Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

โครงการน้ำดีไล่น้ำเสีย

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
โครงการน้ำดีไล่น้ำเสีย
คือการทำให้น้ำเจือจาง ด้วยการใช้หลักการตามธรรมชาติคือแรงโน้มถ่วงของโลก คือใช้น้ำคุณภาพดีช่วยผลักน้ำเน่าเสียออกไป และทำให้น้ำเน่าเสียมีสภาพเจือจางลง ด้วยการเปิดให้น้ำจากแม่น้ำต่างๆ เข้าไปยังคลองต่างๆ ด้วยการกำหนดวงรอบการไหลของน้ำให้เหมาะสม น้ำดีจะช่วยเจือจางสภาพของน้ำเน่าเสีย และนำพาสิ่งโสโครกให้ออกไปได้



แนวพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ทรงให้ไว้สองแนวทาง แนวทางแรกคือเปิดประตูอาคารควบคุมน้ำรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงจังหวะน้ำขึ้นและระบายออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ตอนระยะน้ำลง ซึ่งมีผลทำให้น้ำตามลำคลองมีโอกาสไหลถ่ายเทกันไปมามากขึ้นกว่าเดิม เกิดมีการหมุนเวียนของน้ำที่มีสภาพเน่าเสีย กลิ่นเหม็น กลายเป็นน้ำที่มีคุณภาพดีขึ้น และแนวทางที่สอง ขุดลอกคลองเปรมประชากรพร้อมทั้งกำจัดวัชพืชเพื่อให้เป็นคลอง สายหลักในการผันน้ำคุณภาพดีไปช่วยบรรเทาให้น้ำเสียเจือจางลงและให้คลองเปรมประชากรตอนล่างเป็นคลองที่สามารถรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปช่วย บรรเทาน้ำเสียโดยส่งกระจายไปตามคลองต่าง ๆของกรุงเทพมหานคร


โครงการบึงมักกะสัน
บึงมักกะสัน เป็นบึงขนาดใหญ่ที่อยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ขุดขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ เพื่อใช้เป็นแหล่งระบายน้ำและรองรับน้ำเสีย รวมทั้งน้ำมันเครื่องจากโรงงานรถไฟมักกะสัน ทำให้บึงมักกะสันตื้นเขิน จากการตกตะกอนของสารแขวนลอย กอปรกับรอบบึงมักกะสันมีชุมชนแออัด ๓ ชุมชน รวม ๗๒๙ ครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่ต่างก็ถ่ายสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอยลงสู่บึงมักกะสัน จนเกิด ปัญหาภาวะสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมและน้ำเน่าเสียกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงภาวะมลพิษนี้ จึงได้พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน และวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๘ ให้หน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกันปรับปรุงบึงมักกะสันเพื่อใช้ประโยชน์ในการช่วยระบายน้ำและบรรเทาสภาพน้ำเสียในคลองสามเสน โดยใช้วิธีการของ "เครื่องกรองน้ำธรรมชาติ" คือใช้ผักตบชวา ซึ่งเป็นวัชชพืชที่มีอยู่มาก มาทำหน้าที่ดูดซับความโสโครก และสารพิษจากแหล่งน้ำเน่าเสีย และในเวลาเดียวกัน ก็ต้องหมั่นนำผักตบชวาออกจากบึงทุกๆ ๑๐ สัปดาห์ เพื่อไม่ให้ผักตบชวามีการเจริญพันธุ์ จนบดบังแสงแดดที่จะส่องลงไปในบึง

แต่หลังจากที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย มีการก่อสร้างทางด่วนมหานครขั้น ๒ ระยะที่ ๑ โดยมีแนวผ่านบึงมักกะสันและมีตอม่อโครงสร้างอยู่กลางบึง ทำให้น้ำในบึงไม่ถูกแสงแดด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานพระราชดำริให้ใช้ เครื่องพ่นอากาศเข้าช่วย เมื่อมูลนิธิชัยพัฒนาและกรุงเทพมหานครรับสนองพระราชดำริ ทำให้บึงมักกะสัน สามารถฟอกน้ำในคลองสามเสนให้สะอาดขึ้น วันละ ๒๖๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร ด้วยการใช้เครื่องเติมอากาศแบบทุ่นลอย ผสมกับ การใช้ผักตบชวา ซึ่งสามารถบำบัดน้ำเสียได้เพิ่มจากเดิม ๑๐ เท่า โดยมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นผู้จัดหา และติดตั้งเครื่องเติมอากาศ ขนาด ๑๑ KW จำนวน ๑๐ เครื่อง และกรุงเทพมหานครเป็นผู้ดำเนินการขุดลอกบึง พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำและปลูกผักตบชวา สำหรับน้ำที่ใสสะอาดขึ้นนี้ให้ระบายออกสู่คลองธรรมชาติ ตามเดิม แล้วรับน้ำเสียจำนวนใหม่มาดำเนินการผ่านกรรมวิธีเป็นวงจร เช่นนี้ตลอดไปในอนาคตเมื่อการกำจัดน้ำเน่าเสียด้วยผักตบชวาในบึงมักกะสันแห่งนี้ได้ผลดี ก็จะได้นำไป ใช้เป็นแบบอย่างในการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียที่แหล่งน้ำ หรือลำคลองอื่นต่อไป ซึ่งในขณะนี้กรุงเทพมหานครและการรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นหน่วยงานหลักในการใช้ประโยชน์ และดูแลรักษาบึงแห่งนี้ให้คงมีสภาพที่ดีสืบไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเปรียบเทียบว่า "บึงมักกะสัน" เป็นเสมือนดั่ง "ไตธรรมชาติ" ของกรุงเทพมหานคร ที่เป็นแหล่งเก็บกักและระบายน้ำในฤดูฝน

สำหรับผักตบชวาและพืชน้ำอื่นๆ ก็จะกลายเป็นผลพลอยได้ที่นำมาทำเป็นปุ๋ย เชื้อเพลิง และสิ่งของเครื่องใช้ที่สานจากผักตบชวา อีกทั้งยังมีพืชน้ำบางชนิดที่นำมาเป็นอาหารได้ เช่น ผักบุ้ง รวมถึงสามารถเลี้ยงปลาในบึงเพื่อให้เป็นอาหารของประชาชนที่พักอาศัยอยู่โดยรอบได้อีกทางหนึ่งด้ว


โครงการหนองสนม-หนองหาน
คือโครงการบำบัดน้ำเสียโดยวิธีธรรมชาติผสมกับเทคโนโลยีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชดำริให้จัดทำขึ้น ด้วยการจัดสร้างบ่อดัก แล้วใช้ต้นกกอียิปต์ช่วยดูดสารปนเปื้อน กรองสารแขวนลอย รวมถึงเติมออกซิเจนให้กับน้ำเสียก่อนจะเข้าสู่บ่อตกตะกอนตามธรรมชาติ ซึ่งในบ่อตกตะกอนนี้ จะเติมอากาศด้วยกังหันน้ำชัยพัฒนา เพื่อให้ออกซิเจนช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์ที่ละลายอยู่ในน้ำเสีย
สำหรับโครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำในหนองสนม ได้ใช้เครื่องเติมอากาศติดตั้งไว้บริเวณปากทางเข้าหนองสนม เพื่อเติมอากาศ และใช้ผักตบชวาช่วยบำบัดน้ำเสีย โดยกรมประมงได้ดำเนินการออกแบบและก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียแบบบ่อผึ่ง กรมโยธาธิการดำเนินการออกแบบและก่อสร้างท่อรับน้ำเสียเพื่อนำน้ำเสียเข้าไปบำบัดในระบบบำบัดน้ำเสียของกรมประมงและกรมชลประทานดำเนินการศึกษาหาข้อมูลต่าง ๆ พร้อมทั้งออกแบบก่อสร้างระบบบำ บัดน้ำเสียด้วยพืชน้ำ เพื่อใช้เป็นบ่อบำบัดน้ำเสียขั้นสุดท้าย

โครงการบึงพระราม ๙
"บึงพระราม ๙" เป็นบึงขนาดใหญ่อยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ประมาณ ๑๓๐ ไร่ ตั้งอยู่ในเขตที่ดินของ สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นบึงที่มีปัญหาภาวะมลพิษน้ำเน่าเสียอย่างรุนแรง เนื่องจากคลองลาดพร้าวเป็นคลองระบายน้ำหลักคลองหนึ่งของกรุงเทพมหานคร จึงรับน้ำเสียมาจากแหล่งชุมชน ที่อยู่สองฝั่งคลอง น้ำมีสภาพเน่าเสีย มีสีดำ และมีกลิ่นเหม็นของก๊าซอยู่ตลอดเวลา

ระบบบำบัดน้ำเสียที่บึงพระราม ๙ เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานพระราชดำริ ให้ใช้เครื่องเติมอากาศพร้อมๆ กับวิธีการทางธรรมชาติ ทำให้บึงพระราม ๙ เป็นระบบสระเติมอากาศ คือใช้เครื่องจักรกลเติมอากาศช่วยเพิ่มออกซิเจนละลายน้ำ ซึ่งเป็นระบบบำบัดน้ำเสียทางชีววิทยาโดยใช้ แบคทีเรียเป็นตัวกำจัดสาร อินทรีย์ในน้ำทิ้งด้วยปฏิกิริยาแบบใช้ออกซิเจน ซึ่งนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย


การบำบัดน้ำเสียด้วยกระบวนการทางฟิสิกส์เคมี
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ร่วมกับ มูลนิธิชัยพัฒนาและกรมชลประทาน ได้ดำเนินการสนองพระราชดำริด้วยการประดิษฐ์เครื่องบำบัดน้ำเสียด้วยสารเคมี และใช้เป็นเครื่องต้นแบบในการพัฒนาปรับปรุงสภาพแวดล้อมต่อไป ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการทำงานของเครื่องบำบัดน้ำเสียโดยใช้สารเร่งการตกตะกอนเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๗ พร้อมทั้งได้พระราชทานชื่อของเครื่องบำบัดน้ำเสียนี้ว่า เครื่อง "TRX-๑" นอกจากนี้ ยังทรงมีพราชดำริเพิ่มเติม เพื่อให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อศึกษา วิจัย และพัฒนาว่า ควรมีการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการผลิตสารเร่งการตกตะกอนในประเทศ เพื่อลดต้นทุนการบำบัดน้ำ, ควรตรวจสอบคุณภาพน้ำเสียก่อนบำบัด และหลังบำบัด เพื่อจะสามารถนำตะกอนที่ได้จากการบำบัดไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น และน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วควรได้รับการเติมออกซิเจนอีกครั้งหนึ่ง
http://raorakprajaoyuhua.com/bio/gen02.htm

แสดงความคิดเห็น

>

4 ความคิดเห็น