Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

การให้ คือ ความสุข.

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

 

   


   
   การให้สุขใจทั้งผู้ให้และผู้รับ ความสุขของผู้รับคือ ความยินดีที่ได้รับสิ่งที่มอบให้ ในขณะที่ผู้ให้นั้น สุขใจที่ได้ช่วยเหลือและแบ่งเบาความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
การให้ที่ปราศจากเงื่อนไข เป็นการให้ที่ทำให้ ทั้งผู้ให้และผู้รับมีความสุข ให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ให้ด้วยความเต็มใจ และเปี่ยมไปด้วยเมตตาจิต ไม่รู้สึกเสียดายหรืออาลัยอาวรณ์ในสิ่งที่ให้นั้น และการได้รับสิ่งตอบแทนกลับคืนมานั้น เป็นเพียงผลพลอยได้จากการให้ เช่น การให้ของขวัญวันปีใหม่ ซึ่งเรามักจะได้รับของขวัญกลับคืนมาด้วยเช่นกัน



การให้ของพระพุทธเจ้า


   พระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่างที่ประเสริฐที่สุด ในเรื่องของการเสียสละประโยชน์ความสุขส่วนตัว เพื่อไปแสวงหาความจริง สิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นความสุขแก่ผู้อื่น การออกบวชของพระพุทธเจ้า เป็นการเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์(การเสด็จออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่) พระองค์ทรงศึกษาและบำเพ็ญความเพียร ด้วยความยากลำบากแสนสาหัส จนกระทั่งตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ และได้แสดงธรรมนั้นแก่หมู่เทวดา มนุษย์ และสัตว์ ทรงสั่งสอนพระสาวกทั้งหลาย ให้เผยแผ่ธรรมแก่ชาวโลก เพื่อให้พ้นจากความมืดบอด พ้นจากความหลงผิด และชี้ทางที่ถูกที่ชอบ ให้พวกเราได้เดินตาม

   ในวันเพ็ญ ขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนแปด พระพุทธเจ้าตรัสกับพระสาวกว่า ;


   "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แต่อย่าได้ไปทางเดียวกันสองรูป ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ในโลกนี้ สัตว์พวกที่มีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุเบาบางยังมีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรม สัตว์พวกนั้นจึงเสื่อมเสียไป ผู้ที่รู้ทั่วถึงธรรมได้ยังจักมี แม้เราก็จักกระทำ"



   แม้พระพุทธเจ้าเองก็ยังตรัสว่า "เราเองก็จะไปเหมือนกัน" จะเห็นว่าทรงอุทิศตนเพื่อทำประโยชน์ เพื่อความสุขของผู้อื่นตลอดเวลา


   งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด หมายถึง ศีล สมาธิ ปัญญา รวมเรียกว่า ไตรสิกขา ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติสำคัญ ตามหลักพระพุทธศาสนา โดยมีเป้าหมายของการปฏิบัติธรรมคือ เพื่อทำลายความเห็นแก่ตัว อัตตา ตัวตน เมื่อจิตใจบริสุทธิ์แล้ว ธรรมชาติของจิตที่มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็จะปรากฏขึ้น สำหรับพระอรหันต์เมื่อหมดกิเลส มีจิตใจที่บริสุทธิ์แล้ว หน้าที่ในชีวิตทั้งหมด ก็เพื่อประโยชน์และความสุขของมหาชน การประกาศพระพุทธศาสนาจึงแสดงถึง หน้าที่ในชีวิต








"ให้" อะไรได้บ้าง


  
ดังที่กล่าวแล้วว่า เราทุกคนให้ได้โดยไม่จำกัด แต่จะต้องตั้งอยู่บนฐานของศีลธรรม ให้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์และทำให้ผู้อื่นมีความสุขเพิ่มขึ้น ไม่จำเป็นต้องมีทรัพย์สินเงินทองมากมายถึงจะให้ผู้อื่นได้ เพียงแค่มีเจตนาที่ดีและบริสุทธิ์ใจ ที่จะให้ตามกำลังของเรา ทุกคนก็สามารถเป็นผู้ให้ได้ ประเภทของทานที่ควรให้ ในทางพุทธศาสนา มีอยู่ ๔ อย่างด้วยกัน

   ๑.อามิสทาน คือ การให้วัตถุสิ่งของ พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ข้าว(อาหาร) และน้ำเป็นทรัพย์โดยปรมัตถ์ สิ่งอื่นเป็นทรัพย์โดยบัญญัติ" เพราะเกิดจากการสมมุติของคน ที่ทำให้เกิดความจำเป็น เช่น เงินทอง เพชรพลอย กินไม่ได้และไม่มีประโยชน์

   ๒.อภัยทาน คือ การยกโทษ ด้วยการไม่พยาบาทจองเวร เป็นทานที่ให้ได้ยากที่สุด โดยเฉพาะการให้อภัยศัตรู หรือผู้ที่ทำร้ายตนอย่างสาหัส

   ๓.วิทยาทาน คือ การให้ความรู้ทางโลก
 
   ๔.ธรรมทาน คือ การให้ความรู้ทางธรรม โดยเฉพาะความรู้ทางพุทธศาสนา  ได้ชื่อว่า ให้ทุกอย่าง
  
   จะเห็นว่ามีถึง ๓ ใน ๔ ประเภทของทาน ที่เราสามารถทำได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินทอง แต่ใช้จิตใจที่ดี ไม่มีพยาบาทในการทำ นั่นคือ อภัยทาน วิทยาทาน ธรรมทาน จริงๆแล้ว ทุกประเภทของทานนั้น มีประโยชน์ และช่วยค้ำจุนชีวิตคน ช่วยให้เขามีที่พึ่งอาศัยในชาตินี้ แต่ธรรมทานนั้นเป็นเลิศที่สุด เพราะช่วยให้เขารู้จักพึ่งตนเองได้ต่อไป ทั้งชาตินี้และชาติหน้าด้วย ส่วนอภัยทานนั้นทำได้ยากที่สุด

  
ในการทำทานให้เกิดผลบุญสูงสุดนั้น ตัวผู้ให้ต้องมีเจตนาที่จะให้ ด้วยความบริสุทธิ์ ซึ่งเจตนานั้น ต้องมีพร้อมทั้งสามระยะ นั่นคือ

   ๑.ระยะก่อนการให้ทาน

   ๒.ระยะที่กำลังให้ทาน

   ๓.ระยะหลังการให้ทาน

   ทั้งสามระยะเวลานี้ จำเป็นต้องมีจิตใจที่บริสุทธิ์ ร่าเริง และยินดีในทานที่ให้ไป โดยคิดว่าตัวผู้รับเองจะมีความสุขจากทานที่ตนเองได้สละให้ไป




   


   ทานจักร 10 ประการ หรือ การบำเพ็ญทาน 10 ประการ ได้แก่


   1. ให้ทานด้วยทรัพย์สินเงินทอง

   2.ให้ทานด้วยสายตาที่เมตตาปรานี

   3.ให้ทานด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส

   4.ให้ทานด้วยวาจาที่ไพเราะน่าฟัง

   5.ให้ทานด้วยแรงงานช่วยเหลือผู้อื่น

   6.ให้ทานด้วยการอนุโมทนายินดีเมื่อผู้อื่นทำดี

   7.ให้ทานด้วยการให้อาสนะ (ที่นั่ง)

   8.ให้ทานด้วยการให้ที่พักอันสะดวกสบาย

   9.ให้ทานด้วยการให้อภัย

   10.ให้ทานด้วยการให้ธรรมะ



   เมื่อมีศีล 5 เป็นพื้นฐาน และวงล้อแห่งทานนี้หมุนไปที่แห่งใด จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคม จะเกิดพลังแห่งการสร้างสรรค์ พลังที่จะร่วมกันผลักดันสังคมที่ดีงามให้เกิดขึ้น และนำความสุขสู่เพื่อนมนุษย์ในสังคมวงกว้าง ยังความสันติสุขให้เกิดขึ้นในโลก







ที่มา : หนังสือ "ธรรมให้สุขใจ" ของพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก




 

แสดงความคิดเห็น

>

4 ความคิดเห็น

ภลดา 16 พ.ย. 58 เวลา 06:11 น. 1-1

พระในที่นี้หมายถึงพระแท้นะคะไม่ใช่แค่แต่งกายเหมิอน

0
sarecowe 6 เม.ย. 57 เวลา 22:59 น. 2

ตอบคร่าวๆนะ...ในทางศาสนาพุทธ...การให้ทานจะให้ใครก็ได้ ไม่ได้เจาะจงต้องให้แต่เฉพาะกับพระ ถ้ามีคนเขาทุกข์ยากลำบาก เดือดร้อน ก็ต้องช่วยเหลือคนเหล่านั้นก่อน หรือแม้ในสัตว์เดรัจฉานก็ตาม ส่วนการจัดลำดับการให้ทานทำไมเอาพระไปไว้ลำดับต้นๆ เหตุผลมาจากอานิสงส์ของการให้ทานที่เราจะได้รับ คือเรียกง่ายๆ ว่าได้บุญแรงกว่ากัน แม้แต่ในกลุ่มพระเองยังมีอานิสงส์ผลบุญที่ต่างกันไป ในทักขิณาวิภังคสูตร (๑๔/๗๑๑) พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงผลการให้ทานว่า
๑. ให้ทานแก่สัตว์เดรัจฉานได้ผลร้อยเท่า
๒. ให้ทานแก่ปุถุชนผู้ทุศีลได้ผลพันเท่า
๓. ให้ทานแก่ปุถุชนผู้มีศีลได้ผลแสนเท่า
๔. ให้ทานแก่บุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกามได้ผลแสนโกฏิเท่า
๕. ให้ทานแก่ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง ได้ผลนับประมาณไม่ได้
๖. ถ้าให้ทานในพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธะ และพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผลยิ่งไม่อาจนับประมาณได้เลย
นี่แหละคือเหตุผลที่เอาพระไว้ลำดับต้นๆครับ.

0
Annop 20 มิ.ย. 58 เวลา 21:33 น. 3
สู้สู้ ผมจะพยายาม และทำความดีตลอดไป ถึงมันจะลำบากแค่ไหน ก็จะพยายามทำตลอดไป ขอบคุณสำหรับความดี ขอบคุณสำหรับคำสอนของเองพระพุทธเจ้า ขอบคุณมากครับ
0