Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ปัญหาเด็กโดดเรียนและหนีเรียน

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

ปัญหาเด็กโดดเรียนและหนีเรียน

 ส่วนมากในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายหนีโรงเรียนไปที่ยวกันถูกจับได้ นักข่าวได้สอบถามนักเรียน หลายคนบอกว่าไปเที่ยวกับเพื่อนบ้าง แฟนบ้าง บางคนบอกเบื่อครู เรียนทั้งวัน เครียดกดดันเนื้อหาไม่น่าสนใจ และอื่นๆ ทางโรงเรียนก็ได้แค่บอกว่าโรงเรียนทำได้อย่างมากแค่ดุว่ากล่าวตักเตือน ลงโทษตีไม่ได้เพราะเป็นเรื่องสิทธิเด็ก
ทำไมเด็กไม่ชอบโรงเรียน หนีเรียน ไม่มีความสุขในโรงเรียน น่าจะเป็นโจทย์ใหญ่ของการศึกษาไทยในยุคปัจจุบัน มุมมองในอดีต เรามักจะโทษการหนีโรงเรียนไปเที่ยวข้างนอกว่า เป็นเด็กเกเร ไม่รักดี ขี้เกียจ ขาดความรับผิดชอบ เอาแต่เที่ยว เป็นปัญหาพฤติกรรมของเด็กเป็นหลัก
  
      ในปี พ.ศ.2551 โครงการไชลด์วอทช์ (Child Watch)ก่อตั้งโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยมี  ศ.ดร.สวัสดิ์ ตันตระรัตน์เป็นผู้อำนวยการ ค้นพบว่าสถานการณ์และปัญหาเด็กและเยาวชน 5 เรื่องใหญ่ คือ
1. เด็กขาดความสุขไม่ชอบไปโรงเรียน
2. การตั้งครรภ์ของเด็กวัยรุ่นหญิง
3. คุกเด็กสถานพินิจล้น
4. เด็กอ้วน
5. เด็กติดเกม อินเตอร์เน็ต มือถือ
           
          ผู้ตั้งประเด็นเรื่องนี้ค่อนข้างแปลกใจมากเด็กมีอาการเบื่อเรียนเร็วมาก โรงเรียนพึ่งเปิดได้ไม่นาน เด็กก็เริ่มหนีเรียนกันแล้ว ก็ได้ทำการวิจัยไปสำรวจเด็กมาพบว่าในแต่ละวันอย่างน้อยจะพบเด็กหนีเรียนเพิ่มมากขึ้นทุกวันตามแหล่งมั่วสุมต่างๆ ภาพเด็กนักเรียนมัธยมศึกษาใส่ชุดนักเรียนชายหญิง เดินจับมือถือแขนกันเป็นคู่ๆ แทนภาพนิสิตนักศึกษามากยิ่งขึ้น
 เกิดอะไรขึ้นจากสภาพสังคมไทย โรงเรียนมิใช่คำตอบ สถาบันที่เตรียมสร้างและหล่อหลอมเด็กไทยให้มีคุณภาพต่อไปใช่หรือไม่ ครูดูแลเด็กเพิ่มมากขึ้น ลดลง หรือทำภารกิจอื่นที่สำคัญกว่า เด็กทำผิดเกิดจากเรียกร้องสิทธิเด็กมากเกินไปหรือเปล่า ผู้เขียนจะพยายามอธิบายปรากฏการณ์เด็กหนีโรงเรียนตามข้อค้นพบจากงานวิจัยดังต่อไปนี้
 
       
                 1. นิสัยและทัศนคติต่อการเรียนของเด็กไม่ชัดเจน เด็กไม่ทราบว่าตัวเองชอบอะไร ต้องการประกอบอาชีพอะไรในอนาคต ค่อนข้างเลื่อนลอย ขาดเป้าหมายและความมุ่งมั่นของการเรียนรู้เพื่ออะไร เด็กจึงคิดแต่ว่าเรียนไปวันๆ ไม่มีชีวิตชีวา เมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่นจะเริ่มสนใจสังคมเพื่อน การเข้าสู่เรื่องเพศจากสื่อต่างๆ การใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อพูดคุย ดูภาพโป๊ ความบันเทิงและอื่นๆ เมื่อเพื่อนชักชวนโดดเรียนจึงแทบไม่คิดไรเพราะพ้นจากโรงเรียนคือความอิสระ ทำอะไรที่ตัวเองต้องการได้อย่างเต็มที่ มีเพื่อนต่างเพศ คู่รัก สังคมที่พูดภาษาเดียวกัน มีความเข้าใจตรงกัน รสนิยมเหมือนกัน มีความสุขในสังคมเพื่อนและสิ่งแวดล้อมที่เปิดโอกาสให้ทำอะไรก็ได้ เช่น สวนสัตว์ สวนสาธารณะจึงเป็นที่เดินเที่ยวจูงมือกัน มีมุมธรรมชาติไว้พลอดรัก พูดคุยสนุกสนานได้ ไปเที่ยวห้างสรรพสินค้า เดินดูของ เล่นเกม   ดูหนัง สำรวจมือถือ เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพลิดเพลินเจริญตา ไม่น่าเบื่อหน่าย เป็นต้น
                         
                 2. ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนเปลี่ยนบทบาทไป ครูทุ่มเท เอาใจใส่ ช่วยติดตามแก้ไขปัญหา ตักเตือนดุด่าว่ากล่าว ตีลดลง ดูแลเด็กตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับกำหนดมา คือ สอนหนังสือให้ครบตามคาบเวลา ตักเตือนเด็กให้ตั้งใจเรียน มีความประพฤติเหมาะสม ถ้าต้องลงโทษเฆี่ยนตีทำไม่ได้ เมื่อเตือนแล้วไม่เชื่อฟังก็ต้องเป็นเรื่องของเด็กและครอบครัวจัดการกันเอง ความสัมพันธ์ -      ในเชิงกัลยาณมิตรกับศิษย์จึงลดลงยิ่งปัจจุบันครูไม่น้อยมาทำงานเอกสารด้านวิชาการรายงานการวิจัยกันมาก เพื่อเพิ่มวิทยฐานะความก้าวหน้าของตนเอง การทุ่มเทเพื่อศิษย์จึงลดลงไปเป็นอันมาก ยิ่งพ่อแม่ผู้ปกครองมัวแต่ทำงานหาเงินกันตลอดเวลา มีเวลาน้อยจึงปรนเปรอลูกด้วยวัตถุนิยม เมื่อลูกทำผิด ถูกครูทำโทษจึงมักปกป้องสิทธิลูกเกินกว่าเหตุ กล่าวโทษครูจนปรากฏเป็นข่าว สุดท้ายเด็กนักเรียนจึงถูกทอดทิ้งทั้งจากครูและพ่อแม่ไปโดยไม่รู้ตัว และค่อยๆ ถูกผลัก หนีเรียน
                         
                3. กระบวนการสอนของครูตามระบบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2251  ครูยังสอนเน้นการบรรยาย เน้นความจำตามหนังสือ 8 กลุ่มสาระ 67 มาตรฐาน อัดแน่นเชิงเนื้อหาวิชาตลอดทั้งวัน วันละ 6 - 7 คาบ ในเนื้อหา 8 กลุ่มพบว่า เนื้อหาทางด้านสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ การงานอาชีพและเทคโนโลยีตกยุคและล้าสมัยเป็นอย่างยิ่ง ขาดความน่าสนใจเป็นที่สุด
                           
                 4. การกวดวิชาอย่างเอาเป็นเอาตายของนักเรียน ค่านิยมของเด็กและผู้ปกครองต้องการให้ลูกสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงได้ การกวดวิชาแทบทุกวัน เสาร์อาทิตย์ก็ยังไม่เว้น เพื่อเรียนเทคนิคการทำข้อสอบ ทำให้เด็กไม่ได้พักผ่อน สนุกสนาน ทำกิจกรรมตามวัยที่ควรจะเป็นถูกบังคับให้เรียนตาม 8 กลุ่มสาระ มีคะแนนเฉลี่ย GPAX สูงไว้เพื่อได้เปรียบผู้อื่นๆ เด็กรู้ว่าจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้มาหาเทคนิคที่โรงเรียนกวดวิชาดีกว่าที่โรงเรียน ที่โรงเรียนเรียนบ้าง โดดบ้าง โรงเรียนก็ปล่อยเกรดอยู่แล้ว
 
           การโดดเรียน หนีเรียนจึงเป็นปฏิกิริยาต่อต้านระบบบังคับชีวิตนักเรียนจนเกินไป หาพื้นที่เพื่อนเพื่อปลดปล่อยตนเองบ้าง ทำชีวิตให้ผ่อนคลายขึ้น เพราะแบกค่านิยมและความต้องการของคนอื่นมาโดยตลอด
 
           การหนีเรียนยังมีสาเหตุอีกหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้น มีปัญหากับเพื่อน ครูบางคน ผู้บริหารที่เข้มงวดจนเกินไป และอื่นๆ การแก้ไข คือ โรงเรียนต้องมีบรรยากาศที่ร่มรื่น ความสัมพันธ์ใกล้ชิด ผู้บริหารกล้าคิดนอกกรอบ เปิดโรงเรียนให้ระบบหลักสูตรเกิดความเชื่อมโยงกับการเรียนรู้ภายนอกมากยิ่งขึ้น มีโครงงาน กิจกรรมต่างๆ ที่หลากหลายตามความสนใจ ครูกับพ่อแม่พูดคุยปรึกษาหารือกัน แก้ปัญหาและให้คำแนะนำเป็นรายบุคคลได้ สอนเด็กให้รู้จักสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ และจิตสำนึก เติมเต็มในเรื่องทักษะชีวิตและภูมิต้านทาน

 



แก้ไขครั้งที่ 1 เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2556 / 21:26
แก้ไขครั้งที่ 2 เมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2556 / 20:34

แสดงความคิดเห็น

>

9 ความคิดเห็น

bosslnw 13 ธ.ค. 56 เวลา 16:57 น. 4
ลักษณะการเรียนการสอนที่ดี*

แนวคิดของ Haward Gardner และการวิจัยของ Dale Edgar ทำให้เราประมวลลักษณะการเรียนการสอนที่ดี เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผล ผู้มีอาชีพครูควรนำมาประยุกต์ใช้ ดังนี้:

ต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล
เน้นความต้องการของผู้เรียนเป็นหลัก
ต้องพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เรีย
ต้องเป็นที่น่าสนใจ ไม่ทำให้ผู้เรียนรู้สึกเบื่อหน่าย
ต้องดำเนินไปด้วยความเมตตากรุณาต่อผู้เรียน
ต้องท้าทายให้ผู้เรียนอยากเรียนรู้
ต้องตระหนักถึงเวลาที่เหมาะสมที่ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้
ต้องสร้างสถานการณ์ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ โดยการปฏิบัติจริง
ต้องสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้
ต้องมีจุดมุ่งหมายของการสอน
ต้องสามารถเข้าใจผู้เรียน
ต้องคำนึงถึงภูมิหลังของผู้เรีย
ต้องไม่ยึดวิธีการใดวิธีการหนึ่งเท่านั้น
การเรียนการสอนที่ดีเป็นพลวัตร (Dynamic) กล่าวคือ มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งในด้านการจัดกิจกรรม การสร้างบรรยากาศ รูปแบบ เนื้อหา สาระ เทคนิค วิธี ฯลฯ
ต้องสอนในสิ่งที่ไม่ไกลตัวผู้เรียนมากเกินไป
ต้องมีการวางแผนการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ
0
bosslnw 13 ธ.ค. 56 เวลา 16:57 น. 5
ความหมายและเจ้าของอำนาจอธิปไตย

คำว่า “Power” คือ สิทธิหรือความสามารถที่จะทำการหรืองดเว้นทำการใดได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
คำว่า “Authority” คือ อำนาจที่ได้รับมอบหมาย
อำนาจเป็นสิ่งสำคัญในทางการเมือง ในทางรัฐศาสตร์นั้นกล่าวกันว่า “การเมืองเป็นการต่อสู้เพื่ออำนาจ”
คำว่า “อำนาจอธิปไตย” เป็นคำที่เพิ่งเรียกกันในสมัยศตวรรษที่ 16 นี้เอง แต่เดิมเคยเรียกกันว่า อำนาจสูงสุด
วิวัฒนาการของการอ้างความเป็นเจ้าของอำนาจ มีหลายทฤษฎี เช่น 

(1) ทฤษฎีว่าด้วยความมีอำนาจสูงสุดของพระผู้เป็นเจ้า 
(2) ทฤษฎีว่าด้วยความมีอำนาจสูงสุดของพระสันตะปาปา 
(3) ทฤษฎีว่าด้วยความมีอำนาจสูงสุดของกษัตริย์ 
(4) ทฤษฎีว่าด้วยความมีอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ 
(5) ทฤษฎีว่าด้วยความมีอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน 
บุคคลแรกที่ใช้คำว่า “อำนาจอธิปไตย” ในความหมายทางการเมืองดังที่เข้าใจในปัจจุบันคือ นักปรัชญาการเมืองชาวฝรั่งเศสชื่อ ฌอง โบแดง ซึ่งในวรรณกรรม 6 เล่ม ว่าด้วยรัฐ ได้อธิบายไว้พอสรุปได้ดังนี้ 
- อำนาจอธิปไตย คืออำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ 
- อำนาจอธิปไตยเป็นของรัฐ มิใช่ของราษฎร 
- ผู้ใช้อำนาจอธิปไตยควรเป็นพระมหากษัตริย์ ซึ่งทางเป็นรัฏฐาธิปัตย์ 
- รัฏฐาธิปัตย์ คือผู้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน สามารถออกคำสั่งให้ราษฎรปฏิบัติตามได้ แต่ตนไม่อยู่ใต้ คำสั่งของผู้ใด
บุคคลต่อมาผู้สนับสนุนทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของรัฐ คือ โธมัส ฮอบส์
รัฐธรรมนูญของประเทศที่ยอมรับทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ คือ รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส รัฐธรรมนูญเบลเยี่ยม รัฐธรรมนูญไวมาร์ของเยอรมัน รัฐธรรมนูญเชโกสโลวาเกีย ฯลฯ
ลักษณะของอำนาจอธิปไตย

อำนาจอธิปไตย มีลักษณะสำคัญดังนี้ 
- ความเด็ดขาด - ความถาวร 
- ความครอบคลุมทั่วไป - ความไม่อาจถูกแบ่งแยกได้
อำนาจอธิปไตยเป็นองค์ประกอบประการหนึ่งของรัฐ ถ้าไม่มีอยู่ในสังคม สังคมนั้นก็ไม่เรียกว่า “รัฐ”
อำนาจอธิปไตยนั้น ไม่อาจถูกแบ่งแยกกันออกเป็นหลายเจ้าของได้ ถ้าแบ่งกันเป็นเจ้าของ รัฐเดิมก็สูญสลายหรือต้องแยกออกเป็นสองรัฐ เช่น เกาหลี แบ่งออกเป็นเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้
การแบ่งแยกอำนาจ 

1. การแบ่งแยกอำนาจนี้น่าจะมีมาแต่สมัยกรีกแล้ว ดังที่อริสโตเติลเองได้จำแนกอำนาจหน้าที่ของรัฐออกเป็นองค์การปกครองต่างๆ กัน เช่น

สภาประชาชน
ศาลประชาชน
คณะมนตรีผู้บริหารรัฐ 
2. ปรัชญาเมธีที่สำคัญที่สุดที่พูดถึงการแยกอำนาจ คือ มองเตสกิเออ (Montesquieu) ได้ใช้เวลาศึกษาการเมืองอยู่ที่อังกฤษนานถึงปีครึ่ง จนเกิดแรงบันดาลใจให้เรียบเรียงวรรณกรรมสำคัญเล่มหนึ่ง คือ “เจตนารมณ์แห่งกฎหมาย” (Esprit des lois) โดยได้อธิบายว่าในรัฐจะมีอำนาจอยู่ 3 อย่าง คือ

อำนาจนิติบัญญัติ
อำนาจปฎิบัติการ ซึ่งขึ้นอยู่กับกฎหมายมหาชน (สมัยนี้เรียกว่า อำนาจบริหาร)
อำนาจปฏิบัติการต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับกฎหมายแพ่ง (สมัยนี้เรียกว่า อำนาจตุลาการ)
3. ในการแบ่งแยกอำนาจนั้น มองเตสกิเออได้ให้หลักเกณฑ์ไว้เพียงว่า

หัวใจของการแบ่งแยกอำนาจอยู่ที่ว่า อย่าให้มีการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ที่องค์กรเดียว
การแบ่งแยกอำนาจคือ การแบ่งแยกองค์กรแยกย้ายกันทำหน้าที่ เพื่อเป็นหลักประกันคุ้มครองราษฎร
จะแบ่งแยกอำนาจออกเป็นกี่องค์กร อยู่ที่สภาพแห่งกิจการ
4. รัฐบาลไทย ไม่เคยยอมรับหลักการแบ่งแยกอำนาจที่เคร่งครัดหรือเด็ดขาด โดยมีหลักฐานปรากฏดังนี้

รัฐธรรมนูญยอมให้รัฐสภามีอำนาจควบคุมการบริหารงานของรัฐบาล
รัฐธรรมนูญยอมให้คณะรัฐมนตรีเสนอร่างพระราชบัญญัติได้ และออกกฎหมายบางประเภทได้
รูปแบบของการใช้อำนาจอธิปไตย

1. การใช้อำนาจอธิปไตย มีหลายรูปแบบ ดังนี้

กรณีองค์กรเดียวเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย
กรณีฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารใช้อำนาจโดยองค์กรเดียวกัน
กรณีฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการใช้อำนาจโดยองค์กรเดียวกัน
กรณีแบ่งแยกองค์กรซึ่งทำหน้าที่ต่างๆ ออกจากกันอย่างเกือบเด็ดขาด
กรณีแบ่งแยกองค์กรซึ่งทำหน้าที่ต่างๆ ออกจากกัน แต่ให้เกี่ยวข้องกันได้มากขึ้น
2. กรณีการแบ่งแยกองค์กรซึ่งทำหน้าที่ต่างๆ ออกจากกันเกือบเด็ดขาดนั้น รูปแบบนี้ใช้กับประเทศในระบบประธานาธิบดี

3. กรณีการแบ่งแยกอำนาจประเภทแบ่งแยกองค์กรซึ่งทำหน้าที่ต่างๆ ออกจากกัน แต่ให้เกี่ยวข้องกัน รูปแบบนี้อยู่ใช้อยู่ในประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภา เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ไทย

4. “เป็นที่รู้กันอยู่ชั่วนิรันดรแล้วว่า คนเราทุกคนที่มีอำนาจชอบใช้อำนาจเกินกว่าที่ควร จนกว่าจะประสบอุปสรรคใดขวางจึงจะหยุดยั้ง อย่าว่าแต่อะไรเลย แม้แต่คุณธรรมยังต้องมีขอบเขต” เป็นคำกล่าวของนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ “มองเตสกิเออ”
0
นายสุเทพ 30 พ.ย. 58 เวลา 16:55 น. 7

ที่อุบลราชธานีน่ะครับ....
ผมเรียนเสร็จแล้ว จะรอไปขึ้นรถโดยสารกลับบ้านผมเลยสอบถามเด็กโรงเรียนนารีนุกูลว่า
น้องครับ พี่ถามหน่อยว่าแต่ละครั้งที่น้องออกจากโรงเรียนนี่น้องไปไหนกันครับ?
น้องเค้าก็ตอบผมว่า "หนูไปเดินเล่นในSKค่ะ" โถๆ พ่อแม่ส่งมาเรียนนะครับ
ไม่ใช่ไปเดินห้างเย็นๆ พอกลับบ้านก็มาหาขอเงินคนนั้นคนนี้เพื่อหาเงินกลับบ้าน
เพราะเงินที่ได้มานั้นซื้อของในห้างไปหมดแล้วด้วยซ้ำ ผมถามอีกครั้ง
น้อง น้อง ทำไมไปทำนิสัยแบบนี้ล่ะครับ? น้องเค้าก็ตอบว่า "ไม่มีตังค์ไงคะพี่"
แทนคำตอบ "พี่ว่าน้องเอาเงินไปเที่ยวหมดกระเป๋าน่ะสิครับ ถึงมาขอเอาหยอยๆแบบนี้"
....พี่ก็ไมมีตังค์จะให้น้องแล้ว เดินกลับเอาเถอะครับ (โกหกเด็กเค้า)
เด็กโรงเรียนนารีนุกูลนี่ชำนาญการหลบเรียนจริงๆ555+

0
741767 18 พ.ค. 60 เวลา 12:21 น. 8

ผมเป็นนักเรียนคนหนึ่งที่ขี้เกียจ หัวข้อเรื่องการโดดเรียนคงไม่มีใครสนใจหนักหรอก

ผมแค่จะบอกว่าผมยังหาทางเดินที่ผมกำหนดเองไม่ได้ ผมเป็นเด็กที่ขี้เกียจ บทเรียนของชีวิตสอนผม

แต่ผมไม่เคยจำ และทำสิ่งที่มันไม่ดีต่อไป ผมก็ไม่รู้ว่าทำไมผมถึงได้เขียนมันขึ้นมา เพราะขณะนี้ผมก็กำลังโดดเรียน ผมเป็นเด็กมีปัญหา ปัญหาพวกนี้ผมสร้างขึ้น แต่ผมไม่เคยแก้ไข ทุกคนคิดว่าผมเป็นคนชั่วไหมคับ แน่นอนทุกคนคงต้องคิด ว่าผมเป็นเด็กไม่ดี

ผมไปล่ะ................................

0

ความคิดเห็นนี้ถูกลบ

มีข้อความหยาบคาย ใช้ภาษาไม่เหมาะสม