โอกาสของเด็กไทยไปไกลสู่ซิลิคอนวัลเล่ย์ อธิการบดี ม.กรุงเทพ จับมือ Berkeley Skydeck Fund สานฝันสตาร์ทอัพ

กว่า 6 ทศวรรษที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ บ่มเพาะบัณฑิตคุณภาพ สู่โลกธุรกิจภาคอุตสาหกรรม และไม่เคยหยุดยั้งการพัฒนาและยกระดับการศึกษาให้กับเด็กไทยเพื่อไปยังเวทีระดับโลก มหาวิทยาลัยกรุงเทพในยุคดิจิทัล ภายใต้การนำทัพของอธิการบดีคนรุ่นใหม่ คุณแฌง-ภูรัตน์ โอสถานุเคราะห์ จะมีหมัดเด็ดอะไร ที่ปั้นเด็กไทยไปไกลสู่ซิลิคอนวัลเล่ย์  

อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพคนใหม่ แม้จะมีวัยเพียงแค่ 30 ปี และอาจเรียกได้ว่าเป็น อธิการบดีที่มีอายุน้อยที่สุดคนหนึ่ง แต่กลับมีประสบการณ์การทำงานในระดับอาเซียนและระดับโลกมาอย่างโชกโชน ทั้งการเป็นหุ้นส่วนและทำงานวาณิชธนกิจ (Investment Banking) ในประเทศสิงคโปร์ ดูแลการลงทุนของบริษัทขนาดกลางถึงใหญ่ รวมถึงงานในวงการเทคโนโลยีด้านการเงิน (FinTech) และเป็นกำลังสำคัญในการพาโอสถสภาเข้าตลาดหลักทรัพย์  

มหาวิทยาลัยกรุงเทพในวันนี้ จึงมีกลิ่นอายของโลกการทำงานจริงให้นักศึกษาได้เรียนรู้ และสัมผัสกับของจริง ก่อนเริ่มต้นชีวิตการทำงาน ซื่งถือเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายสำคัญ ที่ต้องการลดช่องว่าง (Bridging the gap) ระหว่างภาคอุตสาหกรรม กับภาคการศึกษา

“การที่ผมได้ผ่านโลกธุรกิจ การลงทุน ได้เห็นบริษัทหลายแบบในหลายอุตสาหกรรม จึงนำเอาการเรียนรู้ที่ได้รับจากตรงนั้น เช่น พันธมิตร Ecosystem เข้ามาลดช่องว่างระหว่างภาคการศึกษา และภาคอุตสาหกรรม” นั่นก็คือ การผลิตบัณฑิตออกไปไม่ใช่แค่พร้อมทํางาน แต่ยังสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรนั้นได้ทันที

แนวคิด Bridging the gap ที่คุณแฌงเน้นย้ำกับทีมผู้บริหารอยู่บ่อยครั้ง เพื่อลดช่องว่างระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม โดยการเชื่อมหลักสูตรการศึกษา กับการทำงานจริง จึงเป็นที่มาของการร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และพันธมิตรทางธุรกิจจากซิลิคอนวัลเล่ย์ จัดกิจกรรมแข่งขันเฟ้นหา Startup พร้อมนำเสนอโมเดลธุรกิจ

“ผมได้นำกองทุนพัฒนาธุรกิจ (Accelerator fund) ชื่อ Berkeley SkyDeck Fund เป็นกองทุนสนับสนุนสตาร์ทอัพ ระดมทุนจากชิลิคอนวัลเล่ย์ทั่วโลก หลายร้อยล้านเหรียญ เข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ จัดกิจกรรมที่ชื่อว่า BU X Berkeley SkyDeck Fund Hackathon ปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 แล้วดย ทาง Berkeley จะเข้ามาร่วมตัดสินผลงานของนักศึกษาที่ส่งแผนธุรกิจเข้ามาประกวด” 

BU X Berkeley SkyDeck Fund Hackathon เปิดรับสมัครนักศึกษาของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ ที่เป็นพาร์ตเนอร์ โดยใน 1 ทีมจะมีนักศึกษาต่างคณะร่วมกันทำงาน เป็นการ Cross faculty group มี Mentor จากกลุ่มลงทุนธุรกิจ เป็นการสร้างประสบการณ์ทำงานจริง ของการเป็น Startup ที่ประสบความสำเร็จในอนาคต

สำหรับหลักสูตรและกระบวนการสอน คุณภูรัตน์ให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่ม ซึ่งการศึกษาคือต้นน้ำของการสร้างคุณค่า ที่จะต่อยอดให้ทั้งประเทศและเด็กรุ่นใหม่ ถึงแม้ว่ามหาวิทยาลัยกรุงเทพมีดีเอ็นเอ ของการเป็นมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์ (Creative University) แต่คุณภูรัตน์มีมิชชั่นใหญ่ในการนำพาความคิดสร้างสรรรค์ให้ไปสู่ฝั่งธุรกิจ จากนี้สายสร้างสรรค์จะต้องเรียนรู้โมเดลธุรกิจ คณะที่เด็กที่เรียนสายธุรกิจ ก็ต้องนำความคิดสร้างสรรค์มาปรับใช้กับแผนธุรกิจ เพื่อให้นักศึกษามีศักยภาพในการทำงานสูงสุด ซึ่งการจะไปสู่จุดนั้นได้ มหาวิทยาลัยต้องมีพันธมิตร ช่วยผลักดัน “เราสร้างพันธมิตรกับ “SkillLane” พัฒนาบทเรียนออนไลน์ ต่อยอดการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อตอบรับความต้องการของผู้เรียนที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงร่วมมือกับกองทุนพัฒนาธุรกิจ (Accelerator fund) Berkeley SkyDeck Fund ในการจัดกิจกรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับนักศึกษา”

นอกจากนี้มหาวิทยาลัยกรุงเทพยังปรับปรุงโมเดลหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม  

1. Creative Cluster ได้แก่ คณะนิเทศศาสตร์ คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ คณะศิลปกรรม และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  

2. Business Cluster ได้แก่ คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ คณะบัญชี คณะบริหารธุรกิจ คณะเศรษฐศาสตร์และการลงทุน คณะนิติศาสตร์ และคณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว  

3. Innovative Cluster ได้แก่ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม และคณะวิศวกรรมศาสตร์

ด้วยแนวความคิดในการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มเมื่อเริ่มทำงาน เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำทางการศึกษาในระดับอาเซียน และในระดับโลก มหาวิทยาลัยกรุงเทพจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ สำหรับนักศึกษารุ่นใหม่ ที่ต้องการลงสังเวียนจริงในโลกธุรกิจ

 

ข่าวประชาสัมพันธ์
ข่าวประชาสัมพันธ์ - Columnist ข่าวประชาสัมพันธ์ภายในเว็บไซต์ Dek-D.com

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น