Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ถนนพระรามต่างๆ...ในกรุงเทพฯ

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่




รวบรวมข้อมูลจากราชบัณฑิตเกี่ยวกับคำ ชื่อถนน สะพาน และเขื่อน ที่ขึ้นต้นด้วยว่า "พระราม" ดังนี้ เนื่องจากราชบัณฑิตยสถานได้รับการสอบถามเกี่ยวกับชื่อที่ถูกต้องของ ถนน สะพาน และเขื่อน ที่มีคำ “พระราม” นำหน้า ว่าเมื่อใดจะใช้ “พระราม” และเมื่อใดใช้ “พระรามที่” จึงขอชี้แจง ดังนี้

ชื่อถนนและสะพานที่มีคำนำหน้าด้วย “พระราม” เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยถนนมีคำว่า “ที่” ต่อท้าย คือ ถนนพระรามที่ 1 ถนนพระรามที่ 4 ถนนพระรามที่ 5 และถนนพระรามที่ 6 ทั้งได้รับพระราชทานชื่อภาษาอังกฤษว่า Rama I, Rama IV, Rama V และ Rama VI ส่วนเหตุที่ถนนพระราม 9 ไม่มีคำว่า “ที่” ต่อท้ายนั้น ปรากฏชัดเจนจากพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและปลัดกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2539 ว่า ไม่มีพระราชประสงค์ให้มีคำ “ที่” ต่อท้ายคำ “พระราม” ซึ่งควรถือว่าเป็นพระราชนิยมในรัชกาลปัจจุบัน

ส่วนชื่อสะพานและเขื่อนนั้นจะไม่มีคำว่า “ที่” ต่อท้าย เช่น สะพานพระราม 6 เขื่อนพระราม 6

ในส่วนของสะพานและเขื่อนนี้ คณะกรรมการจัดทำอักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย ราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งมีหน้าที่รวบรวมชื่อภูมิศาสตร์ไทย ได้แก่ ชื่อเขตการปกครอง เช่น จังหวัด อำเภอ กิ่งอำเภอ ตำบล ชื่อภูมิประเทศ เช่น ภูเขา แม่น้ำ คลอง เกาะ อ่าว และชื่อภูมิศาสตร์อย่างอื่น เช่น อุทยานแห่งชาติ อ่างเก็บน้ำ สะพาน ได้จัดทำคำอธิบายสะพานและเขื่อนที่มีคำ “พระราม” นำหน้าไว้ ดังนี้

พระราม 3 สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมถนนรัชดาภิเษกฝั่งธนบุรีกับถนนพระรามที่ 3 ฝั่งพระนคร มีลักษณะพิเศษประการหนึ่งคือ ช่วงสะพานที่อยู่ตอนกลางของแม่น้ำมีความยาวถึง 226 เมตร และมีความสูง 34 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง นับเป็นสะพานคอนกรีตที่มีช่วงกลางยาวที่สุดของประเทศและยาวเป็นอันดับที่ 17 ของโลก เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2539 แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2543

พระราม 5 สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่บริเวณวัดนครอินทร์ อำเภอเมืองฯ จังหวัดนนทบุรี ในถนนแนวตะวันออก–ตะวันตก เชื่อมต่อกับถนนติวานนท์–เพชรเกษม–รัตนาธิเบศร์ ลักษณะเป็นสะพานคู่ขนาน ความยาวสะพานพร้อมเชิงลาด รวมทั้งสิ้น 939 เมตร เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2542 แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2545

พระราม 6 1. เขื่อนทดน้ำ กั้นแม่น้ำป่าสักที่คุ้งยางนม ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นเขื่อนทดน้ำแห่งแรกในประเทศไทยเริ่มสร้างใน พ.ศ. 2459 เสร็จเมื่อ พ.ศ. 2465 และระบบส่งน้ำเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2467 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชพิธีเปิด เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2467

2. สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างเขตบางซื่อกับเขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นในครั้งแรกเป็นแบบโครงเหล็กตลอด บนสะพานข้างหนึ่งเป็นทางรถไฟ ส่วนอีกข้างหนึ่งเป็นทางหลวงให้ยวดยานพาหนะทุกชนิดผ่านได้ มีทางเดินเท้าอยู่สองข้างของสะพาน สร้างเสร็จและเปิดการจราจรเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2469 ต่อมาระหว่าง พ.ศ. 2484-2488 ประเทศไทยได้ตกอยู่ในภาวะสงคราม สะพานได้ถูกระเบิดทำลายเสียหายจนใช้การไม่ได้ เมื่อภาวะสงครามได้สิ้นสุดลงแล้วการรถไฟฯ จึงได้ดำเนินการบูรณะซ่อมสร้างสะพานขึ้นใหม่ โดยสร้างเสร็จและเปิดการจราจรเมื่อวันที่ ๑12ธันวาคม พ.ศ.2496 สะพานพระราม 6 ที่ซ่อมสร้างขึ้นใหม่นี้ประกอบด้วยสะพานเหล็ก 5 ช่วง บนสะพานประกอบด้วยทางรถไฟ และทางหลวง แต่ ปัจจุบันได้เลิกใช้เป็นทางหลวง เนื่องจากได้มีการก่อสร้างสะพานพระราม 7 ขึ้นมาแทน


พระราม 7 สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมระหว่างเขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร กับ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ลักษณะเป็นสะพานแบบคอนกรีตอัดแรงต่อเนื่อง การก่อสร้างเริ่มเมื่อ พ.ศ. 2533 แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2535

พระราม 8 สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่ทางด้านเหนือของสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า และทางด้านใต้ของสะพานกรุงธนบุรี เชื่อมต่อกับโครงการทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี บริเวณแยกอรุณอมรินทร์ผ่านถนนอรุณอมรินทร์ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปบรรจบถนนวิสุทธิกษัตริย์ใกล้กับธนาคารแห่งประเทศไทย ลักษณะสะพานเป็นการก่อสร้างผสมผสานระหว่างสะพานขึงแบบอสมมาตรกับทางยกระดับ มีเสาขนาดใหญ่รับสายเคเบิล 1 ต้น ตั้งอยู่บนฝั่งธนบุรีและมีเสารับน้ำหนัก 1 ต้น ตั้งอยู่บนฝั่งพระนคร โดยไม่มีเสาหรือตอม่อกลางน้ำ สะพานประกอบด้วย เส้นทางเดินรถขนาด 2 ช่องจราจรต่อทิศทาง มีความยาวรวมทั้งถนนยกระดับ475 เมตร แบ่งเป็นตัวสะพานยาว 300 เมตร ซึ่งนับว่ายาวที่สุดในโลกในสะพานประเภทเดียวกัน และถนนยกระดับยาว 175 เมตร การก่อสร้างเริ่มเมื่อ พ.ศ. 2541 แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2544

พระราม 9 สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นส่วนหนึ่งของทางด่วนเฉลิมมหานคร สายดาวคะนอง-ท่าเรือ เชื่อมระหว่างเขตยานนาวากับเขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ และได้รับพระราชทานนามว่า “สะพานพระราม 9” เป็นสะพานขึงใช้สายเคเบิลขนาดใหญ่ขึงเป็นระนาบเดี่ยวยึดไว้กับเสาสูงของสะพานเพื่อรับน้ำหนักของสะพาน ความยาวของสะพานพร้อมเชิงลาด 2,062 เมตร ความกว้างของสะพาน 31-33 เมตร ท้องสะพานสูงจากระดับน้ำสูงสุด 41 เมตร สร้างเสร็จและเปิดการจราจรเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530 เป็นสะพานขึงแห่งแรกของไทยและมีช่วงกลางยาวที่สุดในโลก

ส่วนชื่อถนนที่มีคำ “พระราม” นำหน้านั้น ปรากฎอยู่ในหนังสือพจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม ซึ่งนางสาวกนกวลี ชูชัยยะ เป็นผู้เรียบเรียง และราชบัณฑิตยสถานจัดพิมพ์เผยแพร่ ดังนี้

พระรามที่ 1 ถนนเริ่มจากสะพานกษัตริย์ศึก ถึงถนนราชดำริ กรุงเทพมหานคร ถนนพระรามที่ ๑ เดิมชื่อถนนปทุมวัน สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2462 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อถนนปทุมวัน ตั้งแต่สะพานยศเส (สะพานกษัตริย์ศึก) ถึงถนนราชดำริ เป็นถนนพระรามที่ 1 เพราะถนนสายนี้เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขณะมีบรรดาศักดิ์เป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ในสมัยธนบุรีใช้เป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินกลับจากราชการที่เขมรเข้ามาปราบจลาจลในกรุงธนบุรี ปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดยผ่านเส้นทางถนนพระรามที่ 1 ผ่านจุดที่เป็นสะพานยศเสซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นสะพานกษัตริย์ศึก และได้ทรงพักทำพิธีสระสนานที่วัดสะแกซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามเป็นวัดสระเกศ

พระรามที่ 2 ถนนสายธนบุรี – ปากท่อ เป็นถนนที่ตัดผ่านจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งมีอำเภออัมพวา อันเป็นสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชสมภพ และมีสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองตั้งอยู่บนทางหลวงสายนี้ สะพานดังกล่าวได้อัญเชิญพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาเป็นนามของสะพานว่า “สะพานสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย” ดังนั้น เมื่อกรมทางหลวงได้สร้างถนนสายธนบุรี–ปากท่อ เสร็จเรียบร้อยแล้ว คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบให้ขอพระบรมราชานุญาตตั้งชื่อถนนสายนี้ว่า ถนนพระรามที่ 2อยู่ในเขตรับผิดชอบของกรมทางหลวง

ส่วนถนนพระรามอื่น ๆ เช่น พระรามที่ 1, 3, 5, 6 และถนนพระราม 9 อยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร

ถนนพระรามที่ 3 ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพมหานคร เป็นถนนที่ตั้งชื่อเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เหตุที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ตั้งชื่อว่า ถนนพระรามที่ 3 เพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยและทรงพระปรีชาสามารถในด้านการค้าตั้งแต่ยังดำรงพระอิสริยยศพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาในอดีตมีเรือกำปั่นบรรทุกสินค้าล่องในลำน้ำช่วงนี้มาจอดเป็นแถวตั้งแต่ถนนตกจนถึงหน้าพระบรมมหาราชวัง และแม้แต่ทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นที่จอดเรือสินค้าและเป็นที่ขนถ่ายสินค้า จึงตั้งชื่อถนนสายนี้ว่า ถนนพระรามที่ 3

พระรามที่ 4 ถนนเริ่มตั้งแต่สามแยกถนนเจริญกรุงข้ามคลองผดุงกรุงเกษมที่สะพานเจริญสวัสดิ์ ผ่านสถานีหัวลำโพง สามย่านไปบรรจบถนนสุขุมวิทใกล้เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร เดิมเรียกว่า ถนนตรง และถนนหัวลำโพง (นอก) เป็นถนนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2400 เนื่องจากกงสุลอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศสได้เข้าชื่อกันพร้อมทั้งนายห้างต่างประเทศขอร้องรัฐบาลสยามว่า เรือลูกค้าที่ขึ้นมาค้าขายถึงกรุงเทพมหานครมีระยะทางไกล ถึงหน้าน้ำน้ำวมาก กว่าจะเดินทางถึงกรุงเทพมหานครก็ใช้เวลาหลายวัน จะขอไปตั้งห้างซื้อขายใต้ปากคลองพระโขนง ตลอดถึงบางนา และขอให้รัฐบาลขุดคลองลัดตั้งแต่บางนามาตลอดถึงคลองผดุงกรุงเกษม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยารวิวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค ต่อมาคือเจ้าพระยาทิพากรวงศ์) ที่พระคลัง จ้างกรรมกรจีนขุดคลองตั้งแต่หน้าป้อมผลาญไพรีราบตัดทุ่งลงไปถึงคลองพระโขนง และตัดคลองพระโขนงออกไปทะลุแม่น้ำใหญ่ แล้วเอามูลดินมาถมเป็นถนนฝั่งเหนือตลอดลำคลอง พระราชทานชื่อว่าคลองถนนตรง ครั้นขุดคลองแล้วชาวยุโรปก็ไม่ได้ลงไปอยู่ที่บางนาโดยอ้างว่าไกล คลองถนนตรงนี้ชาวบ้านเรียกว่า คลองวัวลำพอง และเรียกถนนว่าถนนวัวลำพองหรือหัวลำโพงตามชื่อทุ่งนาที่ถนนและคลองตัดผ่าน ต่อมาได้มีการสร้างสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษมชาวบ้านเรียกกันว่าสะพานวัวลำพอง ถนนตรงเป็นถนนสายแรกในรัชกาลที่ 4 เป็นถนนเส้นตรงมีระยะทางไกล และมีพระบรมราชโองการให้เรียกทางที่ริมคลองนี้ว่า ทางถนนตรง ต่อมา ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2462 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อถนนหัวลำโพง (นอก) ตั้งแต่ถนนเจริญกรุงถึงถนนหลวงสุนทรโกษา เป็น ถนนพระรามที่ 4 ทั้งนี้ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ เพราะเป็นถนนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งพระราชวงศ์จักรีโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นโดยนำมูลดินจากการขุดคลองลัดจากคลองผดุงกรุงเกษมไปถึงคลองเตยมาสร้างขึ้น

พระรามที่ 5 ถนนตั้งแต่ ถนนลูกหลวงถึงถนนเตชะวณิช กรุงเทพมหานคร เดิมชื่อ ถนนลก เป็นถนนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นถนนในโครงการถนนอำเภอดุสิต ซึ่งทรงริเริ่มขึ้นพร้อม ๆ กับการสร้างพระราชวังดุสิตใน พ.ศ. 2441 ชื่อถนนลก เป็นภาษาจีนมาจากชื่อภาพเครื่องลายครามที่มีภาพลก คือ ขุนนางจีนใส่หมวกมีใบพัด 2 ข้าง บางทีก็มีภาพกวางเขางามยืนอยู่ด้วย เทียบเขากวางกับหมวกเกียรติยศ หมายถึงความมีเกียรติ ต่อมาในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2462 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อถนนลก ตั้งแต่ถนนลูกหลวงถึงถนนเตชะวณิชเป็นถนนพระรามที่ 5 โดยมีเหตุผลทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 แห่งพระราชวงศ์จักรีซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังดุสิต และให้สร้างถนนสายนี้ขึ้น

พระรามที่ 6 ถนนแยกจากถนนพระรามที่ 4 บริเวณใกล้ ๆ ถนนบรรทัดทองผ่านถนนอุรุพงษ์จนถึงมุมถนนเข้าย่านสินค้าพหลโยธิน กรุงเทพมหานคร เดิมชื่อถนนประทัดทอง สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชื่อถนนประทัดทอง มาจากชื่อเครื่องลายครามที่มีภาพต้นประทัดทองซึ่งต่อมาเรียกเพี้ยนเป็นบรรทัดทอง ต่อมาในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2462 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อถนนประทัดทองตลอดทั้งสายเป็น ถนนพระรามที่ 6 เพราะเป็นถนนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แห่งพระราชวงศ์จักรี โปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงเป็นเส้นทางไปโรงกรองน้ำประปาสามเสนและต่อไปยังสะพานพระราม 6 

คอลัมน์รู้ไปโม้ด โดยน้าชาติ ประชาชื่น


PS.  #จงฝันให้สูงถึง...>>>*พระจันทร์ แต่ถ้าหากผิดหวัง ? ก็ยังอยู่ท่ามกลาง+++[ดวงดาว]+++

แสดงความคิดเห็น

>

1 ความคิดเห็น