คลังความรู้เพื่อเตรียมตัว
เป็นนักเขียนนิยายแฟนตาซี

 

โดยประดับเกียรติ ตุมประธาน (บก. โป่ง)
 

เมื่อต้องวิจารณ์การเปิดเรื่องนวนิยายในคลินิกนักเขียน ผมคิดถึงขึ้นมาทันทีเลยว่า ถ้าเริ่มต้นที่การวิจารณ์ในระดับสูงเลยนั้นคงไม่ดีแน่ เพราะน้องๆหลายคนอาจมีความรู้พื้นฐานน้อย ดังนั้นผมจึงตัดสินใจเสนอทางเว็บเด็กดีที่จะขอปูพื้นฐานการการเตรียมตัวก่อนไปถึงการเปิดเรื่องเสียก่อน เพราะน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า
 
โดยเนื้อหาต่างๆ จะเป็นลักษณะการคุยอย่างเป็นกันเอง โดยเริ่มตั้งแต่ การวางพล็อต การสร้างตัวละคร การเตรียมตัวก่อนเขียน การให้เทคนิคบางอย่างที่จำเป็นในการเขียนนิยาย เช่น การค้นหาว๊อยซ์ การสร้างสไตล์ เทคนิคสั้นๆการเปิดเรื่อง หรือการเขียนบรรยายฉาก บรรยายฉาก-ตัวละคร-ความคิดคำนึง การสร้างแบบสอบถามตัวละคร การตบพลอต และเทคนิคการสร้างบรรณาธิการส่วนตัว เป็นต้น และเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ผมจึงขอยกตัวอย่างการทำงานทั้งนักเขียนไทย นักเขียนต่างประเทศมาเล่าให้ฟังด้วย

เนื้อหาทั้งหมดจะมีการทยอยนำเสนอเป็นตอนๆนะครับ และหากท่านมีข้อสงสัยเพิ่มเติมนอกจากนี้ ท่านสามารถส่งคำถามมาที่ karaboon.editor@gmail.com  แล้วผมจะพยายามหาคำตอบให้ท่านครับ
 
ปล.เนื่องจากผมไม่ได้เรียนโดยตรงมา การเขียนทั้งหมดอาศัยประสบการณ์แบบครูพักลักจำเท่านั้น หากท่านต้องการข้อมูลในเชิงวิชาการ หรือทฤษฏี...อาจทำให้ท่านผิดหวังได้ จึงขออภัย มา ณ ที่นี้ด้วย
 

 

เกริ่น - - การเตรียมตัว... ก่อนไปถึงการเปิดเรื่อง


"เปิดเรื่องไม่ยากหรอก
แต่เปิดได้ไม่ดี ไม่สนุกต่างหากที่เป็นปัญหา"
 

 
การเปิดเรื่องนวนิยายไม่ว่าแนวใดก็ตาม พบว่ากว่าครึ่งของนักเขียนใหม่-นักเขียนฝึกหัด ค่อนข้างจะเป็นเรื่องง่าย นั่นเป็นเพราะพวกเขามีความตื่นเต้นที่จะได้เขียนในสิ่งที่คิด สิ่งที่ฝัน สิ่งที่ค้างคาใจ และได้ลงมือทำสิ่งใหม่ ๆ แต่ขณะเดียวกันจากการพูดคุยกับนักเขียนมืออาชีพที่ทำงานมาสักพักใหญ่แล้ว การเปิดเรื่องใหม่สำหรับพวกเขานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ว่าจะมีความตื่นเต้นเช่นเดียวกัน แต่พวกเขาเหล่านั้นก็มักจะมีความกังวลเป็นอย่างมาก ซึ่งทั้งหมดเกิดจากความตั้งใจที่มีสูงและความคาดหวังจากนักอ่านหรือแฟนคลับ
 
กว่าสิบปีที่ผมทำหน้าที่บรรณาธิการคัดสรรต้นฉบับนวนิยายเพื่อตีพิมพ์ ซึ่งต้นฉบับที่ผ่านสายตานั้น มีไม่น่าจะเกิน 5% ที่ผ่านการพิจารณาจากต้นฉบับทั้งหมดที่ส่งมาให้ ผมสังเกตว่าปัญหาการเปิดเรื่องส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากความไม่พร้อมของนักเขียนนั่นเอง แค่อ่านไม่กี่หน้าก็จับได้แล้วว่าเรื่องไหนคนเขียนมีของเยอะหรือคนไหนปัญหา

ความไม่พร้อมนี่เองที่ทำให้นักเขียนกว่า 80% ไม่สามารถเปิดเรื่องได้สนุก หรือเปิดสนุกแต่ไม่สามารถไปต่อได้ ต้องชะงักค้างกลางคัน จนเลิกล้มความคิดที่จะรังสรรค์จินตนาการต่อไป บางคนเลิกเขียนไปเลยตลอดชีวิตเลยก็มี ทั้งที่เขาเป็นคนมีความสามารถในการเล่าเรื่อง


อะไรคือความไม่พร้อมซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ผมพูดถึง?        
 

ความไม่พร้อมในการเปิดเรื่อง หรือเขียนให้จบลุล่วงนั้น มีมากมายหลายอย่างมาก ถ้าคุณเป็นนักอ่านนวนิยายในอินเตอร์เนตด้วยแล้ว คุณจะรู้ดีว่ามันมีเรื่องที่เขียนไม่จบมากแค่ไหน บางเรื่องกำลังอ่านสนุก ๆ วันดีคืนดีนักเขียนก็หายเข้ากลีบเมฆ ตามตัวไม่พบเสียแล้ว ซึ่งผมพอจะสรุปได้ว่าปัญหาที่ใหญ่สุด 3 ข้อนั้นเกิดจาก
 

ลิ้นชักความทรงจำมีของให้ใช้น้อย

ผมเคยดูภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่องหนึ่ง ตัวละครเอกเป็นนักเขียนนวนิยายชื่อดัง ในฉากหนึ่งของเรื่องนักข่าวยิงคำถามกับเธอว่า อะไรคือสิ่งเธอหวาดกลัวที่สุดในชีวิต เธอให้คำตอบกับนักข่าวว่า การเป็นโรคความจำเสื่อม  เพราะอาชีพของเธอนั้นแม้จะเป็นงานที่เต็มไปด้วยจินตนาการอันกว้างไกล แต่จินตนาการเหล่านั้นล้วนพัฒนาและต่อยอดมาจากความทรงจำแทบทั้งสิ้น หากเธอสูญเสียลิ้นชักความทรงจำไป เธอก็จะไม่สามารถทำงานเขียนที่เธอรักได้อีก
 
ดังนั้นนักเขียนต้องมีเรื่องราวเก็บไว้ลิ้นชักความทรงจำที่มากและหลากหลายแขนง แม้จะเคยมีคนพูดอยู่บ่อยครั้งว่า จงโผบินอย่างอิสระเมื่อลงมือเขียน  เขียนอย่างใจคิดไม่ต้องสนใจอะไรทั้งสิ้น นอกจากทำให้ตัวเองมีความสุข แต่ถ้านักเขียนคนนั้นขาดองค์ความรู้ แรงจะบินให้สูงก็ยากที่เป็นไปได้ หรือพลาดท่ากลายเป็นนกปีกหักไปเลย เพราะนักเขียนนวนิยายจะต้องใช้ศาสตร์และศิลปะมากมายในการทำงาน เนื่องจากนวนิยายคือละครของสิ่งมีชีวิต (ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นมนุษย์เสมอไป สัตว์ แมลงหรือเอเลี่ยนก็ย่อมได้) นักเขียนที่มีความรู้หรือเรื่องราวเก็บในลิ้นชักความทรงจำมากย่อมได้เปรียบ ซึ่งลิ้นชักความทรงจำนักเขียนอาจหามาจากสิ่งต่าง ๆ มากมาย เช่น  การอ่าน การฟัง การชม ประสบการณ์ที่พบเจอในชีวิต เป็นต้น แต่ผมพบว่าลิ้นชักความทรงจำที่สำคัญสำหรับการดึงมาใช้ในการทำงานมากที่สุดก็คือ การอ่านนวนิยายในรูปแบบที่นักเขียนผู้นั้นสนใจ เรียกว่าถ้าสนใจจะเขียนนิยายรักให้ดีก็ควรอ่านนิยายรักมาก ๆ ถ้าสนใจจะเขียนนวนิยายแฟนตาซีก็อ่านนวนิยายแฟนตาซีมาก ๆ

เคยมีคนบอกว่า “ถ้าคุณอยากเป็นนักเขียนนิยายที่โดดเด่นในระยะยาว” คุณต้องอ่านนิยายอย่างน้อยหนึ่งร้อยเล่ม แต่ถ้าคุณอ่านน้อยกว่านั้น ห้าเล่มแรกของคุณหากประสบผลสำเร็จ...มันคือความบังเอิญหรือฟลุ๊คเท่านั้น และหลังจากนั้นความโดดเด่นในงานของคุณจะถดถอยลงเรื่อยๆ


เขียนตามอารมณ์ ขาดการวางแผนที่ดี

นักเขียนหลายคนนั้น (รวมทั้งผมที่เคยเป็นเหมือนกัน) มักจะเป็นมนุษย์ช่างมโน เรียกว่าอะไรผ่านเข้ามาในชีวิตแม้แต่นิดเดียวเราก็จะคิดเป็นเรื่องเป็นราวกันได้ทันที (ซึ่งไม่ใช่สิ่งผิด เพราะถ้าเราไม่ใช่มนุษย์ช่างมโน เราก็คงไม่คิดจะเป็นนักเขียน) และเมื่อคิดแล้ว อารมณ์การเขียนมันก็จะมาอย่างด่วนจี๋ อยากลงมือทำงานทันที แม้ว่าหลายครั้งเราจะมีเรื่องที่ยังเขียนค้างอยู่ ซึ่งทำให้หลายคนมีเรื่องดองค้างไว้เป็นโหล

หลายคนเปิดเรื่องใหม่ทันทีโดยไม่มีการวางแผนอะไรเลย ด้นสดกันไปเรื่อย ๆ แต่พอถึงจุดหนึ่ง การขาดข้อมูล  การขาดความพร้อม ขาดการวางแผน รวมทั้งมีเรื่องใหม่มาให้เราตื่นเต้นแทน เราก็จะเขียนต่อไม่ได้ และสุดท้ายก็หยุดแล้วโยนเรื่องราวที่ไม่ได้วางแผนงานนั้น ๆ ใส่โหลดองไปเสียเฉย ๆ


อยากดัง อยากประสบความสำเร็จเร็วเกินไป
พอไม่ได้อย่างใจก็อารมณ์เสีย

อันนี้ไม่ขออธิบายมาก เพราะมันเป็นเรื่องของกิเลสมนุษย์ คงได้แค่แนะนำว่า “ใจเย็น ๆ นะโยม” ความสำเร็จแค่ชั่วข้ามคืนนั้นมันไม่จีรังยั่งยืนเลย สุภาษิตไทยที่ว่า “ฝนทั่งให้เป็นเข็ม” มันยังใช้ได้ดีอยู่
             


                  

การจัดเตรียม จัดหา
ลิ้นชักความทรงจำของนักเขียน
#1
 

เริ่มต้นที่การอ่าน “เลิศสุด”


การเปิดคลาสสอนเขียนนวนิยายของผมในแต่ละเดือน แทบทุกครั้งผมจะตั้งคำถามกับนักเรียนในชั้นเรียนว่าคุณอ่านนิยายมาแล้วมากน้อยแค่ไหน และคุณชอบนิยายเรื่องอะไรมากที่สุด
 
คนไหนที่อ่านมาน้อย ผมจะรีบให้การบ้านโดยการให้เขาไปหานิยายมาอ่าน เพราะว่าโอกาสที่เขาเหล่านั้นจะประสบความสำเร็จในการเขียนนิยายเป็นไปได้น้อยมาก บางคนบอกผมว่าคงไม่จำเป็นหรอก เพราะดูภาพยนตร์ อ่านบทละคร อ่านการ์ตูนมามากแล้วก็น่าจะเขียนได้สบาย ซึ่งผมก็จะยืนยันทุกครั้งเช่นกันว่ามันต่างกัน

เพราะนวนิยายไม่ใช่ภาพยนตร์ ไม่ใช่บทละคร ไม่ใช่การ์ตูน ไม่ใช่แม้กระทั่งเรื่องสั้นที่มันแทบจะไม่มีอะไรต่างกันเลย แต่นวนิยายมันคือรูปแบบการเล่าเรื่องที่มีความเป็นปัจเจกของมันเอง การเขียนการเล่าเรื่อง จังหวะต่าง ๆ มันต่างกัน

การอ่านมันก็คือ 'ครูพักลักจำ' นั่นเอง เหมือนธรรมชาติของเด็กที่ฝึกพูดฝึกเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เมื่อเราอ่านเราจะเห็นวิธีการเขียน จังหวะการเขียน เห็นเทคนิคที่นักเขียนใช้ และสิ่งละอันพันละน้อยซึ่งอยู่ระหว่างบรรทัด และยิ่งเราได้อ่านนิยายชั้นดี มันก็เปรียบกับว่าเราได้ครูที่ดีที่สุดมาคนหนึ่ง (บางคนอ่านมากแต่ไม่เคยอ่านนิยายชั้นดีเลย เอาแต่ฟินจิกหมอนอย่างเดียวมันก็ไปได้รอดยากเหมือนกัน)
 

การเลือกหนังสือที่ตรงกับประเภทนวนิยาย
ที่เราจะเขียนก็สำคัญมากเช่นกัน

แม้ว่าการเขียนนวนิยายจะเป็นการรวมแทบทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นในโลกและนอกโลก ทั้งความคิด เรื่องราว ศิลปะ ดนตรี ศาสตร์ต่าง ๆ แต่สำหรับการเลือกหนังสือหรือบางครั้งการเลือกเสพสิ่งที่ใกล้เคียงกันก็ยังมีความจำเป็นอย่างมาก

นิยายในโลกนี้แบ่งออกมาเป็นแนวต่าง ๆ มากมาย เมื่อก่อนก็มีเรียกกันไม่กี่อย่าง แต่ปัจจุบันมีการบวกโน่นผสมนี่ หรือแยกประเภทออกไปเพื่อให้ชัดเจนมากขึ้น แทบไม่ต่างจากกับแนวเพลงที่เกิดขึ้นบนโลก (บทถัดไปๆผมจะแนะนำแต่ละแนวที่นิยมกันว่ามีอะไรบ้าง)

อย่างเช่นแนวแฟนตาซีซึ่งนักอ่านเขาแยกแนวกันเองอย่างในเมืองไทย มันยังแบ่งออกไปหลายอย่างเช่น แนวผจญภัยดั้งเดิม แนวออนไลน์-แนวโรงเรียน แนวต่างโลก แนวเกิดใหม่ แนวโลกคู่ขนาน แนวฮีโร่ ฯ เรียกว่าสารพัดแบบแล้วแต่เขาจะเรียกกันเลยทีเดียว บางครั้งก็นำเอานวนิยายวิทยาศาสตร์มาปะปนจนเป็นพวกเดียวกันก็มี

ถ้าคุณใคร่จะเขียนนิยายแฟนตาซี แต่ไม่เคยอ่านนิยายแฟนตาซี หรือตำนานต่าง ๆ ที่นักเขียนแฟนตาซีนิยมหยิบมาใช้ เช่น ตำนานกรีก-โรมัน ตำนานไวกิ้ง ตำนานอียิปต์โบราณฯ  วัน ๆ เอาแต่อ่านนิยายโรมานซ์ แล้วคุณจะเอาบางสิ่งที่มันเฉพาะลงไปมาอ่านได้อย่างไร

ขออนุญาตยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้นนะครับ
 
เมื่อเริ่มต้นเปิด สนพ.เมจิค ที่จะทำนิยายแฟนตาซี ผมวางตัวเองไว้เป็นบรรณาธิการคัดสรรต้นฉบับ และผมติดต่อบรรณาธิการที่เชี่ยวชาญงานด้านนวนิยายมาเป็นบรรณาธิการต้นฉบับให้ คำตอบที่ผมได้รับคือทุกคนขอไม่รับงานเพราะไม่เข้าใจงานบรรณาธิการต้นฉบับนวนิยายแฟนตาซี บางคนถึงกับออกปากว่าตรง ๆ เลยว่าไม่เข้าใจโลกแฟนตาซีถึงแม้ว่าจะดูภาพยนตร์มามากตั้งแต่เด็ก  เพราะในภาพยนตร์มันไม่สามารถให้รายละเอียดบางอย่างเช่นหนังสือได้
 
ผมต้องทำงานหนัก เปลี่ยนตัวบรรณาธิการหลายคนทีเดียวกว่าจะได้คนที่มาทำหน้าที่ในปัจจุบันให้ เพราะเมื่อส่งต้นฉบับไปแล้ว เขาไม่มีความรู้หรือศัพท์ที่เฉพาะด้านที่ปรากฏอยู่ในเรื่อง ทั้งที่ศัพท์หรือความรู้เหล่านั้นเป็นเรื่องพื้นฐาน หรือจิ๊บมากสำหรับคอนิยายแฟนตาซี และ google ก็ช่วยเขาได้น้อยมาก หรือยิ่งค้นมากก็ยิ่งอยากผูกคอตายไปเลย
 
แม้ว่าผมจะพยายามอธิบายให้เขาฟังว่า มานา กิลด์วอร์ เซอร์แวนท์ ซันมอน เรดบอส คืออะไร รวมทั้งหาสิ่งมีชีวิตหรือสิ่งละอันพันอย่างที่ปรากฏอยู่ในนิยายแฟนตาซีที่คุ้นเคยกันดีอย่าง มังกร  พ่อมดแม่มด คนแคระ ยักษ์ เงือก (ในเกมออนไลน์นิยมนำมาใช้กันมาก ใครเล่นเกมตัวละครเหล่านี้จะคุ้นเคยมาก)ฯลฯ มาแนะนำให้รู้จัก แต่พวกเขาก็ยังถอดใจไปตาม ๆ กัน ยิ่งเมื่อลงรายละเอียดไป เช่นมังกรแต่ละชนิดนั้นเป็นอย่างไร มีถิ่นกำเนิดจากอะไร แค่เพียงเล่าว่ามังกรน้ำ มังกรไฟ มังกรดิน แต่ละคนก็ทำหน้าขมเสียแล้ว ผมก็เลยตัดสินใจไม่เล่าต่อว่านอกจากมังกรทั้งสามอย่างที่ว่าแล้ว มันมีรายชนิดแยกย่อยอีกเยอะมาก และคราเดียวกันนี้เองที่ผมหยุดความตั้งใจจะเล่าเรื่องเงือกที่แบ่งเป็นหลายสายพันธุ์หลายชนิดไปในบัดดล
 
เพราะรู้ว่าคงไปกันไม่ไหวกันจริง ๆ พวกเขาคงเหมาะกับการอ่านหรือดูภาพยนตร์เท่านั้น แต่ให้มาทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการต้นฉบับที่ต้องมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องคงเป็นเรื่องยากมาก
 
เห็นไหม...แค่เป็นบรรณาธิการยังยากเสียแล้ว การที่จะเป็นนักเขียนนิยายแฟนตาซี ถ้าไม่อ่านมามากย่อมลำบากแน่ เพราะในฐานะนักเขียนเราจะต้องเลือกสิ่งที่มีอยู่มากมายมาใช้อย่างเหมาะสมในนวนิยายแต่ละเรื่อง แถมบางเรื่องเราอาจจะต้องเจาะลึกแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่งก็เป็นไปได้
 
ดังนั้นนักเขียนจึงควรมีความรู้อย่างลึกซึ้งในแนวเรื่องที่ตัวเองเขียน...ด้วยประการฉะนี้
 
ครั้งต่อไป ผมจะเริ่มลงรายละเอียด
และนำเทคนิคต่างๆมาแนะนำให้รู้จักแบบหอมปากหอมคอกันนะครับ...

 
 
พี่อติน
พี่อติน - Writer Editor ผู้ดูแลหมวดนักเขียนที่หลงใหลการอ่านแบบสุดๆ และไม่เคยพลาดทุกข่าวสารในวงการวรรณกรรม!

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด
blackmail1 Member 13 พ.ค. 59 15:38 น. 5

บทความนี้เขียนได้ดีเลยนะครับ  อ่านแล้วรู้สึกตื่นเต้นอยากกลับไปเขียนนิยายอีกครั้งจริงๆ  

แต่ก็กลัวจะเป็นอย่างที่บทความว่าไว้  

แค่เขียนตามอารมณ์ขาดการวางแผน มันตันไวจริงๆ  ถึงจะมีความสนใจในด้านตำนานเทพเจ้าของกรีกและจีน แต่เมื่อนำมาเขียนกลับใช้ข้อมูลทั้งหมดออกไปโดยไม่ได้วางแผน

ทำให้บทต่อๆไปไร้ซึ่งตัวละครที่จะเข้ามามีบทบาท  

สิ่งนั้นทำให้ผมตระหนักได้ว่า

[แม้ความรู้จะสำคัญ แต่การวางแผนในการใช้ความรู้นั้น สำคัญกว่า] 

0
กำลังโหลด

15 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
นริน 13 พ.ค. 59 14:35 น. 2
เย่..คนแรก >.<ขำ หนังสืออ้างอิงตำนานที่แปลเป็นไทยก็น้อยมากค่ะ บางทีต้องค้นหาเป็นภาษาอังกฤษ กว่าจะได้มาซึ่งสัตว์ในโลกแฟนตาซีต่างๆ แต่ว่า ในโลกหิมพานต์นี่ มีของ ส.พลายน้อย ช่วยได้มากเลยค่ะ เซ็ต สยามปรณัม มีตั้งแต่ พืช สัตว์ อมนุษย์ เทวดา
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
Gaster [Just do it] Member 13 พ.ค. 59 15:26 น. 4

"นักเขียน จึงควรมีความรู้อย่างลึกซึ้งในแนวที่เขียน" ได้ยินคำนี้แล้วผมนี่ถึงกับขนลุกเลยครับ

ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าต้องใช้เวลาเยอะขนาดนี้ สงสัยต่อไป...เราคงต้องได้เวลาไปหาหนังสือมาอ่านมาก ๆ แล้วล่ะ เสริมความรู้ไปในตัวด้วย 

0
กำลังโหลด
blackmail1 Member 13 พ.ค. 59 15:38 น. 5

บทความนี้เขียนได้ดีเลยนะครับ  อ่านแล้วรู้สึกตื่นเต้นอยากกลับไปเขียนนิยายอีกครั้งจริงๆ  

แต่ก็กลัวจะเป็นอย่างที่บทความว่าไว้  

แค่เขียนตามอารมณ์ขาดการวางแผน มันตันไวจริงๆ  ถึงจะมีความสนใจในด้านตำนานเทพเจ้าของกรีกและจีน แต่เมื่อนำมาเขียนกลับใช้ข้อมูลทั้งหมดออกไปโดยไม่ได้วางแผน

ทำให้บทต่อๆไปไร้ซึ่งตัวละครที่จะเข้ามามีบทบาท  

สิ่งนั้นทำให้ผมตระหนักได้ว่า

[แม้ความรู้จะสำคัญ แต่การวางแผนในการใช้ความรู้นั้น สำคัญกว่า] 

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยเจ้าของ

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
Ks Ton 11 ส.ค. 59 03:43 น. 10
ขอบคุณครับ ได้ความรู้มาก หลังจากอ่านบทความนี้จบ ผมกลับยังไม่อยากเขียน แต่อยากหาเวลาอ่านหนังสือนิยายแนวที่ชอบให้มากๆ เวลาไปอบรมการเขียน วิทยากรหลายท่านชอบพูดว่าให้อ่านหนังสือมากๆ และอ่านทุกแนว อย่าจำกัดเพียงแนวที่ตนเองชอบ ผมเห็นด้วยถ้าหากคนนั้นมีเวลาในชีวิตมากพอ แต่สำหรับคนที่ต้องทำอย่างอื่นในชีวิตด้วย ผมเห็นด้วยกับคุณโป่งที่ว่าต้องจำกัดการอ่านหนังสือแนวตนเองไว้เพื่อให้เชี่ยวชาญครับ ขอบคุณอีกครั้งจากใจครับ
0
กำลังโหลด
piya142 Member 12 พ.ค. 60 00:08 น. 11

ขอคุณมากคะ กำลังเขียนนิยยายรักแฟนตาซี ลงเด็กดีพอดีเลยค่ะ เป็นเรื่องแรกที่เขียนด้วย เป็นข้อมูลที่ดีมาเลยค่ะ ...เขียนได้ 9 ตอนนแล้วค่ะ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด