Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

แรงงานทาส เบื้องหลังอาหารทะเลผลพวงจากการประมงเกินขนาด

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

อาหารทะเลจานโปรดที่อยู่หน้าคุณ มาจากบาดแผลของทะเลและแรงงานทาสหรือเปล่า…?

เมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา การใช้แรงงานทาสและการละเมิดสิทธิมนุษยชนบนเรือประมงอวนลากบนเรือประมงไทยที่ดำเนินการโดยบริษัทชื่อดังซึ่งจัดส่งผลิตภัณฑ์อาหารทะเลให้กับซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่และบริษัทแปรรูปอาหารทะเลทั่วสหรัฐอเมริกา ได้กลายเป็นข่าวอื้อฉาวในไทย ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเริ่มหันมาตั้งคำถามว่า อาหารทะเลที่เรากินอยู่นั้นมีส่วนทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ แต่อีกประเด็นหนึ่งนอกเหนือจากปัญหาแรงงานทาสในห่วงโซ่การผลิตอาหารทะเลที่เราอาจยังไม่รู้ คือการประมงเกินขนาดอันเนื่องมาจากอุตสาหกรรมการประมงที่เน้นการจับปลาปริมาณมากด้วยเครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง  ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาต่างๆ  ทั้งแรงงานทาส ปลาที่เหลือน้อยลงจนใกล้หมดไปจากท้องทะเล รวมถึงทำให้ผู้บริโภคกลายเป็นผู้สร้างบาดแผลให้กับท้องทะเล และแรงงานโดยไม่รู้ตัว


Transshipment (การลักลอบขนถ่ายสินค้าและสัตว์น้ำกลางทะเล) วิธีเลี่ยงการประมงผิดกฏหมาย เอื้อต่อการเกิดแรงงานทาส

เบื้องหลังอาหารทะเลผลพวงจากการประมงเกินขนาด คือปัญหาแรงงานทาส ที่เกิดขึ้นควบคู่กับการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU) โดยเรือประมงที่ไม่สนใจต่อปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นก็ไม่ได้ใส่ใจว่าการประมงที่ทำอยู่นั้นส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างร้ายแรง หรือละเมิดกฏหมายใดบ้างของการประมง หนึ่งในวิธีการหลบซ่อนการประมงที่ผิดกฏหมายของตน และยืดเวลาที่เรือประมงจะอยู่ในน่านน้ำได้ โดยที่การส่งสินค้าจากประเทศ A  ผ่านพรมแดนประเทศ B  ไปยังประเทศ C  โดยมีการขนถ่ายสินค้าในประเทศ B ในเขตปลอดภาษี  หรือถ่ายลำไปยังพาหนะลำเลียงอื่น แต่ไม่ผ่านพิธีการศุลกากรของประเทศ แทรกรูปการขนย้ายให้ชัดเจนตรงนี้ เช่น ปัญหาที่เกิดขึ้นในทะเลเขตน่านน้ำอินโดนีเซีย โดยเรือประมงเถื่อนของไทย หรือเรือจดทะเบียนถูกต้อง จะขนถ่ายสินค้าจากเรือแม่ที่จอดรอการขนถ่ายปลากลางทะเลจากเรือประมง หลังจากนั้นจะนำปลาทูน่ามาแปรรูป (นึ่ง/แช่แข็ง) และขนส่งไปยังท่าเรือของบริษัทแปรรูป โดยปลาเหล่านั้น ไม่ถูกจดบันทึกและรายงานไปยังเจ้าของน่านน้ำ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียมการจับให้กับประเทศเจ้าของน่านน้ำ ก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น การจับปลาที่ไม่ใช่ปลาเป้าหมายขึ้นมา (Bycatch) ซึ่งมีปลาที่ยังเป็นขนาดเล็ก และปลาที่ใกล้สูญพันธุ์อย่าง ฉลาม เต่าทะเล และอื่นๆ วิธีนี้ เรียกว่า Transshipment การเปลี่ยนถ่ายสินค้าและน้ำมันกลางทะเลนี่เองที่เอื้อให้เกิดแรงงานทาส เนื่องจากแรงงานจะถูกบังคับให้อยู่กลางทะเลนานขึ้น ซึ่งบางครั้งอาจนานเกินหนึ่งปี ปัญหาเกิดจากการควบคุมตรวจสอบของภาครัฐผ่านเอกสารเท่านั้น ซึ่งไม่ทั่วถึงพอ เอื้อต่อการทำผิดกฎหมาย ประกอบกับผลประโยชน์จำนวนมหาศาลที่ได้จากท้องทะเลนั้นเย้ายวนให้เกิดการกระทำการละเมิดสิทธิพื้นฐานของแรงงานขึ้น


แรงงานของอุตสาหกรรมประมง กลุ่มแรงงานที่สภาพการทำงานแย่ที่สุดในโลก


“อยากให้ผู้ประกอบการมีจิตสำนึกมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อเหลือปลาให้ลูกหลานในอนาคตและมีความเป็นรับผิดชอบต่อการจ้างแรงงานบนเรือบ้าง เพื่อความเป็นธรรมลูกจ้างอย่างเรา เราก็เป็นคนเหมือนกัน”


ชีวิตของแรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมงเชิงพาณิชย์นั้นต้องเผชิญกับชะตาชีวิตที่แย่ที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน การบังคับให้ใช้แรงงาน และแม้แต่การฆาตรกรรม ซึ่งการหลบหนีและขอความช่วยเหลือจากกลางทะเลนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย แม้ว่าปัญหาแรงงานทาสนี้จะเกิดขึ้นมานาน แต่เพิ่งจะได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน โดย


กรีนพีซได้พูดคุยกับหนึ่งในแรงงานที่ถูกละเมิดสิทธิ หนึ่งในผู้รอดชีวิตจากธุรกิจการค้ามนูษย์ที่ทำให้เขาต้องตกเป็นแรงงานทาสบนเรือประมงสัญชาติไทยในน่านน้ำอินโดนีเซียเป็นเวลานานกว่า 4 ปี เขาเปิดเผยประสบการณ์ชีวิตอันเลวร้ายในอดีตที่ไม่มีวันลืมว่า เขาถูกนายหน้าหลอกด้วยการหว่านล้อมว่างานที่เสนอนั้นเป็นงานดีให้ผลตอบแทนสูง แต่เมื่อเขาไปยังอาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งซึ่งทำให้เขารู้ตัวว่ากำลังโดนหลอก เขาถูกขังรวมกับคนที่ถูกหลอกมาราวร้อยชีวิต และถูกส่งตัวไปทำงานบนเรือประมงทางตอนใต้ของประเทศไทย ซึ่งผ่านไปสักระยะ เขาจึงตัดสินใจไปทำงานบนเรือในน่านน้ำประเทศอินโดนีเซีย ด้วยแรงจูงใจของค่าตอบแทนที่จะได้ถึงปีละกว่าแสนบาท แต่การตัดสินใจในครั้งนั้นคือความผิดพลาดครั้งใหญ่ นอกจากไม่ได้รับค่าตอบแทนอย่างที่ควรจะเป็นแล้วยังต้องทำงานหนักมาก บางช่วงอาจต้องทำงานติดต่อกันเป็นเวลา 48 ชั่วโมง โดยไม่หยุดพัก  แม้กระทั้งเวลาเจ็บป่วย อาหารการกินบนเรือบางมื้อเป็นแค่ปลาทะเลต้มกับน้ำธรรมดาเท่านั้น


เรือประมงที่เขาทำงานอยู่นั้นเป็นเรือประมงพาณิชย์อวนลากโดยจะทำประมงอยู่ที่น่านน้ำอินโดนีเซียตลอด 4-6 ปี โดยไม่กลับประเทศไทย แต่จะใช้วิธีขนถ่ายปลาที่จับได้ส่งเรือใหญ่แทน และการลากอวนของเรือนั้นจะลากวันละ 4 รอบ ด้วยอวนตาถี่ที่ผิดกฎหมาย ซึ่งสัตว์น้ำที่ติดมานั้นเป็นสัตว์น้ำขนาดยังไม่โตเต็มวัน และบ้างก็เป็นสัตว์ที่ไม่ใช่เป้าหมายแต่ถูกอวนลากมาอย่าง ฉลาม และโลมา


เขาอดทนทำงานบนเรือเป็นเวลากว่า 3 ปีจึงตัดสินใจขอให้ไต๋กงเรือส่งกลับประเทศไทย เพราะหากต้องทำงานแบบนี้ต่อไปเขาคงต้องจบชีวิตที่นี่แน่ๆ แต่คำตอบที่ได้จากไต๋กงเรือคือ  “ถ้าอยากกลับบ้านกลับได้นะ แต่ต้องหาทางกลับบ้านเอง” จากคำตอบดังกล่าวเขาจึงตัดสินใจที่จะไปตายเอาดาบหน้า โดยการขึ้นบกที่ เกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย เพราะได้ยินคนงานด้วยกันเองพูดว่าที่เกาะนี้มีคนไทยที่ทนทำงานบนเรือไม่ไหวหนีมาอยู่เป็นจำนวนมาก และในที่สุดก็ได้รับการช่วยเหลือกลับประเทศไทยจากองค์กรส่งเสริมเครือข่ายแรงงาน (LPN: Labor Promotion Network) นี่เป็นเพียงเสียงของหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบที่โชคดีสามารถหนีรอดออกมาได้ แต่ยังมีแรงงานทาสที่กำลังเป็นเหยื่อของอุตสาหกรรมการประมงเกินขนาดอีกจำนวนมาก และยังคงเดินหน้าคุกคามท้องทะเล และใช้แรงงานมนุษย์อย่างไร้ความเป็นธรรม


สถานการณ์ของประเทศไทยกับปัญหาแรงงานทาสของอุตสาหกรรมประมง

ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตปัญหาการค้ามนุษย์ขั้นรุนแรง จนกระทั่งถูกลดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ในบัญชีกลุ่ม Tier 3 เป็นกลุ่มประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายสหรัฐอเมริกาและไม่มีความพยายามแก้ไขปัญหา ซึ่งถือเป็นลำดับที่ต่ำสุด หลังจากที่ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในกล่ม Tier 2 Watch list เป็นเวลาติดต่อกันสี่ปี และล่าสุดคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปเตือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเรื่องการขาดมาตรการที่เพียงพอในการต่อสู้การประมงผิดกฎหมาย ไม่มีการรายงานและขาดการควบคุม (IUU) และให้เวลา 6 เดือนในการดำเนินแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหา การประกาศของสหภาพยุโรปเป็นผลมาจากความล้มเหลวของประเทศไทยต่อการจัดการและต่อกรกับการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ทำลายล้างและไม่ยั่งยืน


ปัญหาแรงงานทาส การประมงเกินขนาดที่ผิดกฎหมายและใช้เครื่องมือทำลายล้าง ที่สร้างบาดแผลให้กับคนและท้องทะเลนั้นยังเป็นเรื่องที่คนกินอาหารทะเลส่วนใหญ่ยังคงไม่รู้ แต่เมื่อรู้ถึงปัญหาแล้ว ผู้บริโภคทุกคนจะเป็นตัวแปรสำคัญในการเปลี่ยนแปลงอนาคตของท้องทะเลและยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ ด้วยการปฏิเสธการซื้อและรับประทานอาหารทะเลที่มีที่มาจากการประมงที่เป็นปัญหาเหล่านี้ แล้วหันมาสนับสนุนอาหารทะเลที่มาจากการประมงทีรับผิดชอบ รวมถึงรัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องมีกฎหมายที่รัดกุม พร้อมกับดำเนินการบทลงโทษทางกฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาดตลอดช่วงห่วงโซ่การผลิตทั้งอุตสาหกรรมประมง และบริษัทจัดจำหน่าย นอกจากนี้ในส่วนของผู้ผลิตอาหารทะเลทั้งแช่แข็งและแปรรูป ตลาดและห้างร้าน ก็ยังเป็นภาคส่วนที่สำคัญที่เชื่อมโยงระหว่างชาวประมงและผู้บริโภค ภาคส่วนเหล่านี้จึงต้องมีความตระหนักและควรจะมีการสร้างเครื่องมือและนโยบายที่จะผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอาหารทะเลที่ปลอดจากการทำประมงแบบผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม ปราศจากการใช้แรงงานทาส เพื่อรักษาระบบเศรษฐกิจของไทยที่ไม่ถูกต่อต้านและกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ ไม่ทำร้ายทั้งลูกเรือและ ปกป้องอนาคตของทะเลไทยให้เรามีอาหารจานทะเลจานโปรดที่ไม่สร้างบาดแผลให้แก่ท้องทะเลอีกต่อไป



บทสัมภาษณ์และข้อมูลโดย สมฤดี ปานะศุทธะ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ -- เมษายน 24, 2558 ที่ 19:33

ที่มา : http://www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/52705/

แสดงความคิดเห็น

>