Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

เตือนภัยระดับ 4 มฤตยู "ดาวเคราะห์" ชนโลก

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

         

     ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สื่อมวลชนทั่วโลกตื่นเต้นกับคำเตือนจาก "นาซา" หรือ องค์การการบินและอวกาศแห่งสหรัฐอเมริกา (NASA) เกี่ยวกับภาวะเสี่ยงของโลกมนุษย์ ที่อาจโดนดาวเคราะห์น้อยชื่อ "เอจี 5" ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 140 เมตร หรือประมาณสนามกีฬาขนาดใหญ่พุ่งเข้าชนภายในปี พ.ศ.2583 หรืออีก 28 ปีข้างหน้า การพุ่งชนครั้งนี้อาจทำให้ประชากรโลกเสียชีวิตจำนวนหลายล้านคน แต่ไม่ถึงกับสูญพันธุ์เหมือนยุคไดโนเสาร์ ที่โลกโดนดาวเคราะห์ขนาด 14 กม. พุ่งชนเมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว


         อย่างไรก็ตาม ข้อมูลข้างต้นทำให้สหประชาชาติเรียกระดมสมองผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ พร้อมเตรียมงบประมาณจัดการไม่ให้เกิดมหันตภัยดังกล่าวขึ้น 
        ล่าสุด วันที่ 5 มีนาคม องค์การนาซาเปิดเผยอีกว่า นอกจาก "เอจี 5" แล้ว โลกกำลังเสี่ยงกับดาวเคราะห์น้อยอีก 1 ดวงชื่อ "ดีเอ 14" (2012 DA 14) ซึ่งกำลังโคจรพุ่งมายังโลกโดยตรง แม้มีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 40-90 เมตร แต่หากไปตกยังเมืองที่มีประชากรจำนวนมากจะสร้างความสูญเสียมหาศาล ทั้งนี้ "ดีเอ 14" อยู่ใกล้โลกเพียง 2.7 หมื่นกิโลเมตร ใกล้มากกว่าวิถีโคจรของดาวเทียมที่อยู่ห่างโลก 3.6 หมื่นกิโลเมตรเสียอีก หากวงโคจรดังกล่าวไม่มีการเปลี่ยนแปลง ภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556 หรือปีหน้านั้น ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะพุ่งชนโลกอย่างแน่นอน


        "อ.ปีเตอร์ สุดธนกิจ" นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านสำรวจและพัฒนาอวกาศ  ดาราศาสตร์และระบบสุริยจักรวาล อธิบายว่า ดาวเคราะห์น้อย "2011 เอจี 5"  (Asteroid 2011 AG5) คือ ดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก (Near-Earth asteroid )อยู่ในกลุ่มอพอลโล มีประกาศเตือนภัยระดับ 4 ปกติจะมีระดับการเตือนภัยทั้งหมด 1-10 ระดับคือ ตั้งแต่ระดับ 1 ยังอยู่นอกวงโคจร มีโอกาสพุ่งชนโลกน้อยมาก ส่วนระดับสูงสุดคือ ระดับ 10 หมายถึงกำลังหลุดวงโคจรจะพุ่งเข้าชนโลกในอีกไม่กี่วันข้างหน้า สำหรับ เอจี 5 นั้น ยังโคจรมั่นคงแบบกลางๆ แต่ไม่เลวร้าย เพียงต้องเฝ้าตรวจสอบอย่างใกล้ชิดอย่างต่อเนื่อง มีโอกาสชนโลกประมาณ  1 ต่อ  625 เท่า ทุกวันนี้มีดาวเคราะห์น้อยโคจรเฉียดโลกไปมาอยู่จำนวนมาก แต่นักวิทยาศาสตร์เฝ้าระวังพร้อมขึ้นทะเบียนไว้อย่างละเอียดมีประมาณ 1,800 ดวง หากดวงไหนพุ่งใกล้โลกผิดปกติจะประกาศคำเตือนทันที

        "ถามว่าประเทศไทยเสี่ยงอันตรายหรือไม่ ตอนนี้ไม่มีใครตอบได้ ต้องให้เฉียดเข้ามาใกล้กว่านี้มากๆ อีก 10 ปีข้างหน้า ถึงจะมีคำตอบชัดเจนกว่านี้  เพราะดาวเคราะห์เหล่านี้ไม่มีแกนกลาง ทำให้วิถีโคจรไม่เสถียร หมุนไปมาอย่างไร้ทิศทาง บางครั้งถูกแรงดึงดูดจากดวงอาทิตย์ หรือดาวพฤหัสบดีจึงเปลี่ยนเส้นทางตลอดเวลา ตอนนี้ผู้เชี่ยวชาญใช้คำว่าอยู่ระยะแค่มีโอกาส "เฉี่ยวใกล้โลก" ยังไม่ถึงขนาดเรียกว่าจะพุ่งชนโลก วันไหนที่ปะทะหรือพุ่งชนโลก คำเรียกดาวเคราะห์จะถูกเปลี่ยนไปเรียกว่า "อุกกาบาต"  ตราบใดที่ยังโคจรอยู่บนจักรวาลควรเรียกว่าดาวเคราะห์น้อยไปก่อน ยังไม่ต้องเรียกว่าอุกกาบาต"


       อ.ปีเตอร์ให้ข้อมูลต่อว่า นาซาเฝ้าระวัง เอจี 5 เป็นพิเศษ เพราะเฉียดเข้าใกล้โลกเป็นระยะๆ พวกเขาสำรวจวงโคจรทุก 2 ปี มีเวลาอย่างน้อย 28 ปี เชื่อว่าถึงเวลานั้นโลกมนุษย์คงผลิตคิดค้นเทคโนโลยีระดับไฮเทค สามารถเข้าไปเบี่ยงเบนวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยตัวนี้ไม่ให้พุ่งปะทะโลก แต่กรณีที่มีผู้เสนอให้นำจรวดนิวเครียร์หรืออาวุธร้ายแรงต่างๆ ยิงเข้าไปเพื่อให้มันแตกกระจายเป็นลูกเล็กๆ นั้น หลายคนไม่เห็นด้วยเพราะยิ่งลูกเล็กก็จะยิ่งกระจัดกระจายดูแลยากมากขึ้น มีผู้เสนอให้นำใบพัดพลังลม หรือพลังแสงอาทิตย์ เข้าไปติดในดาวเคราะห์ดวงนี้ เพื่อบังคับให้หมุนออกห่างๆ โลกมนุษย์ สมมุติว่าดาวเคราะห์ เอจี 5 ตัวนี้จะพุ่งเข้ามายังโลกจริง เชื่อว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในจุดเสี่ยงมีเวลาเตรียมตัวหลบภัยอย่างน้อย 1 ปี
        ทั้งนี้ ดาวเคราะห์น้อย (asteroid) นั้น คือดวงดาวขนาดเล็กๆ หลายหมื่นดวง ส่วนใหญ่โคจรอยู่ระหว่างดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี บางครั้งดาวเคราะห์น้อยจะพุ่งชนกันเอง ทำให้เกิดสะเก็ดดาวแตกกระจายออกมา มีทั้งขนาดใหญ่และเล็ก สะเก็ดดาวเหล่านี้หากมีขนาดใหญ่ เมื่อพุ่งผ่านชั้นบรรยากาศของโลกจะไม่โดนเสียดสีจนไหม้หมด ทำให้เหลือบางส่วนกลายเป็นก้อนอุกกาบาตตกสู่พื้นโลก  
        "อ.อารี สวัสดี" นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวเตือนทิ้งท้ายว่า มนุษย์ไม่ควรตื่นเต้นเรื่องดาวเคราะห์ เอจี 5 มากนัก เพราะปัจจุบันมีอุกกาบาตพุ่งตกลงมายังโลกทุกวันอยู่แล้ว ทั้งลูกเล็กลูกใหญ่ โดยแบ่งเป็น 2 ชนิดคือ อุกกาบาตที่เป็นโลหะ กับ ที่ไม่ใช่โลหะ สำหรับดาวเคราะห์น้อย เอจี 5 นั้น หากเข้าใกล้โลกจริง องค์การนาซาได้จัดเตรียม "โครงการดีพ อิมแพ็ก" (Deep Impact) ไว้แล้ว วัตถุประสงค์หลักของโครงการนี้ก็คือการเข้าไปจัดการสิ่งแปลกปลอมจากอวกาศที่จะพุ่งชนโลก เชื่อว่าขณะนี้มีหลายฝ่ายกำลังเฝ้าดูพิกัดทางดาราศาสตร์ที่แน่นอนของดาวเคราะห์ดวงนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงหรือเคลื่อนไหวอย่างไรคงประกาศให้โลกทราบ วันนี้ยังบอกไม่ได้ว่า จะพุ่งชนโลกหรือไม่ หรือ จะพุ่งชนที่พื้นที่ประเทศใด

                       ปริศนา "ทังกัสกา" ดาวเคราะห์ชนโลก

          นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์ว่าภายใน 600 ล้านปีที่ผ่านมา โลกมนุษย์ถูกดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนอย่างน้อย 2 พันครั้ง แต่เนื่องจากผิวโลกมีการเปลี่ยนแปลงทำให้ปรากฏหลุมอุกกาบาตอย่างชัดเจนพียง 139 หลุมเท่านั้นเอง เช่น เมื่อ 30 มิถุนายน 2451 พบหลุมอุกกาบาตเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 44 เมตร บริเวณเหนือแม่น้ำทังกัสกาตอนกลางโซเวียต (Tunguska) ยังไม่แน่ชัดว่าพุ่งชนกี่ร้อยปีมาแล้ว รู้เพียงว่าพื้นที่ป่าสูญหายไปอย่างน้อย 2 พันตร.กม.

       หากเปรียบเทียบกับระเบิดปรมาณูที่ใช้ถล่มเมืองฮิโรชิมาของญี่ปุ่นแล้ว มีความรุนแรงมากกว่า 1,000 เท่า นักฟิสิกส์จากห้องปฏิบัติการอัลบูเคอร์คิว (Sandia National Laboratory in Albuquerque) นิวเม็กซิโก ระบุว่า อุกกาบาตแห่งทังกัสกาอาจมีเส้นผ่าศูนย์กลางแค่ 20 เมตรเท่านั้น  เกือบทุกปีนักวิทยาศาสตร์จากรัสเซียจะนัดรวมตัวกัน เพื่อถกเถียงเรื่องทังกัสกา พร้อมใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ค้นหาสาเหตุให้ชัดเจน แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครไขปริศนา "ทังกัสกา" ได้ 

แสดงความคิดเห็น

>

2 ความคิดเห็น