Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

วิชาความคิดที่คุ้มค่าหน่วยกิตที่สุดในโลก

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

** ก่อนอื่น ต้องขออนุญาตนำชื่อหนังสือของ K. Tina Seelig มาใช้เป็นชื่อกระทู้โดยไม่ได้บอกก่อนนะคะ **

เข้าเรื่องกันเลยดีกว่า สวัสดีค่ะทุกคนเราคือชะนีตัวกลมคนเดิมที่เคยตั้งกระทู้ "จุดเปลี่ยนครั้งที่ 1" (http://www.dek-d.com/board/view/3556371/)  เองค่ะ และแล้ววันนี้ก็มาถึง วันที่พวกเราได้กลับมาบรรจบพบเจอกันอีกครั้งหนึ่ง ฮ่าๆๆๆๆๆ วันนี้เราจะมาพูดถึงชีวิตของเราในครอบครัวเล็กๆ ในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่พวกเราขนานนามว่า GSSE (Global Studies and Social Entrepreneurship) ขออภัยหากสะกดผิดหรือเนื้อหายาวไป แต่อยากให้อ่านจริงๆค่ะ

มาถึงชีวิตของเราในครอบครัวนี้ .. การเข้ามาใน GSSE เราเข้ามาแบบตัวเปล่า ไม่มีอะไรในหัว ไม่มีแม้แต่ความรู้ประดับคู่อยู่ในสมอง เข้ามาอย่างเป็นตัวของตัวเอง เป็นในสิ่งที่เราเป็น GSSE ไม่มีกรอบ ไม่มีรูปแบบวางไว้ให้เรา หากจะเปรียบกับคณะอื่นที่เราเคยได้ลองไปเรียนมานั้น ในความคิดของเรา คือเขาจะมีกรอบหรือรูปแบบวางไว้ให้เราอยู่แล้ว พูดง่ายๆคือ สมมุตว่าเราเป็นสสารชนิดหนึ่งที่อยู่ดีๆต้องเข้าไปอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่ถูกขึ้นรูปมาอย่างสวยงามและตายตัว หน้าที่ของสสารคือต้องทำตัวเองให้พอดีกับบรรจุภัณฑ์นั้น แต่ที่ GSSE เรามีเวลา 4 ปีในการจะสร้างกรอบหรือสร้างบรรจุภัณฑ์ของตัวเอง ปรับเปลี่ยนกันไปจนกว่าจะได้กรอบหรือบรรจุภัณฑ์ที่พอดีและเข้ากับตัวเรามากที่สุด โดยที่ตัวเรายังคงรูปอยู่ในลักษณะเดิม หากจะพูดถึงข้อดีข้อเสีย แน่นอนว่ากรอบที่คณะอื่นสร้างไว้สวมใส่ให้กับนักศึกษาทุกคนย่อมสวยงามและหรูหรามาก แต่กรอบที่เราสร้างขึ้นเองใน GSSE นั้นอาจจะเป็นกรอบที่ไม่ได้สวยที่สุด บิดๆเบี้ยวๆ เอนๆเอียงๆ แต่อย่าลืมนะคะว่ามันเป็นกรอบที่เหมาะสมและพอดีกับตัวเรามากที่สุด ก็ในเมื่อเราเป็นคนที่สร้างมันขึ้นมาเองนิหน่า .. หรือจะพูดในอีกแง่ สมมุตให้ตัวเราเป็นรูปทรงเลขาคณิต เปรียบตัวเองให้เป็นวงกลม GSSE จะไม่เปลี่ยนให้เราเป็นสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม หรือหกเหลี่ยม แต่ GSSE จะดึงศักยภาพให้เรายังคงเป็นวงกลมที่สามารถต่อเข้ากับรูปทรงเลขาคณิตอื่นๆได้อย่างลงตัวและหลากหลาย แล้วอะไรล่ะคือศักยภาพที่ GSSE ดึงออกมา .. ?

ต้องอ้างอิงถึงวิชา TU100 วิชาที่นักศึกษาธรรมศาสตร์รู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดี เพราะมันคือวิชาหน้าที่พลเมืองนั้นเองค่ะ เป็นวิชาบังคับของทางมหาวิทยาลัยที่ทุกๆคณะต้องไปเรียนรวมกัน ภารกิจของนักศึกษาทุกคนคือการแบ่งกลุ่มกันและไปสรรค์สร้างผลงานที่มีคุณประโยชน์กันมากลุ่มละ 1 ผลงานโดยมีงบให้กลุ่มละ 500 บาท สิ่งที่ GSSE ทำคือการนำวิชานี้มาสอนเอง เป็นภาษาอังกฤษด้วยความที่เป็นหลักสูตรนานาชาติ เป็นเรื่องปกติที่นักศึกษาแต่ละคนจะมีเพื่อนอยู่ต่างคณะจึงมีโอกาสได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนเรื่องราวที่เกิดในชั้นเรียนของตนเอง เพื่อนๆของเราบอกว่ากลุ่มของพวกเขาตัดสินใจนำเงิน 500 บาทนี้ไปทาสีทางม้าลายในมหาวิทยาลัย มีบางกลุ่มนำไปผลิตถังขยะขนาดย่อมไว้สำหรับขยะในจุดต่างๆ และอื่นๆอีกมากมาย ในขณะที่ GSSE พวกเราได้ลงพื้นที่ที่ชุมชนมุสลิมจริงๆในตำบลท่าอิฐเพื่อศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขให้คนในชุมชน สำหรับกลุ่มของเรา พวกเราเลือกเข้าไปพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สินค้าขึ้นชื่อของชุมชน ซึ่งได้แก่ "น้ำพริกปลากรอบ" ฟังดูไม่เห็นจะเป็นการช่วยเหลือสังคมตรงไหนเลยใช่ไหมคะ? ช้าก่อนค่ะ.. ความภาคภูมิใจของพวกเราอยู่ที่ย่อหน้าถัดๆๆๆไป !!!!

วันแรกที่พวกเราตัดสินใจจะทำผลงานชิ้นนี้ พวกเราคิดอย่างตื้นๆว่า ก็แค่จะให้พวกเขามีรายได้เพิ่มขึ้น ให้บรรจุภัณฑ์มันสวยขึ้น ออกแบบโลโก้ หาขวดสวยๆ จะไปยากตรงไหน แบบในอินเตอร์เน็ตมีเยอะแยะตาแปะบ่น แต่พอเอาเข้าจริงๆไม่เลยสักนิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสูตรลับที่ทางเจ้าของไม่ต้องการเปิดเผย การลงลึกถึงศาสนาที่แตกต่างกัน การติดต่อซื้อขาย การสร้างความน่าเชื่อถือของพวกเราเวลาเข้าไปเสนองาน ไม่ใช่ว่าใช้ชื่อสถาบันแล้วจะน่าเชื่อถือนะคะ สิ่งนี้เป็นแค่เพียงองค์ประกอบเท่านั้น เพราะสิ่งที่จะเพิ่มความน่าเชื่อถือมากที่สุด ก็คือความสามารถของพวกเราค่ะ รวมไปถึงอุปสรรคมากมายก่ายกองที่พวกเราเผชิญหน้าไม่ว่าจะเป็น การออกแบบโลโก้ครั้งแรกในชีวิต (บอกเลยว่าเน่ามาก) หรือแม้กระทั่งผลงานของพวกเราที่พวกเราคิดว่ามันดีที่สุดแล้ว แต่พอนำไปเสนอให้เจ้าของกิจการพวกเราต้องกลับมาปรับเปลี่ยนทุกอย่างใหม่ทั้งหมด ทุกส่วน ทั้งบรรจุภัณฑ์และข้อมูลเวลานำไปเสนอ ในเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดมากกกก เอาแล้วค่ะ มันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ..

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็ยังมีเรื่องราวดีๆเกิดขึ้นอยู่เยอะเหมือนกันนะคะ ไม่ว่าจะเป็นการได้รู้จักเพื่อนร่วมกลุ่มมากขึ้น ได้เห็นในอีกแง่มุมหนึ่งที่ไม่เคยรู้ว่าเพื่อนคนนี้จะทำอะไรแบบนี้ได้ ได้เห็นว่าเพื่อนต่างชาติคนเดียวในกลุ่มพยายามอย่างมากเพื่อที่จะเข้าใจข้อมูลที่เป็นภาษาไทย ได้รู้จักค่านิยมและวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป ได้รู้จักการต่อรองราคาสินค้าที่ไม่ใช่แค่ 10-20 บาท การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่สิ่งที่มันน่าจดจำที่สุดคงเป็นคำพูดของพี่เจ้าของผลิตภัณฑ์น้ำพริกปลากรอบในวันที่พวกเราเข้าไปเสนอผลงานครั้งล่าสุด "พี่จะนำโลโก้ที่น้องๆออกแบบไปใช้ในผลิตภัณฑ์จริงๆของพี่ค่ะ"  แค่ประโยคนี้ประโยคเดียวทำให้ความรู้สึกเสียดายเงินค่าน้ำมันขับรถไป-กลับ ท่าอิฐ-รังสิต และเงินอีกบางส่วนที่เข้าเนื้อตัวเองไปเลยค่ะ แค่ประโยคนี้ประโยคเดียวจริงๆที่มีความสุขกว่าการได้เกรด A ในวิชานี้ เพราะมันหมายความว่าผลงานของพวกเราจะติดอยู่บนสินค้าของพี่เขา และทุกคนจะได้เห็นมันอย่างแน่นอนในวงกว้าง ไม่ใช่แค่งานที่ทำส่งในชั้นเรียน

ขอพูดถึงวิธีการและขั้นตอนการทำงานของพวกเรา ในชั้นเรียนของ GSSE จะมีวิชาหนึ่งเรียกว่า Human Centered Design ใจความหลักของวิชานี้ก็คือ “การเชื่อในกระบวนการ” ที่ GSSE สอนให้เราเชื่อในส่ิงที่เราทำ ออกแบบให้เราเจอความล้มเหลวและความผิดพลาด เพราะ GSSE เชื่อว่าความผิดพลาดจะเพิ่มโอกาสให้เราได้เรียนรู้ มีอาจารย์ท่านหนึ่งเคยกล่าวว่า “ไม่มีใครทำได้ดีและทำได้สำเร็จในครั้งแรกที่ลงมือทำ” วิธีการสอนของ GSSE เปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้วิธีการทำงานกับมนุษย์ เพราะในสังคมปัจจุบันเราต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน การใช้หลักจิตวิทยาต่างๆ ที่ GSSE ได้สอดแทรกเข้าไปในทุกๆบทเรียนทำให้พวกเรามีศักยภาพเพิ่มขึ้นเพื่อเจาะลึกถึงปัญหาของผู้ประสบปัญหาโดยไม่ให้เขารู้สึกว่าเราก้าวก่าย การสังเกตปฏิกิริยาของคู่สนทนาผ่านแววตา น้ำเสียง ภาษากาย ในบางครั้งก็สามารถรับรู้ได้ถึงความรู้สึก สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเราได้ทราบถึงคำตอบที่แท้จริงที่ผู้ประสบปัญหารู้สึกอยู่ในใจแต่หลีกเลี่ยงที่จะพูดมันออกมา

ทั้งหมดนี้คงต้องขอบคุณทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่บรรจุวิชานี้ลงในการเรียนการสอน ขอบคุณครอบครัว GSSE ที่คัดเลือกพวกเรา และให้โอกาสพวกเราได้เข้ามาเรียนรู้วิชาความคิดที่ไม่เหมือนที่อื่น ได้เข้ามาเจอประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ และเรียนรู้วิธีแก้ไขที่หลากหลายแต่ตรงจุดด้วยตนเอง ขอบคุณที่เห็นศักยภาพและความสามารถในตัวพวกเราทุกคนที่ไม่เคยมั่นใจว่าตัวเราเองมีความสามารถในด้านนั้นๆ ที่สำคัญที่สุดขอบคุณคุณพ่อคุณแม่ของพวกเราทุกคนที่กล้าลงทุนกับวิชาความคิดที่คุ้มค่าหน่วยกิตที่สุดในโลกเพื่อพวกเราค่ะ.

แสดงความคิดเห็น

>