นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการติดตามโครงการส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตรและประมง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งมีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมการข้าว กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมประมงบูรณาการร่วม โดยมีสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ดำเนินการติดตามประเมินผล ซึ่งโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายผู้ผลิตที่มีองค์ความรู้การจัดการธุรกิจ พัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีศักยภาพทางการตลาด สร้างองค์ความรู้พื้นฐานด้านบริหารจัดการทางการเงินการบัญชีแก่ผู้ประกอบการแปรรูปสินค้าเกษตร พัฒนาทักษะด้านการผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปให้กับวิสาหกิจชุมชน และยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสัตว์น้ำและถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ โดยปีงบประมาณ พ.ศ.2567 มีเป้าหมายในการพัฒนาการทำธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตรให้แก่สถาบันเกษตรกร 422 แห่ง เกษตรกร 4,023 ราย พัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเกษตร 386 ผลิตภัณฑ์ และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเกษตรไม่น้อยกว่าร้อยละ 4 กิจกรรมประกอบด้วย 1) จัดอบรมหลักสูตรการจัดทำแผนการเชื่อมโยงการผลิตและการตลาด 2) พัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว 3) สอนการทำบัญชีและติดตามการจัดทำบัญชี 4) พัฒนาทักษะวิสาหกิจชุมชนด้านการบริหารจัดการ การผลิตสินค้าเกษตรแปรรูป และ 5) ตรวจประเมินผลิตภัณฑ์ประมงเพื่อให้การรับรองมาตรฐานตราสัญลักษณ์ประมงธงเขียว
จากการติดตามการดำเนินงานโครงการ รอบ 12 เดือน (ตุลาคม 2566 – กันยายน 2567) พบว่า มีสถาบันเกษตรกรและสมาชิก ผ่านการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาการทำธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตร 422 แห่ง 4,151 ราย คิดเป็นร้อยละ 100 และ 103.18 ของเป้าหมาย ตามลำดับ ได้รับการฝึกอบรมด้านต่างๆ เช่น การวิเคราะห์ต้นทุนการผลิต การลดต้นทุนการผลิต และการเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อให้ได้ปัจจัยการผลิตราคาถูก โดยมีผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรแปรรูปได้รับการพัฒนา 410 ผลิตภัณฑ์ คิดเป็นร้อยละ 106.22 ของเป้าหมาย ซึ่งเป็นทั้งผลิตภัณฑ์ใหม่และผลิตภัณฑ์เดิมที่ได้รับการพัฒนา
อาทิ น้ำพริกปูนา ของวิสาหกิจชุมชนธนาคารปูนา ต.เมืองลีง อ.จอมพระ จ. สุรินทร์ เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของกลุ่ม ซึ่งได้รับการพัฒนาสูตร/ส่วนผสมให้มีรสชาติดี ถูกปากผู้บริโภค น่ารับประทาน และพัฒนาโลโก้และบรรจุภัณฑ์ (กระปุกพลาสติก) ให้สะอาด ดึงดูดลูกค้า
ข้าวแต๋นน้ำแตงโมตราแม่บัวบาน ของวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงโคบ้านหนองหล่มน้อย ต.ดอนหว่าน อ.เมือง จ.มหาสารคาม เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของกลุ่มที่มี ท็อปปิงโรยหน้าหลากหลาย ได้แก่ เมล็ดทานตะวัน เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ งาดำ และงาขาว ซึ่งได้รับการพัฒนากระบวนการผลิตให้สามารถผลิตได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง และพัฒนาฉลากและบรรจุภัณฑ์ (ถุงกระดาษคราฟท์ขยายข้างแบบมีซิปล็อก) ให้สวยงาม ทันสมัย ดูน่าเชื่อถือ
และข้าวสารตราวังสิม ของวิสาหกิจชุมชนข้าวอินทรีย์เพื่อสุขภาพบ้านโนนค้อ ต.ขี้เหล็ก อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด เป็นผลิตภัณฑ์เดิมของกลุ่มที่มีชนิดพันธุ์ต่าง ๆ เช่น ข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวฮาง ข้าวหอม 3 สี เป็นต้น ซึ่งได้รับการพัฒนาฉลากและบรรจุภัณฑ์ (กล่องกระดาษ ขนาดบรรจุ 1 และ 2 กิโลกรัม) ให้สามารถซื้อเป็นของฝากในช่วงเทศกาลต่าง ๆ ได้ จากการพัฒนาดังกล่าว ส่งผลให้กลุ่มเพิ่มขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการ การผลิต และการตลาดผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเกษตร โดยสมาชิกให้ความร่วมมือในการดำเนินงานต่างๆ ของกลุ่มเป็นอย่างดี สามารถผลิตสินค้าได้ตามคำสั่งซื้อ มีการนำผลิตภัณฑ์ไปประกวดและออกบูธเพื่อประชาสัมพันธ์และจำหน่ายสินค้าตามงานต่าง ๆ ทั้งในและนอกพื้นที่ อาทิ งาน OTOP เมืองทองธานี ทั้งนี้ สินค้าของกลุ่มที่ส่งไปจำหน่ายตามสถานที่ต่างๆ ยังไม่เคยถูกส่งกลับ และกลุ่มมีตราสินค้าเป็นของตนเอง
สำหรับความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมโครงการ พบว่า มีความพึงพอใจต่อการดำเนินโครงการอยู่ในระดับมากที่สุด อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินโครงการดียิ่งขึ้น ผู้เข้าร่วมโครงการเห็นว่าการดำเนินโครงการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ควรพัฒนา และขยายเพิ่มเติมในพื้นที่ ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการตลาด การจัดทำบัญชี และควรส่งเสริมอย่างต่อเนื่องในวิสาหกิจชุมชนเดิมที่ได้รับการส่งเสริมเพื่อให้สามารถจัดทำบัญชีที่เป็นระบบได้ รวมถึงการสนับสนุนแหล่งเงินทุนเพื่อให้สถาบันเกษตรกรใช้ในการก่อสร้างอาคารและซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการผลิต ตลอดจนขยายกิจกรรมให้การรับรองมาตรฐาน “ตราประมงธงเขียว” เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรได้รับการรับรองให้มากขึ้น เป็นต้น สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สศก. มีแผนติดตามโครงการส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตรและประมงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่และกลุ่มเกษตรกรแห่งใหม่ที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการจะได้ดำเนินงานส่งเสริมเพิ่มเติมจากปีงบประมาณที่ผ่านมา
0 ความคิดเห็น