Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

#เอามปลายฟรีของเราคืนมา เยาวชนชี้ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ตัดสิทธิ์ม.ปลาย-อาชีวะ ไม่ฟรีแล้ว!

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่


กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ชี้ ร่างรธน.ใหม่ลดสิทธิ์การเข้าถึงการศึกษาของเยาวชนไทย ม.ปลาย-อาชีวะ ไม่ฟรี  


#สิทธิเรียนฟรีที่หายไป #เอามปลายฟรีของเราคืนมา


คำประกาศของเยาวชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ


เราคือเยาวชน เราเคยศรัทธาในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เราเคยเชื่อว่ารัฐธรรมนูญจะช่วยป้องกันความฝันไม่ให้ถูกทำลายและต่อเติมอนาคตที่เราอยากสร้าง เราเคยเชื่อเช่นนั้นมาตลอด


ใน ช่วงบ่ายวันนี้ (29 มีนาคม) คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าสู่สายตาของสาธารณชน ก่อนที่จะได้มีการลงคะแนนเสียงประชามติในเดือนสิงหาคมนี้ เมื่อเราได้อ่านและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เราก็รู้ในทันทีว่า ร่างรัฐธรรมนูญฆ่าล้างทั้งอนาคตและสิทธิทางการศึกษาของเราจนไม่เหลือดี


แต่เดิมนั้น รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 ได้บัญญัติให้รัฐต้องจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี เราจึงได้เรียนฟรีจนถึงระดับมัธยมปลายและอาชีวศึกษา ต่อมาในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 บัญญัติเพียงว่าให้เราได้เรียนฟรี 12 ปี เราจึงยังได้เรียนมัธยมปลายและอาชีวศึกษาฟรีอยู่ ทว่า ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ บัญญัติให้รัฐจัดการศึกษาฟรีถึงเพียงการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) แต่เพียงเท่านั้น


เมื่อรัฐธรรมนูญไม่คุ้มครองให้เราได้เรียนมัธยมปลายและอาชีวะได้ฟรี การศึกษาที่เคยเป็นสวัสดิการก็กลับกลายเป็นภาระ เราต้องจ่ายเงินมากขึ้นกับการศึกษา ทั้งที่รัฐควรสนับสนุนในฐานะที่การศึกษาคืออนาคตของชาติ เพื่อนของเราอีกมากที่ไม่ได้มีโอกาสมากนักอาจต้องจบชีวิตการศึกษาไว้เพียงการศึกษาภาคบังคับเท่านั้น พวกเขาจะสามารถมีอาชีพที่เหมาะสมและอนาคตที่ดีได้ด้วยทักษะความรู้เพียงเท่านั้นหรือ และรัฐจะสามารถรับผิดชอบชีวิตพวกเขาได้หรือไม่


แม้ร่าง ฯ จะบัญญัติให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่ออุดหนุนผู้ขาดแคลนโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แต่การลดความเหลื่อมล้ำนั้นไม่อาจทำได้หากไม่มีการจัดสวัสดิการอย่างทั่วถึง และแม้จะมีกองทุนนี้อยู่ ก็เชื่อว่าจะต้องมีเพื่อนเยาวชนเราอีกจำนวนมากที่จะต้องตกหล่นไปจากกองทุนนี้ หากร่างรัฐธรรมนูญนี้มีผลบังคับใช้ ไม่เพียงแต่การอนุญาตให้รัฐทอดทิ้งการศึกษาของนักเรียนและเพิ่มภาระให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองแล้ว ยังจะเป็นการเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอีกด้วย


รัฐธรรมนูญที่ดีจะต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ปกป้องประชาชน มิใช่ทำร้ายประชาชน ! เราเสียใจที่ไม่อาจจะเห็นรัฐธรรมนูญที่ต่อเติมความฝันของเยาวชนได้ในการร่างครั้งนี้ เราหวังว่าสุดท้าย การใช้รัฐธรรมนูญตัดทอนโอกาสของเยาวชนจะไม่เกิดขึ้นและ “ม.ปลายฟรี” จะกลับมาสู่มือเยาวชนตามเดิม


พริษฐ์ ชิวารักษ์
กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท และเครือข่าย ในฐานะเยาวชนกลุ่มหนึ่ง
29 มีนาคม 2559


กระจายข้อมูลจาก Parit Chiwarak https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1693168220943248&set=a.1500121933581212.1073741830.100007502595269&type=3&theater



นโยบายเรียนฟรี 12 ปีนี้ ปรากฎครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2540 ที่บัญญัติให้ "การศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างน้อย 12 ปี" อย่างมีคุณภาพโดยไม่มีค่าใช้จ่าย พอเป็นฉบับ 2550 ก็เปลี่ยนข้อความเป็นจัดการศึกษาฟรี 12 ปีเฉย ๆ โดยไม่ได้ระบุไว้ว่าช่วงไหนถึงช่วงไหน ทำให้เกิดข้อถกเถียงว่า เรียนฟรี 12 ปีนั้น เริ่มนับจากชั้นอะไรถึงชั้นอะไร ซึ่งโดยปกติแล้วก่อนหน้านี้ รัฐบาลเลือกให้เรียนฟรี ป.1 ถึง ม.6 (อ้างอิง: http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=3131) พอถึงสมัยคุณอภิสิทธิ์ก็ขยายกรอบจาก 12 ปีเป็น 15 ปี ก็เกิดปัญหาการตีความในลักษณะเดียวกัน มีการพยายามตีความว่า 12 ปี 15 ปีคือเริ่มจากอนุบาลอยู่เรื่อย ๆ เหมือนกัน (http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9510000018212) เมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 ถูกฉีก กลับกลายเป็นว่าการตีความดังกล่าวได้กลายเป็นรัฐธรรมนูญตัวจริง 


กล่าวก็คือ รัฐธรรมนูญยังให้เรียนฟรี 12 ปีอยู่ แต่ให้เริ่มนับจากอนุบาล ซึ่งก็จะมีคำถามต่อไปว่า อนุบาลนี้สำคัญกว่า ม.ปลาย อาชีวะขนาดนั้นเลยหรือ อนุบาลหากไม่ได้เข้าโณงเรียนพ่อแม่ยังจัดการเองได้แต่ถ้าไม่มีเงินเรียน ม.ปลาย ไม่มีเงินเรียนอาชีวะ กู้เงินเรียนไม่ผ่าน รัฐจะรับผิดชอบชีวิตเด็กเหล่านี้อย่างไร ถ้าให้อนุบาลฟรี เท่ากับว่าต่อไปนี้การเรียนนุบาลต้องทำในโรงเรียนซึ่งอันที่จริงแล้ว ควรสนับสนุนให้ครอบครัวได้จัดการเลี้ยงดูอบรมเองด้วยซ้ำ และยิ่งไปกว่านั้นงบประมาณเราไปกองอยู่ที่ไหน ทำไมจึงไม่สามารถฟรีทั้งสองอย่างได้ ?


สรุป: ร่างนี้เรียนฟรี 12 ปีเหมือนเดิมแต่ ม.ปลาย อาชีวะ ไม่ฟรีแล้วนะ รู้ยัง



มองแนวโน้มโลก ประเทศไหนในโลกบ้างที่เรียนฟรี?


การศึกษาฟรีหมายถึงการศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนผ่านการจัดเก็บภาษีหรือองค์กรการกุศล เพื่อเพิ่มโอกาสให้เยาวชนจากครอบครัวทุกฐานะอาชีพสามารถเข้าถึงการศึกษาได้เท่าเทียมกัน การศึกษาภาคบังคับนั้นฟรีในหลายประเทศ


ในกลุ่มประเทศนอร์ดิก ได้แก่ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน รวมกรีนแลนด์และหมู่เกาะอื่นๆในน่านน้ำ ซึ่งถือเป็นกลุ่มประเทศที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดของโลก การศึกษาระดับสูงกว่าปริญญาตรี คือปริญญาโท-เอก และหลังปริญญาเอก ก็ฟรีด้วย


ตั้งแต่ปี 2013 ในแถบยุโรปเหนือก็เริ่มทำให้การศึกษาระดับสูงฟรีแม้กระทั่งสำหรับชาวต่างชาติที่เข้าไปเรียน เช่นในอาร์เจนตินา นอร์เวย์ และฟินแลนด์ แต่ในบางกรณีนักศึกษาชาวต่างชาติอาจจะไม่ได้เงินค่าขนมรายเดือนและไม่สามารถกู้ยืมเงินในกองทุนของที่นั่น ส่วนสวีเดนเป็นไปในทางตรงข้าม คือเมื่อก่อนเปิดให้ชาวต่างชาติได้สิทธิ์การศึกษาฟรีเหมือนพลเมืองหมด แต่ตอนนี้จะฟรีเฉพาะชาวต่างชาติในยุโรปด้วยกันเท่านั้น แต่ให้เงินรายเดือน SU แก่นักศึกษาทุกคนที่เรียนในมหาวิทยาลัย


ในสาธารณรัฐเช็ก กรีซ และอาร์เจนตินา การศึกษาสำหรับพลเมืองฟรีในทุกๆระดับชั้น


ในฝรั่งเศสและมอลตา ค่าเทอมทุกระดับฟรีสำหรับเฉพาะนักเรียนในยุโรปด้วยกัน ส่วนในเยอรมนี ฟรีสำหรับนักเรียนจากทุกประเทศทั่วโลกเหมือนกันหมด 


ในสก็อตแลนด์ ค่าเทอมมหาวิทยาลัยจะฟรีเฉพาะผู้ถือสัญชาติสก็อตเท่านั้น ส่วนนักเรียนจากยุโรปจะได้เป็นส่วนลดค่าเทอม ยกเว้นนักเรียนที่มาจากส่วนอื่นๆของอังกฤษ(หมายถึงไอร์แลนด์ด้วย)


สาธารณรัฐทรินิแดดและโทบาโก ในตอนเหนือของเมดิเตอร์เรเนียน การศึกษาในมหาวิทยาลัยฟรีสำหรับพลเมืองถึงระดับปริญญาตรี ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐหรือของเอกชนก็ตาม ส่วนปริญญาโท-เอก ถ้าเรียนกับมหาวิทยาลัยรัฐ รัฐจะจ่ายค่าเทอมให้ครึ่งหนึ่ง


ในบราซิล กระทรวงศึกษาธิการมอบทุนการศึกษาจำนวนมากในระดับปริญญาตรี-โท-เอก รวมถึงหลังปริญญาเอก สำหรับผู้ถือสัญชาติบราซิล


ในศรีลังกา โรงเรียนในกำกับของรัฐจะเรียนฟรีขั้นประถมศึกษาและมัยธมศึกษาตอนต้น และมีหลายๆคอร์สวิชาในระดับปริญญาตรีที่เปิดสอนฟรี แต่นับเป็นประมาณ 10% เท่านั้น


ในหมู่เกาะมอริเตเชียส การศึกษาฟรีตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนต้น และตั้งแต่ปี 2005 ก็ทำให้ค่าโดยสารสาธารณะฟรีทั้งหมดสำหรับนักเรียนนักศึกษาทุกระดับชั้น


มองโลกแล้วก็น่าคิด มีต้นแบบมากมายเช่นนี้ ประเทศไทยเราจะเดินตามรอยใครคงต้องจับตามอง !

แสดงความคิดเห็น

>

5 ความคิดเห็น

KJ_JTT 30 มี.ค. 59 เวลา 09:05 น. 2

ควรจะปรับปรุงให้เรียน "ฟรี" จริงๆ ไม่ใช่บอกว่าฟรี แต่จ่ายค่าบำรุงโรงเรียนแพงฉลัดแบบเน้
เอาเงินภาษีพ่อแม่เรามาทำเรื่องดีๆ เช่นสนับสนุนการศึกษาที่แท้จริง เอาเงินมาพัฒนา แล็ป,เทคโนโลยีให้เด็กเรยนรู้ดีกว่ามั้ย ดีกว่าเอาไปพัฒนา อาวุธสง... อุ้ปส์พูดไรออกไปปปป

0
Darin 30 มี.ค. 59 เวลา 14:54 น. 3

เขาตัดมอปลายออกก็จริง แต่ว่าเขาเอาไปสมทบกับชั้นก่อนประถมศึกษานะคะ เพราะอยากปูพื้นฐานของเด็กอนุบาลให้แน่นๆ มองว่าวัยเด็กสำคัยเลยอยากเอาเงินไปพัฒนาตรงนั้น แล้วปกติจริงๆแล้ว มอปลายรัฐบบาลก็เก็บค่าเทอมอยู่แล้วไม่ใช่หรอคะ ในทางปฏิบัติอ่ะ จริงๆถึงมีหรือไม่มีก็ไม่ได้ต่างกันมาก อีกอย่างเขาก็บอกว่ามีกองทุนที่ไว้คอยช่วยเหลือเด็กที่อยากเรียนต่อมอปลาย แต่มีปัญหาทางการเงิน เรามองว่ามันไม่เสียงบส่วนเกินไปให้กะคนที่มีเงินอยู่แล้ว ยังมาสมทบทุนให้กับกองทุนเด็กด้อยโอกาสอีก ไม่ดีตรงไหนอ่ะ

1
Helegriel (Anarya) 30 มี.ค. 59 เวลา 18:21 น. 3-1

อนุบาลเป็นวัยที่เราว่าให้พ่อแม่หรือญาติดูแลสั่งสอนได้ค่ะ เพราะมันไม่มีวุฒิการศึกษา ดังนั้นไม่จำเป็นต้องฟรีก็ได้ (ไม่ต้องเรียนอนุบาลยังได้เลย ไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับ) แต่ม.ปลายถ้าไม่ฟรี พ่อแม่ญาติสอนเองให้วุฒิเองเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ค่ะ เรียนอาชีวะไปประกอบอาชีพก็ไม่ฟรี ดังนั้นความเสียหายมันเยอะเกินกว่าจะชดเชยด้วยการให้อนุบาลฟรีแทน เราคิดอย่างนี้นะคะ

เรื่องกองทุน ทำไมจะต้องให้เฉพาะเด็กด้อยโอกาสล่ะ ในเมื่อเด็กที่ถือสัญชาติไทยบนแผ่นดินนี้ทุกคนมีสิทธิ์จะได้ ส่วนทางปฏิบัติว่าจริงๆรร.ก็ยังเก็บ อันนี้เป็นปัญหาที่รัฐบาลไม่จัดสรรงบให้รร.เพียงพอมากกว่า แต่ไม่ใช่ปัญหาในตัวการบัญญัติข้อรัฐธรรมนูญนี้เอง

0
มิคะมิ เจซี 6 เม.ย. 59 เวลา 16:05 น. 4

ตัดม.ปลายออกเนี่ยไปแต่ทำเรียนฟรีตั้งแต่อนุบาลครับ  ช่วงอนุบาลเนี่ยสำคัญในระยะยาวมันเป็นพื้นฐานของประถมกับมัธยม 

แล้วม.ปลายกับปวช.เนี่ยมือเท้าดีก็ต้องพยายามหาเงินเรียนกันเองได้บ้างแล้ว  นอกจากนั้นยังเป็นทางเลือกอีกว่าจะเรียนต่อหรือไม่เรียน

0
Tutor Dome 1 ส.ค. 59 เวลา 08:51 น. 5

ผมเองก็ไม่ได้เรียนอาชีวะฟรี ก็ไม่เห็นมีปัญหาการเรียนอะไรนะครับ
คนเรียกร้องก็มีแต่คนมีฐานะทั้งนั้น เรียกร้องสิทธิเพื่อตนเอง
ถ้าเรียกร้องสิทธิเรียนฟรี เพื่อผู้เรียนดีมีฐานะยากจน หาเงินเรียนเองว่าไปอย่าง นี้อะไร ลูกคนรวย ขอเงินพ่อแม่ใช้ เดินเที่ยวห้าง เรียนโรงเรียนดีๆ เรียกร้องสิทธิเพื่อตนเอง

0