6 วิธีไปแลกเปลี่ยนที่เมืองนอกให้คุ้มสุดๆ

     สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com ช่วงนี้ทุนต่อนอกหลายตัวก็ทยอยประกาศผลกันอยู่ ขอแสดงความยินดีกับทุกคนที่ได้ทุนนะคะ แต่น้องๆ ที่ได้ทุนบางคนยังไม่แน่ใจว่า "มันคุ้มจริงหรอ" โดยเฉพาะทุนแบบไม่เต็มจำนวน พี่ก็อยากจะย้ำอีกครั้งนะคะว่า "คุ้ม" ของการมีโอกาสได้ไปเมืองนอกคือ "ประสบการณ์" ค่ะ ซึ่งการเก็บเกี่ยวประสบการณ์กลับมาให้คุ้มเนี่ยขึ้นกับตัวของน้องเป็นหลักเลยนะคะ วันนี้ พี่พิซซ่า เลยอยากมาแนะนำเคล็ดลับดีๆ ที่จะทำให้การไปเมืองนอกคราวนี้ "คุ้ม" แน่ๆ


1. ลองอาหารใหม่ๆ


     พี่ก็เป็นคนนึงที่กินอะไรยาก เรื่องมาก ไม่กินมัน ไม่กินเนื้อวัว ไม่กินของดิบ ไม่กินของดอง ไม่กินเครื่องใน ไม่กินผัก ไม่กินของมีกลิ่นแรง และอีกมากมายมหาศาล ขนาดตอนอยู่ไทยก็สั่งแต่เมนูง่ายๆ เด็กๆ แบบเดิมวนไปวนมา แม่พี่ยังรำคาญเลย 55555 แต่ได้ไปเมืองนอกทั้งที เจออาหารแปลกใหม่แล้วก็กลั้นใจขอเพื่อนชิมหน่อยเถอะ ชิมแล้วชอบหรือไม่ค่อยว่ากันอีกที แต่อาหารที่กินไม่ได้เพราะเหตุผลด้านสุขภาพหรือความเชื่อทางศาสนานี่ ไม่ต้องลองนะคะ กรณีนี้ไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่คุ้มค่ะ 




     แต่ถ้าไม่กินผักเพราะไม่ชอบกินผัก (แบบพี่) ก็ลองชิมผักแปลกๆ ที่หาไม่ได้ในไทยซักคำ จะได้รู้ และกลับไปเล่าได้ว่า "ลองกินอันนี้แล้ว รสชาติเปรี้ยวแปลกๆ นะ ไม่ชอบเลย" อย่างน้อยเราก็ได้ลองกินมันแล้วนะคะ หรืออย่างของดอง ปกติพี่ไม่ชอบเลย และพี่ไม่กินน้ำพริกด้วย (ชีวิตนี้กินอะไรได้มั่งเนี่ย) แต่พอได้ลองกิมจิแล้วชอบมากค่ะ บิบิมบับข้าวยำเกาหลีพี่ก็ชอบ ติดใจมากจนต้องซื้อน้ำพริกเกาหลีกลับบ้านด้วยเลย ฉะนั้นถ้ามีโอกาสก็ลองเลยค่ะ



2. ดูแลตัวเอง รักษาสุขภาพให้ดี




     ถึงแม้เราจะมีประกันสุขภาพแต่การป่วยในต่างแดนเป็นอะไรที่ลำบากมาก แต่ละประเทศก็มีกฎหมายแตกต่างกัน บางประเทศไปซื้อพาราที่ร้านสะดวกก็ต้องมีใบรับรองแพทย์ไปด้วย ฉะนั้นต้องดูแลตัวเองให้ดีค่ะ และถึงจะพกยาไปด้วยมากมาย แต่ถ้าป่วยขึ้นมาเราก็จะเสียเวลาและโอกาสในการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ มากมายเลยนะคะ เกิดวันที่เราป่วยงอมแงม เพื่อนๆ ดันนัดกันไปเที่ยวทะเลที่อีกฟากของเมืองขึ้นมาล่ะ ฉะนั้นต้องดูแลตัวเองให้ดีค่ะ พยายามระลึกไว้ตลอดว่าลิมิตของเราอยู่ที่ไหน บางคนขี้หนาวมากแต่กลัวเพื่อนว่าถ้าไม่เล่นปาหิมะด้วยกัน ก็เลยทนเล่น แล้ววันถัดมาก็เป็นปอดบวมซะงั้น แบบนี้ไม่ถูกต้องนะคะ สุขภาพเราต้องมาก่อนค่ะ



3. ใช้เวลาร่วมกับคนท้องถิ่นเยอะๆ

     สำหรับคนที่ไปอยู่กับโฮสท์แฟมิลี่จะไม่ค่อยมีปัญหานี้ แต่คนที่ไปเรียนต่อหรือไปเวิร์กมักจะชอบเกาะกลุ่มกับคนไทยด้วยกัน หรือไม่ก็เกาะกลุ่มกับเด็กต่างชาติจากประเทศอื่นที่เพิ่งมาที่นี่เหมือนกัน การมีเพื่อนเยอะๆ เป็นเรื่องดีค่ะ แต่อย่าลืมว่าเรามาเพื่อเรียนรู้อะไรบางอย่างของที่นี่ที่บ้านเราไม่มี จึงควรทำความรู้จักกับคนท้องถิ่นไว้ด้วย ซึ่งคนท้องถิ่นนี่คือทั้งเพื่อนร่วมชั้น โฮสท์แฟมิลี่ คนข้างบ้าน คนขับรถเมล์คันที่เราใช้ประจำ คนขายอาหารร้านหน้าปากซอย หรือเจ้าของร้านหนังสือใกล้ๆ คนกลุ่มนี้จะเผยให้เห็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ มากมายของเมืองนี้ที่ตอนแรกเราไม่สังเกตด้วยซ้ำ ทำให้เราได้ซึมซับวัฒนธรรมท้องถิ่นได้ดีขึ้นค่ะ




     พี่เคยไปร้านขายของที่ระลึกร้านหนึ่งในเมือง ซึ่งคุณยายที่เป็นแคชเชียร์ก็ชวนคุยโน่นนี่ไปเรื่อยตามประสาคนสูงอายุที่เหงาๆ ^_^ เขาก็เอ็นดูพี่มาก เวลาพี่ไปเยี่ยมทีไรก็จะอบขนมปังมาให้ทานฟรีๆ แล้วก็คอยให้ข้อมูลว่าวันไหนจะมีงานพื้นเมืองอะไรที่น่าสนใจบ้าง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เพื่อนวัยเดียวกันไม่มีใครบอกพี่ได้แน่นอนค่ะ ประมาณว่ามีงานวัดเล็กๆ วัยรุ่นจะไม่ใส่ใจ แต่ผู้เฒ่าผู้แก่จะชอบมาก เลยได้ไปเห็นงานแปลกๆ เยอะเลย แถมการตีซี้คนขับรถเมล์เที่ยวสุดท้ายก็ทำให้บอกเขาล่วงหน้าได้ว่าวันนี้ช่วยรอดึกขึ้นหน่อยนะ เพราะพี่จะไปดูหนัง กลัวตกรถแล้วกลับบ้านไม่ได้

     คำเตือน: การคุยกับคนแปลกหน้าต้องใช้วิจารญาณให้มากๆ นะคะ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นคนดี อาจมีมิจฉาชีพที่รอฉวยโอกาสชาวต่างชาติอยู่ก็เป็นได้ ต้องระวังตัวไว้ตลอดเวลา แต่อย่าปิดตัวเองนะคะ



4. ถ่ายรูปเยอะๆ และเขียนบล็อก

     พี่ชอบถ่ายรูปวิวทิวทัศน์ แต่ไม่ชอบให้มีตัวเองในภาพ 555 ซึ่งพอผ่านไปหลายปีเอามาดูใหม่ก็จะรู้สึกว่า "เราไปมาด้วยหรอ" ใครที่มีปัญหานี้ก็ลองถ่ายให้ติดตัวเองซักหนึ่งรูปต่อสถานที่ก็จะดีมากค่ะ แล้วก็ถ่ายอะไรที่คิดว่าธรรมดาหรือไม่สวยมาด้วย อย่าเก็บมาเฉพาะภาพมุมสวยๆ ต้นไม้ข้างทางที่ไม่เหมือนในไทยก็ลองถ่ายมาบ้าง ตอนพี่ไปอยู่เมืองที่ใช้รถม้ากันอยู่ บนถนนมีแต่มูลม้า (บ้านเราจะเจอแต่มูลสุนัข) ตอนแรกก็ขยะแขยง ไม่มอง รู้สึกว่าทำไมต้องเห็นอะไรแบบนี้ด้วย แต่ตอนใกล้จะกลับไทยเพิ่งคิดได้ว่า บ้านเราไม่มีมูลกลางถนนกองใหญ่ขนาดนี้นะ หาดูที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว เลยกลั้นหายใจเดินไปแชะมาภาพนึง ทีนี้เอามาดูเมื่อไหร่ก็เหมือนมีกลิ่นลอยมาเลย 555




     นอกจากถ่ายภาพแล้วก็เขียนบล็อกหรือเขียนไดอารี่ไว้ด้วยนะคะ อย่าเอาแต่อัพสเตตัสสั้นๆ วันละนิดๆ หน่อยๆ เพราะแม้จะอัดวิดีโอกิจกรรมที่เราไปทำมา แต่มันก็เห็นอารมณ์บางอย่างไม่ชัดอยู่ดี ลองถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของเราลงไปด้วย พร้อมอัพโหลดภาพประกอบ เช่น วันนี้อากาศแย่มาก ลมแรงจนต้นไม้หน้าบ้านหัก แต่ฟ้าโปร่งไม่มีฝน หนาวจนไม่อยากไปไหน แต่ก็ต้องไป บลา บลา บลา เมื่อเรากลับมาอ่านอีกที จะเห็นทุกอย่างชัดมากกว่าดูภาพเฉยๆ ค่ะ อาจจะรู้สึกถึงความหนาวในวันนั้นจนขนลุกขึ้นมาเลยก็ได้ วิธีนี้จะช่วยทำให้ได้ประสบการณ์คุ้มมากขึ้น เพราะความทรงจำเราจะแจ่มชัดมากๆๆๆๆ



5. มีของฝากคนที่บ้าน

     ไม่ต้องเป็นอะไรที่อลังการ แต่ก็ไม่ควรเป็นพวงกุญแจเรียบๆ ที่สลักชื่อเมืองเอาไว้เฉยๆ ค่ะ ถ้าจะซื้อพวงกุญแจกลับไปฝากที่บ้านก็เลือกอันที่สื่อความเป็นเมืองนั้น หรือมีอะไรประหลาดๆ แบบที่ไม่เหมือนใคร ไม่งั้นก็หาของฝากเป็นอย่างอื่นไปเลย โปสการ์ดก็เป็นตัวเลือกที่ดีนะคะ แต่ต้องเลือกภาพดีๆ หน่อย และถ้าอยู่ในประเทศที่ค่าไปรษณีย์ถูก ก็ส่งโปสการ์ดจากที่นั่นมาไทยเลยค่ะ ของฝากแบบนี้มีคุณค่าทางจิตใจมากกว่าซื้อลูกอมถุงใหญ่ใน Duty Free มาแจกเพื่อนทั้งห้องซะอีก แต่ก็เข้าใจนะคะว่างบประมาณเรามีจำกัด จึงควรลิสต์รายชื่อคนสำคัญๆ และคนสนิทของเราเอาไว้ว่าควรหาของฝากให้ใครก่อน แล้วถ้าเงินเหลือค่อยซื้อขนมไปแบ่งคนอื่นค่ะ (พี่ใช้หลักการนี้ตลอด 555) 




     การหาของฝากเป็นเรื่องที่ยากมากจริงๆ ค่ะ ฉะนั้นจึงไม่ควรเดินหาตอนสัปดาห์สุดท้าย แต่ในแต่ละวันที่เราได้ไปโน่นนี่ ก็คอยมองไว้ด้วยว่ามีอะไรที่น่าเอากลับไปฝากคุณพ่อคุณแม่ ฝากกลุ่มเพื่อนรัก หรือฝากคนที่แอบชอบอยู่

     หมายเหตุ ที่แนะนำว่าไม่ควรให้พวงกุญแจสลักชื่อเมืองเรียบๆ เพราะผู้รับจะไม่สามารถสัมผัสถึงประสบการณ์ของเราได้ เวลามีคนถาม เพื่อนเราจะตอบได้แค่ว่า "อ๋อ เพื่อนไป...มา มันซื้อมาฝาก" แต่สมมติว่าไปเมืองที่ยังใช้รถม้ากันอยู่จากข้อเมื่อกี้ ถ้าซื้อพวงกุญแจรูปรถม้าของเมืองนั้นมา เวลาเพื่อนเล่าคนอื่นก็จะจำได้ว่า "เพื่อนซื้อมาฝากจาก... เมืองนี้โบราณมากอ่ะ ใช้รถม้า" แล้วเพื่อนเราก็สามารถเล่าต่อได้ตามที่เราเคยเล่ามันว่าที่นี่เป็นยังไง คุ้มสุดๆ ไปคนเดียวแต่ได้ประสบการณ์กันทั้งกลุ่ม



6. เตรียมของฝากจากไทยไปด้วย




     อย่าลืมว่าการไปต่างประเทศของเราในครั้งนี้ ต้องเกิดการแลกเปลี่ยนกันทั้งจากเราและทางนั้นด้วยนะคะ เราไปเพื่อเปิดโลก ได้รู้ได้เห็นอะไรที่บ้านเราไม่มี แต่เราก็ต้องเผยแพร่สิ่งดีๆ จากบ้านเราให้ชาวต่างชาติรับรู้ไปด้วยในขณะเดียวกัน ให้มองว่าเราเป็นเหมือนทูตวัฒนธรรมคนหนึ่งละกันค่ะ ซึ่งนอกจากมารยาทงามๆ และความอ่อนน้อมถ่อมตนที่เราแสดงให้เขาเห็นแล้ว ถ้ามีของติดไม่ติดมือจากไทยไปให้เขาด้วย เขาก็จะยิ่งประทับใจและจดจำเรื่องราวได้ดีขึ้นด้วยค่ะ จะเป็นของเล็กๆ น้อยๆ ที่มีรูปช้าง มวยไทย ต้มยำกุ้ง หรือชุดไทย หรือเป็นโปสการ์ดสถานที่สวยๆ ดีๆ ของไทยก็ได้ พกไปซักแพ็กนึงไว้เขียนการ์ดขอบคุณแจกทุกคนที่นั่นก่อนเรากลับ เมื่อเพื่อนต่างชาติของเราได้ยินคนพูดถึงไทยในทางไม่ดี (รู้ๆ กันอยู่ว่าประชากรส่วนมากของโลกมองบ้านเราเป็นยังไง) เขาก็สามารถพูดแทนให้ได้ว่าเขารู้จักคนไทยที่นิสัยดีเรียบร้อยน่ารัก ทัศนคติของหลายคนจะดีขึ้นมากเพราะความใส่ใจเล็กๆ น้อยๆ ของเรานี่แหละค่ะ 




     ทั้ง 6 ข้อนี้คือเรื่องเล็กน้อยง่ายๆ แต่หลายคนก็ลืมไปบ้าง แล้วพอกลับไทยมาก็จะเพิ่งรู้สึกว่า "เสียดายจัง ตอนนั้นน่าจะ..." ซึ่งพี่ไม่อยากให้ใครต้องเกิดความรู้สึกนี้เลย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องลองประสบการณ์ที่ไม่ดีมานะคะ อะไรที่รู้ว่าไม่ดีกับตัวเราก็ไม่ต้องไปลองค่ะ ไม่ต้องเอากลับมาด้วย หรือประสบการณ์แย่ๆ อย่างกระเป๋าหาย ตกเครื่องบิน โดนตม.ตรวจกระเป๋า หรือโดนริบขวดน้ำหอมจากเป้ตอนจะขึ้นเครื่องบินเนี่ย ไม่ต้องจงใจมีประสบการณ์พวกนี้มาเล่าต่อก็ได้นะคะ ^O^ เพราะทุกอย่างนี้เราป้องกันได้ถ้ารอบคอบค่ะ 

     ฉะนั้นที่ถามว่าไปแล้วจะคุ้มมั้ย ไม่ว่าน้องจะไปกับโครงการอะไรก็ตาม บอกได้เลยค่ะว่าคุ้มแน่นอน คุ้มในแง่ของประสบการณ์ค่ะ ซึ่งแต่ละคนจะได้เจอเรื่องดีๆ หรือเรื่องแย่ๆ ก็ขึ้นกับดวงด้วย (นี่จริงจังนะ) แต่ไม่ว่ามันจะเป็นแบบไหน ก็ถือว่าเราได้มันมาอยู่ดี และมันมีบทเรียนให้เราแน่นอน ถ้ามีโอกาสได้ไปแล้ว ก็ไปเลยค่ะ แต่อย่าลืมอัพเดทตัวเองให้ที่บ้านทราบเป็นประจำด้วยล่ะ เดี๋ยวคนที่นี่จะเป็นห่วงเอานะ  ส่วนใครอยากอ่านบทความดีๆ เคล็ดลับการไปเรียนต่อนอก อย่าลืมแวะเวียนเข้าไปที่คอลัมน์เรียนต่อนอก www.dek-d.com/studyabroad นะคะ

TWITTER: @PiZZaDekD


ข้อมูล
www.diversityabroad.com/article/study-abroad/
ten-tips-for-students-preparing-for-summer-study-or-intern-abroad

ภาพประกอบ
thesevenyearcottage.com, www.sportdiver.com
www.newsadvance.com, webaroundme.blogspot.com
www.souvenirgallery.co.uk, www.richardbarrow.com

พี่พิซซ่า
พี่พิซซ่า - Columnist คอลัมนิสต์ฝ่ายเรียนต่อนอก

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

11 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
icekoo Member 17 ส.ค. 56 14:23 น. 3
เป็นประโยชน์มากค่ะ บางทีลายละเอียดเล็กๆน้อยเราก็ลืมมันไปเหมือนกันhttp://www.dek-d.com/DDRTE/editor/plugins/dekdee/images/b-001.gif
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
~vier4_sorceress~ Member 18 ส.ค. 56 19:58 น. 5
แต่ยังไง การแชร์เรื่องราวก็อันตรายอยู่นะ
เพราะมี google แปลภาษา โฮสต์อาจจะได้อ่านสิ่งที่เราเขียนแย่ๆลงไป
ระวัง social media ที่มันเป็น publish ด้วยเน้อออออออ
0
กำลังโหลด
Ning 19 ส.ค. 56 20:13 น. 6
มีพิซซ่าเขียนได้ตรงใจหนูมากเลยค่ะ

หนูทำครบทุกข้อเลย ติดจะบกพร่องข้อที่ 4 หน่อยๆ คือ
ไม่ค่อยได้ถ่ายรูปตัวเอง ถ่ายให้คนอื่นซะหมดเลย 55555
แต่คราวนี้จะจำไว้ จะได้ไม่ทำผิดพลาดอีก

ขอบคุณสำหรับกระทู้ดีๆนะคะ :)
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
TulipTulip Member 29 ส.ค. 56 00:53 น. 9
มีประโยชน์ทุกข้อเลยค่ะ ขอบคุณนะคะ
ตอนก่อนไปแลกเปลี่ยนแลกเปลี่ยนไม่กินผักเลย แต่อยู่บ้านโฮสต้องมีผัก หรือสลัดทุกมื้อเลยทำให้ต้องฝึกกินผัก ตอนกลับมาบ้าน แม่แปลกใจที่กินผักได้แทบทุกอย่างเลย 
รวมถึงลองอะไรใหม่ๆด้วย จากที่เกลียดกีฬาทุกอย่าง แต่ก็เข้าทีมฟุตบอล เทนนิส บาส ถือว่าเป้นการเปลี่ยนแปลงที่ดีมาก เพราะทำให้ไม่เหงา ได้เพื่อนเพิ่มด้วย ถึงแม้ว่าจะเล่นไม่ค่อยได้ก็ตาม  และทำให้มองกลับไปว่าอย่างน้อยเราก็เคยทำ เคยได้ลอง 
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด