ก้าวสู่ทศวรรษที่ 7 ของการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกในดินแดนล้านนา มีการเปิดการเรียนการสอนมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2507 มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยอย่างไม่หยุดนิ่ง จากผลสำเร็จของการดำเนินงานที่ผ่านมากว่า 60 ปี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้มีความก้าวหน้าและพัฒนาขึ้นจนเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำลำดับต้นๆ ของประเทศและพร้อมทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง
ศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึง ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา และเป้าหมายของมหาวิทยาลัยว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดทำแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 13 (พ.ศ.2566-2570) เพื่อเป็นแผนกลยุทธ์ที่มีเป้าหมายสำหรับขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดยรวม มีการกำหนดวิสัยทัศน์ให้เป็น “มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม” และกำหนดเป้าหมายการบรรลุวิสัยทัศน์ในปี 2570 ไว้ 3 ประเด็น ได้แก่ 1) ได้รับการจัดอันดับจาก Time Higher Education University Impact Ranking (THE UIR) อยู่ใน 50 อันดับแรกของโลก 2) ผลการประเมิน Socio-Economic Impact 60,000 ล้านบาท และ 3) ได้รับรางวัล Thailand Quality Class Plus (Innovation) :TQC+ (Innovation) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายวิสัยทัศน์ดังกล่าว มหาวิทยาลัยได้กำหนดวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์เพื่อสร้างความยั่งยืน 6 ด้าน คือ ด้านนวัตกรรมเศรษฐกิจฐานชีวภาพ ด้านนวัตกรรมการแพทย์ สุขภาพและการดูแลผู้สูงอายุ ด้านล้านนาสร้างสรรค์ ด้านการจัดการศึกษา ด้านการวิจัยและนวัตกรรม และด้านบริหารจัดการองค์กรเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พัฒนาการอย่างต่อเนื่องตลอด 6 ทศวรรษที่ผ่านมา มีการสั่งสมความรู้และ พัฒนาการอย่างต่อเนื่องและโดดเด่นในหลายสาขา ในปี 2567 ที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัยได้มุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง มีผลงานที่เห็นถึงความก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายด้าน
ในปี 2567 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อยู่ในอันดับ 75 อันดับแรกของโลก จาก 2,152 สถาบัน จากการจัดอันของ Time Higher Education University Impact Ranking (THE UIR) ทั้งนี้การจัดอันดับดังกล่าวใช้เกณฑ์การประเมินมหาวิทยาลัยตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ United Nations โดยครองอันดับ 1 ของประเทศ 4 ปีซ้อน ด้าน SDG 13 Climate Action และยังเป็นอันดับ 1 ของไทยด้าน SDG 4 Quality Education และ SDG 5 Gender Equality และเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ ด้าน SDG 9 Industry, Innovation and Infrastructure ซึ่งจากผลการจัดอันดับครั้งนี้ สะท้อนถึงการก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน และจะยังคงมุ่งมั่นสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยนวัตกรรม อย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 13
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่น ด้านนวัตกรรม ประจำปี 2566 (Thailand Quality Class Plus : Innovation หรือ TQC+ Innovation) จากสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม ด้วยวิสัยทัศน์ “มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม” มช. มีเป้าหมายในการบูรณาการพัฒนางานวิจัยและเทคโนโลยีที่หลากหลาย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตอบโจทย์ความต้องการ และเทรนด์ของเทคโนโลยีในระดับโลก เช่น พลังงานสะอาด พลังทดแทน หรืออุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ ทั้งได้ดำเนินงานร่วมกับนักวิจัยในหลากหลายสาขา ผ่านโครงการต่อยอดเทคโนโลยีสู่การเป็นนวัตกรรมที่โดดเด่นของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผ่านการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา องค์ความรู้ที่มหาวิทยาลัยมีความเชี่ยวชาญ และถ่ายทอดเทคโนโลยีเหล่านั้นสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ชุมชนหรือธุรกิจสามารถนำองค์ความรู้นั้นไปใช้ในการสร้างรายได้ สร้างอาชีพ ต่อยอดสู่การแก้ปัญหาของชุมชนและสังคมได้ โดยมหาวิทยาลัยมีการนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ในการดำเนินงานเพื่อการบริหารจัดการที่เป็นเลิศ รวมทั้งมีการนำเอาข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อใช้ในการสนับสนุนการตัดสินใจ เพิ่มศักยภาพกระบวนการทำงานทุกด้านให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และการมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ (Smart University)
ทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัยได้มุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง มีผลงานที่เห็นถึงความก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายด้าน รวมถึงเป็นต้นแบบให้แก่ชุมชนสังคมนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็น
ด้านบริหารจัดการพลังงาน ศูนย์บริหารจัดการชีวมวลแบบครบวงจร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สามารถผลิตก๊าซชีวภาพโดยนำไปปรับปรุงคุณภาพและนำไปผลิตเป็นไฟฟ้าเพื่อใช้ภายในศูนย์ฯ ผลิตเป็นก๊าซไบโอมีเทนอัดสำหรับยานยนต์ใช้ในระบบขนส่งของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ลดปริมาณการกำจัดขยะ สามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 10,900 ตันคาร์บอนต่อปี ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน มช. ที่สามารถระบุตำแหน่งรถและที่นั่งแบบ Realtime ผ่าน CMU Mobile มุ่งสู่การเป็นต้นแบบอัจฉริยะ พลังงานสะอาด ถนนต้นแบบบจากพลาสติกรีไซเคิล การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์อีเว้นท์ของมหาวิทยาลัย เป็นต้น
ด้านการดูแลสุขภาพ มช. มีศูนย์สุขภาพมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ไผ่ล้อม) ซึ่งเป็นศูนย์กลางการดูแลสุขภาพแบบครบวงจร มีบริการห้องตรวจโรคทั่วไป ร้านยา คลินิกทันตกรรม คลินิกกายภาพ คลินิกสุขใจ (CMU Minds) ที่คอยให้หคำปรึกษาและดูแลสุขภาพจิตใจ
ด้านการพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อยู่ในอันดับ 3 ของโลก ด้าน Student Support & Engagement จากโครงการ “Token to Care เงินหาย เงินหมด อย่าอดข้าว” โดยเป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกด้านนวัตกรรมจาก WURI Ranking 2024 ซึ่งประเมินจากการมีส่วนร่วมของสถาบันอุดมศึกษาที่มีต่อภาคอุตสาหกรรมและสังคม มุ่งเน้นนวัตกรรมการศึกษา การวิจัย และการมีส่วนร่วมต่อสังคม มีนักศึกษาได้รับความช่วยเหลือมากกว่า 2,000 คน
ด้านบริการวิชาการ มีการนำองค์ความรู้ ต้นแบบไปพัฒนาชุมชนสังคมและประเทศ อาทิ นวัตกรรมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มีการสร้างเครื่องเติมอากาศบริสุทธิ์: Smart Clean Air System นวัตกรรมหน้ากากความดันบวกสำหรับเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า เครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ นวัตกรรมแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมในภาคเหนือ เป็นต้น
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มุ่งมั่นระดมองค์ความรู้จากทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัย สร้างสรรค์ประโยชน์แก่ชุมชนสังคม พร้อมร่วมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ นำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก้าวสู่ทศวรรษที่ 7 เป็น “มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยนวัตกรรม” อย่างเต็มภาคภูมิต่อไป
0 ความคิดเห็น