Unknown Job! เส้นทางสู่ 7 งานแปลกไม่ลับที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัยไทย

สวัสดีค่ะทุกคน เพราะในปัจจุบันอาชีพไม่ได้มีเพียงหมอ ครู และวิศวะ แต่ยังมีอีกหลายอาชีพที่น่าสนใจและน่าเก็บไว้ในลิสต์อาชีพในฝันมาก! ในวันนี้พี่โบว์จึงขอนำเสนอ 7 อาชีพที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้จักกัน หรือเป็นอาชีพที่หลายคนเคยได้ยินมาบ้าง แต่ไม่รู้ว่าต้องเรียนที่ไหน หรือทำงานเกี่ยวกับอะไร อาจเป็นงานแปลกสำหรับใครบางคน แต่ก็ไม่ใช่งานลับที่ไม่มีใครรู้จักเช่นกัน จะมีอาชีพอะไรบ้างต้องไปดูค่ะ!

7 งานแปลกไม่ลับ เรียนได้ในมหาวิทยาลัยไทย
7 งานแปลกไม่ลับ เรียนได้ในมหาวิทยาลัยไทย

Unknown Job! เส้นทางสู่ 7 งานแปลกไม่ลับที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัยไทย

1. พนักงานบำรุงสัตว์ (Zookeeper)

อาชีพแรกเหมาะมากสำหรับคนรักสัตว์ทุกชนิด ชอบอยู่กับธรรมชาติ และใฝ่ฝันอยากทำงานในสวนสัตว์ โดยจะทำหน้าที่ให้อาหาร ตั้งชื่อสัตว์ เช็กจำนวนสัตว์โดยจดจำชื่อและเรียนรู้อุปนิสัยของสัตว์แต่ละตัว คอยสังเกตและเช็กสุขภาพ (สัตวแพทย์เป็นผู้รักษา) ต้องเลี้ยงดูและปฏิบัติอย่างถูกวิธี เช่น การจับ การเดิน และดูแลทำความสะอาดบ้านพักอาศัยของน้องๆ ทุกวัน อีกทั้งยังต้องมีต้องสกิลป้องกันตัวสักนิด หรือเรียกได้อีกอย่างว่าจะหาทางหนีทีไล่หลบเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากสัตว์ทั้งหลายได้ทุกเมื่อยังไง

ตัวอย่างสาขา/คณะในมหาวิทยาลัยที่เปิดสอน

  • สาขาวิชาสัตววิทยา  คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • สาขาวิชาสัตววิทยา  คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
  • สาขาวิชาสัตววิทยา  คณะวิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่
พนักงานบำรุงสัตว์
พนักงานบำรุงสัตว์

2. นักดูแลสัตว์น้ำ (Aquarist)

มากันที่สัตว์น้ำบ้าง คนที่ประกอบอาชีพนี้ยังมีน้อยอยู่ เพราะประเทศไทยไม่ค่อยมีอควาเรียมสักเท่าไหร่ ซึ่งจะทำหน้าที่เตรียมอาหาร ให้อาหารโดยคำนวณจากน้ำหนักตัว ตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำ และทำความสะอาดแท็งก์และตู้ ดังนั้นคนที่จะประกอบอาชีพนี้ต้องว่ายน้ำเป็น ดำน้ำได้ และที่สำคัญคือรักสัตว์น้ำมาก อุบัติเหตุอาจเกิดขึ้นได้หากเราทำอะไรผิดวิธี ทั้งนี้หากเราทำตามคู่มืออย่างเคร่งครัดก็ไม่จำเป็นต้องกังวลเลย! นอกจากนี้เราสามารถรู้ได้ว่าสัตว์ตัวไหนป่วยโดยดูจากการทานอาหารค่ะ (สัตวแพทย์เป็นผู้รักษา)

ตัวอย่างสาขา/คณะในมหาวิทยาลัยที่เปิดสอน

  • สาขาวิชาประมง  คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์
  • สาขาวิชาการประมง  คณะเกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น
  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การประมง  คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร ม.ศิลปากร
  • สาขาวิชาการประมงและนวัตกรรมการผลิตสัตว์น้ำ คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ ม.แม่โจ้
  • สาขาวิชานวัตกรรมการผลิตสัตว์น้ำและการจัดการทรัพยากรประมง  คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
  • สาขาวิชาประมง  คณะเกษตรศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การประมง  คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ม.นเรศวร
  • สาขาวิชาประมง  คณะเทคโนโลยี ม.มหาสารคาม
นักดูแลสัตว์น้ำ
นักดูแลสัตว์น้ำ

3. นักอัญมณีศาสตร์  (Gemologist)

ใครชอบของแวววาวระยิบระยับห้ามพลาด! เพราะอาชีพนี้เราจะได้อยู่กับแร่รัตนชาติต่างๆ เช่น เพชร พลอย แบบเต็มอิ่มเลยล่ะค่ะ โดยจะมีหน้าที่ออกแบบ เจียระไน สลัก ขัดเงา เพื่อเพิ่มคุณค่า ซึ่งอาจใช้คอมพิวเตอร์เพื่อควบคุมและตรวจสอบคุณภาพด้วย รวมถึงต้องวิเคราะห์ ประเมินคุณภาพ รู้คุณสมบัติทางเคมีและทางกายภาพ และตรวจสอบได้ว่าเกิดจากธรรมชาติ การสังเคราะห์ หรือการเลียนแบบ โดยปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้ต้องรู้แหล่งซื้อขาย การส่งออก และการนำเข้าด้วย

สาขา/คณะในมหาวิทยาลัยที่เปิดสอน

  • สาขาวิชาอัญมณีวิทยา  คณะวิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่
  • สาขาวิชาอัญมณีและเครื่องประดับ  วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีอัญมณีและเครื่องประดับ  คณะอัญมณี ม.บูรพา
  • สาขาวิชาอัญมณีรังสรรค์  สถาบันอัญมณี เครื่องประดับไทย และการออกแบบ ม.เทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
  • สาขาวิชาเครื่องประดับอัญมณีและโลหะรูปพรรณ  วิทยาลัยเพาะช่าง ม.เทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
นักอัญมณีศาสตร์
นักอัญมณีศาสตร์

4. นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย 

นักเวชศาสตร์การสื่อความหมายแบ่งออกเป็น 2 สาขาอาชีพ ได้แก่ นักแก้ไขการพูด และ นักแก้ไขการได้ยิน ทำงานร่วมกันกับแพทย์ โดยมีหน้าที่ช่วยบุคคลทุกกลุ่มวัยที่มีความบกพร่องทางการได้ยินและการพูด เช่น พูดไม่ชัด พูดช้า ติดอ่าง ให้ดำเนินชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงกับคนปกติ โดยเป็นผู้ที่ตรวจวินิจฉัยก่อนจะส่งผลตรวจให้แพทย์ทำการรักษา แต่ถ้ารักษาไม่ได้ เราจะต้องเป็นผู้ที่ใส่เครื่องช่วยฟังให้ผู้ป่วย พร้อมปรับจูนเสียงให้ชัดเจน ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยเปิดสอนเพียงแห่งเดียวเท่านั้น!

สาขา/คณะในมหาวิทยาลัยที่เปิดสอน

  • สาขาวิชาความผิดปกติของการสื่อความหมาย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล (แก้ไขการได้ยิน)
  • สาขาวิชาความผิดปกติของการสื่อความหมาย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล (แก้ไขการพูด)
นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย
นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย

5. นักเล่านิทาน/นักเขียนนิทาน

“นักเล่านิทาน” เป็นอาชีพที่แน่นอนว่าต้องถ่ายทอดเนื้อหาจากในนิทาน โดยใช้น้ำเสียง ลีลาท่าทาง อารมณ์ร่วม และอาจมีอุปกรณ์ประกอบการเล่าเรื่องให้ดึงดูดความสนใจของผู้ฟังมากขึ้น ซึ่งมักจัดกิจกรรมตามโรงเรียนและอีเวนต์ต่างๆ ด้วยความที่กลุ่มเป้าหมายหลักเป็นเด็ก เพราะฉะนั้นถ้าจะให้เด็กไม่เบื่อ การประกอบอาชีพนี้จึงต้องใช้พลังงานสูงมาก นอกจากนี้ยังมีอาชีพ “นักเขียนนิทาน” ที่จะเป็นผู้สร้างสรรค์นิทานเรื่องต่างๆ ให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งต้องระมัดระวังเรื่องการใช้ภาษาให้มากค่ะ

สาขา/คณะในมหาวิทยาลัยที่เปิดสอน

  • สาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก  คณะมนุษยศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ

ทั้งนี้แม้ไม่ได้จบตรงสาย หากมีความชอบและความสนใจที่จะเล่านิทาน ไม่ว่าจบอะไรมาก็ประกอบอาชีพนี้ได้เหมือนกัน หรือหากอยากเขียนนิทานก็สามารถเรียนในคณะที่ใกล้เคียงได้ เช่น คณะอักษรศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ และคณะมนุษยศาสตร์ ซึ่งจะมีสอนเรื่องภาษา วรรณกรรม และมีให้ได้ฝึกเขียน ทำให้เข้าใจหลักการเขียนและนำมาประยุกต์ใช้ได้

นักเล่านิทาน
นักเล่านิทาน

6. นักแฮกเกอร์ (Ethical hacker)

ในโลกเรามีทั้งแฮกเกอร์ที่ดีและไม่ดี แต่ในที่นี้เรากำลังพูดถึง แฮกเกอร์หมวกขาว (White Hat Hacker) ซึ่งทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ให้กับกระทรวง บริษัท หรือหน่วยงานต่างๆ เพื่อจัดการจุดอ่อนหรือช่องโหว่ในระบบขององค์กร โดยได้รับอนุญาตในการแฮกระบบแล้ว นอกจากนี้ยังต้องวางระบบป้องกันการโจมตีจากภายนอกด้วย

ตัวอย่างสาขา/คณะในมหาวิทยาลัยที่เปิดสอน

  • สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์  คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์  คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
  • สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์  วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ ม.ขอนแก่น
  • สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์  คณะวิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่
  • สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์  คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.ธรรมศาสตร์
  • สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์  คณะวิทยาศาสตร์ ม.ศิลปากร
  • สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์  คณะวิทยาศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ
นักแฮกเกอร์
นักแฮกเกอร์

7. ภัณฑารักษ์ (Curator)

ด้วยชื่ออาชีพที่คล้ายกัน หลายคนได้ยินชื่อนี้ก็อาจนึกไปถึง “บรรณารักษ์” ที่ทำงานในห้องสมุด แต่จริงๆ อาชีพสุดท้ายที่เราจะมาพูดถึงกันในวันนี้ทำงานอยู่ในพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการต่างๆ ค่ะ โดยต้องมีพื้นฐานด้านประวัติศาสตร์ รู้เรื่องราวของสิ่งที่กำลังจัดแสดง สำรวจ รวบรวม ตรวจพิสูจน์ ดูแลสถานที่และสิ่งของที่นำมาจัดแสดง และถ่ายทอดเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์หรือนิทรรศการได้อย่างถูกต้องและสร้างสรรค์ นอกจากนี้ควรผลิตสื่อและเลือกใช้สื่อประชาสัมพันธ์ได้ด้วยค่ะ

ตัวอย่างคณะ/สาขาที่เกี่ยวข้องในมหาวิทยาลัยที่เปิดสอน

  • คณะโบราณคดี สาขาวิชาโบราณคดี ม.ศิลปากร
  • คณะโบราณคดี สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ม.ศิลปากร
  • คณะโบราณคดี สาขาวิชาภาษาไทย ม.ศิลปากร
  • คณะโบราณคดี สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส ม.ศิลปากร
  • คณะโบราณคดี สาขาวิชาภาษาอังกฤษ ม.ศิลปากร
  • คณะโบราณคดี สาขาวิชามานุษยวิทยา ม.ศิลปากร
  • คณะโบราณคดี สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ม.ศิลปากร
  • นอกจากนี้ยังมีคณะอื่นๆ ที่นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในอาชีพนี้ได้อีกมากมาย เช่น คณะสังคมศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะมัณฑนศิลป์
ภัณฑารักษ์
ภัณฑารักษ์

อาชีพดีๆ มีมากกว่าที่คิด! สุดท้ายนี้พี่โบว์หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ และอาชีพเหล่านี้จะกลายเป็นอีกหลายทางเลือกสำหรับน้องๆ #dek66 ทุกคนนะคะ ขอให้น้องติดสาขา/คณะ/มหาวิทยาลัยในฝันกันทุกคนเลย! ><

ขอขอบคุณรูปภาพจากhttps://studybreaks.com/thoughts/zookeeper-daily-life/https://qsstudy.com/cover-letter-for-aquarist/https://www.freepik.com/author/fxquadrohttps://www.freepik.com/author/atlascompanyhttps://www.freepik.com/author/zinkevychhttps://www.freepik.com/author/racool-studiohttps://harvardartmuseums.org/article/em-inventur-em-an-introduction-from-the-curator
พี่โบว์
พี่โบว์ - Converter แปลงไฟล์อีบุ๊กนิยาย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น