Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

บ่นๆ เบื่อนักเขียนแบบนี้

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

ที่ตั้งกระทู้ก็แค่มาบ่นเฉยๆอะนะ เราเบื่อนักเขียนที่มาอ่านแล้วชอบเจ้ากี้เจ้าการกับงานของเรา เป็นพวกนักเขียนที่ความคิดแคบ คิดแต่ว่านวนิยายที่ดีต้องมีหน้าที่สั่งสอนผู้อ่านเท่านั้น ตัวละครต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ต้องสอนตรงๆ ตัวละครเอกต้องดี หรืออย่างน้อยตอนจบก็ต้องกลับตัวมาเป็นคนดี

" พระเอกทำอย่างงั้นไม่ได้นะคะ มันไม่ใช่สุภาพบุรุษ "

" ต๊ายตาย! นางเอกได้กับตัวโกงก่อนพระเอกไม่ได้นะคะ "

" ตัวละครต้องเป็นแบบอย่างให้ผู้อ่านทำตาม ทำแบบนั้นได้ยังไง "

หรือคำพูดที่เอือมที่สุด " เขียนอย่างนี้ไม่ได้คะนะ จะเขียนอะไรคิดถึงสังคมบ้าง ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม "

เออ...คุณจะคิดว่านวนิยายมันต้องเป็นแบบเดิมๆอย่างนี้เหรอ ที่ตัวเองเป็นคนดี ฝ่าฟันอุปสรรคและตัวละครเลวๆ แล้วสุดท้ายก็จบลงอย่างสงบสุขอะ ?

นวนิยายมีหน้าที่สั่งสอนผู้อ่านเท่านั้นเหรอ...รู้จัก Realism ไหม นวนิยายที่สะท้อนภาพความเป็นจริงของมนุษย์ ว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีทั้งด้านขาวและด้านดำ และมีเหตุปัจจัยต่างๆที่กำหนดการกระทำต่างๆของตัวละคร ผู้อ่านก็จะได้สังเกตดูพฤติกรรมมนุษย์ในรูปแบบต่างๆ จะได้เห็นว่าการกระทำของแต่ละตัวละครมันส่งผลสืบเนื่องยังไง นำไปสู่ตอนจบของเรื่องได้อย่างไร และแน่นอนว่าไม่จำเป็นต้อง Happy Ending ตัวละครเอกอาจจะพ่ายแพ้ต่ออุปสรรคในตอนจบก็ได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การทำให้ผู้อ่านสังเกตพฤติกรรมการกระทำของตัวละคร วิเคราะห์ตัวละครและตั้งคำถามกับการกระทำต่างๆ อันจะนำไปสู่การสะท้อนภาพของสังคมและแนวคิดที่ผู้แต่งต้องการสื่อถึงผู้อ่าน เป็นการทำให้ผู้อ่านได้รู้จักคิดและหาคำตอบแทนที่จะให้ผู้เขียนบอกไปเสียหมด

ที่บ่นมาทั้งหมดคือ อยากให้เปิดใจให้กับนวนิยายแนวอื่นบ้าง ไม่ใช่ว่าเจอแนวไม่ชอบแล้วไปเจ้ากี้เจ้าการแทบจะมาเขียนแทนคนเขียน

“ เขียนอะไรก็นึกถึงสังคมบ้างนะคะ งานเขียนที่ดีต้องเป็นแบบอย่างให้กับสังคม ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมค่ะ เขียนแบบนี้ไม่ได้ ”

“ ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม เขียนแบบนี้ไม่ได้ ” ไม่แน่นะ งานเขียนที่คุณต่อว่า มันอาจจะสอนแง่คิดได้ดีก็ได้ ขอเพียงแค่รู้จักมองมันให้ออกเท่านั้นเอง

แล้วถ้าเด็กคิดเองยังไม่ได้มาอ่านละ...แทบทุก สนพ. เขาจัดประเภทหนังสือให้เหมาะกับผู้อ่านนะ มี สนพ. ไทยเจ้าหนึ่งถึงขนาด เขียนตัวเบ้อเร่อเอาไว้ว่า “ หนังสือเล่มนี้ไม่เหมาะกับเด็ก ” ด้วยละ

ลองไปอ่าน “ The Lottery by Shirley Jackson ” สิ ถึงแม้จะเป็นเรื่องสั้น แต่สะท้อนอะไรหลายๆอย่างของทั้งมนุษย์และสังคมให้มาขบคิดมากทีเดียวนะ เรื่องสั้นเรื่องนี้ถึงแม้ตีพิมพ์ครั้งแรกJackson ผู้เขียนเธอจะได้รับจดหมายต่อว่ามามากมายก็ตาม(พ่อแม่ก็เขียนมาต่อว่าเธอด้วย “ลูกควรจะเรียนเรื่องราวดีๆให้กับสังคม”) แต่เรื่องสั้นเรื่องนี้ก็ถูกนำมาให้เด็กอเมริกันอ่านในชั้นเรียน มันคงจะมีอะไรดีอยู่บ้างละว่าไหม?

https://sites.middlebury.edu/individualandthesociety/files/2010/09/jackson_lottery.pdf


แสดงความคิดเห็น

>

18 ความคิดเห็น

Death With Love 7 ต.ค. 58 เวลา 17:37 น. 1

รับผิดชอบต่อสังคม ก็เป็นความรับผิดชอบต่องานเขียนของตนเองอย่างหนึ่งนะครับ

งานเขียนลักษณะสะท้อนสังคม ตีแผ่สังคม ต้องถามว่าผู้เขียนรู้ประเด็นดีพอหรือสามารถหยิบยกมาเขียนได้ถูกต้องจริงๆ หรือเปล่า
เรื่องเลวร้ายของสังคม หลายท่านก็ทราบและรู้ลึกรู้จริงอีกด้วย แต่เขียนให้สะท้อนจริงๆ มันยากครับ
ไม่ได้ดูแคลนฝีมือของใคร แต่มันยากที่จะนำเสนออย่างแยบยล ลึกซึ้ง โดยไม่ได้เป็นแค่การเอาเรื่องเลวๆ มาประกาศต่อสาธารณชน

หลายครั้งที่เห็นผู้เขียนบางท่านมาปรึกษาในบอร์ด อยากเขียนแนวสะท้อนสังคม
พบว่าจะแค่อยากเขียน อยากโชว์ว่ารู้ปัญหา แต่วิธีทางแก้หรือหนทางช่วยเหลืออะไรไม่มีเลย

ยิ่งบ้านเรา การสรุปจะมาผลดีร้ายของเรื่องราวจะมาเพียงแค่ตอนจบ ทำเลวมาทั้งเรื่อง
เขียนเป็นร้อยตอนๆ สรุปคนผิดได้รับโทษแค่นิดหน่อย และเพียง2-3 ตอน ไม่น่าจะมีประโยชน์
นักอ่านซึมซับไปร้อยกว่าตอนแล้ว สนุกกับความแย่ๆ ของตัวละคร จนเป็นรสนิยมในการเลือกอ่านก็มีครับ

สรุป ย้ำว่าไม่ได้ดูแคลนแนวทางของใคร อยากเขียนก็เขียนครับ ถ้ารับผิดชอบได้ มั่นใจในสิ่งที่อยากนำเสนอ
สามารถเขียนได้สะท้อนสังคมจริงๆ ไม่ได้แค่ชี้นำพฤติกรรมเลวร้ายให้สังคม

อนึ่ง การจัดประเภทหนังสือ "ไม่เหมาะกับเด็ก บลาๆ"
ไม่ค่อยช่วยเท่าไรนะครับ เพราะทางร้านค้าก็ไม่ได้เข้มงวดตามที่ระบุไว้ เขาก็ขายให้เด็กอยู่ดี

0
vanaya 7 ต.ค. 58 เวลา 17:39 น. 2

เราเข้าใจคุณค่ะ บางทีผู้อ่านอาจจะคาดหวังกับนิยายของคุณเอาไว้สูง พอผิดหวังจากที่คาดก็เลยมีปฏิกิริยาที่แสดงออกมาในด้านลบน่ะค่ะ 
ส่วนตัวเรามองทุกอย่างเป็นสีเทา แต่นักอ่านบางคนก็อยากอ่านนิยายที่จรรโลงใจน่ะค่ะ เพราะงั้นเขาเลยอยากอ่านอะไรก็ตามที่หาได้ยากในชีวิตจริงเราว่านะ นิยายที่สะท้อนแง่มุมในสังคมจึงเป็นนิยายเฉพาะกลุ่มทั้งๆ ที่มันคือเรื่องใกล้ตัวแท้ๆ 

0
ขี้เกียจล็อกอิน 7 ต.ค. 58 เวลา 18:00 น. 3

นักอ่านบางคนก็เหมือนกันแหละ คอมเม้นท์สั่ง บอก จะเอาพลอตแบบนั้นแบบนี้
ทั้งที่คนเขียนเขาก็วางพลอตเอาไว้หมดแล้ว พอไม่ได้ดั่งใจก็ลบแฟบออก เลิกติดตาม
มันอยู่ที่ตัวนักเขียน นักอ่านแต่ละบุคคลแล้วละ ว่าอีโก้ สูงมากแค่ไหน
คนเขียนเขาอยากให้นิยายเป็นแบบนั้นมันก็เรื่องของเขา ถ้าไม่พอใจ มองแง่ดี
หรือไม่ก็เตือนดีๆ จะดีกว่าไหม คนเขียนเขาชอบแบบนั้นก็ได้เขาถึงเขียน
มันก็เหมือนกับคนอ่าน ที่ชอบตัวละครแบบนู้นแบบนี้เหมือนกันนั่นแหละ
พอไม่พอใจ ไม่ถูกจริต ก็มาบ่นลงกระทู้แบบนี้เหรอ คุณอยากให้คนเขียนเข้าใจนักอ่าน
นักอ่าน บางคน เองก็น่าเข้าใจนักเขียนบางนะ พวกที่ชอบเม้นเอาแต่ใจน่ะ
ให้นิยายเป็นงั้นงี้ พอไม่ถูกใจก็เลิกติดตาม เหอๆๆๆๆ

1
แมวสีส้ม 7 ต.ค. 58 เวลา 18:13 น. 3-1

กลับไปอ่านใหม่กระทู้ อ่านให้ดีๆนะ

กระทู้นี้นักเขียนตั้ง บอกว่า " นักอ่าน " ไม่พอใจนักเขียน สั่งอย่างนู้นอย่างนี้ บอกว่าแนวนี้ไม่ดีต่อสังคม " นักเขียนเลยบอกว่า " ให้เปิดใจหน่อย " แนวนี้มันก็มีดีของมันเหมือนกัน

0
peiNing Zheng 7 ต.ค. 58 เวลา 18:12 น. 4

นวนิยายที่ดี "ควร" ให้อะไรที่ดีแก่ผู้อ่าน

ข้าน้อยก็เป็นหนึ่งในจำพวกคน Conservative ที่คิดแบบนั้นเหมือนกันขอรับ ขออภัยด้วยที่ดันเป็นจำพวกที่ท่านไม่ค่อยแฮปปี้เท่าไร

ข้าน้อยถือว่า "นักเขียน" คือ คนที่เผยแพร่สื่อประเภทหนึ่งที่มีผลต่อสังคมขอรับ

ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ย่อมต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ต่อศีลธรรม ที่มีผลต่อเด็กหรือคนที่จะกลายมาเป็นผลผลิตของสังคมในอนาคตต่อไปอยู่แล้ว เป็นพื้นฐานหลักอันมนุษย์ในสังคมควรมี เพราะถ้าผลิตผลของสังคม ไม่ยึดถือศีลธรรม คุณธรรม กฎหมายมีไว้ก็ไม่มีประโยชน์ขอรับ สามารถจินตนาการได้อยู่แล้วว่าสังคมจะออกมาเป็นแบบไหน น่าอยู่หรือไม่อย่างไร

นั่นคือ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ดังนั้น ยิ่งไม่ต้องพูดถึงในฐานะนักเขียนคนหนึ่ง ที่มีป้ายแปะไว้ข้างหลังว่าเป็น "สื่อ" ซึ่งมีผลต่อความรู้สึกนึกคิดและจิตวิญญาณของคนในสังคม คนที่เสพ คนที่เข้าถึงสื่อประเภทนั้นๆ

ถ้านักเขียนคนหนึ่ง ผลิตงานที่ทำให้สังคมเสื่อมทรามลง เช่น ผลิตสื่อลามกที่นางเอกถูกผู้ชายรุมโทรม และคนที่ผลิตทำด้วยความสะใจ ด้วยเม็ดเงิน และคนที่เสพคือ เยาวชนที่สามารถถูกชี้นำ อะไรจะเกิดขึ้น?

1. เป็นไปได้ไหมที่วัยรุ่นชาย จะเกิดอารมณ์ทางเพศ วันดีคืนดี ฉุดนักเรียนหญิงที่ตนพึงใจมากระทำชำเราโดยไม่ได้รู้สึกว่าเป็นสิ่งผิดแต่อย่างใด

2. เป็นไปได้ไหมที่วัยรุ่นหญิง จะคิดว่าการถูกข่มขืน คือ สิ่งที่รับได้ในสังคม ไม่ว่าที่ไหน (ในโลกแคบๆ ของตน) เขาก็เป็นกัน เพราะงั้นต้องทำใจ ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้

เพียงแค่คิดว่าเกิดมีเหตุข่มขืนขึ้น 1 คดีที่ชายวัยรุ่นคนหนึ่ง ข่มขืนหญิงวัยรุ่นคนหนึ่ง เพราะอ่านผลงานของเรา เรารับผิดชอบชีวิตของวัยรุ่นชาย ที่อาจจะต้องติดคุก เสียอนาคต และวัยรุ่นหญิงที่ตายทั้งเป็นได้หรือเปล่า (นี่แค่ 2 ชีวิต ถ้าวัยรุ่นชายไม่ติดคุก แล้วยังทำต่อผู้หญิงคนอื่นต่อไป)

แค่คิดว่าเราซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุ รับได้ไหมที่จะผลิตผลงานแบบนี้ขึ้นมา?

บางทีอาจจะมองว่าข้าน้อยพูดเกินไป อาจจะมี % การเกิดขึ้นเพราะผลงานของเราแค่ 0.001% เท่านั้น แต่แล้วยังไงขอรับ ตราบเท่าที่มันเกิดขึ้นได้ สู้ทำให้มันเป็น 0% คือไม่มีโอกาสเกิดเลยดีกว่าไหม

ถูกต้องที่บางครั้ง การเขียนเรื่องสะท้อนสังคมมันมองได้หลายรูปแบบ แต่หลายรูปแบบที่ว่า แน่ใจได้มากแค่ไหนว่าคนอ่านจะไม่ตีความผิดเพี้ยนไปแต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับคนเขียนและคนอ่านด้วยเหมือนกัน

คนที่มีทัศนคติดีต่อสังคม ต่อให้งานเขียนไม่ดี ภาษาไม่ได้ ยังขาดประสบการณ์ ต่อให้เขียนงานสะท้อนสังคม ผลงานของพวกเขาจะไม่ทำร้ายสังคม ไม่ทำร้ายคนอ่าน ผลงานของเขาสามารถยืดอกได้เต็มภาคภูมิ พ่อแม่สามารถกล่าวได้เต็มปากเต็มคำว่างานนี้ลูกฉันเขียน

คนที่มีทัศนคติมองแต่ตัวเองเป็นที่ตั้ง ต่อให้งานเขียนเทพ ภาษาสละสลวย เขียนเข้าถึงอารมณ์ ผลงานของเขาคือ สิ่งอันตรายอย่างยิ่ง ยิ่งเขียนได้ดีเท่าไร ยิ่งอันตรายเท่านั้น เพราะแปลว่าเขามีความสามารถในการชักจูงคนอ่าน

แต่ที่เลวร้ายกว่านั้น คนที่มองแต่ตัวเอง แล้วดันเขียนงานที่แย่ๆ ออกมา ยิ่งอันตรายขั้นสูงสุด เพราะเขาไม่รู้เลยว่า ทัศนคติที่แย่ๆ ของตนไม่สามารถกลบเกลื่อนมันได้ด้วยฝีมือการเขียน และมันฉายชัดว่างานของพวกเขาอาจจะกลายเป็นแค่ porn ประเภทหนึ่งเท่านั้นเอง (สมมุติว่าเป็นงานเขียนแบบ 18+ ในเรื่องก๊าบ ก๊าบ)

ไหนๆ เห็นกระทู้นี้ ในฐานะคนอ่าน ข้าน้อยเลยขออนุญาตมาบ่นในฐานะคนอ่านคนหนึ่ง ที่ขอกล่าวถึงสังคมที่อันตรายเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของคนเขียนเหมือนกันขอรับ

0
cute-ghost 7 ต.ค. 58 เวลา 19:00 น. 5

เราค่อนข้างเห็นด้วยกับความเห็น 4 นะคะ แต่เราไม่เคยอ่านนิยายของ จขกท. เลยไม่ทราบว่ามีลักษณะเนื้แงเรื่องยังไง ที่เห็นด้วยเพราะว่านิยายที่จขกท.ว่ามันมีเส้นบางๆแบ่งระหว่าง

นิยายสะท้อนสังคม กับ นิยายเขียนเอาสนุก เอามัน ตามใจฉัน คือมันต่างกันนิดเดียวจริงๆนะ
เรามองว่านิยายสะท้อนสังคม พอผู้อ่านอ่านจบ จะสามารถฉุกคิดอะไรได้มากมาย มองอะไรละดอียดขึ้น

ในขณะที่นิยายเอามัน ตามใจฉัน  ผู้อ่านอาจมีอารมณ์คล้อยตาม แต่พออ่านจบก็คือจบ ไม่ค่อยมีอะไรให้หวนคิดถึงเท่าไหร่
 ก็ให้จขกท.พิจารณาด้วยตัวเองดีกว่าเนาะว่านิยายของจขกท.เป็นแบบไหน ที่แน่ๆ การเขียนนอยายต้องเปิดใจให้กว้างๆนะคะ

0
Sleepy-Chan 7 ต.ค. 58 เวลา 19:03 น. 6

แม้แต่คำว่า "สังคม" ในความคิดของคนแต่ละคนยังแตกต่างกันเลย
นักเขียนแต่ละคนก็เขียนนิยายสะท้อนสังคม(ของเขา)ออกมาแตกต่างกัน
ถ้าจะมีคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากเรามาเสนอแนวทาง
เราก็ควรรับฟังและตอบรับไปตามที่เราอยากจะเขียนก็เท่านั้น

นักเขียนมีอิสระที่จะเขียน แต่ไม่เป็นอิสระจากความคิดของตัวเอง
เราแสดงความคิดและตัวตนของตัวเองผ่านงานเขียน
เรายอมรับว่า ความจริงและตัวตนไม่ใช่สิ่งที่สวยงาม
แต่กระบวนการทำงาน(เขียน)จะกลั่นกรองมันออกมา
เหมือนการแกะสลักท่อนไม้ออกมาเป็นเครื่องเรือนที่สวยงาม

เราเห็นด้วยว่านักเขียน(ที่มีจิตสำนึกต่อสังคม)มีสิทธิ์จะเขียนยังไงก็ได้
คุณอาจจะไม่พอใจนิยายที่สอนผ่านคำพูดแบบโจ่งแจ้งเกินไป
แต่นั่นก็เป็นจริต เป็นรสนิยมของคุณ ซึ่งตรงนี้หลายคนก็แตกต่างกัน
ถ้านักอ่านของคุณมีรสนิยมไม่ตรงกับเรื่อง แต่ยังพอใจที่จะอ่านก็น่ายินดีนะคะ
ทั้งยังแสดงความคิดเห็นให้ด้วย ก็ถือว่าเป็นการตอบรับ แสดงถึงความสนใจนะคะ
คุณอาจจะกังวลว่า ถ้าไม่ทำตาม จะเสียนักอ่านบางส่วนไป แต่นั้นก็แล้วแต่คุณ..
ว่าเลือกที่จะรักษานักอ่านที่เอาใจใส่แต่ทำให้คุณต้องปรับเปลี่ยนแก้ไขเรื่องเยอะ
หรือเลือกที่จะเปิดรับนักอ่านหน้าใหม่ที่มีใจรักในรสนิยมของคุณ

0
แมวสีส้ม 7 ต.ค. 58 เวลา 19:25 น. 7

เราคิดเจ้าของกระทู้จะบอกว่านิยายประเภทแบบนี้ก็สั่งสอนสังคมได้ แต่ต้องมองมันให้ออก ไม่ใช่ไปตัดสินมันเลยว่าไม่ดี เพียงแต่ต้องวิเคราะห์ออกมาให้ได้เท่านั้น

ตรงวิเคราะห์เนี่ยแหละที่ยาก เพราะมันขึ้นอยู่กับนักอ่านแล้วว่าจะมีความสามารถได้มากน้อยแค่ไหน จะสามารถตีความได้ถึงระดับความคิดหลักของเรื่องรึเปล่า ซึ่งถ้าเป็นประเด็นอะไรที่ละเอียดอ่อนด้วยยิ่งต้องระวังมาก ถ้าคนอ่านตีความผิดไปมันก็ยิ่งเป็นผลเสียมาก มันถึงต้องมีวิชาพวกวิเคราะห์วรรณคดีไง The Lottery เราก็ได้เรียนจากวิชานี้นะ เด๋วๆ เราเรียนคณะเดียวกันป่ะเนี่ย ถ้าใช้แนะนำให้ลง " วิชาวรรณกรรมชายขอบ " ของภาควรรณคดีเปรียบเทียบ ตัวนี้เด็ดทั้งเนื้อหาและครูสอน ได้เรียนเรื่องแบบนี้แบบสุดติ่ง อ่านนิยายที่เคยเป็นนิยายต้องห้ามด้วย รุ่นพี่รับประกัน 555

ส่วนจะแต่งนิยายต่อยังไงก็แล้วแต่ จขกท นะ สู้ๆ
0
คุณพีทคุง พิธันดร 7 ต.ค. 58 เวลา 20:51 น. 8

กระทู้นี้ผมอ่านแล้วรู้สึกกลางๆ ยังไม่ตัดสินไปทางใดทางหนึ่ง

นิยายแนวเรียลลิสซึ่มสะท้อนสังคมนั้นมี และดีด้วยครับ นิยายของนักเขียนชั้นครูในช่วงสี่สิบปีที่ผ่านมาก็มีลักษณะแบบนี้ทั้งนั้น (นึกถึงงาน อาจารย์ประภัสสร คุณวาณิช คุณชาติ คุณกฤษณา และอีกมากมาย)

แต่นิยายแนวสะท้อนสังคมนี้จะมีลักษณะเฉพาะอยู่อย่างคือ ไม่ใช่แนวพาฝัน (หรือประโลมโลกย์) โดยสิ้นเชิง

นิยายแนวพาฝันหรือประโลมโลกย์นั้น คือนิยายในหมวดรักทุกหมวดของเด็กดีนี่แหละครับ ไม่ว่าจะแนวหวานแหวว โรแมนติก คอมเมดี้ พวกนี้คือแนวพาฝันทั้งนั้น

เป็นไปได้มั้ยที่นิยายแนวพาฝันจะ "สะท้อนสังคม" เป็นไปได้ครับ และทำได้ และหลายคนทำได้ดีด้วย ลองอ่านงานแนวรักโรแมนติกอย่างของคุณกิ่งฉัตร แม้จะเป็นแนวสุข แต่ก็สะท้อนความเป็นจริงในสังคมหลายอย่างออกมาไม่น้อยเลยทีเดียว

แต่มันจะมีนิยายอีกส่วนหนึ่งซึ่งโดยลักษณะแล้วจัดเป็นนิยายพาฝัน แต่ว่ามีตัวละครหรือเรื่องราวบางอย่างที่ไม่ค่อยดีพร้อมนัก เช่น พระเอกเป็นแบดบอย พระเอกหรือนางเอกต้องการแก้แค้น มีปมทางจิตวิทยาบางอย่างในเรื่อง

นิยายกลุ่มนี้จัดว่าอยู่ในพื้นที่สีเทา คือถ้าเขียนได้ดี อย่างเป็นกลาง สามารถ "สะท้อนสังคม" ได้เหมือนกัน และสามารถเผยแพร่สารดีๆ ให้แก่สังคม ให้เห็นการปรับปรุงตัวของคน การสำนึกผิด หรืออื่นๆ

แต่นิยายที่อาจจะทำให้คนอ่านเกิดอาการชะงัก คือนิยายพาฝันที่ไม่ได้ "สะท้อนสังคม" แต่เลือกเอาส่วนที่เลวร้ายของสังคมมาเชิดชู อันนี้ผมคิดว่าต้องแยกจากกันให้ชัดเจนครับ

การสะท้อนให้เห็นส่วนที่เลวร้ายในสังคม กับการเชิดชูส่วนที่เลวร้ายในสังคมนั้น มันคนละเรื่องกัน

มันตรงกันข้ามกันด้วยซ้ำ

น่าตกใจที่ปัจจุบันนี้นิยายประเภทเชิดชูส่วนที่เลวร้ายในสังคมมีเยอะขึ้น เลยทำให้คนอ่านจำนวนหนึ่งเกิดอาการแหยง

ซึ่งก็มีผลเสียที่ตามมาคือ บางทีคนอ่านกลุ่มที่ "แหยง" ไปซะแล้ว พอมาเจอนิยายพาฝันที่ "สะท้อนสังคม" ได้จริงๆ (ไม่ใช่เชิดชูความเลว) อาจจะไม่ทันพินิจพิเคราะห์ให้ถี่ถ้วน แล้วชิงตัดสินไปก่อนเสียแล้วว่าเข้าข่ายนั้นแน่

อันนี้ก็ไม่เป็นธรรมสำหรับคนเขียนเหมือนกัน แต่ก็ต้องยอมรับว่าถ้าคนเขียนกล้าเลือกที่จะสร้างงานในพื้นที่สีเทาแล้ว ก็เป็นความเสี่ยงหนึ่งที่มันติดมาด้วยกัน (ผมคิดว่าตัวเองเข้าใจตรงนี้ดี เพราะงานเขียนบางเรื่องของผมก็อยู่ในข่ายพื้นที่สีเทาเหมือนกัน และผมสร้างงานอย่างตั้งใจและมั่นใจในจุดยืนของตัวเอง แต่เราก็ต้องยอมรับว่าแต่ละคนมี "เส้นแบ่ง" ให้กับพื้นที่สีเทานี้ไม่เท่ากัน)

เนื่องจากไม่รู้ว่าคุณ จขกท เขียนเรื่องอะไร ไม่เห็นตัวงาน ก็เลยไม่ออกความเห็นนะครับ ว่าส่วนตัวมองงานที่ถูกเมนต์ถึงเหล่านั้นว่ายังไง แต่ดูจากประโยคตัวอย่างก็นับว่ามีความเป็นพื้นที่ "สีเทา" อยู่พอสมควร

แต่ผมคิดว่าตัวคนเขียนแต่ละคนเองนั่นแหละครับที่จะตัดสินงานตัวเองได้ชัดเจนที่สุด ถ้าเรามองงานของตัวเองให้ชัดแล้วบอกได้ว่าเรากำลังสะท้อนอะไร หรือเชิดชูอะไร คำตอบมันก็อยู่ในนั้น เพียงแต่ในฐานะ "คนเขียน" ก็จำเป็นที่จะต้องใช้ทักษะฝีมือในการเขียนออกมาให้ตรงกับสิ่งที่เราต้องการมากที่สุด (เช่น ถ้าเราต้องสะท้อน แต่คนอ่านมองแล้วรู้สึกว่าเราเชิดชู อันนี้แม้ทัศนคติของเราจะน่านับถือ แต่ฝีมือเราก็ยังไปไม่ถึงจริงๆ)

ส่วนตัวผมเองในฐานะนักอ่าน ผมคิดว่าผมเปิดกว้างพอควรนะครับ นางเอกจะม่ีอะไรกับตัวร้ายตัวโกงก่อนพระเอกก็ไม่เห็นจะเป็นไร ถ้ามันเหมาะสมด้วยเหตุด้วยผลของเรื่อง ด้วยบุคลิกภูมิหลังของตัวละคร ขนาดพระเอกหลายเรื่องยังใช่ว่าจะบริสุทธิ์ผุดผ่องมาก่อนเจอนางเอกเสียเมื่อไหร่ (แต่ก็นั่นแหละ เส้นแบ่งในพื้นที่สีเทาของผมอาจจะไม่ตรงกับหลายคน)

สำหรับคนเขียนที่สร้างงานอย่างตั้งใจ และใคร่ครวญดีแล้ว ผมคิดว่าการเมนต์ของคนที่อ่านงานของเรามีประโยชน์ครับ ถ้าเขาอ่านแล้วรู้สึกตรงกันข้ามกับที่เราตั้งใจเขียน แสดงว่าเรามีจุดที่ยังต้องแก้ไข (ตอนผมเขียนผมก็ได้อาศัยเมนต์เหล่านี้แหละครับ ที่ช่วยให้รู้ว่าจะต้องอุดที่จุดไหน)

แต่ถ้ามีคนอ่านที่เขาไม่ได้ตั้งใจอ่านงานของเราจริงๆ เห็นแค่ผ่านๆ แล้วตื่นเต้นตกใจ อันนี้เราก็คงต้องทำใจครับ อย่างน้อยก็ถือว่าเขาตั้งใจดี อยากเห็นสังคมที่ดีสำหรับทุกคน เพราะต้องยอมรับว่า สังคมที่ดีสำหรับคนอื่น ก็คือสังคมที่ดีสำหรับเราและญาติพี่น้องลูกหลานเราเหมือนกัน

(ตอนแรกว่าจะเปรยนิดเดียว อดใจไม่ไหว จัดเต็มตุ่มเลย)


0
Whiteflower Ri 7 ต.ค. 58 เวลา 22:36 น. 9

เราว่ามันอยู่ที่ตัวเอกนะคะ  ถ้าตัวเอกเป็นคนดี  มีวิธีคิดที่ดี  คนอ่านจะเข้าใจได้ว่า จะสื่อไปในทางไหน ดีหรือไม่ดีนะคะ  แต่ถ้าตัวเอกดิบ เถื่อน ข่มขืนนางเอก ใช้อารมณ์เอาแต่ใจ  จะให้มองว่าดีได้ยังไง  

อยากให้มองเหมือนเวลาเราดูหนังนะคะ  ถ้าเราดูแล้วมันส์  เมื่อดูจบก็ได้แค่ความมันส์ทางอารมณ์  แต่หนังที่ดี  ถ้ามันมันส์ด้วย  แล้วตัวเอกมีคุณธรรมด้วย คุณจะไม่ใช่ได้แค่ความมันส์  แต่คุณจะรู้สึกประทับใจหนังเรื่องนั้นเลยจริง ๆ  แล้วคุณอยากให้นิยายของคุณเป็นแบบไหนลองเลือกเอานะคะ

มองโดยทั่วไปอาจไม่ผิด เพราะเป็นแค่การเสพสื่อปกติธรรมดา  แต่จริง ๆ แล้วมันอาจมีผลได้เหมือนกัน  เช่น  เด็กที่เล่นเกมออนไลน์มากเกินไป  จนวางแผนลวงแท็กซี่ไปปล้นฆ่า  มันมีมาแล้วในข่าวนะ ของจริงเลย  หรือเด็กที่อ่านการ์ตูน หนังลามก  ทำให้ไปข่มขื่นผู้หญิง คนแก่  ก็มีมาแล้วเพราะอ่านสื่อพวกนี้มาก ๆ  จะบอกว่า  ไม่มีผลมันไม่จริงหรอก  หรือถ้าเด็ก ๆ อ่านแต่นิยายที่มีความรุนแรงมาก ๆ คิดว่า  เมื่อเขาไม่พอใจอะไรขึ้นมา  จะไม่ใช้ความรุนแรงเหมือนในนิยายหรือเปล่า  มันซึมซับได้นะ ของแบบนี้  มันซึมซับแบบไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไป  มันมีผล  แต่อยู่ที่คนนั้นมีจิตสำนึก  มีภาวะจิตใจที่เข้มแข็งไม่ยอมความรู้สึกด้านมืดนั้นได้แค่ไหน  ลองคิดดูว่า  เราอ่านเรื่องที่ส่งเสริมให้เขารู้จักทำมาหากิน  ให้คนคิดดีทำดี  กับคนที่อ่านนิยายที่พระเอกรวย มีผู้หญิงหลงรักมากมาย  หรือเรื่องที่พระเอกดิบเถื่อน  คนไหนที่จะรู้จักทำมาหากินได้เก่งกว่ากัน  รู้ผิดรู้ถูกได้มากกว่ากัน

อยากบอกว่า สิ่งที่เราเขียนมีผลต่อคนอ่านไม่มากก็น้อยนะ  หากจะเขียนอะไร อยากให้รับผิดชอบต่อสังคมบ้าง 

0
I_am_Kuslin 8 ต.ค. 58 เวลา 15:17 น. 10

เขียนสะท้อนสังคมมันก็ได้ค่ะ แต่สะท้อนแบบสมเหตุสมผลนะคะ
เราอ่านนิยายแปลของอเมริกามา ตัวเอกได้กับผู้ชายแทบทุกคนในเรื่องค่ะ แถมยังทำแท้งลูกที่เกิดกับพระเอกเพราะความแค้นอีกด้วย นับว่าเป็นมุมมองที่สะท้อนสังคมและตัวเอกก็ดูเลวร้ายมาก ผลสรุปคือตอนจบผู้ชายทุกคนที่เธอมีอะไรด้วยเพื่อไต่เต้าไปแก้แค้นพระเอกให้สำเร็จไม่ใยดีเธอสักคน แล้วเธอก็ต้องอยู่คนเดียว โดนอดีตที่ตัวเองทำไว้คอยซ้ำเติมค่ะ
อีกเรื่องคือพระเอกเลวมาก เป็นมาเฟียค่ะ สุดท้ายโดนตำรวจยิงตาย อันนี้เราว่าสมเหตุสมผลนะ จะให้ตอนจบพระเอกไม่ตาย แต่ที่ผ่านมาเลวนี่มันก็ไม่ใช่นะคะ นิยายต้องสมเหตุสมผลและให้ข้อคิดกับคนอ่านค่ะ

ปล.เราอ่านกระทู้ของจขกท.แล้วรู้สึกว่าจขกท.มีความมั่นใจในตัวเองสูงเกินไป คุณทำราวกับว่างานของฉันติไม่ได้ แตะไม่ได้ค่ะ (ความรู้สึกส่วนตัว)

0
kochajung 11 ต.ค. 58 เวลา 19:51 น. 12

เห็นด้วยกับคอมเม้นที่สิบค่ะ การอยากเป็นนักเขียนต้องยอมรับคอมเม้นได้ค่ะ ความคิดไหนถูกก็เห็นเป็นถูก ผิดก็คือผิดไม่มีอะไรที่ต้องถือความทิถิ เพราะคอมเม้นบางอย่างถ้าไม่อยากอ่านมันก็ข้ามไปได้หรือไม่ก็ลองคิดว่าเราเป็นแบบที่เขาบอกมาหรือป่าว เราสนับสนุนนิยายที่สร้างสรรค์พร้อมกับนิยายที่สะท้อนสังคมแต่ก็ควรจะอยู่ในขอบเขตที่สมควร เพราะผู้อ่านเข้ามาอ่านทุกวัยไม่ว่าจะอายุ10ขวบจนถึง20ปี แต่ละวัยความคิดอาจจะไม่เหมือนกันหรอกค่ะ
ปล. เราเคยเขียนนิยายที่หยาบคายมาก่อนแต่ไม่เคยเผยแพร่ที่ไหน ตอนแรกๆก็สนุกดีเหมือนทำตัวเท่แต่พอกลับมาอ่านอีกทีก็เลยคิดได้ว่าทำไมเราทำตัวแบบนี้นะ มันจะมีความสุขหรอที่ได้เขียนนิยายแบบนี้แบบนั้น ก็เลยเปลี่ยนแปลงการเขียนตัวเองไปแต่ก็ยังไม่เคยเผยแพร่อยู่ดี อาย55+

0
Narumi Tsukiko 11 ต.ค. 58 เวลา 19:53 น. 13

นิยายมันจำเป็นด้วยเหรอว่าต้องจำกัดอยู่ในวงแคบๆอ่ะ เราว่าฉีกแนวกฎนิยายยังดูน่าสนใจที่ต้องตามกระเเสของคนอ่านนะ 

1
ขอร้องเพียงแค่นี 12 ต.ค. 58 เวลา 13:07 น. 13-1

ไม่น่าจะจำกัดอยู่ในวงแคบนะคะ นักเขียนสามารถสื่อสารเรื่องราวของตนในหลายรูปแบบ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องใส่ใจคือคนอ่านจะได้รับอะไรจากเรื่องของเรา เขียนเอาสนุกเพียงอย่างเดียว มันพอจริงหรือคะ

อย่างนิยายที่ฉีกจากสังคมในยุคก่อนๆ อย่างจันดารา นั่นก็ถือว่าได้รับการวิพากย์อย่างมาก แต่ในเนื้อในของนิยายยังแฝงแนวคิด คติที่สั่งสอนความดี ความชั่วในสังคม

ไม่ได้บังคับในการนำเสนอ แต่ร้องขอความรับผิดชอบต่อผู้อ่าน เพียงแค่นี้จริงๆ

0
นักอ่านเงา 11 ต.ค. 58 เวลา 20:37 น. 14

เราว่านักอ่านแต่ละคนเค้ามีวิจารณญาณอ่ะ เราว่าเค้ารู้นะว่าสิ่งไหนควรเลียนแบบหรือไม่ควรเลียนแบบ ไม่เชื่อลองไปอ่านคอมเม้นของนิยายแต่ละเรื่องดูสิ แล้วจะรู้เลย (เราชอบอ่านคอมเม้น มันเหมือนการรีวิวนิยายเรื่องนั้นๆก่อนว่าน่าอ่านหรือเปล่า)
ถ้าอยากอ่านนิยายสะท้อนสังคม สะท้อนความเป็นมนุษย์ สะท้อนสันดานของมนุษย์ เราไม่แนะนำนิยายรักทั่วไปอ่ะค่ะ เพราะรู้ๆกันอยู่ว่ามันคือนิยายรัก สร้างขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์ที่ห่างจากเรื่องของความเป็นจริงมากโขอยู่แล้ว อะไรจะเว่อร์ไปบ้างมันก็ไม่ผิดจุดประสงค์อ่ะ
ถ้าในรสนิยมของเรา เรามองว่านิยายรักก็อยู่ส่วนนิยายรัก นิยายสะท้อนสังคมก็อีกเรื่องหนึ่งเลย โดยส่วนตัวเราแนะนำนิยายของคุณภาคินัยนะ(เจ้าของบทประพันธ์นางชฎา) นิยายของคุณภาคินัยสะท้อนสังคมได้ดีจริงๆ เป็นแนวผีๆแต่ทุกเรื่อง ย้ำว่าทุกเรื่องสามารถถ่ายทอดความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ออกมาได้ดีมากๆ จนเชื่อเลยว่าถ้าเราอยู่ในสถานการณ์บีบบังคับแบบนั้นเราก็ต้องทำเหมือนอย่างที่ตัวละครตัวนั้นทำแน่ๆ อ่านแล้วมองโลกได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมอ่ะ ลองอ่านดูแล้วคุณจะรู้จักทาสแท้ของความเป็นมนุษย์จริงๆ อยากได้แง่คิดจากนิยาย อ่านนิยายแนวนี้ดีกว่าค่ะ รับรองถึงใจ

3
แค่อยากบอก 12 ต.ค. 58 เวลา 12:58 น. 14-1

นักอ่านมีวิจารณญาณก็ใช่คะ แต่ระดับไหนละคะ อย่างเด็กและเยาวชน แน่ใจได้อย่างไรว่าเขาจะไม่ตีความเข้าข้างตัวเอง เด็กวัยรุ่นไม่ใช่ผู้ใหญ่ไซส์เด็กนะคะ เขาคือเด็กน้อยในร่างผุ้ใหญ่ที่อาจกระทำผิดได้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์จากประสบการณ์อันเยาวัย และโลกทรรศน์อันแสนคับแคบ

สิ่งที่นักเขียนสื่อออกไปควรพิจารณาไตร่ตรองให้ถ้วนถี่ อย่าคิดว่าเขาต้องรับผิดชอบตัวเองอย่างเดียว สังคมเป็นความรับผิดชอบของเราทุกคน

0
นักอ่านเงา 14 ต.ค. 58 เวลา 16:50 น. 14-2

เรายืนยันค่ะว่านักอ่านทุกคนมีวิจารณญาณ ระดับไหน เราไม่รู้ แต่เราจะไม่คิดแทนนักอ่าน จะไม่คิดว่าเขาตีความเข้าข้างตัวเองหรือแยกไม่ออกว่าสิ่งไหนดีสิ่งไหนไม่ดี เราเองก็เป็นนักอ่านค่ะ เราอ่านหนังสือมามากและอ่านมาหลายแนว เราเชื่อว่าทุกคนมีความคิดความอ่านเป็นของตัวเองค่ะ เขาสามารถรู้ได้ว่าสิ่งไหนถูกสิ่งไหนผิด

ตัวคุณเอง คุณยังรู้เลยว่าสิ่งไหนดีสิ่งไหนไม่ดี แล้วทำไมถึงคิดว่าคนอื่นเขาถึงจะไม่รู้ล่ะคะ ลองคิดในมุมกลับดูบ้างนะคะ คิดในสิ่งที่มันสะท้อนออกมาจากตัวคุณ อย่าเอาแต่ความเชื่อของตัวเองเป็นที่ตั้งค่ะ ทุกอย่างมันมีสองมุมเสมอนั่นแหละ

0
แค่อยากบอก 19 ต.ค. 58 เวลา 22:32 น. 14-3

ขออภัยนะคะไม่ได้อยากโต้วาที แต่เห็นแล้วอยากคุยด้วยเท่านั้นเอง ตามที่นักอ่านเงาบอกว่ายืนยันว่าทุกคนมีวิจารณญาน แต่ระดับไหนคุณก็ยังไม่รุ้ เพราะอย่างนี้อย่างไรเล่าคะ ที่ต้องคิดจะคุยกัน คุณจะบอกว่า ไม่อยากคิดแทนนักอ่านไม่ได้หรอกคะ ต้องคิดก่อนที่จะเริ่มเขียน เริ่มเล่าเรื่องแล้ว

ไม่เถียงด้วยคะว่าทุกคนมีความคิดเป็นของตนเอง และที่รู้ว่าสิ่งไหนดีสิ่งไหนไม่ดี ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่รู้ คนที่ผ่านประสบการณ์มามากจะรู้ในทุกเรื่องหรอกคะ

กว่าที่คนคนหนึ่งจะผ่านวันเวลามาถึงจุดที่ยินกันอยู่นี้ได้ต่างก็ผ่านความผิดพลาดมาแล้วมากมาย บางสิ่งแก้ไขได้ บางสิ่งก็เก็บมาเป็นบทเรียน แต่บางเรื่องราวกลายเป็นบาดแผลฝังลึกและเจ็บปวดทุกครั้งที่นึกถึง สิ่งนั้นล้วนเกิดจากความไม่รู้

และเพราะผ่านมามากจึงได้เตือนให้นักเขียนทั้งหลายได้นึกถึงนักอ่านที่ผ่านอะไรมาน้อยๆ อ่อนประสบการณ์ มองโลกด้วยสายตาสีกุหลาบ เราต้องคอยประคับประคองเขา อย่าทำให้เขาต้องเข้าใจอะไรผิดๆ

เรื่องเล็กน้อยในสายตาของนักเขียนบางท่าน อาจก่อให้เกิดบาดแผลให้กับนักอ่านวัยเยาว์เหล่านั้นได้ เคยได้ยินเรื่อง บัตเตอร์ฟลายเอฟเฟกค์บ้างไหมคะ ปรากฎการณ์แค่ผีเสื้อขยับปีกอาจเปลี่ยนแปลงบางสิ่งไปตลอดกาลได้เลยทีเดียว

ยกตัวอย่างนะคะ ขอถามด้วยว่า ถ้านักเขียนทั้งหลายเขียนแต่เรื่องที่ชวนให้คิดว่าการถูกข่มเหง บังคับให้มีเพศสัมพันธ์จากฝ่ายชายทั้งที่ไม่เต็มใจเป็นเรื่องที่ชวนฝัน ก่อให้เกิดความโรแมนซ์ตามมา จะเกิดอะไรขึ้นละคะ

อันนี้ไปนึกต่อเอาเองเถอะคะ เพราะเชื่อว่าทุกท่านมีวิจารณญาน ... ^ ^


0
MijikO H. 11 ต.ค. 58 เวลา 21:09 น. 15

ถ้าเขียนแล้ว "ต้องมีภาคบังคับ" ขนาดนั้น
มันคือ "พิมพ์" แต่ไม่ใช่ งาน "ศิลป์"
ทำไม นิยายที่เขียนถึงยังเป็น ปลาว่ายน้ำในอ่างน้ำวน....
ชีวิตคนไม่ได้มีแค่บล็อคเดียว แต่หลายรูปแบบ จะจำกัดเหลือรูปแบบเดียวเป็นสูตรสำเร็จเลยหรอ?
คนยังกินข้าวหลายอย่าง แต่จะให้นิยายออกมารูปแบบเดียว... เบื่อมั๊ย ? 55555+ 

0
จิ้ง 11 ต.ค. 58 เวลา 23:04 น. 16

อื่ม ผมเข้าใจ จขกท.นะ อย่างประโยคแนะนำ(?)ที่ยกมานั่น ผมก็คงรู้สึกไม่ดีเหมือนกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องมองเนื้อหาสาระในตัวนิยายเรื่องนั้นๆ ด้วยแหละ มันให้อะไรในเชิงบวกแกคนอ่านมากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่สักแต่เขียนไปอย่างเดียว ไม่มีเหตุผล หรือเหตุผลย้อนแย้งกันเอง ขณะที่เรื่องบางเรื่องถ้ามันมีคำตอบ มีแง่คิดในเชิงบวกให้คนอ่าน ถึงการนำเสนอมันจะเป็นเรื่องในด้านลบ ผมก็ยังรู้สึกดีกับเรื่องราวนั้นน่ะ เอาง่ายๆ อย่างพวกละคร ที่เล่นประเด็นแรงๆ แต่มันก็ยังแผงแง่คิดเชิงบวกไว้มากด้วย ทองเนื้อเก้า มณีร้าว อะไรพวกนี้ 

ถ้าเลือกจะเขียนอะไรที่มันนำเสนอประเด็นว่าสิ่งที่ตัวละครแสดงออกไปมันดีหรือไม่ดีกันแน่ เราก็ต้องตอบคำถามคนอ่านให้ได้ด้วยอะไรครับว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น


0
Ambitious. 11 ต.ค. 58 เวลา 23:19 น. 17

 ไม่ต้องคิดมากนะครับ ผมคนนึงที่อยากจะเขียนนิยายแนวสะท้อนสังคม หลายคนอาจจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วย ก็ปล่อยเขาไป เราบังคับความคิดเขาไม่ได้ เราแค่ทำอย่างเต็มที่ เชื่อจริงๆว่าวงการน้ำหมึกในสมัยนั้นกับสมัยนี้ต่างกันมากจริงๆ แต่เราก็คำนึงถึงสิ่งที่เราสื่อให้แก่ผู้อ่านด้วยว่าจริงๆแล้วมันแรงเกินไปรึเปล่า บางคนรับได้ รับไม่ได้ แต่อยากให้ จขกท. คิดเอาไว้เสมอว่าการเขียนนิยาย แท้จริงแล้วเรารักที่จะทำสิ่งนี้จริงหรือ ถ้ารักเราก็สร้างผลงานของเราต่อไป อย่าได้ท้อหรือเบื่อความคิดอะไรต่างๆนานา แต่ก็เห็นด้วยความเห็นข้างบนเหมือนกัน 

0
เบื่อเหมือนกัน 11 ต.ค. 58 เวลา 23:59 น. 18

ในความคิดผมนะจะเขียนยังไงก็เขียนไปเถอะ มาตอนแรกฆ่ากันล้างโลก หรือ พระเอกเจ้าชู้ ท้องทั้งเมืองก็แล้วแต่เถอะ นิยายมันมีหลายแนวครับไอพวกที่บ่นๆมานั่นไม่รู้คิดยังไงบอกให้นึกถึงสังคม สังคมสมัยนี้ก็ไม่ได้ดีอะไรหรอกนะเคยอ่านข่าวมั้ย ฆ่ากันตายรายวันน่ะ ฆ่าข่มขืนก็มีบ่อย จะไปนึกอะไรอีกล่ะ-.- ผมว่าคุณเอารสนิยมตัวเอง
มาขัดจินตรนาการคนเขียนมากกว่า-.-

1
คิดให้มาก 12 ต.ค. 58 เวลา 13:02 น. 18-1

คะเขียนไปเถอะ อย่างไรก็ได้ แล้วหันมามองด้วยนะคะข่าวทั้งหลายแหล่ที่เกิดขึ้นในสังคม ส่วนหนึ่งที่มากทีเดียวที่เกิดจากพฤติกรรมเลียนแบบจากสื่อในโลกใบนี้อย่างไรเล่าคะ นั่นคือที่มาที่นักคิด ผู้ใหญ่หลายคนออกมาเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับสังคมในแง่ที่อาจเกิดการชักจูงใจผู้อื่นได้ หันมาให้ความสนใจและพิจารณาสิ่งที่ตนเองกระทำ

ไม่ใช่เขียนเพื่อความสะใจ แต่ต้องใส่ใจด้วยว่าเรื่องราวของเราอาจทำร้ายใครหรือไม่

คิดด้วยคะ คิดให้มาก ถ้าอยากเดินบนเส้นทางสายนี้

0