Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

เสี่ยงมั้ย? เรียนวิศวะการบิน สจล.-บพ.ยังไม่อนุญาตเปิดโรงเรียนการบิน(เถื่อน)

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

ปริญญาตรีนักบินฮิต มหาวิทยาลัยแห่เปิดรับนักศึกษา สจล.เปิดรับพฤษภาคมนี้ วิศวะการบิน ร่วมมือโรงเรียนการบินเอเชีย เอวิเอชั่น อะคาเดมี่ (AAA) ฝึกภาคปฏิบัติ วางเป้าปั้นนักบินรุ่นแรก 30 คน ค่าเรียน 3.52 ล้านบาทต่อคน ตรวจสอบพบโรงเรียนนี้ยังไม่ได้รับอนุญาตจาก บพ. แค่อยู่ระหว่างขอการรับรอง ประธานหลักสูตรยันนักศึกษาเรียนภาคปฏิบัติปี 4 แจงเลือก AAA เพราะต้องการพัฒนาสนามบินชุมพรคู่กัน ด้านสายการบินรับศิษย์การบินของแต่ละค่ายเป็นอีกหนึ่งทางเลือก รับจบตรีเรียนเพิ่ม 1 ปี คนวงในห่วง บพ.ลดมาตรฐานตรวจคุณภาพโรงเรียนการบิน หวั่นต่างชาติไม่เชื่อมั่นนักบินไทย

เสี่ยงมั้ย? เรียนวิศวะการบิน สจล.-บพ(กรมการบินพลเรือน) .ยังไม่อนุญาตเปิดโรงเรียนการบิน



อาชีพนักบินนอกจากจะเป็นอาชีพที่ใฝ่ฝันของบรรดาชายหนุ่มทั่วไปแล้ว นอกจากจะดูเท่ รายได้สูงและยังได้ไปต่างประเทศเป็นว่าเล่น แต่อาชีพนี้คงไม่ใช่ทุกคนจะเป็นนักบินได้ เพราะต้องใช้ทั้งความรู้ ความสามารถ ทักษะและประสบการณ์เป็นอย่างมากกว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นนักบินได้

ปัจจุบันอาชีพนักบินถือว่าเป็นอาชีพที่ยังขาดแคลน ยิ่งเมื่ออุตสาหกรรมการบินทั่วโลกที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำและเครื่องบินเช่าเหมาลำที่ผุดขึ้นมา เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจท่องเที่ยวและพฤติกรรมการเดินทางของคนไทยที่นิยมโดยสารทางอากาศมากขึ้น

อีกทั้งการผลิตบุคลากรด้านการบินยังคงทำได้อย่างจำกัด กลายเป็นช่องว่างให้เกิดโรงเรียนการบินเอกชนขึ้นมาเพื่อรองรับกับภาวะขาดแคลนของบุคลากรด้านการบิน รวมไปถึงมหาวิทยาลัยหลายแห่งได้เปิดสอนในหลักสูตรนักบินมากขึ้นเรื่อยๆ

ด้านหนึ่งนับเป็นการช่วยกันสร้างบุคลากรด้านการบินให้เพียงพอต่อความต้องการ อีกด้านหนึ่งคือธุรกิจอีกรูปแบบหนึ่งของมหาวิทยาลัยในยุคปัจจุบัน ที่ดึงดูดความสนใจของผู้อยากจะเรียนได้ไม่ยาก

สำหรับมหาวิทยาลัยที่เปิดหลักสูตรในระดับปริญญาตรีเพื่อผลิตนักบินป้อนเข้าสู่ระบบนั้น มีสถาบันการบิน มหาวิทยาลัยรังสิต หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชานักบินพาณิชย์

มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิด 3 หลักสูตร ประกอบด้วยหลักสูตรวิศวกรรมการบิน วิชาเอกซ่อมบำรุงอากาศยาน หลักสูตรวิศวกรรมการบิน วิชาเอกนักบินพาณิชย์ตรี (CPL) หลักสูตรวิศวกรรมการบิน วิชาเอกนักบินผู้ช่วยเครื่องบิน (MPL)

สถาบันเทคโนโลยีการบิน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์การบิน

มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาบริหารกิจการการบินและปีสี่เรียนนักบินพาณิชย์ตรี

วิทยาลัยนานาชาติภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานักบินพาณิชย์ตรี (นานาชาติ)
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายมหาวิทยาลัยที่เปิดการเรียนการสอนในสาขาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบิน
แต่จะเป็นสายงานอื่นที่ไม่ใช่การผลิตนักบิน เช่น งานด้านปฏิบัติการภาคพื้น งานด้านซ่อมบำรุงและอื่นๆ

สจล.ลงสนามหลักสูตรนักบิน

ล่าสุดคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีวิศวกรรมการบินและนักบินพาณิชย์ (Aeronautical Engineering and Commercial Pilot) ในปีการศึกษา 2558 โดยได้ลงนาม MOU ข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง 4 องค์กร ได้แก่ 1.รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. 2.กัปตันสนอง มิ่งเจริญ นายกสมาคมนักบินไทย 3.ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) 4.พลอากาศเอกอนิรุท กิตติรัต ผู้อำนวยการโรงเรียนการบินเอเชีย เอวิเอชั่น อะคาเดมี่ (AAA)

จุดเด่นที่แตกต่างของโครงการหลักสูตรปริญญาตรีวิศวกรรมการบินและนักบินพาณิชย์ คณะวิศวะลาดกระบัง แตกต่างจากแห่งอื่นๆ ด้วยความแข็งแกร่งทางวิศวกรรมเครื่องกล เน้นให้ผู้ที่ศึกษาได้เรียนรู้ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ พร้อมส่งเสริมความชำนาญในวิชาชีพด้วยการฝึกปฏิบัติงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นที่เดียวที่มีสนามบินชุมพรอยู่ติดกับสถาบัน

อีกทั้งยังเป็นการศึกษาในหลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อให้ทัดเทียมกับระดับนานาชาติ และโรงเรียนการบินที่ขอรับอนุญาตจากกรมการบินพลเรือน เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับวุฒิปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมการบินและนักบินพาณิชย์ และมีสิทธิ์สอบเพื่อได้รับใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรีพร้อมกับจบหลักสูตรการบินด้วยเครื่องวัดประกอบการบินและหลักสูตรการบินด้วยเครื่องบินหลายเครื่องยนต์จากกรมการบินพลเรือน ดร.เสริมศักดิ์ อยู่เย็น ประธานโครงการหลักสูตรวิศวกรรมการบินและนักบินพาณิชย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวเพิ่มเติมว่า การเปิดหลักสูตรดังกล่าวมีนักศึกษาที่สนใจมาก โดยก่อนหน้านี้เราได้จัดค่ายเตรียมความพร้อมทั้ง 2 ครั้ง ครั้งแรก 20 ธันวาคม 2557 มีผู้เข้าร่วม 250 คน และ 25 เมษายนที่ผ่านมากว่า 900 ราย ในจำนวนผู้ที่เข้าค่ายดังกล่าว มีการทดสอบคุณสมบัติต่างๆ ว่าเหมาะกับการเรียนในคณะนี้หรือไม่

พบว่า ชุดแรกผ่านหลักเกณฑ์ 37 คน จากนั้นได้ลองทดสอบร่างกายระดับ Medical Class 1 ผ่าน 17 คน คิดเป็น 48% ซึ่งคนที่ผ่านการทดสอบนี้จะไปเรียนการบินที่ไหนก็ได้ ส่วนผลการสอบของชุดที่ 2 ใกล้จะออกมาแล้ว

สำหรับหลักสูตรนักบินของ สจล. จะเรียนภาคทฤษฎีใน 3 ปีแรก ปีที่ 4 จึงจะเรียนการบิน โดยมีโรงเรียนการบินเอเชีย เอวิเอชั่น อะคาเดมี่ (AAA) เป็นผู้รับผิดชอบในการสอนและฝึกบินให้กับนักศึกษา นักศึกษาในคณะนี้รับเพียง 30 คน และต้องผ่านการทดสอบร่างกายในระดับ Medical Class 1 และจะทำการทดสอบอีกครั้งในชั้นปีที่ 3 ซึ่งใบรับรองนี้มีอายุ 2 ปี

ส่วนการฝึกปฏิบัติเริ่มในปีที่ 4 เหมือนการเรียนประจำ ทางโรงเรียนการบินจะดูแลทุกอย่างทั้งเครื่องแบบและที่พัก ตรงนี้ผู้ปกครองไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม ทุกอย่างเป็นความรับผิดชอบของ AAA

เมื่อจบแล้วได้เป็นนักบินเลย สอบที่กรมการบินพลเรือน (บพ.) สำหรับเครื่องบินเล็กทุกชนิด เริ่มที่ระดับผู้ช่วยนักบินก่อน หากไม่ได้เป็นนักบินวุฒิการศึกษาดังกล่าวจะเข้าทำงานในสายงานวิศวกรซ่อมอากาศยานได้ โดยเป็นผู้ควบคุมดูแลช่างซ่อมเครื่องบินอีกทีหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ทางคณะกำลังทำเรื่องยื่นขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรม

หลักสูตรนี้มีค่าใช้จ่ายเทอมละ 4.4 แสนบาท เรียน 8 เทอมเป็นเงิน 3.52 ล้านบาท โดยจะเปิดรับตรงเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งต้องใช้การคัดเลือกนานกว่าหลักสูตรอื่นและเปิดเรียนสิงหาคม 2558

บัดดี้การบิน สจล.ยังไม่ผ่าน

อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบไปยังกรมการบินพลเรือนพบว่าบริษัท เอเชียเอวิชั่น แอนด์เทคโนโลยี จำกัด (AAT) ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดโรงเรียนการบินเอเชีย เอวิเอชั่น อะคาเดมี่ (AAA)

ขณะที่ในการประชุมสภาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เมื่อ 7 เมษายน 2558 คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ส่งเอกสารยืนยันต่อกรรมการว่า บริษัทเอเชีย เอวิชั่น แอนด์เทคโนโลยี จำกัด (AAT) ได้รับใบรับรองสถาบันฝึกอบรมด้านการบินเรียบร้อยแล้ว

“ทาง AAA ยังไม่ได้รับอนุญาต เพียงแต่อยู่ระหว่างการดำเนินการยื่นขอรับรองสถาบันฝึกอบรมด้านการบิน โดยเพิ่งขึ้นเรื่องเข้ามาเมื่อ 26 มีนาคม 2558 ซึ่งทางกรมกำลังดำเนินการตรวจสอบเอกสารหลักฐาน ตอนนี้มีเครื่องบินเข้ามาแล้ว 2 ลำ คาดว่าจะใช้เวลาราว 8 เดือนในการดำเนินการ” แหล่งข่าวจากกรมการบินพลเรือนกล่าว

เมื่อถามถึงผลกระทบต่อหลักสูตรดังกล่าวของ สจล. เจ้าหน้าที่รายเดิมตอบว่า หลักสูตรของ สจล.จะเริ่มเข้ามาฝึกภาคปฏิบัติเมื่อนักศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 และรุ่นแรกเริ่มเรียนเดือนสิงหาคมปีนี้ กว่านักศึกษาชุดนี้จะเข้าสู่ภาคปฏิบัติด้านการบิน คงผ่านขั้นตอนการขออนุมัติไปแล้ว ดังนั้นเรื่องการรับนักศึกษาเข้าเรียนก่อนจึงถือว่าเป็นคนละส่วนกัน

เรื่องดังกล่าวประธานโครงการหลักสูตรวิศวกรรมการบินและนักบินพาณิชย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ทางคณะได้ทำ MOU ร่วมกับ AAA ตั้งแต่เริ่มหลักสูตร โดยขั้นตอนการขออนุญาตเปิดโรงเรียนการบินต่อกรมการบินพลเรือน เป็นหน้าที่ของทางบริษัท ทาง สจล.ไม่ได้เข้าไปยุ่ง และนักศึกษาจะไปฝึกบินกับโรงเรียนดังกล่าวในชั้นปีที่ 4

“หากเราไปจับมือกับโรงเรียนการบินที่มีอยู่เดิม ก็คงต้องไปใช้สถานที่เรียนในพื้นที่ของโรงเรียนที่มีสนามบินไว้ฝึกอยู่แล้ว แต่ในส่วนของ สจล.มีวิทยาเขตที่ชุมพร โดยก่อนหน้านี้ทางมหาวิทยาลัยได้บริจาคที่ดิน 3 พันไร่ให้กับกรมการบินพลเรือน เพื่อสร้างเป็นสนามบินที่ชุมพร พื้นที่ของมหาวิทยาลัยกับที่สนามบินก็อยู่ติดกัน การคิดหลักสูตรนี้จึงอยากพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวไปพร้อมกัน” Inside ขยายอายุ Class 1

ขณะที่ข้อกังวลของการเรียนหลักสูตรดังกล่าว ที่ต้องผ่านการทดสอบ Medical Class 1 ที่เป็นภาคบังคับสำหรับผู้จะเป็นนักบิน หากสอบไม่ผ่านขึ้นมาจะไม่เป็นผลดีกับผู้เรียนนั้น

เรื่องค่ายเตรียมความพร้อมที่ผ่านมานั้นจะช่วยคัดกรองผู้ที่มีคุณสมบัติเข้ามาเรียนได้อย่างไร โดยเฉพาะผู้ที่ผ่านการทดสอบระดับ Class 1 ดังนั้นผู้เรียนต้องทราบถึงคุณสมบัติข้อนี้ด้วย โดยผู้เรียนต้องสอบ Class 1 ในชั้นปีที่ 3 แต่ถ้าไม่ผ่านก็สามารถสอบใหม่ได้อีกโดยเว้นไปอีก 6 เดือน และใบรับรองดังกล่าวมีอายุ 2 ปี ในอนาคตทราบมาว่า กรมการบินพลเรือนอาจมีการพิจารณาเรื่องการต่ออายุออกไป โดยไม่ต้องสอบใหม่

ศิษย์การบินอีกหนึ่งตัวเลือก

สำหรับการเปิดการเรียนการสอนด้านนี้มหาวิทยาลัยต้องมีความพร้อม ทั้งในตัวบุคลากรที่มีประสบการณ์ตรงมาให้ความรู้ ต้องมีเรื่องของภาคปฏิบัติซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการบิน ทุกมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรนักบินต้องไปร่วมมือกับโรงเรียนสอนการบินที่มีอยู่ทั้งเอกชนและของรัฐบาล เพื่อให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์บินโดยตรง หลายแห่งส่งนักศึกษาไปฝึกการบินที่โรงเรียนการบินกรุงเทพ ของบริษัท บางกอกเอวิเอชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด หรือวิทยาลัยการบินนานาชาติ มหาวิทยาลัยนครพนม

ขณะที่ฝ่ายบุคลากรของสายการบินแห่งหนึ่งกล่าวว่า การเปิดรับนักศึกษาเพื่อเตรียมตัวเป็นนักบินโดยเฉพาะนั้นถือว่าเป็นเรื่องดี ที่จะมาช่วยลดภาวะขาดแคลนนักบินในปัจจุบัน แต่อีกมุมหนึ่งถือว่าเป็นช่องว่างทางการตลาดที่มหาวิทยาลัยจะนำมาใช้ในการดึงนักศึกษาได้ หลายมหาวิทยาลัยจึงหันมาเปิดหลักสูตรดังกล่าวกันมากขึ้น

“จริงๆ แล้วก่อนหน้าที่มหาวิทยาลัยต่างๆ จะเปิดหลักสูตรนักบิน สายการบินต่างๆ ก็ต้องพยายามสร้างนักบินของตัวเองทั้งการบินไทย แอร์เอเชีย นกแอร์หรือบางกอก แอร์เวย์ส ด้วยการเปิดโครงการศิษย์การบินโดยเปิดรับผู้ที่จบปริญญาตรีเข้ามาศึกษาต่อในด้านการบินเป็นการเฉพาะ ใช้เวลาเรียนพร้อมภาคปฏิบัติประมาณ 1 ปี โดยศิษย์การบินจะต้องเข้าไปฝึกและอบรมกับโรงเรียนการบินที่มีอยู่ ขึ้นอยู่กับว่าสายการบินใด ร่วมมือกับโรงเรียนการบินใด มีทั้งผู้เรียนจะต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง ค่าเรียนก็หลักล้านเช่นกัน แต่คงไม่สูงเท่ากับการเรียนตามมหาวิทยาลัย เมื่อจบออกมาแล้วก็เข้ามาทำงานที่สายการบินนั้นเลย”

หรืออาจสอบเพื่อรับทุนเรียนนักบินของสายการบินต่างๆ ตรงนี้ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างเจ้าของทุนกับผู้เรียนว่ามีข้อตกลงอย่างไร บางแห่งออกค่าเล่าเรียนให้ก่อน เมื่อเรียนจบแล้วจึงค่อยมาใช้ทุนคืนภายหลัง จบตรีนักบิน-แค่เริ่มต้น

นักเรียนที่จบตามหลักสูตรของทางมหาวิทยาลัยมาแล้ว แม้จะมีจำนวนชั่วโมงครบตามข้อกำหนดของกรมการบินพลเรือนที่ 200 ชั่วโมง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นนักบินได้เลย ต้องมาทำการฝึกเพิ่มเติมอีกมาก เนื่องจากแต่ละสายการบินมีเครื่องบินและรุ่นที่แตกต่างกันไป ใครที่ถูกเลือกให้ฝึกกับเครื่องบินรุ่นไหนก็ต้องทำการฝึกกับเครื่องบินรุ่นนั้นจนกว่าจะได้รับใบอนุญาตให้ทำการบินในเครื่องบินรุ่นดังกล่าว หากเปลี่ยนเครื่องบินก็ต้องฝึกใหม่

ลำดับแรกของการเป็นนักบินต้องเริ่มที่ตำแหน่งนักบินผู้ช่วย อย่างน้อยต้องมีชั่วโมงบินไม่ต่ำกว่า 500 จึงจะทำหน้าที่นี้ได้ เมื่อประสบการณ์มากพอจึงค่อยขยับขึ้นไปถึงตำแหน่งนักบิน ซึ่งมีกฎระเบียบต่างๆ มากมาย ทั้งเรื่องบินกลางวัน บินกลางคืน บินในประเทศ บินระหว่างประเทศ ทุกอย่างต้องมีใบอนุญาตทั้งหมด เนื่องจากเป็นเรื่องของความปลอดภัยของผู้โดยสาร

ส่วนผู้ที่จบมาจากมหาวิทยาลัยที่สอนการบินโดยตรงนั้น แม้จะมีประสบการณ์และชั่วโมงบินมาครบ 200 ชั่วโมงแล้วก็ต้องมาทำการฝึกเพิ่มเติมเช่นเดียวกับผู้ที่จบมาจากศิษย์การบินของแต่ละสายการบิน เพียงแต่อาจจะมีภาษีดีกว่าในตอนที่เข้ามาสมัครทำงาน

นอกจากนี้คุณสมบัติของนักบินจะต้องผ่านทั้งภาษาอังกฤษระดับ level 4 และผลการตรวจ Medical Class 1 ถ้าคุณสมบัติเบื้องต้นนี้ไม่ผ่านก็ถือว่าไม่มีทางเป็นนักบินได้ ผู้ที่คิดจะเรียนต้องคำนึงถึงความพร้อมของตนเองและกำลังทรัพย์ด้วย ซึ่งในความเป็นจริงนักเรียน 30 คน จะจบการศึกษาให้ได้คุณสมบัติของนักบินครบทั้งหมดนั้นจะเหลือไม่กี่คนเท่านั้น

ขณะนี้บางมหาวิทยาลัยที่เปิดหลักสูตรดังกล่าวก็เริ่มมีปัญหาเรื่องผู้เข้าเรียน เห็นได้จากข้อกำหนดในการรับสมัครว่าถ้ามีผู้เรียนไม่ถึง 17 คนจาก 30 คนก็จะไม่เปิดการเรียนการสอน รวมไปถึงบางมหาวิทยาลัยก็เปลี่ยนคู่โรงเรียนการบินใหม่จากเดิมใช้ที่หนึ่ง ย้ายไปใช้อีกที่หนึ่ง

ดังนั้นทั้งผู้เรียนและผู้ปกครองต้องไตร่ตรองเรื่องนี้ให้ถี่ถ้วน ไม่ใช่ว่าหลักสูตรดังกล่าวไม่ดี แต่ต้องเข้าใจว่าการเป็นนักบินไม่ใช่จะเป็นกันได้ทุกคน

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องทราบคือผู้ที่สอบเข้ามาเป็นศิษย์การบินแล้วเกือบทั้งหมดจะได้ทำงานกับสายการบินนั้นๆ ในตำแหน่งต่างๆ ตามความรู้ความสามารถ ส่วนผู้ที่เรียนจบมาจากมหาวิทยาลัยที่สอนเป็นนักบินจะต้องเข้ามาสมัครงาน ส่วนจะรับหรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสายการบินนั้นๆ

ปัจจุบันนักบินเกือบทั้งหมดมาจาก 3 กลุ่มคือ 1. ผู้ที่จบจากมหาวิทยาลัยที่มีหลักสูตรด้านนักบิน 2.มาจากนักเรียนศิษย์การบินของแต่ละสายการบิน 3.จากนักบินของกองทัพอากาศที่ผันตัวมาเป็นนักบินพาณิชย์ โดย-ส่วนของแต่ละแหล่งที่มาพอๆ กัน

หวั่นด้อยคุณภาพ

แหล่งข่าวจากแวดวงการบินกล่าวว่า รู้สึกเป็นห่วงเรื่องของคุณภาพของโรงเรียนการบินในปัจจุบัน หลังจากที่กรมการบินพลเรือนได้เปลี่ยนแปลงการตรวจสอบคุณภาพของโรงเรียนการบิน จากเดิมที่ตรวจทุกปี ทราบมาว่าได้มีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์มาเป็นตรวจทุก 5 ปี หรือการจดทะเบียนบริษัทปัจจุบันเปลี่ยนเป็นการจดแบบบุคคล รวมถึงการเปลี่ยนวิธีการตรวจสอบที่ลดคุณภาพลงไปจากเดิม บางรายการจากเดิมที่เคยตรวจตอนนี้ไม่ต้องตรวจ

“จริงๆ แล้วการลดการตรวจสอบคุณภาพของโรงเรียนการบินจากกรมการบินพลเรือนลง ถือว่าเป็นเรื่องดีต่อผู้ประกอบการโรงเรียนการบิน แต่ไม่เป็นผลดีกับผู้เรียน เมื่อทางกรมการบินพลเรือนลดความเข้มงวดเรื่องคุณภาพของโรงเรียนการบินลง เราเกรงว่านานาชาติจะลดความน่าเชื่อถือของนักบินไทยลง สุดท้ายผลเสียจะมาตกอยู่กับอุตสาหกรรมการบินของไทยรวมไปถึงหลักสูตรนักบินตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เปิดสอน”

อย่างที่สถาบันการบินพลเรือนมีการตรวจสอบคุณภาพปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) หากมีการผ่อนปรนกฎเกณฑ์ในการตรวจสอบคุณภาพของโรงเรียนการบินเอกชนลงย่อมไม่เป็นผลดีต่อสถานะและความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมการบินของไทย ยิ่งช่วงนี้ประเทศไทยกำลังถูกจับตามองจาก ICAO และนานาชาติเป็นพิเศษ http://manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9580000049954

แสดงความคิดเห็น

>

1 ความคิดเห็น