Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

3 Step อ่านชีววิทยา ให้ "เป๊ะ ปัง"

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
หากจะถามน้องๆ ม. ปลายว่า คิดยังไงกับวิชาชีวะ ส่วนใหญ่น้องๆจะต้องตอบคล้ายกันว่า “เนื้อหาเยอะ ต้องท่อง ต้องจำ ต้อง-มันเข้าไปสิคะ” ... ก็นั่นแหละ ที่บอกมามันก็ถูกส่วนหนึ่ง ชีววิทยาเป็นวิชาที่ต้องอาศัยความจำแน่นอน แต่ๆๆ !! เดี๋ยวก่อน บางทีก็สงสัยกันมั้ยหละว่า ทำไมบางคนถึงได้เป๊ะปังชีววิทยาขนาดน้าน อย่างกับว่านางเป็น-เบลล์เดินได้ ถามมาตอบได้ตลอด นางเอาพื้นที่ส่วนไหนของสมองมาจำได้เยอะขนาดนั้น วันนี้บักหนวดได้ไปแอบสืบกลยุทธ์ของนางและสรุปออกมาเผยแพร่ให้น้องๆกันแล้ว
ต้องเกริ่นก่อนว่าชีววิทยาเป็นวิทยาศาสตร์พื้นฐานอันนึงที่มีแนวทางการเรียนค่อนข้างแตกต่างจากวิชาอื่นๆ เช่นพวก ฟิสิกส์ เคมี ฯลฯ คือชีวะจะเรียนเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต (ใครๆก็รู้ใช่ปะ 55) แล้วก็จะมีเนื้อหาที่ต้องใช้การคำนวณค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่ต้องจำร่วมกับมีความเข้าใจ ใช่แล้ว ! หนูจะต้องเข้าใจมันด้วย หากมานั่งท่องๆแล้วจำเข้าไป ไม่นานก็ลืมแน่นอน...
และถ้าจะให้เปรียบการเรียนรู้ชีววิทยา อาจบอกได้ว่าคล้ายๆกับเป็นการปลูกต้นไม้ต้นหนึ่ง ซึ่งให้เรามองว่าเมล็ดพันธุ์ที่เราจะปลูกนั้นเป็นความรู้เบื้องต้นของชีวะ และตอนนี้เรานี้เรากำลังจะมาทำให้มันเจริญเติบโตอย่างงอกงาม

ขั้นตอนที่ 1 ต้องมีดินที่ดี 
ดินสำคัญมากๆเลย เพราะเป็นส่วนที่เมล็ดพันธุ์ของเรานั้นจะได้อาหาร ได้เริ่มแทงทะลุงอกออกมาเจริญเติบโต และได้ยึดเหนี่ยวจากส่วนนี้ต่อไป โดยดินก็เปรียบเสมือนกับพื้นฐานของชีวะ พื้นฐานที่ดีมีชัยไปกว่าครึ่งและจะต่อยอดไปได้ง่าย สำหรับน้องๆที่เพิ่งขึ้น ม ปลาย พี่แนะนำให้เรื่องที่น้องควรรู้ก่อนเลยคือ "เซลล์" และ "ชีวโมเลกุล" ครับ เพราะจัดเป็นพื้นฐานที่สุด จากนั้นก็ค่อยๆไล่ไป > "สัตว์" / "พืช" > "พันธุศาสตร์" > "วิวัฒนาการ" / "อนุกรมวิธาน" > "นิเวศ" อะไรประมาณนี้ครับ อาจปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมความสนใจ เวลาที่เราเรียนเรื่องใหม่ๆพยายามมองเป็นภาพกว้างๆก่อน ดูหัวข้อใหญ่ๆว่ามีอะไรบ้าง มีที่มาที่ไปยังไง แต่ละหัวข้อสัมพันธ์อะไรกันบ้าง จากนั้นก็ค่อยเจาะไปอ่านรายละเอียดของแต่ละอัน น้องอาจจะค่อยๆอ่านไปทีละหัวข้อก็ได้ แต่สุดท้ายเมื่ออ่านจบพี่แนะนำให้ลองมาไล่ดูหัวข้อ การทำแบบนี้จะเหมือนทำให้เราจัดระบบในหัวเป็นระเบียบ คล้ายๆกับสร้างโครงขึ้นมาก่อนจากนั้นค่อยๆเติมเนื้อหาเข้าไป ทำให้เวลาดึงความรู้มาใช้จะง่าย และรู้ว่าเนื้อหาอยู่ที่ไหน สิ่งสำคัญอย่างนึงคือว่า เริ่มแรกเราไม่จำเป็นต้องสนใจหรือเข้าใจทุกรายละเอียดหรือเนื้อหาที่ลึกๆตั้งแต่เริ่มต้นครับ เอาพอให้ make sense ก่อน เพราะบางทีมันอาจจะต้องใช้ความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาจากเรื่องอื่นมาด้วยจะเข้าใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อเราอ่านไปถึงแล้วค่อยกลับมาอ่านเรื่องเดิมซ้ำเก็บรายละเอียดอย่างนี้ดีกว่าครับ


ขั้นตอนที่ 2 หมั่นรดน้ำ พรวนดิน ให้ปุ๋ย 
ชีววิทยาเป็นวิชาที่ต้องอ่าน ต้องฟัง ต้องหมั่นเรียนรู้ 
ใครจำได้ดีอาจจะได้เปรียบนิดหน่อย แต่ใครทบทวนบ่อยๆนี่ชนะเลิศ อันดับแรกคือเราต้องให้เวลากับวิชานี้ด้วย เนื่องจากเนื้อหาค่อนข้างเยอะ ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือ อ่านบ่อยๆ ไม่จำเป็นต้องทุกวันก็ได้ ต้องสม่ำเสมอในแบบของเรา ค่อยเก็บเนื้อหาไปเรื่อยๆ การอ่านหักโหมในช่วงเวลาสั้นๆอาจช่วยได้ในภาวะ short term ครับแต่สุดท้ายรับรองว่าจะลืมเร็วกว่าการที่เราค่อยๆอ่านเก็บแน่นอน (slow but sure) ต่อมาคือต้องหมั่นทบทวนเรื่องที่เคยผ่านมาแล้ว พยายามเชื่อมโยงหลายๆเรื่องทั้งเก่าและใหม่เข้าด้วยกัน จะทำให้จำเรื่องเก่าดีขึ้น จำเรื่องใหม่เร็วขึ้นครับ ตัวช่วยที่ดีมากสำหรับการเรียนวิชานี้คือ การทำพวก mind map / short note / ตาราง / รูปภาพ ครับ มันจะช่วยเสริมให้เราจำดีขึ้น ทำให้ความรู้เราเป็นระเบียบด้วย


ขั้นตอนที่ 3 ตัดแต่งกิ่ง ดูแลให้สวยงาม
ขั้นตอนนี้อาจบอกได้ว่าเป็นการลับความรู้ของเราให้คมขึ้นครับ อย่างหนึ่งคือการทำโจทย์นั่นเอง ซึ่งสิ่งที่มันจะช่วยเราก็คือ 1. เราเข้าใจเนื้อหามากแค่ไหน 2. รู้ว่าจุดไหนที่เราพลาดเนื้อหาตรงไหนที่ลืมใส่ใจไป ควรกลับไปเก็บไปอ่านใหม่ 3. คุ้นเคยกับคำถามหรือข้อสอบว่าส่วนใหญ่มันเน้นถามอะไรยังไงแนวไหน โดยข้อสอบที่แนะนำให้ทำก็ขึ้นอยู่กับน้องๆเลยครับว่า มันแทรกอยู่ตรงไหนบ้างของหนังสือที่เราอ่านตอนนั้นหรือหนังสือเรียนที่ รร. ก็ได้ พยายามทำให้เยอะหลากหลายที่สุด แต่สำหรับโจทย์ที่พี่แนะนำเป็นพิเศษสำหรับกรณีเตรียมสอบเข้ามหาลัยเพราะคิดว่ามันช่วยวัดความรู้เราได้ดี คำถามดี ถามเนื้อหาได้ครอบคลุม ก็คือ
1. BIO by P'Tent (ดีงามมาก หนังสือในตำนานก็ว่าได้) 
2. Mock-up Bioexam by พี่ศุภณัฐ 
3. อ่านขนาดชีววิทยา
4. ข้อสอบ กสพท ชีวะ 
หลักๆก็ประมาณนี้ นอกจากการทำโจทย์แล้วสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ความสนใจเป็นพิเศษที่จะค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมครับ เพราะเหนือความรู้ในห้องเรียนแล้ว มันก็ยังมีความรู้อีกมากมายที่ปัจจุบันก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และอาจเปลี่ยนแปลงได้ แต่เดี๋ยวนี้เราก็สามารถค้นหาทางเน็ตได้เร็วและสะดวกมากเหมือนกัน ดังนั้นถ้าบางทีเรางงเนื้อหาตรงไหน หรืออยากรู้เพิ่มเติมก็แค่ลองเสิชเข้าgoogleแค่นี้เพื่อหาคำตอบ จะช่วยฝึกนิสัยที่ดีในการเรียนรู้ด้วยตนเองด้วยน้าา ^^

สรุปแล้วน้องๆจะเห็นว่าขั้นตอนเหล่านี้ไม่มีอะไรพิเศษมากมายเลยนะครับ ทุกคนสามารถฝึกและทำได้ ขอแค่มีความขยันและฟิตเป็นหลัก บางคนอาจบวกเสริมความชอบเข้าไป ยิ่งดีเลยนะครับ เพราะมันยิ่งช่วยเป็นแรงกระตุ้นให้เราอยากอ่านอยากเรียนรู้มากขึ้น เหมือนเป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่งนั่นเอง

ถ้าทำ 3 ขั้นตอนนี้ได้ต่อเนื่องสม่ำเสมอรับรองว่าต้นไม้ของเราจะต้องมั่นคงแข็งแรง ออกดอกบานสะพรั่งแน่นอน มาปลูกต้นไม้ให้โตไปด้วยกันนะขอให้น้องๆโชคดีและสนุกกับวิชาชีววะ บักหนวด เป็นกำลังใจให้ทุกคนครับ :))

http://www.bugnhuad.com/blog/5

ติดตามกันไว้ที่ บักหนวด นะจ๊ะ
หรือ www.bugnhuad.com 

แสดงความคิดเห็น

>