รุ่นพี่ชี้แนะ! รีวิว “ครูสังคม มศว” เรียนอะไรบ้าง จากประสบการณ์จริงรุ่นพี่คณะสังคมศาสตร์

ถ้าเราอยากเป็นครู ทุกคนคิดว่าเราต้องเรียนคณะอะไรกันคะ คณะครุศาสตร์? คณะศึกษาศาสตร์? แต่พี่โบว์อยากจะบอกว่าบางสาขาของคณะอื่นๆ ที่ไม่ได้สังกัดในคณะศึกษาศาสตร์ เช่น คณะสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒก็เปิดสอนเป็นหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) ด้วย! ว่าแต่จะเรียนอะไร มีความเชื่อมโยงกับคณะศึกษาศาสตร์ยังไงบ้าง ไปดูกันค่า!

ครูสังคม มศว เรียนอะไร มาดูรีวิวจากรุ่นพี่กัน!
ครูสังคม มศว เรียนอะไร มาดูรีวิวจากรุ่นพี่กัน!

รุ่นพี่ชี้แนะ! รีวิว “ครูสังคม มศว” เรียนอะไรบ้าง จากรุ่นพี่คณะสังคมศาสตร์ (กศ.บ. 5 ปี)

ในวันนี้เราจะได้รู้ตั้งแต่ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา สาขาวิชาที่เปิดสอน และอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาของคณะสังคมศาสตร์ รวมถึงหลักสูตรการศึกษาบัณฑิตทั้งหมดที่เปิดสอนใน มศว ว่ามีคณะหรือสาขาไหนบ้าง และมีอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาเป็นยังไง พร้อมฟังรีวิวจากรุ่นพี่หลักสูตร กศ.บ. สาขาวิชาสังคมศึกษากันแบบจุใจไปเลยค่ะ

รู้หรือไม่! มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แรกเริ่มเป็นโรงเรียนฝึกหัดครู

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พัฒนาจากโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงที่สถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2492 ที่ต่อมาเป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2496 และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเมื่อ พ.ศ. 2517  ค่ะ  อยากอ่านประวัติแบบเต็มๆ คลิกที่นี่ ได้เลย

ข้อควรรู้ : มศว เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ใช้ชื่อหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) ซึ่งมีการเรียนการสอนเพื่อมุ่งพัฒนานิสิตที่ประสงค์ประกอบอาชีพครูเป็นหลัก เช่นเดียวกับคณะครุศาสตร์ที่จบมาได้วุฒิครุศาสตรบัณฑิต (ค.บ.) และคณะศึกษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอื่นๆ  ที่จบมาได้วุฒิศึกษาศาสตรบัณฑิต (ศษ.บ.) 

คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ภาควิชา/สาขาวิชาที่เปิดสอนในคณะสังคมศาสตร์

1. ภาควิชาประวัติศาสตร์

  • หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ (ภาคปกติ/โครงการพิเศษ)

2. ภาควิชาภูมิศาสตร์

  • หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศ (ภาคปกติ/โครงการพิเศษ)

3. ภาควิชาสังคมวิทยา

  • หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานิติศาสตร์ (ภาคปกติ/โครงการพิเศษ)
  • หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต สาขาวิชาสังคมศึกษา (ภาคปกติ)
  • หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสังคมวิทยาเพื่อการพัฒนา (ภาคปกติ/โครงการพิเศษ)

4. ภาควิชารัฐศาสตร์

  • หลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (ภาคปกติ/โครงการพิเศษ)
  • หลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองการปกครอง (ภาคปกติ)
  • หลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสนศาสตร์ (ภาคปกติ)

อัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาของคณะสังคมศาสตร์ในแต่ละภาคการศึกษา (Update 2564)

หลักสูตรสาขาวิชา/วิชาเอกค่าธรรมเนียมการศึกษา (บาท)
ภาคปกติโครงการพิเศษ
ศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.)สาขาวิชาประวัติศาสตร์ 15,00030,000
สาขาวิชาสังคมวิทยาเพื่อการพัฒนา จำนวน 2 วิชาเอก ได้แก่ 1.  การวิจัยสังคมวิทยาเพื่อการพัฒนา 2. การพัฒนาชุมชนเมือง15,00030,000
การศึกษาศาสตร์บัณฑิต (กศ.บ.)สาขาวิชาสังคมศึกษา15,000-
วิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.)สาขาวิชาภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศ20,00030,000
รัฐศาสตรบัณฑิต (ร.บ.)สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ15,00030,000
สาขาวิชาการเมืองการปกครอง15,000-
สาขาวิชารัฐศาสนศาสตร์15,000-
นิติศาสตรบัณฑิต (น.บ.)สาขาวิชานิติศาสตร์20,00030,000
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม คลิก

คณะ/สาขาวิชาที่เปิดสอนหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต

คณะร่วมผลิตครู  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
คณะร่วมผลิตครู  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

อัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาของหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ. 4 ปี) ที่มีในระบบ TCAS65 ในแต่ละภาคการศึกษา (Update 2564)

คณะสาขาวิชา-วิชาเอกค่าธรรมเนียมการศึกษา (บาท)
ภาคปกติโครงการพิเศษ
คณะมนุษยศาสตร์สาขาวิชาภาษาไทย 15,000-
สาขาวิชาภาษาอังกฤษ
คณะวิทยาศาสตร์สาขาวิชาคณิตศาสตร์20,000-
สาขาวิชาเคมี
สาขาวิชาชีววิทยา
สาขาวิชาฟิสิกส์
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป
คณะสังคมศาสตร์สาขาวิชาสังคมศึกษา15,000-
คณะพลศึกษาสาขาวิชาพลศึกษา15,000-
สาขาวิชาสุขศึกษา
สาขาวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา
คณะศึกษาศาสตร์สาขาวิชาวิชาเอกการศึกษาปฐมวัย (เอกเดี่ยว)20,000-
สาขาวิชาวิชาเอกอุตสาหกรรมศึกษา-ไฟฟ้า (เอกเดี่ยว)
สาขาวิชาวิชาเอกการประถมศึกษา (เอกเดี่ยว/เอกคู่)
สาขาวิชาวิชาเอกจิตวิทยาและการแนะแนว (เอกเดี่ยว/เอกคู่)
สาขาวิชาวิชาเอกการศึกษาตลอดชีวิต (เอกคู่)
สาขาวิชาวิชาเอกการศึกษาพิเศษ (เอกคู่)
สาขาวิชาวิชาเอกอุตสาหกรรมศึกษา (เอกคู่)
สาขาวิชาวิชาเอกเทคโนโลยีการศึกษา (เอกคู่)
สาขาวิชาวิชาเอกการวัด ประเมิน และวิจัยการศึกษา (เอกคู่)
คณะศิลปกรรมศาสตร์สาขาวิชาดนตรีศึกษา20,000-
สาขาวิชาศิลปศึกษา
สาขาวิชานาฏศิลปศึกษา
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม คลิก

รีวิวจาก พี่พลอย นิสิตคณะสังคมศาสตร์ สาขาวิชาสังคมศึกษา (กศ.บ. 5 ปี) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ทำไมถึงเรียนครูที่นี่ แล้วเข้ารอบไหนมา?

พี่เรียนหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ. 5 ปี) เพราะอยากจะเป็นครูและชอบวิชาสังคม  แล้วคิดว่ามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ก็เป็นมหาวิทยาลัยที่ผลิตครูมาอย่างยาวนาน และค่อนข้างมีชื่อเสียง ซึ่งพี่เข้ารอบพอร์ตมา  แต่พี่เป็น 5 ปีรุ่นสุดท้าย

จุดเด่นของหลักสูตรที่แตกต่างจากที่อื่น?

ด้วยความที่ มศว เคยเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงและวิทยาลัยวิชาการศึกษา ตอนแรกก็จะมีแค่คณะศึกษาศาสตร์ แต่ภายหลังได้แยกออกมาเป็นแต่ละคณะ เช่น พี่เป็นครูสังคมก็จะอยู่คณะสังคมศาสตร์ ถ้าเป็นครูภาษาไทยหรือครูภาษาอังกฤษก็จะอยู่คณะมนุษยศาสตร์ อย่างพี่อยู่ภาควิชาสังคมวิทยา ถ้าเป็นเรื่องกฎหมาย อาจารย์จากนิติศาสตร์ก็จะมาสอน และถ้าเป็นวิชาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เช่น ประวัติศาสตร์เอเชีย ประวัติศาสตร์ยุโรป ก็จะเป็นอาจารย์จากภาควิชาประวัติศาสตร์ที่เชี่ยวชาญในด้านนั้น แล้วเราจะได้เรียนวิชาครูกับคณะศึกษาศาสตร์อีกที ทำให้เราได้ความรู้แน่นทั้ง 2 ทางเลย

เอกเดี่ยว/เอกคู่ ต่างกันยังไง?

เอกเดี่ยวเป็นเอกที่สังกัดคณะต่างๆ เลย แต่คณะศึกษาศาสตร์ส่วนมากจะเป็นเอกคู่ค่ะ

ได้ใบประกอบวิชาชีพเลยไหม?

ใบประกอบวิชาชีพจะได้รุ่นของพี่ที่เป็น 5 ปีรุ่นสุดท้ายแล้ว ส่วนรุ่นน้องที่ถัดจากพี่ 1 ปีต้องสอบใบประกอบและผลสอบเพิ่งออกไป รุ่นน้องก็มารีวิวว่าในตอนแรกข้อสอบกำหนดว่าผ่านเกณฑ์ 60 แต่คนสอบผ่านไม่ถึงครึ่ง คุรุสภาเลยปรับเกณฑ์ให้เหลือ 50 แม้จะเรียน 4 ปีและไม่ได้สังกัดในคณะศึกษาศาสตร์โดยตรงก็ถือว่ามีคุณภาพในระดับหนึ่ง เพราะในสาขาก็สอบผ่านกันเกือบหมด 

การทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู มีจำนวน 5 วิชา ประกอบด้วย 

  1. วิชาการใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร
  2. วิชาการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร
  3. วิชาการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา
  4. วิชาชีพครู
  5. วิชาเอก
  • ดูตัวอย่างกำหนดการทดสอบ คลิก
  • ดูตัวอย่างการประกาศผลการทดสอบ คลิก

คณะนี้ต้องเรียนที่องครักษ์ไหม?

พี่ยังได้ไปเรียนที่องค์รักษ์ตอนปี 1 อยู่ แต่ปีล่าสุดเขาประกาศว่านิสิตชั้นปีที่ 1 คณะสังคมศาสตร์ไม่ต้องไปเรียนที่องครักษ์แล้ว 

  • ดูสถานที่เรียนจากระเบียบการรับสมัคร TCAS65 รอบที่ 3 (หน้า 5-6) คลิก

การเดินทางรอบรั้วมหา'ลัยเป็นยังไง?

ถ้าอยู่องครักษ์ก็จะสบายมาก เพราะในมอค่อนข้างกว้าง คนส่วนมากนิยมนั่งรถกะป๊อที่เป็นรถไฟฟ้ามีจำนวน 3 สาย เพราะฟรีและมีจุดรับรอบมอ แม้รถมีเวลาไม่แน่นอนแต่ก็จะมาตลอด สามารถต่อแถวแล้วขึ้นได้เลย หรือจะขับรถยนต์หรือขี่มอเตอร์ไซค์ก็ได้ แล้วก็มีให้เช่าจักรยานด้วย แต่ส่วนมากจะเตรียมไปเอง ส่วนวินมอเตอร์ไซค์ถ้ามาจากศูนย์การแพทย์หน้ามอก็จะเข้ามาส่งเราในมอเหมือนกัน 

ส่วนที่ประสานมิตรการเดินทางก็ค่อนข้างสะดวก ก็จะมีทั้ง BTS อโศก ที่ห่างจากมอ 1 กิโลเมตร จะเดินหรือนั่งวิน 10 บาทก็ได้ แต่ถ้าอีกทางจะเป็น MRT เพชรบุรี ก็จะใกล้กว่าเพราะไม่ถึง 1 กิโลเมตรและสามารถเดินได้ แล้วมีป้ายรถเมล์อยู่หน้ามหา’ลัยด้วย หรือถ้าจะเอารถมอเตอร์ไซค์หรือรถส่วนตัวมาก็จอดได้ที่ที่จอดรถของมอเลย แต่ในมอค่อนข้างแคบมากๆ เมื่อเทียบกับองครักษ์

  • ดูวิธีการเดินทางไป มศว  เพิ่มเติม คลิก

หอพักนิสิต มศว ทั้งที่องครักษ์และประสานมิตรเป็นยังไง?

ถ้าเป็นแต่ก่อนจะได้ไปองครักษ์ แล้วเขาจะบังคับให้อยู่หอใน แต่ส่งหนังสือไปได้ว่ามีเหตุจำเป็นอะไรที่ไม่สะดวกอยู่หอใน ส่วนคนที่อยู่ได้จะได้สุ่มรูมเมทต่างคณะต่างสาขา ห้องหนึ่งมี 5 คน น้อยสุดมี 4 คน พอเข้าไปอยู่ก็อยู่ได้ สนุกดี ทำให้เราได้มีเพื่อนเพิ่ม แล้วหอในองครักษ์ก็โอเค เพราะมีเตียง โต๊ะอ่านหนังสือ และตู้ให้คนละชุดเลยรู้สึกว่าไม่ได้ลำบากอะไร

ส่วนที่ประสานมิตรจะไม่มีหอใน ต้องอยู่หอรอบนอก ซึ่งถ้าหออยู่ใกล้มอก็จะแพงหน่อย แต่ถ้าถัดออกไป 1-2 สถานีก็จะมีหอ 4,000 บาทอยู่ ถ้าหาร 2 ก็จะไม่แพงเท่าไหร่ ยกเว้นคณะศึกษาศาสตร์ที่ได้ทุนเพชรในตมก็จะมีหอในให้ ซึ่งเป็นเด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่หมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.) และเด็กที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ครูสังคม มศว มีรับน้องอะไรบ้าง?

พูดถึงช่วงที่ยังไม่โควิดก่อน จะมีกิจกรรม First Date แรกพบสังคมศึกษา ซึ่งจัดก่อนเปิดเทอมไม่นานเพื่อให้น้องๆ ได้มาทำความรู้จักกันล่วงหน้า เป็นกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ แล้วก็มีจับสายรหัส (ที่ มศว เรียกสายเทค)  แล้วปกติตอนนั้นที่มาอยู่ประสานมิตรก็ต้องตามกลับไปจัดกิจกรรมให้น้องที่องครักษ์อีกรอบหนึ่งด้วย เป็นกิจกรรมก้าวแรกในองครักษ์ ซึ่งเป็นการพาน้องเที่ยวชมในมออย่างต้องขึ้นรถกะป๊อสายไหน แต่ละอาคารเป็นอาคารอะไร กินข้าวที่ไหน ถ้ามีเหตุฉุกเฉินจะไปยังไงและติดต่อใครได้บ้าง รวมถึงแนะนำวิชาเรียนด้วย แล้วจะมีกิจกรรมสันทนาการให้เล็กๆ น้อยๆ 

พอเริ่มเปิดเทอมก็จะมีรับน้องอีก อย่างรุ่นของพี่รับน้อง 3 เดือน แต่ไม่ได้ให้รับทุกวัน ประมาณ 2 อาทิตย์ครั้งหนึ่ง เพราะเราก็มีเรียนและเราต้องนั่งรถบัสจากประสานมิตรไปที่องครักษ์ ซึ่งเราก็จะไปสั่งงานให้น้องมีงานกลุ่มทำด้วยกัน แต่ไม่ได้เป็นงานที่มากมาย แล้วก็จะมีสอบสันน้อง เหมือนกับว่าเราจะเต้นให้น้องดู แล้วให้น้องเต้นตาม โดยให้น้องๆ ฝึกไว้เพราะพอผ่านไปหนึ่งปีก็ต้องเริ่มไปค่ายบ่มเพาะครูสังคม จะได้ไปสอนและเอนเตอร์เทนเด็กก็เลยต้องมีความสามารถทางด้านสันทนาการ แต่ก่อนที่จะรับน้องเราก็จะบอกวัตถุประสงค์ของกิจกรรมนั้นๆ ก่อน 

แล้วรับน้องของแต่ละคณะหรือสาขาของ มศว เขาจะมีโควทเล็กๆ ระหว่างสาขาให้เล่นกัน สมมุติของครูสังคมก็จะเป็น “โอ้โหเฮะ” แล้วเพื่อนก็จะรับว่า “นิสิตครูสังคมสวัสดี๊ค่ะ” ต่างคณะหรือต่างสาขาเขาไม่ได้รู้จักกันนะ แต่แค่เห็นป้ายชื่อ (ห้อยไว้ประมาณเดือนครึ่ง) เขาก็จะส่งโควทมา แล้วเราก็จะต้องเล่นกลับ จะไม่มีใครที่โดนส่งมาแล้วเงียบ เหมือนเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งในช่วงรับน้องที่จะเล่นกันแบบสนุกๆ แล้วก็มีอีกกิจกรรมคืองานสานสัมพันธ์สำหรับครูทุกสาขา ซึ่งจะมีการเล่นกีฬาและจับบัดดี้ อย่างพี่ได้บัดดี้เป็นครูพละ ก็ทำให้ได้ทำความรู้จักกับเพื่อนครูต่างสาขาด้วย

ส่วนรับน้องของมหา’ลัยเขาเรียกว่า อัตลักษณ์ มี 5 วัน แต่เราต้องตื่นตี 4 ตี 5 ทุกวันเลย เพราะว่าจะมีไหว้ครูด้วย แล้วพอเรารวมกันเป็นคณะ เราก็จะนั่งกันคล้ายๆ สแตนด์ในห้องประชุมใหญ่ๆ เราก็จะไม่เล่นโควทสาขาแล้ว เราจะเล่นโควทคณะ ถ้าเราอยู่คณะสังคมฯ เราก็อาจจะถาม “พละอยู่ไหน” พละเขาก็จะรับกันทั้งคณะว่า “อยู่นี่ อยู่นี่” แล้วเราจะต่อว่า “สังคมให้ใจเอาไปเลยพี่…” 

พอโควิดมา 2 ปีรุ่นน้องก็จะได้รับน้องในรูปแบบออนไลน์ คือพยายามจะจัดเหมือนเดิม เช่น กิจกรรมแรกพบครูสังคม ซึ่งเกมจะมีการแบ่งกลุ่มเอนเตอร์เทนน้องผ่านหน้าจอ Zoom

กิจกรรมแรกพบครูสังคม  มศว  ผ่านหน้าจอ Zoom
กิจกรรมแรกพบครูสังคม  มศว  ผ่านหน้าจอ Zoom

มีน้องไม่เข้าร่วมกิจกรรมไหม แล้วทำยังไงต่อ?

ไม่มีนะ มันไม่ใช่รับน้องแบบโซตัสด้วย อย่างรุ่นพี่ของพี่บอกว่าเลิกโซตัสมาประมาณ 3-4 ปีแล้ว เพราะมีน้องไม่โอเค มันก็เลยไม่ได้รุนแรงจนน้องไม่เอากิจกรรม ถ้าให้โหดสุดก็คือเข้าระเบียบ ซึ่งเป็นการพูดว่า “เข้าระเบียบ” เพื่อให้น้องยืดหลังฟังคำชี้แจง แล้วก็มีเรื่องการชี้แจงการแต่งกาย เพราะว่าเข้าอัตลักษณ์ของมหา’ลัยทางสภานิสิตก็จะตรวจค่อนข้างเข้ม เราก็ต้องมีการสอนน้องก่อน หากน้องมีข้อสงสัยหรือข้อซักถามสามารถถามได้เลย

เวลาว่างๆ เด็ก มศว ชอบทำอะไรหรือไปไหนกัน แล้วอาหารการกินแถวนั้นเป็นยังไงบ้าง?

ถ้าเป็นที่องครักษ์จะไม่ค่อยได้ออกไปข้างนอกกันเพราะในมอมีทุกอย่าง แต่ตอนปี 1 ที่พี่อยู่กับเพื่อนส่วนมากจะไปเดินตลาดนัดพลาซ่า เปิดทุกวัน และมีของกินเยอะมาก แล้วก็ไปพวกร้านขนมหวาน เช่น สวนรถไฟที่จะมีพวกบิงซู ด้วยความที่เป็นของในมอก็จะราคาย่อมเยาว์และอร่อย ทำให้กลายเป็นที่รวมพลของเด็กๆ หรือจะไปร้านน้ำร้านคาเฟ่ที่มีที่นั่งภายในมอ นอกจากนี้ตอนเย็นจะชอบไปให้อาหารปลาที่เรือนไทยแล้วปั่่นจักรยานเล่นกัน พื้นที่มันเยอะทำให้สามารถทำอะไรได้หลายอย่าง ส่วนที่ประสานมิตร ส่วนมากจะไปหอสมุดหรือไปหาอะไรกินกัน เช่น ชาบูหรือหมูกระทะรอบๆ มอ 

ส่วนเรื่องอาหาร ถ้าเป็นที่องครักษ์แนะนำที่โรงเขียว เรียกแบบนี้เพราะเป็นโรงอาหารทาสีเขียว ขายอาหารถูกมากประมาณ 20-30 บาท เด็กอยากจะผสมอะไรก็สั่งป้าได้ เมนูยอดฮิตตอนนั้นจะเป็นผัดโย เป็นเมนูที่ป้าเหลืออะไรก็โยนๆ ใส่ไป แล้วทุกคนรู้สึกว่ามันอร่อยและชอบกินกัน เรียกได้ว่าเป็นเมนูพิเศษที่ที่อื่นไม่น่าจะมี ถ้าเป็นที่ประสานมิตรก็จะมีก๋วยเตี๋ยวรูที่เขาชอบรีวิวแนะนำให้ไปกิน จะอยู่ในมอแต่ทางเดินอยู่ในซอกมาก แล้วก็มีส้มตำป้าเล็กที่อยู่ในโรงอาหาร ราคากลางๆ เพราะช่วงนี้ของแพง ประมาณ 30-40 บาท และถ้าเป็นวันอังคารกับวันพฤหัสจะมีตลาดนัด มศว ตั้งภายในมอเลย มีของกินเยอะมาก แต่ส่วนมากจะอยู่ที่ 50 บาท ส่วนข้างนอกมักจะไปตลาดสุขตาที่อยู่ข้าง GMM เด็ก มศว ไปกินบ่อยเพราะตลาดค่อนข้างกว้าง แต่อาหารประมาณ 40-50 บาทขึ้นไป

พูดถึงบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมภายในมหา’ลัย

ส่วนตัวชอบอากาศที่องครักษ์ เพราะกว้างกว่าก็ทำให้ต้นไม้เยอะกว่า แต่ต้นไม้ก็จะอยู่เป็นจุดๆ เหมือนกัน ทำให้กลางวันร้อนอยู่ ส่วนที่ประสานมิตรต้นไม้น้อยมาก เพราะมอค่อนข้างแคบ ต้นไม้ก็จะมีแค่นิดหน่อย ไม่ควรเดินเลยกลางวันเพราะร้อนมาก มันจะร่มรื่นแค่ลานเทาแดง ซึ่งเป็นลานหน้าสาธิตก็จะมีม้านั่งให้

พูดถึงสังคมในมหา’ลัยหน่อยว่าเพื่อนเป็นยังไงบ้าง?

ถ้าเป็นกลุ่มเพื่อนพี่เองพี่รู้สึกว่าค่อนข้างโอเค ฟีลเหมือนมัธยมปลายมาก อย่างมีการบ้านอะไร เพื่อนก็จะเตือนกันว่าอย่าลืมส่งการบ้านนะ และช่วงปี 1 ที่ยังอยู่หอใน เพื่อนก็จะนัดกันมาติว แต่ถ้าพูดถึงภาพรวมในเอก ด้วยความที่เด็กเก่งมาอยู่ด้วยกัน อย่างตอนปี 1 พี่เห็นชื่อโรงเรียนของเพื่อนเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดที่ค่อนข้างมีชื่อเสียง และเกรดสูงกันมาตั้งแต่ ม.ปลาย อย่างเพื่อนบางคนก็เป็นภูมิศาสตร์โอลิมปิก บางครั้งเพื่อนได้คะแนนสูง เราก็จำเป็นต้องทำคะแนนให้ได้สูงตาม สมมุติเต็ม 30 คะแนนแล้วเพื่อนส่วนใหญ่ได้ 25 คะแนน แต่เราได้ 20 คะแนนก็กลายเป็นเราที่ได้คะแนนต่ำ ทั้งที่ผ่านเกณฑ์อยู่ที่ 15 คะแนน ก็จะค่อนข้างกดดันเรื่องคะแนนอยู่พอสมควร

กิจกรรม Open House คณะสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
กิจกรรม Open House คณะสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

พูดถึงอาจารย์ในคณะหรือสาขาหน่อยค่ะ

อาจารย์ในสาขาก็ใจดีและรับฟังนิสิต ถ้าเรามีอะไรก็ทักไลน์ขอคำปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือจากอาจารย์ที่ปรึกษาได้ อาจารย์ค่อนข้างเฟรนลี่ และในส่วนของรายวิชาอื่นๆ ก็ค่อนข้างเป็นกันเองและเปิดกว้าง ไม่ได้อนุรักษ์นิยม อย่างครั้งหนึ่งมีเพื่อนพรีเซนต์งานอยู่หน้าห้องและอาจารย์ก็นั่งหลังห้อง พี่กับเพื่อนจะไปเข้าห้องน้ำก็ยกมือนิดนึงแล้วก็ก้มหลังไปเพราะกลัวว่าจะบังอาจารย์ อาจารย์ก็บอกว่าไม่ต้องก้มเยอะขนาดนั้น เดินตรงๆ ได้เลย อาจารย์ไม่ซีเรียส ส่วนเรื่องของการแต่งตัว ถ้าเป็นวันที่เรียนปกติ ส่วนมากอาจารย์จะให้ฟรี ใส่คอปกกับรองเท้าแตะได้ แต่ถ้ามีพรีเซนต์งานหรืออะไรที่ต้องดูบุคลิกภาพ (เพราะเราเป็นครูเนอะ) อาจารย์ก็จะบอกว่าวันนั้นแต่งกายให้ถูกต้องนิดนึง

ส่วนตัวคิดว่าถ้าไม่รักเด็กจะเรียนครูได้ไหม?

จริงๆ คนที่ไม่ชอบเด็กส่วนมากจะไม่ค่อยมาเรียนครูกัน แต่บางคนอาจจะมาเรียนในสาขานี้แล้วเพิ่งรู้ตัวว่าไม่ชอบเด็ก ก็อาจจะผันตัวหรือเบี่ยงสายไปเป็นนักวิชาการหรืออาจารย์ในมหาวิทยาลัยแทนได้ ซึ่งการที่เรามาเรียนครูและได้ฝึกสอน เราก็จะได้รู้ว่าเราชอบเด็กจริงไหม เราสามารถทำงานในโรงเรียนได้หรือเปล่า

การเรียนโดยภาพรวมในแต่ละชั้นปี (หลักสูตร กศ.บ. 4 ปี)

แผนการศึกษา  หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต สาขาวิชาสังคมศึกษา  (4 ปี)  มศว
แผนการศึกษา  หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต สาขาวิชาสังคมศึกษา  (4 ปี)  มศว
  • ดูรายละเอียดหลักสูตรฉบับเต็ม  (กศ.บ. 4 ปี)  คลิก  

มีอุปกรณ์การเรียนอะไรที่ต้องเตรียมบ้างไหม?

ถ้าเป็นเหตุการณ์ปกติอาจารย์จะชอบให้พรินต์ชีท แต่พอเป็นออนไลน์ก็ต้องมีโน้ตบุ๊กสำหรับการเรียนหรือการสืบค้นข้อมูล ซึ่งเรียนครูก็ควรจะมีเพราะเราต้องทดลองสอน ถ้ามีแต่โทรศัพท์ก็จะค่อนข้างจัดองศายาก แล้วถ้าใครมีไอแพดก็จะยิ่งสะดวกมากขึ้น

ส่วนใหญ่ได้ทำชิ้นงานในรูปแบบไหนบ้าง?

ช่วงที่ยังไม่มีโควิดอาจารย์จะเน้นให้ทำสื่อทำมือหรือพรีเซนต์งานซึ่งไม่ใช่แค่การพูดหน้าห้อง อย่างงานกลุ่มของเพื่อนพี่บางทีก็มีแหล่โชว์ หรืออาจจะทำการแสดงอื่นๆ ซึ่งเพื่อนบางคนก็ทำฉากเล่นใหญ่กันทุกงาน แต่พอเป็นออนไลน์ก็จะมีงานทำอินโฟกราฟิก ทำโปรแกรม สร้างเกมให้เด็กๆ เล่น ตัดต่องาน และทำอนิเมชั่น ถ้าเป็นงานเขียนก็จะเน้นวิเคราะห์ มีทำวิจัย ทำรูปเล่ม โดยมีทั้งงานเดี่ยวและงานกลุ่มผสมกันไป 

พูดถึงการสอบและการตัดเกรดหน่อยค่ะ

อาจารย์บางท่านไม่สั่งงานเลย แต่คะแนนสอบเยอะ ซึ่งตอนสอบอาจารย์จะกำหนดจำนวนหน้าไว้ให้เลย เช่น ไม่เกิน 5 หน้า แต่ขอแบบเนื้อๆ ส่วนการตัดเกรดส่วนมากวิชาสวู (วิชาศึกษาทั่วไป มาจาก SWU) จะตัด A ที่ 90 คะแนน แต่ถ้าเป็นวิชาเอกจะตัด A ที่ 85 คะแนนหรือ 80 คะแนน โดยอาจารย์ส่วนมากจะตัดเกรดแบบอิงเกณฑ์มากกว่าอิงกลุ่ม

พูดถึงเรื่องการฝึกสอนหน่อยค่ะ

พี่เป็น 5 ปีรุ่นสุดท้ายที่ยังไม่ได้ไปฝึกสอนแบบเต็มตัว แต่เคยได้สังเกตการสอนครั้งแรกตอนปี 2 แล้วปี 3 ก็ได้เรียนออนไลน์และทดลองสอนประมาณ 1-2 คาบ ส่วนปี 4 ก็ยังไม่ได้เข้าสอนเต็มตัว เพราะเราจะได้ฝึกสอนกันตอนปี 5 ทั้งปีเลย แต่ถ้าเป็นรุ่นน้องพี่ (หลักสูตร 4 ปี) ก็จะได้สังเกตการสอนกันตั้งแต่ตอนปี 1 ปี 2 และได้ทดลองสอนไวกว่า 

ที่ผ่านมาพี่มีโอกาสได้ทดลองสอนที่โรงเรียนสาธิตแห่งหนึ่ง ตอนเข้าสอนออนไลน์เด็ก ม.ต้น จะให้ความร่วมมือค่อนข้างดี เช่น เปิดกล้อง เปิดไมค์ พิมพ์แชทตอบคำถาม แล้วเวลามีข้อสงสัยก็จะถามเลยไม่ได้เขินอายอะไร ส่วนเด็ก ม.ปลาย จะค่อนข้างเงียบและไม่ค่อยตอบคำถาม แต่ถ้ามีคะแนนตอบคำถาม เขาก็จะเปิดไมค์เปิดกล้องบ้าง

ชอบ/ประทับใจวิชาอะไรมากเป็นพิเศษ?

ชอบวิชาประวัติศาสตร์ไทย เพราะอาจารย์ที่มาสอนเป็นอาจารย์พิเศษซึ่งท่านบรรยายได้สนุกทุกครั้ง และมีการสอนเชิงวิเคราะห์ที่ไม่ได้มุ่งเน้นให้ท่องจำ อย่างตอนปี 2 ที่ยังไม่มีโควิดก็จะได้ลงพื้นที่บ่อย เช่น วันเสาร์-อาทิตย์ อาจารย์ก็จะพาไปฟังบรรยายที่กรมศิลป์ หรือออกพื้นที่ไปวัดต่างๆ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมระหว่างคาบเรียน เช่น กิจกรรมโต้วาที ส่วนวิชาต่อมาที่ชอบก็จะเป็นวิชาอารยธรรมจีน ซึ่งได้อาจารย์จากภาคประวัติอีกแล้ว อาจารย์ก็จะเล่าประสบการณ์ให้ฟังด้วย แล้ววิชาสุดท้ายก็ชอบวิชาสัมมนามาก เราเรียนครูพอไปสัมมนามันก็ต้องลงพื้นที่ ซึ่งเราสามารถเลือกที่ไหนในไทยก็ได้ แต่ถ้ามีญาติอยู่ก็ดี ทำให้เหมือนได้ไปทำงานแล้วก็ไปเที่ยวด้วย 

กระซิบนิดนึง ส่วนตัวคิดว่าวิชาไหนที่โหดที่สุด!

โหดที่สุดก็พวกวิจัย เพราะส่วนตัวไม่ค่อยชอบงานเอกสาร โดยวิจัยต้องทำหลายบทและต้องอ้างอิงให้มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งต้องอ่านและใช้เอกสารค่อนข้างมาก แล้วก็วิชาสถิติเบื้องต้นซึ่งต้องใช้โปรแกรมที่ไม่ค่อยถนัดเท่าไหร่

ยกตัวอย่างกิจกรรมในสาขาหรือหลักสูตรหน่อยว่ามีอะไรบ้าง?

กิจกรรมแรกก็จะมีค่ายบ่มเพาะครูสังคม ได้ไปตั้งแต่ปี 1 ถึงปี 4 เลย ปี 1 ก็อาจจะช่วยพี่ๆ ดูแลน้องภายในฐาน ปี 2 ได้เป็นหัวหน้ากลุ่ม ปี 3 ได้เป็นคนจัดโครงการ แล้วปี 4 ก็ไปเข้าร่วมกับรุ่นน้อง ซึ่งจะเป็นการสอนเด็กๆ และปรับภูมิทัศน์ในโรงเรียน 

กิจกรรมที่ 2 ได้ไปทัศนศึกษา ถ้าไม่มีโควิดจะได้ไปทั้ง 4 ภาคเลย และอาจจะได้รับมอบหมายงาน เช่น การสรุปความรู้ โดยตอนปี 1 จะได้ไปภาคกลาง อย่างรุ่นของพี่ได้ไปแถบชลบุรี ก็จะได้ไปเที่ยวชมวัด โบราณสถาน สถานที่สำคัญต่างๆ เช่น ศูนย์อนุรักษ์ทางทะเลที่แสมสาร ส่วนปี 2 จะได้ไปภาคอีสาน ภาคเหนือ หรือภาคใต้ก็แล้วแต่ตกลงกัน แล้วตอนปี 3 ปี 4 จะได้ไปภาคใต้หรือเชียงใหม่สลับกันซึ่งขึ้นอยู่กับคนจัดโครงการที่เป็นคนในสาขาเราเอง เช่น ปี 1 กลุ่มนี้จัด แล้วอีกกลุ่มจัดตอนปี 2 ซึ่งต้องดูเรื่องเส้นทางหรือสถานที่ที่จะไปด้วย โดยเราสามารถนำประสบการณ์ส่วนนี้ไปเล่าให้เด็กฟังได้

กิจกรรมที่ 3 Project-Based แต่ละชั้นปีก็จะจับสลากว่าจะได้ภาคไหน แล้วก็จัดคล้ายๆ นิทรรศการหรือซุ้มโดยเอาวัฒนธรรมเด่นๆ ของภาคนั้นมาโชว์ให้คนในคณะหรือคนที่เดินผ่านไปผ่านมาเข้ามาชม แต่ขึ้นอยู่กับแต่ละปีว่าอาจารย์จะหากิจกรรมอะไรมาให้เราทำร่วมกันด้วย

ส่วนกิจกรรมที่พี่ไปล่าสุดจะเป็นภาคสนามส่วนกลาง คือภาคสนามที่จัดขึ้นเพิ่มเติมให้นิสิตชั้นปีที่ 1 ถึง 5  (แต่ตอนนี้เหลือ 4 ปีแล้ว) ซึ่งอาจจะต้องออกเงินเองเพิ่มเติมด้วย แต่ไม่ได้บังคับ ไปตามความสมัครใจ ก็จะคล้ายกับที่ไปของสาขา เช่น วัด  โบราณสถาน หรือสถานที่สำคัญต่างๆ  

นอกจากนี้ช่วงที่ไม่มีโควิดก็จะมีการไปพบปะกับมหา’ลัยอื่นๆ เหมือนเป็นการสร้างสัมพันธ์ระหว่างนิสิตนักศึกษาครู ซึ่งจะมีกิจกรรมกระดานดำสัมพันธ์ โดยจะมี มศว ม.นเรศวร ม.ขอนแก่น ม.เชียงใหม่ และ ม.มหาสารคาม แล้วก็จะมีกิจกรรมไม้เรียวเกม โดยจะมี มศว ม.เกษตรฯ ม.ศิลปากร ม.บูรพา และจุฬาฯ ก็จะมีแข่งทักษะการสอน แข่งหลีด แข่งกีฬาสนุกๆ  สุดท้ายเป็นโครงการเทา-งาม สัมพันธ์ ที่จัดเป็นประจำทุกปี ประกอบด้วย 5 สถาบันซึ่งมีสีประจำสถาบันร่วมกันคือ “สีเทา”  ได้แก่ มศว ม.บูรพา ม.มหาสารคาม ม.นเรศวร และ ม.ทักษิณ  เพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกสาธารณะในการพัฒนาชุมชน รวมถึงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ระหว่างผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากรและนิสิต

โครงการบูรณาการการเรียนการสอนกับการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ประจำปีการศึกษา 2563
โครงการบูรณาการการเรียนการสอนกับการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ประจำปีการศึกษา 2563

มีงานไหนที่ทำแล้วรู้สึกชอบ/รู้สึกภูมิใจบ้างไหมว่าเราทำได้ยังไง!

ถ้าพูดถึงผลงานก็ต้องวิชาสัมมนาเลย กลุ่มหนึ่งมี 3 คน แล้วจะมีอาจารย์ที่ปรึกษา 1 ท่าน โดยจะให้เวลาเราประมาณ 3 เดือน ซึ่งเป็นวิชาที่ค่อนข้างใหญ่ เราจะต้องเลือกว่าสนใจลงพื้นที่ไหน แล้วก็ลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูล จากนั้นก็กลับมาทำเป็นรูปเล่ม เช่น ทำแผนการสอน และนวัตกรรมสื่ออย่าง E-Book ที่เรานำไปใช้สอนเด็กได้จริง ซึ่งอาจจะมีคิวอาร์โค้ดให้สแกนเป็นภาพถ่ายที่เราถ่ายมา แล้วก็ทำเป็นอนิเมชั่นเพื่อเพิ่มความน่าสนใจ ซึ่งจะมีการทำเกมหรือทำกิจกรรมท้ายบทให้เด็กๆ ได้เล่นด้วย

อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้เครียดที่สุดกับการเรียนในสาขานี้?

น่าจะเป็นเรื่องการเรียน เพราะทุกคนเก่งและได้คะแนนดี พอเราได้คะแนนน้อยกว่าเพื่อนก็แอบกดดันและแอบเครียดเล็กน้อย

จบมาประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง?

ก็เป็นคุณครูระดับประถมศึกษาหรือระดับมัธยมศึกษา นักวิจัย นักวิชาการ นักพัฒนาชุมชน นักวิชาชีพทางการศึกษา บุคลากรทางด้านการศึกษา อาจารย์มหา’ลัย และนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์หรือฝ่ายบุคคลก็ได้ แต่ส่วนมากจะไปสายติวเตอร์กัน

สุดท้ายนี้ฝากอะไรถึงน้องๆ หน่อยค่ะ

ถ้าน้องๆ คนไหนมีความสนใจที่จะเรียนครูสังคมก็ฝากสาขาสังคมศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ไว้ในอ้อมอกอ้อมใจด้วยนะคะ คณะสังคมศาสตร์ มศว ของเราก็ถือเป็นทางเลือกที่ดีเลย ถ้าน้องๆ คนไหนอยากเข้าอยู่แล้วก็ขอให้สอบติดและหวังว่าเราจะได้เจอกันค่ะ 

ฟังแล้วอยากเป็นครูสังคมเลยค่ะพี่พลอย ถ้าน้องๆ คนไหนอยากเรียนครู พี่โบว์คิดว่า มศว ก็ถือเป็นอีกทางเลือกที่ดีเลยค่ะ และถ้าใครมีข้อสงสัยหรืออยากสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถคอมเมนต์ด้านล่างได้เลยนะคะ ><

ขอขอบคุณรูปภาพจากhttps://soc.swu.ac.th/th/?option=com_content&view=article&id=44:1&catid=2&Itemid=101https://www.facebook.com/people/แนะให้แนว-มศว/100038759267653/https://www.facebook.com/SSEDSWU/?ref=page_internalIG: ployshita
พี่โบว์
พี่โบว์ - Converter แปลงไฟล์อีบุ๊กนิยาย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด