Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

เคล็ด(ไม่ลับ)สุดชิค พิชิตแต่ละรายวิชา ( Part 1 )

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
สวัสดีท่านผู้อ่านที่รัก หลังจากที่ผมได้เขียนกระทู้ไป 2 กระทู้ก่อนหน้านี้ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ผมดีใจที่ทั้ง 2 กระทู้ได้เป็นแรงบันดาลใจ ได้เป็นต้นแบบ ได้เป็นประโยชน์แก่น้องๆรุ่นหลังที่จะนำไปใช้การสอบเข้ามหาวิทยาลัย มีน้องๆหลายคนฝากเข้ามาว่า อยากให้ผมแนะนำวิธีการจัดการกับข้อสอบในแต่ละรายวิชาซึ่งมีมากมายเหลือเกิน ทำอย่างไรให้สามารถอ่านได้ทันและนำไปใช้ในการสอบได้จริง วันนี้ผมเลยขอถือโอกาสแบ่งปันเคล็ด(ไม่ลับ) วิธีการต่างๆจากประสบการณ์ของตัวผมเองและจากที่ผมได้มีโอกาสศึกษาวิธีการของคนที่ประสบความสำเร็จหลายๆคนครับ 

>> คณิตศาสตร์ <<
วิชานี้ถือเป็นวิชาที่หลายๆคนกลัวและไม่ชอบเอาซะเลย อีกทั้งข้อสอบในบางสนามอย่าง PAT1 ก็ออกมาอย่างยากเย็นเสียเหลือเกิน กลายเป็นว่าทำข้อสอบเลขทีไรก็ต้องหลับรอหมดเวลาทุกที 555 

เราต้องเข้าใจธรรมชาติของวิชาคณิตศาสตร์ก่อนว่า เป็นวิชาที่เน้นทักษะกระบวนการคิดการแก้ปัญหาเพื่อที่จะได้มาซึ่งผลลัพธ์หรือคำตอบ เพราะฉะนั้นการที่จะจัดการกับข้อสอบวิชานี้ได้ เราก็ต้องเสริมสร้างทักษะกระบวนการคิดของเรา 

ทักษะที่ว่านี้เกิดจากการฝึกทำโจทย์จนชำนาญ การฝึกทำโจทย์ด้วยตนเองอยู่เสมอตั้งแต่ระดับง่ายไปยากจะทำให้เราค่อยๆรู้จักเชื่อมโยงความคิด ช่วงแรกๆอาจจะท้อเมื่อเจอโจทย์ยากๆ ขอเพียงแต่อย่าหมดความพยายาม ค่อยๆคิด ค่อยๆฝึกไป รับรองว่าต้องดีขึ้นแน่นอนครับ การสักแต่ท่องสูตรเพียงอย่างเดียวไม่มีความหมายนะครับ เราต้องเข้าใจที่มาของสูตร เข้าใจการนำไปใช้ แล้วเราจะตอบคำถามกับตัวเองได้ด้วยว่า เราจะนำคณิตศาสตร์ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร 

สำหรับเนื้อหาที่ผมคิดว่าเป็นพื้นฐานของทุกๆบท ที่ทุกคนควรจะฝึกฝนให้มันอยู่ในสายเลือด คือ เซต ตรรกศาสตร์ และระบบจำนวนจริง เราใช้ 3 บทนี้ไปช่วยในการทำโจทย์บทอื่นๆได้ โดยเฉพาะระบบจำนวนจริง สังเกตดูสิว่า โจทย์ส่วนใหญ่ของบทอื่นๆจะต้องมีการแก้สมการ อสมการ เขียนกราฟ เราก็จะใช้ความรู้จากระบบจำนวนจริงนี่แหละเป็นพื้นฐาน 

ส่วนเนื้อที่ออกข้อสอบมากที่สุดในทุกสนามสอบ คือ สถิติ ซึ่งเป็นบทที่ง่าย อาศัยการเข้าใจและจำสูตรต่างๆได้ ควรจะฝึกให้ชำนาญและเก็บให้ได้ให้ห้องสอบ อีกอันทีหลายๆคนชอบคือ ความน่าจะเป็น ก็เป็นบทที่ออกข้อสอบค่อนข้างเยอะ และออกเป็นแพทเทิร์นเดิมๆ 

บางบทอย่าง ตรีโกณมิติ  ข้อสอบมักจะออกยาก ประยุกต์ซับซ้อน ทำให้เสียเวลาในการคิด ( เวลาสอบจริงๆถ้าดูแล้วทำไม่ได้ก็ข้ามเลยดีกว่า )  ส่วน ภาคตัดกรวย เป็นอีกบทที่หลายๆคนไม่ชอบเนื่องจากสูตรที่เยอะ ข้อสอบมักจะออกประยุกต์นำทั้งวงกลม วงรี พารา ไฮเปอร์มารวมกัน อาจจะเสียเวลาทำหน่อย ( ในการสอบจริงอาจจะเก็บไว้ทำข้อท้ายๆ ) 

บทพระเอกอย่าง แคลคูลัส ถือเป็นบทที่ถ้าเข้าใจแล้วสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาของบทอื่นๆได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น สามารถใช้แคลคูลัสช่วยในการวาดกราฟ หาคำตอบสมการ เป็นต้น 

ข้อควรพึงระลึกเสมอของการทำข้อสอบคณิตศาสตร์ คือ จงมีความรอบคอบ เพราะถึงแม้เราจะคิดมาถูกทุกขั้นตอน แต่ดันคิดเลขผิดในบรรทัดสุดท้าย มันจะไปมีความหมายอะไร การทำข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยเขาไม่มีการมาให้คะแนนวิธีทำเหมือนที่โรงเรียน จริงป่าว ? 555 


>> ภาษาอังกฤษ << 
ภาษาอังกฤษ เป็นอีกหนึ่งวิชาที่สำคัญ เพราะบางคณะ บางมหาวิทยาลัยได้กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำ หรือเปอร์เซ็นต์สำหรับวิชานี้ไว้สูงมาก เรียกได้ว่าถ้าใครทำคะแนนวิชานี้ได้ดีก็ได้เปรียบสุดๆ 

ข้อสอบภาษาอังกฤษ โดยส่วนใหญ่จะแบ่งออกเป็น 4 part คือ Expression , Vocabulary , Grammar และ Reading  เรามาทำความเข้าใจกับแต่ละส่วนกัน 

Expression หรือ Conversation อาจเรียกได้ว่าเป็น Part ที่ง่ายที่สุดของใครหลายๆคน ข้อสอบจะออกเป็นบทสนทนาที่พบได้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงอาจจะมีถ้อยคำสำนวนที่เป็นแบบเฉพาะ ( idiom) ที่ควรรู้ การทำข้อสอบเก่าจะทำให้เราเจอสำนวนที่หลากหลาย และค่อยๆจดจำไปทีละนิด ( ข้อสอบ Ent ช่วงปี 40-50 ) ใน part นี้จะมีสำนวนที่น่าสนใจเยอะมาก ลองไปหาฝึกกันดู  

Vocabulary part นี้ต้องอาศัยความขยัน ท่องจำคำศัพท์อย่างสม่ำเสมอ คนที่รู้ศัพท์มากย่อมได้เปรียบ การท่องจำศัพท์ควรจำเป็นเซตของคำ synonym เดียวกัน ( ข้อสอบออกบ่อย ) หรือถ้ามีเวลาว่าง อาจจะเรียนรู้จาก prefix suffix แต่ละข้อสอบจะมีประเภทของคำศัพท์ที่มักออกบ่อยๆ ต้องท่องจำดีๆ ( ปัจจุบัน มีชีทคำศัพท์ของทั้ง Enconcept กับครูสมศรี แจกฟรี ซึ่งรวบรวมไว้ดีมาก อาจจะท่องจากชีทนั้นก็ได้ ) 

Grammar ข้อสอบใน part นี้มีหลายแบบ ทั้ง cloze test , เติมรูปประโยคให้ถูกต้อง และฮิตที่สุดคือ Error ในที่นี้ขอแนะนำวิธีการจัดการกับข้อสอบ Error นะครับ
>> Error เป็นรูปแบบข้อสอบที่สามารถวัดไวยกรณ์ภาษาเราได้ในทุกๆเรื่อง พูดง่ายๆคือ เป็นการรวมไวยกรณ์หลายๆเรื่องเข้าด้วยกัน เราต้องหาจุดผิดในแต่ละข้อให้ได้ ขอแนะนำอย่างนี้ว่า เราควรจะมีความรู้พื้นฐานในแกรมม่าแต่ละบท
โดยเฉพาะในเรื่องของ tense , adjective & adverb , word form , subject and verb agreement , subjunctive และ cluase แบบต่างๆ เนื้อหาที่กล่าวมาทั้งหมดนี้มักจะเป็นส่วนที่ Error ให้หาตัวผิด 
การทำข้อสอบ Error บ่อยๆ จะทำให้เราได้รู้ข้อผิดพลาดของตนเอง รู้ว่าเราชอบผิดจุดไหน ซึ่งจะเป็นตัวที่สอนให้เรารู้จักวิธีการมองรูปประโยค ครั้งต่อๆไปเราก็จะนำจุดที่เราเคยผิด เคยนึกไม่ถึงมามองเป็นจุดแรก ค่อยๆฝึกไปครับ ไม่ยากอย่างที่คิด 


Reading ส่วนนี้ถือเป็นส่วนสำคัญมากของข้อสอบส่วนใหญ่ อย่างเช่น ข้อสอบโควตามช. ให้น้ำหนักคะแนนส่วนนี้ถึง 40 % เป็นการวัดทักษะภาษาทุกๆอย่าง ไม่ว่าจะไปเป็น vocab หรือ grammar และการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ต่างๆ ข้อสอบ reading มีหลายแบบ ทั้งเป็นพวกโฆษณาต่างๆ ฉลากยา ใบสมัครงาน หรือเป็นบทความ
เทคนิคในการทำข้อสอบ part นี้ให้ทันเวลาคือ การอ่านคำถามก่อน แล้วหา keyword เพื่อนำไปหาคำตอบในเนื้อเรื่อง วิธีการนี้จะช่วยให้เราไม่จำเป็นต้องอ่านเนื้อหาทั้งหมดก็ตอบคำถามได้ ลองคิดดูว่า passage บางอันยาวเป็นหน้า แต่ถามแค่ 3 ข้อ มันไม่คุ้มกับการนั่งอ่านทั้งหมดหรอก จริงป่าว 55 

วิชานี้ผมมีหนังสือแนะนำ คือ ซีรีย์ของดร.ศุภวัฒน์ ผมฝึกจากหนังสือของดร.ทุกเล่มขอบอกว่า ดีมากๆเลย โดยเฉพาะ vocab และ error 

>> สังคมศึกษา <<
วิชานี้เป็นอีกหนึ่งวิชาปราบเซียน ความยากของมันอยู่ที่เนื้อหาที่มีมากมายเหลือเกินครอบจักรวาล เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยสารพัด ความรู้ทั่วไป ข่าวสารต่างๆในชีวิตประจำวัน เยอะแยะมากมายไม่เคยหยุดยิ่ง ด้วยเหตุนี้ทำให้หลายคนท้อ หมดกำลังใจในการอ่านและทิ้งวิชานี้ไป ผมจะลองแนะนำวิธีการจำของผมที่ได้ผลค่อนข้างดีนะครับ แยกเป็น part

ศาสนา อาจเป็นพาร์ทที่คนไม่ชอบมากที่สุด ( ผมด้วย ) ด้วยเนื้อหาที่มักมีคำศัพท์ภาษาบาลีสันสฤตในสมัยพระพุทธศาสนา หรือภาษาแปลกๆอื่นๆที่ไม่คุ้นหูในศาสนาอื่นๆ ในการอ่านเราควรเน้นหลักธรรมที่สำคัญ ข้อสอบในปัจจุบันมักสร้างสถานการณ์มาแล้วถามเราว่าควรใช้หลักธรรมอะไร รวมถึงศาสนพิธีต่างๆในชีวิตประจำวันของคนไทยเกี่ยวข้องกับงานประเพณีทางพระพุทธศาสนา ข้อสอบบางสนามจะถามพุทธประวัติ บุคคลสำคัญบางคน 

หน้าที่พลเมือง เป็น part ที่ใหญ่ที่สุดของวิชาสังคมก็ว่าได้ แยกย่อยเป็นหลายๆแขนง เช่น สังคมศาสตร์  รัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ มาว่ากันทีละ part ย่อยดีกว่า
สังคมศาสตร์ เราต้องอ่านและเข้าใจ เน้นรูปแบบโครงสร้างทางสังคม ( แนะนำให้วาดเป็นแผนผัง จะจำง่าย ) เข้าใจความหมายของพวกการจัดระเบียบทางสังคม สถาบันทางสังคม เป็นต้น 
รัฐศาสตร์ เน้นความเข้าใจเกี่ยวกับการปกครองรูปแบบต่างๆ และการปกครองของประเทศไทย พวกการปกครองส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น สส. สว. ต่างๆ ( อันนี้ก็ขอแนะนำให้วาดเป็นแผนผัง เชื่อมโยงแต่ละฝ่าย จะง่ายต่อการจำ ) 
นิติศาสตร์ เน้นความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายทั่วๆไปในชีวิตประจำวัน บางข้อสอบจะเน้นพวกกระบวนการดำเนินคดีทางแพ่งและอาญา 

เศรษฐศาสตร์ เป็น part ที่ผมชอบที่สุดเลยแหละ เวลาอ่าน เน้นพวกความหมายของเศรษฐศาสตร์ ปัญหาทางเศรษฐศาสตร์ พวกเงินเฟ้อเงินฝืด และที่ข้อสอบปัจจุบันชอบออกคือ เศรษฐศาสตร์ภาครัฐบาล พวกบัญชีการชำระเงินระหว่างประเทศ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เป็นต้น ถ้าเข้าใจก็จะทำข้อสอบได้สบายๆ ( part นี้ส่วนใหญ่ออกแต่แบบเดิมๆ แพทเทิร์นเดิมๆ ) 

ภูมิศาสตร์  เป็น part ทีเรียกได้ว่าข้อสอบ เนื้อหาอยู่นิ่งมากที่สุด จริงมั้ยหล่ะ เพราะภูเขา แม่น้ำ ทะเล มันก็มีเท่าเดิม ไม่ได้เพิ่มขึ้นทุกวัน 555 สำหรับพาร์ทนี้ เน้นอยูู่ 3 ส่วน คือ 
- เครื่องมือทางภูมิศาสตร์ จำให้แม่น อะไรใช้ทำอะไร 
- ภูมิศาสตร์ประเทศไทย จำลักษณะคล่าวๆของแต่ละภาค ชื่อแม่น้ำ ภูเขาที่สำคัญ 
- ปัญหาสิ่งแวดล้อม เน้นพวกสนธิสัญญาต่างๆ

ประวัติศาสตร์ มีทั้งประวัติศาสตร์ไทยและสากล เคล็ดลับของการเข้าใจประวัติศาสตร์ คือ การจัดลำดับเหตุการณ์ตามเวลาให้ดี 
- ประวัติศาสตร์ไทย ข้อสอบปัจจุบันมักเน้นของรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะสมัยรัชกาลที่ 4-5 ช่วงสมัยการปรับปรุงประเทศ ไปจนถึงการปฏิรูปการปกครอง 
- ประวัติศาสตร์สากล เน้นการพัฒนาการของยุคต่างๆ ตั้งทางฝั่งตะวันตกและตะวันออก จึงผลงานที่สำคัญของแต่ละอาณาจักร พาร์ทนี้การจำช่วงเวลาของเหตุการณ์ได้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เช่น C.13-14 เริ่มมีการสำรวจทะเล C.17 ปฏิวัติวิทยาศาสตร์ C.18 ปฏิวัติอุตสาหกรรม นำไปสู่ C.19 การล่าอณานิคม เป็นต้น เห็นป่าวครับว่าจะทำให้เราสามารถเรียงลำดับเหตุการณ์ก่อนหลังได้ดี ไม่สับสน 

ส่วนเรื่องของความรู้ทั่วไป ก็อย่าอ่านหนังสืออย่างเดียว หาเวลาติดตามข่าวสารของโลกบ้างนะครับ ให้รู้ว่าโลกเราพัฒนาไปถึงไหนแล้ว มีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้น บางเหตุการณ์อาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศของเราในอนาคตก็ได้นะ อย่างเช่น AEC 

>> ภาษาไทย <<
เป็นวิชาภาษาประจำชาติของเราเอง ในความคิดของผม ขอแบ่งข้อสอบวิชานี้ออกเป็น 2 ส่วนนะครับ 
- หลักภาษา มีเยอะแยะมากมายหลายเรื่อง ควรจำแบบมีหลักการ มีเทคนิคหน่อยก็ดี ( การเรียนพิเศษกับคนที่คลุกคลีกับข้อสอบวิชานี้กับสังคม ผมว่าได้ประโยชน์สุดๆ อย่างน้อยเราก็ไม่ต้องอ่านแบบครอบจักรวาล เน้นที่ข้อสอบออกก็พอ ) แต่ต้องทำใจกับข้อสอบบางข้อ เช่น พวกถามคำศัพท์ เวลาออกข้อสอบคนออกเขาเปิดพจนานุกรมออก แต่ตอนเราทำเราไม่ได้มีพจนานุกรมเหมือนคนออก 555 เพราะฉะนั้นทำไม่ได้ก็ไม่ต้องคิดมากหรอก แล้วก็หลักภาษาบางทีก็เถียงกันระหว่างแบบเก่ากับแบบใหม่ อันนี้ก็ต้องแล้วแต่คนออกอีก ต้องทำใจ 

- การประยุกต์ใช้ พาร์ทนี้เป็นหัวใจของข้อสอบภาษาไทยก็ว่าได้ เช่น พวกการเขียน การพูด การอ่าน ข้อสอบต้องการวัดทักษะการใช้ภาษา การวิเคราะห์ของเรา เป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน ถ้าฝึกทำบ่อยๆรับรองว่าจะเริ่มเห็นแนวทางและทำได้แน่นอน เป็นส่วนที่เก็บคะแนนได้ง่ายสุดๆ 

สำหรับอีก 3 วิชาสายวิทยาศาสตร์ที่เหลือ ผมขอนำไปไว้ในตอนหน้านะครับ ไม่งั้นกลัวมันจะยาวเกินไป ขอบคุณที่ติดตามอ่านมาจนจบ 555 ทั้งหมดนี้เป็นเพียงวิธีการและเนื้อหาที่ผมได้วิเคราะห์ออกมาด้วยตัวผมเอง ถ้าใครมีความคิดเห็นไม่ตรงหรือมีข้อผิดพลาดประการใด ผมต้องขอโทษด้วยจริงๆครับ เป็นกำลังใจให้น้องๆทุกคนในการเตรียมตัวสอบนะครับ อย่าลืมบอกตัวเองไว้ว่า " เราทำมันได้ดี " สวัสดีครับ


ปล. 1 กระทู้1 แชร์เคล็ดลับพิชิตฝัน http://www.dek-d.com/board/view/3461895/
        กระทู้ 2 5 สาเหตุที่อาจทำให้คุณไม่ถึงฝัน http://www.dek-d.com/board/view/3486356/

แสดงความคิดเห็น

>

5 ความคิดเห็น

Nlucky 18 เม.ย. 58 เวลา 12:23 น. 1

นี้แหละกระทู้แห่งชีวิต 
มีทริคสำหรับชีววิทยาไม๊ครับ มันเยอะมาก 

0
g-jeejy 18 เม.ย. 58 เวลา 12:43 น. 2

นี่คือกระทู้ที่เราต้องการรรรรรรรรรรร TT
ขอบคุณจขกท. มากค่ะ
กราบบบบบ -/\-
เชียร์ลีดเดอร์

0