Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ภิกษุผู้มักน้อย มี ๔ ประเภท

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ โอปัมมวรรค
รถวินีตสูตร ภิกษุชาวชาติภูมิยกย่องพระปุณณมันตานีบุตร


ภิกษุผู้มักน้อย มี ๔ ประเภท คือ
                         ภิกษุผู้มักน้อยในปัจจัย ๑
                         ผู้มักน้อยในธุดงค์ ๑
                         ผู้มักน้อยในปริยัติ ๑
                         ผู้มักน้อยในอธิคม ๑.
               ใน ๔ ประเภทนั้น ภิกษุผู้มักน้อยในปัจจัย ๔ ชื่อว่าผู้มักน้อยในปัจจัย. ภิกษุผู้มักน้อยในปัจจัยนั้น ย่อมรู้ความสามารถของทายก ย่อมรู้ความสามารถของไทยธรรม ย่อมรู้กำลังของตน. ก็ผิว่า
ไทย
ธรรมมีมาก แต่ทายกต้องการถวายน้อย ก็รับเอาแต่น้อยตามความสามารถของทายก ไทยธรรมมีน้อย ทายกต้องการจะถวายมาก ก็รับเอาแต่น้อย ตามความสามารถของไทยธรรม ทั้งไทยธรรมก็มีมาก ทั้งทายกก็ต้องการจะถวายมาก ก็รู้กำลังของตน รับเอาแต่พอประมาณ.
               ภิกษุผู้มีความปรารถนาน้อย ไม่ต้องการจะให้เขารู้ความที่ธุดงค์สมาทานมีอยู่ในตน ชื่อว่าผู้มักน้อยในธุดงค์. เพื่อจะทำความในข้อนั้นให้แจ่มแจ้ง มีเรื่องเหล่านี้เป็นตัวอย่าง.
               เล่ากันมาว่า พระมหาสุมเถระผู้ถือโสสานิกังคธุดงค์อยู่ป่าช้ามา ๖๐ ปี แม้แต่ภิกษุสักรูปหนึ่งอื่นๆ ก็ไม่รู้. ด้วยเหตุนั้นแล ท่านจึงกล่าวว่า
                                   สุสาเน สฏฺฐิวสฺสานิ อพฺโพกิณฺโณ วสามหํ
                                   ทุติโย มํ น ชาเนยฺย อโห โสสานิกุตฺตโม

                         เราอยู่ลำพังคนเดียวในป่าช้ามา ๖๐ ปี เพื่อนก็
                         ไม่รู้เรา โอ ยอดของผู้รักษาโสสานิกังคธุดงค์.

               พระเถระ ๒ พี่น้องอยู่ในเจติยบรรพต. พระเถระองค์น้องรับท่อนอ้อยที่อุปฐากเขาส่งมา ได้ไปยังสำนักของพระเถระผู้พี่พูดว่า หลวงพี่ฉันเสียซิ. เป็นเวลาที่พระเถระฉันแล้วบ้วนปาก. พระเถระผู้พี่กล่าวว่า พอละเธอ. พระผู้น้องชายถามว่า หลวงพี่ถือเอกาสนิกังคธุดงค์หรือ. พระเถระผู้พี่กล่าวว่า เธอนำท่อนอ้อยมา แม้เป็นผู้ถือเอกาสนิกังคธุดงค์มาถึง ๕๐ ปี ก็ปกปิดธุดงค์ไว้ ฉันแล้วบ้วนปาก อธิษฐานธุดงค์ใหม่แล้วไป.
               ส่วนภิกษุผู้มักน้อยรูปใด ไม่ประสงค์จะให้เขารู้ความที่ตนเป็นพหูสูต เหมือนพระสาเกตกติสเถระ ภิกษุนี้ชื่อว่าผู้มักน้อยในพระปริยัติ.
               เล่ากันมาว่า พระเถระไม่ทำโอกาสในอุเทศและปริปุจฉาว่า ไม่มีเวลา ถูกเตือนว่า ท่านคงจะมีแต่เวลาตาย ละหมู่แล้ว ไปวิหารใกล้สมุทรที่มีทรายดังดอกกัณณิกา เป็นผู้อุปการะเหล่าภิกษุชั้นเถระ นวกะและมัชฌิมะตลอดพรรษา ยังชุมชนให้สะเทือนด้วยธรรมกถาในวันมหาปวารณา วันอุโบสถแล้วไป.
               ส่วนภิกษุผู้มักน้อยรูปใดเป็นพระอริยบุคคลองค์หนึ่ง ในบรรดาพระอริยบุคคลผู้โสดาบันเป็นต้น ย่อมไม่ปรารถนาให้รู้ความเป็นพระโสดาบันเป็นต้น ภิกษุผู้มักน้อยรูปนี้ ชื่อว่าผู้มักน้อยในอธิคม เหมือนกุลบุตร ๓ คน และเหมือนช่างหม้อ ชื่อว่าฆฏิการะ.
              
 ส่วนท่านปุณณะละความปรารถนาเกินขอบเขต ความปรารถนาลามกและความมักมาก ได้ชื่อว่าเป็นผู้มักน้อย เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยความมักน้อยอันบริสุทธิ์ กล่าวคือความไม่โลภอันเป็นปฏิปักษ์ต่อความปรารถนาโดยประการทั้งปวง. ท่านปุณณะแสดงโทษในธรรมเหล่านั้นว่า ผู้มีอายุ ธรรมเหล่านี้ คือความปรารถนาเกินขอบเขต ความปรารถนาลามก ความเป็นผู้มักมากอันภิกษุควรละ ดังนี้แล้ว จึงกล่าวอัปปิจฉกถาแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุควรสมาทาน ประพฤติ ความเป็นผู้มักน้อยเห็นปานนี้. ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ภิกษุผู้มักน้อยด้วยตนเอง และสอนเรื่องเป็นผู้มักน้อยแก่ภิกษุทั้งหลาย.
               บัดนี้ ข้าพเจ้าจักแสดงอรรถอันพิเศษในคำว่า อตฺตนาว สนฺตุฏฺโฐ เป็นต้น. แต่พึงทราบการประกอบความโดยนัยดังกล่าวมาแล้ว.
               บทว่า สนฺตุฏฺโฐ ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยความสันโดษในปัจจัยตามมีตามได้.
           
    ก็สันโดษนี้นั้นมี ๑๒ อย่าง คืออะไรบ้าง อันดับแรกในจีวร มี ๓ อย่าง คือ ยถาลาภสันโดษ ยถาพลสันโดษ ยถาสารุปปสันโดษ. ในบิณฑบาตเป็นต้นก็เหมือนกัน. การพรรณนาประเภทปัจจัย คือจีวรนั้นดังนี้ ภิกษุในศาสนานี้ได้จีวร ไม่ว่าดีหรือไม่ดี ก็ยังอัตตภาพให้เป็นไปด้วยจีวรนั้นเท่านั้น ไม่ปรารถนาจีวรอื่น ถึงได้ก็ไม่รับ นี้ชื่อว่ายถาลาภสันโดษในจีวรของภิกษุนั้น.
               อนึ่ง ภิกษุใดทุพพลภาพโดยปกติหรือถูกความเจ็บป่วยและชราครอบงำ ครองจีวรหนักก็ลำบาก ภิกษุนั้นเปลี่ยนจีวรกับภิกษุผู้ชอบพอกัน แม้ยังอัตตภาพให้เป็นไปด้วยจีวรเบา ก็เป็นผู้สันโดษเหมือนกัน นี้ชื่อยถาพลสันโดษในจีวรของภิกษุนั้น.
               ภิกษุอีกรูปหนึ่งเป็นผู้ได้ปัจจัยอันประณีต เธอได้จีวรมีค่ามากผืนหนึ่ง บรรดาจีวรแพรเป็นต้น ก็หรือว่าได้จีวรเป็นอันมาก คิดว่าจีวรนี้เหมาะแก่พระเถระผู้บวชนาน ผืนนี้เหมาะแก่ภิกษุผู้พหูสูต ผืนนี้เหมาะแก่ภิกษุผู้เป็นไข้ ผืนนี้เหมาะแก่ภิกษุผู้มีลาภน้อย ถวายแล้วเลือกจีวรเก่าๆ บรรดาผ้าเหล่านั้นหรือชิ้นผ้าจากกองขยะเป็นต้น กระทำสังฆาฏิด้วยผ้าเหล่านั้น แม้ครองอยู่ก็เป็นผู้สันโดษอยู่นั่นแล นี้ชื่อว่ายถาสารุปสันโดษในจีวรของภิกษุนั้น.
               อนึ่ง ภิกษุในพระศาสนานี้ได้บิณฑบาตไม่ว่าปอนหรือประณีต เธอยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยบิณฑบาตนั้นเท่านั้น ไม่ปรารถนาบิณฑบาตอื่น ถึงได้ก็ไม่รับ นี้ชื่อว่ายถาลาภสันโดษในบิณฑบาตของภิกษุนั้น. แต่ภิกษุใดได้บิณฑบาตที่แสลงแก่ปกติของตนหรือแสลงแก่โรค ซึ่งเธอฉันแล้วไม่ผาสุก ภิกษุนั้นถวายบิณฑบาตนั้นแก่ภิกษุที่ชอบกัน ฉันโภชนะที่สบายจากมือของภิกษุนั้น แม้กระทำสมณธรรมอยู่ ก็ยังชื่อว่าผู้สันโดษ นี้ชื่อว่ายถาพลสันโดษในบิณฑบาตของภิกษุนั้น.
               ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้บิณฑบาตประณีตเป็นอันมาก เธอถวายบิณฑบาตนั้นแก่เหล่าภิกษุผู้บวชนาน ผู้เป็นพหูสูต ผู้มีลาภน้อย และภิกษุไข้เหมือนจีวร แม้ฉันบิณฑบาตที่เหลือของภิกษุเหล่านั้น หรือเที่ยวบิณฑบาตแล้วฉันอาหารคละกัน ก็ยังชื่อว่าผู้สันโดษ นี้ชื่อว่ายถาสารุปปสันโดษในบิณฑบาตของภิกษุนั้น.
               อนึ่ง ภิกษุในพระศาสนานี้ได้เสนาสนะไม่ว่าน่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจ เธอไม่เกิดโสมนัส ไม่เกิดปฏิฆะ ด้วยเสนาสนะนั้น ยินดีด้วยเสนาสนะตามที่ได้โดยที่สุดแม้เครื่องปูลาดทำด้วยหญ้า นี้ชื่อว่ายถาลาภสันโดษในเสนาสนะของภิกษุนั้น.
               อนึ่ง ภิกษุใดได้เสนาสนะที่แสลงแก่ปกติของตนหรือแสลงแก่โรค เมื่ออยู่ก็ไม่มีความผาสุก ภิกษุนั้นถวายเสนาสนะนั้นแก่ภิกษุที่ชอบกัน แม้อยู่ในเสนาสนะอันเป็นสัปปายะอันเป็นส่วนของเธอ ก็ยังชื่อว่าผู้สันโดษ นี้ชื่อว่ายถาพลสันโดษในเสนาสนะของภิกษุนั้น.
               ภิกษุอีกรูปหนึ่งมีบุญมาก ได้เสนาสนะมาก มีที่เร้น มณฑปและเรือนยอดเป็นต้น เธอถวายเสนาสนะเหล่านั้นแก่ภิกษุผู้บวชนาน ผู้พหูสูต ผู้มีลาภน้อย และภิกษุไข้ เหมือนจีวรเป็นต้น แม้อยู่ที่ใดที่หนึ่ง ก็ยังชื่อว่าผู้สันโดษ นี้ชื่อว่ายถาสารุปปสันโดษในเสนาสนะของภิกษุนั้น.
               แม้ภิกษุใดพิจารณาว่า เสนาสนะอันอุดมเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เมื่อนั่งในที่นั้น ย่อมง่วงเหงาหาวนอน เมื่อหลับแล้วตื่นขึ้น ความวิตกอันลามกก็ปรากฏ แล้วไม่รับเสนาสนะเช่นนั้นแม้มาถึงแล้ว เธอปฏิเสธแล้วแม้อยู่กลางแจ้งโคนไม้เป็นต้น ก็ยังชื่อว่าผู้สันโดษ นี้ชื่อว่ายถาสารุปปสันโดษในเสนาสนะ.
               อนึ่ง ภิกษุในพระศาสนานี้ได้เภสัชไม่ว่าปอนหรือประณีต เธอยินดีด้วยเภสัชที่ได้ ไม่ปรารถนาเภสัชแม้อย่างอื่น ถึงได้ก็ไม่รับ นี้ชื่อว่ายถาลาภสันโดษในคิลานปัจจัยของเธอ.
               อนึ่ง ภิกษุใดต้องการน้ำมัน แต่ได้น้ำอ้อย เธอถวายน้ำอ้อยนั้นแก่ภิกษุผู้ชอบกัน ถือเอาน้ำมันจากมือของภิกษุนั้น หรือแสวงหาอย่างอื่น แม้กระทำเภสัชด้วยปัจจัยเหล่านั้น ก็ยังชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ นี้ชื่อว่ายถาพลสันโดษในคิลานปัจจัยของเธอ.
               ภิกษุอีกรูปหนึ่งมีบุญมาก ได้เภสัชประณีต มีน้ำมันน้ำผึ้งน้ำอ้อยเป็นต้นเป็นอันมาก เธอถวายเภสัชนั้นแก่ภิกษุบวชนาน พหูสูต มีลาภน้อยและภิกษุไข้เหมือนจีวร แม้ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยเภสัชอย่างใดอย่างหนึ่งที่ได้มาจากคิลานปัจจัย เหล่านั้น ก็ยังชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ.
               อนึ่ง ภิกษุใดอันภิกษุทั้งหลายวางสมอดองไว้ในภาชนะหนึ่ง วางของมีรสอร่อย ๔ อย่างไว้ในภาชนะหนึ่ง แล้วกล่าวว่า นิมนต์ถือเอาสิ่งที่ต้องการเถิดขอรับ ถ้าว่าโรคของเธอจะระงับไปด้วยของอย่างใดอย่างหนึ่งในของเหล่านั้น เมื่อเป็นดังนั้น เธอก็ห้ามว่า ขึ้นชื่อสมอดองอันพระพุทธเจ้าเป็นต้นทรงสรรเสริญแล้ว กระทำเภสัชด้วยสมอดองเท่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้สันโดษอย่างยิ่ง นี้ชื่อว่ายถาสารุปสันโดษในคิลานปัจจัย. ก็ยถาสารุปปสันโดษเป็นยอดของสันโดษแต่ละสามๆ ในปัจจัยแต่ละอย่างๆ เหล่านี้
               ท่านพระปุณณะได้เป็นผู้สันโดษด้วยสันโดษแม้ทั้งสามเหล่านี้ ในปัจจัยแต่ละอย่าง.
               บทว่า สนฺตฏฺฐิกถญฺจ ได้แก่ สั่งสอนเรื่องสันโดษนี้แก่ภิกษุทั้งหลาย.
               บทว่า ปวิวิตฺโต ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยวิเวก ๓ เหล่านี้ คือ กายวิเวก จิตตวิเวก อุปธิวิเวก. ในวิเวก ๓ นั้น ภิกษุเดินรูปเดียว ยืนรูปเดียว นั่งรูปเดียว นอนรูปเดียว บิณฑบาตรูปเดียว กลับรูปเดียว จงกรมรูปเดียว เที่ยวรูปเดียว อยู่รูปเดียว นี้ชื่อว่ากายวิเวก. ส่วนสมาบัติ ๘ ชื่อว่าจิตตวิเวก. นิพพานชื่อว่าอุปธิวิเวก.
               สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
               กายวิเวกสำหรับบุคคลผู้ปลีกกายยินดีในเนกขัมมะ จิตตวิเวกสำหรับบุคคลผู้มีจิตบริสุทธิ์ มีจิตผ่องแผ้วอย่างยิ่ง และอุปธิวิเวกสำหรับบุคคลผู้ปราศจากอุปธิ ผู้ถึงวิสังขาร.
               บทว่า ปวิเวกกถํ ได้แก่ สั่งสอนเรื่องวิเวกนี้แก่ภิกษุทั้งหลาย.

http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=292
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ โอปัมมวรรค
รถวินีตสูตร ภิกษุชาวชาติภูมิยกย่องพระปุณณมันตานีบุตร

แสดงความคิดเห็น

>