Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ธรรมเนื่องด้วย "ปฏิจจสมุปบาท"

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
ทรงแสดงธรรมเนื่องด้วยปฏิจจสมุปบาทมีความงามเบื้องต้น - ท่ามกลาง - เบื้องปลาย


ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เราจักแสดงธรรมอันมีความไพเราะในเบื้องต้นไพเราะในทางมกลาง ไพเราะในเบื้องปลาย แก่พวกเธอทั้งหลาย : จักประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง; กล่าวคือธรรมหมวดละหก ๖ หมวด. พวกเธอทั้งหลายจงฟังซึ่งธรรมนั้น, จงทำในใจให้สำเร็จประโยชน์, เราจักกล่าวบัดนี้. .....

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย!
(๑) อายตนะทั้งหลายหก อันเป็นภายใน เป็นสิ่งที่ควรรู้,
(๒) อายตนะ ทั้งหลายหก อันเป็นภายนอก เป็นสิ่งที่ควรรู้,
(๓) หมู่แห่งวิญญาณทั้งหลายหก เป็นสิ่งที่ควรรู้,
(๔) หมู่แห่งผัสสะ ทั้งหลายหกเป็นสิ่งที่ควรรู้,
(๕) หมู่แห่งเวทนา ทั้งหลายหก เป็นสิ่งที่ควรรู้,
(๖) หมู่แห่งตัณหา ทั้งหลายหก เป็นสิ่งที่ควรรู้,

(๑) คำอันเรากล่าวแล้วอย่างนี้ว่า "อายตนะทั้งหลายหกอันเป็นภายใน เป็นสิ่งที่ควรรู้" ดังนี้นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวเล่า? อายตนะคือ ตา มีอยู่, อายตนะคือ หู มีอยู่,อายตนะคือ จมูก มีอยู่, อายตนะคือ ลิ้น มีอยู่, อายตนะคือ กาย มีอยู่, อายตนะคือใจ มีอยู่. ข้อที่เรากล่าวว่า "อายตนะทั้งหลายหก อันเป็นภายใน เป็นสิ่งที่ควรรู้" ดังนี้นั้นเราอาศัยสิ่งเหล่านี้เองกล่าว. นี้คือ ธรรมหมวดละหก หมวดที่หนึ่ง.
(๒) คำอันเรากล่าวแล้วอย่างนี้ว่า "อายตนะทั้งหลายหกอันเป็นภายนอกเป็นสิ่งที่ควรรู้" ดังนี้นั้นเราอาศัยอะไรกล่าวเล่า? อายตนะคือ รูป มีอยู่, อายตนะคือ เสียง มีอยู่, อายตนะคือ กลิ่น มีอยู่, อายตนะคือ รส มีอยู่, อายตนะคือ โผฏฐัพพะมีอยู่, อายตนะคือ ธัมมารมณ์ มีอยู่. ข้อที่เรากล่าวว่า "อายตนะทั้งหลายหก อันเป็นภายนอก เป็นสิ่งที่ควรรู้" ดังนี้นั้น เราอาศัยสิ่งเหล่านี้เองกล่าว. นี้คือ ธรรมหมวดละหก หมวดที่สอง.
(๓) คำอันเรากล่าวแล้วอย่างนี้ว่า "หมู่แห่งวิญญาณทั้งหลายหก เป็นสิ่งที่ควรรู้" ดังนี้นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวเล่า? เพราะอาศัยซึ่งจักษุด้วย รูปทั้งหลายด้วย จึงเกิดจักขุวิญญาณ; (ในกรณีแห่งโสตะที่จะให้เกิดโสตวิญญาณก็ดี ฆานะที่จะให้เกิดฆานวิญญาณก็ดี ชิวหา ที่จะให้เกิดชิวหาวิญญาณก็ดี กายะที่จะให้เกิดกายวิญญาณก็ดี และมนะที่จะให้เกิดมโนวิญญาณก็ดี ก็มีข้อความอย่างเดียวกัน). ข้อที่เรากล่าวว่า "หมู่แห่งวิญญาณทั้งหลายหกเป็นสิ่งที่ควรรู้" ดังนี้นั้น เราอาศัยสิ่งเหล่านี้เองกล่าว. นี้คือ ธรรมหมวดละหก หมวดที่สาม.
(๔) คำอันเรากล่าวแล้วอย่างนี้ว่า "หมู่แห่งผัสสะทั้งหลายหก เป็นสิ่งที่ควรรู้"ดังนี้นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวเล่า? เพราะอาศัยซึ่งจักษุด้วย รูปทั้งหลายด้วย จึงเกิดจักขุวิญญาณ; การประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการ (จักษุ + รูป + จักขุวิญญาณ)นั่นคือ ผัสสะ; (ในกรณีแห่งโสตะที่จะให้เกิดโสตสัมผัสก็ดี ฆานะที่จะให้เกิดฆานสัมผัสก็ดี เป็นต้นจนกระทั่งถึงมโนที่จะให้เกิดมโนสัมผัสก็ดี ก็มีข้อความอย่างเดียวกัน). ข้อที่เรากล่าวว่า "หมู่แห่งผัสสะทั้งหลายหก เป็นสิ่งที่ควรรู้" ดังนี้นั้น เราอาศัยสิ่งเหล่านี้เองกล่าว. นี้คือ ธรรมหมวดละหก หมวดที่สี่.
(๕) คำที่เรากล่าวแล้วอย่างนี้ว่า "หมู่แห่งเวทนาทั้งหลายหก เป็นสิ่งที่ควรรู้"ดังนี้นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวเล่า? เพราะอาศัยซึ่งจักษุด้วย รูปทั้งหลายด้วยจึงเกิดจักขุวิญญาณ; การประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการ (จักษุ + รูป + จักขุวิญญาณ)นั่นคือ ผัสสะ; เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา;
(ในกรณีแห่งโสตะที่จะให้เกิดโสตสัมผัสสชาเวทนาก็ดี ฆานะที่จะให้เกิดฆานสัมผัสสชาเวทนาก็ดี เป็นต้น จนกระทั่งถึงมนะที่จะให้เกิด มโนสัมผัสสชาเวทนาก็ดี ก็มีข้อความอย่างเดียวกัน). ข้อที่เรากล่าวว่า "หมู่แห่งเวทนาทั้งหลายหกเป็นสิ่งที่ควรรู้" ดังนี้นั้น เราอาศัยสิ่งเหล่านี้เองกล่าว. นี้คือ ธรรมหมวดกละหก หมวดที่ห้า.
(๖) คำที่เรากล่าวแล้วอย่างนี้ว่า "หมู่แห่งตัณหาทั้งหลายหก เป็นสิ่งที่ควรรู้"ดังนี้นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวเล่า? เพราะอาศัยซึ่งจักษุด้วย รูปทั้งหลายด้วย จึงเกิดจักขุวิญญาณ การประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการ (จักษุ + รูป + จักขุวิญญาณ) นั่นคือผัสสะ, เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา;
เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา;(ในกรณีแห่งการเกิดสัททตัณหาก็ดี คันธตัณหาก็ดี รสตัณหาก็ดี โผฏฐัพพตัณหาก็ดี ธัมมตัณหาก็ดี ก็มีข้อความอย่างเดียวกัน). ข้อที่เรากล่าวว่า "หมู่แห่งตัณหาทั้งหลายหก เป็นสิ่งที่ควรรู้" ดังนี้นั้นเราอาศัยสิ่งเหล่านี้เองกล่าว. นี้คือ ธรรมหมวดละหก หมวดที่หก.

ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า "จักษุ เป็นอัตตา", คำกล่าวเช่นนั้น ย่อม ไม่เข้าถึง(ซึ่งฐานะแห่งเหตุผล); เพราะว่าความเกิดก็ดี ความเสื่อมก็ดี ของจักษุ ปรากฏอยู่.

ก็เมื่อความเกิดก็ดี ความเสื่อมก็ดี ของสิ่งใด ปรากฏอยู่, คำที่ควรกล่าวสำหรับสิ่ง(จักษุ)นั้น ก็ควรจะต้องเป็นอย่างนี้ว่า "อัตตาของเรา ย่อมเกิดขึ้นด้วย ย่อมเสื่อมไปด้วย"ดังนี้; เพราะฉะนั้น คำกล่าวของผู้ที่กล่าวว่า "จักษุ เป็นอัตตา" ดังนี้นั้นจึงไม่เข้าถึง(ซึ่งฐานะแห่งเหตุผล); เพราะเหตุนั้น จักษุจึงเป็นอนันตา.

(ในกรณีแห่งรูปก็ดี จักขุวิญญาณก็ดี จักขุสัมผัสก็ดี จักขุสัมผัสสชาเวทนาก็ดี รูปตัณหาก็ดี มีข้อความอย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งจักษุต่างกันแต่เพียงประโยคสุดท้ายคือจะเอาธรรมและสหคตธรรมที่กล่าวแล้วในกรณีก่อน มากล่าวเพิ่มข้างหน้าในกรณีหลังอีกตามลำดับกันไปแห่งกรณีนั้น ๆ ;
เช่นในกรณีแห่งจักขุสัมผัส : ประโยคสุดท้ายจะมีว่า "เพราะเหตุนั้น จักษุจึงเป็นอนัตตา, รูปทั้งหลายจึงเป็นอนัตตา, จักขุวิญญาณจึงเป็นอนัตตา, จักขุสัมผัสจึงเป็นอนัตตา."; หรือเช่นในกรณีแห่งรูปตัณหา อันเป็นกรณีสุดท้ายแห่งหมวดจักษุ ประโยคสุดท้ายจะมีว่า"เพราะเหตุนั้น จักษุจึงเป็นอนัตตา, รูปทั้งหลายจึงเป็นอนัตตา, จักขุวิญญาณจึงเป็นอนัตตา, จักขุสัมผัสจึงเป็นอนัตตา, เวทนาจึงเป็นอนัตตา, ตัณหาจึงเป็นอนัตตา." ข้อความในหมวดโสตะก็ดี-ฆานะก็ดี-ชิวหาก็ดี-กายะก็ดี-มนะก็ดี ที่ถูกยืดถือเป็นอัตตา; ก็มีนัยแห่งการตรัสอย่างเดียวกันกับ ข้อความที่ตรัสแล้วในหมวดแห่งจักษุที่ถูกยืดถือเป็นอัตตา ต่างกันแต่เพียงชื่อธรรมประจำหมวดแต่ละหมวดเท่านั้น.)

[ข้างบนนี้ เป็นการแสดงความงามเบื้องต้น]

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ก็ปฏิปทาอันให้ถึงความเกิดขึ้นพร้อมแห่งสักกายะมีอยู่อย่างนี้ คือ:-
บุคคล ย่อมสำคัญเห็นซึ่งจักษุว่า "นั่น ของเรา, นั่น เป็นเรา, นั่นเป็นอัตตาของเรา".

(ในกรณีแห่งรูปทั้งหลาย, จักขุวิญญาณ,จักขุสัมผัส, เวทนา, และตัณหา; ก็ตรัสมีนัยดุจเดียวกันกับในกรณีแห่งจักษุ. ในกรณีแห่งหมวดโสตะก็ดี -ฆานะก็ดี -ชิวหาก็ดี -กายะก็ดี -มนะก็ดี ได้ตรัสไว้มีนัยเดียวกันกับในกรณีแห่งหมวดจักษุนั้นทุกประการ ต่างกันแต่เพียงชื่อซึ่งต้องเปลี่ยนไปตามหมวดนั้น ๆ เท่านั้น.)

[ข้างบนนี้ เป็นการแสดงความงามท่ามกลาง]

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ก็ปฏิปทาอันให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งสักกายะมีอยู่อย่างนี้ คือ:-

บุคคล ย่อมตามเห็นด้วยดีซึ่งจักษุว่า "นั่น ไม่ใช่ของเรา (เนตํ มม),นั่น ไม่เป็นเรา (เนโสหมสฺมิ),นั่น ไม่ใช่อัตตาของเรา (น เมโส อตฺตา)"

(ในกรณีแห่งรูปทั้งหลาย, จักขวิญญาณ, จักขุสัมผัส, เวทนา, และตัณหา;ก็ตรัสมีนัยดุจเดียวกันกับกรณีแห่งจักษุ.กรณีแห่งหมวดโสตะ
- ฆานะ ไปจนกระทั่งหมวดมนะ ก็ได้ตรัสไว้มีนัยะอย่างเดียวกันกับที่ตรัสไว้ในกรณีแห่งหมวดจักษุนั้น ทุกประการ ต่างกันแต่เพียงชื่อซึ่งต้องเปลี่ยนไปตามหมวดนั้น ๆ เท่านั้น).

[ข้างบนนี้ เป็นการแสดงความงามเบื้องปลาย]

(ต่อไปได้ทรงแสดงอายตนะภายใน อายตนะภายนอก วิญญาณ ผัสสะ ทำหน้าที่กันจนเกิด
เวทนา; ปฏิบัติผิดต่อเวทนา ๓ มีสุขเวทนาเป็นต้น ก็เป็นเหตุให้เพิ่มอนุสัยนั้นๆ ไปตามเวทนา; เมื่อยังละบรรเทา ถนอมอนุสัยไม่ได้ ไม่ทำวิชชาให้เกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่เป็นฐานะที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในทิฏฐิะรรม;ซึ่งเนื้อความที่ทรงแสดงนี้ ได้นำใส่ไว้ในหมวดที่ ๕ ภายใต้หัวข้อว่า "เวทนาในปฏิจจสมุปบาทให้เกิดอนุสัย";แล้วได้ตรัสโดยนัยที่ตรงกันข้าม หรือปฏิกขนัย อีกครั้งหนึ่ง, ซึ่งเนื้อความที่ทรงแสดงนี้ก็ได้นำมาใส่ไว้แล้วในหมวดที่ ๖ โดยหัวข้อว่า "อนุสัยไม่อาจจะเกิด เมื่อรู้เท่าทันเวทนาในปฏิจจสมุปบาท".
ผู้ศึกษาต้องการทราบรายละเอียดในถ้อยคำที่ตรัสทั้งสองนัยะนี้ก็ดูได้จากหัวข้อนั้น ๆแห่งหมวดนั้น ๆ.
ต่อจากนั้น ได้ตรัสว่า อริยสาวกเมื่อเห็นอยู่อย่างนั้น จะเบื่อหน่าย คลายกำหนัด หลุดพ้นในอายตนะภายในทั้งหก และสหคตธรรมที่เนื่องด้วยอายตนะนั้น ๆ ซึ่งมีจำนวน ๖ หมวด ๆ ละ ๖. ในที่สุดแห่งธรรมเทศนานี้ มีผลทำให้ภิกษุ ๖๐ รูป บรรลุอรหัตตผล.)

------------------------------------------
ฉฉักกสูตร อุปริ. ม.๑๔/๕๐๙/๘๑๐, ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย ที่เชตวัน ใกล้เมืองสาวัตถี.

ที่มา..... http://truthoflife.fix.gs/index.php?PHPSESSID=n92s4cur5i3c4n4ne929klmng7&topic=7720.0

แก้ไขครั้งที่ 1 เมื่อ 4 เมษายน 2556 / 11:10

PS.  Ya hooo !!

แสดงความคิดเห็น

>

3 ความคิดเห็น

βucephalus 7 เม.ย. 56 เวลา 13:10 น. 2

นี่เป็นธรรมอันประเสิรฐของพระพุทธองค์  
ล้ำลึกเกินกว่าวิทยาศาสตร์จะเข้าถึงและเข้าใจถึงเหตุผลที่ซับซ้อนนี้
เพราะมีปฏิจจสมุปบาท  เราๆ จึงต้องเวียนไหว้ตายเกิด ทุกข์แล้วทุกข์อีก ไม่มีวันสิ้นสุด
ขอบคุณสำหรับธรรมอันประเสิรฐนี้ด้วยนะคะ ^^


PS.  With hands held high into the sky so blue, As the ocean opens up to swallow you. : )))
0
ศรัทธาพุทธวจน 15 เม.ย. 56 เวลา 14:06 น. 3

จ้ะ การศึกษา+ปฏิบัติเพื่อให้เห็นปฏิจสมุปบาทนั้น พระพุทธองค์ทรงบอกไว้หมดแล้วนะจ้ะ คนเราทุกคนมีสิ่งเหล่านี้เพียงแต่ว่าเราหลงไปกับมันด้วยอำนาจของอวิชชา แต่ถ้าเราต้องการเห็นเราก็สามารถทำได้ มันไม่เกินความสามารถของมนุษย์หรอกจ้ะ แนะนำให้ศึกษาพุทธวจน(วัดนาป่าพง) เล่มไหนก็ได้ และ "ปฏิบัติ" ตามคำสอน เช่น ละกาม ละอกุศล เจริญมรรค 8 อะไรเหล่านี้เป็นต้น เธอก็จะสามารถเปิดธรรมที่ถูกปิดไว้ได้ ธรรมนั้นก็จะเป็นสิ่งที่เธอรู้ได้เอง เห็นได้ด้วยตนเองจ้ะ


PS.  Ya hooo !!
0