9 วิทยาศาสตร์น่าทึ่งที่พบได้ใน The Martian (สปอยล์นิดๆ)  
แนวคิดที่ว่าสักวันมนุษย์อาจได้ไปอยู่บนดาวอังคารกำลังมา 
หนังสือเล่มนี้ ส่งเสริมความเชื่อนี้ให้สมจริงมากขึ้น  

 
สวัสดีชาวไรเตอร์ทุกคนจ้า ไม่ขออ้อมค้อมมาก ถามตรงๆ เลยดีกว่า ใครไปดู เดอะมาร์เชี่ยน แล้วบ้าง...?? พี่ตินดูแล้วน้า ดูจบบอกเลยว่า... ชอบเลย มันแปลกใหม่ดี ไม่เคยรู้เรื่องพวกนี้มาก่อน ความชอบมากจนต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติม เพราะมีหลายจุดที่สับสนอยู่บ้างเหมือนกัน และสรุปว่า... พออ่านเพิ่มแล้ว ก็รู้สึกว่าน่าสนใจดีนะ อยากเอามาแบ่งปันให้น้องๆ ชาวไรเตอร์อ่านกันดูบ้าง เพราะช่วงนี้ พวกภาวะโลกร้อนมาแรง จนคนเริ่มพูดถึงการอพยพไปอยู่ดาวอื่นมากขึ้น พี่ตินคิดว่านักวิทยาศาสตร์เขาเล็งๆ ดาวอังคารอยู่นี่แหละ บางที มันอาจเป็นโอกาสของการอยู่รอดของมนุษย์ก็ได้นะ (เริ่มเพ้อเจ้อแล้ว ยาวๆๆๆ)
 
นอกจากรู้สึกประทับใจหนังแล้ว อีกเหตุผลที่อยากเอามาเล่าต่อ ก็เพราะเดอะมาร์เชี่ยนเป็นหนังที่สร้างมาจาก “หนังสือขายดี” (พี่ตินซื้อหนังสือมาอ่านแล้ว บอกเลยว่า... คนที่ไปดูหนัง ควรหยิบหนังสือมาอ่านด้วย และคนที่อ่านหนังสือ ก็ควรไปดูหนัง ทั้งสองเวอร์ชั่นสนุกไม่แตกต่างกัน แต่ว่า... ในหนังสือจะมีรายละเอียดเยอะกว่า เราจะได้ข้อมูลตัวเลขต่างๆ และได้ความรู้ที่เราอาจไม่เคยรู้เลย (พี่ตินเรียนสายศิลป์ ดังนั้นจึงมีอะไรที่เซอร์ไพรซ์ตลอดเวลา) ขณะเดียวกัน ถ้าดูหนัง เราจะเห็นภาพออกมา เห็นฉาก เห็นอารมณ์ได้มากกว่า เพราะงั้นก็บอกได้ว่าดีทั้งสองแบบน่ะแหละ แล้วแต่ความชอบส่วนตัวเลยแล้วกัน ไม่ฟันธงนะว่าอะไรดีกว่าหรือแย่กว่า) และหลังจากอ่านหนังสือแล้ว พี่ตินรู้สึกเลยว่า... การค้นหาข้อมูลของนักเขียนคนนี้ไม่ธรรมดาจริงๆ อยากให้น้องๆ ทุกคนหาหนังสือเรื่องนี้มาอ่าน หรือไปดูหนังก็ได้ สิ่งที่จะได้ก็คือ เคล็ดลับในการถ่ายทอดจินตนาการเป็นเรื่องราว พี่ตินคิดว่าน่าจะช่วยเรื่องการเล่าเรื่องได้ ไม่มากก็น้อย
 
ก่อนพาทุกคนไปอ่านเนื้อหา ก็ขอเล่าเรื่องย่อสั้นๆ มาร์ค วัทนี่ย์ นักบินอวกาศ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรเครื่องกลและเป็นนักพฤกษศาสตร์ด้วย โชคร้าย ถูกทิ้งให้อยู่บนดาวอังคารคนเดียว และต้องพยายามเอาตัวรอดอยู่บนดาวดวงนี้ให้ได้ ด้วยการขุดทุกความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และพฤกษศาสตร์ที่มีอยู่ในตัวออกมา มีเท่าไหร่ไม่ต้องกั๊กแล้ว
 
และนี่คือ 9 เรื่องราวความรู้ที่ได้จากผลงานเรื่องนี้ 
 
ถ้าอยากไปดาวอังคาร ต้องทำยังไง
หนังเปิดมา พระเอกเราก็อยู่บนดาวอังคารเลย แต่ถามว่า... จะไปดาวอังคารต้องไปยังไง นาซ่าให้ข้อมูลมาว่า ด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ ณ ตอนนี้ การเดินทางไปดาวอังคารอย่างเร็วที่สุด จะใช้เวลาราวๆ 6-8 เดือน ในหนัง วัทนี่ย์และเพื่อนๆ นักบินอวกาศอีกห้าคน ต้องใช้ชีวิตอยู่บนยานเฮอร์มีซ ซึ่งเป็นยานครบวงจรที่ใช้งบประมาณสูงจนประมาณค่าไม่ได้ เพราะระหว่างที่เดินทางในอวกาศ มนุษย์ต้องใช้ชีวิตอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนัก ขณะเดียวกัน ในอวกาศก็มีรังสีอันตรายมากมาย ที่อาจทำให้ร่างกายผิดปรกติ มีปัญหาระบบหัวใจและหลอดเลือด สูญเสียมวลกระดูกและกล้ามเนื้อ ปัญหาทางจิต อันตรายจากสภาพแวดล้อมในอวกาศ ฯลฯ
 
หน้าปกหนังสือ เดอะมาร์เชี่ยน 
ให้ความรู้เบาๆ หนังสือเรื่องนี้ ส่งสนพ. ที่ไหนก็ไม่ผ่าน
นักเขียนเลยทำอีบุ๊กขาย ผลคือขายดีถล่มทลายใน amazon.com
และถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปทำหนังทันที

 
บนดาวอังคารเป็นอย่างไร
นาซ่าให้ข้อมูลเกี่ยวกับดาวอังคารไว้ดังนี้
  • ดาวอังคารถูกเรียกว่าดาวแดง เพราะพื้นผิวเต็มไปด้วยไอเอิร์น (III) ออกไซด์ รู้จักกันในชื่อสามัญคือฮีมาไทต์หรือสนิมเหล็ก ตลอดทั้งวัน ดาวดวงนี้ปกคลุมด้วยสีส้มอมแดง ดูไปคล้ายละอองฝุ่น  
  • เนื่องจากดาวอังคารสูญเสียชั้นบรรยากาศไป พระอาทิตย์ที่นี่จึงมองเห็นเป็นสีฟ้า  
  • หนึ่งปีบนดาวอังคาร อยู่ที่สองปีบนโลก เพราะดาวอังคารอยู่ไกลดวงอาทิตย์มากกว่าโลก ก็เลยใช้เวลาโคจรนานกว่า
  • อุณหภูมิเฉลี่ยบนดาวอังคารอยู่ที่ -80 ฟาเรนไฮต์ แต่ช่วงฤดูหนาว อาจหนาวรุนแรงได้ถึง -195 ฟาเรนไซต์ ส่วนหน้าร้อน อากาศสบายๆ 68 ฟาเรนไฮต์
  • แรงเสียดทานบนดาวอังคาร น้อยกว่าบนโลกถึง 40% เพราะฉะนั้น เมื่ออยู่บนดาวอังคาร ตัวคุณจะเบากว่าปกติ 60%
  • ดาวอังคารแทบไม่มีชั้นบรรยากาศ เทียบกับโลกแล้ว คิดเป็นแค่ 1% เท่านั้น ดังนั้น จึงไม่อาจป้องกันรังสีอันตรายในอวกาศได้เลย  
     
อ่านข้อมูล ดาวอังคาร อย่างละเอียดที่นี่เลย
 
พายุฝุ่นในเรื่องคือ...
บนดาวอังคารเกิดพายุฝุ่นบ่อยมาก และฟ้าแลบฟ้าผ่าก็เยอะเช่นกัน จิม กรีน นักวิทยาศาสตร์ของนาซ่าระบุว่า พายุฝุ่นนี้เกิดขึ้นเนื่องจากชั้นบรรยากาศบนดาวอังคารมีความหนาแน่นน้อยกว่าโลกมาก และยังมีความแตกต่างทางภูมิศาสตร์อย่างสูง จึงทำให้เกิดความกดอากาศระหว่างยอดเขาหรือหุบเหว เป็นสาเหตุให้เกิดกระแสลมแรงและอาจเกิดพายุฝุ่นนานนับเดือน
 
วันเวลาบนดาวอังคาร
อย่างที่บอกไปแล้วข้างต้นว่า ดาวอังคารอยู่ไกลดวงอาทิตย์มากกว่าโลกจึงใช้เวลาโคจรนานกว่า เพราะฉะนั้น หนึ่งวันบนดาวอังคารยาวกว่าบนโลก 40 นาทีโดยเฉลี่ย การหมุนรอบตัวเองและจังหวะการโคจรรอบดวงอาทิตย์ก็แตกต่างกันไปด้วย วันบนดาวอังคารมีหน่วยเรียกว่า ‘sols’
 
ที่พักบนดาวอังคาร (แฮ็พ)
ที่พักของวัทนี่ย์ในหนัง ลักษณะคล้ายเต็นท์ เรียกกันว่า “แฮ็พ” นาซ่าเตรียมอุปกรณ์มาพร้อม ทั้งออกซิเจเนเตอร์ (เครื่องทำออกซิเจน) เครื่องกรองน้ำ และผ้าใบพิเศษ ที่จะปกป้องนักบินอวกาศจากพายุรุนแรง และรังสีต่างๆ (พี่ตินเห็นแล้วแอบคิดถึงอะไรรู้ไหม ดราก้อนบอล 55 ตอนโกคูนั่งยานอวกาศไปดาวนาเม็กไงล่ะ จำได้มีเรื่องแรงโน้มถ่วงเข้ามาด้วย ใครว่าอ่านการ์ตูนสนุกอย่างเดียว เห็นไหมได้ความรู้ด้วย ฮ่าๆๆๆ) แล้วน้องๆ รู้มั้ยว่า นาซ่าได้จัดกิจกรรมประกวดออกแบบแฮ็พให้คนทั่วไปได้ลองส่งภาพของแฮ็พในแบบของตัวเองเข้าประกวดด้วย อ้อ เรามีตัวอย่างแผนผังในเดอะแฮ็พมาให้ดูด้วยนะ
 
ภาพจำลองภายในแฮ็พ น่าอยู่เหมือนกันนะ
เครดิตภาพ http://mdrs.marssociety.org/home/mars-hab-layout

 
เพาะปลูกบนดาวอังคาร... ได้เหรอ
ในเรื่อง เนื่องจากถ้าไม่มีอะไรกิน ก็จะอดตาย พระเอกของเราก็เลยต้องปลูกมันฝรั่งเอง! แอดวานซ์มากๆ และในการปลูกพืช เขาก็ต้องหาดิน หาน้ำ หาปุ๋ย แต่จะหาจากไหน ไม่บอกแล้วกัน เดี๋ยวสปอยล์หนัก ไปดูในหนังหรืออ่านหนังสือเอา แต่บอกเลยว่า... ไอเดียแหล่มมาก สุดยอดจริงๆ หลายคนสงสัย เกิดคำถามว่า... เฮ้ย ดินบนดาวอังคาร ปลูกพืชได้เหรอ เรื่องนี้ บรูซ บั๊คบี นักพฤกษศาสตร์ที่ทำงานกับนาซ่า คอนเฟิร์มเองว่าทำได้แน่นอน เพราะระหว่างเดินทางในอวกาศ นาซ่าก็ให้นักบินอวกาศทดลองเพาะปลูกพืชด้วย ซึ่งแน่หละ ว่าประสบความสำเร็จ ล่าสุด เมื่อต้นปีนี้เอง นักบินอวกาศกำลังสนุกกับกิจกรรมปลูกผักกาดหอมบนยาน!
 
พลูโตเนียมคือ...
ในหนัง วัทนี่ย์ต้องขุดเอาบางสิ่งขึ้นมาจากพื้นดิน มันเรียกว่า เครื่องผลิตไฟฟ้าด้วยความร้อนจากไอโซโทปรังสี” (radioisotope thermoelectric generator) หรือเรียกย่อๆ ว่า RTG คุณสมบัติของมันคือ เป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าอย่างง่าย ที่ได้พลังงานมาจากการสลายตัวของกัมมันตภาพรังสี ภายในอุปกรณ์ชิ้นนี้ จะมีความร้อนเกิดขึ้นการสลายตัวของวัสดุกัมมันตรังสี ซึ่งแปลงไปเป็นไฟฟ้าด้วยชุดเทอร์โมคัปเปิล (thermocouples) RTG จึงถือว่าเป็นแบตเตอรีชนิดหนึ่ง สามารถใช้เป็นแหล่งพลังงานของดาวเทียม อุปกรณ์ตรวจวัดในอวกาศ และเครื่องมือที่ไม่มีคน แต่ใช้การสั่งงานระยะไกล (งงไหม พี่ตินน่ะงง ข้ามไปๆๆ 555) ประมาณว่ามันใช้ผลิตพลังงานน่ะแหละ วัสดุหลักๆ ที่ใช้ทำ RTG คือ พลูโตเนียม ซึ่งมีคุณสมบัติทำลายตัวเอง โดยระหว่างที่ทำลาย มันจะปล่อยความร้อนออกมาเรื่อยๆ มันอันตรายและร้อนมาก แต่พระเอกของเราจำเป็นต้องใช้มัน แต่เพื่ออะไรนั้น ไปรู้กันในเรื่องพร้อมๆ กันนะ บอกเลยว่าพระเอกช่างคิดและรนหาที่ตายจริงๆ 555
 
ใครยังตามไม่ทัน ก็ไปอ่านเรื่อง RTG เพิ่มเติมที่นี่เลย 
 
ห่างจากโลกมากมาย 140 ล้านไมล์
การสื่อสารย่อมลำบากเป็นเงาตามตัว
 
การสื่อสารจากดาวอังคารถึงโลก
การส่งข้อความจากดาวอังคารถึงโลก อาจใช้เวลาราวๆ 15-20 นาที กว่าจะถึง โดยสิ่งที่ใช้ในการสื่อสารคือคลื่นวิทยุ ซึ่งเดินทางด้วยความเร็วแสง (ไม่มีคลื่นไหนเร็วกว่านี้อีกแล้ว) ดาวอังคารอยู่ห่างจากโลกราวๆ 140 ล้านไมล์ ตอนดูหนังเรื่องนี้ อาจรำคาญว่าทำไมบางทีตัวละครนิ่งไป ความจริงแล้วคือ... ข้อความยังมาไม่ถึงนั่นเอง เรื่องนี้เป็นกฎฟิสิกส์นะ คนเรียนฟิสิกส์อาจจะยิ้ม แต่พี่ตินออกจะงงเบาๆ
 
ประวัติศาสตร์ยานอวกาศของนาซ่า   
เพราะอยากกลับบ้านมาก วัทนี่ย์เลยต้องขุดค้นทุกความรู้ในความจำขึ้นมา เขาต้องพยายามทำทุกทางขอให้สื่อสารกับนาซ่าให้ได้ และความหวังของเขาอยู่ที่ แพทไฟน์เดอร์ ยานรุ่นเก่าที่ถูกส่งมาที่ดาวอังคารตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1990 มันอยู่ที่ไหนสักแห่งนี่แหละ และถ้าอยากกลับบ้าน เขาต้องไปหาให้เจอ - - มาดูความจริงดีกว่า ทุกครั้งที่สร้างยานอวกาศ นาซ่าจะสร้างยานเลียนแบบทุกรุ่นเอาไว้ด้วย เผื่อว่าเกิดปัญหาอะไร วิศวกรจะได้บอกข้อมูลต่างๆ ให้นักบินอวกาศรู้ได้ นับว่าเป็นวิธีที่น่าสนใจ
 
ดาวอังคารอันเวิ้งว้าง 
 
สรุปกันจบไปแล้ว 9 ข้อ พี่ตินบอกได้เลยว่า... เท่านี้ยังจัดว่าเบาๆ เหมือนจะมีสปอยล์ แต่จริงๆ แล้ว ไม่สปอยล์เลย มันเป็นแค่การปูเราเข้าสู่โลกของดาวอังคารเท่านั้น บอกเลยว่าดูหนังจบ อ่านหนังสือจบ เกิดความรู้สึกว่าอะไรรู้ไหม รู้สึกว่า... เรานี่ช่างเป็นสิ่งมีชีวิตที่เล็กจิ๋วเหลือเกิน และจักรวาลนี้ก็ช่างกว้างใหญ่ เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายที่เราอาจไม่เคยรู้เลย บอกเลยว่านับถือนาซ่า นับถือนักบินอวกาศทุกคนที่ยอมเสียสละเพื่อไปหาคำตอบอันยิ่งใหญ่นี้มาบอกให้คนธรรมดาอย่างเราๆ ได้รับรู้
 
"เป็นหนังที่ดีและหนังสือที่มีคุณค่า
ถ้าเขียนหนังสือสักเล่ม ขอให้ได้แบบนี้เลยนะ สู้ๆ ทุกคน"

 
ป.ล. ลืมอีกอย่าง ขอชมว่าแม็ตต์ เดม่อนเล่นหนังดีมาก สุดยอดจริงๆ เหมาะกับบทมาร์ก วัทนี่ย์มากๆ นับถือใจเลย พูดอยู่คนเดียว เล่นอยู่คนเดียว ยังทำให้เรารับรู้ถึงแรงกดดัน ความเจ็บปวด ความเครียด ความตื่นเต้น อยากรู้อยากเห็นไปกับเขาได้ สุดยอดมาก ยกนิ้วให้
 
อตินเอง
ขอบคุณข้อมูลประกอบและเครดิตภาพจาก
ภาพยนตร์ The Martians
พี่อติน
พี่อติน - Writer Editor ผู้ดูแลหมวดนักเขียนที่หลงใหลการอ่านแบบสุดๆ และไม่เคยพลาดทุกข่าวสารในวงการวรรณกรรม!

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

นับถือคนเขียน Martian 11 ต.ค. 58 00:24 น. 6
ไม่ค่อยเห็นด้วยกับชื่อบทความ น่าจะพูดว่า 9 สิ่งน่าสนใจมากกว่า เพราะวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในเรื่องมีมากกว่านั้นและลึกซึ้งกว่านั้น ซึ่งถ้าแค่ดูหนังสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในวงวิชาการด้านวิทย์/วิศวะอาจจะไม่ค่อยอิน แต่ถ้าเป็นคนในวงการคงเข้าใจกันดีว่า เรื่องนี้เทียบเคียงได้กับ Interstellar แต่เข้าถึงวิทยาศาสตร์ในรูปแบบนามธรรมได้ง่ายกว่า ถ้าให้ไล่เรียงวิทยาศาสตร์/วิศวกรรมศาสตร์ในภาพใหญ่ละก็ มันครอบคลุมตั้งแต่ เคมี ฟิสิกส์ ชีวะ วิศวะไฟฟ้ากำลัง วิศวะอิเล็ค วิศวะคอม วิศวะโยธา วิศวะโทรคมนาคม วิศวะแมคคา วิศวะโยธา ฯลฯ ยิ่งไม่ต้องนับเกร็ดความรู้ดาราศาสตร์อย่าง แพทไฟน์เดอร์ มันคือยานสำรวจที่รวมที่สุดของทุกองค์ความรู้ ณ เวลานั้นไว้ (ปี 97) ซึ่งถ้าอธิบายคงอธิบายได้เป็นหน้า เรื่องนี้เขียนครอบคลุมองค์ความรู้อย่างละนิดละหน่อยแต่ชัดเจนมาก และทุกอย่างผ่านการคำนวณจริงโดยคนเขียนเอง ดังนั้นตัวเลขทั้งหลายที่อยู่ในหนัง/หนังสือ จึงเป็นตัวเลขจริงทั้งหมด ปล. น่าเสียดายที่มุมมองด้านจิตวิทยาเขาโลกสวยเกินไป ในความเห็นส่วนตัวนี่เป็นส่วนที่ใส่ความเป็นตัวของตัวเองของนักเขียนเข้าไปอย่างเต็มที่ มาร์ค วัคนีย์จึงมีลักษณะหลุดออกจากปัจจัยสภาพแวดล้อมเกินพอสมควร... พูดให้ง่าย คือ การอยู่คนเดียวเกินสองปีในสภาพแบบนั้น คงไม่มีทางที่เขาจะคงสติได้ขนาดนั้น
0
กำลังโหลด

7 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
vicka Member 5 ต.ค. 58 22:40 น. 2

งงนิดๆกับ ไอเอิร์น(III) ออกไซด์ (ที่เคยเรียนมา มันไม่มี) พอเจอฮีมาไทต์เข้าถึงรู้ว่าที่แท้ก็

ไอร์ออน (III) ออกไซด์

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
Camelotte Member 7 ต.ค. 58 13:43 น. 4

เท่าที่ดูแล้ว.....

เอาแมลงสาบไปอยู่เถอะค่ะ ชนิดเดียวที่กันรังสีได้นี่

(เพราะดาวอังคารไม่มีชั้นบรรยากาศ รังสีจะเข้ามาได้ง่าย)

เพราะตอนนี้บนโลก.. แมลงสาบอดทนต่อรังสีต่างๆได้มาทั้งชีวิต..

แต่ทนรองเท้าแตะสุดยืนหยุ่นของคนไม่ได้.....

แป๊ะ!

2
กำลังโหลด
cute-ghost Member 8 ต.ค. 58 00:56 น. 5
เคยเห็นหนังสือในแอพเหมือนกันค่ะ. แต่ติดว่ามันเป็นปะกิดทำให้ขี้เกียจอ่านทันที. ถ้ามีโอกาสจะดูทั้งหนังสือและภาพยนตร์เลยค่ะ
0
กำลังโหลด
นับถือคนเขียน Martian 11 ต.ค. 58 00:24 น. 6
ไม่ค่อยเห็นด้วยกับชื่อบทความ น่าจะพูดว่า 9 สิ่งน่าสนใจมากกว่า เพราะวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในเรื่องมีมากกว่านั้นและลึกซึ้งกว่านั้น ซึ่งถ้าแค่ดูหนังสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในวงวิชาการด้านวิทย์/วิศวะอาจจะไม่ค่อยอิน แต่ถ้าเป็นคนในวงการคงเข้าใจกันดีว่า เรื่องนี้เทียบเคียงได้กับ Interstellar แต่เข้าถึงวิทยาศาสตร์ในรูปแบบนามธรรมได้ง่ายกว่า ถ้าให้ไล่เรียงวิทยาศาสตร์/วิศวกรรมศาสตร์ในภาพใหญ่ละก็ มันครอบคลุมตั้งแต่ เคมี ฟิสิกส์ ชีวะ วิศวะไฟฟ้ากำลัง วิศวะอิเล็ค วิศวะคอม วิศวะโยธา วิศวะโทรคมนาคม วิศวะแมคคา วิศวะโยธา ฯลฯ ยิ่งไม่ต้องนับเกร็ดความรู้ดาราศาสตร์อย่าง แพทไฟน์เดอร์ มันคือยานสำรวจที่รวมที่สุดของทุกองค์ความรู้ ณ เวลานั้นไว้ (ปี 97) ซึ่งถ้าอธิบายคงอธิบายได้เป็นหน้า เรื่องนี้เขียนครอบคลุมองค์ความรู้อย่างละนิดละหน่อยแต่ชัดเจนมาก และทุกอย่างผ่านการคำนวณจริงโดยคนเขียนเอง ดังนั้นตัวเลขทั้งหลายที่อยู่ในหนัง/หนังสือ จึงเป็นตัวเลขจริงทั้งหมด ปล. น่าเสียดายที่มุมมองด้านจิตวิทยาเขาโลกสวยเกินไป ในความเห็นส่วนตัวนี่เป็นส่วนที่ใส่ความเป็นตัวของตัวเองของนักเขียนเข้าไปอย่างเต็มที่ มาร์ค วัคนีย์จึงมีลักษณะหลุดออกจากปัจจัยสภาพแวดล้อมเกินพอสมควร... พูดให้ง่าย คือ การอยู่คนเดียวเกินสองปีในสภาพแบบนั้น คงไม่มีทางที่เขาจะคงสติได้ขนาดนั้น
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด