มารู้จัก 3 ทฤษฎีทางจิตวิทยา ที่มาปรับใช้กับการเรียนได้! (ตอน 2)

 
          สวัสดีค่ะ ครั้งที่แล้วพี่อีฟได้นำทฤษฎีทางจิตวิทยาที่สามารถนำมาปรับใช้การเรียนมาแนะนำให้น้องๆ ได้รู้จักกันไป 3 ทฤษฎีแล้ว ไม่แน่ใจว่ามีใครนำไปปรับใช้กันบ้างเอ่ย เพราะทฤษฎีถึงแม้จะมีประโยชน์แค่ไหน แต่ถ้าไม่นำไปปรับใช้ก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย
 

          วันนี้พี่อีฟก็เลยขอมาแนะนำอีก 3 ทฤษฎีทางจิตวิทยาที่น่าสนใจ ถือว่าเป็นภาคต่อจากบทความที่แล้วเลยละกัน ใครที่ยังเลือกไม่ได้ว่าจะเลือกใช้ทฤษฎีอะไร ลองดูทฤษฎีใหม่ๆ ที่พี่อีฟเอามาฝากกันวันนี้เลย ไปดูกันเลยดีกว่าค่ะ

  1.ทฤษฎีพหุปัญญา
        ถ้าใครเก่งภาษาไทยสักหน่อย เห็นแบบนี้อาจจะร้องอ๋อตั้งแต่แรกเลยว่า คำว่า "พหุ" แปลว่า มาก ดังนั้น พหุปัญญา ก็น่าจะหมายถึง ปัญญาที่มาก, มากปัญญา, หรือความหลากหลายของปัญญา เชื่อว่าถ้าพูดถึงคำว่า ปัญญา หรือ สติปัญญา น้องๆ อาจจะมองว่าเป็นเรื่องของการเรียน ความสามารถด้านภาษา การคำนวณ หรือเรื่องของไอคิว แต่จริงๆ แล้วปัญญามีความหมายครอบคลุมกว่านั้นค่ะ
 

       การ์ดเนอร์ (Gardner) ได้เสนอแนวความคิดเกี่ยวกับสติปัญญาของคนเราค่ะ ว่ามุมมองเดิมๆ ที่เราเคยคิดกันว่ามีแค่ด้านการเรียน จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย ถ้าเราโตขึ้น อยู่ในสังคมการทำงาน ก็ไม่สามารถนำมุมมองความสำเร็จตอนเรียนมาเปรียบเทียบกันได้ เพราะจริงๆ แล้วยังมีสติปัญญาด้านต่างๆ อีกหลายด้าน ที่ช่วยให้น้องๆ ประสบความสำเร็จในชีวิต ซึ่งแต่ละคนก็จะมีไม่เท่ากัน และผสมผสานกันหลายด้าน โดยการ์ดเนอร์แบ่งออกเป็น 8 ด้าน ดังนี้
          - สติปัญญาด้านดนตรี (musical intelligence)
          - สติปัญญาด้านการเคลื่อนไหวร่างกายและกล้ามเนื้อ (bodily-kinesthetic intelligence)
          - สติปัญญาด้านการใช้เหตุผลเชิงตรรกะและคณิตศาสตร์ (logical-Mathematicalintelligence)
         - สติปัญญาด้านภาษา (linguistic intelligence)
         - สติปัญญาด้านเนื้อหามิติสัมพันธ์ (spatial intelligence)
         - สติปัญญาด้านการเข้ากับผู้อื่น (interpersonal intelligence)
         - สติปัญญาด้านการเข้าใจตนเอง (intrapersonal Intelligence)
         - สติปัญญาด้านความเข้าใจในธรรมชาติ (naturalist Intelligence)

         เชื่อว่าน้องๆ ก็มีความสามารถในแต่ละด้านแตกต่างกัน พี่อีฟไม่อยากให้มองว่าตัวเองไม่มีด้านภาษาแล้วจะเป็นคนไม่เก่ง เพราะจริงๆ แล้วสติปัญญายังมีอีกหลายด้านมากๆ เช่น ด้านดนตรี, ด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย ฯลฯ ถ้าเราค้นพบด้านไหนของตัวเอง แล้วพัฒนาให้ดีขึ้น ก็จะสามารถประสบความสำเร็จได้แน่นอน หรือถ้าไม่มีด้านไหนโดดเด่น การผสมผสานที่เหมาะสมของแต่ละด้าน ก็จะช่วยทำให้น้องๆ กลายเป็นคนที่ยอดเยี่ยมแน่นอนค่ะ

   2.ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการ
          น้องๆ เคยแอบชอบใครบ้างไหมคะ ใครที่เคยจะรู้ว่า การแอบชอบใครสักคนหรือการอยากทำอะไรให้ใครประทับใจ จะต้องเริ่มจากการรู้จักเขาก่อน คือรู้ว่าเขาชอบอะไรหรือไม่ชอบอะไร ต้องการอะไร จึงจะสามารถสร้างความรู้จักได้
          มาสโลว์ (Maslow) เป็นนักจิตวิทยากลุ่มมนุษยนิยม ที่เชื่อว่า คนทุกคนมีอิสระในการเลือกแสดงพฤติกรรม การแสดงพฤติกรรมใดๆ เป็นการเลือกของบุคคล ซึ่งทุกคนมีศักยภาพในการเจริญงอกงาม หรือพัฒนา
          - ความต้องการทางกายภาพ (Physiological Needs)
          - ความต้องการความมั่นคงและปลอดภัย (Safety Needs and Needs for Security)
          - ความต้องการมีส่วนร่วมในสังคม (Social Belonging Needs)
          - ความต้องการยกย่องนับถือ (Esteem Needs)
          - ความต้องการบรรลุในสิ่งที่ตั้งใจ (Need for Self Actualization)

          และได้สรุปไว้สั้นๆ ว่า คนเราทุกคนมีความต้องการไม่มีที่สิ้นสุด ความต้องการของคนเราจะมีลำดับขั้นจากต่ำไปหาสูง ถ้าความต้องการขั้นต่ำได้รับการตอบสนองแล้ว ความต้องการขั้นสูงต่อไป ก็จะตามมาค่ะ
 

ลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ 
ขอบคุณรูปภาพประกอบจาก : https://le-group-3.wikispaces.com/Maslow%E2%80%99s+hierarchy

          ลำดับขั้นเหล่านี้ จะทำให้น้องๆ รู้ความต้องการพื้นฐานของแต่ละบุคคลได้ อย่างทำงานกับเพื่อน หรือปฏิสัมพันธ์กับครูอาจารย์ ถ้าเราเข้าใจว่าทุกคนต้องการลำดับขั้นความมีส่วนร่วมในสังคม เราก็จะรู้ว่าเพื่อนต้องการได้รับความรัก หรือการยอมรับในกลุ่ม ถ้าน้องๆ เจอเพื่อนที่อาจจะทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เราก็จะเข้าใจเพื่อนมากขึ้น และจะช่วยลดความขัดแย้งลงไปได้แน่นอนค่ะ

   3.ทฤษฎีการเชื่อมโยง
          กว่าจะได้วิธีการอ่านหนังสือมาที่เหมาะกับตัวเองที่สุด น้องๆ น่าจะเคยลองมาหลายวิธีแล้ว ว่าวิธีไหนได้ผลสำหรับตัวเองที่สุด  
          ธอร์นไดค์ (Thorndike) ก็เชื่อเหมือนกันกับน้องๆ ค่ะ ว่าการเรียนรู้ทุกอย่างที่เกิดขึ้น เกิดจากการที่เรารู้จักเชื่อมโยงสิ่งเร้าและการตอบสนอง ซึ่งก็จะมีการลองผิดลองถูกและปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพบรูปแบบที่โอเคที่สุดสำหรับตัวเอง และเมื่อพบรูปแบบนั้นแล้ว ก็จะใช้รูปแบบเดิมในการเชื่อมโยงกับสิ่งเร้าอื่นในการเรียนรู้ต่อๆ ไป
         ซึ่งการค้นพบของ
ธอร์นไดค์นี้ ทำให้เกิดลักษณะการเรียนรู้แบบลองผิดลองถูก (Trial and Eror) และเกิดกฎการเรียนรู้ 4 กฎ คือ กฎแห่งความพร้อม (Low of Readiness) คือ ผู้เรียนจะเรียนรู้ได้ต้องมีความพร้อม กฎแห่งการฝึกหัด (Low of Exercise) คือ การทำบ่อยๆ จะทำให้การเรียนรู้นั้นถาวร กฎแห่งการใช้ (Law of Use and Disuse) คือ ความมั่นคงของการเรียนรู้ จะคงอยู่ถ้าถูกนำไปใช้บ่อยๆ และกฎแห่งผลที่พึงพอใจ (Low of Effect) คือ ถ้าพึงพอใจก็จะอยากเรียนรู้ต่อไป แต่ถ้าไม่พึงพอใจ ก็จะไม่อยากเรียนรู้
          พี่อีฟมองว่ากฎของธอร์นไดค์ทุกข้อ สามารถนำไปปรับใช้กับการเรียนได้เลย เพราะการเรียนรู้ทุกอย่างในห้องเรียนเริ่มมาจากความพร้อมและความพึงพอใจของผู้เรียนค่ะ ดังนั้น ถ้าน้องๆ มีความพร้อมและความพึงพอใจในการเรียน ก็จะทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ เลยค่ะ และที่สำคัญการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจะอยู่คงทนถาวรรึเปล่า ก็อยู่ที่น้องๆ ว่าจะนำไปใช้บ่อยๆ รึเปล่าค่ะ :)

 

          ใครที่เคยลังเลคิดว่าแต่ละทฤษฎีที่ผ่านมา ยังไม่เหมาะกับตัวเอง ลองนำทฤษฎีล่าสุดไปใช้กันได้นะคะ หรือใครมีทฤษฎีไหนที่น่าสนใจ ลองแชร์ให้เพื่อนได้นำไปปรับใช้ด้วยกันได้นะ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับตัวเองค่ะ :D
พี่อีฟ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด