปลูกในภาคต่าง ๆ เมล็ดพันธุ์ข้าวที่เก็บเกี่ยวได้จากนาข้าวทดลองจะนำไปใช้ในพระราชพิธี
    พืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และนำไปบรรจุซองเล็ก ๆ จัดเป็น "พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน" แจกจ่ายให้กับพสกนิกรและเกษตรกร ทั่วประเทศ
    เพื่อเป็นสิริมงคลในการประกอบอาชีพ

โรงสีข้าวตัวอย่าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้จัดสร้างโรงสีข้าวตัวอย่างในปี พ.ศ. ๒๕๑๔
เพื่อทำการทดลองสีข้าวและสร้างยุ้งฉางเก็บข้าวแบบต่างๆ ส่งเสริมให้ ชาวนาดำเนินการสีข้าวในรูปแบบสหกรณ์
นอกจากนี้ยังรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาและกลุ่มสหกรณ์ในราคาเป็นธรรม เพื่อนำมาสีเป็นข้าวสารและข้าวซ้อมมือจำหน่าย เป็นการช่วยเหลือและเพิ่มรายได้
ให้กับชาวนา ซึ่งต่อมาโรงสีข้าวตัวอย่างได้ถูกนำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของโรงสีข้าวขนาดเล็กตามหมู่บ้านต่างๆ
โรงบดแกลบ จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เพื่อนำแกลบที่ได้จากโรงสีข้าวตัวอย่างสวนจิตรลดา มาใช้ประโยชน์ นอกจากการทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์
สำหรับปรับปรุงดินแล้ว แกลบยังถูกนำมาอัดผ่านกระบอกเหล็กที่ได้รับความร้อนออกมาเป็นแท่ง เมื่อนำไปเผาจะได้ถ่านแกลบอัดแท่งใช้เป็นเชื้อเพลิง
ช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่าอีกด้วย เป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าของแกลบซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการสีข้าว โดยถูกนำมาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด


    ธนาคารข้าว ทรงสนับสนุนให้มีการจัดตั้งธนาคารข้าว เพื่อเป็นการเก็บรักษาข้าวไว้บริโภคเมื่อขาดแคลน โดยมีผู้เก็บพิจารณาจำนวนข้าวที่จะให้ยืม
    และรับข้าวคืน ราษฎรที่ต้องการยืมข้าวให้ลงบัญชีไว้ เมื่อเก็บเกี่ยวได้แล้วให้นำมาคืนธนาคารพร้อมด้วยดอกเบี้ย(ข้าว) นำมาเก็บในธนาคาร
    เป็นสมบัติของส่วนรวม ธนาคารข้าวยังเป็นการสร้างรากฐานของการัฒนา สร้างความสามัคคี รู้จักการเรียนรู้ การแก้ไขปัญหา มีส่วนร่วม
    มีความเป็นผู้นำ มีความรับผิดชอบ มีความซื่อสัตย์ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลดีแก่ชุมชนนั้นต่อไปในอนาคต


    ระบบสหกรณ์ ไม่ว่าจะเสด็จประพาสยังท้องถิ่นชนบทที่ทุรกันดาร ณ แห่งหนใด พระองค์จะทรงแนะนำให้นำหลักการสหกรณ์มาใช้
    แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในการประกอบอาชีพซึ่งข้อดีของระบบนี้ คือ สอนให้ราษฎรรู้จักช่วยเหลือตัวเอง ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
    ลดการเอาเปรียบของพ่อค้าคนกลางและนายทุน ลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มราคาผลิตผลของตนเอง โครงการสหกรณ์ตามพระราชดำริ
    จึงเกิดขึ้นตามท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งกิจการโรงสีข้าว ธนาคารข้าว ธนาคารโคและกระบือ เป็นการดำเนินงานโดยใช้หลักของระบบสหกรณ์ทั้งสิ้น

        การสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาข้าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว..ทรงตระหนักถึงความสำคัญของข้าวว่า เป็นอาหารหลัก
        ของคนไทย และเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศ จึงทรงให้ความสำคัญในการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาข้าวอย่างต่อเนื่อง
        ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการวิจัยและส่งเสริม การปลูกข้าวนาสวน ข้าวไร่
        ตลอดจนการปรับปรุงระบบการผลิตข้าวในโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ 6 แห่ง คือ
        - ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ
        - ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ
        - ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ
        - ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ
        - ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ
        - ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ

พระราชดำริโครงการฝนหลวง การที่ฝนตกล่าช้าไปจากฤดูกาลเพาะปลูกตามปกติ และการที่ฝนทิ้งช่วงก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก ต่อผลผลิต
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระราชดำริว่า... น่าจะมีการค้นคว้าทดลอง นำเทคโนโลยีมาทำฝนเทียมซึ่งใช้ได้ผลดีในต่างประเทศ
เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรวิศวกรรมของ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ศึกษาแนวทางในการค้นคว้าทดลองขึ้น ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับสนองพระราชดำรินี้ โดยจัดตั้ง "โครงการค้นคว้าทดลองการทำฝนเทียม"
โดยจัดตั้ง คณะปฏิบัติการขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ และได้ทดลองทำฝนเทียมเป็นครั้งแรกที่อำเภอ ปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
ระหว่างวันที่ ๑๘ - ๒๑ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ และได้ดำเนินการ ทดลองอีกหลายครั้งที่บริเวณอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จนสามารถสรุปผลได้ว่า
สามารถรวมกลุ่มก้อนเมฆให้เกิดเป็นฝนได้แน่นอน

    คณะปฏิบัติงานโครงการฝนหลวงได้ศึกษาทดลองและพัฒนาวิธีการทำฝนเทียมอย่างต่อเนื่อง จนค้นพบวิธีการ ทำฝนเทียมแบบใหม่
    ซึ่งแตกต่างจากวิธีปฏิบัติที่ใช้ในต่างประเทศ เรียกได้ว่าเป็นกรรมวิธีของประเทศไทย โดยเฉพาะ และได้นำมาปฏิบัติการช่วยเหลือราษฏรเป็นครั้งแรก
    เมื่อเดือนกรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ กรรมวิธีใหม่ นี้เกิดจากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพัฒนาขึ้นด้วยพระองค์เอง
    โดยทรงร่วมปรึกษาหารือกับหม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล จนกระทั่งในปีพ.ศ. ๒๕๑๖ ทรงพระกรุณาสรุปกรรมวิธีการทำฝนหลวงเป็น ๓ ขั้นตอน คือ

        ขั้นตอนที่ ๑ การก่อกวน คือ การดัดแปรสภาพอากาศหรือก้อนเมฆในขณะนั้น เพื่อกระตุ้นให้มวลอากาศชื้นไหลพาขึ้นสู่เบื้องบน
        อันเป็นการชักนำไอน้ำหรืออากาศชื้นเข้าสู่กระบวนการเกิดเมฆ

        ขั้นตอนที่ ๒ เลี้ยงให้อ้วน คือ การดัดแปรสภาพอากาศ เพื่อทำให้เมฆเจริญขึ้นจนเป็นก้อนขนาดใหญ่ หนาแน่นมาก จนพร้อมที่จะตกเป็นฝน

        ขั้นตอนที่ ๓ ขั้นโจมตี คือ การดัดแปรสภาพอากาศที่จะกระตุ้นให้เม็ดละอองเมฆปะทะชนกัน แล้วรวมตัวเข้าด้วยกันจนมีขนาดใหญ่ขึ้น

        ขณะเดียวกันก็เป็นการลดแรงไหลพาขึ้นเบื้องบนเพื่อให้เม็ดน้ำมีขนาดใหญ่ตกลงสู่เบื้องล่างแล้วเกิดเป็นฝนตกลงมาสู่เป้าหมายการทำฝนเทียม
        ในระยะต้น ๆ ดำเนินการโดยใช้เครื่องบินบินขึ้นไปดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝน ซึ่งมีข้อจำกัดหลายอย่างที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติครบขั้นตอน
        ตามกรรมวิธีที่ทรงคิดค้นได้ เช่น เมื่อถึงขั้นตอนที่ ๒ คือ เลี้ยงเมฆให้อ้วน แต่เครื่องบินไม่สามารถขึ้นบินได้ เนื่องจากสนามบินอยู่ห่างจากบริเวณ
        ซึ่งต้องการทำให้เกิดฝนตก หรือบางครั้งเกิดลมพายุแรง เครื่องบินไม่สามารถบินขึ้นได้ ทำให้เสียโอกาสที่จะขึ้นไปบังคับฝนให้ตกสู่เป้าหมายได้การทำ
        "ฝนหลวง" ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ มีส่วนช่วยเหลือราษฏรเป็นอย่างมาก ราษฎรในหลายจังหวัดได้ขอพระราชทาน
        "ฝนหลวง" ไปช่วยในการทำการเกษตร ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ จึงมีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง "สำนักงานปฏิบัติการฝนหลวง"
        ซึ่งสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบโดยตรงโดยเหตุที่ในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เกิดภาวะฝนแล้ง จึงมีการทำ "ฝนหลวง"
        ตั้งแต่วันที่ ๑๘ สิงหาคม จนถึงวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๖ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเหนือเขื่อนให้มากพอสำหรับการเพาะปลูกในฤดูแล้ง
        การผลิตกระแสไฟฟ้า และเพื่อผลักดันการรุกของน้ำเค็มจากอ่าวไทยอีกด้วย จึงกล่าวได้ว่า "ฝนหลวง" มิได้มีบทบาทเฉพาะเพียงด้านการเกษตรเท่านั้น
        แต่ยังมีบทบาทในระดับประเทศในการแก้ไขภัยแล้งอีกด้วย

        เกษตร "ทฤษฎีใหม่" ตามแนวพระราชดำริ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ
        เพื่อประโยชน์แก่ราษฎรทั่วทุกท้องถิ่น โดยมุ่งหมายให้ราษฎรมีความเป็นอยู่อย่าง "พอดีและพอเพียง" คือ ไม่รวยมากแต่ก็พอกิน ไม่อดอยาก
        ด้วยการบริหารจัดการที่ดินและแหล่งน้ำเพื่อพัฒนาชีวิตและอาชีพของเกษตรกรที่มีพื้นที่จำกัด
        และมีปัญหาเรื่องน้ำไม่เพียงพอสำหรับการปลูกพืชโดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนร้อยละ ๓๐:๓๐:๓๐:๑๐

        ส่วนแรก ร้อยละ ๓๐ : เป็นบ่อเก็บน้ำฝน เพื่อใช้อุปโภคบริโภค ใช้รดน้ำพืชเมื่อแล้ง หรือใช้ปลูกพืชอายุสั้นราคาดี เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง
        และผักต่างๆ

        ส่วนที่สอง ร้อยละ ๓๐ : ใช้ปลูกข้าว เนื่องจากทรงมีประราชวินิจฉัยว่า "ข้าวเป็นอาหารหลัก" ของคนไทย เป็นสิ่งสำคัญที่จำเป็น
        อันดับแรกของชีวิต จึงควรปลูกให้มีปริมาณที่เพียงพอสำหรับบริโภคตลอดปี

        ส่วนที่สาม ร้อยละ ๓๐ : ให้ปลูกพืชสวน ไม้ยืนต้น พืชผักและพืชไร่ แบบผสมผสานเพื่อใช้บริโภคและจำหน่าย

        ส่วนที่สี่ ร้อยละ ๑๐ : เป็นพื้นที่สำหรับที่อยู่อาศัย ถนน คันดิน ยุ้งข้าว เพาะเลี้ยงพันธุ์ปลา และโรงเลี้ยงสัตว์ต่างๆ

        การเกษตร "ทฤษฎีใหม่" มีการทดลองที่โครงการพัฒนาวัดมงคลชัยพัฒนา อำเภอ.เมือง จังหวัดสระบุรี และได้มีการพิสูจน์แล้วว่า
        การบริหารที่ดิน ตามทฤษฎีแนวใหม่นี้ สามารถเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้นได้ ช่วยให้เกษตรกรมีข้าวและอาหารเพียงพอสำหรับการบริโภค
        และมีรายได้พอเลี้ยงชีพตลอดปี

    พระยุคลบาทยาตรา ปวงประชาเป็นสุข พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทุ่มเทพระวรกาย อุทิศกำลังความคิด เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต
    ของชาวนาให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีกำลังใจในการทำนาปลูกข้าว กล่าวได้ว่าที่ใดเดือดร้อน ณ ที่นั่นจะมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
    เสด็จพระราชดำเนินไปทรงให้ความช่วยเหลือ ดังคำกล่าวที่ว่า "พระยุคลบาทยาตรา ปวงประชาเป็นสุข" นับเป็นบุญของประชาชนชาวไทย
    ทั้งแผ่นดิน ที่ได้อยู่ภายใต้ร่มพระบารมี ซึ่งมิอาจหาสถานที่ใดในโลกเสมอเหมือนได้ คนไทยทุกคนควรระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ
    ช่วยแบ่งเบาพระราชกรณียกิจด้วยการช่วยเหลือตัวเอง ช่วยเหลือชุมชน รักและสามัคคีกัน โดยนึกถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ

ทรงได้รับรางวัลเกียรติยศจากองค์กรนานาชาติ ระปรีชาสามารถและพระวิริยอุตสาหะของพระองค์มิเพียงแต่เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตา
ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ พระอัจฉริยภาพในด้านการพัฒนาการเกษตรยังเลื่่องลือไปถึงนานาประเทศทั่วโลก
ในวันพุธที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญ AGRICOLA
พร้อมสดุดีพระเกียรติคุณของพระองค์ในด้านการพัฒนาการเกษตร
วันที่ ๕ มิุถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๙ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (IRRI) ที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกในเรื่องงานวิจัยข้าว ได้ทูลเกล้าฯ
ถวายเหรียญทองเฉลิมพระเกียรติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ซึ่งสถาบันแห่งนี้ ยังมิได้เคยมอบเหรียญดังกล่าวแก่พระมหากษัตริย์ หรือประมุขของประเทศใดมาก่อนเลย

แสดงความคิดเห็น

>

1 ความคิดเห็น