Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

จดหมายถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

เลขที่จดหมายออก 3/2557

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี)120 หมู่ที่ 3 ถนน แจ้งวัฒนะ
แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 

                                                                 13 มีนาคม 2557

เรื่อง  ขอเรียกร้องให้ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการทำค.1, ค.2 โครงการขยายโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และโครงการท่าเทียบเรือถ่านหินคลองรั้ว

เรียน   คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
        Human Rights Watch
        เลขาธิการ ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights     

สำเนาถึง   ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
              ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่
              รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่
              คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
              เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
              คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

อ้างถึง  หนังสือขอคัดค้านการทำค.1, ค. 2 โครงการขยายโรงไฟฟ้ากระบี่และโครงการท่าเทียบเรือถ่านหินคลองรั้วยื่นต่อผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและบริษัทที่ปรึกษาในการจัดทำรายงานEIA/EHIAของโครงการในวันที่ 9 มีนาคม 2557

ตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมีโครงการขยายกำลังผลิตติดตั้งจำนวน 870 เมกะวัตต์โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โดยใช้พลังงานถ่านหินและได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นผู้มีผลกระทบจากโครงการครั้งที่1, ครั้งที่2 และดำเนินการรับฟังความคิดเห็นโครงการท่าเทียบเรือถ่านหินบ้านคลองรั้วครั้งที่ 1 นั้น ประชาชนที่อาศัยในเขตพื้นที่ที่มีผลกระทบจากการโครงการดังกล่าว ขอคัดค้านการดำเนินการรับฟังความความคิดเห็นข้างต้นเนื่องจาก ในการรับฟังความคิดเห็นทุกครั้ง กฟผ.และบริษัทผู้รับจ้างไม่ได้ดำเนินการให้ความรู้แก่ผู้ที่มีผลกระทบในทางบวกและทางลบเท่าที่ควรเพื่อประมวลความรู้ นำไปกำหนดข้อกังวล ข้อห่วงใยในผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สินและสิ่งแวดล้อม ก่อนรับฟังความคิดเห็น และในคราวที่เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นก็เช่นกันไม่เปิดโอกาสให้ผู้มีผลกระทบได้แสดงข้อกังวลอย่างทั่วถึงและกว้างขวาง โดยการกำหนดเวลาให้แสดงความคิดเห็นเพียงเล็กน้อยแล้วด่วนสรุปซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

และเมื่อวันอาทิตย์ที่  9  มีนาคมที่ผ่านมา ในการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นผู้มีผลกระทบจากโครงการท่าเทียบเรือถ่านหินคลองรั้วครั้งที่1นั้น กระบวนการดังกล่าวขาดความชอบธรรม ด้วยเหตุผลหลักดังนี้

1. การจัดทำการรับฟังความคิดเห็นขาดความชอบธรรม เพราะรองผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้แถลงข่าวยืนยันอย่างเป็นทางการต่อสาธารณชนที่ศาลากลางจังหวัดกระบี่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่าหากมีการคัดค้านจะยกเลิกโครงการทันที ซึ่งประชาชนในพื้นที่ได้ดำเนินการคัดค้านอย่างเห็นได้ชัดในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นผู้มีผลกระทบจากโครงการครั้งที่ 1, ครั้งที่ 2 และดำเนินการรับฟังความคิดเห็นโครงการท่าเทียบเรือถ่านหินบ้านคลองรั้วครั้งที่ 1 นั้นมาตลอด แต่กระบวนดังกล่าวกลับเดินหน้าโดยเพิกเฉยต่อเสียงคัดค้านของประชาชนในพื้นที่และขาดการเคารพต่อสิทธิของชุมชน

2. การจัดทำการรับฟังความคิดเห็นจัดโดยขาดการให้ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบในทางบวกและทางลบที่จะนำมาใช้ในการแสดงความคิดเห็นต่อโครงการ ประชาชนในพื้นที่ยังไม่ทราบข้อมูลและไม่มีความเข้าใจต่อโครงการ ทั้งๆที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นโครงการที่มีผลกระทบรุนแรงต่อชุมชน

3. การจัดทำการรับฟังความคิดเห็นจัดโดยแยกการศึกษาผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินออกจากโครงการท่าเทียบเรือถ่านหิน ซึ่งกระบวนการดังกล่าวขาดความชอบธรรม เนื่องจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นโครงการที่มีผลกระทบรุนแรงต่อชุมชน การกระทำดังกล่าวจึงมิชอบด้วยกฏหมาย และการบิดเบือนกระบวนการดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิของชุมชนตามหลักของสิทธิมนุษยชน

4. กระบวนการรับฟังความคิดเห็นจัดโดยขาดความเป็นธรรม เนื่องจากประชาชนไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว ตั้งแต่การเดินทางเข้ามาแสดงความคิดเห็น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและเจ้าพนักงานของรัฐที่มีอำนาจในจังหวัดกระบี่ได้จัดกองกำลังเจ้าหน้าที่และกองกำลังพิเศษในพื้นที่ตั้งแต่ก่อนทางเข้าโรงเรียนบ้านคลองรั้ว และเข้ามาในบริเวณเต๊นท์ของเวที รวมทั้งการนั่งและยืนรอบเต๊นท์เพื่อควบคุมกระบวนการรับฟังความคิดเห็น การกระทำดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าผิดกฎหมายและผิดหลักสิทธิมนุษยชนที่จะทำให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิของตนเองได้อย่างเต็มที่ในการแสดงความคิดเห็นเพื่อคัดค้านโครงการถ่านหินกระบี่

5. กระบวนการรับฟังความคิดเห็นขาดความชอบธรรม เพราะในระหว่างการดำเนินการดังกล่าว มีการข่มขู่ ปะทะและกดดันจากผู้นำและผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ โดยมีทั้งการใช้กำลัง การขว้างปาสิ่งของ การคุกคามทางวาจา การข่มขู่ผู้ที่จะแสดงความคิดเห็นคัดค้านโครงการและอื่นๆ

6. การจัดซื้อการจัดจ้างบริษัทมารับทำกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของโครงการฯ ดังกล่าว เป็นการจัดจ้างบริษัทมาทำโครงการตามพรบ.การเสนองานต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ที่อาจส่อการทุจริตในการดำเนินการเพราะนอกจากจะแบ่งแยกการศึกษาและการจัดทำE(H)IA แล้ว การดำเนินกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของโครงการฯ ดังกล่าวยังมีการจัดจ้างบริษัทใหม่เกิดขึ้น แยกออกจากบริษัทที่เคยทำหน้าที่ในการศึกษาตอนแรกที่ได้มีการศึกษาแล้ว รวมทั้งขณะนี้มีการเปิดเผยข้อมูลในพื้นที่ว่า สถานการณ์ในพื้นที่หลังจากการทำค.1 เสร็จ กำลังมีการหยิบยื่นผลประโยชน์ให้กับผู้ที่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ตัวแทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์จากโครงการในระดับจังหวัดเพื่อดำเนินการกดดันให้ชาวบ้านในพื้นที่ยินยอมทั้งในด้านการก่อสร้างโครงการและการใช้ประโยชน์จากที่ดิน

สิ่งเหล่านี้คือความไม่ชอบธรรมและเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงและเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้อย่างยิ่งในการรับฟังความคิดเห็นผู้มีผลกระทบจากโครงการครั้งที่1, ครั้งที่2 และดำเนินการรับฟังความคิดเห็นโครงการท่าเทียบเรือถ่านหินบ้านคลองรั้วครั้งที่1

เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินจึงได้เรียกร้องให้ยกเลิกโครงการทั้งหมด และคัดค้านการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นผู้มีผลกระทบจากโครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่โดยใช้พลังงงานถ่านหินครั้งที่ 1, ครั้งที่ 2 และดำเนินการรับฟังความคิดเห็นโครงการท่าเทียบเรือถ่านหินบ้านคลองรั้วครั้งที่ 1 โดยมีการยื่นหนังสือคัดค้านอีกครั้งเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2557 และเห็นว่าโครงการทั้งสองโครงการเป็นเรื่องเดียวกัน โดยที่คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมวุฒิสภาได้วินิจฉัยว่าทั้งสองโครงการไม่อาจแบ่งแยกกันได้ เพราะฉะนั้นการแบ่งแยกกันรับฟังความคิดเห็นทำให้ความรู้ที่จะประมวลข้อกังวลของผู้ที่มีผลกระทบทั้งตัวโรงไฟฟ้าและท่าเทียบเรือถ่านหินไม่สมบูรณ์ ซึ่งจะส่งผลให้โครงการมีปัญหาในอนาคต

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ และเพื่อพิจารณาในการดำเนินการสอบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นเพื่อให้การดำเนินการรับฟังความคิดเห็นผู้มีผลกระทบจากโครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่โดยใช้พลังงงานถ่านหินครั้งที่ 1ครั้งที่ 2 และดำเนินการรับฟังความคิดเห็นโครงการท่าเทียบเรือถ่านหินบ้านคลองรั้วขาดความชอบธรรม

เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน

1. กลุ่มรักลันตา

2. กลุ่มพิทักษ์ปกาสัย

3. สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวลันตา

4. สมาคมผู้ประกอบการโรงแรมเกาะลันตา

5. มูลนิธิอันดามัน

6. ศูนย์สร้างเสริมจิตสำนึกนิเวศวิทยา

7. กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

8. สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย

9. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กปอพช.)

10. โครงการปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารชายฝั่งภาคใต้

11. กลุ่มรักตรังปกป้องตรัง

12. กลุ่มรักษ์อันดามัน

13. กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมปกาสัย จังหวัดกระบี่

14. กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขจังหวัดกระบี่

15. เครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดกระบี่

16. องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

17. เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านอ่าวพังงา อันดามัน

18. เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ

19. เครือข่ายติดตามผลกระทบจาดโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตำบลเขาหินซ้อน

20. เครือข่ายถ่านหิน ประเทศไทย Thailand Coal Network

21. เครือข่ายถ่านหินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Southeast Asia Coal Network


ร่วมลงชื่อ “ปกป้องกระบี่จากถ่านหิน” และเรียกร้องว่าเราต้องการโรงไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด คลิกเลยที่ www.protectkrabi.org #ProtectKrabi

ที่มา : http://www.greenpeace.org/seasia/th/press/releases/Letter-to-thailand-human-right

แสดงความคิดเห็น

>