มารู้จัก 3 ทฤษฎีทางจิตวิทยา ที่มาปรับใช้กับการเรียนได้!


          "ทำไมเราถึงตั้งใจเรียนเป็นพิเศษ ถ้าแม่บอกจะให้รางวัล" "ทำไมเราถึงนั่งเงียบในห้องเรียน ถ้ารู้ว่าจะโดนลงโทษ" น้องๆ เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้กันบ้างไหมคะ แล้วสงสัยบ้างรึเปล่า ว่าทำไมสิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลกับเรามากขนาดนี้
 

          การตั้งใจเรียน การใช้รางวัลเป็นเป้าหมาย ฯลฯ หลายเหตุการณ์สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีจิตวิทยาค่ะ วันนี้พี่อีฟเลยขอพาน้องๆ ไปรู้จักกับ 3 ทฤษฎีทางจิตวิทยาที่น่าสนใจ ที่น้องๆ หลายคนอาจจะรู้จัก และเคยได้ยินชื่อว่าน่าสนใจ แต่อาจจะยังไม่รู้ว่าเกี่ยวข้องกับอะไร ไปดูกันเลยดีกว่าค่ะ

  1.ทฤษฎีภูเขาน้ำแข็ง
        ถ้าพูดถึงภูเขาน้ำแข็ง น้องๆ หลายคนอาจจะนึกถึงหนังเรื่องไททานิค เพราะมีฉากที่สำคัญของเรื่องเลย คือตอนที่เรือไททานิคพุ่งเข้าชนภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งเจ้าภูเขาน้ำแข็งที่น้องๆ มองเห็นว่า ไม่ได้สูงใหญ่อะไรมากมาย แต่ทำไมสามารถทำให้เรือไททานิคล่มได้ ทั้งๆ ที่ตอนนั้นได้รับขนานนามว่า เป็นเรือที่ไม่มีวันจม ก็เพราะจริงๆ แล้ว ส่วนที่น้องๆ เห็นโผล่พ้นน้ำขึ้นมาเป็นภูเขาน้ำแข็งนั้น คิดเป็นเพียง 1 ใน 10 ส่วนเท่านั้นค่ะ ใต้มหาสมุทรนั้นยังมีส่วนที่ใหญ่กว่ามาก
      
ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) บางคนอาจจะคุ้นกับชื่อ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ ได้ใช้รูปแบบที่เรารู้จักเกี่ยวกับภูเขาน้ำแข็ง เปรียบเทียบกับคนว่า จิตใต้สำนึกของคนเราเหมือนกับภูเขาน้ำแข็งส่วนที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งมีเยอะมาก ทั้งอารมณ์และความรู้สึกที่หลากหลาย ซึ่งต่างจากส่วนที่โผล่พ้นน้ำ ที่เป็นส่วนอารมณ์และความรู้สึกที่เรารู้ตัวค่ะ โดยปกติแล้วเราจะไม่ค่อยใช้จิตใต้สำนึกแสดงออกมากนัก แต่ถ้าเราเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ทำให้เกิด ความโกรธ ตกใจ ดีใจ ฯลฯ เราก็อาจจะแสดงสิ่งที่อยู่ภายใต้จิตใต้สำนึกของเราโดยไม่รู้ตัว เปรียบเหมือนตอนที่คลื่นต่างๆ มากระทบภูเขาน้ำแข็ง ก็จะทำให้ภูเขาน้ำแข็งเอียงไปตามแรงคลื่น และเผยให้เห็นส่วนที่อยู่ใต้น้ำได้ เช่น เวลาที่เราตกใจแล้วทำหน้าแปลกๆ อุทานคำประหลาด หรือเวลาที่เราดีใจแล้วกระโดดโลดเต้นแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
          
สิ่งที่เราต้องระวังให้ดีก็คือ อย่าให้จิตใต้สำนึกของเรามามีอิทธิพลเหนือตัวเราได้ค่ะ อย่าลืมมีสติอยู่เสมอ เพราะถ้าสิ่งที่มากระทบน้องๆ ไม่ใช่ความตกใจ ไม่ใช่ความดีใจ แต่คือความโกรธ ลองนึกดูว่าถ้าเพื่อนๆ มาแกล้งเรา หรือถ้าเป็นวันที่เราผิดหวัง จากผลการเรียน แล้วเราไม่มีสติเลย จิตใต้สำนึกของเราที่แสดงออกมา อาจจะทำร้ายเรามากกว่าที่เราคิดก็ได้ค่ะ
 

ขอบคุณรูปภาพประกอบจาก pixabay.com

   2. ทฤษฎีการวางเงื่อนไข
       เคยมีน้องๆ คนไหน ที่เคยเดินหลงทางบ้างรึเปล่า เชื่อว่าถ้าได้ลองหลงทางแต่ละครั้ง ต้องใช้เวลานานแน่นอน แต่พอหาทางออกได้แล้ว ให้กลับมาหลงอีกรอบ คราวนี้ก็สบายแล้วค่ะ แต่ทฤษฎีนี้ง่ายกว่านั้นค่ะ เพราะเป็นทฤษฎีที่เรียนรู้มาจากพฤติกรรมของหนูที่หิวตัวหนึ่ง
        สกินเนอร์ (Skinner) ได้พัฒนาทฤษฎีของตัวเอง (ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบการกระทำ)
 มาจากทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิกของพาฟลอฟ แต่เลือกมุมมองต่อวิธีการวางเงื่อนไขให้แตกต่างกัน โดยสกินเนอร์ได้พิสูจน์ทฤษฎีของตัวเอง ด้วยการทดลองกับหนู โดยการใส่หนูที่กำลังหิวเข้าไปในกล่องที่มีกลไกสำหรับการให้อาหาร ถ้าหนูไปแตะที่คาน จะมีอาหารหล่นลงมา 1 ชิ้น ซึ่งตอนแรกที่หนูเข้าไปในกล่อง หนูก็ยังวิ่งวนไปรอบๆ กล่องค่ะ จนกระทั่งครั้งหนึ่งที่หนูเผลอไปโดนคาน ทำให้อาหารหล่นลงมา หนูจึงได้กินอาหาร หลังจากที่สกินเนอร์ทำแบบนี้ซ้ำๆ ก็พบว่าหนูสามารถวิ่งตรงไปที่คานทันทีที่จับหนูใส่กล่องได้เลย พฤติกรรมนี้ทำให้พบว่า หนูเกิดการเรียนรู้แล้ว
       
ทฤษฎีของสกินเนอร์ถูกนำมาใช้เป็นต้นแบบของการเรียนการสอน รวมไปถึงชีวิตประจำวันมากมาย เช่น การชมเมื่อใครสักคนทำดี ก็จะทำให้คนๆ นั้น มีกำลังใจที่จะทำดีต่อไปเรื่อยๆ หรือการเก็บสแตมป์แลกรับของรางวัลจากร้านค้า สิ่งเหล่านี้ทำให้เราสามารถแสดงพฤติกรรมที่ผู้วางเงื่อนไขต้องการได้ เช่น ทำให้เราต้องซื้อของเพื่อได้รับสแตมป์ หรือถ้าเราเจอเงื่อนไขว่า ถ้าตั้งใจเรียนแล้วจะได้รางวัล ก็จะทำให้เราตั้งใจเรียน เพื่อให้ได้รับรางวัลค่ะ
 

   3. ทฤษฎีหมวก 6 ใบ
          ถ้าถามว่าในแต่ละวัน มีกิจกรรมไหนที่เราทำมากพอเทียบเท่ากับการหายใจ พี่อีฟเชื่อว่าคงเป็น การคิด แน่นอน ซึ่งทุกสิ่งที่เราแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นการพูด การเดิน การวิ่ง ล้วนมาจากการคิดก่อนทั้งนั้น อาจจะไม่ยากค่ะ ถ้าสิ่งที่เราคิดเป็นเรื่องของเราเอง แต่ถ้าหากเป็นการทำงานร่วมกันล่ะคะ ต้องมีความคิดมากมายแน่นอนในการทำงาน และคงดีถ้าทุกคนมองเรื่องเดียวกัน แบบเข้าใจตรงกัน
          ดร. เอ็ดเวิร์ด เดอ โบ โน (Dr. Edward de Bono) ได้เสนอวิธีคิดแบบหมวก 6 ใบ (Six Thinking Hats) โดยให้หมวกสีต่างๆ แทนลักษณะการคิดที่แตกต่างกัน ดังนี้
 
 - หมวกสีขาว แสดงถึงความเป็นกลาง เช่น ข้อมูล ตัวเลข ถ้าการคิดร่วมกันในทีม แล้วทุกคนสวมหมวกใบนี้ แสดงว่าต้องการข้อเท็จจริง ไม่ใช่ข้อคิดเห็น
   
- หมวกสีแดง แสดงถึงความรู้สึก เช่น ชอบ ไม่ชอบ ดี ไม่ดี ถ้าการคิดร่วมกันในทีม แล้วทุกคนสวมหมวกใบนี้ แสดงว่าเราสามารถบอกความรู้สึก และข้อคิดเห็นของเราได้เต็มที่
   - หมวกสีเหลือง แสดงถึงความคิดที่มีประโยชน์ เช่น จุดเด่น ข้อดี ถ้าการคิดร่วมกันในทีม แล้วทุกคนสวมหมวกใบนี้ แสดงว่าต้องการความคิดสำหรับการแก้ปัญหา การหาทางเลือกอย่างเหมาะสม
   - หมวกสีดำ แสดงถึงการปฏิเสธ หรือความคิดที่ระมัดระวัง เช่น จุดด้อย ความเหมาะสมในการทำ ถ้าการคิดร่วมกันในทีม แล้วทุกคนสวมหมวกใบนี้ แสดงว่าทุกคนสามารถพูดถึงจุดด้อย อุปสรรค หรือความระมัดระวังในการทำงานได้
   - หมวกสีเขียว แสดงถึงโอกาส ความคิดใหม่ๆ หรือสิ่งที่เป็นประโยชน์ ถ้าการคิดร่วมกันในทีม แล้วทุกคนสวมหมวกใบนี้ แสดงว่าต้องการความคิดใหม่ๆ หรือความคิดสร้างสรรค์ หรือการหาทางออกของอุปสรรคการทำงานค่ะ
   - หมวกสีน้ำเงิน หรือหมวกสีฟ้า แสดงถึงการคิดแบบมีระเบียบ จัดระเบียบความคิด วางแผนการทำงาน ถ้าการคิดร่วมกันในทีม แล้วทุกคนสวมหมวกใบนี้ แสดงว่าต้องการการคิดเพื่อให้เกิดความชัดเจน คิดรวบยอด มีข้อสรุป และยุติข้อขัดแย้ง
          ลองหยิบวิธีคิดนี้ไปใช้กับการทำงานได้ทุกอย่างเลยนะคะ ไม่ว่าจะเป็นงานเดี่ยวของเราเอง ที่สามารถสวมหมวก 6 ใบสลับกันไปมาได้ หรือจะเป็นงานกลุ่มที่ลองให้เพื่อนๆ ทุกคน สวมหมวกแต่ละใบไปพร้อมๆ กัน รับรองว่าการทำงานของน้องๆ ในครั้งต่อไป ต้องราบรื่นและได้งานที่มีประสิทธิภาพแน่นอนค่ะ

 

ขอบคุณรูปภาพประกอบจาก https://highlandliteracy.com/reading-2/de-bonos-six-hats/

          ใครเคยคิดว่าเรื่องเกี่ยวกับจิตวิทยาจะเป็นเรื่องยาก หรือซับซ้อน ถ้าได้ลองอ่านมาถึงตรงนี้ อาจจะพบว่าไม่ได้ยากอย่างที่คิดก็ได้ใช่ไหมคะ หรือถ้าใครยังรู้สึกว่ายาก อาจจะลองหาทฤษฎีอื่นที่น้องๆ สนใจมาอ่านเพิ่มเติมได้ แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ อย่าลืมเรียนรู้และนำมาปรับใช้กับตัวเองด้วยนะคะ
 
ขอบคุณข้อมูลจาก
http://elearning2.utcc.ac.th/officialtcu/econtent/HG022/loadlesson1.pdf
เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน. หนังสือ Six Thinking Hats : หมวก 6 ใบ คิด 6 แบบ
พี่อีฟ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
KaraKuRi aiKana Member 8 พ.ย. 59 21:47 น. 2

จากการเปรียบเทียบในความคิดเรา

ทฤษฎีที่1 เหมือนเกี่ยวกับอารมณ์ของตัวเรา ถ้าเป็นเด็กเก็บกดเวลาโกรธยี่คงระเบีดออกมาไม่ยั้งแน่นอน ส่วน-ที่ว่าสอบได้ตะแนนไม่ดีแล้วซึมเศร้าขึ้นอยู่กับทางสภาพจิตใจของมนุษย์ด้วยเช่น คนที่มักถูกกดดันจากครอบครัวหรือสิ่งรอบตัวเสมอ เมื่อผิดหวังก็อาจจะซึมเศร้าเครียดจัดก็ได้ แต่ในกรณีถ้าสตรองพอก็จะฮึดสู้ก้าวต่อไปให้ดีกว่าที่เป็นก็ได้ อ่านหนังสือ

ทฤษฎีที่2 น่าจะเกี่ยวกับชีวิดประจำวัน เหมือนที่คุณครูพยายามให้เราแก้เลกซ้ำๆทวนให้มันจำให้ได้เลย แต่นักเรียนคงไม่รู้ตัวแถมเหนื่อย และ บ่นด้วยว่าจะให้เรียนอะไรหนักหนา//เราก็เป็นค่ะ ไม่ต้องว่าเรา(-_-)//มันเหมือนเป็นทำให้การจำทั้งทางสมอง และ ทางกายภาพมากกว่า เอ่อ..

ทฤษฎีที่3 รายนี้น่าจะเกี่ยวกับการทำงานแบบกลุ่มที่ต้องช่วยกันทำงานนั่นแหละ แต่ทุกคนมันมีความคิดไม่เหมือนกันและต่างกันจะมีถกเถียงกันบ้าง หรือ ไม่เห็นดีเห็นด้วยก็ไม่แปลก มันแสดงเถิงความตั้งใจที่พวกเค้ามีให้กับงาน ก็ยังดีกว่าคนไม่ทำอะไรเลยนั่นแหละ//ไม่ได้ตั้งใจว่าให้ใครนะ วาดภาพ

//อันนี้เป็นสิ่งที่เราตีความเองตามความเข้าใจ มีผิดพลาดอะไรก็บอกได้ เย้

0
กำลังโหลด
bobo 11 พ.ย. 59 20:29 น. 3
ขอบคุณสำหรับบทความดีๆค่ะ แต่ขอแย้งนิดนึง เรื่องที่ว่าตกใจแล้วจะยกของหนักได้ คิดว่าอันนั้นเป็นการทำงานของระบบซิมพาเตติก ซึ่งเป็นระบบที่ทุกคนมีและแสดงออกมาในลักษณะเดียวกันหมดมากกว่า ไม่เกี่ยวกับจิตใต้สำนึกค่า
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด