Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ประวัตินางนพมาศ และ ทำไมเราต้องลอยกระทง

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่



ประวัติวันลอยกระทง

ประเพณีลอยกระทง การลอยประทีป หรือการลอยโคม มีปรากฏหลักฐาน ในวรรณคดีเรื่องนางนพมาศ หรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ซึ่งเป็นสนมเอกของพระร่วง ได้คิดประดิษฐ์ดัดแปลงเป็นรูปกระทงดอกบัว แทนการลอยโคม เพื่อเป็นการสักการะ รอยพระพุทธบาทที่แม่น้ำนัมมทานที ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ในแคว้น ทักขิณาบถ ของประเทศอินเดีย ปัจจุบัน เรียกว่า แม่น้ำเนรพุททา นางนพมาศได้ทำกระทงลอย ที่แปลก จากนางสนมอื่นๆ เมื่อพระร่วงเจ้า ได้เสด็จทางชลมารค ทอดพระเนตรเห็นกระทง ของนางนพมาศ ก็ทรงพอพระทัย จึงมีราชโองการ ให้จัดพิธี ลอยกระทง ขึ้นทุกปี ในคืนวันเพ็ญเดือน สิบสองของทุกปี พระราชพิธีนี้จึงถือปฏิบัติ มากระทั่งถึงปัจจุบัน ประมาณ 700 กว่าปีมาแล้ว  

  

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายในพระราชนิพนธ์เรื่อง "พระราชพิธีสิบสองเดือน" ความตอนหนึ่งว่า
         "การฉลองพระประทีปลอยกระทงนี้ เป็นนักขัตฤกษ์ ที่รื่นเริงทั่วไปของชนทั้งปวงทัวกัน ไม่เฉพาะแต่ การหลวง จะนับว่าเป็นพระราชพิธีอย่างใดก็ไม่ได้ ด้วยไม่ได้มีพิธีสงฆ์ พิธีพราหมณ์ อันใดเกี่ยวข้อง เนื่องในการลอย พระประทีปนั้น ..แต่ควรนับว่าเป็นราชประเพณี ซึ่งมีมาในแผ่นดินสยามแต่โบราณ ตั้งแต่พระนครยังอยู่ฝ่ายเหนือ" 

ซึ่งความมุ่งหมายในการลอยกระทง มีจุดมุ่งหมายดังนี้

  1. เพื่อขอขมาลาโทษแด่พระแม่คงคา เพราะได้อาศัยน้ำกินและใช้ และมนุษย์มักจะทิ้งสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำ จึงควรขอขมาลาโทษท่าน
  2. เพื่อสักการะรอยพระพุทธบาทนัมมทานที ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระบาท ประดิษฐานไว้บนหาดทราย แห่งนั้น
  3. เพื่อบูชาพระอุปคุต ซึ่งชาวไทยภาคเหนือให้ความเคารพอย่างสูง โดยตำนานเล่าว่า อุปคุตนั้น เป็นพระมหาเถระรูปหนึ่ง ที่มีอิทธิฤทธิ์ สามารถปราบมารได้ ท่านจะนั่งสมาธิอยู่บนบัลลังก์แก้ว ในท้องมหาสมุทร
  4. เพื่อลอยทุกข์ โศก โรค ภัย และความอัปรีย์จัญไร เหมือนกับการลอบบาป ของศาสนาพราหมณ์ ถ้าใครเก็บกระทงไป เท่ากับเก็บความทุกข์ หรือเคราะห์กรรมเหล่านั้น แทนเจ้าของกระทง   


ตำนานวันลอยกระทง

การลอยกระทงเพื่อบูชาลอยพระพุทธบาท

รอยพระพุทธบาท ที่ปรากฏที่ฝั่งแม่น้ำนัมมทานที มีความเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ คือ ครั้งหนึ่ง พญานาคได้ทูลอาราธนา สัทมาสัมพุทธเจ้า ให้เสด็จไปโปรดแสดงธรรมในนาคพิภพ เมื่อพระองค์เสด็จกลับ พญานาคทูลขออนุสาวรีย์ ไว้กราบไหว้ บูชา พระพุทธองค์เลยทรงประดิษฐ์ รอยพระบาทไว้หาดทราย เพื่อให้ นาคทั้งหลาย สักการบูชา   

การลอยกระทงเพื่อบูชาพระจุฬามณี

ครั้งเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกจากนครกบิลพัสด์ เพื่อจะข้ามแม่น้ำ เมื่อทรงทราบว่า พ้นเขตกรุงกบิลพัสด์แล้ว จึงประทับเหนือหาดทรายขาว และตั้งใจจะบรรพชา จึงทรงจับพระเมาลีด้วยพระหัตถ์ และใช้พระขรรค์ตัดพระเมาลี โยนขึ้นไปบนอากาศ พระอินทร์ได้นำผอบทองมารองรับไว้ และนำไปบรรจุไว้ยังจุฬามณี เจดีย์สถานในเทวโลก
            ตามปกติเหล่าเทวดา จะมาบูชาพระจุฬามณี เป็นประจำ แม้พระศรีอาริยเมตไตรยเทวโพธิสัตว์ ในอนาคต จะมาจุติบนโลก และตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ยังเคยเสด็จมาไหว้ จึงถือว่าการบูชาพระจุฬามณี เป็นการบูชา พระศรีอาริยเมตไตรยด้วย  
      การลอยกระทงเพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้ากลับจากเทวโลก


          เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวช จนได้บรรลุสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว หลังจากเผยแผ่ ธรรมคำสั่งสอน แก่สาธุชน โดยทั่วไปได้ระยะหนึ่ง จึงเสด็จไปจำพรรษาอยู้บนชั้นดาวดึงส์ เพื่อเทศนาธรรมโปรดพระพุทธมารดา ครั้นจำพรรษาจนครบ 3 เดือน พระองค์จึงเสด็จกลับโลก เมื่อท้าวสักกเทาวราชทราบพุทธประสงค์ จึงเนรมิต บันไดทิพย์ขึ้น อันมีบันไดทอง บันไดเงิน และบันไดแก้ว ทอดลงสู่ประตูเมืองสังกัสสนคร
            ในการเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ ครั้งนี้ เหล่าทวยเทพ และประชาชน ทั้งหลายได้พร้อมใจ ทำการสักการบูชา ด้วยพวงมาทิพย์ การลอยกระทงตามตำนานนี้เหมือนกับการตักบาตรเทโว   
      การลอยกระทงเพื่อบูชาพระนารายณ์บรรทมสิทธุ์
          เป็นความเชื่อตามหลักศาสนาพราหมณ์ เป็นการบูชาพระนารายณ์ ที่บรรทมอยู่ในมหาสมุทร นิยมทำใน วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน12 และ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 จะทำในกำหนดใดก็ได้


      การลอยกระทงเพื่อบูชาท้าวพกาพรหม
         
นิทานของชาวบ้านที่เกี่ยวกับวันลอยกระทง ที่เล่าต่อกันมาคือ เรื่องของกาเผือกสองผัวเมีย ทำรังอยู่บน ต้นไม้ ในป่าหิมพานต์ วันหนึ่งกาตัวผู้ออกไปหากิน แล้วกลับเข้ารังไม่ได้ ปล่อยให้นางกาซึ่งกำลังกกไข่ 5 ฟอง รอด้วยความกระวนกระวายใจ จนมีพายุมา ทำให้พัดรังของกาเผือกกระจัดกระจาย ไข่ตกลงน้ำ ส่วนแม่กา ถูกลมพัดไปคนละทาง เมื่อแม่กาย้อนกลัมมาดูไข่ที่รัง ก็ไม่พบ จึงร้องไห้จนขาดใจตาย ไปเกิดเป็นท้าวพกาพรหม อยู่บนพรหมโลก ส่วนใข่ทั้ง 5 ฟอง ลอยน้ำไปในสถานที่ต่าง ๆ บรรดาแม่ไก่ แม่นาค แม่เต่า แม่โค และแม่ราชสีห์ มาพบเข้า จึงนำไปรักษาตัวละฟอง ครั้งถึงเวลาฟัก กลับกลายเป็นมนุษย์ ทั้งหมด
          

   

  กุมารทั้ง 5 ต่างเห็นโทษภัยในการเป็นฆราวาสและอานิสงส์ ในบรรพชา จึงลามารดา เลี้ยงไปบวช เป็นฤาษี ต่อมา ฤาษีทั้ง 5 ได้มีโอกาสพบปะกันจึงถามถึงนามวงศ์ และมารดาของกันและกัน จึงทราบว่าเป็นพี่น้อง ฤาษีทั้ง 5 มีนามดังนี้
           คนแรก      ชื่อกกุสันโธ         (วงศ์ไก่)
           คนที่สอง    ชื่อนาคมโน         (วงศ์นาค)
           คนที่สาม   ชื่อกัสสโป            (วงศ์เต่า)
           คนที่สี่       ชื่อโคตโม            (วงศ์โค)
           คนที่ห้า     ชื่อเมตเตยโย       (วงศ์ราชสีห์)          


   ต่างตั้งอธิฐานว่า ถ้าจะได้เกิดเป็นพระพุทธเจ้าขอให้ร้อนไปถึงพระมารดา ด้วยแรงอธิฐานจึงร้อนไปถึง ท้าวพกาพรหม จึงเสด็จลงมาและจำแลงเป็นกาเผือก แล้วเล่าเรื่องหนหลังให้ฟัง พร้อมบอกว่าถ้าคิดถึงมารดา เมื่อถึงคืน วันเพ็ญเดือน 11 เดือน 12 ให้เอาด้ายดิบผูกไม้เป็นตีนกา ปักธูปเทียนบูชาลอบกระทงในแม่น้ำ แล้วท้าวพกาพรหมก็เสด็จกลับไป


        

 ตั้งแต่นั้นมา จึงมีการลอยกระทงบูชาท้าวพกาพรหม และเพื่อเป็นการบูชารอยพระพุทธบาท ที่แม่น้ำ นัมมทานที ส่วนฤาษีทั้ง 5 ต่อมาได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ดังนี้


ฤาษีองค์แรก
กกุสันโธ  
ได้แก่  
พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า
พระกกุสันโธ
ฤาษีองค์ที่สอง
โกนาคมโน
ได้แก่  
พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า
พระโกนาคมม์
ฤาษีองค์ที่         สาม                      
กัสสโป    
ได้แก่                
พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า
กัสสปะ
ฤาษีองค์ที่สี่  
โคตโม    
ได้แก่  
พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า
สมณโคดม
ฤาษีองค์ที่ห้า
เมตเตยโย  
ได้แก่  
พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า
พระศรีอาริยเมตไตรย
        
          พระพุทธเจ้า 3 องค์แรก ได้บังเกิดบนโลกแล้ว พระพุทธเจ้าองค์ที่ 4 คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน พระพุทธเจ้าองค์ที่ 5 คือ พระศรีอาริยเมตไตรย จะมาบังเกิดในโลกมนุษย์ในอนาคต 
      การลอยกระทงเพื่อบูชาพระอุปคุตต์
       
การลอยกระทงเพื่อบูชาพระอุปคุตต์นี้ เป็นประเพณีของชาวเหนือ และชาวพม่า พระอุปคุตต์นี้ เป็นพระอรหันต์ หลังสมัยพุทธกาล โดยมีตำนานเล่าว่า พระเจ้าอโศกมหาราช มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ได้โปรด ให้สร้าง พระสถูปเจดีย์ และพุทธวิหารขึ้นทั่วชมพูทวีป มหาวิหารที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ "อโศการาม" ซึ่งตั้งอยู่ในแคว้นมคธ หลังจากพระสถูปต่าง ๆ 84000 องค์สำเร็จแล้ว พระเจ้าอโศกทรงมีพระราชประสงค์ จะนำพระบรมสารีริกธาตุ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปบรรจะตามสถูปต่าง ๆ และมีการเฉลิมฉลอง ยิ่งใหญ่ เป็นเวลา7 ปี 7 เดือน 7 วัน
       ด้วยเกรงว่าพญามาร จะมาทำลายพิธี พระเจ้าอโศมหาราชจึงนิมนต์พระอุปคุตต์ที่จำศีลอยู่ในสะดือทะเล องค์เดียวเท่านั้น ที่สามารถ ปราบพญามารได้ หลังจากนั้นพญามารก็สำนึกตัวหันมายึดเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ส่วนพระอุปคุตต์ หลังจาก ได้ปราบพญามารแล้วจึงลงไปจำศีลอยู่ที่สะดือทะเลตามเดิม
       พระอุปคุตต์นี้ไทยเรียกว่า พระบัวเข็ม ชาวไทยเหนือหรือชาวพม่าจะนับถือพระอุปคุตต์มาก     

ประวัตินางนพมาศ

นางนพมาศ เป็นธิดาของพระศรีมโหสถกับนางเรวดี

บิดาเป็นพราหมณ์ปุโรหิตในสมัยพระยาเลอไท นางนพมาศได้ถวายตัวเข้ารับราชการในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท ในยุคสุโขทัย เป็นที่โปรดปรานจนได้เป็นสนมเอกตำแหน่งท้าวศรีจุฬาลักษณ์

นางนพมาศได้เขียนตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ขึ้นเพื่อเป็นหลักประพฤติปฏิบัติตนในการเข้ารับราชการของนางสนมกำนัลทั้งหลาย


เรื่องนี้แต่งด้วยร้อยแก้วแต่มีคำประพันธ์ลักษณะเป็นกลอนดอกสร้อยแทรกอยู่บ้าง ซึ่งมีการสันนิษฐานว่าแต่งขึ้นใหม่ในมัยรัตนโกสินทร์ เพราะภาษาที่ใช้แตกต่างจากภาษาที่ใช้ในวรรณคดีที่แต่งในยุคเดียวกันคือ คือศิลาจารึกหลักที่ 1 และ ไตรภูมิพระร่วง

เนื้อเรื่องในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ กล่าวถึงประเพณีต่างๆ ของไทย

เช่น การประดิษฐ์ พานหมากสองชั้นรับแขกเมือง การประดิษฐ์โคมลอยรูปดอกกระมุท (ดอกบัว) เพื่อใช้ในพระราชพิธีจองเปรียงลอยพระประทีป (ลอยกระทง) ซึ่งประเพณีนี้ได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า หนังสือนางนพมาศ

และนางนพมาศได้ทำคุณงามความดีเป็นที่โปรดปรานของพระร่วง มีอยู่ 3 ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่ 1 เข้าไปถวายตัวอยู่ในวังได้ห้าวัน ก็ถึงพระราชพิธีจองเปรียงลอยพระประทีป (ลอยกระทง) นางได้คิดประดิษฐ์โคมลอยรูปดอกกระมุท (ดอกบัว) มีนกเกาะดอกไม้สีสวยๆ ต่างๆ กัน เป็นที่โปรดปรานของพระร่วงมาก
 
ครั้งที่ 2 ในเดือนห้ามีพิธีคเชนทร์ศวสนาน เป็นพิธีชุมนุมข้าราชการทุกหัวเมือง มีเจ้าประเทศราชขึ้นเฝ้าถวายเครื่องราชบรรณาการด้วย ในพิธีนี้พระเจ้าแผ่นดินทรงรับแขกด้วยเครื่องหมากพลู  นางนพมาศได้คิดประดิษฐ์พานหมากสองชั้นร้อยกรองด้วยดอกไม้งดงาม พระร่วงทรงโปรดปรานและรับสั่งว่า ต่อไปผู้ใดจะทำการมงคลก็ดี รับแขกก็ดี  ให้ใช้พานหมากรูปดังนางนพมาศประดิษฐ์ขึ้น ซี่งเป็นต้นเหตุของพานขันหมากเวลาแต่งงาน ซึ่งยังคงใช้จนถึงปัจจุบัน
 
ครั้งที่ 3 นางได้ประดิษฐ์พนมดอกไม้ถวายพระร่วงเจ้าเพื่อใช้บูชาพระรัตนตรัย พระร่วงทรงพอพระทัยในความคิดนั้น ตรัสว่าแต่นี้ต่อไปเวลามีพิธีเข้าพรรษาจะต้องบูชาด้วยพนมดอกไม้กอบัวนี้ 

นางนพมาศเป็นบุคคลที่ได้สมญาว่า "กวีหญิงคนแรกของไทย" ดังเช่นที่เขียนไว้ว่า "ทั้งเป็นสตรี สติปัญญาก็น้อยกว่าบุรุษ แล้วก็ยังอ่อนหย่อนอายุ กำลังจะรักรูปและแต่งกาย ซึ่งอุตสาหะพากเพียร กล่าวเป็นทำเนียบไว้ ทั้งนี้เพื่อหวังจะให้สตรีอันมีประเภทเสมอด้วยตน พึงให้ทราบว่าข้าน้อยนพมาศ กระทำราชกิจในสมเด็จพระร่วยงเจ้ากรุงมหานครสุโขทัย ตั้งจิตคิดสิ่งซึ่งเป็นการควรกับเหตุ ถูกต้องพระราชอัชฌาสัยพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้ปรากฎชื่อแสียงว่าเป็นสตรีนักปราชญ์ ฉลาดในวิชาช่างอยู่ชั่วกัลปาวสาน " 

นี่คือนางนพมาศ สนมเอกของสมเด็จพระร่วงเจ้า 






ผู้สามารถประดิษฐ์ความคิดได้เป็นที่น่าอัศจรรย์ จนสืบกลายมาเป็นประเพณีต่อมาอยู่ช้านาน ทั้งๆ ที่นักประวัติศาสตร์หลายท่านสงสัยว่าจะมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่

แสดงความคิดเห็น

>

16 ความคิดเห็น