ชวนรู้! รีไทร์คืออะไร? เรียนยังไงไม่ให้โดนรีไทร์!

สวัสดีค่ะน้องๆ ทุกคน น้องๆ เคยสงสัยกันมั้ยคะว่า “รีไทร์” ที่พี่ๆ มหา’ลัย พูดกันคืออะไร ทำไมพูดแล้วถึงต้องทำหน้าสยองเหมือนกลัวอะไรด้วย TT  แต่ก็อย่างว่าใครบอกสอบเข้ามหา’ลัยแล้วจะเหนื่อยแค่ตอนเข้า จริงๆ แล้วยังมีอีกหลายด่านในการเรียนมหา’ลัยที่เหนื่อยไม่แพ้ตอนสอบเข้าเลยค่ะ แต่ก็เป็นความเหนื่อยที่มาพร้อมกับประสบการณ์ใหม่ๆ นะคะ เอ้ะ! หรือนี่จะคือเหตุผลของการทำหน้าสยองเวลาพูดถึงคำว่ารีไทร์นะ TT

งั้นวันนี้พี่คิตตี้จะพาน้องๆ ไปทำความรู้จัก (ที่แอบไม่อยากรู้จัก) กับ “รีไทร์” ว่าคืออะไร และรวบรวมเทคนิคการเรียนในรั้วมหา’ลัยไม่ให้เสี่ยงโดนรีไทร์มาให้น้องๆ ด้วย ไปดูกัน! 

รีไทร์คืออะไร? เรียนยังไงไม่ให้โดนรีไทร์
รีไทร์คืออะไร? เรียนยังไงไม่ให้โดนรีไทร์

รีไทร์ (Retire) คืออะไร?

คำว่ารีไทร์ตรงนี้มาจาก Retire ที่แปลว่าเกษียณ แต่ถ้าพูดในมหา’ลัย จะหมายถึงการเชิญออกในกรณีที่บุคคลนั้นมีผลการเรียนเฉลี่ยรวมไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำตามที่กำหนด การรีไทร์จะแบ่งออกเป็น 3 กรณีหลักๆ (ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ของแต่ละมหา’ลัยด้วยนะคะ)

1. นิสิต/นักศึกษาชั้นปีที่ 1 หากมีผลการเรียนเฉลี่ยรวมใน 2 เทอมแรกน้อยกว่า 1.80 จะถูกรีไทร์ (ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ของแต่ละมหา’ลัยว่ากำหนดไว้เท่าไหร่) เช่น ปี 1 เทอม 1 ได้เกรดเฉลี่ย = 2.00 ปี 1 เทอม 2 ได้เกรดเฉลี่ย = 1.50 เกรดเฉลี่ยรวม = 1.75 ในกรณีนี้สามารถถูกรีไทร์ได้นั่นเอง

2. นิสิต/นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ขึ้นไป ผ่านการเรียนในช่วงปี 1 ไปแล้ว แต่ก็ยังต้องรักษาเกรดเฉลี่ยของตนเองไว้ เพราะหากในเทอมถัดๆ มา มีผลการเรียนที่ดึงเกรดเฉลี่ยรวมลงไปต่ำกว่า 2.00 จะถูกรีไทร์ได้ เช่น ปี 1 เทอม 1 ได้เกรดเฉลี่ย = 3.00 ปี 1 เทอม 2 ได้เกรดเฉลี่ย = 3.00 ปี 2 เทอม 1 ได้เกรดเฉลี่ย = 2.50 ปี 1 เทอม 2 ได้เกรดเฉลี่ย = 1.80 เกรดเฉลี่ยรวม 1.82 ในกรณีนี้อาจจะถูกรีไทร์ได้ (ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ของแต่ละมหา’ลัยว่ากำหนดไว้เท่าไหร่ หรือ จะให้ติดโปรไว้ก่อนเพื่อพิจารณาในเทอมถัดไปอีกครั้ง)

** ติดโปร คือ การโดนวิทยาทัณฑ์ หากไม่สามารถรักษาเกรดได้ตามช่วงเวลาที่กำหนด จะถูกรีไทร์ทันที **

3. นิสิต/นักศึกษาที่เรียนเกินกำหนดของทางคณะ เช่น คณะ/สาขามีหลักสูตรต้องเรียนจบภายใน 4 ปี ถ้าหากยังไม่จบภายใน 4 ปีนั้น ต้องเรียนให้จบภายในระยะเวลา 2 เท่าของหลักสูตร ก็คือ ไม่เกิน 8 ปี หากเกินมากกว่านั้นจะถูกรีไทร์ทันที

เรียนยังไง ไม่ให้โดนรีไทร์ 

หลังจากที่เรารู้จักถึงแม้จะไม่อยากรู้จักกับคำว่า รีไทร์ ไปแล้ว พี่คิตตี้พามาดูกันต่อเลยดีกว่าว่าเรียนยังไงไม่ให้เราเสี่ยงโดนรีไทร์ 

เข้าเรียนทุกคาบ ตามงานให้ครบ

เป็นสิ่งแรกๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นรุ่นพี่ หรือ อาจารย์ แนะนำน้องๆ สำหรับการเรียนมหา’ลัย เพราะถ้าหากเราเข้าเรียนทุกคาบ และตามงานครบ เราก็มีโอกาสที่จะไม่เสี่ยงติด F ในรายวิชานั้นถึง 50% แล้วนะคะ (ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ของผู้สอนในรายวิชานั้นๆ ด้วย) หรือถ้าหากน้องๆ มีเหตุจำเป็นที่ต้องขาดเรียน เมื่อกลับมาเรียนแล้ว ควรที่จะตามงาน และทวนเรื่องที่เรียนกับเพื่อนๆ ในวันที่เราขาดเรียนไปจะได้ตามทัน พอถึงวันที่จะสอบจะได้ไม่หนักเกินไปสำหรับเรานั่นเองค่ะ

วิชาไหนเสี่ยง เลี่ยงไว้ก่อน

หากมีวิชาไหนที่น้องๆ รู้สึกว่าเรียนไปแล้วเทอมนี้เราน่าจะไม่ไหวแน่ๆ น้องๆ สามารถลด/ถอนรายวิชานั้นได้ เพื่อไปลงในเทอมถัดไป ตามแพลนที่น้องๆ ได้วางไว้ และลด/ถอนตามช่วงเวลาที่กำหนดของทางมหา’ลัย ในกรณีนี้จะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ

  • รูปแบบที่ 1 ลดรายวิช น้องๆ สามารถทำได้หลังจากเรียนไปแล้วไม่เกิน 2 สัปดาห์ (ขึ้นอยู่กับทางมหา’ลัยกำหนด) เมื่อลดแล้ว จะไม่ถือว่าเป็นการถอน ผลการเรียนในรายวิชานี้จะไม่ขึ้น W ในใบทรานสคริปต์ เพราะยังอยู่ในช่วงที่ทางมหา’ลัยกำหนดให้ลดรายวิชาเรียนได้ ในกรณีที่น้องๆ รู้ตัวเองไว
  • รูปแบบที่ 2 ถอนรายวิชา น้องๆ สามารถทำได้หลังจากพ้นช่วงการลดรายวิชา ในกรณีนี้จะปรากฎ W ในใบทรานสคริปต์ แต่ไม่มีผลต่อเกรดเฉลี่ยรวม ที่สำคัญคือ น้องๆ ต้องดูว่าเราสามารถถอนรายวิชาได้ถึงช่วงไหน บางมหา’ลัยกำหนดไว้ว่า สามารถถอนได้ช้าสุดคือก่อนสอบกลางภาคหรือปลายภาค หากหลังจากนั้นน้องๆ จะไม่สามารถถอนได้แล้วนั่นเอง

Tips : น้องๆ ไม่สามารถลด/ถอนในบางรายวิชาได้ เช่น วิชาบังคับในแต่ละเทอม น้องๆ ควรศึกษาเกณฑ์ของทางมหา’ลัยเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้เสียสิทธิ์ของตนเอง

ข้อควรระวัง! บางมหา’ลัยมีข้อกำหนดว่า “หากปรากฎ W (ถอน) ในผลการเรียน จะไม่ได้รับเกียรตินิยม” ในกรณีที่น้องๆ มีผลการเรียนดีอยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับเกียรตินิยม 

ทบทวนก่อนสอบ 

การทวนหลังเรียน ติวก่อนสอบ ไม่ว่าจะอ่านหนังสือทวนเอง หรือ จะติวกับเพื่อน ก็เป็นอีกสิ่งสำคัญที่จะทำให้น้องๆ สามารถทำคะแนนสอบได้ออกมาเป็นที่น่าพอใจ หาเวลาว่างซักนิดเพื่อทวนในแต่ละรายวิชา เตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆ เมื่อรู้ว่ามีสอบ ดีกว่าไปอัดทั้งหมดก่อนสอบนะคะ ไม่งั้นจะหนักไปจนเราไม่สามารถจำได้ทั้งหมด

Tips : ถ้าไม่รู้ว่าควรอ่านอะไรก่อน เราอาจจะเริ่มทวนจากวิชาที่เราไม่มั่นใจมากที่สุดแล้วไล่ลงมาเป็นวิชาที่เราค่อนข้างมั่นใจ แล้วพอถึงช่วงใกล้วันที่จะสอบก็อ่านทวนวิชาที่จะต้องสอบก่อน เทคนิคนี้จะทำให้น้องๆ สามารถจัดระเบียบการทวนหนังสือได้ดีขึ้นค่า

 

เป็นยังไงกันบ้างคะน้องๆ เข้าใจคำว่ารีไทร์มากขึ้นมั้ยเอ่ย พี่คิตตี้กุมขมับขึ้นมาทันทีเลยถ้าพูดถึงการรีไทร์ TT แต่น้องๆ ไม่ต้องกังวลไปนะคะ หากน้องๆ ตั้งใจเรียน และหมั่นทบทวนบทเรียนอยู่เสมอ เราก็จะห่างไกลจากการโดนรีไทร์ สู้ๆ นะคะน้องๆ พี่คิตตี้เป็นกำลังใจให้ค่า 

 

 

 

ขอบคุณรูปภาพจากhttps://www.freepik.com/free-photo/college-students-cramming-outdoor_31237866.htm#page=5&query=university&position=49&from_view=search&track=sphhttps://www.freepik.com/free-photo/low-angle-stacked-books-graduation-cap-ladders-education-day_21745478.htm#page=5&query=university&position=11&from_view=search&track=sphhttps://www.freepik.com/free-photo/thoughtful-girl-student-sitting-writing_1314032.htm#page=2&query=study&position=18&from_view=search&track=sph
พี่คิตตี้

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น