Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ประวัตินางนพมาศ

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

        นางนพมาศ   เกิดในรัชกาลพญาเลอไท  กษัตริย์ที่   4 แห่งราชวงศ์พระร่วงสุโขทัย   บิดาเป็นพราหมณ์  ชื่อ  โชติรัตน์  มีราชทินนามว่า  พระศรีมโหสถ  รับราชการในตำแหน่งปุโรหิต มารดา  ชื่อ  เรวดี  ภายหลังนางนพมาศได้ถวายตัวเข้าทำราชการในราชสำนักสมเด็จพระร่วงเจ้า   สันนิษฐานว่ารับราชการในแผ่นดินพระมหาธรรมราชาที่  1  (ลิไท)  หรือพระร่วงเจ้าสุโขทัย  จนกระทั่งได้รับตำแหน่ง  "ท้าวศรีจุฬาลักษณ์"  พระสนมเอก

        ปรากฏในพงศาวดารว่า  นางนพมาศได้ทำคุณงามความดีเป็นที่โปรดปรานของพระร่วงในกาลต่อมา ที่สำคัญๆ มีอยู่  3  ครั้ง  คือ

       ครั้งที่  1  เข้าไปถวายตัวอยู่ในวังได้ห้าวันก็ถึงพระราชพิธีจองเปรียงลอยพระประทีป  นางได้คิดประดิษฐ์โคมเป็นรูปบัวกมุทบาน  มีนกเกาะดอกไม้สีสวยๆ ต่างๆ กัน นำไปถวายพระร่วงเจ้า  เป็นที่โปรดปรานของพระร่วงเจ้ามาก

       ครั้งที่  2  ในเดือนห้ามีพิธีคเชนทร์ศวสนาน  เป็นพิธีชุมนุมข้าราชการทุกหัวเมือง มีเจ้าประเทศราชขึ้นเฝ้าถวายเครื่องราชบรรณาการด้วย  ในพิธีนี้พระเจ้าแผ่นดินทรงรับแขกด้วยเครื่องหมากพลู  นางนพมาศได้คิดประดิษฐ์พานหมากสองชั้นร้อยกรองด้วยดอกไม้งดงาม พระร่วงทรงโปรดปรานและรับสั่งว่า ต่อไปผู้ใดจะทำการมงคลก็ดี  รับแขกก็ดี  ให้ใช้พานหมากรูปดังนางนพมาศประดิษฐ์ขึ้น  ซี่งเป็นต้นเหตุของพานขันหมากเวลาแต่งงาน  ซึ่งยังคงใช้จนถึงปัจจุบัน

       ครั้งที่  3  นางได้ประดิษฐ์พนมดอกไม้ ถวายพระร่วงเจ้า เพื่อใช้บูชาพระรัตนตรัย  พระร่วงทรงพอพระทัยในความคิดนั้น  ตรัสว่า  แต่นี้ต่อไปเวลามีพิธีเข้าพรรษาจะต้องบูชาด้วยพนมดอกไม้กอบัวนี้

         นางนพมาศ ได้เขียนตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ขึ้นเพื่อเป็นหลักประพฤติปฏิบัติตนในการเข้ารับราชการของนางสนมกำนัลทั้งหลาย

        เนื้อเรื่องในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ กล่าวถึงประเพณีต่างๆ ของไทย   เช่น การประดิษฐ์ พานหมากสองชั้นรับแขกเมือง  การประดิษฐ์โคมลอยรูปดอกกระมุท  (ดอกบัว)   เพื่อใช้ในพระราชพิธีจองเปรียงลอยพระประทีป  (ลอยกระทง)  ซึ่งประเพณีนี้ได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์เรียกอีกชื่อว่า  หนังสือนางนพมาศ

        นางนพมาศเป็นบุคคลที่ได้สมญาว่า   “กวีหญิงคนแรกของไทย”  ดังที่เขียนไว้ว่า  “ทั้งเป็นสตรี  สติปัญญาก็น้อยกว่าบุรุษ  แล้วก็ยังอ่อนหย่อนอายุ  กำลังจะรักรูปและแต่งกาย ซึ่งอุตสาหะพากเพียร   กล่าวเป็นทำเนียบไว้  ทั้งนี้เพื่อหวังจะให้สตรีอันมีประเภทเสมอด้วยตน พึงให้ทราบว่าข้าน้อยนพมาศ  กระทำราชกิจในสมเด็จพระร่วยงเจ้ากรุงมหานครสุโขทัย  ตั้งจิตคิดสิ่งซึ่งเป็นการควรกับเหตุ ถูกต้องพระราชอัชฌาสัยพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้ปรากฏชื่อแสียงว่าเป็นสตรีนักปราชญ์  ฉลาดในวิชาช่างอยู่ชั่วกัลปาวสาน ” 



เหตุที่กระทงเป็นรูปดอกบัว

        ในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์หรือตำนานนางนพมาศ  ซึ่งเป็นพระสนมเอกของพระมหาธรรมราชาลิไทหรือพระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย   ได้กล่าวถึงวันเพ็ญเดือนสิบสองว่าเป็นเวลาเสด็จประพาสลำน้ำตามพระราชพิธีในเวลากลางคืน และได้มีรับสั่งให้บรรดาพระสนมนางในทั้งหลายตกแต่งกระทงประดับดอกไม้ธูป เทียนนำไปลอยน้ำหน้าพระที่นั่ง  ในคราวนั้นท้าวศรีจุฬาลักษณ์หรือนางนพมาศ   พระสนมเอกก็ได้คิดประดิษฐ์กระทงเป็นรูปดอกบัวกมุทขึ้น  ด้วยเห็นว่าเป็นดอกบัวพิเศษที่บานในเวลากลางคืนเพียงปีละครั้ง   ในวันดังกล่าว สมควรทำเป็นกระทงแต่งประทีปลอยไปถวายสักการะรอยพระพุทธบาท  ซึ่งเมื่อพระร่วงเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นก็รับสั่งถามถึงความหมาย   นางก็ได้ทูลอธิบายจนเป็นที่พอพระราชหฤทัย  พระองค์จึงมีพระราชดำรัสว่า   “แต่นี้สืบไปเบื้องหน้าโดยลำดับ  กษัตริย์ในสยามประเทศถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์ วันเพ็ญเดือน  ๑๒  ให้นำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว  อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน”   ด้วยเหตุนี้   เราจึงเห็นโคมลอยรูปดอกบัวปรากฏมาจนปัจจุบัน

เครดิตมาจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

PS.  เย้ เปลี่ยนสัตว์เลี้ยงตัวใหม่ในไอดีแล้วนะ เปลี่ยนจากแมวมาเป็นเสือ (แมวกับเสือหน้าตาคล้ายกันมาก) ตัวเก่าเป็นแมวชื่อเหมียว ตัวใหม่เป็นเสือชื่อพยัคฆ์ขาว

แสดงความคิดเห็น

>