Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

สนพ. จับมือ มจพ. ศึกษาความเสียหายจากไฟฟ้าดับ เตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์วิกฤติด้านพลังงานไฟฟ้า

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

สนพ. จับมือ มจพ. ศึกษาความเสียหายจากไฟฟ้าดับ
เตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์วิกฤติด้านพลังงานไฟฟ้า
…………………………………………………

สนพ. จับมือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ศึกษาความเสียหายจากไฟฟ้าดับ เผยผลการศึกษาทั้งประเทศอัตราค่าความเสียหายอยู่ที่ 82 บาทต่อหน่วย และ 85,609 บาทต่อครั้ง

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ.ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) จัดทำโครงการศึกษาอัตราความเสียหายอันเนื่องมาจากไฟฟ้าดับ (Outage Cost) เพื่อประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจเนื่องมาจากไฟฟ้าดับ ของผู้ใช้ไฟฟ้า ภายใต้การดูแลของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และนำข้อมูลที่ได้มาใช้ประโยชน์ในการวางแผน การลงทุนและดำเนินการในกิจการไฟฟ้า การจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย รวมถึงการจัดทำแผนเตรียมพร้อมรองรับสภาวะวิกฤติด้านพลังงานไฟฟ้า นอกจากนี้ ข้อมูลที่ได้ยังสามารถมาใช้ประกอบการพิจารณาอัตราค่าไฟฟ้าในอนาคต เพื่อให้เกิดการผลิต และการให้บริการไฟฟ้าที่มีความมั่นคง และเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนทุกภาคส่วนในระดับที่เหมาะสม และเป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพด้วย
โดยได้ทำการสำรวจความเห็นผู้ใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 6,088 ตัวอย่าง แบ่งผู้ใช้ไฟฟ้าออกเป็น 8 ประเภท ได้แก่ บ้านอยู่อาศัย กิจการขนาดเล็ก กิจการขนาดกลาง กิจการขนาดใหญ่ กิจการเฉพาะอย่าง องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร กิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร และผู้ใช้ไฟฟ้าชั่วคราว โดยใช้หลักการแนวคิดในการจัดทำแบบสอบถาม 3 วิธี คือ การประเมินความเสียหายโดยตรง(Direct Assessment) เป็นการประเมินสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและสามารถประมาณได้โดยตรงจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากไฟฟ้าดับ เช่น ค่าแรง พนักงาน ค่าความเสียหายจากวัตถุดิบ ค่าใช้จ่ายในการเริ่มดำเนินการใหม่ และความเสียหายเนื่องจากเครื่องจักรและอุปกรณ์ การประเมินโดยอ้อม (Indirect Assessment) ประเมินความเสียหายจากสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น ความไม่สะดวกสบาย หรือความไม่พึงปรารถนาที่เกิดเนื่องจากไฟฟ้าดับ ซึ่งเป็นการวัดจากความรู้สึกของผู้ตอบเป็นสำคัญ และเหตุการณ์สมมติ (Contingent Valuation) เป็นการประเมินที่เป็นส่วนเสริมของการประเมินความเสียหายโดยตรง ที่อาศัยหลักการของความเต็มใจจ่าย และความเต็มใจที่จะยอมรับ โดยผลการศึกษาพบว่า อัตราความเสียหายเนื่องจากไฟฟ้าดับของทั้ง 3 การไฟฟ้า และของทั้งประเทศ ณ ปี 2555 ค่าดัชนีความเสียหายต่อพลังงานเมื่อเกิดไฟฟ้าดับของ กฟภ. อยู่ที่ 86.30 บาทต่อหน่วย ซึ่งมีค่าสูงกว่า กฟน.ที่มีค่าความเสียหายต่อพลังงานเมื่อเกิดไฟฟ้าดับ อยู่ที่ 74.96 บาทต่อหน่วย ด้วยเหตุผลหลักของความเสียหายแบบแยกประเภทผู้ใช้ไฟฟ้า ขึ้นอยู่กับกิจกรรมผู้ใช้ไฟฟ้า ขนาดของกิจการดำเนินงาน และความต้องการปริมาณพลังงานไฟฟ้า สำหรับภาพรวมอัตราความเสียหายทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 82 บาทต่อหน่วยและ 85,609 บาทต่อครั้ง
“ สนพ. ได้ทำการศึกษาความเสียหายเนื่องจากไฟฟ้าดับ ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ซึ่งผลการศึกษาได้ถูกนำไปใช้อ้างอิงในการวางแผนระบบไฟฟ้าของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อให้ข้อมูลในการศึกษาฯ มีความทันสมัย และมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและลักษณะการใช้ไฟฟ้า ในปี 2555 สนพ.จึงได้ร่วมกับ มจพ. ทำการศึกษาผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง จากผู้ใช้ไฟฟ้าแต่ละประเภทที่สอดคล้องกับโครงสร้างค่าไฟฟ้าในปัจจุบันเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความทันสมัย และนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์และวางแผนการจัดการด้านพลังงานของประเทศต่อไป” ผอ.สนพ. กล่าว

.................................................................

แสดงความคิดเห็น

>