สวัสดีค่ะ ก่อนหน้านี้เราได้รู้กันไปแล้วว่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ เรียนอะไรบ้าง และเรื่องจริงในคณะนี้ที่หลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้ เอาจริงๆ คณะนี้ก็ไม่ได้เรียนแค่การรักษาสัตว์หรอก แต่เราต้องเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติของสัตว์นั้นๆ ด้วย

           แต่เอาเนื้อหามาบอกอย่างเดียวน้องๆ อาจจะยังไม่เข้าใจ พี่แป้งเลยไปหาข้อมูลเชิงลึกลงมาอีก โดยการไปสัมภาษณ์ 2 รุ่นพี่จะคณะสัตวแพทยศาสตร์ ทั้งพี่ที่กำลังเรียนอยู่ และพี่ที่เรียนจบแล้ว กว่าจะเรียนจบ 6 ปีไม่ง่ายเลย เอาไปเป็นว่าเราไปคุยกับรุ่นพี่ทั้ง 2 คนกันเลยดีกว่าค่ะ

 


พี่บาส สุจิต จิตทิชานนท์
ชั้นปีที่ 5 คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

พี่แป้ง : ก่อนอื่นให้น้องบาสแนะนำตัวเองกับน้องๆ ชาว Dek-D ก่อนเลยค่ะ
พี่บาส : สวัสดีครับ ชื่อ สุจิต จิตทิชานนท์ ชื่อเล่นบาส ตอนนี้กำลังเรียนอยู่ปี 5  คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ครับ

พี่แป้ง : ตอนที่น้องบาสสอบสัมภาษณ์เข้าที่นี่ เป็นอย่างไรบ้างคะ?

พี่บาส : ตอนนั้นสอบคนเดียวต่ออาจารย์ 2 ท่านครับ คำถามก็จะเป็นแนวทัศนคติเกี่ยวกับสัตว์ เช่น ปัญหาของสุนัขจรจัดมีความเห็นอย่างไร การทำการุณยฆาต (การทำให้สัตว์เสียชีวิตอย่างสงบ) สามารถทำได้หรือไม่ ก็ควรตอบตามความเป็นจริงเพราะการเข้ามาต้องทำใจรับได้ เพราะในวิชาเรียนอาจต้องทำแบบนั้นก็ได้

พี่แป้ง : ทำไมน้องบาสถึงเลือกเรียนคณะนี้?

พี่บาส : เพราะเป็นคนที่เลี้ยงสัตว์เยอะตั้งแต่เด็กๆ แล้วคุณพ่อคุณแม่เป็นสัตวแพทย์ด้วย ทำให้มีความใกล้ชิดตรงนี้ เห็นแล้วก็อยากเป็นสัตวแพทย์ตามคุณพ่อคุณแม่ครับ

พี่แป้ง : น้องบาสคิดว่าคนที่จะเรียนคณะนี้ได้ นอกจากเรื่องของการรักสัตว์แล้ว ควรมีอะไรอีกบ้าง?

พี่บาส : จริงๆ แล้วคนเรียนคณะนี้ไม่จำเป็นต้องรักสัตว์ก็ได้ แต่อย่ารังเกียจสัตว์ก็พอ เพราะเพื่อนๆ หลายคนที่เข้ามาก็ไม่ได้รักสัตว์ ส่วนสิ่งที่ควรจะมีก็ความอดทนและการปรับตัวที่ดีเพราะการเรียนในปีสูงๆ อาจต้องออกไปเรียนหรือฝึกงานต่างจังหวัดบ่อยๆ การปรับตัวจะช่วยให้เราฝึกงานหรือเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ดีเลยครับ

พี่แป้ง : เรียนคณะสัตวแพทย์เป็นอย่างไรบ้าง อย่างให้น้องบาสเล่าให้ฟังหน่อยค่ะ

พี่บาส : งั้นขอพูดถึงการเรียนของ ม.มหิดล ละกันนะครับ การเรียนแต่ละชั้นปีในมหิดล ในชั้นปี 1 จะเรียนวิชาพื้นฐาน เช่น เลข ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ส่วนปี 2-3 จะเรียนวิชา preclinic ซึ่งจะเป็นวิชาพื้นฐานเพื่อนต่อยอดในการรักษา เช่น body structure and function, biochem, pharmaco(ยา) ในปี 4-5 จะเป็นวิชาคลีนิคที่เกี่ยวกับการรักษาซึ่งก็แบ่ง species ในการเรียน เช่น สัตว์เล็ก, หมู, วัว, ไก่, สัตว์น้ำ และสุดท้ายปี 6 จะเป็นการฝึกงานครับ

พี่แป้ง : ตั้งแต่เรียนมา น้องบาสคิดว่าวิชาไหนยากและปราบเซียนที่สุดคะ?

พี่บาส : วิชาปรสิตครับ เพราะว่าการสอบแต่ละครั้งจะต้องจำชื่อของ พยาธิ 40 - 80 กว่าตัว รวมถึงต้องจำวงจรชีวิต ลักษณะรูปร่าง และความแตกต่างของทั้งหมด ซึ่งรวมทั้งวิชาก็ 200 กว่าตัวได้ ถือว่าหนักอยู่ครับ
 

พี่แป้ง : การเรียนคณะสัตวแพทย์ต้องเรียนสัตว์อะไรบ้าง?
พี่บาส : ในสัตว์แพทย์จะเรียน สัตว์เล็ก ก็เช่น หมาแมว ถ้าพวก Exotic คือ สัตว์แปลก ก็เช่น กระต่าย งู เต่า ซึ่งในกลุ่มนี้ก็จะเรียนการรักษาเป็นรายตัวเพื่อเน้นให้หายจากอาการเจ็บป่วย ส่วนการปศุสัตว์ก็จะแบ่งอีกเป็น หมู วัว ไก่ โดยในปศุสัตว์เราจะเรียนเป็นกลุ่มประชากรใหญ่ๆ เน้นการจัดการ การป้องกันโรคต่างๆ และก็มี public health คือแนวสาธารณสุข เช่น food safety ระบาดวิทยา อันนี้ก็จะเป็นการป้องกันการติดเชื้อจากสัตว์สู่คน เช่นตรวจหาเชื่อในอาหารจากเนื้อสัตว์ ก็ประมาณนี้ครับ

พี่แป้ง : แล้วน้องบาสมีวิธีการอ่านหนังสืออย่างไรในการเรียนมหาวิทยาลัย?

พี่บาส : ก็ส่วนใหญ่ก็จะอ่านผ่านๆ ก่อนหนึ่งรอบเพื่อให้เห็นภาพของเนื้อหาที่เรียนแล้วมาอ่านแบบตั้งใจอีกรอบนึง เท่านี้ก็ช่วยได้เยอะแล้วครับ

พี่แป้ง : สุดท้ายนี้อยากให้น้องบาสฝากกำลังใจถึงน้องๆ ที่อยากเรียนคณะสัตวแพทยศาสตร์หน่อยค่ะ

พี่บาส : ก็อยากให้น้องๆ ลองหาก่อนว่าจะเข้าคณะนี้มีทางไหนบ้าง และใช้คะแนนการจากสอบอะไรเท่าไหร่ แล้ววางแผนการสอบการเตรียมตัวอ่านหนังสือดีๆ จะสอบติดได้ไม่ยากอย่างที่คิดครับ :)

 


พี่เจน เจนจิรา เกียรติธนะบำรุง
จบจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พี่แป้ง : ก่อนอื่นให้น้องเจนแนะนำตัวเองกับน้องๆ ชาว Dek-D ก่อนเลยค่ะ
พี่เจน : สวัสดีค่ะ พี่ชื่อ เจนจิรา เกียรติธนะบำรุง ชื่อเล่นชื่อ เจน ค่ะ เรียนจบจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยค่ะ ตอนนี้ทำงานเป็นสัตวแพทย์ให้กับมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย (Soi Dog foundation) ค่ะ

พี่แป้ง : อยากให้เล่าประสบการณ์ตอนที่สอบสัมภาษณ์ให้น้องๆ ฟังหน่อยค่ะ

พี่เจน : หมายถึงตอนที่คะแนนผ่านแล้วต้องไปสอบสัมภาษณ์ที่คณะใช่มั้ยคะ? โห เกือบสิบปีแล้วนะ 55555 จำได้ว่าตอนนั้นมีกรรมการ 2 คนค่ะ เป็นอาจารย์ผู้หญิง ก็เกร็งอยู่นะ กลัวไม่ผ่าน แต่อาจารย์ก็ใจดีค่ะ ก็ถามทั่วๆ ไปว่าจบจากโรงเรียนอะไร ความสนใจ ความสามารถพิเศษอะไรบ้าง ปกติเวลาว่างชอบทำอะไร จำได้ว่าตอนนั้นบอกว่าชอบเล่นคอมพิวเตอร์ค่ะ เล่นทีก็ค่อนวัน อาจารย์ก็ โห...แล้วมาเรียนคณะนี้จะไหวหรอ พี่ๆ เขาอ่านหนังสือกันหามรุ่งหามค่ำแทบไม่ได้เล่นเลยนะ ตอนนั้นก็คิดในใจว่า อาจารย์ขู่รึเปล่า แต่พอเอาเข้าจริง ... ก็ตามนั้นค่ะ 5555 เวลานอนยังไม่ค่อยจะมี เปิดคอมก็ทำแต่งานจริงๆ ... พี่ว่าถ้าน้องๆ สามารถตอบให้ตรงคำถามอาจารย์ มีสัมมาคารวะ แสดงความเห็นและกล้าแสดงออกตามสมควร การสัมภาษณ์ก็ไม่มีอะไรน่ากลัวค่ะ

พี่แป้ง : แล้วตอนนั้น ทำไมน้องเจนถึงเลือกเรียนคณะนี้คะ?

พี่เจน : ต้องย้อนความไปไกลมากตั้งแต่เด็กๆ ราวๆ ป.3 ป.4 เลยค่ะ คือเจนเป็นคนที่ชอบหมาชอบแมวตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว เจอที่ไหนก็อยากจะเล่นด้วย แล้วก็อยากเลี้ยง แต่ว่าเมื่อก่อนที่บ้านไม่อนุญาตให้เลี้ยง ก็งอแงกับพ่อว่าอยากได้ๆ ตลอด พ่อก็บอกว่า ก็ไปเป็นสัตวแพทย์สิ ก็งงสิคะ เด็กแปดเก้าขวบ สัตวแพทย์คืออะไรหว่า พ่อก็บอกว่าเป็นหมอไง แต่เป็นหมอที่รักษาหมาแมว ก็จะได้เจอทุกวันเลยนะ ตั้งแต่นั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่แทบจะฝังหัวมาตลอดว่าจะเป็นสัตวแพทย์ให้ได้ จนไม่มองอาชีพอื่นเลยนะ คือมีตัวเลือกเดียวมาตลอดเลย จนกระทั่ง ม.6 ก็มีตัวเลือกเพิ่มขึ้น (หาไว้เพื่อความปลอดภัยในการคิดคะแนนเลือกอันดับ) แต่สุดท้ายก็เข้าคณะที่ตั้งใจไว้แต่แรกค่ะ

พี่แป้ง : ชีวิตในมหาวิทยาลัย ต่างจากตอน ม.ปลาย อย่างไรบ้างคะ?

พี่เจน : ถ้าพูดถึงเรื่องการเรียน เวลาเรียน คณะอื่นๆ อาจจะบอกว่า ในมหาวิทยาลัยสบายกว่า เพราะเรียนวันละวิชา สองวิชา บางวันไม่มีเรียน แล้วแต่จะลง แต่คณะสัตวแพทย์ (และน่าจะสายแพทย์อื่นๆ ด้วย) ไม่!! ค่ะ สำหรับเวลาเรียนนี่เหมือน ม.ปลาย เลย เข้า 8 โมงเช้า ออก 4 โมงเย็น บางวันก็ 5 โมง ถ้าดูแล็บต่อก็ 6 โมง อ่านหนังสือ มีสอบ มีรายงานพรีเซนต์อีกก็ยาวววววววววววววววววไปค่ะ วิชาเรียนก็หนักกว่าม.ปลายพอสมควร สอบกลางภาคหรือปลายภาค 1 ครั้ง ต้องอ่านหนังสือเหมือนแอดมิชชั่น 1 ครั้ง ใครที่คิดว่าแอดฯแล้วจบ .. คณะนี้ไม่จบนะคะ ต้องแอดฯไปอีกหลายปี 5555

           ในการเรียนมหาวิทยาลัย ที่รู้ๆ กันคือมันค่อนข้างจะเป็นอิสระกว่าตอน ม.ปลาย เยอะ คือมีโอกาสให้โดดได้เยอะมาก (แต่ก็มีวิชาที่มีควิซมีเช็กชื่อ) ความรับผิดชอบ ความมีระเบียบวินัย ต้องเพิ่มตามมาด้วยมากๆๆๆ เช่นกัน เราต้องรับผิดชอบในการกระทำของตัวเองมากขึ้น ถ้าเราหายไป 1 คาบ คือเราจะพลาดไปเยอะมาก เพราะอาจารย์แต่ละคนคือเป็น textbook เคลื่อนที อาจารย์เก่งมากแล้วก็อยากให้ความรู้เราเยอะๆ ดังนั้นเราก็ต้องตามให้ทัน (ขนาดเข้าเรียนก็ยังจดไม่ทันเลย TT) นอกจากการเรียนที่หนักขึ้นกว่าตอน ม.ปลาย แล้ว กิจกรรมต่างๆ ก็เยอะขึ้นด้วย เราก็ต้องแบ่งเวลาให้ดี รักษาสมดุลทั้งเรียนและกิจกรรมให้ได้ค่ะ

 

พี่แป้ง : น้องเจนคิดว่าคนที่จะเรียนคณะนี้ได้ นอกจากเรื่องของการรักสัตว์แล้ว ควรมีอะไรอีกคะ?
พี่เจน : ก็มีเรื่องพื้นฐานทั่วไปในการเรียนการใช้ชีวิตก็พวกความรับผิดชอบ ทักษะการติดต่อสื่อสาร มนุษยสัมพันธ์ ฯลฯ แต่ที่พี่คิดว่าสำคัญมากคือ เราต้องปล่อยวางเป็นค่ะ คือปล่อยวางในที่นี้ไม่ได้แปลว่า “เท” นะคะ เนื่องจากงานของสัตวแพทย์ ก็คือเป็นหมอ ดังนั้นงานหลักของเราก็คือสัตว์ป่วยใช่มั้ยคะ คือบางคนเนี่ยโลกสวยมาเลยนะ ฉันรักสัตว์ ฉันอยากให้สัตว์ทุกตัวมีความสุข อยากให้ทุกตัวหายป่วย ชีวิตสวยงาม วิ่งในทุ่งลาเวนเดอร์มากๆ

           แต่ความจริง เกิด แก่ เจ็บ ตาย มันเป็นเรื่องที่ต้องเจอค่ะ แล้วคือเราทำงานที่เห็นวัฏจักรนี้ตลอดเวลา เริ่มตั้งแต่ทำคลอด ดูแลสุขภาพ รักษาสัตว์ป่วย พอถึงจุดที่เขาป่วยจนไม่ไหว เขาก็ต้องไป ซึ่งคือทุกคนต้องเจอแน่ๆ ถามว่าเสียใจไหม เศร้าไหม มันก็เศร้านะ แต่เราก็ทำดีที่สุดแล้ว เราฝืนธรรมชาติไม่ได้ และคือถ้าเราปล่อยวางไม่ได้ เราก็จะทุกข์สะสมไป มันก็มีผลต่อสุขภาพจิตระยะยาว แล้วหลายๆ ครั้งที่เจอเคสสุนัขตาย เคลียร์เคสเสร็จ แล้วเราต้องไปรับเคสต่อ เป็นหมาน้อยน่ารักมาฉีดวัคซีน คือคนละอารมณ์เลย เราจะมาร้องไห้ใส่เจ้าของคนอื่นมันก็ไม่ควรใช่มั้ยคะ เราก็ต้องปรับอารมณ์ให้เข้าสู่โหมดปกติให้เร็วที่สุดอะ เหมือนกดสวิทช์เลย คือนอกจากรักสัตว์แล้ว EQ ต้องดีมากๆ ด้วย

พี่แป้ง : คณะสัตวแพทยศาสตร์มีการฝึกงานอย่างไรบ้าง  

พี่เจน : ในคณะก็จะมีฝึกงานใหญ่ๆ อยู่ 2 รูปแบบค่ะ คือในหลักสูตร กับ นอกหลักสูตร ตัวนอกหลักสูตรเนี่ยก็คือจะไม่ได้บังคับ ใครอยากฝึกอะไรก็ไปฝึกช่วงปิดเทอมที่เราว่างๆ ทางคณะก็จะมีรายชื่อสถานที่ที่รับเด็กฝึกงานมาให้เลือก แต่เขาก็จะกำหนดมาว่ารับกี่คน ขั้นต่ำต้องอยู่ปีไหน รับช่วงไหน แต่ถ้าเราอยากฝึกนอกเหนือจากรายชื่อนี้ก็ต้องไปลองขอติดต่อเอาเองค่ะ

           ส่วนในหลักสูตร ก็คือบังคับไป ก็มีเรื่อยๆ นะคะ ตั้งแต่ปีต้นๆ ก็จะมีของภาควิชาสัตวบาล ที่จะให้เราไปเรียนรู้การจัดการในฟาร์มแบบลงพื้นที่จริงๆ ไปใช้ชีวิตในฟาร์ม 1 เดือนเต็มๆ ทำทุกอย่างตั้งแต่ล้างคอก กวาดอึ ให้อาหาร ฉีดยา ฯลฯ ก็จะมีหลากหลายสัตว์ให้เลือกค่ะ แต่อันนี้ก็ต้องแย่งชิงกันนิดนึง เพราะแต่ละที่จะจำกัดจำนวนนิสิตที่จะไป บางที่ก็จะระบุเพศมาเลยว่าฟาร์มนี้รับผู้ชายเท่านั้น (เพราะผู้หญิงไปอาจไม่สะดวก) อะไรแบบนี้ ก็ต้องตกลงกันทั้งชั้นปีว่าจะลงชื่อจับกลุ่มยังไงให้ลงตัวกับฟาร์มที่อาจารย์กำหนดมาให้

           แล้วช่วงปี 5 และ 6 ก็จะได้เข้าสู่ช่วงฝึกงานแบบหมอๆ แล้วค่ะ เราก็จะมีตารางฝึกงานเป็นบล็อคๆ ไป แบ่งกลุ่มประมาณ 8 คน วนฝึกกันไปแต่ละเทอม ในพาร์ทสัตว์ใหญ่ (สัตว์เศรษฐกิจ/ปศุสัตว์) ใน 1 เทอม ก็จะได้เรียน วัว ไก่ หมู เป็นหลักค่ะ อาจารย์จากภาควิชาต่างๆ ที่ชำนาญสัตว์แต่ละชนิดก็จะพาเราไปตามฟาร์ม ห้องแล็บ โรงงานอาหาร ฯลฯ เก็บเคสมาคุยมาอภิปรายกัน การเข้าฟาร์มก็จะขึ้นกับอาจารย์ค่ะว่าจะวางโปรแกรมการเรียนแบบไหน บางวิชาก็จะให้ไปอยู่ฟาร์มเลย 2 สัปดาห์ บางวิชาก็เข้าฟาร์ม 3 วันบ้าง 5 วันบ้าง แล้วที่เหลือคือมานั่งทำพรีเซนต์ วิเคราะห์ปัญหาร่วมกัน ได้ทำหลายแนวค่ะ

 

           ส่วนพาร์ทสัตว์เล็ก (สัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อน) ก็จะได้ขึ้นไปอยู่ในโรงพยาบาลสัตว์เล็ก จุฬาฯ วนไปฝึกตามแผนกต่างๆ ในโรงพยาบาล ตั้งแต่อายุรกรรม ฉุกเฉิน เฉพาะทาง ศัลยกรรม สูติกรรม ก็จะได้ไปฝึกรับเคส ฝึกตรวจ ฝึกใช้เครื่องมือต่างๆ ของโรงพยาบาล อันนี้ก็แล้วแต่ว่าอาจารย์จะสั่งงานแบบไหนเหมือนกันค่ะ บางแผนกต้องหาเคสมาราวน์ทุกวัน บางแผนก 3 เคสบ้าง หรือ 1 เคสใหญ่บ้าง ก็จะได้ความรู้และฝึกความถึกไปในตัวค่ะ
           แล้วก็การฝึกงานครั้งใหญ่อีกครั้งนึงก็คือ วิชา “สหกิจศึกษา” ค่ะ อันนี้จะเป็นวิชาที่ให้เราได้ไปฝึกในสิ่งที่เราต้องการเลยจริงๆ แต่ทางอาจารย์ก็จะมีให้เลือกเช่นกันค่ะว่าที่ไหนรับบ้าง รับกี่คน แต่มีให้เลือกหลากหลายมากๆ เช่น เป็นหมอ เป็นเซลล์ เป็นสายเข้าฟาร์ม หรือจะไปสายสัตวแพทย์สาธารณสุข สายห้องแล็บก็มีให้เลือกค่ะ ก็เหมือนจะได้ลองเป็นในสิ่งที่คิดว่าชอบเลยจริงๆ ความเครียดจะเกิดตอนเลือกที่ฝึกค่ะ ว่าจะไปฝึกที่ไหนดี น่าไปทั้งนั้นเลย 555+

พี่แป้ง : การสอบใบประกอบวิชาชีพของสัตวแพทย์เป็นอย่างไรบ้างคะ อยากให้น้องเจนอธิบายให้น้องๆ ฟังหน่อย

พี่เจน : สำหรับเรื่องใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์หรือที่เรียกกันสั้นๆว่าใบประกอบ เมื่อก่อนแค่เรียนจบก็จะได้ใบประกอบอัตโนมัติเลยค่ะ แต่ตอนนี้มีโรงเรียนสัตวแพทย์เพิ่มมากขึ้น ก็เลยจำเป็นต้องบังคับสอบประเมินความรู้ความสามารถขั้นพื้นฐานของการประกอบวิชาชีพสัตวแพทย์ ตอนที่พี่เรียน พี่เป็นรุ่นแรกที่ทดลองสอบประเมินฯเพื่อให้ได้ใบประกอบค่ะ แต่ว่ายังไม่เอาผลจริง (ก็คือทดสอบระบบเฉยๆ นั่นแหละ ผ่านไม่ผ่านก็ได้ทุกคน) ส่วนปีถัดจากพี่ลงไปอีกสองปีเป็นต้นไปก็ต้องสอบให้ผ่านทุกหมวดถึงจะได้ใบประกอบค่ะ

           การสอบก็จะสอบช่วงที่เราเรียนจบปี 5 กำลังจะขึ้นปี 6 โดยทั่วไปก็จะสอบกันทุกคนนะคะ แต่ทางสัตวแพทยสภาเองก็ไม่ได้บังคับว่าต้องสอบทันที สามารถไปสอบในรอบถัดไปก็ได้ โดยจะมีจัดสอบปีละ 2 ครั้งช่วง มกราคม กับ มิถุนายน การสอบจะแบ่งเป็น 3 หมวดคือ

หมวดที่ 1 ความสามารถทั่วไปเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์และเอกลักษณ์ประจำตัว - หมวดนี้ก็จะเกี่ยวกับจรรยาบรรณ จริยธรรม การติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น การปฏิบัติตัวกับเพื่อนร่วมวิชาชีพและบุคคลอื่นๆ เป็นต้น

หมวดที่ 2 ความรู้ความสามารถในวิชาการด้านสัตวแพทย์ - หมวดนี้จะเป็นการประเมินความรู้ที่เราได้เรียนมาทั้งหมด ทุกวิชา ทุกชนิดสัตว์เลยค่ะ ตั้งแต่เรื่องกายวิภาค สรีระวิทยา ความปกติ ความผิดปกติ ยาที่ใช้  การใช้อุปกรณ์ต่างๆ การทำแลบ ฯลฯ อันนี้จะเป็นลักษณะถามตรงๆค่ะ

หมวดที่ 3  ความสามารถในการปฏิบัติงาน - หมวดนี้จะถามในเชิงประยุกต์ วิเคราะห์ คือจะมีโจทย์บอกข้อมูลต่างๆมาให้ เช่น ข้อมูลสัตว์ป่วย ผลแลบ แล้วถามว่าเราจะทำยังไงต่อ จะรักษายังไงหรือตรวจอะไรเพิ่ม หรือการจัดการกับสถานการณ์ที่เขากำหนดมาให้

           ซึ่งหมวดแรกจะจัดสอบที่คณะฯ ส่วนหมวด 2 และ 3 จะจัดสอบวันเดียวกันทุกมหาวิทยาลัยตามที่กำหนด ซึ่งถ้าเราสอบหมวดไหนไม่ผ่าน เราก็สามารถลงสอบใหม่รอบต่อไปได้ ถ้าเราสอบผ่านหมดก็เรียนให้จบ รอรับใบอนุญาตได้เลย แต่พอเราได้ใบมาแล้ว เราก็จะยังต้องเก็บแต้ม CE ซึ่งก็คือการเข้าเรียน เข้าสัมมนา ทำข้อสอบเพื่อเก็บคะแนนให้ครบ 100 แต้ม ใน 5 ปี เพื่อที่เราจะสามารถต่อใบประกอบของเราได้ เป็นการสนับสนุนให้เรามีการเรียนรู้ต่อเนื่อง อัพเดทความรู้ใหม่ๆ ศึกษาเพิ่มเติมให้เราทันสถานการณ์อยู่เสมอนั่นเองค่ะ


พี่แป้ง : ตอนนี้เป็นสัตวแพทย์แล้ว งานของสัตวแพทย์มีอะไรบ้างคะ?
พี่เจน : ตอนนี้พี่ทำงานเป็นสัตวแพทย์ของมูลนิธิค่ะ ทางมูลนิธิกำลังทำโปรเจคออกหน่วยทำหมันฟรีให้กับสุนัขจรจัดตามพื้นที่ในกรุงเทพเพื่อควบคุมจำนวนประชากรสุนัขจรจัด แล้วก็ควบคุมการระบาดของพิษสุนัขบ้าไปในตัว งานหลักของพี่ก็คือทำหมันอย่างเดียวเลยค่ะ 555 งานพี่จะไม่ค่อยเหมือนกับในโรงพยาบาลที่ต้องรับเคส วิเคราะห์โรคต่างๆ เพราะในโปรเจคนี้จะเน้นเรื่องการทำหมัน แล้วก็ให้คำปรึกษากับชาวบ้านเกี่ยวกับการควบคุมประชากรสุนัข การคุมกำเนิด การดูแลเตรียมตัวก่อนและหลังทำหมันค่ะ ซึ่งงานออกหน่วยเราก็จะได้ไปเที่ยว ?? ตามวัดต่างๆ ที่เมตตาให้เราเข้าไปตั้งหน่วย วัดละเดือนบ้าง สองสามเดือนบ้างแล้วแต่จำนวนสุนัขในพื้นที่ที่สำรวจมาค่ะ

           สิ่งที่ลุ้นทุกครั้งที่ย้ายหน่วยคือ ของกิน .. คือถ้าแถวไหนของกินอร่อยจะมีความสุขมากค่ะ แต่ถ้าที่ไหนไม่มีของอร่อย ชีวิตจะแห้งเหี่ยวมาก 555 พี่ว่าออกหน่วยมันก็สนุกตรงที่ได้ย้ายไปเรื่อยๆ ไม่มีความแน่นอนว่าอนาคตจะไปอยู่ที่ไหน วันดีคืนดีเขาจะใช้สถานที่เราก็ต้องย้ายแบบปุบปับก็มี บางที่ก็อยู่ดีกินดีค่ะ เป็นศาลาบ้าง ใต้ตึกบ้าง ก็จะเย็นหน่อย แต่บางที่ก็เป็นลานโล่ง แล้วก็ตั้งเต็นท์เอา เวลามีแดดก็เหมือนอยู่ในเตาอบเลย เวลาฝนตกก็เล่นสงกรานต์กันไปค่ะ เหมาะกับคนที่ชอบงานเอาท์ดอร์มากค่ะ เหมือนได้ออกค่ายตลอดเวลา ก็สนุกดีค่ะ

พี่แป้ง : สุดท้ายนี้อยากให้น้องเจนฝากกำลังใจถึงน้องๆ ที่อยากเรียนคณะสัตวแพทยศาสตร์หน่อยค่ะ

พี่เจน : อืมมมมม .. ไม่รู้จะพูดยังไงดี 555 สำหรับคณะสัตวแพทยศาสตร์ของเรา ก็ยินดีต้อนรับน้องทุกคนอยู่แล้ว เรียนคณะนี้ไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม รับรองว่าสนุกและได้ประสบการณ์แบบที่คณะอื่นให้ไม่ได้แน่นอน และพี่น้องชาวสัตวแพทย์ทั้งตอนเรียนตอนทำงานก็อบอุ่นมากๆ รู้จักกันแทบทั้งวงการ ไม่เหงาไม่เปลี่ยวแน่นอน เอาเป็นว่าขอให้ความพยายาม ความตั้งใจจริงของน้องๆ ทุกคนเป็นบันไดให้น้องได้ไปถึงสิ่งที่ตัวเองต้องการทุกคนค่ะ สาาาาาาาธุ


           การันตีแล้วนะคะว่าถ้าเราอยากเรียนและเตรียมตัวตั้งแต่ต้น การสอบเข้าคณะนี้ก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิดค่ะ เชื่อว่าน้องหลายๆ คนคงได้ไฟปลุกพลังในการสอบเข้าคณะนี้บ้างแล้ว อย่าลืมไปเตรียมตัวกันนะคะ ในเดือนหน้าพี่แป้งจะมีคณะในฟันคณะไหนมาฝากน้องๆ รอติดตามกันเน้อ สำหรับวันนี้ สวัสดีค่ะ :)

 
พี่แป้ง
พี่แป้ง - Columnist นักข่าวสายรับตรง พร้อมเสิร์ฟข่าวสอบเข้าทุกมหา'ลัย เติมพลังได้จากชาเย็นหวานน้อย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
มีแฟนเป็นหมอนะ 27 เม.ย. 61 01:18 น. 2

มีแฟนจบสัตวแพทย์ โดนเพื่อนล้อจนขำกลิ้ง มีแฟนเป็นหมอหมู แต่เพื่อนบางคนล้อหนักไปหน่อย หมอสุนัข ( หมอหมา ) โกรธเป็นเดือนเลย

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด