กันไว้ดีกว่าแก้ วิธีรับมือ "ภัยก่อการร้าย" เมื่อต้องไปเรียนต่อนอก

        ช่วงนี้ถ้าใครคอยติดตามข่าวสารต่างประเทศอยู่เสมอก็จะได้ยินข่าวก่อการร้าย  สิ่งที่น่ากังวลคือเราไม่มีทางรู้เลยว่าการก่อการร้ายจะเกิดขึ้นเมื่อไร และคนที่มีความเสี่ยงก็คือคนที่อยู่ในประเทศเป้าหมายของกลุ่มก่อการร้าย ทำให้น้องๆ ชาวเด็กดีหลายคนอาจลังเลใจที่จะไปเรียนต่อต่างประเทศ หรืออยากไปแต่คุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้ไป

bykst via pixabay.com

        แต่อย่าให้เรื่องนี้มาเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตของเราค่ะ ถ้าเราตั้งใจจะไปเรียนต่อต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ไม่เคยมีประวัติก่อการร้ายหรือประเทศที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย "พี่น้อง" ก็มีคำแนะนำและวิธีการปฏิบัติตัวสำหรับกรณีนี้โดยเฉพาะ
 

ติดตามข่าวสารและหาข้อมูลก่อนไปเรียนต่อ

        สิ่งที่เราต้องทำอยู่แล้วก่อนไปเรียนต่อนั่นก็คือการหาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศที่เราจะไป ไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษา ที่ตั้งสถานที่ต่างๆ แหล่งท่องเที่ยว และวัฒนธรรม แต่อีกสิ่งที่เราต้องค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมด้วยคือ ข้อมูลด้านความปลอดภัย ดังนี้
        1. ประเทศที่เราจะไปนั้นเคยมีเหตุก่อการร้ายบ้างหรือไม่
        2. ถ้าประเทศนั้นเคยมีเหตุก่อการร้าย ต้องเช็กรายละเอียดเพิ่มเติมด้วยว่าแล้วเกิดขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อไร ที่ไหน ใครคือเป้าหมาย

        เพราะการก่อการร้ายมักมีการพุ่งเป้าไปที่คนบางเชื้อชาติหรือสถานที่ที่มีความเกี่ยวพันกับประเทศมหาอำนาจโดยตรง เช่น บริเวณที่มีเหตุระเบิดมีสถานทูตอเมริกาตั้งอยู่ มีร้านสตาร์บัคส์ หรือเป็นที่อยู่อาศัยของคนบางเชื้อชาติโดยเฉพาะ
 

PredragKezic via pixabay.com
 
        เรารู้กันว่ากลุ่มติดอาวุธมักเพ่งเป้าไปที่ชาติมหาอำนาจ เพราะนโยบายทางการทหารของประเทศนั้นๆ ทำให้กลุ่มติดอาวุธเหล่านี้พุ่งเป้าไปที่คนเชื้อชาตินั้นด้วย
        การหาข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ผ่านมาจะช่วยให้เราประเมินความเสี่ยงได้ ว่าสถานที่ที่เราจะไปนั้นเป็นจุดเสี่ยงหรือไม่ และเราเองถือเป็นเป้าหมายหรือเปล่า
 

วิธีการหาข้อมูลด้านความปลอดภัย

        วิธีการหาข้อมูลนั้น "พี่น้อง" แนะนำให้เช็กจาก Travel Warnings หรือ Travel Alerts ของประเทศสำคัญๆ อย่างอเมริกาหรืออังกฤษค่ะ เนื่องจากประเทศไทยเราไม่มีหน้าเว็บที่แจ้งเตือนเรื่องการเข้าออกประเทศต่างๆ แต่ประเทศตะวันตกส่วนใหญ่จะมีแจ้งเตือนประชากรของเขาเองว่าเวลานี้ไม่ควรไปประเทศไหน เราใช้การแจ้งเตือนนี้เป็นข้อมูลตั้งต้นได้ว่า ตอนนี้แต่ละประเทศเกิดเหตุใดขึ้นบ้าง
        ขั้นตอนคือ
        1. ให้เข้าไปที่หน้าเว็บของรัฐบาลสหรัฐฯ หรืออังกฤษ พี่น้องขอเลือกอเมริกานะคะ เพราะกลุ่มติดอาวุธเพ่งเล็งประเทศนี้มากที่สุด
        2. จากนั้นจะมีให้เลือกว่าจะดูประกาศเตือนภัยระยะยาว (Travel Warnings) หรือเตือนภัยระยะสั้น (Travel Alerts) การเตือนภัยระยะยาวคือการเตือนภัยในกรณีที่ประเทศนั้นๆ กำลังอยู่ในภาวะสงคราม มีการก่อการร้ายอย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่าเลี่ยงได้เลี่ยง ส่วนการเตือนภัยระยะสั้นจะใช้ในกรณีที่เกิดภัยสั้นๆ จึงแจ้งให้เลี่ยงการเดินทางเฉพาะในช่วงที่เกิดภัย เช่น ภัยสึนามิ หรือภัยก่อการร้ายแบบที่ประเทศไทยเจอ ซึ่งไม่ใช่เหตุเรื้อรังแบบที่ซีเรียกำลังเผชิญอยู่
        3. หลังจากนั้นให้พิมพ์ชื่อประเทศที่เราจะเข้าไปดูว่ามี Warning หรือ Alert บ้างมั้ย?
        เพิ่งเกิดเหตุระเบิดในกรุงจาการ์ต้าไปหยกๆ พี่น้องเลยลองค้นหาคำว่า Indonesia แต่ไม่มีอะไร  รัฐบาลอเมริกาคงมองว่าภัยก่อการร้ายนี้ไม่ได้มีความเสี่ยงต่อพลเมืองของตน
        แต่พอเสิร์ชคำว่า Syria ปุ๊บ ขึ้นเป็น Warning แปลว่ามีเหตุร้ายแรงเรื้อรัง ขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงประเทศที่ขึ้น Warning แบบนี้นะคะ
        3. อย่างไรก็ดี นี่เป็นคำเตือนของรัฐบาลอเมริกาต่อพลเมืองอเมริกันเท่านั้น เรายังต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่าประเทศที่เราจะไปเป็นภัยต่อเราหรือเปล่า เช่น ในพื้นที่นั้นมีการก่อการร้ายโดยพุ่งเป้าไปที่คนเอเชียโดยเฉพาะหรือไม่ ถ้าเป็นแบบนั้น รัฐบาลอเมริกาก็ไม่จำเป็นต้องเตือนคนของเขา เพราะไม่ใช่คนเอเชีย แต่เราสิเป็น
 

เก็บเบอร์โทรศัพท์และข้อมูลส่วนตัวติดตัวไว้เสมอ

        เมื่อไปอยู่ต่างประเทศ สิ่งที่ต้องจำอย่างแรกคือเบอร์สถานทูตและที่ตั้ง โดยเข้าไปที่หน้าเว็บของสถานทูตไทย แล้วเลือกหาประเทศที่เราต้องการ
        เมื่อคลิกเลือกประเทศแล้วก็จะขึ้นเป็นหน้าเว็บของสถานทูตไทยในประเทศนั้นๆ อีกที ซึ่งจะมีเบอร์โทรศัพท์สำหรับติดต่อที่มุมบนของเว็บให้เห็นได้ชัดๆ ด้วย
        นอกจากเบอร์สถานทูตสำหรับติดต่อแล้ว อย่าลืมจดข้อมูลส่วนตัวเหล่านี้เป็นภาษาอังกฤษใส่กระดาษ แล้วยัดในกระเป๋าสตางค์เอาแบบเห็นได้ชัดๆ
  • ชื่อของเรา
  • สัญชาติของเรา
  • ที่อยู่ของเราในประเทศนั้นๆ
  • กรุ๊ปเลือด (ถึงแม้การถ่ายเลือดต้องตรวจสอบอีกที แต่อย่างน้อยก็ให้เจ้าหน้าที่ได้ประเมินสถานการณ์เร็วขึ้นนะคะ)
  • เบอร์ติดต่อคนรู้จักของเราทั้งในประเทศและบ้านเกิด
        ทั้งหมดนี้เผื่อกรณีเราหลงทาง ความจำเสื่อม ได้รับบาดเจ็บ หมดสติ หรือ...เสียชีวิต อย่างน้อยเจ้าหน้าที่ก็จะทำงานได้ง่ายขึ้น และมีเวลาช่วยเราได้เร็วขึ้นค่ะ
 

วิธีการปฏิบัติตัวเมื่ออยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือประสบเหตุ

        พี่น้องหวังว่าจะไม่มีใครต้องเอาไปปฏิบัติจริงนะคะ เวลาเราเจอเหตุร้ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติหรือภัยก่อการร้าย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ "เราต้องมีสติ" ยิ่งกว่าถ่ายแบบ The Face อีกค่ะ
        สติ ช่วยอะไรเราได้บ้าง?
        1. ช่วยให้เราหูตาไวขึ้น เวลาเราไปอยู่ในพื้นที่ที่มีคนเยอะ (ซึ่งเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มก่อการร้าย) คอยสังเกต คอยมองรอบๆ ตลอดเวลาว่ามีใครทำท่ามีพิรุธหรือเปล่า มีกระเป๋าหรือวัตถุต้องสงสัยอยู่ในมุมอับมั้ย และพยายามอย่าให้ตัวเองอยู่ใกล้กับพื้นที่เสี่ยงเหล่านั้น เมื่อเห็นอะไรผิดปกติแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ก่อนเลย ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นเราตื่นตูมไปเอง แต่ยังดีกว่ามานั่งเสียใจทีหลังนะคะ
 

Unsplash via pixabay.com

 
        2. สติช่วยให้เราหาทางเอาตัวรอดได้เวลาเกิดเหตุขึ้นจริง ถ้าสมมติเรานั่งอยู่ในร้านอาหารแล้วผู้ก่อการร้ายพุ่งเข้ามากราดยิง สิ่งแรกที่เราควรทำคือหมอบลงกับพื้น และถ้าเป็นไปได้ ลากคนข้างๆ เราลงมานอนด้วยจ้ะ ต่อให้ต้องกระชากจนหัวฟาดพื้นหมดสติก็ต้องทำนะ
        ถ้ายังอยู่ในช่วงชุลมุน รีบมองไปรอบๆ ถ้าแถวนั้นมีเลือด ซอสมะเขือเทศ หรืออะไรก็ตาม เอามาป้ายตัวเราให้ดูเหมือนเลือดไว้ก่อน นี่คือวิธีการแกล้งตาย ซึ่งเป็นวิธีที่ผู้รอดชีวิตจากเหตุกราดยิงในโรงละครบาตาคลองใช้มา และวิธีนี้ได้ผลจริงๆ ค่ะ เพราะผู้ก่อการร้ายมักกราดยิงไม่เลือก และไม่ค่อยสนใจว่าใครตายจริง ตายไม่จริงเท่าไร ถ้าโชคดี เมื่อผู้ก่อการร้ายออกไปจากตรงนั้น เราค่อยคลานออกไปยังที่ปลอดภัยและอย่าลืมโทรแจ้งตำรวจและรถพยาบาลด้วยนะ
 
        ถ้าใครที่กลัวจริงๆ ไม่อยากเดินทาง ไม่อยากไปต่างประเทศ พี่น้องก็ว่าไม่ต้องไป เอาที่เราสบายใจดีกว่า ส่วนใครที่อยากไป ไม่กังวลเรื่องนี้ แต่ไม่รู้จะอธิบายคุณพ่อคุณแม่ยังไงดี พี่น้องแนะนำว่าให้พูดกับท่านไปตามจริงค่ะ
        ว่าแม้แต่ในบ้านเราก็ยังไม่ปลอดภัย เราไม่มีทางรู้หรอกว่าการก่อการร้ายจะเกิดขึ้นเมื่อไร และมันจะเกิดขึ้นกับเราหรือไม่ ไม่มีใครทำนายได้ทั้งนั้น สิ่งเดียวที่เราทำได้คือมีสติ รู้ว่าเรากำลังเผชิญอยู่กับอะไร และเตรียมรับมือให้ดีที่สุดค่ะ
 

ติดตามคอลัมน์แนะนำการเรียนต่อดีๆ ได้ที่นี่ Dek-D.com จ้า

พี่น้อง
พี่น้อง - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด