Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

หลักการทรงงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
หลักการทรงงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

“...ทรงยึดการดำเนินงานในลักษณะทางสายกลางที่สอดคล้องกับสิ่งที่อยู่รอบตัวและสามารถปฏิบัติได้จริง
ทรงมีความละเอียดรอบคอบ และทรงคิดค้นหาแนวทางพัฒนาเพื่อมุ่งสู่ประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุดมีคุณค่าและควรยึดเป็นแบบอย่างในการเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท นำมาปฏิบัติให้เกิดผลต่อตนเอง สังคม และประเทศชาติสืบไป”
ข้อที่ ๑ ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ
- ทรงศึกษาข้อมูลรายละเอียดอย่างเป็นระบบ
- จากข้อมูลเบื้องต้น จากเอกสาร แผนที่ สอบถามจากเจ้าหน้าที่ นักวิชาการ และราษฎรในพื้นที่
- เพื่อให้ได้รายละเอียดที่ถูกต้อง เพื่อที่พระราชทานความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วตรงตามที่ประชาชนต้องการ
ข้อที่ ๒ ระเบิดจากข้างใน
- ต้องการสร้างความเข้มแข็งให้คนภายในชุมชน ให้มีความพร้อมที่ร่วมพัฒนาเสียก่อน
- มิใช่การนำเอาความเจริญหรือบุคคลจากสังคมภายนอกเข้าไปหาชุมชนในหมู่บ้านที่ยังไม่ทัน
มีโอกาสได้ตั้งตัวหรือเตรียมพร้อม
ข้อที่ ๓ ทำตามลำดับขั้นตอน
- ทรงเริ่มต้นจากสิ่งที่จำเป็นที่สุดของประชาชนเสียก่อน ได้แก่ สุขภาพสาธารณสุข จากนั้น
จึงเป็นเรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และสิ่งจำเป็นในการประกอบอาชีพ อาทิ ถนน แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การอุปโภคบริโภค
- เน้นการปรับใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ราษฎรสามารถนำไปปฏิบัติได้ และเกิดประโยชน์สูงสุด
“ การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือความพอมี พอกิน พอใช้
ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน ใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา
เมื่อได้พื้นฐานที่มั่นคงพร้อมพอสมควร และปฏิบัติได้แล้วจึงค่อยสร้างเสริมความเจริญ และฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป...” หมายเหตุ : พระบรมราโชวาท 18 กรกฎาคม 2517
ข้อที่ ๔ ภูมิสังคม
การพัฒนาใดๆ ต้องคำนึงถึงสภาพภูมิประเทศของบริเวณนั้นว่าเป็นอย่างไร และสังคมวิทยา
เกี่ยวกับลักษณะนิสัยใจคอคน ตลอกจนวัฒนธรรมประเพณีในแต่ละท้องถิ่นที่มีความแตกต่างกัน
“การพัฒนาจะต้องเป็นไปตามภูมิประเทศทางภูมิศาสตร์ และภูมิประเทศทางสังคมศาสตร์
ในสังคมวิทยา คือ นิสัยใจคอของคนเรา จะไปบังคับให้คนอื่นคิดอย่างอื่นไม่ได้ เราต้องแนะนำ เราเข้าไป
ดูว่าเขาต้องการอะไรจริงๆ แล้วก็อธิบายให้เขาเข้าใจหลักการของการพัฒนานี้ก็จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง”
ข้อที่ ๕ ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด
- ส่วนพระองค์ก็ทรงประหยัดมาก
- ในการพัฒนาและช่วยเหลือราษฎร ทรงใช้หลักในการแก้ปัญหาด้วยความเรียบง่าย และประหยัด
- ราษฎรสามารถทำได้เอง หาได้ในท้องถิ่น และประยุกต์ใช้สิ่งที่มีอยู่ในภูมิภาคนั้นมาแก้ไข
โดยไม่ต้องลงทุนสูง หรือใช้เทคโนโลยีที่ยุ่งยากนัก
ข้อที่ ๖ ทรงใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ
- ทรงเข้าใจธรรมชาติและต้องการให้ประชาชนใกล้ชิดกับธรรมชาติ
- ทรงมองอย่างละเอียดถึงปัญหาธรรมชาติ หากเราต้องการแก้ไขธรรมชาติ จะต้องใช้ธรรมชาติเข้าช่วยเหลือ เช่น ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก
- ทำให้มนุษย์และธรรมชาติเกื้อกูลกัน
ข้อที่ ๗ แก้ปัญหาที่จุดเล็ก
ทรงแก้ปัญหาในภาพรวม (macro) ก่อนเสมอ แต่การแก้ไขปัญหา จะทรงเริ่มจากจุดเล็ก (micro)
คือ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ซึ่งคนมักจะมองข้าม
“ ถ้าปวดหัวคิดอะไรไม่ออก ก็ต้องแก้ไขการปวดหัวนี้ก่อน มันไม่ได้แก้อาการจริง แต่ต้องแก้ปวดหัวก่อน เพื่อจะให้อยู่ในสภาพที่คิดได้...”
ข้อที่ ๘ ทำให้ง่าย - Simplicity
ทรงคิดค้น ดัดแปลง ปรับปรุงและแก้ไขงาน การพัฒนาประเทศตามแนวพระราชดำริไปได้โดยง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนและระบบนิเวศโดยรวม “ ทำให้ง่าย ”
ข้อที่ ๙ ไม่ติดตำรา
มีลักษณะของการพัฒนาที่อนุโลม และลอมชอมกับสภาพธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสภาพของสังคม จิตวิทยาของชุมชน คือ “ไม่ติดตำรา” ไม่ผูกมัดติดกับวิชาการและเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมกับชีวิตความเป็นอยู่
ที่แท้จริงของคนไทย

ข้อที่ ๑๐ ใช้อธรรมปราบอธรรม
- ทรงนำความจริงในเรื่อง ธรรมชาติและกฎเกณฑ์ของธรรมชาติเป็นหลักการ แนวปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาและปรับปรุงสภาวะที่ไม่ปกติเข้าสู่ระบบที่ปกติ
- เช่น การบำบัดน้ำเน่าเสียโดยให้ผักตบชวา ซึ่งมีตามธรรมชาติให้ดูดซึมสิ่งสกปรกปนเปื้อนในน้ำ
ข้อ ๑๑ ปลูกป่าในใจคน
“เจ้าหน้าที่ป่าไม้ควรจะปลูกต้นไม้ลงในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและจะรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง”
ข้อที่ ๑๒ มุ่งประโยชน์คนส่วนใหญ่เป็นหลัก
“ การปฏิบัติงานทุกอย่างของข้าราชการมีผลเกี่ยวเนื่องถึงประโยชน์ส่วนรวมของบ้านเมืองและประชาชนทุกคน เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นที่ข้าราชการทุกคนจะต้องทำหน้าที่ทุกๆ ประการให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ โดยเต็มกำลังสติปัญญาความรู้ความสามารถ เพื่อผลการปฏิบัติราชการทุกอย่างจักได้บรรลุความสำเร็จอย่างสูง และบังเกิดประโยชน์อย่างดีที่สุดแก่ตน แก่หน้าที่ และแก่แผ่นดิน”

ข้อที่ ๑๓ การมีส่วนร่วม
ทรงเป็นนักประชาธิปไตย ทรงเปิดโอกาสให้สาธารณชน ประชาชนหรือเจ้าหน้าที่ทุกระดับได้มาร่วมแสดงความคิดเห็น “สำคัญที่สุดจะต้องหัดทำใจให้กว้างขวาง หนักแน่น รู้จักรับฟังความคิดเห็น แม้กระทั่งความวิพากษ์วิจารณ์จากผู้อื่นอย่างฉลาดนั้น แท้จริงคือ การระดมสติปัญญาละประสบการณ์อันหลากหลายมาอำนวยการปฏิบัติบริหารงานให้ประสบผลสำเร็จที่สมบูรณ์นั่นเอง”
ข้อที่ ๑๔ ขาดทุนคือกำไร
“ การให้ ” และ “ การเสียสละ ” เป็นการกระทำอันมีผลเป็นกำไร คือ ความอยู่ดีมีสุขของราษฎร
“...ถ้าเราทำอะไรที่เราเสีย แต่ในที่สุดเราเสียนั้นเป็นการได้ทางอ้อม... ในไม่ช้าประชาชนจะได้รับผล ราษฎรมีรายได้ รัฐบาลก็เก็บภาษีได้สะดวก เพื่อให้รัฐบาลได้ทำโครงการต่อไป... ถ้ารู้รักสามัคคี รู้เสียสละ คือการได้ ประเทศชาติก็จะก้าวหน้า และการที่คนอยู่ดีมีสุขนั้น เป็นการนับที่เป็นมูลค่าเงินไม่ได้...”
ข้อที่ ๑๕ บริหารรวมที่จุดเดียว
ทรงมีพระราชดำริให้บริหาร “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาทั้ง 6 แห่ง” ให้เป็น “การบริการรวมที่จุดเดียว” “การบริหารแบบเบ็ดเสร็จ” โดยทรงเน้นเรื่องรู้รักสามัคคีและการร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกันด้วยการปรับลดช่องว่างระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ข้อที่ ๑๖ รู้ - รัก - สามัคคี
รู้ : การที่เราจะลงมือทำสิ่งใดนั้น จะต้องรู้เสียก่อน รู้ถึงปัจจัยทั้งหมด รู้ถึงปัญหา และรู้ถึงวิธีแก้ปัญหา
รัก : เมื่อเรารู้ครบด้วยกระบวนความแล้ว จะต้องมีความรักการพิจารณาที่จะเข้าไปลงมือปฏิบัติแก้ไขปัญหานั้นๆ
สามัคคี : การที่จะลงมือปฏิบัตินั้น ควรคำนึงเสมอว่าเราจะทำงานคนเดียวไม่ได้ ต้องทำงานร่วมมือร่วมใจเป็นองค์กรเป็นหมู่คณะ จึงจะมีพลังเข้าไปแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปด้วยดี
ข้อที่ ๑๗ การพึ่งตนเอง
การพัฒนาตามแนวพระราชดำริเพื่อการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นด้วยการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้มีความแข็งแรงพอที่จะดำรงชีวิตได้ต่อไป แล้วขั้นต่อไปก็คือ การพัฒนาให้ประชาชนสามารถอยู่ในสังคม
ได้ตามสภาพแวดล้อมและสามารถ “พึ่งตนเองได้” ในที่สุด

ข้อที่ ๑๘ เศรษฐกิจพอเพียง
เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 30 ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงย้ำ แนวทางการแก้ไข เพื่อให้รอดพ้นและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ
ข้อที่ ๑๙ ทำงานอย่างมีความสุข
“...ทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้ นอกจากการมีความสุขร่วมกัน ในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น...”
ข้อที่ ๒๐ พออยู่พอกิน
ให้ประชาชนสามารถอยู่อย่าง “พออยู่พอกิน” เสียก่อน แล้วจึงค่อยขยับขยายให้มีขีดสมรรถนะที่ก้าวหน้าต่อไป
ข้อที่ ๒๑ องค์รวม
มีวิธีคิดอย่างองค์รวมหรือมองอย่างครบวงจร มองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและแนวทางแก้ไขอย่างเชื่อมโยง
ข้อที่ ๒๒ ความเพียร
กว่า ๖๐ ปีที่ทรงงานในหลวงไม่เคยทรงท้อถอย ไม่มีการลาพักร้อนหยุดงานสักเวลาเดียว
ข้อที่ ๒๓ ความซื่อสัตย์สุจริต
จริงใจต่อกัน เพราะผู้ที่มีความสุจริตและบริสุทธิ์ใจ แม้จะมีความรู้น้อยก็ย่อมทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้มากกว่าผู้ที่มีความรู้มากแต่ไมมีความสุจริต ไม่มีความบริสุทธิ์ใจ

แสดงความคิดเห็น

>