7 STEPS เขียนนิยายวายให้ปัง!
ด้วยเคล็ดลับจาก Aelisma / Avery Pie 


สวัสดีค่ะน้องๆ นักอ่านักเขียนชาวเด็กดีทุกคน เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมากระแสนิยายวายในบ้านเราถือว่ามาแรงสุดๆ เลยก็ว่าได้ พี่แนนนี่เพนเองก็ชอบอ่านนิยายวายและแฟนฟิคเอามากๆ เข้าใจดีเลยว่าเรือแล่น เรือผี เรือจมของเหล่าชิปเปอร์นี่มันเป็นยังไง ทำไมถึงมีเหล่านักอ่านนักเขียนจำนวนมากให้ความสนใจนิยายวายมากขึ้นเรื่อยๆ วันนี้พี่เลยนำเรื่องราวที่น่าสนใจมากๆ มาบอกต่อให้กับน้องๆ ที่อยากเป็นนักเขียน หรือเป็นนักเขียนอยู่แล้วแต่อยากประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น ด้วยการรวบรวมเคล็ด(ไม่)ลับในการเขียนนิยายจากการสัมภาษณ์ เอล Aelisma / Avery Pie นักเขียนสาวเจ้าของผลงานเรื่อง "พี่ครับนั่นร่มผม" นิยายวายกระแสดีที่กำลังจะกลายเป็นซีรีส์ในปี 2019 นี้ มาให้น้องๆ ที่อยากเขียนนิยายวายให้ปัง ได้เรียนรู้แง่คิดและมุมมองในการเขียนนิยายของเอล ซึ่งหากใครลองทำตามได้ พี่เชื่อว่านิยายของเราต้องปังขึ้นมาได้แน่นอน!

Clip

7 STEPS เขียนนิยายวายให้ปัง! ด้วยเคล็ดลับจาก Aelisma / Avery Pie

STEP 1 - เช็คตัวเองก่อนว่ามองอาชีพนักเขียนและนิยายที่เขียนเป็นยังไง

มาดูกันก่อนเลยว่าเอลมองว่านักเขียนที่ดีนั้นเป็นยังไง 

นักเขียนที่ดีอย่างแรกเลยคือเราต้องมีระเบียบวินัย เราต้องอัปนิยายทุกครั้งที่เราว่าง หรือไม่ทุกที่เราอยากอัป สองคือเราต้องวางตัวดี การตอบเมนต์แบบคลับเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เอลมีแฟนคลับมากขึ้น ที่ทำให้เราได้ใกล้ชิดกับนักอ่านมากขึ้น ส่วนข้อที่สาม นิยายที่ดีคือมีภาษาและพล็อตเรื่องที่ดี เมื่อเราวางตรงนี้แน่น นิยายเราก็จะมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นค่ะ 

การเขียนนิยายให้อะไรเราบ้าง

อย่างแรกเลยคือให้ความสุข จุดเริ่มต้นของนักเขียนทุกคนคือการอยากเขียนเพื่อปรับเปลี่ยนฉากที่เราไม่ชอบ เขียนในแบบที่เราอยากเขียน อยากให้มันเกิดขึ้นจริงๆ เพราะงั้นการเป็นนักเขียนมันเป็นยิ่งกว่าความสุขสำหรับเอล เพราะว่าทันที่เอลเขียนเอลรู้สึกว่าเอลเกิดมาเพื่อเป็นนักเขียนเลยค่ะ 

มีนิยายหลายแนว ทำไมถึงสนใจนิยายวาย

นิยายวายมีเสน่ห์ของมันในความที่เป็นผู้ชาย จริงๆ นิยายวายแบ่งออกเป็นสองโหมดคือชายชาย กับหญิงหญิง ซึ่งเอลเนี่ยจะไปอยู่ทางชายชายมากกว่า เอลรู้สึกว่าเราสามารถเขียนออกมาในแบบที่เราต้องการได้ อย่างนอมอลบางครั้งเรารู้สึกว่ามันยังมีบางอย่างที่เราเขียนแล้วติดขัดอยู่ แต่วายเราเหมือนเราเขียนอะไรก็ได้ในความเป็นผู้ชายที่เขาตอบโจทย์เราค่ะ 

ในฐานะที่เป็นนักเขียนวาย เอลคิดยังไงกับเรื่องที่มีคนบอกว่านิยายวายมักมาคู่กับฉาก nc 

สำหรับเอลเอ็นซี ไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น เอ็นซีก็คือฉากๆ หนึ่ง อาจจะมีก็ได้ไม่มีก็ได้ ถ้ามันไม่ใช่คอนเซ็ปต์เรื่อง แต่ว่านิยายที่บรรยายด้วยฉากเอ็นซีเยอะก็ไม่ได้แปลว่าไม่ใช่นิยายที่ดี เพียงแค่ว่าเมนหลักของเรื่องนั้นเขาต้องการจะขายอะไร ต้องการจะสื่ออะไร แค่นั้นเองค่ะ 

STEP 2 - การวางโครงเรื่อง / พล็อต

ก่อนเริ่มเขียนนิยายสักเรื่อง เอลคิดว่าพล็อตเรื่องสำคัญไหม

พล็อตเรื่องสำคัญเพราะมันเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการเขียนนิยายเรื่องหนึ่ง ก่อนที่คุณจะเขียนนิยาย คุณต้องรู้ว่าคุณจะเขียนอะไร ความรักจะเป็นยังไง ผลตอบรับจะเป็นยังไง อะไรคือจุดขัดแย้งของมัน อันนี้คือส่วนที่สำคัญมากๆ สำหรับการเขียนนิยายเรื่องหนึ่ง 

มีวิธีการวางพล็อตหรือโครงเรื่องยังไง

อย่างแรกเลยเอลแบ่งการวางพล็อตเรื่องเป็นสองแบบ หนึ่ง แบบส่งสำนักพิมพ์ กับสอง แบบเขียนตามใจฉัน ถ้าส่งสำนักพิมพ์เนี่ยเอลจะวางตั้งแแต่ต้นจนจบ คือวางแม้กระทั่งตอนๆ หนึ่งเอลก็ยังกำหนดว่ามันจะพูดอะไรกัน เขาจะพูดอะไรกัน บทพูดจะเป็นยังไง รายละเอียดยิบย่อย เพราะว่าการส่งสำนักพิมพ์ทุกที่มีมาตรฐาน เราก็ควรจะตอบโจทย์มาตรฐานที่เขาตั้งไว้ ส่วนในกรณีของการเขียนตามใจฉันเนี่ย เอลจะเขียนแค่ต้น กลาง จบ เขียนว่าเขาจะทำอะไรกัน เขาจะรักกันยังไง เขามีผลลัพธ์ออกมาเป็นยังไง เอลขอปัจจัยแค่สามอย่างแค่นี้ มันได้ละนิยายเรื่องหนึ่งสำหรับการเขียนตามใจฉัน แล้วที่เหลือเราปล่อยให้ตัวละครเล่นกันไปเอง 

ตัวละครเล่นกันไปเองเป็นยังไงเอ่ย 

ตัวละครที่เราวางไว้มีนิสัยที่แตกต่างกันทุกตัว อยู่ที่เราวาง เวลาเราเขียนมันจะมีจังหวะหนึ่งที่เราเขียนตามใจฉันแล้วเรารู้สึกว่า เห้ย ถ้าเราเป็นตัวละครนี้เราจะไม่ทำแบบนี้ การให้ตัวละครเล่นเองหมายถึงคิดตามตัวละครคิด พูดอย่างตัวละครพูด ทำยังไงก็ได้ให้เราเป็นตัวละครตัวนั้น แล้วเราจะเข้าใจว่าการปล่อยให้ตัวละครเล่นเองเป็นยังไง 

มันก็คล้ายกับการด้นสดใช่ไหม? มีนักเขียนหลายคนตกม้าตายเพราะด้นสด แต่ของเอลกลับปังขึ้นมา มีเคล็ดลับอะไรไหมคะ

การด้นสดจริงๆ อาจจะไม่ใช่นิสัยที่ดีเท่าไหร่ การด้นสดเนี่ยเราไม่รู้เลยว่าข้างหน้าเราจะเจออะไร เราอาจจะหยุดชะงักเพราะเราเขียนไม่ได้ เราอาจจะลืมเนื้อเรื่อง สำหรับเอล เอลรู้สึกว่าเอลชอบการด้นสดเพราะว่ามันทำให้เนื้อเรื่องมันสนุก เราเปลี่ยนความคิดได้ในแต่ละวัน ตัวละครก็เปลี่ยนความคิดได้ในแต่ละฉากที่เราใส่เข้าไป เพราะงั้นการด้นสดมันไม่ใช่เรื่องแย่นะคะ มันอยู่ที่ว่าคุณจะด้นยังไงให้มันมีคุณภาพและเป็นไปอย่างที่สมควรจะเป็น ไม่ใช่ว่าด้นเพราะเราคิดไม่ออก ถ้าคิดไม่ออก หยุดก่อนอย่าเพิ่งด้น ด้นใช้กับคนที่วางเรื่องทั้งหมดไว้ในหัวแล้ว และคุณพร้อมที่เขียนมันออกมา 

แล้วเขียนแบบด้นสดยังไงไม่ให้ออกทะเล

มันค่อนข้างจะเป็นคำถามที่ยาก แทนที่จะถามว่าด้นยังไงไม่ให้ออกนอกทะเล จะสอนว่าเมื่อออกทะเลแล้วจะพาเรือกลับเข้าฝั่งยังไง พอคุณออกทะเลไปทำยังไงก็ได้ให้นักอ่านไม่รู้ว่าคุณกำลังออกทะเล สำหรับเอลคือเอลจะเปิดปมใหม่ แล้วตีกลับเข้าหาปมเก่า ในระหว่างปมเก่าที่เราเขียนไว้มันต้องมีรายละเอียดยิบย่อยที่เราใส่เข้าไป และสามารถพลิกมากับปมใหม่ได้ มันจะเป็นอีกวิธีที่ช่วยให้นิยายเราสนุกขึ้น

มีเคล็ดลับวางปมเรื่องยังไง

เอาจริงๆ คือแล้วแต่วันที่เราคิดได้ว่าวันนี้เราอาจจะวางปมฆ่าตัวละคร บางทีเราอาจจะวางปมให้เขามีความสุข ให้เขาทะเลาะกับใคร ปมในที่นี้เราต้องมองก่อนว่าเมื่อเราเขียนมาแล้วอะไรที่มันจะทำให้มันเป็นจุดขัดแย้งของเราได้ เพราะถ้าเรื่องมันไม่มีปมเลย เอลคิดว่ามันไม่สนุก 

กำหนดเดดไลน์ไว้ชัดเจนเลยไหมคะ 

ในกรณีของส่งสำนักพิมพ์เอลจะกำหนดเดดไลน์ไว้ชัดเจนเลยค่ะ อีกอาทิตย์หนึ่งส่ง อีกอาทิตย์หนึ่งต้องเสร็จ แต่ถ้าเขียนตามใจฉัน เอลเป็นคนที่อัปนิยายทุกวัน บางครั้งก็วันละสองรอบ เพราะงั้นก็จะไม่ได้กำหนดเดดไลน์ คือ ให้ตัวละครพานิยายเราไปจนถึงจุดที่ว่ามันถึงเวลาอิ่มตัวของมันแล้ว 

แล้วใช้เวลาเขียนนิยายแต่ละเรื่องนานแค่ไหนคะ มีกำหนดเวลาไหม

ถ้าส่งสำนักพิมพ์เอลอาจจะดูเหมือนไม่ใช่คนนะคะ เพราะเอลสามารถเขียน 25 ตอนภายใน 1 อาทิตย์จบ เอลสามารถเขียนวันละ 40-60 หน้าได้ คือเอลเป็นคนที่อยู่บ้าน เป็นคนติดบ้านมากๆ พอมันมีที่เงียบๆ แล้วเรามีความสุขที่ได้เขียน มันสบายเรา เราก็จะเขียนของเราไปเรื่อยๆ พักกินข้าวทำอะไรเรื่อยเปื่อย มันเป็นเหมือนเป้าหมายของเราว่าถ้าเราจบเราก็จะมีรางวัลให้ตัวเองได้

อัปทุกวันคือเขียนเก็บเอาไว้หรือเขียนสดเลย

มีทั้งแบบที่ว่าเขียนไว้ก่อน กับไม่เขียนเลย ไม่เขียนเลยคืออัปวันต่อวัน วันนั้นคิดอะไรได้เขียน แต่ต้องให้มันสัมพันธ์กับตอนก่อนหน้า เพราะว่าเมื่อวานเราก็คิดอีกแบบหนึ่ง วันนี้เราก็คิดอีกแบบหนึ่ง พรุ่งนี้เราก็จะคิดอีกแบบหนึ่ง เราจะทำยังไงให้มันเชื่อมโยงกันทั้งหมด เขาเรียกว่าจุดที่นักเขียนต้องทำให้ได้ สำหรับที่เราจะเขียนในสายด้นสดนะคะ 

STEP 3 - การสร้างตัวละคร

นักอ่านชื่นชอบตัวละครของเอลมากๆ มีทริคยังไงให้คนอ่านรักตัวละครของเราคะ

อยากเจอคนแบบไหนก็เขียนตัวละครให้เป็นแบบนั้นค่ะ ง่ายๆ เลย แล้วคือทุกตัวละครมันจะมีความเป็นเรา เราลองสังเกตได้เลยว่าความคิดตัวละครมันจะมีจุดหนึ่งที่มันเชื่อมโยงกับเรา นั่นแหละ คือทำให้ตัวละครและเราส่งผ่านไปถึงนักอ่านให้ได้ 

แล้วก่อนสร้างตัวละครสักเรื่อง เอลรู้ได้ยังไงว่านักอ่านจะรักตัวละครตัวนี้ 

เรารักรึเปล่า? คำถามสั้นๆ เลย ถ้าเราสร้างตัวละครนี้มาเราจะรักเขาไหม ถ้าเรารักเราสื่อออกไปยังไงคนอ่านก็รักค่ะ 

สำหรับเอล สิ่งสำคัญสำหรับการสร้างตัวละครคืออะไร 

ปมข้างหลังการสืบเนื่องมา เพราะว่าภูมิหลังของตัวละครเราสามารถเอามาเล่นในฉากหน้าได้ มนุษย์อย่างเราก็ยังมีภูมิหลังที่เราไม่ได้บอกใคร ถ้าเกิดเราสามารถเอามันมาเล่นได้ มันก็อาจจะเป็นมุมมองหนึ่งที่ทำให้คนรู้จักเรามากขึ้น 

คิดชื่อตัวละครยังไงให้คนจำได้

ชื่อตัวละครมันจะซ้ำกันเยอะมาก (ก.ไก่ล้านตัว) ในเว็บ มองง่ายๆ เลยค่ะ มองลมฟ้าอากาศ มองเก้าอี้ แม้กระทั่งดิกชันนารี คำทับศัพท์ของมันเราก็สามารถเอามาใช้เป็นชื่อของตัวละครได้เลย อยู่ที่ว่าตอนนั้นเราเขียนเกี่ยวกับอะไร และเราอยากให้มันสื่อแบบไหน อย่างตอนที่เราเขียนเรื่องพี่ครับนั่นร่มผม เวลาเราพูดคนดีเรารู้สึกแบบเออเหมือนเขากำลังพูดเรียกเรา แต่จริงๆ เขาแค่เรียกนายเอก 

ไอเดียการตั้งชื่อเรื่องล่ะ

เมนหลักเลยค่ะ เมนหลักของเรื่องคืออะไรเราเอามาตั้งตรงนั้น ส่วนพี่ครับนั่นร่มผม คีย์เวิร์ดของมันคือคำว่าร่ม เราอยากเขียนนิยายที่มันเกี่ยวกับฝน เมื่อนึกถึงฝนก็ต้องนึกถึงร่ม กลายเป็นคีย์เวิร์ดง่ายๆ ก็แค่คำพูด "พี่ครับนั่นร่มผม ถ้าขโมยผมด่านะครับ" ก็จะเป็นสโลแกนของเรื่องนี้

สำหรับเราคิดว่าตัวละครกับพล็อต อะไรสำคัญกว่ากัน

อยู่ที่ว่าคุณเป็นสายไหน ถ้าคุณเป็นสายพล็อตคุณจะวางพล็อตทั้งหมดก่อนแล้วค่อยมาเลือกตัวละคร กับสายที่เป็นตัวละครทั้งหมด มีพื้นฐานตัวละครทั้งหมด แล้วถึงมาสร้างฉากให้กลายเป็นพล็อต เอลเป็นทั้งสองแบบคือถ้ามีพล็อตมันต้องมีตัวละคร ถ้าไม่มีตัวละครมันจะไม่มีพล็อต การสร้างพวกนี้มันต้องมาคู่กัน 

STEP 4 - ภาษาและการบรรยาย

การบรรยายสำหรับเอลสำคัญไหม มีเทคนิคในการบรรยายยังไงให้นักอ่านสนุก ไม่เบื่อ

การบรรยายสำคัญมากค่ะ ถ้าบรรยายไม่รู้เรื่องนักอ่านจะเข้าไม่ถึง เราเขียนแล้วเราเข้าใจไหม คือคิดว่านักเขียนทุกคนจะมีสไตล์ในการเขียนไม่เหมือนกัน บางคนชอบบรรยายเยอะๆ บางคนชอบบรรยายน้อยๆ แต่บรรยายเยอะหรือบรรยายน้อยไม่เท่ากับว่าบรรยายแล้วเข้าใจไหม ถ้าคุณบรรยายเยอะแต่ว่าคีย์เวิร์ดมันคือแค่บรรทัดแรก ตัดออกนะคะ กับบรรยายสั้น คีย์เวิร์ดไม่มีบรรยายต่อไปนะคะ คือทำยังไงก็ได้ให้คนเข้าใจ เราเข้าใจคนอ่านต้องเข้าใจ ซึ่งทริคง่ายๆ ในการบรรยายให้เข้าใจคือดูหนังให้มากๆ ค่ะ เราจะเห็นมุมมองในการเล่าเรื่องของเขา แล้วมันจะทำให้เราเข้าใจในการเล่าเรื่อง บรรยายมากยิ่งขึ้น

ทำยังไงให้บทสนทนาสมจริงคะ

คิดอย่างตัวละครคิด พูดอย่างตัวละครพูด ถ้าเราคิดแบบตัวละครคิดเราจะเป็นตัวละครนั้นจริงๆ อย่างแรกเลยเราเขียนเขามาเราจะไม่ใส่ความคิดตัวเองลงไป เพราะเท่ากับว่าเรากำลังกำลังเล่นเป็นตัวเอง แต่จริงๆ คือเราต้องเล่นเป็นเขา เราต้องคิดแบบเขา 

STEP 5 - การสร้างแรงบันดาลใจ

เราได้ไอเดียเขียนนิยายจากไหนบ้าง 

จริงๆ มันเป็นเรื่องที่แแล้วแต่คนเลย ฟังเพลงก็ได้ ดูหนังก็ได้ เบสิกเลยง่ายๆ หรือแม้กระทั่งอ่านนิยายมาเรารู้สึกว่ามันอาจจะไปต่อยอดได้ แต่ไม่ใช่ก๊อปนะคะ ได้แรงบันดาลใจกับก๊อปไม่เหมือนกันนะคะ 

ทำยังไงให้ไอเดียเขียนนิยายอยู่กับเราตลอดเวลา

ไอเดียมาจดไว้ก่อนค่ะ สิ่งแรกเลยคือจดไว้ เพราะกว่าคุณจะได้ลงมือเขียนจริงๆ คงจะอีกสักพักหนึ่ง ไอเดียนั้นคงหลุดไปแล้ว เอลเป็นเหมือนกันที่บางครั้งฉันจำได้น่า แต่สุดท้ายคือลืม จนถึงทุกวันนี้ก็ยังจำไม่ได้ ยังลืมอยู่

เวลาท้อๆ หมดไฟหรือหมด passion ในการเขียนนิยาย เอลรับมือยังไงคะ

หมดไฟเนี่ย อาการนี้เป็นกันทุกคนจริงๆ แม้แต่คนที่ไม่ใช่นักเขียน อย่างแรกเลยคือเราต้องย้อนกลับไปดู่าอะไรที่ทำให้เราหมดไฟ เราเหนื่อย เราเศร้า เราไม่มีเวลา คือเราลองเปลี่ยนไปอยู่กับตรงนั้นสักพักหนึ่ง หาเวลาว่างแล้วค่อยย้อนกลับมาดูว่า จุดเริ่มต้นนิยายที่เราเขียน เราเขียนเกี่ยวกับอะไร อย่างเอลคือมันมีช่วงหนึ่งที่เอลเขียนนิยายเรื่องหนึ่งไม่ได้เลย เอลก็พัก แต่ว่าเอลได้มีโอกาสได้กลับไปดูหนังที่เอลชอบมากๆ มันทำให้เอลได้กลับมาเขียนนิยายเรื่องนั้นได้อีกครั้ง เพราะว่ามันคือ Mood & Tone เดียวกัน 

STEP 6 - อุปสรรคและการแก้ไข

อะไรคืออุปสรรคในการเขียนนิยาย แล้วเรามีวิธีรับมือกับมันยังไงคะ 

ส่วนใหญ่เราอาจจะไม่กล้ารับฟีดแบ็คมาก จริงๆ คือนักเขียนหลายคนตอนเริ่มเขียนเนี่ย จะกลัวฟีดแบ็ค กับบางคนที่กลัวไม่มีผลตอบรับ สองอย่างนี้แตกต่างกันนะคะ กลัวฟีดแบ็ค คือ เขาไม่เข้าใจที่เราสื่อ เขารู้สึกไม่อิน เขารู้สึกไม่ชอบ แล้วก็พวกที่ไม่มีผลตอบรับคือ ลงนิยายแล้วยอดวิวน้อย ไม่มีคนเมนต์ให้ คือตรงนี้มันต้องใช้เวลา ตอนย้อนกลับไปช่วงแรกนะคะ เอลยังเคยสมัครไอดีนิยายเยอะๆ มาเมนต์นิยายตัวเองเลยค่ะ ตอนนั้นคือเราไม่มีอะไรเลย เราเป็นนักเขียนใหม่ แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่งเมื่อเราเขียนนิยายไปเยอะๆ จุดประกายให้เขาจำเราได้ เดี๋ยวคนก็จะเริ่มมาอ่านนิยายเราเองค่ะ การที่นิยายไม่มีคนเมนต์ ยอดวิวน้อย ไม่ได้แปลว่านิยายเราไม่ดีนะคะ แค่นักอ่านเขาเลือกที่จะอ่านในแบบที่เขาชอบ เหมือนที่ราเลือกที่จะเขียนในแบบที่เราชอบเหมือนกัน 

เชื่อว่านักเขียนหลายคนมีปัญหาเหมือนกันคืออาการตัน ขอฮาวทูรับมือกับอาการตันอย่างเร่งด่วนหน่อยจ้า

ตัน แทบไม่มีอยู่ในสมองเอลเลยค่ะ ส่นใหญ่เกิดจากคุณไม่มีเวลาเขียน พอกลับมาคุณเขียนไม่ได้แล้ว แต่ไม่มีผลกับเอลที่เขียนทุกวัน ถามว่ามีตันไหม อาจจะมีแค่แอบนอยด์ไม่อยากเขียน แต่ไม่ถึงขั้นตัน

 

STEP 7 - การขายนิยาย

อยากส่งสำนักพิมพ์ต้องทำยังไงบ้าง 

ส่งสำนักพิมพ์ อย่างแรกเลยเราต้องดูนิยายที่เขาออกก่อนว่าแนวไหน เราต้องดูก่อนว่าเขาเป็นสายไหน แล้วเราเจาะจุดให้ได้ สำนักพิมพ์ส่วนใหญ่ต้องการเหตุผลมารองรับ เขาต้องการจุดมาจุดไป จุดกลับ จุดเปลี่ยน จุดไคลแม็กซ์ เขาต้องการทุกอย่าง เพื่อให้นิยายเรื่องหนึ่งมันออกมาดีมากๆ 

“พี่ครับนั่นร่มผม” เปิดขายในระบบขายนิยายของทางเด็กดีด้วย เป็นยังไงบ้าง

รายได้ก็สองกลมๆ สามกลมๆ ก็แล้วแต่เดือน (หัวเราะ) เอลได้รับโอกาสจากเด็กดีค่อนข้างเยอะ ทำให้เรามีฐานแฟนคลับที่มากขึ้น พอเด็กดีมีระบบนี้ขึ้นมามันก็ตอบโจทย์กับคนที่ไม่สามารถซื้อเล่มได้ สะดวกด้วยเพราะว่าเราสามารถอ่านได้ในมือถือ เราพกพาไปไหนได้มากกว่าบางคนที่จะถือเป็นเล่มไป จริงๆ แล้วมีนักอ่านจากต่างประเทศค่อนข้างเยอะเลยที่อยากเก็บเล่มไว้ แต่ว่าเราไม่สามารถจัดส่งไปทางเมืองนอกได้ เราก็เลยได้ทำการเปิดตรงนี้ขึ้นมาเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ของเรามากยิ่งขึ้น ให้เขาได้ซัพพอร์ตเรา เราก็ได้แบ่งปันรอยยิ้มให้กับเขาด้วย 

ฝากถึงคนที่อยากเป็นนักเขียนหน่อย

ถึงนักเขียนเด็กดีทุกๆ คนนะคะ ท้อได้ แต่อย่าถอย คุณเดินมาไกลมาแล้ว ขอให้มีความสุขกับมันเถอะค่ะ ความพยายามจะตอบแทนเราเสมอ เอลเองก็พยายามมามากเหมือนกันถึงมาอยู่ตรงนี้ได้ เพราะงั้นอย่าละทิ้งความพยายามนะคะ

เป็นยังไงกันบ้างกับ 7 STEPS การเขียนนิยายวายให้ปังตามสไตล์ของเอล Avery Pie พี่แนนนี่เพนเชื่อว่าเคล็ดลับทั้งหมดนี้จะเป็นเรื่องง่ายๆ สำหรับทุกคนแน่นอนหากเราตอบคำถามตัวเองตั้งแต่ข้อแรกได้ว่าเรามองอาชีพนักเขียนเป็นยังไง และอยากเขียนนิยายต่อไปแบบไหน หากเราตอบได้เต็มภาคภูมิอย่างที่เอลตอบเราว่าเขารักในการเขียนมากแค่ไหน พี่เชื่อว่าความมุ่งมั่นและความพยายามของเราจะพานัก(อยาก)เขียนทุกคน ประสบความสำเร็จได้แน่นอน พี่เป็นกำลังใจให้เสมอค่ะ สู้ๆ นะคะ 

พี่แนนนี่เพน


พี่แนนนี่เพน
พี่แนนนี่เพน - Columnist สาวเหนือที่มีความสุขกับการเขียนนิยาย และเชื่อว่านิยายให้อะไรดีๆ กับสังคมเสมอ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

8 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด