Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ประวัติการสร้างเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
  การเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์ไทย ในวาระต่าง ๆ มีมาตั้งแต่ครั้งสมัย กรุงสุโขทัย การเสด็จ ฯ ทางน้ำเรียกว่า" พยุหยาตราชลมารค " ในสมัยที่ กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้น ที่ตั้งของเมืองเป็นเกาะ ล้อมรอบ ไปด้วยแม่น้ำลำคลอง มากมายหลายสาย ชีวิตความเป็นอยู่ริมน้ำของชาวกรุงเก่า จึงต้องอาศัยเรือในการสัญจร ไปมา ทั้งในเวลารบทัพจับศึก ก็จะใช้กระบวนทัพเรือเป็นสำคัญ จึงปรากฎมีการสร้างเรือรบมากมาย ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในเวลาบ้านเมือง ปราศจากศึกสงคราม ย่อมใช้เรือรบฝึกซ้อมกระบวนยุทธ เป็นนิจ เพราะฉะนั้น ถึงฤดูน้ำหลาก เป็นเวลาราษฎรว่างการทำนา จึงเรียกระดมพล มาฝึกซ้อมกระบวนทัพเรือ ประจวบกับ เป็นฤดูกาลของการทอดกฐิน พระเจ้าแผ่นดินจึงเสด็จพระราชดำเนิน ไปถวายพระกฐิน โดยกระบวนเรือรบ แห่แหน ให้ไพร่พลรื่นเริงในการกุศล โดยเฉพาะในสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นเวลาที่ประเทศสยามสงบ เจริญอย่างยิ่ง ในทางวัฒนธรรม กระบวนเรือพยุหยาตราชลมารค มีเรือเข้าร่วมกระบวนกว่า 150 ลำ ฝีพายแต่งกายงดงาม พายเรือประกอบจังหวะ จนชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวฝรั่งเศส บันทึกว่า " ไม่สามารถเทียบความงาม กับขบวนเรืออื่นใด เป็นขบวนเรือที่มโหฬาร "

          เรือนารายณ์ทรงสุบรรณ เป็น เรือพระที่นั่งกิ่ง(2) ประเภทเรือรูปสัตว์ เรือรูปสัตว์นี้ ตามหลักฐานที่ยืนยันได้มีมา ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นเรือที่แกะสลักหัวเรือ เป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ ทั้งสัตว์จริง และสัตว์ในเทพนิยาย เพื่อจะให้ ตั้งปืนใหญ่ที่หัวเรือได้ เรือรูปสัตว์ มาจากตราประจำตำแหน่ง ของเสนาบดี เช่น ราชสีห์ คชสีห์ นาค ฯลฯ เรือนารายณ์ทรงสุบรรณ นั้น มีชื่อเดิมว่า "มงคลสุบรรณ" พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ต่อขึ้น ตามแบบอย่างสมัยอยุธยา โดยมีพระราชประสงค์ ตามที่ปรากฏความ ในพระราชพงศาวดารว่า " ไว้เป็นเกียรติยศสำหรับแผ่นดิน " ลักษณะของเรือลำนี้ มีความยาว 17 วา 3 ศอก กว้าง 5 ศอก 5 นิ้ว ลึก 1 ศอก 6 นิ้ว กำลัง 6 ศอก 6 นิ้ว พื้นท้องเรือภายนอก ทาสีแดง กำลังฝีพาย 65 คน โขนเรือ แต่เดิมจำหลักไม้ รูปพญาสุบรรณหรือพญาครุฑยุดนาค เท่านั้น มีช่องกลม สำหรับติดตั้งปืนใหญ่ อยู่ที่หัวเรือใต้ตัวครุฑ รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีพระราชดำริ ให้เสริมรูปพระนารายณ์ประทับยืน บนหลังพญาสุบรรณ เพื่อความสง่างาม ของลำเรือและ เพื่อให้ต้อง ตามคติ ในศาสนาพราหมณ์ ว่า พญาสุบรรณ นั้น เป็นเทพพาหนะ ของพระนารายณ์ และเมื่อเสริมรูป พระนารายณ์แล้ว โปรดเกล้า ฯ ให้ขนานนามเรือลำนี้ใหม่ว่า " นารายณ์ทรงสุบรรณ "

แสดงความคิดเห็น

>