Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

เศรษฐกิจพอเพียง 2

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่


ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง




พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งประมวลและกลั่นกรองจากพระราชดำรัสในโอกาสต่างๆ รวมทั้งพระราชดำริอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำไปเผยแพร่ เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของทุกฝ่ายและประชาชนโดยทั่วไป ดังนี้

เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัฒน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้อง เสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับให้มีจิตสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี





แนวพระราชดำริ



“... คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัยว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่ แต่เราอยู่พอมี พอกินและขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน มีความสงบและทำงานตั้งจิตอธิฐาน ตั้งปณิธานในทางนี้ ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้ ...”



พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต

วันพุธที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๑๗




“... ภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมในหลายประเทศเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ การทุ่มเทสร้างเครื่องจักรกลอันก้าวหน้า และมีประสิทธิภาพสูงขึ้นใช้ในการผลิต ทำให้ผลผลิตทางอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นรวดเร็วและมากมาย จนอาจถึงขั้นฟุ่มเฟือย พร้อมกันนั้นก็ทำให้คนว่างงานลงเพราะถูกเครื่องจักรกลแย่งไปทำ เป็นเหตุทำให้เกิดความยุ่งยากตกต่ำทางเศรษฐกิจขึ้น เพราะคนที่ว่างงานยากจนลงและผู้ผลิตก็ขาดทุนเพราะสินค้าขายไม่ออก จึงน่าจะต้องดัดแปลงแนวคิด แนวปฏิบัติในการส่งเสริมความเจริญด้านอุตสาหกรรมไปบ้างให้สมดุลกับด้านอื่นๆ เพื่อความอยู่รอด ...”



พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พระราชทานแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า

เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๑๘




“... การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้น หมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง ...


... ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอจะต้องมี ความพอเพียง พอสมควร บางสิ่งบางอย่าง ที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไหร่ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก อย่างนี้ท่านนักเศรษฐกิจต่างๆ ก็มาบอกว่าล้าสมัยจริงอาจจะล้าสมัย คนอื่นเขาต้องมีการเศรษฐกิจ ที่ต้องมีการแลกเปลี่ยน เรียกว่า เป็นเศรษฐกิจการค้า ไม่ใช่เศรษฐกิจความพอเพียง เลยรู้สึกว่าไม่หรูหรา แต่เมืองไทยเป็นประเทศที่มีบุญอยู่ว่า ผลิตให้พอเพียงได้ ...



… ถ้าสามารถที่เปลี่ยนไป ทำให้กลับเป็นเศรษฐกิจแบบพอเพียง ไม่ต้องทั้งหมดแม้แต่ครึ่งก็ไม่ต้อง อาจจะสักเศษหนึ่งส่วนสี่ ก็จะสามารถอยู่ได้ การแก้ไขอาจจะต้องใช้เวลา ไม่ใช่ง่ายๆ โดยมากคนก็ใจร้อนเพราะเดือดร้อน แต่ถ้าทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้ก็สามารถที่จะแก้ไขได้ ...”

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พระราชทานเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต

เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐



“... คำว่าพอเพียง มีความหมายอีกอย่างหนึ่ง มีความหมายกว้างออกไปอีก ไม่ได้หมายถึงการมีพอสำหรับใช้ของ เท่านั้น แต่มีความหมายพอมีพอกิน...พอมีพอกินนี้ก็แปลว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง ...”



“... พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกินมีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ...”



“... Self - Suffciency นั้น หมายความว่า ผลิตอะไร มีพอที่จะใช้ ไม่ต้องไปขอซื้อคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง ...”



“... คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข ...”



พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พระราชทานเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต

เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑





“... เศรษฐกิจพอเพียงนั้นเขาตีความว่าเป็นเศรษฐกิจชุมชน หมายความว่า ให้พอเพียงในหมู่บ้าน หรือในท้องถิ่น ให้สามารถที่จะมีพอกิน เริ่มด้วย พอมี พอกิน พอมีพอกินนี้ ได้พูดมาหลายปี ๑๐ กว่าปีมาแล้ว ให้พอมีพอกิน แต่ว่าพอมี พอกินนี้ เป็นเพียงเริ่มต้นของเศรษฐกิจ เมื่อปีที่แล้วบอกว่า ถ้าพอมีพอกิน คือ พอมีพอกินของตัวเองนั้น ไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเศรษฐกิจสมัยหิน สมัยหินนั้นเป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน แต่ว่าค่อยๆ พัฒนาขึ้น ...”

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พระราชทานเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต

เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๒



“... เศรษฐกิจพอเพียงที่ได้ย้ำอีก แปลภาษาอังกฤษว่า Sufficiency Economy ภาษาไทยก็ต่อว่า ว่าไม่มี Sufficiency Economy แต่ว่าเป็นคำใหม่ของเราก็ได้ ก็หมายความว่า ประหยัด แต่ไม่ใช่ขี้เหนียว ทำอะไรด้วยความอะลุ้มอล่วยกัน ทำอะไรด้วยเหตุและผล จะเป็นเศรษฐกิจพอเพียงแล้วทุกคนจะมีความสุขแต่พอเพียง เศรษฐกิจพอเพียงนี้ เป็นสิ่งปฏิบัติยากที่สุด ...”

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พระราชทานเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต

เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๓



“... ฉันพูดเศรษฐกิจพอเพียง ความหมายคือ ทำอะไรให้เหมาะสมกับฐานะของตัวเอง คือทำจากรายได้ ๒๐๐ - ๓๐๐ บาท ขึ้นไป เป็น ๒ หมื่น ๓ หมื่นบาท คนชอบเอาคำพูดของฉัน เศรษฐกิจพอเพียงไปพูดกันเลอะเทอะ เศรษฐกิจพอเพียง คือ ทำเป็น Self-Sufficiency มันไม่ใช่ความหมายไม่ใช่แบบที่ฉันคิด ที่ฉันคิด คือ เป็น Self-Sufficiency of Economy เช่น ถ้าเขาต้องการดู TV ก็ควรให้เขามีดู ไม่ใช่ไปกำจัดเขาไม่ให้ซื้อ TV ดู เขาต้องการดูเพื่อสนุกสนาน ในหมู่บ้านไกลๆที่ฉันไป เขามี TV ดู แต่ใช้แบตเตอรี่ เขาไม่มีไฟฟ้า แต่ถ้า Sufficiency นั้นมี TV เขาฟุ่มเฟือย เปรียบเสมือนคนไม่มีสตางค์ไปตัด Suit และยังใส่ Necktie Versace อันนี้ก็เกินไป...”

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พระราชทาน ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข

เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๔๔



แนวพระราชดำริ เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานไว้นั้น กระชับและชัดเจนยิ่ง นอกจากนี้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล อดีตเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ยังได้กล่าวสรุปความหมายของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ดังนี้ “เศรษฐกิจที่สามารถอุ้มชูตัวเองได้ให้มีความพอเพียงกับตัวเอง (Self-Sufficiency) อยู่ได้โดยไม่เดือดร้อน ซึ่งต้องสร้างพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจของตนเองให้ดีเสียก่อน คือให้ตนเองสามารถอยู่ได้อย่างพอกิน พอใช้ มิได้มุ่งหวังที่จะสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจให้เจริญอย่างรวดเร็วแต่เพียงอย่างเดียว” จะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายมีความหมายที่ชัดเจน ไม่ยากแก่การรับรู้และการนำไปปฏิบัติ ดังจะเห็นเป็นรูปธรรมที่ปรากฏชัดเจนในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เกิดผลสำเร็จแล้วมากมาย

แสดงความคิดเห็น

>