Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

พรหมวิหาร 4 เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ไม่เกี่ยวกับความรักเพราะความรักคือกิเลสความรักคือกองทุกข์

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
ในวิสุทธิมรรค สมาธินิทเทส พรหมวิหารนิเทส แสดงลักษณะของเมตตาพรหมวิหารไว้ว่า
เมตตามีอาการประพฤติเกื้อกูลเป็นลักษณะ
มีการน้อมนำเข้าไปเกื้อกูลประโยชน์ในสัตว์เป็นรส
มีการบำบัดความอาฆาตเป็นปัจจุปัฏฐาน (อาการที่ปรากฏ)
มีการเห็นสัตว์เป็นที่ชอบใจ คือไม่โกรธเคือง ไม่ขุ่นเคืองในขณะนั้นเป็นปทัฏฐาน (เหตุใกล้)
มีการเข้าไปสงบความพยาบาทเป็นสมบัติ
มีความเสน่หาเป็นวิบัติ
ตามอัฏสาลินี อรรถกถา พระธัมมสังคณีปกรณ์ ทุกนิกเขปกถา เหตุโคจฉกะ พระบาลีนิทเทอโทสะ (1062) ได้แสดงลักษณะของเมตตาไว้ว่า
เมตตามีชื่อว่าไมตรี เนื่องจากเป็นกิริยาที่สนิทสนม
เมตตามีชื่อว่าการเอ็นดู เพราะคอยปกป้องคุมครอง
เมตตามีชื่อว่าความแสวงหาผลประโยชน์เกื้อกูล
เมตตามีชื่อว่าความสงสาร เนื่องจากคอยหวั่นไหวตามไปด้วย
ดังนั้น การจะแสดงว่ามีเมตตาต่อบุคคลใด จึงต้องมีลักษณะดังกล่าว ซึ่งหากว่าไม่ใช่อาการเหล่านี้ จิตขณะนั้นอาจเป็นโลภะ(ความรักหรือความหลง)หรือโทสะ(ความโกรธ)ซึ่งเป็นอกุศลจิต ไม่ใช่เมตตา


กรุณา ความปรารถนาให้ผู้อื่นหรือสรรพสัตว์พ้นทุกข์ หรือการเห็นผู้อื่นหรือสรรพสัตว์เป็นทุกข์หรือตกอยู่ในทุกข์แล้วทนอยู่ไม่ได้ ต้องหาทางช่วยเหลือเต็มที่ โดยไม่หวังผลตอบแทน เป็นหนึ่งในพรหมวิหารสี่ ความปรารถนาอยากให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ความปรารถนาให้สรรพสิ่งเป็นอิสระจากความทุกข์

กรุณาเป็นทางดับทุกข์ไม่ใช่ความรัก



มีมุทิตา คือเป็นคนไม่ริษยา ยอมรับในความดีและความสำเร็จของคนอื่น แสดงความชื่นชมยินดีกับความสำเร็จของคนอื่นได้ด้วยความเต็มใจ

มันคล้ายกับการวางเฉยกับตัวเองมากกว่าความรัก




อุเบกขา แปลว่า ความวางเฉย ความวางใจ เป็นกลาง
ความวางเฉยแบบวางใจเป็นกลางๆ โดยไม่เอนเอียงเข้าข้างเพราะชอบ เพราะชัง เพราะหลงและเพราะกลัว เช่นไม่เสียใจเมื่อคนที่ตนรักถึงความวิบัติ หรือไม่ดีใจเมื่อศัตรูถึงความวิบัติ มิใช่วางเฉยแบบไม่แยแสหรือไม่รู้ไม่ชี้ ทั้งๆ ที่สามารถช่วยเหลือได้เป็นต้น
ลักษณะของผู้มีอุเบกขา คือเป็นคนหนักแน่นมีสติอยู่เสมอ ไม่ดีใจไม่เสียใจจนเกินเหตุ เป็นคนยุติธรรม ยึดหลักความเป็นผู้ใหญ่ รักษาความเป็นกลางไว้ได้มั่นคงไม่เอนเอียงเข้าข้าง ปฏิบัติหน้าที่ด้วยเหตุผลถูกต้องคลองธรรม และเป็นผู้วางเฉยได้เมื่อไม่อาจประพฤติเมตตา กรุณา หรือมุทิตาได้

มันเกี่ยวกับความรักตรงส่วนไหน


การคิดพิจารณา เมื่อกิเลสเกิดขึ้นบางท่าน ก็ใช้วิธีการคิดพิจารณาเพื่อแก้กิเลส เช่น เมื่อเกิดความรักหรือความใคร่ในใครสักคนหนึ่ง ก็หยิบยก เอาบุคคลนั้นมาคิดพิจารณาว่าเป็นปฏิกูลหรือเป็น อสุภะ หรืออาจจะคิดพิจารณาตนเองลงเป็นธาตุเป็น ขันธ์ก็ได้ และเมื่อเกิดความโกรธใครสักคนหนึ่ง ก็ คิดพิจารณาว่าเขากับเราต่างก็เป็นเพื่อนร่วมทุกข์กัน มาพบกันไม่นานต่างก็ต้องตายจากกันแล้วต่างก็ต้องร่อนเร่ไปตามกรรมของตน หรือคิดว่าที่เขาทำ กับเราได้นั้นก็เพราะเรามีกรรมเก่าจึงต้องได้พบกับเขาซึ่งเป็นคนไม่ดี เป็นต้น

แสดงความคิดเห็น

>

2 ความคิดเห็น

อุเบกขา 19 พ.ย. 55 เวลา 14:26 น. 1

อุเบกขาเป็นหัวใจสูงสุดของการดับทุกข์
กิเลสตัวร้ายมี4ตัวคือ ความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง
กิเลสตัวดีมี3คือ เมตตา กรุณา มุทิตา

ผู้ที่จะอุเบกขาได้คือต้องไม่มี กิเลส 7ตัวนี้ ความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง เมตตา กรุณา มุทิตา

อุเบกขาคือทางสายกลาง คือใจเป็นกลางปราศจากความรู้สึกใดๆ

0
ทำไมกันน๊ะ 19 พ.ย. 55 เวลา 20:09 น. 2

[161] พรหมวิหาร 4 (ธรรมเครื่องอยู่อย่างประเสริฐ, ธรรมประจำใจอันประเสริฐ,
หลักความประพฤติที่ประเสริฐบริสุทธิ์,
ธรรมที่ต้องมีไว้เป็นหลักใจและกำกับความประพฤติ จึงจะชื่อว่าดำเนินชีวิตหมดจด
และปฏิบัติตนต่อมนุษย์สัตว์ทั้งหลายโดยชอบ - holy abidings; sublime states of
mind)
1. เมตตา (ความรักใคร่ ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข
มีจิตอันแผ่ไมตรีและคิดทำประโยชน์แก่มนุษย์สัตว์ทั่วหน้า - loving-kindness;
friendliness; goodwill)
2. กรุณา (ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์
ใฝ่ใจในอันจะปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนของปวงสัตว์ - compassion)
3. มุทิตา (ความยินดี ในเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข มีจิตผ่องใสบันเทิง
กอปรด้วยอาการแช่มชื่นเบิกบานอยู่เสมอ ต่อสัตว์ทั้งหลายผู้ดำรงในปกติสุข
พลอยยินดีด้วยเมื่อเขาได้ดีมีสุข เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป - sympathetic joy;
altruistic joy)
4. อุเบกขา (ความวางใจเป็นกลาง
อันจะให้ดำรงอยู่ในธรรมตามที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา
คือมีจิตเรียบตรงเที่ยงธรรมดุจตราชั่ง ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง
พิจารณาเห็นกรรมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว อันควรได้รับผลดีหรือชั่ว
สมควรแก่เหตุอันตนประกอบ พร้อมที่จะวินิจฉัยและปฏิบัติไปตามธรรม
รวมทั้งรู้จักวางเฉยสงบใจมองดู ในเมื่อไม่มีกิจที่ควรทำ
เพราะเขารับผิดชอบตนได้ดีแล้ว เขาสมควรรับผิดชอบตนเอง
หรือเขาควรได้รับผลอันสมกับความรับผิดชอบของตน - equanimity; neutrality; poise)

ผู้ดำรงในพรหมวิหาร ย่อมช่วยเหลือมนุษย์สัตว์ทั้งหลายด้วยเมตตากรุณา
และย่อมรักษาธรรมไว้ได้ด้วยอุเบกขา ดังนั้น
แม้จะมีกรุณาที่จะช่วยเหลือปวงสัตว์แต่ก็ต้องมีอุเบกขาด้วยที่จะมิให้เสียธรรม

พรหมวิหารนี้ บางทีแปลว่า ธรรมเครื่องอยู่ของพรหม,
ธรรมเครื่องอยู่อย่างพรหม, ธรรมประจำใจที่ทำให้เป็นพรหมหรือให้เสมอด้วยพรหม,
หรือธรรมเครื่องอยู่ของท่านผู้มีคุณยิ่งใหญ่ - (abidings of the Great Ones)

พรหมวิหาร 4 เรียกอีกอย่างว่า อัปปมัญญา 4 (unbounded states of mind;
illimitables) เพราะแผ่สม่ำเสมอโดยทั่วไปในมนุษย์สัตว์ทั้งหลาย ไม่มีประมาณ
ไม่จำกัดขอบเขต
พรหมวิหารมีในผู้ใด ย่อมทำให้ผู้นั้นประพฤติปฏิบัติเกื้อกูลแก่ผู้อื่น
ด้วยสังคหวัตถุเป็นต้น.


อนึ่ง ในการที่จะเข้าใจและปฏิบัติพรหมวิหาร 4 ให้ถูกต้อง
พึงทราบรายละเอียดบางอย่าง โดยเฉพาะสมบัติและวิบัติของธรรม 4 ประการนั้น ดังนี้
ก. ความหมายโดยวิเคราะห์ศัพท์
1. เมตตา = (มีน้ำใจ)เยื่อใยใฝ่ประโยชน์สุขแก่คนทั้งหลาย
หรือน้ำใจปรารถนาประโยชน์สุขที่เป็นไปต่อมิตร
2. กรุณา = ทำความสะเทือนใจแก่สาธุชน เมื่อคนอื่นประสบทุกข์
หรือถ่ายถอนทำทุกข์ของผู้อื่นให้หมดไป
หรือแผ่ใจไปรับรู้ต่อคนสัตว์ทั้งหลายที่ประสบทุกข์
3. มุทิตา = โมทนายินดีต่อผู้ประกอบด้วยสมบัติหรือผลดีนั้นๆ
4. อุเบกขา = คอยมองดูอยู่ โดยละความขวนขวายว่า
สัตว์ทั้งหลายจงอย่าผูกเวรกัน เป็นต้น และโดยเข้าถึงความเป็นกลาง

ข. ลักษณะ หน้าที่หรือกิจ (รส) ผลปรากฏ (ปัจจุปัฏฐาน) และปทัสถาน (เหตุใกล้)
1. เมตตา = (ในสถานการณ์ที่คนอื่นอยู่เป็นปกติ)
ลักษณะ = เป็นไปโดยอาการเกื้อกูลแก่คนสัตว์ทั้งหลาย
หน้าที่ = น้อมนำประโยชน์เข้าไปให้แก่เขา
ผลปรากฏ = กำจัดความอาฆาตแต้นเคืองให้ปราศไป
ปทัสถาน = เห็นภาวะที่น่าเจริญใจของคนสัตว์ทั้งหลาย
2. กรุณา = (ในสถานการณ์ที่คนอื่นตกทุกข์เดือดร้อน)
ลักษณะ = เป็นไปโดยอาการปลดเปลื้องทุกข์แก่คนสัตว์ทั้งหลาย
หน้าที่ = ไม่นิ่งดูดาย/ทนนิ่งอยู่ไม่ได้ต่อทุกข์ของคนสัตว์ทั้งหลาย
ผลปรากฏ = ไม่เบียดเบียน/อวิหิงสา
ปทัสถาน = เห็นภาวะไร้ที่พึ่ง/สภาพน่าอนาถของคนสัตว์ทั้งหลายที่ถูกทุกข์ครอบงำ
3. มุทิตา = (ในสถานการณ์ที่คนอื่นมีสุขสำเร็จหรือทำอะไรก้าวไปด้วยดี)
ลักษณะ = พลอยยินดี/ยินดีด้วย
หน้าที่ = ไม่ริษยา/เป็นปฏิปักษ์ต่อความริษยา
ผลปรากฏ = ขจัดความริษยา ความไม่ยินดีหรือความทนไม่ได้ต่อความสุขสำเร็จของผู้อื่น
ปทัสถาน = เห็นสมบัติ/ความสำเร็จของคนสัตว์ทั้งหลาย
4. อุเบกขา = (ในสถานการณ์รักษาธรรมตามความรับผิดชอบต่อกรรมที่เขาทำ)
ลักษณะ = เป็นไปโดยอาการเป็นกลางต่อคนสัตว์ทั้งหลาย
หน้าที่ = มองเห็นความเสมอภาคกันในคนสัตว์ทั้งหลาย
ผลปรากฏ = ระงับความขัดเคืองเสียใจและความคล้อยตามดีใจ
ปทัสถาน = มองเห็นภาวะที่ทุกคนเป็นเจ้าของกรรมของตนว่า สัตว์ทั้งหลายจักได้สุข
พ้นทุกข์ ไม่เสื่อมจากสมบัติที่ได้ที่ถึง ตามใจชอบได้อย่างไร

ค. สมบัติ (ความสมบูรณ์หรือความสัมฤทธิ์ผล) และวิบัติ (ความล้มเหลว
หรือการปฏิบัติผิดพลาด ไม่สำเร็จผล)
1. เมตตา: สมบัติ = สงบหายไร้ความแค้นเคืองไม่พอใจ
วิบัติ = เกิดเสน่หา
2. กรุณา: สมบัติ = สงบหายไร้วิหิงสา
วิบัติ = เกิดความโศกเศร้า
3. มุทิตา: สมบัติ = สงบหายไร้ความริษยา
วิบัติ = เกิดความสนุกสนาน
4. อุเบกขา: สมบัติ = สงบหายไม่มีความยินดียินร้าย
วิบัติ = เกิดความเกิดความเฉยด้วยไม่รู้ (เฉยโง่ เฉยเมย เฉยเมิน)

ง. ข้าศึก คือ อกุศลซึ่งเป็นศัตรูคู่ปรับที่จะทำลายหรือทำธรรมนั้นๆ
ให้เสียไป
1. เมตตา: ข้าศึกใกล้ = ราคะ
ข้าศึกไกล = พยาบาท คือความขัดเคืองไม่พอใจ
2. กรุณา: ข้าศึกใกล้ = โทมนัส คือความโศกเศร้าเสียใจ
ข้าศึกไกล = วิหิงสา
3. มุทิตา: ข้าศึกใกล้ = โสมนัส (เช่น ดีใจว่าตนจะพลอยได้รับผลประโยชน์)
ข้าศึกไกล = อรติ คือความไม่ยินดี ไม่ใยดี ริษยา
4. อุเบกขา: ข้าศึกใกล้ = อัญญาณุเบกขา (เฉยไม่รู้เรื่อง เฉยโง่ เฉยเมย)
ข้าศึกไกล = ราคะ (ความใคร่) และปฏิฆะ (ความเคือง) หรือชอบใจและขัดใจ

จ. ตัวอย่างมาตรฐาน ที่แสดงความหมายของพรหมวิหารได้ชัด
ซึ่งคัมภีร์ทั้งหลายมักยกขึ้นอ้าง
1. เมื่อลูกยังเล็กเป็นเด็กเยาว์วัย
แม่ - เมตตา รักใคร่เอาใจใส่ ถนอมเลี้ยงให้เจริญเติบโต
2. เมื่อลูกเจ็บไข้เกิดมีทุกข์ภัย
แม่ - กรุณา ห่วงใยปกปักรักษา หาทางบำบัดแก้ไข
3. เมื่อลูกเจริญวัยเป็นหนุ่มสาวสวยสง่า
แม่ - มุทิตา พลอยปลาบปลื้มใจ หรือหวังให้ลูกงามสดใสอยู่นานเท่านาน
4. เมื่อลูกรับผิดชอบกิจหน้าที่ของตนขวนขวายอยู่ด้วยดี
แม่ - อุเบกขา มีใจนิ่งสงบเป็นกลาง วางเฉยคอยดู

พึงทราบด้วยว่า
ฉันทะ คือ กัตตุกัมยตาฉันทะ (ความอยากจะทำให้ดี
หรือความต้องการที่จะทำให้คนสัตว์ทั้งหลายดีงามสมบูรณ์ปราศจากโทษข้อบกพร่อง เช่น
อยากให้เขาประสบประโยชน์สุข พ้นจากทุกข์เป็นต้น) เป็นจุดตั้งต้น (อาทิ)
ของพรหมวิหารทั้ง 4 นี้
การข่มระงับกิเลส (เช่นนิวรณ์) ได้ เป็นท่ามกลาง
สมาธิถึงขั้นอัปปนา (คือ ภาวะจิตที่มั่นคงเรียบรื่นสงบสนิทดีที่สุด)
เป็นที่จบของพรหมวิหารทั้ง 4 นั้น

D.II.196; D.III.220; Dhs.262; Vism.320.
ที.ม. 10/184/225;
ที.ปา. 11/228/232;
อภิ.สํ. 34/190/75;
วิสุทธิ. 2/124

0