เจาะลึกวิชา "Computer Programming" ที่เด็กสถิติฯ บัญชีฯ ต้องเรียน

       การเรียนในมหาวิทยาลัย เป็นเสมือนห้องเรียนขั้นสุดท้ายก่อนไปทำงานจริง ดังนั้นวิชาเรียนจะเข้มข้นและหลากหลาย เพื่อที่ว่าวันใดวันหนึ่งเราจะได้นำความรู้เหล่านี้ไปใช้ได้จริงๆ วันนี้มีหนึ่งตัวอย่างของวิชาเรียน ที่มีคำถามว่าทำไมต้องเรียน และวิชานี้จะมีประโยชน์กับเรายังไงในอนาคต
        พี่มิ้นท์ได้รับเกียรติจาก ดร.พงษ์สิน ภูแสนคำ หรือ พี่เพียว ซึ่งเป็นอาจารย์พิเศษในภาควิชาสถิติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอนวิชา Software Engineering และ Database Programming ให้กับนิสิตสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อธุรกิจ เอ๊ะ! เด็กสถิติต้องเรียนด้าน Computer Programming ด้วยหรอ?


   Dek-D.com : พี่เพียวแนะนำตัวให้น้องๆ ชาว Dek-D.com รู้จักหน่อยค่ะ
   พี่เพียว :  วัสดีครับ พี่ชื่อ พงษ์สิน ภูแสนคำ หรือเรียกว่าพี่เพียวก็ได้ครับ เรียนจบปริญญาตรี โท และเอก จาก Carnegie Mellon University สาขา Computer Science ตอนนี้ก็ทำงานอยู่ที่ธนาคารกรุงไทย ทีม Data Innovation Lab เกี่ยวกับการทำนวัตกรรมวิเคราะห์ข้อมูลครับ และเป็นอาจารย์พิเศษที่ภาควิชาสถิติ คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) โดยก่อนหน้านี้เคยเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยมหิดล คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ด้วยครับ

   Dek-D.com : รายวิชาที่พี่เพียวสอน เรียนเกี่ยวกับอะไรคะ
   พี่เพียว : วิชาที่พี่สอนมีอยู่หลายวิชาครับ เช่น วิชา Software Engineering และ วิชา Database Programming ที่จุฬาฯ วิชา Software Quality Assurance and Testing ที่คณะ ICT มหาวิทยาลัยมหิดล และวิชา Computer Security ที่ MUIC ของมหาวิทยาลัยมหิดลครับ
                 ซึ่งสิ่งที่สอนหลักๆ ถ้าเอาให้น้องๆเข้าใจกันง่ายๆ คือ ในวิชา Software Engineering ก็จะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการและเทคนิคการสร้าง Software เพื่อให้ได้ Software ที่มีคุณภาพออกไปสู่มือผู้ใช้งาน ส่วนวิชา Database Programming นั้นก็จะสอนเน้นไปที่การเขียนโปรแกรมเพื่อให้จัดการข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการที่จะสร้างหรือผลิตอะไรออกมาซักอย่างนึงนั้น ปกติแล้วก็จะต้องมีการทดสอบเพื่อให้แน่ใจว่าใช้งานได้จริงใช่มั้ยครับ Software ที่เราผลิตขึ้นมาก็เช่นกัน ซึ่งการทดสอบ Software นั้นจะถูกสอนอยู่ในวิชา Software Quality Assurance and Testing โดยการทดสอบนั้นทำได้หลายมิติ เช่น ความถูกต้องแม่นยำ ความเร็ว และความปลอดภัย ซึ่งการทดสอบความปลอดภัยที่ว่านี้ เป็นตัวอย่างหนึ่งของสิ่งที่พี่สอนในวิชา Computer Security ครับ

   Dek-D.com : วิชานี้สำคัญกับเด็กสถิติฯ อย่างไรคะ
   พี่เพียว : การเขียนโปรแกรมสำคัญมากครับ เพราะงานวิเคราะห์ทางสถิติในปัจจุบันนั้นมักจะต้องวิเคราะห์กับข้อมูลจำนวนมาก ไม่สามารถทำด้วยมือได้ ดังนั้นเด็กสถิติฯจะต้องเขียนโปรแกรมเพื่อให้คอมพิวเตอร์ช่วยทำการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ แทนเรา อาชีพยอดฮิตในปัจจุบันอย่าง Data Scientist ก็เป็นอาชีพที่ต้องการทักษะความรู้ทางด้านสถิติและการเขียนโปรแกรมควบคู่กัน


 

   Dek-D.com : การสอน Computer Programming ในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ทั้งอาจารย์ผู้สอนและนิสิตต้องปรับตัวกันเยอะไหมคะ
   พี่เพียว : สำหรับพี่แล้ว พี่ในฐานะอาจารย์ผู้สอนต้องปรับตัวค่อนข้างมากครับ ปีแรกที่กลับมาสอนก็อยากจะสอนในรูปแบบที่ได้เรียนมา แต่กลับพบว่าไม่เข้ากับนิสิตเลย ก็เลยต้องกลับมาทำความเข้าใจพื้นฐานของนิสิต ซึ่งเป็นนิสิตปี 3  พบว่าความแตกต่างของนิสิตภาควิชาสถิติ ของที่จุฬาฯ กับภาควิชาสถิติของมหาวิทยาลัยอื่นๆ นั้นคือที่นี่อยู่ในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีแต่ที่อื่นจะอยู่ในคณะวิทยาศาสตร์ ดังนั้นนิสิตปี 3 ที่นี่จะได้เรียนรู้พื้นฐานทางด้านของธุรกิจที่มากและแตกต่างจากที่อื่น ส่วนทักษะทางด้าน Technical นั้นจะยังไม่แข็งแรงเท่า ตรงข้ามกันกับในกรณีของนิสิตปี 3 คณะวิทยาศาสตร์ พอพี่เห็นอย่างนี้ก็ทำให้ต้องกลับมาเปลี่ยนวิธีการสอนของตัวเอง แม้จะสอนเรื่องเดียวกัน แต่ต้องเปลี่ยนมุมมอง มาเสริมเน้นในส่วนที่นิสิตยังขาดไป
                ในส่วนของนิสิตก็ต้องปรับตัวเช่นกัน เขาจะได้รับงานที่เป็นงานปฏิบัติ ต้องลงมือทำ และศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเองมากกว่าที่เคยเจอกันมา ส่งโครงงานกันทุกสัปดาห์ ซึ่งก็เพื่อเสริมทักษะในส่วนของ Technical ที่พี่เห็นว่าเดิมเขายังขาดไป และพัฒนาดึงศักยภาพของนิสิตกลุ่มนี้ออกมาให้อย่างเต็มที่เพื่อนำไปสู่การทำงานในชีวิตจริงครับ

   Dek-D.com : จากที่พี่เพียวเรียน ตรี-โท-เอก เมืองนอกมาตลอด เห็นความแตกต่างในการเรียนมหาวิทยาลัย ระหว่างไทยและเมืองนอก อย่างไรบ้างคะ
   พี่เพียว : อย่างแรกเลย หลักเกณฑ์การศึกษาในมหาวิทยาลัยที่พี่เรียนมานั้นมีความยืดหยุ่นกว่า หากนักเรียนสมัครเข้ามาเรียนในสาขาหนึ่งสาขาใดแล้วพบว่าตนเองไม่ชอบหรือไม่ถนัด สามารถทำเรื่องเปลี่ยนสาขาได้เลย ไม่มีคำว่า “ซิ่ว” ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรมนุษย์ คือไม่ต้องรอสอบใหม่ปีหน้าหรือจำใจเรียนให้จบๆไป อาจารย์ก็ไม่ต้องสอนเด็กที่ไม่ได้อยากจะเรียน ซึ่งพี่คิดว่าความยืดหยุ่นนี้ช่วยให้นักเรียนของเขาใช้เวลาและทรัพยากรทางการศึกษาของมหาวิทยาลัยและของประเทศได้อย่างคุ้มค่ากว่าเรามาก
                 อย่างต่อมา คือ อิสรภาพในการเลือกทำกิจกรรม การเลือกวิชาเรียน ซึ่งไม่ได้ตีกรอบบังคับเท่าหลักสูตรไทย สามารถจัดวิชาเรียนให้เหมาะสมกับตัวเองได้ และสามารถเลือกลงวิชาที่ตนเองสนใจได้เยอะมาก ๆ ถึงแม้ว่าวิชาเหล่านั้นจะไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสาขาที่เราสมัครเรียนเข้ามาก็ตาม
                 และที่สำคัญที่สุด แต่ละวิชาจะมีการบ้านและโครงงานเยอะมาก ๆ เน้นการปฏิบัติจริง ซึ่งก็ทำให้ต้องมีบริการต่าง ๆ สำหรับนักศึกษา เช่น ห้องแล็บที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้อย่างเต็มที่ตลอดเวลา ไม่มีเวลาเปิดปิด

 
     Dek-D.com : หากเรียน Computer Science มาแบบพี่เพียว หรือ เรียนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อธุรกิจ สามารถทำงานอะไรได้บ้างคะ
     พี่เพียว : การเรียนด้าน Computer Science มีสายงานอาชีพอยู่มากมายครับ เช่น สายงานด้านโปรแกรมเมอร์ หรือ System Analysis น้องๆ จะได้เป็นผู้พัฒนา สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ หรือจะนำความรู้ด้านธุรกิจไปต่อยอดธุรกิจส่วนตัวก็ได้ครับ



   Dek-D.com : อยากให้พี่เพียวชวนน้องๆ มาเรียนด้าน Cumputer Science หน่อยค่ะ
   พี่เพียว :  Computer Science เป็นสาขาวิชาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีส่วนสำคัญมากในการพัฒนาประเทศของเรา และประเทศไทยก็ยังต้องการโปรแกรมเมอร์เก่งๆ อีกมาก ดังนั้น หากน้องๆ อยากเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนโลกผ่านเทคโนโลยี และสร้าง “อิมแพค” ให้โลกจดจำ เหมือนอย่าง Bill Gate ผู้ร่วมก่อตั้ง Microsoft และ Mark Zuckerberg ผู้ร่วมก่อตั้ง Facebook ซึ่งทั้งสองท่านนั้นสนใจการเขียนโปรแกรมตั้งแต่ยังเด็ก แล้วต่อยอดความรู้จนพัฒนาโปรแกรมที่มีผู้ใช้งานทั่วโลก พี่เชื่ออย่างยิ่งว่า Computer Science จะเป็นสาขาที่ตอบโจทย์น้องๆ มากที่สุดสาขาหนึ่งครับ

       พี่มิ้นท์เห็นด้วยกับพี่เพียวสุดๆ เลยค่ะว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นเรื่องสำคัญจริงๆ ในยุคนี้ เป็นความรู้ที่ไปสร้างนวัตกรรมเปลี่ยนโลกได้มากมาย การศึกษาไทยเองก็เริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยเพิ่มวิชาพื้นฐาน "การเขียนโปรแกรม" ให้กับเด็กประถมและมัธยมศึกษา เป็นปีแรกในปีการศึกษา 2561 นี้แล้วด้วยนะ อยากรู้รายละเอียด ตามไปทำความรู้จักวิชานี้ต่อได้ที่ (คลิก) 
พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น