อเมริกาจ๋าพี่มาแล้ว! รีวิวประสบการณ์สัมภาษณ์ Visa J-1 ฉบับเด็ก Work and Travel 2024

สวัสดีน้องๆ Dek-D ครับ ไหนขอเสียงคนที่กำลังจะไปสัมภาษณ์วีซ่าโครงการ Work and Travel กันหน่อย~ ช่วงนี้ก็เริ่มเห็นหลายคนทยอยสัมภาษณ์วีซ่ากันเรื่อยๆ  ส่วนใครที่ยังไม่ถึงคิว พี่เชื่อว่าน้องๆ อาจมีความกังวลใจในเรื่องของคำถามและการเตรียมตัวสำหรับการสัมภาษณ์กันอยู่ใช่มั้ยครับ? 

วันนี้ พี่อั้ม ในฐานะที่เพิ่งผ่านการสัมภาษณ์มาแบบสดๆ ร้อนๆ เลยขออาสามาแบ่งปันประสบการณ์สัมภาษณ์วีซ่า J-1 ฉบับปี 2024 ให้ผ่านฉลุยพร้อมบินไปเป็น #ทีมอเมริกา ในปีนี้กัน!

 ว่าแต่จะเจอคำถามแนวไหน และมีเรื่องอะไรที่ควรรู้ก่อนเข้าห้องสัมภาษณ์บ้าง รีบตามพี่มาเลยครับบบ~

 

บทความนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นความรู้และแนวทางให้กับผู้ที่กำลังจะไปสัมภาษณ์วีซ่า J-1 ได้รู้ถึงขั้นตอนการเข้าสัมภาษณ์ การเตรียมความพร้อมของตัวเอง และวัตถุประสงค์ของการสัมภาษณ์วีซ่า (ไม่มีจุดประสงค์เพื่อชี้นำหรือบอกใบ้คำตอบในการสัมภาษณ์วีซ่าแต่อย่างใด) 

เช็กความเข้าใจ Work and Travel คือโครงการอะไร?

ก่อนอื่นเลยเราต้องเข้าใจจุดประสงค์ของโครงการ ‘Work and Travel Program’ หรือที่เราเรียกแบบย่อกันว่า WAT  ซึ่งเป็นโครงการแลกเปลี่ยนต่างประเทศระยะสั้นจากทางรัฐบาลสหรัฐอเมริกา มอบให้กับนักศึกษาระดับปริญญาตรี-โท อายุ 18–28 ปี  (ในช่วงปิดภาคเรียน) ได้มีโอกาสเดินทางไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมและการใช้ชีวิตแบบชาวอเมริกัน พร้อมฝึกฝนภาษาอังกฤษ สร้างมิตรภาพกับเพื่อนชาวต่างชาติจากทั่วโลก ผ่านการท่องเที่ยวและทำงานอยู่ภายในประเทศสหรัฐฯ ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด

Photo Credit: pixabay
Photo Credit: pixabay

โดยระยะเวลาเข้าร่วมโครงการจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่

  • ช่วงฤดูใบไม้ผลิ (Spring) มีระยะเวลาตั้งแต่ 7 มีนาคม - 7 กรกฏาคม 
  • ช่วงฤดูร้อน (Summer) มีระยะเวลาตั้งแต่ 7 พฤษภาคม - 7 กันยายน 

** หลังจบโครงการจะมีเวลาอีก 30 วัน สำหรับการท่องเที่ยวพักผ่อน ก่อนเดินทางกลับประเทศไทย (แต่ไม่สามารถทำงานได้)

คำแนะนำ: นักศึกษาปริญญาตรีหลักสูตร 3 ปี หรือ 3 ปีครึ่ง รวมทั้งนักศึกษาปริญญาโท สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ ตราบใดที่ ‘ยังคงสถานะการเป็นนักศึกษา’ // สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่มได้จากทางเอเจนซีที่เราเลือกสมัคร

J-1 VISA คืออะไร? เหมาะกับใคร? 

แน่นอนว่าก่อนจะออกบิน เราจำเป็นจะต้องได้รับการอนุมัติวีซ่ากันก่อน! สำหรับน้องๆ นักศึกษาที่จะเดินทางเข้าประเทศสหรัฐฯ ทางรัฐบาลก็ได้มีกำหนด US Visa Student ออกมา 3 หมวด ประกอบด้วย

  • F Visa เป็นวีซ่าสำหรับผู้ที่ยื่นศึกษาต่อสถาบันอุดมศึกษาในประเทศสหรัฐฯ
  • M Visa เป็นวีซ่าที่ทางรัฐบาลสหรัฐฯ ออกให้กับนักเรียนสายวิชาชีพ
  • J Visa เป็นวีซ่าสำหรับผู้ที่เข้าร่วม Exchange Program ต่างๆ ทั้งในระดับมัธยมและอุดมศึกษา

ซึ่งน้องๆ ที่เข้าร่วมโครงการ Work and Travel จะต้องเข้าสัมภาษณ์กับทางสถานทูตสหรัฐฯ เพื่อขอการอนุมัติวีซ่าหมวด J Visa ในประเภท ‘J-1 (Summer Work and Travel)’ หรือวีซ่าที่อนุญาติให้สามารถอยู่อาศัยและทำงานในประเทศสหรัฐฯ ได้เป็นการชั่วคราว (Temporary Stay) ในขอบเขตระยะเวลาสูงสุด 4 เดือน

ซึ่งวีซ่านี้จะใช้ประกอบกับหนังสือ ‘DS-2019’ ที่ออกให้จากทางสปอนเซอร์ฝั่งอเมริกา โดยภายในหนังสือจะมีระบุเลข SEVIS ID หรือรหัสประจำตัวนักเรียนแลกเปลี่ยนในฐานระบบของรัฐบาล รวมถึงข้อมูลสถานที่ทำงานและกำหนดการที่ระบุวันเริ่มและวันสิ้นสุดของโครงการ เพื่อใช้แสดงกับสถานทูตและยืนยันสำหรับอนุมัติการเข้าประเทศกับทาง ตม. ในวันที่เราเดินทางเข้าสู่สหรัฐฯ 

รีวิวประสบการณ์สัมภาษณ์วีซ่า J-1 

ก่อนจะเริ่มขอเกริ่นก่อนว่านี่เป็นครั้งแรกที่ได้เข้าร่วมโครงการ Work and Travel และก็เป็นครั้งแรกที่ได้มีโอกาสสัมภาษณ์วีซ่ากับทางสถานทูตของสหรัฐฯ เช่นกัน (อัปเดต ม.ค. 2024) หากข้อมูลในบทความมีการเปลี่ยนแปลงหรือผิดพลาดประการใด สามารถบอกกล่าวแนะนำกันได้นะครับ ถ้ายังไงพร้อมแล้ว ก็มาเริ่มลุยด้วยกันเลย ~

ฝ่าฟันกันมามากมาย สุดท้ายก็มาถึง ‘การสัมภาษณ์ Visa’ 

บอกเลยว่าเด็กเวิร์กรู้กันดี! เพราะกว่าจะมาถึงขั้นตอนการสัมภาษณ์วีซ่าได้ เราต้องผ่านทั้งการวัดระดับภาษา การจองงาน การสัมภาษณ์นายจ้าง จ่ายค่าโครงการและขั้นตอนเอกสารอีกมากมายก่ายเพดาน (เรียกว่าคนไหนที่ผ่านมาได้ถึงขั้นนี้ ขอตบมือสองทีให้ตัวเองด้วยฮะ) 

โดยมาในส่วนของพาร์ตของการสัมภาษณ์วีซ่า เริ่มแรกเลยคือทางเอเจนซีจะเป็นคนที่ดูแลในเรื่องของการจองวันสัมภาษณ์ และวางโปรแกรมการกรอกเอกสารวีซ่า อย่าง ‘DS 160 Visa Application’ ที่เป็นฟอร์มเอกสารกรอกทางออนไลน์ผ่านระบบของรัฐบาลสหรัฐฯ ให้เรา ซึ่งเทคนิกการกรอก DS-160 (โดยส่วนตัว) กรอกไป 3 พารากราฟ ประกอบไปด้วย ชั้นปี คณะที่เรียน มหาวิทยาลัย (หากมีฝึกงานก็บอกตำแหน่งหน้าที่และบริษัท) / เหตุผลของการเข้าร่วมโครงการ / แพลนการทำงานหลังจากกลับมาประเทศไทย 

 

‘การกรอก DS-160’ เป็นขั้นตอนที่สำคัญและมีผลมากต่อการสัมภาษณ์ แนะนำให้ติดตามคำแนะนำของทางเอเจนซีเพื่อความชัวร์ที่สุด

Photo Credit: freepik
Photo Credit: freepik

หลังจากกรอกข้อมูลตามแพลนที่ทางเอเจนซีเตรียมไว้ให้เสร็จ และได้รับประกาศวันสัมภาษณ์วีซ่าแล้ว ต่อมาก็เข้าสู่ช่วงการเตรียมตัวเก็บข้อมูล เตรียมคำถามและคำตอบสำหรับการสัมภาษณ์ ซึ่งบทความนี้เราได้รวบรวมคำถามที่พบเจอได้บ่อยในการสัมภาษณ์มาให้แล้ว ทุกคนสามารถดูตามที่ลิสต์ไว้ข้างล่างได้เลย   

Mostly Asked Questions! 
รวมคำถามยอดฮิต ก่อนเข้าห้องสัมภาษณ์

ทำไมถึงอยากเข้าร่วมโครงการ Work and Travel(Why do you want to join this program?) 
คุณกำลังเรียนคณะ/สาขาอะไร (เรียนอยู่ชั้นปีไหน เรียนอยู่ที่ไหน)(What are you studying / What year are you in / Where are you studying?)
เราไปทำงานที่ไหน / ทำงานตำแหน่งอะไร (มีหน้าที่ทำอะไรบ้าง)(Where are you going to work / What is your position?)
ทำไมอยากไปทำงานที่นั่น (ทำไมถึงต้องเป็นเมืองนี้)(Why do you want to work there?)  
ใครเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในโครงการ (อาชีพผู้ปกครอง)(Who is your sponsor for this program? / What is the occupation of your parent?)
มีแผนไปท่องเที่ยวหลังจบงานมั้ย(Do you have a travel plan after finishing the program?)
หลังจากกลับมาประเทศไทย จะทำอะไรต่อ(What is your plan after coming back to Thailand?)
หากคุณเผชิญกับเหตุการณ์อันตราย คุณจะมีวิธีการจัดการอย่างไร(What is your procedure when encountering an accident in the U.S.?)

แน่นอนว่าต่างคนก็ต่างมีคำตอบในสไตล์ของตัวเอง แต่ลองแอบมาดูคำแนะนำจากทาง U.S. Embassy ที่ได้แชร์ทริกให้ทุกคนได้เตรียมพร้อมก่อนลงสนาม บอกเลยว่ามีประโยชน์มากๆ เพราะนอกจากเรื่องผลการเรียนและสกิลการใช้ภาษาอังกฤษที่ดีแล้ว น้องๆ ที่เข้าร่วมโครงการควรแสดงความเชื่อมั่นให้กับทางสถานทูตได้เห็นว่า พวกเราจะเดินทางกลับมาประเทศไทย ไม่อาศัยอยู่ต่อในประเทศสหรัฐฯ เกินกว่าวันเวลาที่โครงการกำหนด 

โดยทางเจ้าหน้าที่กงสุล (Consular Officers) มีหน้าที่ต้องสอบถามข้อมูลน้องๆ ในเรื่องของการศึกษา สถานภาพครอบครัว การเงินและการทำงาน รวมถึงวัตถุประสงค์ในการเข้าร่วมโครงการเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเราเข้าใจเป้าหมายที่แท้จริงและสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดได้อย่างถูกต้อง

คำแนะนำ: น้องๆ อย่าลืมอ่าน ‘Wilberforce Pamphlet’ มาก่อนด้วยนะ เพราะเป็นสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ ‘สิทธิของผู้ใช้แรงงานที่พำนักอยู่อาศัยชั่วคราว’ ในอเมริกา

Photo Credit: unsplash
Photo Credit: unsplash

1 Week Before an Interview

พอจับหลักได้และเตรียมฝึกซ้อมกันมาต่อเนื่อง ในช่วงหนึ่งอาทิตย์สุดท้ายก่อนวันสัมภาษณ์ (ได้วันนัดสัมภาษณ์วันที่ 23 มกราคม 2567 เวลา 10:00 น.) เราก็พยายามจัดการเคลียร์ตัวเองให้พร้อมที่สุด  เพื่อวันจริงจะได้โฟกัสอย่างเต็มที่กับการสัมภาษณ์  โดยเราจะเน้นเรื่องของการเตรียมตัว ดังนี้

  • จัดเวลาการนอนพักผ่อนให้เพียงพอ (สำคัญมาก!)
  • รวบรวมเอกสารที่ต้องใช้ในวันสัมภาษณ์ไว้ให้พร้อม
  • จำลองการซ้อมสัมภาษณ์ตามเวลาจริง
  • เตรียมเครื่องแบบการแต่งการให้ดูเป็นทางการมากที่สุด (ชุดนักศึกษา)
  • เช็กสถานที่และวันเวลานัดหมาย พร้อมวางแผนการเดินทาง

D-DAY: What happened?

และแล้วก็ถึงวันสัมภาษณ์จริง เราเดินทางมาที่ออฟฟิศของเอเจนซีก่อนเวลาสัมภาษณ์ประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อมาเช็กเอกสารที่ทางเอเจนต์เตรียมไว้ให้ ประกอบไปด้วย Visa Appointment Confirmation, DS-2019, Sevis, Passport และเอกสารยืนยันข้อมูลอื่นๆ ซึ่งในช่วงระหว่างรอไปสถานทูตก็มีการซ้อมสัมภาษณ์และเช็กคำตอบกับพี่ๆ อีกที    

หลังจากตรวจเช็กเอกสารและติวสัมภาษณ์เสร็จ พอได้เวลาการนัดสัมภาษณ์ เราก็เดินตรงออกมาจากออฟฟิศและข้ามสะพานลอยมายังหน้าสถานทูตอเมริกา บอกเลยว่าจังหวะกำลังเดินข้ามสะพานคือใจเต้นแรงมากกก ในหัวเริ่มจะคิดคำตอบที่เตรียมมาไม่ออก ตอนนั้นพยายามดึงสติและผ่อนคลายตัวเองให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ‘นึกอยู่ตลอดว่า วันนี้เรามาเพื่อมาแจ้งท่านกงสุลเฉยๆ ว่าเราจะไปอเมริกาแล้วนะ ไปทำงานนี้ ไปทำที่รัฐนี้ ฟีลเหมือนมาโม้ให้ท่านฟัง’ มันจะได้แบบมีเป้าหมายในการพูด และไม่ตึงเครียดเกินไปขนาดนั้น 555  

จากนั้นก็มาต่อคิวยื่นเอกสารนัดสัมภาษณ์ตรงเต็นท์สีเขียวหน้าสถานทูต ซึ่งพี่พนักงานที่อยู่ตรงด่านทางเข้าก็จะขอเช็กใบ DS-2019 และเอาพาสปอร์ตมาติด Tracking ที่มีเลข EMS ไว้ด้านหลังพร้อมกับให้เราเดินเข้าด่านตรวจไปได้เลย ในจุดนี้ไม่อนุญาตให้นำอุปกรณ์สื่อสารเข้าไปข้างในนะ ใครที่มีสัมภาระก็ฝากไว้กับทางเจ้าหน้าที่ได้ แต่ส่วนตัวเราเตรียมไปแค่แฟ้มเอกสารสำหรับสัมภาษณ์ ก็เดินชิลตรงผ่านเข้าไปที่เครื่องตรวจโลหะเลย // แนะนำว่าระหว่างเดินไปโซนสัมภาษณ์ก็ให้จดรหัส EMS ไว้ก่อนได้เลย

Are you ready for the interview?

ผ่านจากด่านตรวจเข้ามาในสถานทูต เราก็เดินตามลูกศรบอกทางเข้าไปจนเจอพี่พนักงานตรงเคาน์เตอร์ก่อนเข้าห้องสัมภาษณ์ ตรงจุดนี้เราจะต้องยื่นพาสปอร์ตและใบ DS-2019 บวกกับรูปถ่ายวีซ่า 1 ใบ ให้กับพี่พนักงานก่อนจะเดินเข้าไปห้องสัมภาษณ์ต่อได้ ซึ่งบรรยากาศภายในห้องสัมภาษณ์บอกเลยว่าอารมณ์เหมือนเรามาจ่ายเงินรับยาที่โรงพยาบาลเลย ทางพี่พนักงานและท่านกงสุลจะยืนรอเราอยู่ในตู้กระจกใสที่มีไมค์ติดอยู่ให้เราได้สื่อสารกัน โดยในขั้นตอนในการเข้าสัมภาษณ์ เราสรุปแบบคร่าวๆ มาได้ตามนี้เลย

  1. หลังจากถูกประกาศเรียกคิว เราเดินมาที่ตู้ของพี่พนักงานคนไทยก่อน เพื่อตรวจเช็กเอกสารและสแกนลายนิ้วมือครั้งที่หนึ่ง
  2. จากนั้นเดินต่อมาที่ตู้ของพนักงานชาวต่างชาติ เพื่อเช็กเอกสารพร้อมสแกนลายนิ้วมือครั้งที่สอง 
  3. พอเสร็จแล้วก็เดินออกมาต่อแถวในไลน์ช่องสัมภาษณ์ พร้อมรอพูดคุยแบบม่วนๆ กับท่านกงสุลได้เลย

รอบของเราได้สัมภาษณ์กับท่านกงสุลผู้ชายผมทอง หน้าตาใจดี ซึ่งคำถามที่โดนสัมภาษณ์ก็เป็นตามที่แนะนำข้างบนเลย อาจมีถามเจาะเรื่องรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในเรื่องสถานที่ทำงานและแพลนหลังกลับจากโครงการ ยังไงก็อย่าลืมเตรียมข้อมูลหลายๆ ด้านมาให้พร้อมด้วยนะครับ ห้ามประมาทเด็ดขาด

โดยหลังจากพูดคุยกันได้สักพักไม่นานมาก ประมาณ 3-4 นาที ทางท่านทูตก็ยื่นสมุดสีขาวที่เป็นเหมือนใบสรุปสิทธิแรงงานฉบับภาษาไทยมาให้ พร้อมเอ่ยวลีสวรรค์ ‘Your visa is approved.’ พร้อมบอกว่าจะส่งพาสปอร์ตและใบ DS-2019 คืนกลับมาให้ภายในหนึ่งสัปดาห์ เป็นอันจบภารกิจสัมภาษณ์วีซ่า ได้จองตั๋วบินกันแล้วครับ ดีใจจจ  ~

Photo Credit: pixabay
Photo Credit: pixabay

คำแนะนำ: หลังจากได้รับพาสปอร์ต และเอกสาร DS-2019 คืนจากสถานทูต ‘ต้องเก็บไว้ให้ดี ห้ามหายเด็ดขาด’ เพราะต้องใช้ในการยืนยันกับทางสำนักตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐฯ (Department of Homeland Security) ซึ่งเรามีโอกาสถูกปฏิเสธการเข้าประเทศได้ หากเอกสารอย่างใดอย่างหนึ่งเปลี่ยนแปลงหรือขาดหายไป

สรุปหลักสำคัญการเตรียมตัว

 

‘Practice Makes Perfect’ ช่วยเพิ่มโอกาสผ่าน ไม่ต่างกับดูดวง 

ดวง ดวง ดวง ก็เข้าใจได้ว่าครั้งนึงชีวิตเราก็ต้องพึ่งลิขิตสวรรค์กันบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าสัมภาษณ์ได้ดีก็คือ ‘การหมั่นฝึกซ้อม’ โดยจากประสบการณ์สัมภาษณ์ แนะนำว่าน้องๆ ไม่จำเป็นต้องจำทุกคำในคำตอบที่เตรียมมา เพราะในสถานการณ์จริงเราอาจพบเจอกับปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก อย่างเช่นเรื่องความกดดันและความคาดหวังที่เกิดขึ้นจนทำให้เกิดอาการแพนิค และเสี่ยงที่จะลืมเนื้อหาหรือบทพูดที่เตรียมมาได้  

ดังนั้น การฝึกซ้อมตอบคำถามแบบใช้ ‘Key words’ จะเป็นตัวช่วยให้เราสามารถหยิบไอเดียสั้นๆ มาอธิบายขยายความต่อได้ ทำให้มีเนื้อหาการสื่อสารที่ชัดเจนและตรงประเด็น โดยที่ไม่จำเป็นต้องจำทุกวรรคทุกคำที่เตรียมมา โดยส่วนตัวคิดว่าวิธีนี้สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการลืมบทพูด ทั้งยังเหมือนบังคับให้เราได้ฝึกนำคำศัพท์ภาษาอังกฤษพื้นฐานง่ายๆ ออกมาใช้แบบไม่ต้องท่องจำ // ได้ฝึกความ flow การพูดภาษาอังกฤษไปในตัวด้วย 

 

เตรียมตัวก็ต้องพร้อม เอกสารก็ต้อง Check!

อีกหนึ่งปัญหาที่สังเกตได้ก็คือ บางคนอาจจะโฟกัสกับการฝึกซ้อมสัมภาษณ์มากเกินไปจนลืมจัดการเรื่องของเอกสาร ซึ่งที่จริงเป็นพาร์ตที่สำคัญมากๆ! เพราะถ้าหากขาดเอกสารใดไปแค่อย่างเดียว ก็ทำให้ตกรอบตั้งแต่ก่อนเข้าสัมภาษณ์ได้เลยนะ ดังนั้นพี่เลยรวบรวมลิสต์เอกสารพื้นฐานที่จำเป็นในสัมภาษณ์ไว้เผื่ิอน้องๆ ได้ลองเตรียมตัวกัน มีอะไรกันบ้างมาดูเลย ~ 

เอกสารหลัก

เอกสารรอง

Visa Appointment ConfirmationProof of Student ** ภาษาอังกฤษ (ฉบับจริง)
DS-2019 หลักฐานการเงินของผู้ปกครอง
SEVIS หนังสือรับรองสถานะการทำงานของผู้ปกครอง
Passport เล่มจริงใบเปลี่ยนชื่อ-นามสกุลตัวเรา / ผู้ปกครอง (ถ้ามี)
Transcript ** ภาษาอังกฤษ (ฉบับจริง)เอกสารยืนยันต่างๆ เพิ่มเติม 
รูปถ่าย Visa 2x2 ** ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน 

คำแนะนำ: เอกสารหลักควรเป็น ฉบับจริง! // อย่างไรก็ตามเอกสารบางอย่างอาจจะมีการปรับเปลี่ยน แนะนำให้ ‘ติดตามข้อมูลของทางเอเจนซีที่น้องๆ เลือกสมัครเพื่อความชัวร์ที่สุด’ 

 

แค่เปลี่ยนมุมมองการสัมภาษณ์ เราก็อาจผ่านโดยไม่รู้ตัว!

ความกดดันและความเครียดจากมุมมองที่ว่า การสัมภาษณ์ = การคัดเลือกคน อาจส่งผลโดยตรงต่อความมั่นใจในการตอบคำถามของเราได้ครับ ดังนั้น สิ่งที่พี่อยากแนะนำก็คือการลองเปลี่ยนมุมมองการสัมภาษณ์เสียใหม่ โดยลองมองว่า ‘การมาสัมภาษณ์วีซ่า = มาเมาท์ให้ท่านกงสุลฟัง’ ว่าเรามีแผนงานอะไร อยากจะไปที่ไหน สถานที่ที่จะไปนั้นดีเลิศยังไง ซึ่งพี่เองก็เชื่อว่าท่านกงสุลก็รอฟังเราโม้ไม่ต่างกัน ฉะนั้นบอกตัวเองไว้อยู่เสมอครับว่า ‘Your thought is the only thing that kills you.’ (ก็มีแค่ความคิดพวกสูนั่นแหละที่ทำตัวเอง จะไปมีใครอีก) // ท่านกงสุลรอเราเมาท์ฉ่ำอยู่ มั่นใจเข้าไว้ครับ! 

• • • • • • •

สุดท้ายแม้ไม่มีอะไรที่การันตีได้ว่าเราจะผ่านหรือไม่ผ่าน แต่สิ่งนึงที่อยากบอกน้องๆ เลยก็คือ ‘ โอกาสในการที่จะได้มาพูดคุยกับท่านกงสุลแบบนี้ไม่ได้มีมาบ่อย หากโอกาสนั้นมาถึงแล้ว อยากให้น้องๆ ลงมือทำให้เต็มที่และเชื่อมั่นในตัวเองเข้าไว้ ’ ในตอนจบแม้ว่ามันจะร้ายหรือดี ก็อยากจะให้ทุกคนได้เดินออกมาแบบไม่รู้สึกเสียใจ หรือเสียดายกันภายหลังนะครับ ทาง พี่อั้ม และพี่ๆ ทีม Study Abroad ขออวยพรให้น้องๆ ทุกคนที่ไปสัมภาษณ์โชคดี Your Visa Approved กันทุกคนครับ :) 

 

ชวนอ่านต่อ : งานหินแค่ไหนก็สู้! เปิดรีวิวเด็ก Work & Travel ในอุทยานหินแกรนิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก @California

Work and Travel : Yosemite National Park
Work and Travel : Yosemite National Park

 

sources: https://visaguide.world/us-visa/nonimmigrant/study-exchange-visas/j1/ https://th.usembassy.gov/visas/summer-work-travel-program/swt-instructions/ https://j1visa.state.gov/programs/summer-work-travel/ 

 

 

พี่อั้ม
พี่อั้ม - Columnist เด็กมนุษย์ Eng เชื้อสายอีสาน ขับเคลื่อนงานด้วยชาเขียว

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น