เรียนรู้การจับมือทักทายแบบถูกต้องที่สุด

     สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com เมื่อไปอยู่เมืองนอก การทักทายแบบสากลที่นิยมใช้กันคือการจับมือ หรือเชคแฮนด์ ซึ่งหลายๆ คนคงไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมแบบนี้ เพราะบ้านเราใช้การไหว้ และไม่ค่อยถูกตัวกัน แรกๆ พี่เองก็รู้สึกแปลกๆ ค่ะ แบบเราเป็นสาวเป็นนาง จะให้จับมือกับผู้ชายแปลกหน้าเนี่ยนะ พี่ก็เขินๆ ถึงแม้ว่าตอนนี้เริ่มจะชินแล้ว พี่ก็ยังรู้สึกแปลกๆ นิดนึงอยู่ดี 555 ฉะนั้น พี่พิซซ่า จะแนะนำการเชคแฮนด์ที่ถูกต้องและดูดีมีมารยาทให้ค่ะ จะได้เตรียมตัวเตรียมใจได้ล่วงหน้า ไม่เคอะเขินตอนใช้จริง


ใครควรเป็นคนยื่นมือก่อน

     โดยปกติจะเป็นคนที่มีตำแหน่งสูงกว่า หรืออายุมากกว่าค่ะ ถ้าเป็นการสอบสัมภาษณ์ คณะกรรมการมักจะยื่นมือให้ก่อน หรือถ้าไปเจอรุ่นพี่ รุ่นพี่ก็จะเป็นคนที่ยื่นมือมาทักก่อนค่ะ แต่บางครั้งเขาจะให้สุภาพสตรียื่นมือให้ก่อนค่ะ ในกรณีที่เป็นงานค่อนข้างทางการ หรือถ้าเขารู้ว่าเราเป็นสาวเอเชียที่น่าจะถือเรื่องพวกนี้ เขาก็จะทักแล้วรอให้ผู้หญิงยื่นมือให้ก่อน ถึงแม้ผู้หญิงจะเป็นรุ่นน้องค่ะ

     ถ้าเรายื่นมือให้ก่อนแล้วนึกขึ้นได้ว่าในสถานการณ์นั้นอีกฝ่ายควรยื่นก่อน ก็อย่าตกใจว่าแย่งหน้าที่เขาแล้วชักมือกลับนะคะ เพราะการชักมือหนีกลับเป็นอะไรที่หยาบคายมาก เหมือนบอกว่ารังเกียจ ไม่อยากทำความรู้จักด้วย ถ้ายื่นไปแล้วก็เลยตามเลยค่ะ ยิ้ม ทักทาย ชวนคุยไปเลย


ควรยืนเชคแฮนด์และไม่หลบตา

     หากเรานั่งอยู่ก่อนแล้ว ให้ลุกขึ้นยืนก่อนที่จะยื่นมือไปเชคแฮนด์ค่ะ ถือเป็นการแสดงความเคารพต่ออีกฝ่ายด้วย เน้นเลยว่าควรยืนและยืดตัวตรงก่อนแล้วค่อยยื่นมือ อย่ารีบร้อนจนลุกไปยื่นมือไป เพราะนอกจากจะเสียบุคลิกแล้ว มืออาจจะปัดอะไรบนโต๊ะร่วงก็ได้ค่ะ นอกจากนี้ก็อย่าลืมสบตาอีกฝ่ายและยิ้มอย่างจริงใจ ให้ดูมีความสุข

     ถ้ากำลังเดินอยู่แล้วเห็นอีกฝ่าย ก็ควรหยุดยืนตรงแล้วยื่นมือ การเดินไปทักไปจะทำให้ดูเหมือน "ทักตามมารยาท แต่ไม่อยากจะหยุดเสวนาด้วยหรอก" แต่ถ้ารีบจริงๆ และไม่ว่างหยุดคุยจริงๆ ก็ยังควรหยุดแล้วทักอยู่ดีค่ะ แล้วพูดเลยว่าดีใจที่ได้เจอ แต่ตอนนี้กำลังรีบจริงๆ ถ้ามีโอกาสค่อยคุยกัน อะไรประมาณนั้น




จับมือไปพูดไปด้วย

     หลายคนกังวลเรื่องมือเหงื่อออก รู้สึกไม่มั่นใจเลยที่จะต้องเชคแฮนด์ด้วยมือชื้นๆ เราสามารถถ่วงเวลาในการแอบเช็ดมือกับกางเกงหรือกระโปรงได้ค่ะ โดยพูดทักทายไปเลย เช่น ยินดีที่ได้รู้จักนะคะ (ระหว่างที่พูดก็แอบเช็ดมือ) คุณทอม (ตอนเรียกชื่อก็ยื่นมือให้จับได้ เพราะเช็ดเสร็จแล้ว)

     ถ้าเป็นคนจำชื่อคนอื่นไม่เก่ง หรือวันนั้นเราต้องแนะนำตัวกับคนใหม่ๆ หลายคนแล้วกลัวจำชื่อไม่ได้ ก็มีเทคนิคดีๆ ค่ะ นั่นคือพูดทวนชื่ออีกฝ่ายหลายๆ รอบ โดยเริ่มจากการเชคแฮนด์ครั้งแรกเพื่อทำความรู้จัก "ยินดีที่ได้รู้จักนะคะคุณทอม" แล้วก็ปล่อยมือ จากนั้นก็น่าจะมีบทสนทนาเล็กน้อย อย่างเด็กเวิร์กก็อาจถามว่า "คุณทอมทำงานแผนกครัวหรือคะ" หรือถ้าไปเรียนต่อก็อาจเป็น "คุณทอมเลือกวิชาโทนี้หรือคะ" แล้วพอทักเล็กน้อยเสร็จ จะต้องลากัน ก็ให้ยื่นมืออีกครั้งเป็นการเชคแฮนด์เพื่อลาค่ะ นี่ก็เป็นรอบสุดท้ายที่ได้ทวนชื่อเขา "ยินดีจริงๆ ค่ะ แล้วเจอกันนะคะคุณทอม" เท่านี้ก็เป็นการสร้างความประทับใจแรกพบที่ง่ายมากๆ เลยค่ะ เพราะเขาจะมองว่าเรานิสัยดี และใส่ใจจะจำชื่อเขาจริงๆ ไม่ใช่ทักส่งๆ ตามมารยาท


จับให้แน่นกำลังดีแต่อย่าบีบ

     อย่าจับมือแบบแตะๆ หลวมๆ หรือบีบซะแน่น แต่ความแน่นของแต่ละคนค่อนข้างต่างกัน ส่วนมากแล้วคนเอเชียจะตัวเล็กกว่าเชื้อชาติอื่น คนต่างชาติก็คงไม่แน่ใจเหมือนกันว่าบีบมือเราได้แน่นขนาดไหน ถ้าเรารู้สึกว่าเขาจับหลวมจังเลย เราก็สามารถเพิ่มแรงบีบกลับไปอีกเล็กน้อยได้ค่ะ เอาให้แน่นแบบที่เรารู้สึกว่านี่แหละคือแน่นกำลังดีสำหรับเรา อีกฝ่ายก็จะจับทางได้เองว่านี่คือระดับที่เหมาะสมของเรา แล้วเขาก็จะบีบให้แน่นเท่าๆ กับเราค่ะ 

     เด็กผู้หญิงบางคนจะกลัวมาก ยิ่งถ้าต้องเป็นฝ่ายยื่นให้จับ แล้วเห็นมืออีกฝ่ายใหญ่มากๆ (เมื่อก่อนพี่เป็นแบบนี้เลย เห็นมือชาวต่างชาติใหญ่กว่ามือพ่อพี่ตั้งเยอะ กลัวเขาจะบีบจนมือพี่หัก) แล้วเด็กผู้หญิงก็จะจับแบบหลวมๆ เหมือนขยะแขยง อันนี้ต้องทำใจให้สบายค่ะ อย่าคิดมาก จับๆ ไปเลย ออกแรงเพิ่มอีกหน่อยให้อีกฝ่ายรับรู้ว่าเรา "ยินดีที่ได้รู้จักจริงๆ" ไม่งั้นคนจะมองว่าเราหยิ่งนะคะ




การจับมือควรนานประมาณ 2 - 5 วินาที

     หลายคนไม่มีปัญหาตอนจับค่ะ แต่ปัญหาจะมาตอนที่ไม่รู้ว่าควรปล่อยมือได้รึยัง โดยปกติจะจับค้างประมาณ 2 - 5 วินาทีค่ะ และคนที่ยื่นมือให้ก่อนคือคนที่จะปล่อยก่อน ถ้าอีกฝ่ายยื่นมือให้เราจับ เค้าเริ่มคลายนิ้วเมื่อไหร่ก็ปล่อยเมื่อนั้นเลยค่ะ แต่ถ้าอีกฝ่ายไม่ยอมปล่อยมือแม้จะเกิน 5 วินาทีไปแล้ว เราก็สามารถออกแรงนิดๆ เพื่อชักมือตัวเองกลับ แต่ควรรักษารอยยิ้มบนใบหน้าเราไว้ และไม่หลบตา เพราะบางทีเขาอาจไม่ได้มีเจตนาร้ายก็ได้ เขาอาจจะแค่ยินดีมากเกินไปที่ได้เจอเรา ฉะนั้นรักษาสีหน้ายิ้มแย้มของเราเอาไว้ก่อน อย่าเพิ่งทำท่ารังเกียจค่ะ


มืออีกข้าง

    บางคนไม่มีปัญหาเรื่องเชคแฮนด์ แต่ที่ไม่รู้คือ มืออีกข้างจะเอาไปไว้ไหน โดยทั่วไปจะใช้มือขวาเชคแฮนด์กันใช่มั้ยคะ (ยกเว้นเป็นลูกเสือ หรือมีกรณีพิเศษอื่นๆ) มือซ้าย ซึ่งเป็นมือข้างที่ไม่ได้จับ ก็ปล่อยทิ้งตามสบายข้างลำตัวเราเลยค่ะ แต่อย่ากำหมัด หรือขยับเล่นไปมานะคะ ให้ปล่อยไปตามสบาย จะนิ้วงอๆ หรือยืดก็แล้วแต่เลยว่าท่าไหนคือท่าทิ้งแบบสบายๆ ของเรา แต่ไม่ควรซุกไว้ในกระเป๋าเสื้อหรือกางเกงนะคะ เพราะเหมือนปิดบังอะไรบางอย่างไว้ หรือไม่ก็ดูเหมือนเรากำลังข่มอีกฝ่ายค่ะ ต้องให้อีกฝ่ายมองเห็นว่ามือเราอยู่ตรงไหน บางคนอาจใช้มือซ้ายมาจับทับการเชคแฮนด์อีกทีเพราะดีใจจัดหรืออะไรก็ตาม ก็โอเคนะคะในกรณีเป็นเพื่อนกัน แต่ถ้าเป็นเรื่องทางธุรกิจ ห้ามเอาอีกมือมาจับทับเลยค่ะ จะดูเฟคมากเลย ทางที่ดีที่สุดคือปล่อยมือตามสบายข้างลำตัวเรา




จับมือแล้วต้องเขย่าให้สมชื่อ Shake Hands (Handshake)

     ชื่อก็บอกแล้วว่า shake หรือเขย่า ฉะนั้นไม่ใช่แค่จับมือแล้วปล่อยค่ะ ต้องเขย่าด้วย ซึ่งการเขย่าที่ถูกต้องคือ เขย่าขึ้นลงค่ะ ไม่เอาแบบชักเย่อไปทางเราทีเขาที หรือมาเหวี่ยงซ้ายขวาแบบไกวชิงช้านะคะ ให่เขย่าขึ้นลง (พื้น-ฟ้า) จะเริ่มจากบนหรือล่างก่อนก็ได้ค่ะ และควรเขย่าไม่เกิน 3 ครั้ง ถ้าเยอะเกินจะเหมือนเราตื่นเต้นเกินเหตุ เดี๋ยวจะดูไม่โปรนะคะ


     เรื่องการเชคแฮนด์เป็นอะไรที่ดูธรรมดา เหมือนที่เราไหว้จนเคยชิน แต่เราก็ต้องเคยเรียนว่าไหว้พ่อแม่มืออยู่ระดับไหน ไหว้เพื่อนและรับไหว้น้องต่างกันอย่างไร การจับมือก็เช่นกันค่ะ ไม่ใช่แค่จับๆ ไปเถอะ แต่ถ้าเรารู้ว่ามันละเอียดอ่อนอย่างไร ภาพลักษณ์เราก็จะดูดีตามไปด้วยนะคะ แต่อย่าเครียดถึงขนาดนับวินาที หรือนับจำนวนครั้งที่เขย่า เพราะหน้าตาเราคงดูเครียดมากเลย ก่อนจะไปเมืองนอกก็ฝึกให้ชินก่อนเลยค่ะ พอต้องใช้จริงจะเป็นธรรมชาติ และดูมีการศึกษามากเลย แล้วอย่าลืมฝึกยิ้มสวยๆ ไว้ด้วยนะคะ


TWITTER: @PiZZaDekD


ข้อมูล
http://etiquette.about.com/od/Professional-Etiquette/tp/7-Tips-On-Proper-Handshake-Etiquette.htm

ภาพประกอบ
www.ugm-tc.org
www.sheknows.com
www.siliconbeachtraining.co.uk



พี่พิซซ่า
พี่พิซซ่า - Columnist คอลัมนิสต์ฝ่ายเรียนต่อนอก

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

11 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
อย่ากังวลไปเลย 12 ก.ย. 56 01:04 น. 9
เพิ่มเติมให้สำหรับใครที่อยากรู้นะคะ ^ ^~ เรื่องที่เหงื่อออกที่มือนี่เกิดขึ้นเพราะเป็นหนึ่งในระบบประสาทอัตโนวัติแบบพาราซิมพาเทติก ที่จะเกิดขึ้นเมื่อเรารู้สึกผ่อนคลาย หรือสบายใจเท่านั้น! เพราะฉนั้นอย่ากังวลไปเลยว่ามือคุณเปียกเหงื่อ (ที่บอกอย่างนี้เพราะปกติเป็นคนที่เหงื่อออกที่มือบ่อยมาก หรือกำลังรู้สึกผ่อนคลายมากนั้นเอง!)
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด