ผ่านไปกี่ปีก็ยังงง? อักษรฯ - ศิลปศาสตร์ - มนุษยฯ? คณะไหนเรียนภาษากันแน่

     “คณะนี้เรียนอะไร” “เรียนแล้วจบไปทำอะไร” “อยากเป็น...ต้องเรียนคณะไหน” คำถามเหล่านี้มักเกิดขึ้นกับน้องๆ ที่กำลังเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยค่ะ
     โดยเฉพาะ 3 คณะยอดนิยมอย่าง อักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ที่หลายคนสงสัยว่า เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร จบมาแล้วทำอาชีพอะไรได้บ้าง แต่ขอบอกก่อนเลยว่า ทั้ง 3 คณะ ไม่ได้สอนแค่เรื่องภาษาอย่างเดียวเหมือนที่ใครหลายคนเข้าใจแน่นอน วันนี้พี่แนนนี่จะมาเล่าให้ฟังค่ะ
 

 
     สำหรับคณะอักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ก็เป็นที่โด่งดังในบรรดานักเรียนที่ชื่นชอบทางด้านภาษาและการสื่อสาร แต่ก็สร้างความสับสนในเรื่องความเหมือนความต่างอยู่ไม่น้อย
     หากมองความหมายตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 แล้ว จะพบว่า
- อักษรศาสตร์ หมายถึง วิชาการหนังสือ เน้นในด้านภาษาและวรรณคดี
- ศิลปศาสตร์ หมายถึง วิชาต่างๆ ซึ่งไม่ใช่วิชาทางเทคนิค หรือทางอาชีพ เช่น ภาษาศาสตร์ ปรัชญา ประวัติศาสตร์
- มนุษยศาสตร์ หมายถึง วิชาว่าด้วยคุณค่าทางจิตใจและงานของคน มีศิลปะ วรรณคดี ประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ศาสนา และปรัชญา
 
     ซึ่งถ้าสรุปความตามนี้ ก็จะเห็นได้ว่า ศิลปศาสตร์และอักษรศาสตร์ มีความหมายที่แคบกว่า หรือเรียกได้ว่าเป็น Subset ของ “มนุษยศาสตร์”
 
     ถ้าจะให้มองกันลึกลงไปจะพบว่า แท้จริงแล้ว โดยภาพรวมของทั้ง 3 คณะ แทบจะไม่มีความแตกต่างกันเลยค่ะ เพราะโครงสร้างหลักสูตรและวิชาที่เปิดสอน ไม่ได้เน้นแต่เพียงด้านภาษาเท่านั้น ล้วนจะต้องเกี่ยวกับด้านมนุษยศาสตร์ทั้งสิ้น เช่น ภาษา ภาษาศาสตร์ วรรณคดี วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ ดนตรี ปรัชญา วัฒนธรรม อารยธรรม เป็นต้น ดังนั้นหากเรียกเป็น คณะมนุษยศาสตร์ น่าจะครอบคลุมที่สุดค่ะ
 
     สำหรับความแตกต่างกันของทั้ง 3 คณะ ที่ชัดเจน คือ ชื่อที่แต่ละสถาบันเลือกใช้ วุฒิการศึกษาที่จะได้รับ และภาควิชา หรือสาขาวิชาที่เปิดสอนค่ะ
 
คณะอักษรศาสตร์ (วุฒิปริญญา อักษรศาสตรบัณฑิต) มีเพียง 2 สถาบัน คือ
-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-มหาวิทยาลัยศิลปากร
 
คณะศิลปศาสตร์ (วุฒิปริญญา ศิลปศาสตรบัณฑิต) ตัวอย่างเช่น
-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
-มหาวิทยาลัยมหิดล
-สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
 
คณะมนุษยศาสตร์ (วุฒิปริญญา ศิลปศาสตรบัณฑิต หรืออื่นๆ เช่น การศึกษาบัณฑิต วิทยาศาสตรบัณฑิต) ตัวอย่างเช่น
-มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
-มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
-มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
 
     อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ต้นค่ะ ทั้ง 3 ไม่มีความแตกต่างกันในภาพรวม แต่น้องๆ จะต้องศึกษาภาควิชา หรือสาขาวิชาที่แต่ละสถาบันเปิดสอน เพราะบางสถาบันไม่มีการเปิดสอนในบางสาขาวิชา เช่น ภาษาอิตาเลียน มีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิชาเอกภาษาเกาหลีมีที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยมหิดล มีเฉพาะวิชาเอกภาษาไทยและอังกฤษ เป็นต้น
 
จบไปแล้ว ทำอะไรได้บ้าง?
     จริงๆ คนที่จบจาก 3 คณะนี้ สามารถทำงานได้หลากหลายอาชีพมาก ไม่ว่าจะเป็นนักเขียน ครู อาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา คอลัมนิสต์ บรรณาธิการ ล่าม ไกด์ แอร์โฮสเตส สจ๊วต นักข่าว นักวิจารณ์ เลขานุการ เจ้าหน้าที่แผนกทรัพยากรมนุษย์ นักประชาสัมพันธ์ และอีกหลายๆ สายงานที่เกี่ยวข้องค่ะ
 
cr: http://bit.ly/2xcAjkz
 
     นอกจากจากนี้ พี่แนนนี่ยังได้ยินมาว่า ในแต่ละปีจะมีกิจกรรมสานสัมพันธ์ระหว่างคณะอักษรศาสตร์ และคณะศิลปศาสตร์ 4 สถาบัน อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้ชื่อ โครงการสานสัมพันธ์อักษรศิลป์ หรือ One Arts ด้วยค่ะ
 
พี่แนนนี่
พี่แนนนี่ - Columnist เด็กเอกไทย คลั่งไคล้มิกกี้(เม้าส์) หลงใหลอิตาลี คอยเฝ้าลงพื้นที่ ตามข่าว TCAS

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด