Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

[เล่า] ณ ที่ดวงตะวันฉายแสง ข้าจะไม่สู้รบอีกต่อไป : สัญญามีค่าน้อยกว่าทอง

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่



ครั้งใดที่ได้อ่านถ้อยคำของเหล่าอินเดียนผู้เคยต้องต่อสู้กับคนขาวเพื่อบ้านเกิดของตัวเอง ผมจะสงสัยเสมอมาว่า ผู้คนแบบไหนกันหรือ ที่เมื่อถูกรุกราน ที่เมื่อเจ็บปวดแสนสาหัสต่อการต่อสู้ที่รู้จะไม่มีวันชนะ พวกเขายังสามารถอ้างถึงความงามของผืนดิน สายฝน ความระยิบระยับของแม่น้ำ และสรรพชีวิตของสรรพสัตว์ ละม้ายทุกสิ่งทั้งหลายในจักรวาลนี้คือพี่น้องและพ่อแม่ของพวกเขา

เป็นความงดงามชนิดไหนกันนะ-ที่อยู่ในหัวใจอันบาดเจ็บของพวกเขา

โตมร ศุขปรีชา

------------------------

สวัสดีมิ่งมิตร หากใครคุ้นๆ พอจะจดจำชื่อนามเมมเบอร์นี้ได้ ขอให้รู้ไว้ว่าเราดีใจที่ท่านจำได้ และผมอยากบอกว่า...คุณอายุมากแล้วนะ เพราะเราหายไปหลายปีดีดัก นานทีโผล่มาเพียงแว้บเหมือนแสงแฟลช และวันนี้กลับมาเยือนคนดีด้วยความคิดถึง---หรือเปล่า


ที่จริงก็ไม่เชิงนัก เพียงแต่เรามีเรื่องบางอย่าง อยากเล่า อยากบอก ซึ่งแต่แรกคิดจะเขียนลงเฟซ แต่ไปๆ มาๆ คิดว่าหากเป็นที่นี่คงดีกว่า ที่ๆ มีนักเขียนฝึกหัดอยู่มากมายและผุดขึ้นมาเรื่อยๆ ดั่งเห็ดในป่าดิบชื้นหลังฝนพรำ...


ประเด็นคือ ตอนนี้เราทำงานเกี่ยวกับหนังสือ เลยมีโอกาสได้อ่านอะไรมาพอสมควร (ไม่กล้าออกปากว่าเยอะ) ทั้งที่เป็นต้นฉบับ เป็นเล่ม และมันมีหนังสือที่เราอ่านแล้วรู้สึกว่ามันดี ไม่อยากเก็บไว้คนเดียว อยากให้คนรู้จักหนังสือเล่มนี้มากขึ้น สักหนึ่งคนก็ยังดี บางเรื่องเป็นของสำนักพิมพ์อื่น แต่บางเล่มก็เป็นของสำนักพิมพ์ที่ทำงานอยู่ ทีแรกเลยหวั่นๆ เกรงจะถูกหาว่าเป็นหน้าม้ามาโปรโมตรึเปล่า... แต่หลังจากคิดถ้วนถี่แล้ว เราก็ได้คำตอบว่า


ช่าง_ม่ง  :)


หนังสือที่เราจะมาเล่าให้ฟังวันนี้ คือชื่อเดียวกับหัวกระทู้นั่นคือ ณ ที่ดวงตะวันฉายแสง ข้าจะไม่สู้รบอีกต่อไปแปลและเรียบเรียงโดย คุณ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ซึ่งฉบับพิมพ์ครั้งล่าสุดที่เราทำ จะออกในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 20 (ตุลาคมนี้) ดังนั้นตอนนี้ออกไปหาไม่มีทางเจอ ฉบับพิมพ์ครั้งก่อนก็หายากแสนเข็ญ เพราะนานกว่าสิบปีแล้ว ดังนั้นขอเชิญท่านนั่งลง ล้อมวงฟังเรื่องเล่า ถึงหนังสือเล่มนี้ก่อนเถิด

ก่อนอื่น หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่นิยาย แต่เป็นสารคดีเชิงประวัติศาสตร์ นั่นหมายความว่า... มันเคยเกิดขึ้นจริง

แล้วหนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับอะไร มีนิยามสั้นๆ ก่อนอื่นอยากให้ลองนึกภาพ... ขุดความทรงจำที่เด่นชัดที่สุดขึ้นมาเมื่อเราบอกว่า อินเดียน


แสดงความคิดเห็น

8 ความคิดเห็น

คันดะคุง 3 ก.ย. 58 เวลา 17:21 น. 1


(ได้แบบซ้ายหรือขวา)

เชื่อว่าต้องมีบางคนได้ดูหนังเรื่อง The Lone Ranger หน้ากากพิฆาตอธรรม (ที่จอห์นนี เดปป์ แสดง) นักเขียนมักเป็นนักอ่าน นักดูหนัง นักดนตรี อย่างน้อยก็คงเคยเห็นรึได้ยินมาบ้าง---แม้หนังเรื่องนี้ไม่ดัง ไม่ทำเงิน เราเข้าใจดี เราดูก็ไม่ค่อยปลื้มนัก มีดีแค่พี่จอร์น แต่ประเด็นอยู่ที่เนื้อหา เพราะนำมาจากเค้าโครงเรื่องจริง...

ใช่แล้ว ณ ที่ดวงตะวันฉายแสง ข้าจะไม่สู้รบอีกต่อไป พูดถึงเหล่าชนพื้นเมืองอเมริกัน (Native Americans) หรือที่เรารู้กันทั่วไปว่าชาวอินเดียน (indian)

ในอดีตนั้นชาวอินเดียนดำรงชีพด้วยการล่าสัตว์อย่างควายป่า หรือเพาะปลูกข้าวโพด และมีมากถึงสามร้อยเผ่า พวกเขาอยู่กันอย่างสงบสุข กระทั่งการมาถึงของชายคนหนึ่งที่ชื่อว่า

คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส

นักสำรวจชื่อก้องผู้นี้ได้มาพบแผ่นดินอเมริกา และได้พบกับเหล่าชนเผ่าพื้นเมือง เขาประทับใจในตัวชาวพื้นเมืองมากถึงขั้นกราบบังคมทูลพระราชาและราชินีแห่งสเปนว่า ชาวพื้นเมืองเหล่านี้ช่างเป็นมิตร ยิ้มแย้ม รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง ไม่มีชนชาติใดจะดีไปกว่านี้อีกแล้ว

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะคิดแบบโคลัมบัส เมื่อมีการค้นพบแผ่นดิน ชาวสเปนก็ต่างหลั่งไหลเข้ามาเพื่อตั้งรกราก ขุดหาอัญมณีและทองคำ พวกเขาปล้นและฆ่าชาวอินเดียน จับผู้หญิงและเด็กลงเรือส่งไปเป็นทาส---ไม่เพียงแต่สเปน แต่รวมถึงอังกฤษ และเหล่าคนขาวอื่นๆ ที่เข้ามาบุกเบิกดินแดนแห่งนี้ แต่เรื่องโศกนาฏกรรมที่ฉาวโฉ่ ตกเป็นของสหรัฐฯ

...............


0
คันดะคุง 3 ก.ย. 58 เวลา 17:22 น. 2

เราคงเคยเห็นการ์ตูนหรือภาพยนตร์เกี่ยวกับเหล่าคาวบอย ออกต่อสู้กับชาวอินเดียนป่าเถื่อนและโหดร้ายอย่างห้าวหาญ นั่นคือในมุมมองหนึ่ง ที่ชาวผิวขาวดูเท่องอาจและเปี่ยมยุติธรรม แต่ในอีกมุมมองกลับดำมืดและน่าสะอิดสะเอียน

ชาวสหรัฐฯ เดินทางข้ามมายังเขตของเหล่าอินเดียนพร้อมปืนไรเฟิล ปืนใหญ่ และความเชื่อมั่นว่าเป็นคนมีอารยธรรมสูงส่งกว่าพวกคนป่าเถื่อน ทุกการต่อต้านคือความตาย นโยบายการกวาดล้างคนอินเดียนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป มีการทุ่มเงินมากถึงหนึ่งล้านดอลลาร์ในยุคนั้นเพื่อกวาดล้างชาวอินเดียน จนเกิดประโยคคลาสสิกที่ว่า

อินเดียนที่ดี คืออินเดียนที่ตายแล้ว

(The only good Indian is a dead Indian.)

เราเคยเข้าใจประโยคนี้ผิด---คิดว่า อินเดียนที่ดีคืออินเดียนที่ห้าวหาญต่อสู้ตนตัวตาย คนที่หลบไม่ยอมสู้หรือขี้ขลาดหนีเอาตัวรอดคืออินเดียนที่ไม่ดี แต่ไม่ใช่ มันเป็นคำพูดของนายพลสหรัฐท่านหนึ่ง ผู้ทำการกวาดล้างชาวอินเดียน และถือว่า การมีชีวิต คือความผิด


ชาวอินเดียนต้องเผชิญความโหดร้ายระดับนั้น

แน่นอนว่าเคยมีความพยายามเจรจาสงบศึก มีการทำสนธิสัญญาให้อาณาเขตส่วนหนึ่งเป็นของชาวอินเดียนตลอดกาล  แต่สนธิสัญญาเหล่านั้นถูกฉีกอย่างง่ายดายเมื่อรู้ว่าที่แห่งนั้นมีขุมทอง รัฐบาลสหรัฐฯ บีบให้เหล่าชนพื้นฐานต้องอพยพไปแม้ในฤดูหนาว การเดินทางไกลในฤดูหนาวใช้เวลานานถึง 5 เดือน ทำให้ผู้อพยพ 4,000 กว่าคนล้มตายมากมายถึง 1,000 กว่าคน ด้วยโรคภัย ความหิวโหย ความหนาวเหน็บ

เหล่าคนขาวไปทุกที่ที่มีข่าวทองคำ พวกเขามาพร้อมรถจักรไอน้ำเสียงหวูดก้องดัง บุกทะลวงไปทุกที่โดยไม่สนใจว่าเคยมีคำสัญญาอะไรไว้ เมื่อชาวอินเดียนออกสู้เพื่อปกป้องบ้านเกิด ด้วยขวาน มีด และธนู เหล่าคนขาวจะตอบโต้ด้วยกระสุน และระเบิด

หนึ่งในวิธีที่ถูกคิดขึ้นเพื่อจัดการกับชาวอินเดียนโดยไม่ต้องสู้รบคือ “Kill the Buffalo and you kill the Indians” หากอินเดียนไม่มีสัตว์ให้ล่า พวกเขาก็จะอยู่ไม่ได้ ควายไบซันในอเมริกาถูกยิงเล่นเป็นเกมกีฬา พวกเขายิงจากรถไฟ ซากกองเกลื่อนกลาด ไม่กี่ปีควายไบซันหลายสิบล้านก็แทบสูญพันธุ์ และก่อให้เกิดชื่อนักล่าควายผู้โด่งดังอย่าง บัฟฟาโล่ บิล (Buffalo Bil)

........................

0
คันดะคุง 3 ก.ย. 58 เวลา 17:26 น. 3

แต่ใช่ว่าการตอบโต้ของชาวอินเดียนจะไร้ผลเสมอไป ครั้งหนึ่งสหรัฐฯ เคยส่งคนมาเจรจาขอซื้อพื้นที่ แบล็ค ฮิลล์ ซึ่งเป็นพื้นที่ศักสิทธิ์ของชาวอินเดียนเผ่าซู ซิตติง บูลล์ หัวหน้าและนักรบผู้ยิ่งใหญ่ของเผ่า ได้หยิบฝุ่นจำนวนน้อยนิดขึ้นจากพื้นดินแล้วบอกว่า

แค่นี้ข้าก็ไม่ขาย เราไม่ได้ต้องการให้คนขาวมาที่นี่ดินแดน แบล็ค ฮิลล์ เป็นของข้า ถ้าคนขาวมาพยายามแย่งมันไป ข้าก็จะรบ



(ภาพของ ซิตติง บูลล์)

และกองทหารก็มา ทว่าด้วยการนำของนักรบผู้ยิ่งใหญ่ของชาวอินเดียน อย่าง ซิตติง บูลล์, เครซี ฮอร์ส และกัลล์ ที่ร่วมมือกันรบ พวกเขาเอาชนะกองพลทหารม้าที่แข็งแกร่งที่สุดของสหรัฐฯ ได้ กระนั้นก็ยังไม่อาจต้านทานคนขาวนับแสนที่หลั่งไหลเข้ามา ทำให้ต้องหนีไป ซิตติง บูลล์ เลือกจะอพยพไปแคนาดา ทว่า เครซี ฮอร์ส ไม่ขอละทิ้งแผ่นดินบรรพบุรุษ จะสู้ถึงที่สุด ทั้งสองแยกทางกัน เครซี ฮอร์ส เข้าต่อสู้จนอ่อนล้า นักรบแทบไม่เหลือ จึงเกิดการเจรจามอบตัว ฝ่ายทหารเสนอ เครซี ฮอร์ส ว่าจะไม่ทำอันตรายใดๆ หากยอมไปค่ายทหารเพื่อพูดกับหัวหน้าทหาร  เครซี ฮอร์ส ยินยอมด้วยหวังว่าผู้หญิงกับเด็กจะได้รับการช่วยเหลือ แต่เมื่อไปถึง เครซี ฮอร์ส ก็รู้ว่าถูกหลอก เพราะทหารพาไปที่ห้องขังเพื่อประทุษร้าย จึงชักมีดออกพยายามแหวกฝ่าวงล้อมทหาร แต่ถูกจับตัวได้ และพลทหารคนหนึ่งใช้ดาบปลายปืนแทงข้างหลังเสียชีวิต  

มันเป็นเรื่องเศร้าและโหดร้าย แต่คงอย่างไรก็คงไม่อาจเทียบเท่าการสังหารหมู่ที่วูนเด็ด นี

ซิตติง บูลล์ ซึ่งหนีไปแคนาดาในฐานะผู้ลี้ภัย ทว่าแคนาดาก็กดดันให้ออกมามอบตัวกับทหารสหรัฐฯ ซิตติง บูลล์ ยอมกลับมาและถูกนำตัวมาอยู่ในเขตสงวนของเผ่าซู คนอินเดียนในเขตสงวนต่างๆ ประสบกับปัญหาความอดอยาก ความแห้งแล้ง โรคระบาด และความไม่พอใจที่ถูกจำกัดพื้นที่

นั่นทำให้เกิดความเชื่อและพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่เรียกว่า เต้นปีศาจแพร่ไปในหมู่อินเดียนอย่างรวดเร็ว ชาวอินเดียนเชื่อว่าไม่นานบรรดานักรบที่ล้มตายจะกลับฟื้นคืนชีพ ดินแดนที่เคยถูกคนยึดครองไปก็จะได้คืนมา คนอินเดียนจำนวนมากจึงเวลาในการทำพิธีกรรม เต้นปีศาจตลอดทั้งวัน ทำให้สหรัฐฯ รู้สึกหวั่นเกรงว่าจะเป็นการปลุกระดม จึงห้ามไม่ให้มีการ เต้นปีศาจและทหารส่วนหนึ่งเดินทางไปจับ ซิตติง บูลล์ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ยุยงและส่งเสริมให้เกิดความไม่สงบ เมื่อเขาขัดขืน ก็ถูกปืนยิงที่ศีรษะเสียชีวิตทันที

เมื่อ ซิตติง บูลล์ ถูกสังหาร ชาวอินเดียนเผ่าซูของซิตติง บูลล์ ก็ระส่ำระสาย บ้างอยากแก้แค้น บ้างหนีออกจากเขตสงวน บิ๊กฟุต หัวหน้าคนหนึ่งพานักรบ 100 กว่าคน ผู้หญิง และเด็กอีก 200 กว่าคนหนีออกมานอกเขตสงวน แต่ทหาร 500 กว่าคนได้ติดตามไปทันที่ลำธารวูนเด็ด นี แล้วปลดอาวุธของอินเดียนทุกคน

ทั้งหมดยอมเอาปืนและมีดมาวางกองรวมกัน แต่ทหารยังพากันเข้ารื้อกระโจมและทำลายข้าวของเพื่อตรวจว่ามีปืนหลงเหลืออยู่หรือไม่ นักรบคนหนึ่งชื่อ เยลโลว์ เบิร์ด ไม่ยอมให้ทหารยึดปืน จึงเกิดการยื้อแย่งกันจนปืนลั่นขึ้น ทำให้กองทหารกว่าห้าร้อยคนระดมยิงใส่ชาวพื้นเมืองไร้อาวุธทันที มีผู้เสียชีวิตเกือบสามร้อยคน จากจำนวนสามร้อยกว่าคน ศพทั้งหมดถูกรวมกันอย่างลวกๆ เป็นการปิดฉากความพยายามที่จะมีอิสระบนผืนดินตนเองของชาวอินเดียน

ศพของหัวหน้าบิ๊กฟุต


ศพผู้เสียชีวิตถูกฝังอย่างรีบๆ

.......................


0
คันดะคุง 3 ก.ย. 58 เวลา 17:31 น. 4

หากสงสัยที่เล่ามาทั้งหมดนี้ถือเป็นการสปอลย์งานหรือไม่ อย่ากังวล เพราะข้อมูลเหล่านี้หาได้ตามอินเตอร์เน็ต เสิร์จหาง่าย และทั้งหมดนี้เป็นเสมือนการปูพื้นให้เข้าใจเรื่องของชนอินเดียนอย่างง่ายๆ และรีบๆ เพียงเท่านั้น และไม่ใช่ไฮไลท์หลักของหนังสือเล่มนี้

อย่างที่เห็นว่าเราได้ยกคำพูดบางคำมาด้วย นั่นคือไฮไลท์ หนังสือเล่มนี้เป็นการรวมสุนทรพจน์และถ้อยคำของชาวอินเดียนที่ได้บันทึกไว้จำนวนมากในการเจรจาครั้งต่างๆ เช่น

คำพูดของนายพลแฮนค็อกที่มาพร้อมกับปืนใหญ่และทหาร 1,400 คน นายพลแฮนค็อกประกาศกับเผ่าไชแอนน์ที่ออกมารบเพื่อขับไล่คนขาวที่รุกเขตอินเดียนเข้ามาว่า คนขาวมากมายมาที่นี่อย่างรวดเร็วและไม่มีทางที่จะไปหยุดยั้งได้ เหมือนทุ่งหญ้าท่ามกลางพระเพลิงและลมแรง

..........

        “ให้ทำลายหมู่บ้านและม้าให้หมด ฆ่าหรือ แขวนคอนักรบให้หมดสิ้น แล้วต้อนผู้หญิงและเด็กกลับมา

คำสั่งในการรบกับเผ่าไชน์แอนน์

..........

ข้าร้อง โฮวทุกครั้งที่ตี ตอนนั้นข้าบ้าเลือดแล้ว เพราะข้าคิดถึงเด็กและผู้หญิงที่หนีด้วยความหวาดกลัวสุดชีวิต พวกคนขาวมาที่นี่เพื่อเข่นฆ่าพวกเรา

ไอออน ฮอว์ค นักรบชาวอินเดียน

................

สุดท้ายขอยกสุนทรพจน์ของ หัวหน้าโจเซฟ แห่งเผ่าเนซ เพอร์ซ ซึ่งเป็นมาที่ของชื่อหนังสือเล่มนี้มาให้ชม

บอกนายพลโฮเวิร์ดเถิดว่าข้ารู้ถึงหัวใจของเขา สิ่งที่เขาบอกข้าฝังอยู่ในหัวใจของข้ามาก่อน ข้าเหนื่อยที่จะสู้รบต่อไป หัวหน้าของเราถูกฆ่าหมด ลุคกิ้ง กลาส ตายแล้ว มันเป็นเรื่องของคนหนุ่มที่จะพูดว่าสู้หรือไม่สู้ คนที่นำคนหนุ่มทั้งหลายตายไป อากาศหนาวเย็นและเราต้องการผ้าห่ม เด็กๆ ของเรากำลังจะหนาวตาย ประชาชนของข้าหนีไปซ่อนตัวในหุบเขา ไม่มีผ้าห่ม ไม่มีอาหาร และไม่มีใครรู้ว่าพวกเขาอยู่ที่ไหน บางทีอาจจะหนาวตาย ข้าต้องการเวลาที่จะค้นหาเด็กๆ ของข้า และนับดูว่าเหลือรอดกี่คนบางทีข้าอาจหาพวกเขาเจอท่ามกลางซากศพ จงฟังข้าหัวหน้าทั้งหลายของข้าหัวใจของข้าอ่อนล้าและโศกเศร้า


ณ ที่ดวงตะวันฉายแสง ข้าจะไม่สู้รบอีกต่อไป

 

หัวหน้าโจเซฟ


-------------------------------

0
คันดะคุง 3 ก.ย. 58 เวลา 17:33 น. 5

เราได้อะไรจากหนังสือเล่มนี้---เราบอกไม่ถูก แต่เราเศร้า... เศร้าในอะไรหลายๆ อย่าง เราทั้งเศร้าทั้งเสียดายที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักเรื่องราวเหล่านี้ ไม่มีในตำราเรียนที่ไหน แต่ทั้งอย่างนั้นเรากลับคุ้นเคยภาพลักษณ์ของคาวบอยไล่ยิงชาวอินเดียนป่าเถื่อน

ใช่ว่าเราจะเชื่อคำพูดชาวอินเดียน เราก็คิดว่ามีอินเดียนที่ไม่ดี ที่ปล้นฆ่าคนขาว ไม่ได้มีแต่คนขาวที่ผิดสัญญา แต่คนอินเดียนก็ผิดสัญญา แต่เราคิดว่านั่นเกิดจากความไม่เข้าใจแต่แรกเริ่ม  วิถีของชาวอินเดียนนั้น ไม่มีสมบัติส่วนตน แผ่นดิน ผืนฟ้าเป็นของทุกคน การมาขอซื้อขายนั้นเป็นเรื่องเกินความเข้าใจ อย่างที่หัวหน้าเผ่าอินเดียนที่ซีแอตเทิลเคยกล่าวว่า

พวกท่านจะซื้อขายท้องฟ้าได้อย่างไร และความอบอุ่นของผืนแผ่นดินนี้เล่า อาจซื้อขายได้หรือ สำหรับพวกเราแล้ว ความคิดเช่นนี้ช่างเป็นความคิดที่ประหลาดนัก ในเมื่อพวกเรามิได้เป็นเจ้าของความสดชื่นในอากาศ ทั้งประกายระยิบระยับก็มิใช่สมบัติของเรา เช่นนี้แล้วท่านจะสามารถซื้อมันได้ด้วยหรือ

เพราะไม่เข้าใจกันแต่เริ่มแรก เพราะวิถีทางต่างกันเกินไป...

เราย้อนกลับมามองดูที่แถวๆ นี้ แม้ในประเทศเหนือจริงนี่ ก็ยังเห็น คนพื้นเมือง” “ชาวเขาหรือ ชาวบ้านที่ต้องเผชิญกับการเข้ามาของผู้ที่มีปืน เงิน และอิทธิพล มารุกไล่ทำลาย บ้านของพวกเขา แทบไม่ต่างอะไรก็ชาวอินเดียนเมื่อหลายร้อยปีก่อน และคนที่ลุกขึ้นสู้ก็ประสบชะตากรรมไม่ต่างจากชาวอินเดียน ต้องยอมหนีไป หรือไม่ก็ ตาย

หากอยากรู้ว่าตอนนี้ชนพื้นเมืองอเมริกันเป็นอย่างไร เราแนะนำให้ดูตามลิ้งค์นี้ (TED TALK) มีซับไทย มีสคริปต์ให้

http://www.ted.com/talks/aaron_huey/transcript?language=en

หรือสนใจอยากรู้เรื่องอินเดียนให้มากขึ้น เราแนะนำหนังสืออีกสองเล่มคือ

แบล็ค เอลค์ พูดกับ ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ด นี


------------------------------


เราจะพยายามมาพูดถึงหนังสือที่เราอ่านเรื่อยๆ ไม่ว่ามันจะเป็นหนังสืออะไร ดังไม่ดัง ไม่รู้ แต่ถ้าเราอ่านแล้วรู้สึกว่ามันมีอะไรบางอย่าง... เราจะมาเล่าให้ฟังอีก




ขอบคุณที่ตามอ่านกระทู้ยาวเฟื้อยนี้

กานดา คุณ

0
peiNing Zheng 3 ก.ย. 58 เวลา 23:05 น. 6

"I will fight no more forever"

มันเป็นคำพูดที่ข้าน้อยยังจำได้จนถึงตอนนี้ และคนแปลก็แปลได้ไพเราะมากจริงๆ

ข้าน้อยอ่าน "Black Elk Speaks" เวอร์ชั่นอังกฤษก่อน แล้วค่อยมาเห็นเวอร์ชั่นไทยตามที่ท่านได้ลงภาพ บอกตามตรงว่าตอนแรกข้าน้อยไม่ได้คาดหวังกับเวอร์ชั่นไทยสักเท่าไร แต่เห็นว่าไหนๆ ก็อยากซื้อเก็บไว้ แต่ปรากฏว่ารู้สึกตัวเองได้ของดีมาเก็บไว้แบบไม่คาดหมาย เป็นภาษาที่แปลได้งดงามทีเดียวขอรับ ถ้าใครที่ยังไม่ได้อ่านก็แนะนำให้อ่าน

คือ สิ่งที่เกิดขึ้นน่ะ มันโหดร้าย แต่ไม่ต้องห่วงว่าหนังสือเล่มนี้จะพาท่านไปสู่ความดราม่า กระชากอารมณ์ กลับกัน เป็นคำกล่าวที่เต็มไปด้วยความเข้าใจโลก และการเปลี่ยนแปลง

"Black Elk" ถ้าข้าน้อยจำไม่ผิด เขาเป็นนักพยากรณ์ของเผ่าซู (เป็นเผ่าที่ใหญ่ที่สุดของอินเดียน) แต่จริงๆ อาจจะต้องเรียกผู้ทรงด้วยภูมิปัญญาล่ะมั้ง ทั้งทางความรู้และจิตวิญญาณ) คำเล่าเรื่องของเขา จึงไปในแนวค่อนข้าง neutral มีความเศร้า ปลง แต่น้ำเสียงไม่ได้ชิงชัง โกรธแค้น จึงไม่ทำให้คนอ่านรู้สึกถึงความดราม่ามาก เพราะงั้นอ่านได้ขอรับ

แต่คำพูดที่ท่านจขกท. หยิบยกมา มันอมตะมาก โดยเฉพาะคำประกาศยอมแพ้ของหัวหน้าโจเซฟ (ที่ข้าน้อยจำชื่อเขาไม่ได้ -__-) คืออ่านเรื่องราวต่างๆ มา แล้วเหมือนทุกอย่างจบด้วยประโยคท่อนนี้ แทบน้ำตาไหลเลยขอรับ

ขอบคุณท่านเจ้าของกระทู้ด้วยที่ตัั้งกระทู้นี้ขึ้นมาเพื่อแนะนำหนังสือที่ดีให้กับเพื่อนร่วมบอร์ดขอรับ

วรรณกรรมของ Minorities  (หมายถึงชนกลุ่มน้อย แต่ถ้าแปลคำนี้ คนไทยมักจะนึกถึงชาวเขา ซึ่งไม่ใช่เสมอไป เช่น ชาวญี่ปุ่นซึ่งเกิดในอเมริกา หรือ Japanese American กลุ่มนี้ก็เป็นชนกลุ่มน้อยเหมือนกัน หนังสือบางเล่มกล่าวถึงการตัดสินใจของพวกเขาในการเข้าร่วมรบกับประเทศญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่สองตอนที่มีการเกณฑ์ทหาร เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก แต่ข้าน้อยลืมไปแล้วว่าหนังสือชื่ออะไร เศร้า) มักจะให้มุมมองที่น่าสนใจมากขอรับ มันทำให้เราหันมามองคนอื่น เข้าใจ และเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้นจริงๆ ขอรับ

แนะนำให้ทุกคนอ่านอีกเสียงขอรับ

1
no one know 4 ก.ย. 58 เวลา 10:28 น. 8
แย่จังที่จำนายได้  รู้สึกแก่ขึ้นในบัดดล! (ฮา)

หนังสือน่าสนใจมากนะ  อาจจะไปสอยในงานหนังสือถ้าไม่ลืมซะก่อน อิอิ 

0